คลังเก็บป้ายกำกับ: Markets

กรณีศึกษาการเรียกร้องข้อมูลผลตอบแทน SET TRI: บันทึกตลาดทุนไทย

“พลังของนักลงทุนไทย: กรณีเรียกร้องเรื่องกองทุนรวมให้ใช้ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index)”

ตอนปลายปี 2018 ผมได้ไปพบว่าในหนังสือชี้ชวนเสนอขายของกองทุนรวมในหลาย ๆ บลจ. มีการผสมเลขผลตอบแทนระหว่างดัชนีราคา (SET PR) และดัชนีผลตอบแทนรวม (SET TRI) [อ่านความแตกต่างได้ที่นี่] เช่น ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (fund fact sheet) ใส่เลข SET PR เปรียบเทียบกับกองทุนจำนวนหลายปี แล้วใส่เลข SET TR เฉพาะปีล่าสุด ซึ่งผมได้โพสเรื่องราวนี้ให้เพื่อนในเพจ Bear Investor ใน Facebook ทราบเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม และประเด็นนี้ได้จุดกระแสนักลงทุนจำนวนมากรวมถึงบุคคลอื่น ๆ เรียกร้องให้ทางหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (SEC) และทางบลจ.เองทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ลำดับเหตุการณ์

ประมาณช่วงกลางเดือนสิงหาคม ผมได้นั่งอ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปของหลาย ๆ บลจ. แล้วเกิดเอะใจว่าทำไมกองทุนจำนวนมากทำผลตอบแทนได้ชนะ SET TR อีกทั้งสิ่งที่เตะตาผมคือตัวเลขของดัชนีชี้วัด เพราะผมทำบทความมาเยอะจนชินตาและจำเลขผลตอบแทนรายปีของ SET ได้ เมื่อเหลือบดูข้อชี้แจงก็พบว่า ในหนังสือชี้ชวนเขียนแค่ดัชนีชี้วัดคือ SET TR ทั้ง ๆที่ไส้ในหลายปีมันคือ SET PR การตั้งข้อสังเกตผมก็คือ ประกาศที่บังคับให้ใช้ SET TR พึ่งเริ่มต้นมาไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า บลจ. ก็ใส่เลขเฉพาะ SET TR ในปี 2560 อันเป็นปีที่เริ่มบังคับใช้ประกาศของก.ล.ต.

ผมจึงได้โพสสเตตัสในเพจ Facebook วันที่ 14 สิงหาคม 2561 ใจความว่า

” ** เพื่อเป็นการปกป้องนักลงทุนและผู้บริโภคในการรับข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. และวงการกองทุนรวมทำการแก้ไขตัวเลขผลตอบแทนเปรียบเทียบของ SET TRI ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้ถูกต้อง **

1. ความนำเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

กองทุนรวมตราสารทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยจะต้องมีดัชนีชี้วัด (benchmark) เพื่อทำการเปรียบเทียบฝีมือและผลตอบแทนที่กองทุนรวมทำได้ เพื่อให้นักลงทุนได้ทำการตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวมโดยอาศัยข้อมูลเปรียบเทียบผลตอบแทนในอดีตของกองทุนว่า กองทุนทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีหรือไม่

โดยในอดีตกองทุนรวมจะใช้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในส่วนเฉพาะผลตอบแทนของราคาหรือที่เรียกว่า SET Price Return Index (SET PR) ซึ่งมิได้ใช้ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นที่ได้คำนวณรวมเงินปันผล ที่เรียกว่า SET Total Return Index (SET TR/SET TRI) ทำให้ในอดีตนั้น นักลงทุน ผู้บริโภค และคนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่า กองทุนจำนวนมากทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัด ทั้ง ๆ ที่กองทุนเลือกเทียบกับ SET PR ไม่เทียบกับ SET TR ที่รวมเงินปันผล ในขณะที่กองทุนรวมหุ้นย่อมจะต้องได้รับเงินปันผลมาเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่ม อันนำไปสู่ความเข้าใจผิดแก่นักลงทุนจำนวนมาก ว่ากองทุนหุ้นส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

อย่างไรก็ดี ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ใหม่ทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยและใช้ดัชนีชี้วัดเป็นผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องใช้ผลตอบแทนรวมเงินปันผลหรือ SET TR / SET TRI มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

2. ปัญหาที่พบ

เมื่อข้าพเจ้าได้สอบทานตัวเลขในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยจำนวนหนึ่ง กลับพบว่า ตัวเลขผลตอบแทนในส่วนของดัชนีชี้วัดที่แสดงในเอกสารดังกล่าวสามารถสร้างความเข้าใจผิดให้กับนักลงทุน ผู้บริโภค บุคคลทั่วไป เพราะเหตุดังต่อจะได้อธิบายข้างล่างนี้

หนังสือชี้ชวนในส่วนของหน้าที่แสดงผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนจะกำกับไว้ว่า ผลตอบแทนของดัชนีชี้วัดคือ SET TRI หากแต่ตัวเลขที่ปรากฏในเอกสารของหลายกองทุน โดยเฉพาะปี 2559 ย้อนหลังไป ยังคงใช้ตัวเลขผลตอบแทนแบบ SET PR อยู่ ซึ่งวิญญูชนผู้เชื่อมั่นในข้อมูลบนหนังสือชี้ชวนดังกล่าวย่อมจะเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าในอดีตนั้น กองทุนรวมทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัดหรือ benchmark ที่เป็น SET TRI ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลข SET PR

และที่ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบมาจะเห็นได้ว่า ในหนังสือชี้ชวนไม่มีข้อมูลระบุกำกับไว้ว่ามีตัวเลขจำนวนหนึ่งเป็นตัวเลข SET PR แต่อย่างใด ทำให้เมื่อนักลงทุนอ่านแล้วอาจเข้าใจได้ว่าตัวเลขทั้งหมดคือ SET TRI

3. ข้อเรียกร้อง

เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นเพจทางการเงินและมีปณิธานในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมแก่ประชาชนทั่วไป ขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานกำกับทำการตรวจสอบและขอให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมทำการแก้ไขตัวเลขให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในอนาคต

อุตสาหกรรมกองทุนรวมเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเงินตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน ดังนั้น การทำข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้องจะยังประโยชน์ต่อประชาชนและนักลงทุน ผู้บริโภคต่อไป

อนึ่ง ข้าพเจ้าเสนอให้ทำการแก้ไขให้ใช้ตัวเลข SET TR ทั้งหมด มากกว่าที่จะทำการใส่หมายเหตุว่าข้อมูลในปีก่อนหน้าเป็น SET PR เพื่อสร้างความโปร่งใสและง่ายต่อการทำความเข้าใจต่อเอกสารหนังสือชี้ชวน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดสืบไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบต่อ สำนักงาน กลต.

ขอแสดงความนับถือ

เพจ Bear Investor

พร้อมกันนี้ได้แนบตัวอย่างของหน้าหนังสือชี้ชวนที่ได้กล่าวถึงเป็นตัวอย่างไว้ด้วย”

39127248_2251636061731234_3742495933204529152_n
ตัวเลขผลตอบแทนรวม SET TR รายปีที่ถูกต้อง
39017480_2251635961731244_1277280182423519232_n
ตัวอย่างของ บลจ. ที่ใช้ตัวเลข SET TRI ทุกปี

ตัวอย่างหนังสือชี้ชวนที่ไม่ใช้เลข SET TR ในทุกปีโดยปีก่อนหน้าจะใช้เลข SET PR ทั้งหมด

39206536_2251635978397909_3826665038664433664_n

39148089_2251635968397910_9027643303364919296_n

39137748_2251636051731235_6731029105128505344_n

39135005_2251636041731236_8380243611320582144_n

39124581_2251636025064571_6629606201212534784_n

เราจะพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปที่บลจ.ใช้ขายกองทุนต่าง ๆ มีตัวเลขไม่ตรงกับรายละเอียด เช่น บอกว่าใช้ตัวเลขผลตอบแทนแบบ SET TRI แต่ใส่ปีเดียว ปีที่เหลือเป็น SET PR ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดของนักลงทุนและผู้ซื้อกองทุนรวมได้ จริง ๆ เรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่มาก มันคือเรื่องของ Misleading หรือการทำให้เกิดข้อมูลที่เข้าใจผิดได้ และข้อมูลเช่นว่านี้ได้ผ่านตานักลงทุนและคนซื้อกองทุนรวมจำนวนมากมายมหาศาลไปแล้ว

สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ การเพิกเฉยของนักลงทุนและคนทั่วไปต่อเหตุการณ์ ซึ่งมันแสดงให้เห็นผ่านประวัติศาสตร์ว่า นักลงทุนไม่เรียกร้อง เราอาจจะต้องใช้เวลานานมาก เพราะไม่มีใครมาใส่ใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ถ้านับว่ากองทุนมาตั้งกันเยอะ ๆ ก็ช่วงปี 2545 เป็นต้นมา เราใช้เวลากว่า 15 ปีในการทำให้บลจ.หันมาใช้ดัชนี้ชี้วัดเป็น SET TRI ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาใช้ตัวเลข SET PR ในการขายนักลงทุน ซึ่งทำให้คนเข้าใจกันไปหมดว่า กองทุนในไทยทำผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด ชนะตลาดหุ้นกันได้ง่าย ๆ ขนาดกองทุนดัชนียังชนะดัชนีได้เลย! (เพราะเทียบกับ SET PR)

ทุกท่านควรจะสังเกตจากเหตุการณ์นี้ได้ว่า ตัวเลขผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น (SET TRI) ที่รวมเงินปันผลด้วยนั้น มันทรงพลังขนาดไหน ทรงพลังมากซะจนไม่มีใครอยากเอ่ยถึง หรือไม่อยากใส่มันในเอกสารการขาย เพราะมันจะปรากฏอย่างชัดเจนว่า กองทุนส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางเรียกร้องเพิ่มจึงเกิดเป็นกระทู้ Pantip ขึ้นมาอีกหนึ่งช่องทาง (Click Link)

pt

นักลงทุนที่เห็นด้วยเริ่มสร้างแคมเปญเรียกร้องใน Change เพิ่มอีก (Click Link)

Change

ฝันที่เป็นจริง

และล้วก็ได้กำเนิดหลักเกณฑ์บังคับให้ใช้เลข SET TR ทั้งหมดจากสำนักงานก.ล.ต. ในท้ายที่สุด

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า เสียงและพลังของนักลงทุนทุกท่านที่ช่วยกันเรียกร้องความถูกต้องได้สัมฤทธิ์ผลเนื่องด้วยทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้รับฟังความเห็นของนักลงทุนและออกประกาศหลายฉบับ เช่น ประกาศ สน. 64/2561 [Click] ได้กำหนดให้การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เปรียบเทียบกับตัวชี้วัด (brenchmark) จะต้องใช้ดัชนีที่ใช้วัดผลตอบแทนทุกประเภทจากการลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น (total return index) ไม่ใช่ดัชนีที่คำนวณเฉพาะราคา (price index)

64

50971849_2358570351037804_1344567158717284352_n.png

ความประทับใจ

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมภูมิใจยิ่งที่นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีและใช้เรียกร้องเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการลงทุนและวงการการเงินการลงทุนที่ดี มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า พลังของนักลงทุนรายย่อยเมื่อรวมกันแล้วทรงพลังอย่างยิ่งใหญ่มหาศาล

ทั้งนี้ต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วยที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและปกป้องนักลงทุนได้ค่อนข้างรวดเร็วครับ ผลดีที่เกิดขึ้นนี้ย่อมตกแก่นักลงทุนทุกคน แสดงให้เห็น เป็นหลักชัยและเป็นการบ่งชี้การพัฒนาตลาดทุนไทยที่ยั่งยืนในอนาคตโดยคำนึงถึงนักลงทุนผู้เป็นหัวใจสำคัญของระบบครับ

SET SET50 SET100 ลงทุนดัชนีอะไรดี?

คำถาม: กองทุนดัชนีนั้นควรจะลงทุนในกองทุนดัชนีที่เลียนแบบดัชนี SET Index หรือตัวอื่น ๆ ดี?

ปัญหาที่ว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีไหน? เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิต ซึ่งขออธิบายเริ่มต้นให้เข้าใจก่อนว่า คำแนะนำจากหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนเชิงรับ (passive investment) หรือตำราที่มีคำแนะนำเน้นให้เราลงทุนกองทุนดัชนีมักจะเขียนไว้ว่า (ถ้าเป็นไปได้) นักลงทุนควรลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) ที่มีการลงทุนครอบคลุมที่สุดในลักษณะเป็น Broad-Based Index

1. Broad-Based คืออะไร?

ถ้าจะอธิบายกระชับ ๆ เรื่อง Broad-Based Index ก็คือ เราควรจะลงทุนกองทุนที่มันเลียนแบบดัชนีหุ้นทั้งหมดให้ได้เกือบ 100% ผมยกตัวอย่างดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นสามัญประมาณ 500-600 บริษัท ถ้ากองทุนดัชนีที่เป็นแบบ broad-based กระจายฐานกว้างก็จะต้องลงทุนให้ครบทั้งห้าร้อยหกร้อยหุ้นเหล่านั้น

ประโยชน์ที่สำคัญจากการลงทุนแบบนี้ก็คือ ถ้าลงทุนในกองทุนดัชนีที่ broad-based กระจายฐานกว้างสุด คุณก็จะได้ลงทุนเลียนแบบล้อไปกับตลาดหุ้นจริง ๆ และได้ลงทุนครบทุกหมวดอุตสาหกรรมของดัชนีนั้น ในภาพใหญ่ก็คือการลงทุนในบริษัทที่ผลักดันเศรษฐกิจของดัชนีหรือก็คือเหล่าบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั่นเอง[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 2.] และในกรณีที่ค่าใช้จ่ายกองทุนต่ำมาก ผลตอบแทนที่คุณได้รับในอนาคตก็จะใกล้เคียงสุด ๆ กับผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นอย่างแท้จริง

หากแต่มันมีสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบเพิ่มเติม เพราะการจะลงทุนเลียนแบบดัชนีทั้งหมด เช่น สมมติต้องการจะลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ได้เป๊ะ ๆ ลองนึกภาพกองทุนที่จะต้องลงทุนทุกบริษัทหรือลงทุนให้ครบทั้ง 500-600 หุ้น มันก็จะเกิดความลำบากขึ้นมานิดหน่อย  เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีหรือวิธีการลงทุนที่ทำให้สามารถเลียนแบบใกล้เคียงกับดัชนีได้ เช่น การใช้โปรแกรมที่สามารถคำนวณปรับน้ำหนักหุ้นที่ซื้อเข้ากองทุนรวมให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ต้องการจะเลียนแบบโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อหุ้นครบทุกตัว หรือการใช้ตราสารอนุพันธ์ (derivatives) ช่วยในการปรับพอร์ตลงทุน

เนื่องจากถ้าจะลงทุนให้ครบหลักทรัพย์หรือหุ้นทุกตัวที่ประกอบกันเป็นดัชนีดังกล่าว บางทีมันอาจเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า หุ้นบริษัทขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งมีสภาพคล่องต่ำหรือแทบจะไม่มีการซื้อขาย (ไม่มีคนซื้อขายเป็นเวลาหลายวัน) ปัญหาเหล่านี้ย่อมจะส่งผลทำให้กองทุนดัชนีไม่อาจจะซื้อหุ้นทั้งดัชนีที่มันเลียนแบบให้ครบทุกตัวเป๊ะ ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ในบางครั้ง กองทุนดัชนีที่เลียนแบบทั้งตลาดอาจจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงมากจนเกินไปถ้ากองทุนนั้นพยายามจะลงทุนหุ้นให้ครบทุกตัว ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุด ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับย่อมจะต้องถ่างออกไปอย่างมากจาก ผลตอบแทนรวมของดัชนี (Total Return) เพราะผลตอบแทนที่จะได้รับสุทธิจะต้องหักค่าใช้จ่ายกองทุนออกไปก่อน

ต้องหมายเหตุนิดนึงว่า กองทุนดัชนีไม่จำเป็นต้องลงทุนหุ้นครบทุกตัวตามดัชนีก็ได้ หากสามารถลงทุนเลียนแบบผลตอบแทนได้เท่ากับดัชนีนั้น (โดยทั่วไปจะต้องมีข้อยกเว้นระบุในหนังสือชี้ชวนและทำตามนั้นจริง) ซึ่งกองทุนสามารถกระทำได้โดยการใช้โปรแกรมคำนวณสัดส่วนการลงทุน หรือ ใช้วิธีอื่นใดที่ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนครบหุ้นทุกตัว โดยกองทุนดัชนีอาจใช้วิธีลงทุนได้หลากหลายแบบ คือ

(1) Full Replication คือ ลงทุนหุ้นครบทุกตัวที่ประกอบเป็นดัชนีนั้น

(2) Optimization ซึ่งเป็นวิธีที่จะลงทุนไม่ครบทุกหลักทรัพย์ แต่ทำการคัดเลือกและปรับน้ำหนักลงทุนให้สะท้อนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีนั้นที่สุด (มี tracking error ต่ำที่สุด) ซึ่งมักจะใช้กับดัชนีที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในการซื้อหุ้นให้ครบทุกตัว

(3) Cash Equitization อันนี้เป็นวิธีบริหารจัดการเงินสดของกองทุน โดยลงทุนแบบถือเงินสดในบางช่วงขณะและไม่ทำการเข้าซื้อหุ้นโดยตรง แแต่อาจใช้การซื้อตราสารอนุพันธ์ในลักษณะซื้อ Long position เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำและผลตอบแทนใกล้เคียงเสมือนกับการได้ซื้อหุ้นจริง

นอกจากนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเภทของดัชนี (Index) ที่เลียนแบบหุ้นไม่ครบทั้งตลาดหุ้น ผลตอบแทนก็ย่อมไม่เท่ากับดัชนีใหญ่ที่เลียนแบบหุ้นทั้งตลาดนั้น เช่น ดัชนี SET50 เลียนแบบลงทุนในหุ้นที่มีขนาดมูลค่าตลาด (Market Capitalization or market cap) ประมาณ 70-75% ของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ในระยะสั้นนั้นจึงอาจจะมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะหุ้น 50 ตัวดังกล่าวเป็นหุ้นใหญ่ (Large-cap stocks) ขาดสัดส่วนของผลตอบแทนจากหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Mid-cap and Small-cap stocks) ซึ่งมีจำนวนที่เหลืออีก 500 กว่าตัว (แต่มีมูลค่าตลาดรวมกันแค่ 25-30% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์)

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของการลงทุนกองทุนดัชนีที่มีลักษณะกระจายความเสี่ยงสูงแบบ Broad-based พวกเรานักลงทุนจะต้องดูเรื่องของค่าใช้จ่ายกองทุนประกอบด้วย! เนื่องจากผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ได้รับอาจถูกทำลายทิ้งได้ง่ายดายจากค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมที่สูงปรี๊ดครับ

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีไหนก็ตาม ถ้าค่าใช้จ่ายมหาศาล มันก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่ดีได้

อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ผลตอบแทนในระยะยาวของดัชนีพวกที่เลียนแบบไม่ครบทั้งตลาดหุ้นนี้ แม้จะมีความต่างจากตัวดัชนีใหญ่ แต่ในระยะยาวก็จะมีความใกล้เคียงกันของผลตอบแทนระดับหนึ่ง ถ้าวัดเฉพาะผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายนะครับ (gross returns) อารมณ์คล้ายกับดัชนีตลาดหุ้นอเมริกานั่นล่ะ

หากแต่โดยทั่วไปแล้ว หุ้นขนาดเล็กมักจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น ดัชนีที่ทำการเลียนแบบลงทุนหุ้นทั้งตลาด (total stock market) ซึ่งจะต้องมีการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กร่วมด้วย จึงมีโอกาสในระยะยาว (มาก ๆ) ที่จะมีผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีหุ้นที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว เช่น ดัชนี SET50 หรือดัชนี S&P500

2. เดินชมกองทุนดัชนีในตลาดหุ้นสหรัฐ

โดยดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นดัชนีที่เป็นที่นิยมที่สุดในการเลียนแบบผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐ และมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุน กองทุนดัชนีที่เป็นที่นิยมและมีเม็ดเงินลงทุนสูงจึงมักจะเป็นกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 เช่นเดียวกันกับกองทุน ETF ที่ได้รับความนิยมก็คือ กองทุน ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 อย่าง SPDR S&P500 ETF (SPY) ซึ่งมีขนาดทรัพย์สินสุทธิ (AUM) สูงสุดและมีปริมาณ Volume ซื้อขายสูงสุด หากแต่ดัชนี S&P500 โดยปกติมักจะเลียนแบบหรือเป็นตัวแทนได้เท่ากับ 75% (สามในสี่) ของมูลค่าตลาดของหุ้นสามัญทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 386.] (หรือบางช่วงก็สูงถึง 80%)[1.John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 24.]

ถ้าอยากจะลงทุนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเกือบเท่าตลาดหุ้นอเมริกาทั้งหมดจริง ๆ ต้องลงทุนในกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี Wilshire5000 หรือ Russell 3000 Index (98% ของตลาด) หรือ CRSP Index หรือ MSCI U.S. Broad Market Index ซึ่งกองทุนรวมทั่วไป (mutual funds) ที่มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) สูงที่สุดอย่าง Vanguard Total Stock Market ก็ลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทั้งตลาดครับ โดยกองทุนนี้เลียนแบบดัชนี the CRSP U.S. Total Market Index หากแต่กองทุนรวมทั่วไปที่มีขนาด AUM รองลงมาก็ยังเป็น Vanguard S&P500 อยู่ดีครับ

ส่วนเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนเปรียบเทียบระหว่างดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดกับดัชนี S&P500  ถ้าลองดูกองทุน Vanguard 500 Index Fund Admiral Shares (VFIAX) ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 10.16% ต่อปี ส่วน Vanguard Total Stock Market Index Fund Admiral Shares (VTSAX) ที่เลียนแบบทั้งตลาดหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทน 10.33% ต่อปี ในขณะที่ถ้าย้อนไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2000 กองแรกให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.10% ส่วนกองอันหลัง 6.69% ต่อปี ตามรูปด้านล่างนี้ครับ

vannnnnnnn

ดังนั้น กองทุนดัชนีที่อาจจะเลียนแบบไม่ครบหุ้นทั้งตลาด แต่เป็นการลงทุนในดัชนีที่เลียนแบบใกล้เคียงผลตอบแทนทั้งหมดของตลาดก็อาจจะใช้แทนกันได้ ถ้าเกิดว่าค่าใช้จ่ายเทียบแล้วต่ำกว่ามาก แต่หากค่าใช้จ่ายทั้งหมดพอกัน ก็จะมีประเด็นบางอย่างให้พิจารณาต่อในหัวข้อที่ 4.

3. กลับมาดู SET ชมตลาดหุ้นไทย

เห็นตัวเลขของตลาดหุ้นสหรัฐแล้ว เรามาลองทำวิจัยเพื่อดูผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยกันบ้าง เนื่องจากข้อมูลผลตอบแทนรวมดัชนี SET100 (Total Return: TR) เริ่มถูกจัดทำ ณ วันที่ 29/04/2005 เราจึงลองคำนวณผลตอบแทนทั้ง 3 ดัชนี เริ่มจากวันดังกล่าวจนถึงข้อมูลสุดท้ายวันที่ทำบทความนี้คือ 05/07/2018  โดยสมมติว่าเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 100 บาท ณ วันที่ 29/04/2005 ก็จะได้ผลตามรูปด้านล่าง

set29405-5718

จากรูปนั้นจะเห็นได้ว่า เงิน 100 บาทที่ลงทุนในทั้ง 3 ดัชนี ได้ผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว (29/04/05 – 05/07/18) ระยะเวลาลงทุนประมาณ 13 ปีนิด ๆ เงินใน SET Index กลายเป็น 401.36 บาท SET50 เป็น 375.61 และ SET100 คือ 380.47 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลตอบแทนทั้งตลาดห่างจากผลตอบแทนดัชนีลูกอย่างมีนัยสำคัญ และจากกราฟพบว่า มันมาเบนออกช่วงปี 2012 เป็นต้นมา แต่สำหรับคู่ผลตอบแทน 50 กับ 100 ไม่ต่างกันมาก นั่นหมายถึงในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา ผลตอบแทนส่วนเกินของตลาดหลักทรัพย์ที่ทำได้สูงกว่าย่อมต้องมาจากหุ้นที่อยู่นอกดัชนี SET100 ซึ่งเป็นหุ้นบริษัทขนาดเล็กทั้งหลายนั่นเอง

หากแต่ดังที่เตยได้เขียนบทความเรื่อง การกลับสู่ค่าเฉลี่ย (Reversion to the Mean) เอาไว้ เราจะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า บางทีช่วงระยะเวลาก็หลอกเราได้ ถ้าเราจะเชื่อว่าผลตอบแทนระยะยาวของ SET จะสูงมากกว่า SET50 ตลอดไป บางทีมันก็มีปัญหาในเรื่องของเวลาอ้างอิงที่นำมาอธิบาย

เพราะถ้าย้อนกลับไป ณ วันที่จัดทำผลตอบแทนรวม SET50 คือ 02/01/2002 จนถึงวันล่าสุด 05/07/2018 (ระยะเวลาประมาณ 16 ปี 7 เดือน) เราจะพบความประหลาดใจบางอย่างตามรูปด้านล่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสมมติตัวเลขลงทุนด้วยเงิน 100 บาทเลย เนื่องจากทั้งคู่เริ่มต้นที่ดัชนีผลตอบแทนรวม (TR) ที่ 1000 จุดเท่ากัน และผลปรากฏว่า SET TR กลายเป็น 9890.22 จุด ส่วน SET50 TR กลายเป็น 9852.02 จุด อันเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ บ่งบอกว่าระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น สองดัชนีนี้ก็วิ่งควบกันไปกันมา บางทีมันอาจจะถ่างกันสักพัก แต่ถ้าคุณลงทุนระยะยาว มันก็วิ่งมาหากันในบางเวลาในอนาคต

set020102-050718

อย่างไรก็ตาม นั่นคือ ผลตอบแทนรวมของดัชนีครับ เรามาลองดูผลตอบแทนของกองทุนจริงกันดีกว่า ซึ่งคราวนี้ตัวที่จะทำให้คุณผลตอบแทนถ่างจากดัชนีก็คือ “ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม” นั่นเอง และ ยิ่งค่าใช้จ่ายกองทุนสูงเท่าไหร่มันก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนที่คุณได้รับต่ำลง

นักลงทุนสามารถดูค่าใช้จ่ายกองทุนดัชนีจาก 2 บทความนี้: กองทุนดัชนีในไทย และ กองทุน ETF ในไทย

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มจากวันที่ 02/01/2002 โดย ณ วันดังกล่าวมีกองทุนที่เลียนแบบดัชนีทั้งตลาดอยู่กองเดียว คือ SCBSET ซึ่งมีราคาหน่วย NAV อยู่ที่ 2.7434 และในวันที่ 05/07/2018 มีราคา NAV ที่ 20.1759 นั่นแสดงว่า หากคุณลงทุนด้วยเงิน 1000 บาทในวันดังกล่าวแล้วถือยาวเป็นต้นมา ณ วันที่ 05/07/2018 เงินลงทุนนั้นจะมีมูลค่า 7,354.34 บาท ในขณะที่ TMB50 มีราคาหน่วย ณ วันที่ 02/01/2002 ที่ 10.0476 ส่วนวันล่าสุด 05/07/2018 อยู่ที่ 98.3036 นั่นคือ เงิน 1,000 บาทจะกลายเป็น 9,783.79 บาท

4. ควรลงทุนดัชนี SET แบบไหนดี?

กลับไปสู่คำถามข้างบนสุด ก็คงต้องตอบว่า ไม่มีคำตอบตายตัวให้ครับ 😳 เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมและมุมมองแต่ละด้านของดัชนีต่าง ๆ ทั้งไทยและสหรัฐ เพราะถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเห็นนะครับว่า ในระยะยาวนั้น ผลตอบแทนดัชนีที่เป็นแม่ลูกกันมันก็จะวิ่ง ๆ เคียงคู่กันไปในระยะยาว แต่หากค่าใช้จ่ายที่กองทุนดัชนีเรียกเก็บนั้นสูงเกินไป ผลตอบแทนที่คุณได้รับก็อาจจะหายวับไปเป็นมูลค่าที่เยอะมาก

นักลงทุนหลายท่านก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไปเรื่องดัชนี แม้เราจะรู้แล้วว่าดัชนี the S&P500 เป็นดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐที่เลียนแบบหุ้นขนาดใหญ่ (Big-cap) แต่ก็ยังมีนักลงทุนหลายท่านที่แนะนำให้ลงทุนกองทุน S&P500 อยู่ เช่น Warren Buffett

ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนและนักการเงินหลายท่านที่แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีที่เลียนแบบตลาดหุ้นทั้งตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง John Bogle ที่มักจะแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีหุ้นทั้งตลาด (total stock market) เพราะเป็นดัชนีที่จะได้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมดในตลาดหุ้นและจะได้รับผลตอบแทนทั้งหมดที่แท้จริงที่หุ้นทั้งตลาดทำได้[1. ibid., 25.] เนื่องจากได้รวมทุกหุ้นเอาไว้ในตัว ไม่ว่าจะหุ้นขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก

Malkiel และ Ellis ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับ Bogle คือสนับสนุนกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบหุ้นทั้งตลาดเช่นกัน[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 48.] เพราะดัชนีที่ลงทุนหุ้นทั้งตลาดจะทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีที่เลียนแบบดัชนีดังกล่าวสามารถทำการลงทุนในหุ้นทั้งตลาดซึ่งรวมไปถึงได้ลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก ที่ในระยะยาวมักจะมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 385.]

หากแต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมของนักลงทุนเหล่านี้ในการแนะนำให้ลงทุนกองทุนดัชนีไม่ว่าจะทั้งตลาดหรือแค่ S&P500 คือ

() ทั้งดัชนีตลาดหุ้นที่ครอบคลุมหุ้นทั้งหมดในตลาด (entire market) หรือครอบคลุมหุ้นส่วนใหญ่อย่าง S&P500 ทั้งคู่เป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนผลตอบแทนในระยะยาวของธุรกิจต่าง ๆ และผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นได้ดีทั้งคู่

() ดัชนีทั้งสองแบบนั้นมีการกระจายการลงทุนที่ดี (well-diversified) เพราะทั้งคู่เป็น broad-based index (หรือเกือบ ๆ broad-based) ทำให้มันมีการกระจายลงทุนหุ้นค่อนข้างครบถ้วน เพราะสิ่งสำคัญคือ นักลงทุนไม่ควรไปมุ่งเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมเพียงอุตสาหกรรมเดียวหรือสองสามอย่าง กองทุนพวกนี้ช่วยลดทอนปัญหาที่นักลงทุนชอบไล่ล่าลงทุนอุตสาหกรรมที่ร้อนแรง ซึ่งประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่า นักลงทุนที่ทำแบบนั้นมักจะได้รับความเจ็บปวดและสูญเสียเงินอย่างนัก ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมน้ำมัน ทองคำ ธุรกิจสุขภาพ การบิน ยานยนต์ รถไฟ ฯลฯ

() ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีในระยะยาว ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ใกล้เคียงตลาดหุ้น จัดว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนถือกองทุนแบบบริหารจัดการคัดเลือกหุ้น (actively managed funds)

() อย่างไรก็ดี ทุกคนมีคำแนะนำร่วมเช่นเดียวกันว่า จะต้องเป็นกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ด้วย! 

ก็คงต้องย้ำปิดท้ายอีกครั้งเหมือนในหลายบทความนะครับ (กาดอกจันแปดดอก) ว่า เราจะต้องไม่ลืมกฎแห่งการลงทุนที่เป็นหัวใจสำคัญที่ว่า

มันไม่ใช่แค่ลงทุนในกองทุนดัชนีอย่างเดียว กองทุนดัชนีนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ (lower or lowest index fund) ด้วย 

เพราะค่าใช้จ่ายนั้นสำคัญมากต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในอนาคต ยิ่งค่าใช้จ่ายมาก ผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับย่อมลดน้อยลง

Where are the customers’ yachts?

ชายคนหนึ่งเข้ามาหาเพื่อนที่ทำงานในวงการวอลสตรีท ซึ่งเพื่อนเขาได้พาชมเมืองแถวริมทะเลและชี้ให้ดูอะไรบางอย่างเยอะแยะไปหมด

“โน่น ที่นายเห็นหน่ะ คือ เรือยอชต์พวกนี้เป็นของโบรกเกอร์กับพวกนายธนาคารนะ”

ชายคนนั้นตกใจและตะลึงมาก ด้วยความเป็นคนซื่อเลยถามกลับด้วยความสงสัยว่า

“แล้วเรือยอชต์ของพวกลูกค้าอยู่ไหนล่ะ?”

Where are the customers’ yachts?

นี่คือชื่อหนังสือการเงินที่ผมพึ่งอ่านจบ (มีแปลไทยครับ) เป็นหนังสือที่ Warren Buffett จะแนะนำใหัคนอ่านบ่อย ๆ ลักษณะการเขียนแนวอารมณ์ขันเสียดสีวงการการเงิน ในประเด็นหลัก ๆ ว่า เงินของลูกค้าไหลเข้ากระเป๋าของนักการเงินทั้งนายหน้าค้าหุ้น นายธนาคาร ที่ปรึกษาทางการเงิน นักวิเคราะห์ ผู้จัดการการลงทุนไปซะหมด ดังที่เขาเสียดสีให้เห็นภาพว่า เงินเหล่านั้นกลายเป็นเรือยอชต์ไปหมดแล้ว

ผู้เขียน (Fred Schwed Jr.) เลือกประเด็นต่าง ๆ มาเขียนอย่างน่าสนใจ แถมมีมุกตลกสอดแทรกที่หลายครั้งขำมากเพราะมันเป็นตลกร้าย เช่น

(1) ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทำนายตลาดแทบจะไม่ถูก แต่เขาก็จะทำนายจะวิเคราะห์ต่อไป ด้วยหน้าที่การงานต่าง ๆ ความคิดที่ว่าตลาดการเงินเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้ กลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในความคิดของคนวงการการเงินส่วนใหญ่ เพราะถ้ายอมรับก็เท่ากับว่าแนวทางการทำรายได้ก้อนใหญ่หายไปหนึ่งแหล่ง ลามไปถึงความคิดของนักลงทุนรายย่อยที่ก็เชื่อไปกับเขาด้วยว่า ตนนั้นมีสามารถจับจังหวะและทำนายตลาดได้

(2) การพยากรณ์มักจะมาพร้อมกับการซื้อขายหุ้น เมื่อลูกค้าสนใจว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ลูกค้าจะได้คำตอบมากมายยืดยาว ทั้ง ๆ ที่พวกเขาควรจะตอบสั้น ๆ แค่ 3 พยางค์ว่า “ผมไม่รู้” !! และในความเป็นจริงนั้นสำหรับชาว Wall Street แล้ว

มันแทบจะมีโอกาสน้อยมากที่คุณจะได้รับคำตอบที่ออกจากปากที่ยากที่สุดของวงการการเงิน ซึ่งคำตอบที่ว่านั้นก็คือ “ผมไม่ทราบ[1. Fred Schwed Jr., ไหนล่ะเรือยอชต์ลูกค้า หรือจ้องตาวอลล์สตรีท, แปลโดยวิรัตน์ รัตนเวชสิทธิ (กรุงเทพมหานคร: ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์, 2561), 51.] 

การยกตัวอย่างนี้ของ Schwed ทำให้ผมนึกถึงเวลาหุ้นขึ้นหุ้นลงแล้วจะต้องมีคนถามเสมอว่า ทำไมหุ้น XYZ ราคาเปลี่ยนแปลงอ่ะ / มีข่าวอะไรหรอทำไมวันนี้หุ้นขึ้น / ทำไมหุ้นลง – 0.5% ล่ะ — ดูเหมือนว่าวงการการเงินและสื่อทางด้านการเงินจะมีคำตอบให้เราเสมอว่าทำไมหุ้นมันขึ้นมันลง ซึ่งสามารถยกมาได้ตั้งแต่นโยบายการเงินของประเทศโน่นนี้ จนไปถึงการยกประเด็นที่เป็นกระแสหลักดูน่าเชื่อถือว่าประชาชนตกใจหดหู่กับสิ่งใด

(3) พฤติกรรมของนักลงทุนเองที่ทำให้นักลงทุนขาดทุนและจนลง เช่น การซื้อขายหุ้นตามอารมณ์ การกู้ยืมมาลงทุน การซื้อหุ้นแพงตามกระแส ฯลฯ และ Schwed ยังมักสอดแทรกข้อคิดทางการเงินที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น เขาบอกว่า “ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการลงทุน คือ ความพยายามให้ได้ผลตอบแทนที่สูงเกินไป ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงสูงจนน่าเศร้า”[1. เรื่องเดียวกัน, หน้า 175.]

โดยส่วนตัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้สมคุณค่าที่ถูกยกย่องโดยนักลงทุนเอกหลาย ๆ คนครับ มันไม่ใช่หนังสือสอนว่าจะทำเงินยังไง แต่กำลังจะยกตัวอย่างให้เราฉุกคิด ไตร่ตรอง และระมัดระวังเวลาลงทุน โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่เสียเงินโดยไม่จำเป็นในการลงทุนที่อุตสาหกรรมการเงินพยายามล้วงไปจากกระเป๋าเรา

ถ้าจะว่าไปแล้ว เรื่องเรือยอชต์นี่ก็คล้าย ๆ กับคำเปรียบเปรยในแนวเดียวกันของ Buffett ที่ว่า[1. “Wall Street is the only place that people ride to in a Rolls-Royce to get advice from those who take the subway.” See Mary Buffett and David Clark, The Tao of Warren Buffett: Warren Buffett’s words of wisdom explained (London: Pocket Books, 2008), 9]

“วอลล์สตรีทเป็นที่ที่แปลก ที่นักธุรกิจผู้ขับรถหรูมาขอคำแนะนำว่าจะทำเงินยังไงจากคนที่เดินทางมาทำงานโดยรถไฟฟ้า”

การนิ่งและไม่เคลื่อนไหว : ลงทุนระยะยาว

ในการลงทุนนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะสร้างความเข้าใจและภาพจำในหัว ให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่ทำอะไรบ่อย ๆ ซื้อขายเยอะ ๆ ในตลาดหุ้น น่าจะเป็นคนที่เก่งและคงประสบความสำเร็จในการลงทุน ตลาดหุ้นจึงดูเป็นตลาดของคนที่ไม่อยู่นิ่ง และความเชื่อนี้ก็ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การไม่อยู่นิ่ง ซื้อขายบ่อย ๆ ปรับพอร์ตลงทุนให้ทันเหตุการณ์ เป็นคุณสมบัติและพฤติกรรมที่ควรทำตาม ว่าแต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือ?

เรื่องจริงคือไม่ใช่เลย เป็นไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะ การเคลื่อนไหวบ่อยในตลาดหุ้นน่าจะนำคุณไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงต่างหาก ด้วยเหตุผลประการสำคัญเลย ก็คือ ทุกการเคลื่อนไหวในการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น จะมี “ค่าใช้จ่าย” มากมายที่คุณจะต้องจ่ายเพราะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็น ทั้งที่เห็นแบบชัดเจน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมซื้อขาย และค่าใช้จ่ายที่มาจากการอยู่ไม่สุขอื่น เช่น การขาดทุนเพราะจับจังหวะตลาด (market timing) ผิดพลาด ทำให้ขายหุ้นที่จุดขาดทุน และมาซื้อหุ้นที่จุดสูงสุด อันนำไปสู่ วงจรแห่งการล้มเหลวในการลงทุน

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมักจะเชื่อและมั่นอกมั่นใจว่า ตัวเองมีสามารถที่จะซื้อขายได้ถูกต้องกว่าคนอื่น สามารถทำนายเคลื่อนไหวหรือจับจังหวะตลาดได้เก่ง แต่เอาจริง ๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขาพยายามทำนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ผมคิดว่านักลงทุนจะคิดถูกและทำถูกได้ในเรื่องจับจังหวะลงทุน เขาจะต้องถูกถึง 4 ครั้ง คือ 1) คิดถูกว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง 2) นอกจากจะคิดถูกต้องทำถูกด้วย คือ ซื้อขายไปแล้วตลาดหุ้นขึ้นลงอย่างที่คิด 3) พอขายแล้วนักลงทุนก็ต้องถือเงินสด เพราะฉะนั้น นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 3 คือ ต้องคิดถูกว่า ช่วงเวลาไหนหรือราคาไหนที่เขาจะกลับมาซื้อมาขายอีกที อันนำไปสู่การจำเป็นที่จะต้องถูกครั้งสุดท้าย คือ 4) นักลงทุนต้องทำตามที่ตัวเองคิดด้วย นั่นคือกลับเข้ามาซื้อขายได้ถูกต้อง 

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนง่าย แต่ การจับจังหวะตลาดมันไม่ใช่เรื่องง่าย แค่คุณเข้าใจประะเด็นนี้และไม่หลงไปงมหาจังหวะซื้อขาย ผลตอบแทนของคุณอาจจะดีขึ้นมหาศาล

ลองไปดูการพูดถึงประเด็นนี้และคำแนะนำจากนักลงทุนคนดัง ๆ ของโลกกันบ้าง

I. Peter Lynch 

อดีตผู้จัดการกองทุนในตำนานของ Fidelity ผู้เขียนหนังสือในตำนานอย่าง One up on Wall Street หรือ Beating the Street ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนว่า นักลงทุนจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นักลงทุนไปติดเกาะสัก 6 เดือน นี่เป็นการอุปมาให้เห็นภาพของลินช์ว่า ที่นักลงทุนมักจะมีผลตอบแทนลดลงก็เพราะนักลงทุนชอบซื้อขาย เคลื่อนไหวบ่อย ๆ และถูกเร้าโดยข่าวหรือเสียงรบกวนต่าง ๆ การพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ คำแนะนำจากโบรกเกอร์ จากที่ปรึกษาทางการเงิน

การที่ต้องแวดล้อมด้วยข่าวจากตลาดหุ้นเต็มไปหมดทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนลดลงได้ และ Lynch ยังเตือนด้วยว่า การออกจากหุ้นและขายหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหุ้นตกหนักเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะกลับเข้ามาในหุ้นได้ทันตอนที่หุ้นวิ่งครั้งต่อไป

II. Warren Buffett

บัฟเฟตต์ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ผมจำคำพูดของเขาเกี่ยวกับการอยู่นิ่งในตลาดหุ้นได้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่สอนให้เราต้อง “นั่งทับมือตัวเองให้เป็น” เพราะการปฏิเสธไม่ทำอะไร หรือการไม่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่มีเสียงรบกวนเต็มไปหมด เป็นคุณลักษณะสำคัญในการลงทุนระยะยาวครับ

III. John C. Bogle

Bogle ผู้มีอายุ 88 ปีในปัจจุบัน ตำนานแห่งวอลสตรีทผู้ก่อตั้ง บลจ. Vanguard และปลุกปั้นให้กองทุนดัชนีเติบโตมาจนทุกวันนี้ อันเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวในตลาดหุ้นมาประมาณ 65 ปี ได้เคยเห็นทั้งตลาดหุ้นที่ตกหนัก -50% จากจุดสูงสุด หรือการตกแบบ -25% ภายในวันเดียว ได้ให้คำแนะนำในการลงทุนว่า ให้หยุดฟังเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น (tune out the market noise) การที่ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงมีความผันผวนไปมาในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องของนักเก็งกำไร ไม่เกี่ยวกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนระยะยาวไม่ควรถูกรบกวนและหวั่นไหวไปกับการขึ้นลงระยะสั้น ๆ ของตลาดหุ้น

โดย Bogle อธิบายว่า เนื่องจากเวลานักลงทุนทั่วไปได้ยินเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจ มีคนมาพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อ ก็จะมีนักลงทุนบางส่วนซื้อขายเมื่อได้ฟังข่าวดังกล่าว ซึ่งนักลงทุนระยะยาวจะไม่ได้รับผลลัพธ์แย่ ๆ จากพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าเขายึดมั่นในการลงทุนระยะยาว

หากแต่ เรื่องพวกนี้จะเป็นการรบกวนการลงทุนระยะยาวได้ในกรณีที่นักลงทุนไปสนใจมัน และที่มันส่งผลกระทบต่อนักลงทุนระยะยาวก็เพราะว่า เวลานักลงทุนเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ การแห่ซื้อ แห่ขาย นักลงทุนมักจะถูกรบกวนความคิดให้รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ เราต้องทำอะไรบ้างแล้ว

พอถูกชักจูงด้วยเสียงรบกวนจากตลาด นักลงทุนก็จะแห่ขายพอร์ตลงทุนตัวเองและออกจากตลาดไป สุดท้ายนักลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้แพ้ (the losers) — คือเป็นผู้แพ้ให้กับเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น จากการเร้าหรือโดยความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น ตกอยู่ภายใต้อารมณ์แบบ เอ้ยย ฉันต้องทำอะไรบางแล้ว ตลาดหุ้นตก ฉันขายดีกว่า และมันก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่แย่ ๆ ในท้ายที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งโบเกิลเคยพูดถึง To-do-list ในการลงทุนของเขาว่า มันไม่มีอะไรมาก เขาลงทุน 50% ในกองทุนดัชนีตราสารหนี้และสัดส่วนอีก 50% ที่เหลือในกองทุนดัชนีหุ้น เขาจะไม่ดูมันทุกวัน ไม่สนใจมูลค่าของกองทุนหุ้น และปกติก็จะดูพอร์ตลงทุนนี้ตอนสิ้นปีครั้งนึง เหตุผลเกี่ยวกับการไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือทำอะไรกับการลงทุนมาก ก็เพราะโบเกิลคิดว่า “การ(คิดว่า)ต้องทำอะไรสักอย่าง(เช่นต้องขยับตัวซื้อขายหุ้น ปรับพอร์ตบ่อย ๆ) อาจไม่ใช่ไอเดียทีดีนัก (ในการลงทุน)”

IV. Other Legends

นอกจากนี้ การชอบซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะคนที่ชอบซื้อขายเพราะสนใจลำดับผลตอบแทนสูงสุด ชอบดูรายชื่อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การจัดอันดับผลตอบแทนย้อนหลัง

Jack R. Meyer อดีตประธาน Harvard Management Company ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร Business Week 2004 ว่า ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาสามารถหาผู้จัดการกองทุนที่สามารถเอาชนะตลาด(หุ้น)ได้ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาคิดผิด พูดได้ว่า 85-90% ของผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี …นักลงทุนควรลงทุนแบบเรียบง่ายในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทน

Charles Schwab ก็มีความเห็นคล้ายคลึงกับ Meyer โดย Schwab เคยอธิบายว่า ทำไมนักลงทุนชอบลงทุนในกองทุนแบบบริหาร นั่นก็เพราะเหตุผลที่ว่า การลงทุนกองทุนพวก active funds มันคือความสนุก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเลือกม้าที่ชนะ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับผลตอบแทนที่ลดลง เพราะสำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีย่อมดีกว่า เนื่องจากทำนายได้ค่อนข้างแมนยำว่าอีก 10, 15, 20 ปีข้างหน้า คุณจะได้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับสูงกว่าคนอื่น [ที่มัวแต่หากองทุนบริหารที่เก่งที่สุด] อีก 85 จาก 100 คน

V. Conclusion

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า การเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่ได้นำนักลงทุนไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มักจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ลดลงหรือขาดทุนในท้ายที่สุด การไม่ทำอะไรและอยู่นิ่ง ๆ ผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นก็ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกันครับ

ทัศนคติในการลงทุนถูกต้อง + มีวินัยที่จะยึดมั่นในทัศนคตินั้น + อดทนที่จะลงทุนระยะยาวให้ได้ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างมาก ถามว่าการอยู่เฉย ๆ ในตลาดหุ้นเป็นเรื่องยากไหม ผมว่าก็ไม่นะ ที่สังเกตจากคนใกล้ตัวที่สามารถลงทุนมาหลายปีได้ มักจะมีคุณสมบัติร่วมกันประมาณว่า

(1) ตัดสินใจว่าจะลงทุนระยะยาว ส่วนมากก็จะแบบลงทุนประจำโดยหักจากเงินเดือนมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า ลงทุนแบบประจำ DCA นั่นล่ะครับ

(2) ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายวัน คนที่มักจะผ่านไปได้ บางทีก็ด้วยงานที่ทำนั้นหนัก หรือโฟกัสกับตัวงานมากกว่า เลยไม่มีเวลามานั่งจ้องหน้าจอ หรือบางทีก็ดูหน้าจอบ้าง แต่ไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนตัวเอง

(3) มีวินัยที่จะลงทุนตามแผนไปเรื่อย ๆ (stay calm and stay invest) ผ่านความผันผวนตลาดหุ้น ปล่อยให้มันขึ้นมันลงไปของมัน ไม่ว่าตลาดจะเป็นเช่นไร พวกเขาก็จะยังลงทุนต่อไป

(4) พอเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี คนพวกนี้จะเริ่มเห็นธรรมชาติตลาดหุ้นที่มันจะมีขึ้นมีลง มีเรื่องผันผวนเป็นปกติ แล้วจะดวงตาเห็นธรรมว่า การขึ้นลงตลาดหุ้นระยะสั้นเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันจะวนลูปเป็นวัฏจักร และพวกเขาก็จะเลิกสนใจกับความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น และมุ่งมั่นต่อการลงทุนระยะยาวตลอดไป

ก่อนจบบทความนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า การขยับตัวบ่อยในตลาดหุ้น การที่คุณนั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับผลตอบแทนในอนาคตและการลงทุนระยะยาวของคุณอย่างแน่นอน ดังที่ Bogle เตือนสติเราไว้ว่า มันไม่ใช่ไอเดียที่ดีเลยที่จะคิดว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหรือต้องขยับตัวบ่อย ๆ ในการลงทุน

“Doing something is not a good idea in this business.”

การนิ่งและไม่เคลื่อนไหว

ในการลงทุนนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะสร้างความเข้าใจและภาพจำในหัว ให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่ทำอะไรบ่อย ๆ ซื้อขายเยอะ ๆ ในตลาดหุ้น น่าจะเป็นคนที่เก่งและคงประสบความสำเร็จในการลงทุน ตลาดหุ้นจึงดูเป็นตลาดของคนที่ไม่อยู่นิ่ง และความเชื่อนี้ก็ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การไม่อยู่นิ่ง ซื้อขายบ่อย ๆ ปรับพอร์ตลงทุนให้ทันเหตุการณ์ เป็นคุณสมบัติและพฤติกรรมที่ควรทำตาม ว่าแต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

จริง ๆ แล้ว การเคลื่อนไหวบ่อยในตลาดหุ้นน่าจะนำคุณไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงต่างหาก ด้วยเหตุผลประการสำคัญเลย ก็คือ ทุกการเคลื่อนไหวในการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น จะมี “ค่าใช้จ่าย” มากมายที่คุณจะต้องจ่ายเพราะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็น ทั้งที่เห็นชัด ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมซื้อขาย และค่าใช้จ่ายที่มาจากการอยู่ไม่สุขอื่น เช่น การขาดทุนเพราะจับจังหวะตลาด (market timing) ผิดพลาด ทำให้ขายหุ้นที่จุดขาดทุน และมาซื้อหุ้นที่จุดสูงสุด อันนำไปสู่ วงจรแห่งการล้มเหลวในการลงทุน

นักลงทุนมักจะเชื่อว่าตัวเองมีสามารถที่จะซื้อขายได้ถูกต้องกว่าคนอื่น และทำนายเคลื่อนไหวหรือจับจังหวะตลาดได้เก่ง แต่เอาจริง ๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาพยายามทำนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ผมคิดว่านักลงทุนจะคิดถูกและทำถูกได้ในเรื่องจับจังหวะลงทุน เขาจะต้องถูกถึง 4 ครั้ง คือ 1) คิดถูกว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง 2) นอกจากจะคิดถูกต้องทำถูกด้วย คือ ซื้อขายไปแล้วตลาดหุ้นขึ้นลงอย่างที่คิด 3) พอขายแล้วนักลงทุนก็ต้องถือเงินสด เพราะฉะนั้น นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 3 คือ ต้องคิดถูกว่า แล้วช่วงเวลาไหนหรือราคาไหนที่เขาจะกลับมาซื้อมาขายอีกที อันนำไปสู่การถูกครั้งสุดท้าย คือ 4) นักลงทุนต้องทำตามที่ตัวเองคิดด้วยนั่นคือกลับเข้ามาซื้อขายถูกต้อง ทั้งหมดนี้ดูเหมือนง่าย แต่ การจับจังหวะตลาดมันไม่ใช่เรื่องง่าย แค่คุณเข้าใจประะเด็นนี้และไม่หลงไปงมจังหวะซื้อขาย ผลตอบแทนของคุณอาจจะดีขึ้นมหาศาล

ลองไปดูการพูดถึงประเด็นนี้และคำแนะนำจากนักลงทุนคนดัง ๆ ของโลกกันบ้าง

•   Peter Lynch 
อดีตผู้จัดการกองทุนในตำนานของ Fidelity ผู้เขียนหนังสือในตำนานอย่าง One up on Wall Street หรือ Beating the Street ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนว่า นักลงทุนจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นักลงทุนไปติดเกาะสัก 6 เดือน นี่เป็นการอุปมาให้เห็นภาพของลินช์ว่า ที่นักลงทุนมักจะมีผลตอบแทนลดลงก็เพราะนักลงทุนชอบซื้อขาย เคลื่อนไหวบ่อย ๆ และถูกเร้าโดยข่าวหรือเสียงรบกวนต่าง ๆ การพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ คำแนะนำจากโบรกเกอร์ จากที่ปรึกษาทางการเงิน การที่ต้องแวดล้อมด้วยข่าวจากตลาดหุ้นเต็มไปหมดทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนลดลงได้

•   Warren Buffett
บัฟเฟตต์ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ผมจำคำพูดของเขาเกี่ยวกับการอยู่นิ่งในตลาดหุ้นได้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่สอนให้เราต้อง “นั่งทับมือตัวเองให้เป็น” เพราะการปฏิเสธไม่ทำอะไร หรือการไม่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่มีเสียงรบกวนเต็มไปหมด ก็เป็นคุณลักษณะสำคัญในการลงทุนระยะยาวครับ

•   John C. Bogle
Bogle ผู้มีอายุ 88 ปีในปัจจุบัน ตำนานแห่งวอลสตรีทผู้ก่อตั้งบลจ. Vanguard และปลุกปั้นให้กองทุนดัชนีเติบโตมาจนทุกวันนี้ อันเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวในตลาดหุ้นมาประมาณ 65 ปี ได้เคยเห็นทั้งตลาดหุ้นที่ตกหนัก -50% จากจุดสูงสุด หรือการตกแบบ -25% ภายในวันเดียว ได้ให้คำแนะนำในการลงทุนว่า ให้หยุดฟังเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น (tune out the market noise) การที่ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงมีความผันผวนไปมาในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องของนักเก็งกำไร ไม่เกี่ยวกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนระยะยาวไม่ควรถูกรบกวนและหวั่นไหวไปกับการขึ้นลงระยะสั้น ๆ ของตลาดหุ้นโดย Bogle อธิบายว่า เนื่องจากเวลานักลงทุนทั่วไปได้ยินเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจ มีคนมาพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อ ก็จะมีนักลงทุนบางส่วนซื้อ ๆ ขาย ๆ เมื่อได้ฟัง ซึ่งนักลงทุนระยะยาวไม่ได้รับผลลัพธ์แย่ ๆ อะไรจากพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าเขายึดมั่นในการลงทุนระยะยาว หากแต่ เรื่องพวกนี้จะเป็นการรบกวนการลงทุนระยะยาวได้ในกรณีที่นักลงทุนไปสนใจมัน! และที่มันส่งผลกระทบต่อนักลงทุนระยะยาวก็เพราะว่า เวลานักลงทุนเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ การแห่ซื้อ แห่ขาย นักลงทุนมักจะถูกรบกวนความคิดให้รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ เราต้องทำอะไรบ้างแล้ว พอถูกชักจูงด้วยเสียงรบกวนจากตลาด นักลงทุนก็จะแห่ขายพอร์ตลงทุนตัวเองและออกจากตลาดไป สุดท้ายนักลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้แพ้ (the losers) —คือเป็นผู้แพ้ให้กับเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น จากการเร้าหรือโดยความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น ตกอยู่ภายใต้อารมณ์แบบ เอ้ยย ฉันต้องทำอะไรบางแล้ว ตลาดหุ้นตก ฉันขายดีกว่า และมันก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่แย่ ๆ ในท้ายที่สุดนั่นเอง

ครั้งหนึ่งโบเกิลเคยพูดถึง To-do-list ในการลงทุนของเขาว่ามันไม่มีอะไรมาก เขาลงทุน 50% ในกองทุนดัชนีตราสารหนี้และอีก 50% ในกองทุนดัชนีหุ้น เขาจะไม่ดูมันทุกวัน ไม่สนใจมูลค่าของกองทุนหุ้น และปกติก็จะดูพอร์ตลงทุนนี้ตอนสิ้นปีครั้งนึง เหตุผลเกี่ยวกับการไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือทำอะไรกับการลงทุนมาก ก็เพราะโบเกิลคิดว่า “การ(คิดว่า)ต้องทำอะไรสักอย่าง(เช่นต้องขยับตัวซื้อขายหุ้น ปรับพอร์ตบ่อย ๆ) อาจไม่ใช่ไอเดียทีดีนัก (ในการลงทุน)”

นอกจากนี้ การชอบซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะคนที่ชอบซื้อขายเพราะสนใจลำดับผลตอบแทนสูงสุด ชอบดูรายชื่อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การจัดอันดับผลตอบแทนย้อนหลัง ซึ่ง Jack R. Meyer อดีตประธาน Harvard Management Company ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร Business Week 2004 ว่า ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาสามารถหาผู้จัดการกองทุนที่สามารถเอาชนะตลาด(หุ้น)ได้ แต่จริงๆแล้วพวกเขาคิดผิด พูดได้ว่า 85-90% ของผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี…นักลงทุนควรลงทุนแบบเรียบง่ายในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทน สอดคล้องกับความเห็นของ Charles Schwab ที่เคยอธิบายว่า ทำไมนักลงทุนชอบลงทุนในกองทุนแบบบริหาร นั่นก็เพราะ มันคือความสนุก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเลือกม้าที่ชนะ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับผลตอบแทนที่ลดลง เพราะสำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีย่อมดีกว่า เนื่องจากทำนายได้ค่อนข้างแมนยำว่าอีก 10, 15, 20 ปีข้างหน้า คุณจะได้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับสูงกว่าคนอื่น [ที่มัวแต่หากองทุนบริหารที่เก่งที่สุด] อีก 85 จาก 100 คน

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า การเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่ได้นำนักลงทุนไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มักจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ลดลงหรือขาดทุนในท้ายที่สุด การไม่ทำอะไรและอยู่นิ่ง ๆ ผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นก็ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกันครับ

ทัศนคติในการลงทุนถูกต้อง + มีวินัยที่จะยึดมั่นในทัศนคตินั้น + อดทนที่จะลงทุนระยะยาวให้ได้ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างมาก ถามว่า การอยู่เฉย ๆ ในตลาดหุ้นเป็นเรื่องยากไหม ผมว่าก็ไม่นะ ที่สังเกตจากคนใกล้ตัวที่สามารถลงทุนมาหลายปีได้ มักจะมีคุณสมบัติร่วมกันประมาณว่า

  1. ตัดสินใจว่าจะลงทุนระยะยาว ส่วนมากก็จะแบบลงทุนประจำโดยหักจากเงินเดือนมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า ลงทุนแบบประจำ DCA นั่นล่ะครับ
  2. ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายวัน คนที่มักจะผ่านไปได้ บางทีก็ด้วยงานที่ทำนั้นหนัก หรือโฟกัสกับตัวงานมากกว่า เลยไม่มีเวลามานั่งจ้องหน้าจอ หรือบางทีก็ดูหน้าจอบ้าง แต่ไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนตัวเอง
  3. มีวินัยที่จะลงทุนตามแผนไปเรื่อย ๆ (stay calm, stay invest) ผ่านความผันผวนตลาดหุ้น ปล่อยให้มันขึ้นมันลงไปของมัน พวกเขาก็จะยังลงทุนต่อไป
  4. พอเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี คนพวกนี้จะเริ่มเห็นธรรมชาติตลาดหุ้นที่มันจะมีขึ้นมีลง มีเรื่องผันผวนเป็นปกติ แล้วจะดวงตาเห็นธรรมว่า การขึ้นลงตลาดหุ้นระยะสั้นเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันจะวนลูปเป็นวัฏจักร และพวกเขาก็จะเลิกสนใจกับความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น และมุ่งมั่นต่อการลงทุนระยะยาวตลอดไป

ย้ำอีกครั้งว่า การขยับตัวบ่อยในตลาดหุ้น การที่คุณนั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับผลตอบแทนในอนาคตและการลงทุนระยะยาวของคุณอย่างแน่นอน ดังที่ Bogle เตือนสติเราไว้ว่า มันไม่ใช่ไอเดียที่ดีเลยที่จะคิดว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหรือต้องขยับตัวบ่อย ๆ ในการลงทุน

“Doing something is not a good idea in this business”