คลังเก็บป้ายกำกับ: Gurus

ผลตอบแทนย้อนหลัง กองทุน : ความเสียเวลาและมายาคติ

ผลตอบแทนย้อนหลัง (past performance) บอกอนาคตของผลตอบแทนกองทุนรวมได้จริงหรือ?

ถ้าถามผมว่า ความเชื่อที่แอบสร้างปัญหาให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอย่างไม่รู้ตัวคือความเชื่อเรื่องอะไร ผมบอกได้เลยว่า การที่นักลงทุนในกองทุนรวม (รวมไปถึงคนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนรวม) เชื่อว่าผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมเป็นสิ่งที่สามารถทำนายผลตอบแทนอนาคตได้ อันนี้ล่ะเป็นความเชื่อแบบมายาคติ (myth) ของนักลงทุนส่วนใหญ่เลยทีเดียว

1. ภาพรวมเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง ของกองทุนรวม

เวลาคนส่วนใหญ่จะลงทุนในกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมหุ้น สิ่งที่พวกเขาตั้งสมมติฐานก็คือ กองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในตอนนี้หรือในอดีต ควรจะทำผลตอบแทนได้ดีในอนาคต เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า คนส่วนใหญ่จะค้นหาใน Google ว่า กองทุนไหนทำผลตอบแทนดี หรือสิบอันดับผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลัง หรือบางคนก็ไปตั้งคำถามกระทู้ว่ากองทุนไหนผลตอบแทนดีบ้าง เรียกได้ว่า พลังงานที่คนส่วนใหญ่เสียไปในการลงทุน คือ การค้นหาผู้ชนะจากผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมนี่ล่ะ

ด้วยเหตุนี้ หน้าเว็บไซต์ที่คนส่วนใหญ่จะไปดู คือ หน้าที่บอกว่า กองทุนนี้ทำผลตอบแทนในอดีตได้เท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบนั่นนี่ หรือเว็บไซต์ที่มีบริการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวม หรือการดูสัญลักษณ์รางวัลต่าง ๆ หรือพวกเขาไม่จำเป็นต้องค้นดูก็ได้ วารสาร นิตยสาร ข่าว หรือสื่อการเงินต่าง ๆ จะรายงานเองว่า กองทุนรวมใดได้ผลตอบแทนสูงสุดของในรอบ 10 ปี 5 ปี 3 ปี 1 ปี หรือหน่วยเดือน สูงสุดของครึ่งปี หรือ 3 เดือน หรือ 1 เดือน หรือแม้กระทั่ง 1 สัปดาห์!!! ก็ในเมื่อนักลงทุนสนใจ วงการการเงินก็ตอบสนองเสนอข่าวสารเหล่านี้ให้จุใจเลยสิ

ส่วนตัวเห็นว่า ข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังแบบระดับเดือน เช่น 1 เดือน และที่ขัดใจสุด คือ ข่าวเกี่ยวกับผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุด 1 สัปดาห์! ข่าวพวกนี้ผมคิดว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดและสิ่งที่นักลงทุนควรทำคือเลื่อนผ่านให้ไวซะมากกว่า

มิใช่แค่วงการโฆษณาหรือสื่อการเงิน แม้กระทั่งวงการกองทุนรวมเองก็เสนอข่าวในลักษณะนี้เช่นกัน พวกเขามักจะบอกว่า กองทุนของพวกเขาได้ผลตอบแทนสูงสุด หรือทำผลตอบแทนได้ดีนะ อันนี้เราก็ว่ากันไม่ได้ ทุกบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ล้วนมีฝ่ายขายกับฝ่ายการตลาด และทั้งสองฝ่ายก็ต้องทำหน้าที่ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท เพราะฉะนั้น เวลานักลงทุนจะซื้อกองทุน สิ่งที่นักลงทุนจะได้เห็นมากที่สุดนอกจากคำบรรยายความดีงามของกองทุน ก็คือ การเสนอตัวเลขผลตอบแทนในอดีตที่แสนจะประทับใจ

คำถามคือ สิ่งที่ทุกภาคส่วนที่ผมเกริ่นไปข้างต้นกำลังทำนั้น มีประโยชน์กับนักลงทุนจริงหรือไม่?

เขียนเปิดประเด็นไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า “ผลตอบแทนย้อนหลัง” (past performance) ของกองทุนรวมไม่สามารถบ่งบอกหรือไม่ใช่วิธีที่ดีเลยในการทำนายอนาคตของผลตอบแทนที่กองทุนรวมจะทำได้[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 88.] และกองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในปัจจุบันหรือในอดีตก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำผลตอบแทนในอนาคตได้ดีแต่อย่างใด ที่หนึ่งในวันนี้ก็เป็นที่โหล่ในอนาคตได้ และโดยปกติกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการในลักษณะเลือกซื้อหุ้นรายตัว (Actively Managed Funds) ส่วนใหญ่มักจะทำผลงานได้แพ้ตลาดหุ้นและสร้างผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน

2. ใครเคยพูดอะไรเอาไว้บ้างเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง

เรามาดูกันครับว่า มีนักลงทุนและนักการเงินคนสำคัญ ๆ เคยพูดเกี่ยวกับ past performance ของกองทุนรวม ไว้อย่างไรกันบ้าง

(I) Burton G. Malkiel ได้ให้ความเห็นว่า บันทึกผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนรวมและบรรดาผู้จัดการกองทุนทั้งหลายนั้นไม่มีค่าอะไรเลยในการทำนายความสำเร็จในอนาคตของกองทุนรวม (worthless) ตัวอย่างน้อยนิดที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ชนะในระยะยาว (หมายถึงมีกองทุนไม่กี่กองที่ชนะตลาดได้) อาจเรียกได้ว่ามันเป็นแค่ความ “บังเอิญ” เท่านั้น[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 398.]

(II) Peter Lynch ผู้จัดการกองทุนคนดังได้อธิบายอย่างเห็นภาพว่า นักลงทุนมักจะชอบดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวม โดยเฉพาะการดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวมที่สูงสุดของปีที่แล้วหรือหนึ่งปีย้อนหลัง แล้วก็ทำการซื้อกองทุนรวมดังกล่าว การกระทำเช่นนี้ไม่ฉลาดเลย (foolish) เพราะโดยปกติการได้ที่หนึ่งมักจะมาจากการลงทุนในหุ้นหรืออุตสาหกรรมร้อนแรง และบางทีอาจจะเป็นแค่ความโชคดีซะมากกว่า[1. Peter Lynch and John Rothchild, Beating the Street, revised ed. (New York: Simon & Schuster, 1994), 68.]

(III) Richard A. Ferri เตือนว่า ผลตอบแทนย้อนหลังไม่สามารถนำมาใช้ในการเลือกกองทุนรวมที่จะเป็นผู้ชนะในอนาคต มันเป็นวิธีที่ไม่อาจเชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ดี วงการกองทุนรวมกับนักลงทุนก็ยังคงเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่านี้[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 27.] และยังพยายามจะเลือกกองทุนโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งเหลวไหล (pure nonsense)[1. ibid., 26.]

(IV) John C. Bogle ให้ข้อสังเกตว่า การดูผลตอบแทนที่ผ่านมาของกองทุนรวมแล้วเอามาใช้เลือกกองทุนเป็นวิธีที่ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า คุณจะได้เจอกองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดในอนาคต สำหรับผลตอบแทน(ย้อนหลัง)แล้ว อดีตไม่อาจบอกอนาคตได้เลย[1. John C. Bogle, The Little Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 87.]

ดูเหมือนทุกคนที่ยกมาจะเห็นตรงกันนะครับว่า ผลตอบแทนในอดีตนั้นไม่อาจบอกได้ถึงผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวม และวิธีเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะเป็นวิธีที่เชื่อถือไม่ได้และเสียเวลา

The past performance is not a good predictor of future returns.

3. เจาะลึกประเด็นเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง

ในหัวข้อนี้เราจะลงไปศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผลตอบแทนในอดีตกัน เพราะน่าจะมีหลายคนสงสัยว่า ถ้าวิธีนี้ไม่ดี มันไม่ดีเพราะอะไร ไม่ดียังไง แล้วเราจะใช้วิธีไหนในการเลือกกองทุนรวมกันล่ะ?

I. โฆษณาผลตอบแทนกองทุนรวม

ประเด็นแรกที่เราจะเริ่มกันก็คือ ในหมู่นักวางแผนการเงินหรือผู้แนะนำการลงทุนมักจะเลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมที่ผ่านมาให้ท่าน หรือสื่อทางการเงินต่าง ๆ อันรวมไปถึงบลจ.เองก็ตาม มักจะอ้างกองทุนอันดับหนึ่งหรืออันดับต้นขึ้นมาแสดงให้ท่านดู หากแต่ข้อมูลเหล่านี้นั้น อาจเป็นการโฆษณาระยะสั้นที่มักจะเลือกบางช่วงเวลาสำหรับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลัง หรือเลือกชนิดและจำนวนกองโดยเฉพาะและใช้กองทุนจำนวนน้อย หรือตัดอะไรบางอย่างทิ้งไป[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 398-399; see also Ferri, All About Index Funds, 26.] ด้วยเหตุนี้ ถ้าเกิดผลตอบแทนช่วงนี้ของกองทุนดี หรือพอดูผลตอบแทนของกองทุนของบลจ.นั้นเป็นช่วงที่ผลตอบแทนสูงจนชนะกองทุนของเจ้าอื่น ๆ เหล่าบลจ.และกองทุนทั้งหลายย่อมไม่พลาดโอกาสในการโฆษณาอยู่แล้ว

ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนที่พยายามเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนที่ผ่านมาอันเป็นวิธีที่ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนและเปล่าประโยชน์ จะยิ่งทำลายความมั่งคั่งของตนเองทิ้งเข้าไปอีก ถ้าเกิดพยายามสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายกองทุนเป็นว่าเล่น[1. Lynch and Rothchild, Beating the street, 81; see also Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 90.] เช่น ขายกองทุนเดิมทิ้งไปลงทุนกองทุนใหม่ที่ได้ที่หนึ่งโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลังที่ถูกประกาศหรือโฆษณา

Peter Lynch เห็นว่า การพยายามนั่งไล่ดูผลตอบแทนย้อนหลัง และการที่บุคลากรในวงการเงินและสื่อต่าง ๆ นั่งรวบรวมผู้ชนะในอดีต แม้มันจะดูเป็นงานอดิเรกของวงการกองทุนรวมและนักลงทุน มีหนังสือ มีบทความมากมายเขียนขึ้นเพื่อสิ่งนี้ แต่นั่นล่ะมันเป็นเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์หรือเสียเวลา[1. Lynch and Rothchild, Beating the street, 68.] ซึ่ง Ferri ก็ได้เตือนด้วยว่า ไม่ว่าบลจ.หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะสาธยายเรื่องผลตอบแทนในอดีตหรือจะทำนายว่ากองทุนไหนจะเป็นผู้ชนะในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างจะไม่สำคัญและไร้ประโยชน์ครับ (irrelevant and useless)[1. Ferri, All About Index Funds, 26-27.]

IIกองทุนมีสัญลักษณ์และรางวัล

บางกองทุนรวมได้รับการจัดอันดับหรือในบางครั้งมีการติดดาว อันบลจ.หรือฝ่ายขายก็จะทำการแปะติดดาวป่าวประกาศ ยิ่งมี 5 ดาว สื่อและโฆษณาจะถูกประทับตราแปะบนโบว์ชัวร์หรือเอกสารประกอบการขาย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะเชื่อว่าการได้ดาวระดับดีเลิศครบ 5 ดาวย่อมเป็นการรับประกันว่ากองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไปด้วย

เปล่าเลยครับ…

แม้กระทั่งระบบดาวของ Morningstar ก็ไม่อาจทำนายผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 39.] กองทุนที่เคยได้ดาวน้อยในอดีตก็อาจจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในอนาคต และกองทุนที่ได้ดาวมากในปัจจุบันก็อาจทำผลตอบแทนได้แย่ในเวลาต่อมา ต้องอย่าลืมการจัดอันดับหรือการติดดาว ข้อมูลที่ใช้ต้องมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นเรื่องของผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไป ๆ มาๆ กลับเพิ่มความเสี่ยงบางอย่างขึ้นมาแทน[1. Charles D. Ellis, Winning the Loser’s Game: Timeless Strategies for Successful Investing, 6th ed. (New York: McGraw-Hill Education, 2013) 126.]

โดย Malkiel อธิบายว่า ระบบดาวไม่อาจรับประกันผลตอบแทนที่เหนือกว่าในอนาคต ไม่รับประกันว่าผลตอบแทนนั้นจะต่อเนื่อง และในอดีตกองทุน 5 ดาวก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่ากองทุน 2-3 ดาวในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้ Malkiel จึงเสนอว่า นักลงทุนที่ชาญฉลาดควรจะมองทะลุผ่านดาวเหล่านี้ไปซะ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 401.] คล้ายกับความคิดของ John Bogle ที่ว่า ระบบดาวอิงอยู่กับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอดีตหรือช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น มันจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน (favor) กองทุนที่ร้อนแรง ความนิยมชั่วขณะหนึ่ง(ของตลาด) หรือแฟชั่นกองทุนที่เปลี่ยนแปลงได้ และกองทุน 5 ดาวหลายครั้งก็ลดลงไปสู่ 1-2 ดาวได้ในระยะเวลาไม่นาน[1. John C. Bogle, Bogle On Mutual Funds: New Perspectives For The Intelligent Investor (Hoboken: Wiley, 2014), 158.]

อนึ่ง แม้จะมีบทความที่เสนอว่าดาวอาจใช้ในการชี้วัดผลการดำเนินงานในอนาคตได้ หากแต่ข้อสรุปนี้ยังถูกอภิปรายถกเถียงโต้แย้งอยู่ว่ามันมีข้อสังเกตบางอย่างที่ต้องพิจารณา และ งานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องระบบการให้ดาว ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่ผู้จัดการกองทุนจะทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดตลอดเวลา และมันไม่เกี่ยวข้องเลยกับผลตอบแทนในอดีตที่พวกเขาทำได้ด้วย

ถ้าหากนักลงทุนต้องการตัวแปรที่จะช่วยในการทำนายผลตอบแทนที่ดีในอนาคต แม้ระบบดาวจะไม่สามารถช่วยได้หากแต่ “อัตราส่วนค่าใช้จ่าย” ของกองทุนรวมกลับเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 142.] ยิ่งค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับต่ำยิ่งทำนายได้ว่ากองทุนรวมนั้นจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงในอนาคต

พูดถึงประเด็นนี้ ผมนึกถึงสมัยผมเข้ามาเริ่มลงทุนและทำการศึกษาเรื่องกองทุนรวมประมาณปี 2012 ผมค่อนข้างจะตื่นตาตื่นใจกับการที่กองทุนรวมได้ 5 ดาวมาก ๆ แต่สักพักผมก็มีเรื่องให้ฉุกคิดบางอย่างกับระบบดาว ถ้าท่านจำได้ช่วงที่ราคาทองคำร้อนแรงให้ผลตอบแทนดี ผมที่นั่งเรียงลำดับดาวดูก็จะพบว่า กองทุนที่ได้ 5 ดาวจำนวนมาก คือ กองทุนรวมทองคำ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทุนหุ้นต่าง ๆ กลับได้จำนวนดาวต่ำลงไป เพราะช่วงปลายปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ช่วงนั้นตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนต่ำ กองทุนหุ้นจึงทำผลตอบแทนได้ไม่ดี

ข้อฉุกคิดข้างบนจึงเป็นครั้งแรกที่ผมสงสัยว่า การอ้างอิงดาวในการลงทุนน่าจะมีปัญหาบางประการ และเมื่อผ่านมาหลายปี ผมก็ไม่ได้สนใจระบบดาวอีกเลย เพราะกองทุนที่รู้จักก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนวนดาวไปมา 2 ดาวบ้าง 5 ดาวบ้าง และในประเด็นนี้ John Bogle ก็ได้ยกตัวอย่างสอดคล้องว่าในอเมริกาก็เคยเกิดปัญหา เพราะบางช่วงเวลา กลุ่มอุตสาหกรรมหรือหุ้นบางประเทศทำผลตอบแทนได้สูง กองทุนที่ร้อนแรงในประเภทสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะได้ดาวเยอะขึ้นมา เช่น กองทุนหุ้นต่างประเทศในช่วงปลายของ 1980s หรือกองทุนหุ้นสุขภาพ (health care funds) ในช่วงต้นของยุค 1990s[1. Bogle, Bogle On Mutual Funds, 158.] ซึ่งความนิยมในกองทุนหุ้นสุขภาพเพราะมีผลตอบแทนย้อนหลังดีในบางช่วงเวลาก็คล้ายคลึงกับในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทุนก็ได้ 5 ดาวกันไป จนทำให้บลจ.ต่าง ๆ เข็นกองทุนหุ้นสุขภาพออกมาขายกันเต็มไปหมด

ข้างบนนี้ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่งว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมมักจะชอบเลียนแบบหรือแห่ตามกันในการขายกองทุนอะไรสักอย่าง และการขายกองทุนประเภทนั้น ๆ มักจะมาในช่วงที่สินทรัพย์ดังกล่าวหรือประเภทของหุ้นหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ ทำผลตอบแทนย้อนหลังได้ดีร้อนแรงจนประจักษ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันง่ายต่อการขายเพราะมีผลตอบแทนล่าสุดเป็นตัวสนับสนุน และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ชอบแห่ตามซื้อกองทุนที่ร้อนแรงอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา สำหรับความนิยมไล่ซื้อกองทุนออกใหม่และพฤติกรรมแห่ตามขายกองทุนยอดฮิตของอุตสาหกรรมกองทุนรวม เช่น กองทุนหุ้นสุขภาพ กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจผู้สูงอายุ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น (ซึ่งขายหลังจากที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร้อนแรงปรับตัวขึ้นมามาก) กองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก (Mid-Small cap) ฯลฯ

IIIทำไมอดีตไม่อาจทำนายอนาคต

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้ คำตอบของเรื่องนี้ คือ

(1) วิธีการลงทุนของกองทุนบริหารจัดการหรือผู้จัดการกองทุนหรือของบลจ.นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม หรือไม่เปลี่ยนไปแต่เป็นวิธีที่ไม่อาจให้ผลตอบแทนดีเหมือนเดิมได้อีกแล้ว เช่น กองทุนบริหารจัดการนี้เคยใช้วิธีลงทุนในหุ้นที่มีสินทรัพย์มาก (asset-play) แต่ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงเวลานี้ หรือ จากเดิมกองทุนนิยมลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมาก ก็เปลี่ยนมาลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลน้อยแต่เน้นเติบโต (อาจเรียกว่าเป็นกรณี Style Drift)

(2) ผู้จัดการกองทุนหรือบลจ.เดิมไม่ได้บริหารกองทุนรวมนั้นแล้ว นี่ก็พบได้ว่ากองทุนรวมนั้นอาจมีผู้จัดการกองทุนใหม่ หรือผู้จัดการกองทุนเก่าลาออก หรือกลุ่มผู้จัดการและคณะกรรมการลงทุนเปลี่ยนชุด หรือบลจ.ถูกควบรวมกิจการทำให้ต้องมีการโยกย้ายกลุ่มผู้จัดการกองทุนเป็นชุดใหม่

(3) กองทุนนั้นมีจำนวนทรัพย์สินที่มากขึ้นทำให้ยากแก่การบริหารจัดการ สำหรับกรณีที่กองทุนนั้นเคยมีขนาดเล็กมาก่อน เช่น เดิมกองทุนมีสินทรัพย์ขนาด 1,000 ล้านบาท พอกองทุนได้รับความสนใจก็มีเงินกลายเป็น 10,000 ล้านบาท ทำให้การซื้อหุ้นขนาดเล็กทำได้ค่อนข้างยาก หรือการซื้อหุ้นบางอย่างติดข้อจำกัดเรื่องต่าง ๆ เช่น สภาพคล่อง หรือสัดส่วนในการลงทุนไปติดข้อกฎหมาย

(4) เป็นแค่เรื่องโชคดีหรือกองทุนซื้อหุ้นถูกตัวชั่วครั้งชั่วคราว 😅

แล้วมีอะไรที่ทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้ดี หรือสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมหรือไม่?

คำตอบคือมีครับ สิ่งนั้นก็คือ “ค่าใช้จ่าย(Costs) นั่นเอง

สิ่งที่ค้นพบกันในวงการการเงินก็คือ ยิ่งกองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะให้ผลตอบแทนดีในระยะยาวและเป็นผู้ชนะย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย[1. Ferri, All About Index Funds, 26.] ตัวแปรหลักที่จะทำนายผลการดำเนินงานในอนาคตจึงได้แก่สัดส่วนค่าใช้จ่ายและอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ ที่ยิ่งมีค่ามากเท่าไหร่ ผลตอบแทนในอนาคตก็ลดฮวบฮาบลงไปเรื่อย ๆ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 401.]

4. ย้อนดูกองทุนรวมหุ้นไทย

ผมได้เคยทำบทความเกี่ยวกับผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมหุ้นไทยไว้หลายบทความ และแนวโน้มก็คล้ายกันว่า ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมไม่บ่งบอกอนาคตที่นักลงทุนจะได้ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกลงทุนในกองทุนแบบบริหารจัดการมีผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้น (Actively Managed Funds) ไม่สามารถทำผลตอบแทนเหนือกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยรวม เช่น บทความเรื่อง ผลตอบแทนของ RMF ในอดีต หรือ ผลตอบแทน LTF ในอดีตไม่อาจบอกอนาคตได้ หรือ ผลตอบแทนกองทุนระหว่างปี 49-58 หรือ RMF กองไหนดี?

หากแต่ในบทความนี้ เราจะมาดูประเด็นเรื่อง การเลือกผู้ชนะโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลัง และนักลงทุนหวังในใจว่ากองทุนเหล่านี้จะยังเป็นผู้ชนะในอนาคตเช่นเดิม มาดูกันว่ามันจะเป็นหวังที่ลม ๆ แล้ง ๆ หรือไม่

ผมมีข้อมูลช่วงปี 2010-2017 ของกองทุนรวมหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 5 ลำดับแรกของแต่ละปี (เป็นข้อมูลในมือที่สามารถหาได้ ณ ตอนทำบทความนี้) และกองทุนเหล่านี้เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย โดยรวมไว้ทั้งกองทุนปกติและกองทุนที่มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่าง LTF RMF ซึ่งผมคิดว่ามันควรถูกจับมายำรวมกัน เพราะถ้ากองทุนบริหารจัดการ (actively managed funds) เหล่านี้มีนโยบายเช่นเดียวกันว่า มันจะต้องทำผลตอบแทนได้ชนะผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย

ดังนั้น มันไม่ควรจะมีข้ออ้างว่าจะต้องมาแยกว่าฉันเป็นกองทุนรวมทั่วไป หรือฉันลดหย่อนภาษีได้แบบ LTF หรือ RMF ถ้ามันลงทุนในหุ้นไทยเหมือน ๆ กัน ที่สำคัญเวลานักลงทุนทุกคนเลือกซื้อกองทุนพวกนี้ก็ย่อมต้องหวังว่ามันจะให้ผลตอบแทนสูดสุดอยู่แล้ว และผลก็ปรากฏดังรูปด้านล่างครับ

RANK1

จากรูปท่านจะเห็นได้ว่า ประการแรก กองทุนหุ้นไทยที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดอันดับ 1 และ 2 ในแต่ละปี ช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ซ้ำหน้ากันเลย และประการที่สอง ท่านที่ซื้อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด 5 ลำดับแรกในปี 2010 ท่านจะพบว่า ใน 7 ปีต่อมา กองทุนเหล่านั้นไม่ติด 5 ลำดับแรกเลยสักปี! ประการสุดท้าย แม้มันจะมีกองทุนที่ยังติดโผอยู่บ้าง แต่ว่าในอนาคตมันจะติดโผอยู่หรือไม่? เขียนมาถึงตรงนี้ท่านยังเชื่ออยู่หรือเกี่ยวกับการดูผลตอบแทนย้อนหลัง

พาทัวร์อีกรอบหนึ่ง คราวนี้มาถึงกองทุนยอดฮิตอย่าง LTF กล้าทายได้เลยว่า ส่วนหนึ่งของท่านที่อ่านบทความนี้ ตอนซื้อกองทุน LTF โดยเฉพาะท่านที่ซื้อเพียงเพื่อลดหย่อนภาษี ท่านก็จะมองหากองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 🧐 โดยเปิดดูสัปดาห์ท้าย ๆ ของเดือนธันวาคมที่กำลังจะหมดเวลาซื้อ LTF

ลองมาดูข้อมูลปี 2007-2017 ข้างล่างนี้กัน แล้วเราจะเห็นอะไรที่น่าสนใจ

RANKLTF

เห็นอะไรไหมครับ ก็เหมือนเดิมกับรูปก่อนหน้า กองทุนที่ได้ลำดับที่ 1 ในแต่ละปีแทบจะไม่ซ้ำหน้ากันเลย และน่าสนใจตรงที่คนที่ซื้อกองทุนโดยดูผลตอบแทนรวมสูงสุดของปี 2007 จะพบใน 10 ปีต่อมาว่า กองทุนที่ท่านซื้อมานั้นแทบจะไม่ติด 5 ลำดับแรกในแต่ละปีของ 10 ปีต่อมาเลยสักกองทุนเดียว

งานวิจัยทางวิชาการของไทยก็ให้ผลไปในทางเดียวกันว่า กลยุทธ์ที่ซื้อกองทุน LTF หรือ RMF จากผลตอบแทนที่ดีในอดีตไม่อาจชี้วัดได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนดีในอนาคต และยังพบอีกว่า กองทุนรวมเหล่านี้ทำผลตอบแทนสุทธิ (net returns) ได้ต่ำกว่าผลตอบแทนรวมเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์โดยห่างและต่ำกว่า 2-3% ต่อปี[1. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์, “ผลตอบแทนและความต่อเนื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่มีนโยบายเชิงรุก,” วารสารบริหารธุรกิจ นิด้า 22 (พฤษภาคม 2561): 61.]

แล้วจะทำอย่างไรดีในการเลือกกองทุนรวม ในเมื่อมันดูผลตอบแทนที่ผ่านมาแล้วเสียเวลา?

คำตอบง่ายมาก คือ ทำใจ! ครับ และยอมรับว่า ผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมไม่สามารถทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้ การเลือกกองทุนรวมโดยดูผลตอบแทนย้อนหลังเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพเลย[1. John C. Bogle, John Bogle on Investing: The First 50 Years (Hoboken: Wiley, 2015), 121.]

5. บทสรุปเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง ของกองทุนรวม

ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนในช่วงเวลาหนึ่งกับผลตอบแทนในช่วงเวลาถัดไป เป็นการยากมากที่นักลงทุนจะมีเครื่องรับประกันว่านักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตโดยใช้วิธีลงทุนในกองทุนที่มีผลตอบแทนดีในช่วงที่ผ่านมา คุณไม่อาจจะเอาชนะตลาดได้สม่ำเสมอจากการซื้อกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดได้ เพราะว่า อดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้ในวงการกองทุนรวม[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 399.]

ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายผู้ชนะในอนาคต คือ การดูจาก “ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม“[1. Mel Lindauer, Taylor Larimore, and Michael LeBoeuf, The Bogleheads’ Guide to Investing, 2nd ed. (Hoboken: Wiley, 2014), 116] เพราะค่าใช้จ่ายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลตอบแทนที่นักลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับ ยิ่งนักลงทุนเสียค่าใช้จ่ายกองทุนรวมมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับก็จะลดลงไป[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 88.] และในทางกลับกัน ยิ่งจ่ายน้อยเท่าไหร่ อนาคตที่กองทุนรวมนั้นจะทำผลตอบแทนได้ดีก็ยิ่งมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่แล้วกูรูในวงการการเงินจึงมักจะแนะนำ “กองทุนดัชนี” เป็นเครื่องมือหลักในการลงทุน โดยให้นักลงทุน ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ (low-cost index funds)

โดยสาเหตุก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายที่ต่ำจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในอนาคตที่สูงขึ้น[1. ibid., 87.] และการลงทุนกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำก็เพิ่มโอกาสในระยะยาวที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนรวมเท่ากับตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุนบริหารจัดการแบบ Actively Managed Funds เพราะกองทุนบริหารส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น

ตัวอย่างของผู้ที่แนะนำเช่นนี้ เช่น Ferri ผู้เสนอว่า อย่าเสียเวลาไปกับการเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนในอดีตเลย การลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ามาก[1. Ferri, All About Index Funds, 27.] หรือ Malkiel กับ Ellis ที่เห็นว่า การลงทุนในกองทุนดัชนีแบบ broad-based index ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอนาคต[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 91.] หรือ John Bogle ที่เห็นว่า กองทุนรวมที่ชนะตลาดในระยะยาวถือว่าเป็นข้อยกเว้นในอุตสาหกรรมกองทุนรวม เพราะฉะนั้นแทนที่จะมัวหาเข็มในกองฟาง (กองทุนผู้ชนะ) การซื้อทั้งกองฟาง (กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ) น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า [1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 86.]

แม้กระทั่งบทความของ Russell Kinnel ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Morningstar เองยังเสนอแนะว่า ในโลกของกองทุนรวมนั้น ตัวเลขของค่าใช้จ่าย (expense ratio) ดูจะเป็นสิ่งเดียวในโลกกองทุนรวมที่ช่วยในการตัดสินใจได้ กองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ในทุกกองทุนแบ่งตามประเภทสินทรัพย์ และในทุกช่วงเวลา สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ

โดยสรุปจึงเห็นได้ว่า การลงทุนในกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนย้อนหลังสูงหรือกองทุนอันดับหนึ่งเป็นวิธีที่ไม่อาจทำนายได้เลยว่าท่านจะได้ผลตอบแทนสูงในอนาคตเช่นเดิมหรือไม่ และส่วนใหญ่คำตอบจะกลายเป็นว่า “ไม่” ซึ่งการยอมรับว่า การมานั่งดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์และเสียเวลา นักลงทุนจะหลุดพ้นจากความเชื่อกระแสหลักในวงการลงทุน หลุดพ้นจากสื่อและการโหมกระหน่ำโชว์โฆษณาผลตอบแทนในอดีต หลุดพ้นจากการผลาญเวลางมหาผู้ชนะ และสามารถนำเวลาไปทำอะไรที่มันมีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้

ส่วนวิธีการเลือกกองทุนรวมที่น่าเชื่อถือและมีงานทางวิชาการสนับสนุนก็คือ การเลือกกองทุนจากอัตราส่วนค่าใช้จ่าย และเนื่องด้วยกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำโดยปกติมักจะเป็นกองทุนดัชนี ดังนั้น การลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ หรืออย่างน้อยลงทุนในกองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ กองทุนพวกนี้นี่ล่ะที่จะสร้างโอกาสที่ทำให้ท่านได้ผลตอบแทนที่สูงในอนาคตครับ

บทความแนะนำอื่นที่ควรอ่านต่อ

(1) ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม

(2) ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายต่อนักลงทุน

(3) กองทุนดัชนีคืออะไร

(4) กองทุนดัชนีในประเทศไทย

(5) กฎของการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย

Where are the customers’ yachts?

ชายคนหนึ่งเข้ามาหาเพื่อนที่ทำงานในวงการวอลสตรีท ซึ่งเพื่อนเขาได้พาชมเมืองแถวริมทะเลและชี้ให้ดูอะไรบางอย่างเยอะแยะไปหมด

“โน่น ที่นายเห็นหน่ะ คือ เรือยอชต์พวกนี้เป็นของโบรกเกอร์กับพวกนายธนาคารนะ”

ชายคนนั้นตกใจและตะลึงมาก ด้วยความเป็นคนซื่อเลยถามกลับด้วยความสงสัยว่า

“แล้วเรือยอชต์ของพวกลูกค้าอยู่ไหนล่ะ?”

Where are the customers’ yachts?

นี่คือชื่อหนังสือการเงินที่ผมพึ่งอ่านจบ (มีแปลไทยครับ) เป็นหนังสือที่ Warren Buffett จะแนะนำใหัคนอ่านบ่อย ๆ ลักษณะการเขียนแนวอารมณ์ขันเสียดสีวงการการเงิน ในประเด็นหลัก ๆ ว่า เงินของลูกค้าไหลเข้ากระเป๋าของนักการเงินทั้งนายหน้าค้าหุ้น นายธนาคาร ที่ปรึกษาทางการเงิน นักวิเคราะห์ ผู้จัดการการลงทุนไปซะหมด ดังที่เขาเสียดสีให้เห็นภาพว่า เงินเหล่านั้นกลายเป็นเรือยอชต์ไปหมดแล้ว

ผู้เขียน (Fred Schwed Jr.) เลือกประเด็นต่าง ๆ มาเขียนอย่างน่าสนใจ แถมมีมุกตลกสอดแทรกที่หลายครั้งขำมากเพราะมันเป็นตลกร้าย เช่น

(1) ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทำนายตลาดแทบจะไม่ถูก แต่เขาก็จะทำนายจะวิเคราะห์ต่อไป ด้วยหน้าที่การงานต่าง ๆ ความคิดที่ว่าตลาดการเงินเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้ กลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในความคิดของคนวงการการเงินส่วนใหญ่ เพราะถ้ายอมรับก็เท่ากับว่าแนวทางการทำรายได้ก้อนใหญ่หายไปหนึ่งแหล่ง ลามไปถึงความคิดของนักลงทุนรายย่อยที่ก็เชื่อไปกับเขาด้วยว่า ตนนั้นมีสามารถจับจังหวะและทำนายตลาดได้

(2) การพยากรณ์มักจะมาพร้อมกับการซื้อขายหุ้น เมื่อลูกค้าสนใจว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ลูกค้าจะได้คำตอบมากมายยืดยาว ทั้ง ๆ ที่พวกเขาควรจะตอบสั้น ๆ แค่ 3 พยางค์ว่า “ผมไม่รู้” !! และในความเป็นจริงนั้นสำหรับชาว Wall Street แล้ว

มันแทบจะมีโอกาสน้อยมากที่คุณจะได้รับคำตอบที่ออกจากปากที่ยากที่สุดของวงการการเงิน ซึ่งคำตอบที่ว่านั้นก็คือ “ผมไม่ทราบ[1. Fred Schwed Jr., ไหนล่ะเรือยอชต์ลูกค้า หรือจ้องตาวอลล์สตรีท, แปลโดยวิรัตน์ รัตนเวชสิทธิ (กรุงเทพมหานคร: ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์, 2561), 51.] 

การยกตัวอย่างนี้ของ Schwed ทำให้ผมนึกถึงเวลาหุ้นขึ้นหุ้นลงแล้วจะต้องมีคนถามเสมอว่า ทำไมหุ้น XYZ ราคาเปลี่ยนแปลงอ่ะ / มีข่าวอะไรหรอทำไมวันนี้หุ้นขึ้น / ทำไมหุ้นลง – 0.5% ล่ะ — ดูเหมือนว่าวงการการเงินและสื่อทางด้านการเงินจะมีคำตอบให้เราเสมอว่าทำไมหุ้นมันขึ้นมันลง ซึ่งสามารถยกมาได้ตั้งแต่นโยบายการเงินของประเทศโน่นนี้ จนไปถึงการยกประเด็นที่เป็นกระแสหลักดูน่าเชื่อถือว่าประชาชนตกใจหดหู่กับสิ่งใด

(3) พฤติกรรมของนักลงทุนเองที่ทำให้นักลงทุนขาดทุนและจนลง เช่น การซื้อขายหุ้นตามอารมณ์ การกู้ยืมมาลงทุน การซื้อหุ้นแพงตามกระแส ฯลฯ และ Schwed ยังมักสอดแทรกข้อคิดทางการเงินที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น เขาบอกว่า “ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการลงทุน คือ ความพยายามให้ได้ผลตอบแทนที่สูงเกินไป ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงสูงจนน่าเศร้า”[1. เรื่องเดียวกัน, หน้า 175.]

โดยส่วนตัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้สมคุณค่าที่ถูกยกย่องโดยนักลงทุนเอกหลาย ๆ คนครับ มันไม่ใช่หนังสือสอนว่าจะทำเงินยังไง แต่กำลังจะยกตัวอย่างให้เราฉุกคิด ไตร่ตรอง และระมัดระวังเวลาลงทุน โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่เสียเงินโดยไม่จำเป็นในการลงทุนที่อุตสาหกรรมการเงินพยายามล้วงไปจากกระเป๋าเรา

ถ้าจะว่าไปแล้ว เรื่องเรือยอชต์นี่ก็คล้าย ๆ กับคำเปรียบเปรยในแนวเดียวกันของ Buffett ที่ว่า[1. “Wall Street is the only place that people ride to in a Rolls-Royce to get advice from those who take the subway.” See Mary Buffett and David Clark, The Tao of Warren Buffett: Warren Buffett’s words of wisdom explained (London: Pocket Books, 2008), 9]

“วอลล์สตรีทเป็นที่ที่แปลก ที่นักธุรกิจผู้ขับรถหรูมาขอคำแนะนำว่าจะทำเงินยังไงจากคนที่เดินทางมาทำงานโดยรถไฟฟ้า”

การนิ่งและไม่เคลื่อนไหว

ในการลงทุนนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะสร้างความเข้าใจและภาพจำในหัว ให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่ทำอะไรบ่อย ๆ ซื้อขายเยอะ ๆ ในตลาดหุ้น น่าจะเป็นคนที่เก่งและคงประสบความสำเร็จในการลงทุน ตลาดหุ้นจึงดูเป็นตลาดของคนที่ไม่อยู่นิ่ง และความเชื่อนี้ก็ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การไม่อยู่นิ่ง ซื้อขายบ่อย ๆ ปรับพอร์ตลงทุนให้ทันเหตุการณ์ เป็นคุณสมบัติและพฤติกรรมที่ควรทำตาม ว่าแต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

จริง ๆ แล้ว การเคลื่อนไหวบ่อยในตลาดหุ้นน่าจะนำคุณไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงต่างหาก ด้วยเหตุผลประการสำคัญเลย ก็คือ ทุกการเคลื่อนไหวในการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น จะมี “ค่าใช้จ่าย” มากมายที่คุณจะต้องจ่ายเพราะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็น ทั้งที่เห็นชัด ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมซื้อขาย และค่าใช้จ่ายที่มาจากการอยู่ไม่สุขอื่น เช่น การขาดทุนเพราะจับจังหวะตลาด (market timing) ผิดพลาด ทำให้ขายหุ้นที่จุดขาดทุน และมาซื้อหุ้นที่จุดสูงสุด อันนำไปสู่ วงจรแห่งการล้มเหลวในการลงทุน

นักลงทุนมักจะเชื่อว่าตัวเองมีสามารถที่จะซื้อขายได้ถูกต้องกว่าคนอื่น และทำนายเคลื่อนไหวหรือจับจังหวะตลาดได้เก่ง แต่เอาจริง ๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาพยายามทำนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ผมคิดว่านักลงทุนจะคิดถูกและทำถูกได้ในเรื่องจับจังหวะลงทุน เขาจะต้องถูกถึง 4 ครั้ง คือ 1) คิดถูกว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง 2) นอกจากจะคิดถูกต้องทำถูกด้วย คือ ซื้อขายไปแล้วตลาดหุ้นขึ้นลงอย่างที่คิด 3) พอขายแล้วนักลงทุนก็ต้องถือเงินสด เพราะฉะนั้น นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 3 คือ ต้องคิดถูกว่า แล้วช่วงเวลาไหนหรือราคาไหนที่เขาจะกลับมาซื้อมาขายอีกที อันนำไปสู่การถูกครั้งสุดท้าย คือ 4) นักลงทุนต้องทำตามที่ตัวเองคิดด้วยนั่นคือกลับเข้ามาซื้อขายถูกต้อง ทั้งหมดนี้ดูเหมือนง่าย แต่ การจับจังหวะตลาดมันไม่ใช่เรื่องง่าย แค่คุณเข้าใจประะเด็นนี้และไม่หลงไปงมจังหวะซื้อขาย ผลตอบแทนของคุณอาจจะดีขึ้นมหาศาล

ลองไปดูการพูดถึงประเด็นนี้และคำแนะนำจากนักลงทุนคนดัง ๆ ของโลกกันบ้าง

•   Peter Lynch 
อดีตผู้จัดการกองทุนในตำนานของ Fidelity ผู้เขียนหนังสือในตำนานอย่าง One up on Wall Street หรือ Beating the Street ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนว่า นักลงทุนจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นักลงทุนไปติดเกาะสัก 6 เดือน นี่เป็นการอุปมาให้เห็นภาพของลินช์ว่า ที่นักลงทุนมักจะมีผลตอบแทนลดลงก็เพราะนักลงทุนชอบซื้อขาย เคลื่อนไหวบ่อย ๆ และถูกเร้าโดยข่าวหรือเสียงรบกวนต่าง ๆ การพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ คำแนะนำจากโบรกเกอร์ จากที่ปรึกษาทางการเงิน การที่ต้องแวดล้อมด้วยข่าวจากตลาดหุ้นเต็มไปหมดทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนลดลงได้

•   Warren Buffett
บัฟเฟตต์ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ผมจำคำพูดของเขาเกี่ยวกับการอยู่นิ่งในตลาดหุ้นได้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่สอนให้เราต้อง “นั่งทับมือตัวเองให้เป็น” เพราะการปฏิเสธไม่ทำอะไร หรือการไม่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่มีเสียงรบกวนเต็มไปหมด ก็เป็นคุณลักษณะสำคัญในการลงทุนระยะยาวครับ

•   John C. Bogle
Bogle ผู้มีอายุ 88 ปีในปัจจุบัน ตำนานแห่งวอลสตรีทผู้ก่อตั้งบลจ. Vanguard และปลุกปั้นให้กองทุนดัชนีเติบโตมาจนทุกวันนี้ อันเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวในตลาดหุ้นมาประมาณ 65 ปี ได้เคยเห็นทั้งตลาดหุ้นที่ตกหนัก -50% จากจุดสูงสุด หรือการตกแบบ -25% ภายในวันเดียว ได้ให้คำแนะนำในการลงทุนว่า ให้หยุดฟังเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น (tune out the market noise) การที่ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงมีความผันผวนไปมาในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องของนักเก็งกำไร ไม่เกี่ยวกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนระยะยาวไม่ควรถูกรบกวนและหวั่นไหวไปกับการขึ้นลงระยะสั้น ๆ ของตลาดหุ้นโดย Bogle อธิบายว่า เนื่องจากเวลานักลงทุนทั่วไปได้ยินเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจ มีคนมาพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อ ก็จะมีนักลงทุนบางส่วนซื้อ ๆ ขาย ๆ เมื่อได้ฟัง ซึ่งนักลงทุนระยะยาวไม่ได้รับผลลัพธ์แย่ ๆ อะไรจากพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าเขายึดมั่นในการลงทุนระยะยาว หากแต่ เรื่องพวกนี้จะเป็นการรบกวนการลงทุนระยะยาวได้ในกรณีที่นักลงทุนไปสนใจมัน! และที่มันส่งผลกระทบต่อนักลงทุนระยะยาวก็เพราะว่า เวลานักลงทุนเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ การแห่ซื้อ แห่ขาย นักลงทุนมักจะถูกรบกวนความคิดให้รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ เราต้องทำอะไรบ้างแล้ว พอถูกชักจูงด้วยเสียงรบกวนจากตลาด นักลงทุนก็จะแห่ขายพอร์ตลงทุนตัวเองและออกจากตลาดไป สุดท้ายนักลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้แพ้ (the losers) —คือเป็นผู้แพ้ให้กับเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น จากการเร้าหรือโดยความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น ตกอยู่ภายใต้อารมณ์แบบ เอ้ยย ฉันต้องทำอะไรบางแล้ว ตลาดหุ้นตก ฉันขายดีกว่า และมันก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่แย่ ๆ ในท้ายที่สุดนั่นเอง

ครั้งหนึ่งโบเกิลเคยพูดถึง To-do-list ในการลงทุนของเขาว่ามันไม่มีอะไรมาก เขาลงทุน 50% ในกองทุนดัชนีตราสารหนี้และอีก 50% ในกองทุนดัชนีหุ้น เขาจะไม่ดูมันทุกวัน ไม่สนใจมูลค่าของกองทุนหุ้น และปกติก็จะดูพอร์ตลงทุนนี้ตอนสิ้นปีครั้งนึง เหตุผลเกี่ยวกับการไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือทำอะไรกับการลงทุนมาก ก็เพราะโบเกิลคิดว่า “การ(คิดว่า)ต้องทำอะไรสักอย่าง(เช่นต้องขยับตัวซื้อขายหุ้น ปรับพอร์ตบ่อย ๆ) อาจไม่ใช่ไอเดียทีดีนัก (ในการลงทุน)”

นอกจากนี้ การชอบซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะคนที่ชอบซื้อขายเพราะสนใจลำดับผลตอบแทนสูงสุด ชอบดูรายชื่อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การจัดอันดับผลตอบแทนย้อนหลัง ซึ่ง Jack R. Meyer อดีตประธาน Harvard Management Company ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร Business Week 2004 ว่า ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาสามารถหาผู้จัดการกองทุนที่สามารถเอาชนะตลาด(หุ้น)ได้ แต่จริงๆแล้วพวกเขาคิดผิด พูดได้ว่า 85-90% ของผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี…นักลงทุนควรลงทุนแบบเรียบง่ายในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทน สอดคล้องกับความเห็นของ Charles Schwab ที่เคยอธิบายว่า ทำไมนักลงทุนชอบลงทุนในกองทุนแบบบริหาร นั่นก็เพราะ มันคือความสนุก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเลือกม้าที่ชนะ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับผลตอบแทนที่ลดลง เพราะสำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีย่อมดีกว่า เนื่องจากทำนายได้ค่อนข้างแมนยำว่าอีก 10, 15, 20 ปีข้างหน้า คุณจะได้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับสูงกว่าคนอื่น [ที่มัวแต่หากองทุนบริหารที่เก่งที่สุด] อีก 85 จาก 100 คน

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า การเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่ได้นำนักลงทุนไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มักจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ลดลงหรือขาดทุนในท้ายที่สุด การไม่ทำอะไรและอยู่นิ่ง ๆ ผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นก็ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกันครับ

ทัศนคติในการลงทุนถูกต้อง + มีวินัยที่จะยึดมั่นในทัศนคตินั้น + อดทนที่จะลงทุนระยะยาวให้ได้ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างมาก ถามว่า การอยู่เฉย ๆ ในตลาดหุ้นเป็นเรื่องยากไหม ผมว่าก็ไม่นะ ที่สังเกตจากคนใกล้ตัวที่สามารถลงทุนมาหลายปีได้ มักจะมีคุณสมบัติร่วมกันประมาณว่า

  1. ตัดสินใจว่าจะลงทุนระยะยาว ส่วนมากก็จะแบบลงทุนประจำโดยหักจากเงินเดือนมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า ลงทุนแบบประจำ DCA นั่นล่ะครับ
  2. ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายวัน คนที่มักจะผ่านไปได้ บางทีก็ด้วยงานที่ทำนั้นหนัก หรือโฟกัสกับตัวงานมากกว่า เลยไม่มีเวลามานั่งจ้องหน้าจอ หรือบางทีก็ดูหน้าจอบ้าง แต่ไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนตัวเอง
  3. มีวินัยที่จะลงทุนตามแผนไปเรื่อย ๆ (stay calm, stay invest) ผ่านความผันผวนตลาดหุ้น ปล่อยให้มันขึ้นมันลงไปของมัน พวกเขาก็จะยังลงทุนต่อไป
  4. พอเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี คนพวกนี้จะเริ่มเห็นธรรมชาติตลาดหุ้นที่มันจะมีขึ้นมีลง มีเรื่องผันผวนเป็นปกติ แล้วจะดวงตาเห็นธรรมว่า การขึ้นลงตลาดหุ้นระยะสั้นเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันจะวนลูปเป็นวัฏจักร และพวกเขาก็จะเลิกสนใจกับความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น และมุ่งมั่นต่อการลงทุนระยะยาวตลอดไป

ย้ำอีกครั้งว่า การขยับตัวบ่อยในตลาดหุ้น การที่คุณนั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับผลตอบแทนในอนาคตและการลงทุนระยะยาวของคุณอย่างแน่นอน ดังที่ Bogle เตือนสติเราไว้ว่า มันไม่ใช่ไอเดียที่ดีเลยที่จะคิดว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหรือต้องขยับตัวบ่อย ๆ ในการลงทุน

“Doing something is not a good idea in this business”

 

การนิ่งและไม่เคลื่อนไหว : ลงทุนระยะยาว

ในการลงทุนนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะสร้างความเข้าใจและภาพจำในหัว ให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่ทำอะไรบ่อย ๆ ซื้อขายเยอะ ๆ ในตลาดหุ้น น่าจะเป็นคนที่เก่งและคงประสบความสำเร็จในการลงทุน ตลาดหุ้นจึงดูเป็นตลาดของคนที่ไม่อยู่นิ่ง และความเชื่อนี้ก็ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การไม่อยู่นิ่ง ซื้อขายบ่อย ๆ ปรับพอร์ตลงทุนให้ทันเหตุการณ์ เป็นคุณสมบัติและพฤติกรรมที่ควรทำตาม ว่าแต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือ?

เรื่องจริงคือไม่ใช่เลย เป็นไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะ การเคลื่อนไหวบ่อยในตลาดหุ้นน่าจะนำคุณไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงต่างหาก ด้วยเหตุผลประการสำคัญเลย ก็คือ ทุกการเคลื่อนไหวในการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น จะมี “ค่าใช้จ่าย” มากมายที่คุณจะต้องจ่ายเพราะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็น ทั้งที่เห็นแบบชัดเจน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมซื้อขาย และค่าใช้จ่ายที่มาจากการอยู่ไม่สุขอื่น เช่น การขาดทุนเพราะจับจังหวะตลาด (market timing) ผิดพลาด ทำให้ขายหุ้นที่จุดขาดทุน และมาซื้อหุ้นที่จุดสูงสุด อันนำไปสู่ วงจรแห่งการล้มเหลวในการลงทุน

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมักจะเชื่อและมั่นอกมั่นใจว่า ตัวเองมีสามารถที่จะซื้อขายได้ถูกต้องกว่าคนอื่น สามารถทำนายเคลื่อนไหวหรือจับจังหวะตลาดได้เก่ง แต่เอาจริง ๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขาพยายามทำนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ผมคิดว่านักลงทุนจะคิดถูกและทำถูกได้ในเรื่องจับจังหวะลงทุน เขาจะต้องถูกถึง 4 ครั้ง คือ 1) คิดถูกว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง 2) นอกจากจะคิดถูกต้องทำถูกด้วย คือ ซื้อขายไปแล้วตลาดหุ้นขึ้นลงอย่างที่คิด 3) พอขายแล้วนักลงทุนก็ต้องถือเงินสด เพราะฉะนั้น นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 3 คือ ต้องคิดถูกว่า ช่วงเวลาไหนหรือราคาไหนที่เขาจะกลับมาซื้อมาขายอีกที อันนำไปสู่การจำเป็นที่จะต้องถูกครั้งสุดท้าย คือ 4) นักลงทุนต้องทำตามที่ตัวเองคิดด้วย นั่นคือกลับเข้ามาซื้อขายได้ถูกต้อง 

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนง่าย แต่ การจับจังหวะตลาดมันไม่ใช่เรื่องง่าย แค่คุณเข้าใจประะเด็นนี้และไม่หลงไปงมหาจังหวะซื้อขาย ผลตอบแทนของคุณอาจจะดีขึ้นมหาศาล

ลองไปดูการพูดถึงประเด็นนี้และคำแนะนำจากนักลงทุนคนดัง ๆ ของโลกกันบ้าง

I. Peter Lynch 

อดีตผู้จัดการกองทุนในตำนานของ Fidelity ผู้เขียนหนังสือในตำนานอย่าง One up on Wall Street หรือ Beating the Street ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนว่า นักลงทุนจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นักลงทุนไปติดเกาะสัก 6 เดือน นี่เป็นการอุปมาให้เห็นภาพของลินช์ว่า ที่นักลงทุนมักจะมีผลตอบแทนลดลงก็เพราะนักลงทุนชอบซื้อขาย เคลื่อนไหวบ่อย ๆ และถูกเร้าโดยข่าวหรือเสียงรบกวนต่าง ๆ การพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ คำแนะนำจากโบรกเกอร์ จากที่ปรึกษาทางการเงิน

การที่ต้องแวดล้อมด้วยข่าวจากตลาดหุ้นเต็มไปหมดทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนลดลงได้ และ Lynch ยังเตือนด้วยว่า การออกจากหุ้นและขายหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหุ้นตกหนักเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะกลับเข้ามาในหุ้นได้ทันตอนที่หุ้นวิ่งครั้งต่อไป

II. Warren Buffett

บัฟเฟตต์ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ผมจำคำพูดของเขาเกี่ยวกับการอยู่นิ่งในตลาดหุ้นได้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่สอนให้เราต้อง “นั่งทับมือตัวเองให้เป็น” เพราะการปฏิเสธไม่ทำอะไร หรือการไม่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่มีเสียงรบกวนเต็มไปหมด เป็นคุณลักษณะสำคัญในการลงทุนระยะยาวครับ

III. John C. Bogle

Bogle ผู้มีอายุ 88 ปีในปัจจุบัน ตำนานแห่งวอลสตรีทผู้ก่อตั้ง บลจ. Vanguard และปลุกปั้นให้กองทุนดัชนีเติบโตมาจนทุกวันนี้ อันเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวในตลาดหุ้นมาประมาณ 65 ปี ได้เคยเห็นทั้งตลาดหุ้นที่ตกหนัก -50% จากจุดสูงสุด หรือการตกแบบ -25% ภายในวันเดียว ได้ให้คำแนะนำในการลงทุนว่า ให้หยุดฟังเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น (tune out the market noise) การที่ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงมีความผันผวนไปมาในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องของนักเก็งกำไร ไม่เกี่ยวกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนระยะยาวไม่ควรถูกรบกวนและหวั่นไหวไปกับการขึ้นลงระยะสั้น ๆ ของตลาดหุ้น

โดย Bogle อธิบายว่า เนื่องจากเวลานักลงทุนทั่วไปได้ยินเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจ มีคนมาพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อ ก็จะมีนักลงทุนบางส่วนซื้อขายเมื่อได้ฟังข่าวดังกล่าว ซึ่งนักลงทุนระยะยาวจะไม่ได้รับผลลัพธ์แย่ ๆ จากพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าเขายึดมั่นในการลงทุนระยะยาว

หากแต่ เรื่องพวกนี้จะเป็นการรบกวนการลงทุนระยะยาวได้ในกรณีที่นักลงทุนไปสนใจมัน และที่มันส่งผลกระทบต่อนักลงทุนระยะยาวก็เพราะว่า เวลานักลงทุนเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ การแห่ซื้อ แห่ขาย นักลงทุนมักจะถูกรบกวนความคิดให้รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ เราต้องทำอะไรบ้างแล้ว

พอถูกชักจูงด้วยเสียงรบกวนจากตลาด นักลงทุนก็จะแห่ขายพอร์ตลงทุนตัวเองและออกจากตลาดไป สุดท้ายนักลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้แพ้ (the losers) — คือเป็นผู้แพ้ให้กับเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น จากการเร้าหรือโดยความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น ตกอยู่ภายใต้อารมณ์แบบ เอ้ยย ฉันต้องทำอะไรบางแล้ว ตลาดหุ้นตก ฉันขายดีกว่า และมันก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่แย่ ๆ ในท้ายที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งโบเกิลเคยพูดถึง To-do-list ในการลงทุนของเขาว่า มันไม่มีอะไรมาก เขาลงทุน 50% ในกองทุนดัชนีตราสารหนี้และสัดส่วนอีก 50% ที่เหลือในกองทุนดัชนีหุ้น เขาจะไม่ดูมันทุกวัน ไม่สนใจมูลค่าของกองทุนหุ้น และปกติก็จะดูพอร์ตลงทุนนี้ตอนสิ้นปีครั้งนึง เหตุผลเกี่ยวกับการไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือทำอะไรกับการลงทุนมาก ก็เพราะโบเกิลคิดว่า “การ(คิดว่า)ต้องทำอะไรสักอย่าง(เช่นต้องขยับตัวซื้อขายหุ้น ปรับพอร์ตบ่อย ๆ) อาจไม่ใช่ไอเดียทีดีนัก (ในการลงทุน)”

IV. Other Legends

นอกจากนี้ การชอบซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะคนที่ชอบซื้อขายเพราะสนใจลำดับผลตอบแทนสูงสุด ชอบดูรายชื่อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การจัดอันดับผลตอบแทนย้อนหลัง

Jack R. Meyer อดีตประธาน Harvard Management Company ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร Business Week 2004 ว่า ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาสามารถหาผู้จัดการกองทุนที่สามารถเอาชนะตลาด(หุ้น)ได้ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาคิดผิด พูดได้ว่า 85-90% ของผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี …นักลงทุนควรลงทุนแบบเรียบง่ายในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทน

Charles Schwab ก็มีความเห็นคล้ายคลึงกับ Meyer โดย Schwab เคยอธิบายว่า ทำไมนักลงทุนชอบลงทุนในกองทุนแบบบริหาร นั่นก็เพราะเหตุผลที่ว่า การลงทุนกองทุนพวก active funds มันคือความสนุก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเลือกม้าที่ชนะ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับผลตอบแทนที่ลดลง เพราะสำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีย่อมดีกว่า เนื่องจากทำนายได้ค่อนข้างแมนยำว่าอีก 10, 15, 20 ปีข้างหน้า คุณจะได้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับสูงกว่าคนอื่น [ที่มัวแต่หากองทุนบริหารที่เก่งที่สุด] อีก 85 จาก 100 คน

V. Conclusion

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า การเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่ได้นำนักลงทุนไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มักจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ลดลงหรือขาดทุนในท้ายที่สุด การไม่ทำอะไรและอยู่นิ่ง ๆ ผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นก็ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกันครับ

ทัศนคติในการลงทุนถูกต้อง + มีวินัยที่จะยึดมั่นในทัศนคตินั้น + อดทนที่จะลงทุนระยะยาวให้ได้ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างมาก ถามว่าการอยู่เฉย ๆ ในตลาดหุ้นเป็นเรื่องยากไหม ผมว่าก็ไม่นะ ที่สังเกตจากคนใกล้ตัวที่สามารถลงทุนมาหลายปีได้ มักจะมีคุณสมบัติร่วมกันประมาณว่า

(1) ตัดสินใจว่าจะลงทุนระยะยาว ส่วนมากก็จะแบบลงทุนประจำโดยหักจากเงินเดือนมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า ลงทุนแบบประจำ DCA นั่นล่ะครับ

(2) ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายวัน คนที่มักจะผ่านไปได้ บางทีก็ด้วยงานที่ทำนั้นหนัก หรือโฟกัสกับตัวงานมากกว่า เลยไม่มีเวลามานั่งจ้องหน้าจอ หรือบางทีก็ดูหน้าจอบ้าง แต่ไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนตัวเอง

(3) มีวินัยที่จะลงทุนตามแผนไปเรื่อย ๆ (stay calm and stay invest) ผ่านความผันผวนตลาดหุ้น ปล่อยให้มันขึ้นมันลงไปของมัน ไม่ว่าตลาดจะเป็นเช่นไร พวกเขาก็จะยังลงทุนต่อไป

(4) พอเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี คนพวกนี้จะเริ่มเห็นธรรมชาติตลาดหุ้นที่มันจะมีขึ้นมีลง มีเรื่องผันผวนเป็นปกติ แล้วจะดวงตาเห็นธรรมว่า การขึ้นลงตลาดหุ้นระยะสั้นเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันจะวนลูปเป็นวัฏจักร และพวกเขาก็จะเลิกสนใจกับความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น และมุ่งมั่นต่อการลงทุนระยะยาวตลอดไป

ก่อนจบบทความนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า การขยับตัวบ่อยในตลาดหุ้น การที่คุณนั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับผลตอบแทนในอนาคตและการลงทุนระยะยาวของคุณอย่างแน่นอน ดังที่ Bogle เตือนสติเราไว้ว่า มันไม่ใช่ไอเดียที่ดีเลยที่จะคิดว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหรือต้องขยับตัวบ่อย ๆ ในการลงทุน

“Doing something is not a good idea in this business.”

วลีเท่ ๆ ที่อาจส่งผลเสียในการออมเงิน

หนังสือ A Gift to My Children เป็นหนังสือที่ Jim Rogers นักลงทุนชื่อดังคนหนึ่งของโลก ได้เขียนคำสอนไว้ล่วงหน้าเพื่อสอนลูกสาวของเขา ซึ่งข้อความหนึ่งที่เขียนไว้ในหนังสือสำหรับเตือนลูกสาวที่โตขึ้นมา ก็คือ 

ให้ระวังคำพูดของคนกลุ่มหนึ่งที่จะคะยั้นคะยอให้ลูกจ่ายเงินตามใจชอบ ซึ่งพวกเขามักจะบอกว่า “ตายไปก็เอาไปไม่ได้”

โดย Rogers ยังสำทับต่อไปอีกว่า จงอย่าไปตกหลุมพรางของการใช้จ่าย เพียงเพราะว่าเรามีเงินพอให้จ่าย ถ้าสมมติเรามีเงินเราก็เอาแต่ใช้จ่าย ท้ายที่สุดเราก็จะลืมไปว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่เราจะต้องมีเงินเพื่อบรรลุมันให้ได้

1. ปัญหาเรื่องเงินคือปัญหาส่วนใหญ่ของชีวิต

การไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเงิน = ไม่มีปัญหาในชีวิตกว่า 80% ดูจะเป็นเรื่องจริง เพราะถ้าลองไล่ปัญหามากมายในชีวิตคนเรา ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเงิน ๆ ทอง ๆ นี่ล่ะครับ ทำให้วลีที่ว่า “เก็บเงินไปทำไมตายไปก็เอาไปไม่ได้” ที่อาจจะมาพร้อมกับวลียอดฮิตอย่าง “ใช้ชีวิตให้คุ้ม” ซึ่งถ้าพูดทื่อ ๆ มันก็ถูกนะครับ โอเคคนเราพอตายไปมันก็ไม่สามารถเอาเงินทองติดตัวไปได้ แต่ถ้าเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตแบบเต็มสตรีมมันก็คือหายนะดี ๆ นี่เอง เพราะมันจะทรมานกันตั้งแต่ยังไม่ตายทีเดียว

ในความเป็นจริงวลีข้างบนทั้งสองนั้น มันมักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเวลาคนเราไม่อยากเก็บเงินซะมากกว่า ซึ่งมักจะได้ยินบ่อยจากคนหนุ่มสาวทั้งหลาย เก็บเงินไปทำไม เอาไปใช้ตอนแก่ ๆ หรอ? ทำไมไม่หาความสุขกันตั้งแต่ตอนนี้เลยล่ะ เที่ยวตอนอายุเยอะ ๆ ไม่สนุกหรอก เกิดเก็บไปแล้วสักพักตายก็ไม่ได้ใช้ล่ะ เก็บเงินมาทั้งชีวิตให้คนอื่นได้ใช้ เสียดายแย่ ฯลฯ เหล่านี้ก็คือประโยคที่จะได้ยินบ่อย ๆ หรือพบเห็นได้ง่ายตามความเห็นในกระทู้หรือในเพจต่าง ๆ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าคุณได้เงินตอนนี้ 20,000 บาท คุณใช้หมดเลย คุณเดือนชนเดือน คุณซื้อทุกอย่าง ด้วยความคิดที่ว่า เดือนหน้าเงินเดือนก็ออก  หนักไปอีกคือ นอกจากคุณจะเดือนชนเดือนแล้ว คุณยังอาจต่อไปเดือนชนสองเดือน ชนสามเดือนได้ด้วยวิธีการรูดบัตรเครดิตหรือกู้หนี้ยืมสินหรือกดบัตรเงินสดเพื่อนำเงินไปใช้ผ่อนอะไรไม่รู้มากมาย ซึ่งคุณจะมีความสุขก็เมื่อตอนที่ซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว หากแต่ยังต้องมานั่งไล่จ่ายให้สิ่งที่ตัวเองซื้อในอดีตต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตนยังเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือมีอายุน้อย ๆ ก็เลยคิดว่ายังสามารถเอาเวลาที่มีไปแลกเป็นเงินได้ แต่หากเราคิดแบบนี้มันอาจจะลงเอยว่าเราก็จะต้องเอาเวลาไปแลกเงินตลอดชีวิต 

เรื่องเงินนี่สร้างปัญหาชีวิตด้านความก้าวหน้าระดับหนึ่งด้วยนะครับ เช่น ถ้าคุณไม่มีเงินสำรองเลย แล้วคุณยังมีภาระผ่อนบ้าน รถ บัตรเครดิต คุณจะย้ายงาน ลาออกจากงาน (หรือตกงาน) แทบจะไม่ได้เลย ชีวิตคือเหมือนถูก “ล่ามโซ่” ระดับหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงการทำตามความฝันอะไร เพราะจะกินจะใช้ก็ลำบากแล้ว อย่างที่ Rogers บอก คุณก็จะลืมไปเลยว่าชีวิตนี้อะไรคือสิ่งสำคัญ นอกจากมีวัตถุสิ่งของรอบกายแล้ว อะไรจริง ๆ ที่สำคัญกับชีวิต ที่เป็นความฝันที่เกิดมาต้องการทำ และในท้ายที่สุด คุณก็จะถูกกลืนชีวิตไปกับฝูงชนที่ตอบไม่ได้ว่าตัวเองต้องการและมีความฝันทำอะไร หรือตอบได้แต่ก็ไม่มีทุนตั้งต้นจะไปเริ่มทำแบบที่คิด

2. ปัญหาทัศนคติด้านการเงินที่ไม่สอดรับกับการออม

เรื่องการเก็บเงินนี่มันมีปัญหาอีกด้านตรงที่ว่า เราถูกสอนมาว่าให้หารายได้เยอะ ๆ ให้พูดเลยก็ได้ว่า 90% ของเด็กมหาวิทยาลัยที่โตมา ไม่มีใครถูกสอนเรื่องว่าจะบริหารการเงินการลงทุนอย่างไร (แม้กระทั่งเด็กจบการเงินเองก็ตาม) ทำให้คนส่วนใหญ่เคว้งคว้าง ลงเอยด้วยยากนัก ก็ไม่ทำแม่งเลยล่ะกัน ในยุคที่โฆษณาเต็มเมือง จ่ายอะไรก็จ่ายง่าย ๆ ยิ่งเข้าไปกันใหญ่ แถมยังมีแรงกระตุ้นจากคนรอบข้าง จากเพื่อน ๆ ทั้งในโลกจริงและโลกโซเชียล สุดท้ายทุกคนก็พยายามใช้จ่ายให้ดูว่าเรามีระดับเหมือนกันนะ

อีกอย่างหนึ่งคือต้องบอกไว้ว่า การเก็บเงินออมและลงทุนในสินทรัพย์การเงิน กับ การออมเพื่อเอาไปใช้จ่าย อันหลังไม่ได้ทำให้รวยขึ้นในระยะยาวนะครับ ผมเรียกมันว่า ออมเพื่อจ่ายในอนาคต เช่น เก็บเงินไปซื้อตั๋วเที่ยวต่างประเทศ ซื้อรถ ซื้อมือถือใหม่ ท้ายที่สุดเงินก้อนนี้มันก็ไม่ใช่เงินออม ไม่เปลี่ยนฐานะคุณอยู่ดี

การออมเพื่อเปลี่ยนฐานะ ต้องเป็นอะไรที่สร้างความมั่งคั่งในระยะยาว เช่น หักเงินลงทุนทุกเดือนไปซื้อกองทุนรวมหุ้น ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี ให้บริษัทหักเงินเดือนไปสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พวกนี้ถึงจะนับว่าออมและลงทุนจริง ๆ

ถ้าใครกำลังเริ่มออมหรือลงทุนอยู่ ก็ขอให้ภูมิใจได้นะครับ เพราะผมจะบอกเลยว่าเรื่องแบบนี้มันยาก คุณจะดูแปลกประหลาด ไม่ค่อยมีใครทำหรอก (โดยเฉพาะคนรุ่นอายุช่วง 20-30) เอาจริง ๆ แล้ว แค่ใช้ชีวิตแบบไม่มีหนี้สิน มีเงินฝากในธนาคาร ยังเป็นเรื่องยากเลย ถ้าให้กะคร่าว ๆ สมมติมีเหตุการณ์หยุดโลกหมุนสัก 6 เดือน คือ ไม่มีเงินเดือนไม่มีรายได้ประมาณครึ่งปี เราอาจมั่นใจและทายว่าคนกว่า 7 จาก 10 จะต้องลำบากและมีปัญหาเรื่องเงินแน่นอน

อนึ่ง ชีวิตที่มีแต่เก็บเงินหมดเลย ไม่ใช้จ่ายเลยอันนั้นก็สุดโต่งระดับหนึ่งเหมือนกัน ลองบาลานซ์สมดุลชีวิตดูครับ ดึงความสุขในอนาคตมาใช้กับวันนี้หมดเลย กับดึงความสุขทุกอย่างในชีวิตไปอยู่ในอนาคตจนหมดก็ตึงเกินไปทั้งคู่

3. บทสรุปทางแก้คือออมให้ไว!

วิธีแก้ปัญหาการเงินใระยะยาวที่ดีที่สุด คือ การเริ่มออมและลงทุนตั้งแต่ช่วงอายุ 20 เป็นต้นไป มีเงินก็หักไปลงทุนก่อน เช่น ได้เงินมา 1,000 ก็หักไปออมสัก 10-30% แม้จะลงทุนด้วยเงินไม่มาก แต่มีเวลาเป็นตัวคูณก็ช่วยได้เยอะทีเดียว และยังช่วยเสริมสร้างวินัยสำหรับการลงทุนระยะยาวได้อย่างดีด้วย

อย่างน้อยถ้าอยากจะเริ่มออมเริ่มลงทุน ผมแนะนำให้เก็บเงินให้ได้สัก เงินเดือนคูณด้วย 6 หรือคูณ 10 หรือ 12+ ซึ่งงนั่นหมายความว่า เราจะมีเงินใช้ได้สบาย ๆ เป็นเวลาครึ่งปีถึงหนึ่งปีโดยที่ไม่ต้องพึ่งเงินเดือน ก็ถือว่าเราหลุดจากเส้นค่าเฉลี่ยแล้วครับ แล้วหลังจากนั้นเก็บเงินไปเรื่อย ๆ ซื้อสะสมพวกกองทุนรวมหุ้นก็ได้ แล้วเอาเงินออมก้อน 6 เท่าของเงินเดือนนั้นมาจัดทัพเป็น “เงินสำรองฉุกเฉิน” (Reserve Fund)

ทั้งนี้ เราอาจจะมีคำถามว่าเราควรจะออมเงินหรือลงทุนไปถึงจำนวนเงินเท่าไหร่ดี? จริง ๆ มันมีวิธีวัดความมั่งคั่งง่าย ๆ อย่างหนึ่งอยู่ครับ คือ เราลองเอาค่าใช้จ่ายทั้งปี สมมติเดือนละ 20,000 = ปีละ 240,000 บาท แล้วหาร 4% หรือหาร 0.04 จะได้ตัวเลขกลม ๆ เช่นกรณีนี้ได้ 6 ล้าน ตัวเลขนี้ล่ะครับที่บอกว่า ถ้าคุณมีเงิน 6 ล้าน คุณเอาไปลงทุนแบบไม่เสี่ยง เช่น ซื้อพันธบัตร หุ้นกู้ที่ดอกเบี้ยสุทธิ 4% คุณจะได้เงินพอดีกับค่าใช้จ่ายทั้งปี

ด้วยเหตุนี้ จากตัวอย่างสมมติด้านบนถ้าคุณมีเงินก้อนจำนวนที่เท่ากับ 6 ล้าน อาจจะถือเป็นกำลังใจระดับหนึ่งได้ว่า ชีวิตกำลังจะหลุดจากภาระทางการเงินเกือบ 80% แล้ว (ลองคำนวณตัวเลขของแต่ละคนเอาเองนะครับ) ซึ่งถ้าจะให้ดี เราควรพยายามทำตัวเลขความมั่งคั่งนี้ให้ได้ประมาณช่วงอายุ 40 ก็ปลดเรื่องภาระทางการเงินในอนาคตได้สบาย ๆ ครับผม