การนิ่งและไม่เคลื่อนไหว : ลงทุนระยะยาว

ในการลงทุนนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะสร้างความเข้าใจและภาพจำในหัว ให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า คนที่ทำอะไรบ่อย ๆ ซื้อขายเยอะ ๆ ในตลาดหุ้น น่าจะเป็นคนที่เก่งและคงประสบความสำเร็จในการลงทุน ตลาดหุ้นจึงดูเป็นตลาดของคนที่ไม่อยู่นิ่ง และความเชื่อนี้ก็ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่า การไม่อยู่นิ่ง ซื้อขายบ่อย ๆ ปรับพอร์ตลงทุนให้ทันเหตุการณ์ เป็นคุณสมบัติและพฤติกรรมที่ควรทำตาม ว่าแต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือ?

เรื่องจริงคือไม่ใช่เลย เป็นไปในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะ การเคลื่อนไหวบ่อยในตลาดหุ้นน่าจะนำคุณไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงต่างหาก ด้วยเหตุผลประการสำคัญเลย ก็คือ ทุกการเคลื่อนไหวในการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้น จะมี “ค่าใช้จ่าย” มากมายที่คุณจะต้องจ่ายเพราะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็น ทั้งที่เห็นแบบชัดเจน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมซื้อขาย และค่าใช้จ่ายที่มาจากการอยู่ไม่สุขอื่น เช่น การขาดทุนเพราะจับจังหวะตลาด (market timing) ผิดพลาด ทำให้ขายหุ้นที่จุดขาดทุน และมาซื้อหุ้นที่จุดสูงสุด อันนำไปสู่ วงจรแห่งการล้มเหลวในการลงทุน

อย่างไรก็ดี นักลงทุนมักจะเชื่อและมั่นอกมั่นใจว่า ตัวเองมีสามารถที่จะซื้อขายได้ถูกต้องกว่าคนอื่น สามารถทำนายเคลื่อนไหวหรือจับจังหวะตลาดได้เก่ง แต่เอาจริง ๆ แล้ว สิ่งที่พวกเขาพยายามทำนี้เป็นอะไรที่ยากมาก ผมคิดว่านักลงทุนจะคิดถูกและทำถูกได้ในเรื่องจับจังหวะลงทุน เขาจะต้องถูกถึง 4 ครั้ง คือ 1) คิดถูกว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลง 2) นอกจากจะคิดถูกต้องทำถูกด้วย คือ ซื้อขายไปแล้วตลาดหุ้นขึ้นลงอย่างที่คิด 3) พอขายแล้วนักลงทุนก็ต้องถือเงินสด เพราะฉะนั้น นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 3 คือ ต้องคิดถูกว่า ช่วงเวลาไหนหรือราคาไหนที่เขาจะกลับมาซื้อมาขายอีกที อันนำไปสู่การจำเป็นที่จะต้องถูกครั้งสุดท้าย คือ 4) นักลงทุนต้องทำตามที่ตัวเองคิดด้วย นั่นคือกลับเข้ามาซื้อขายได้ถูกต้อง 

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนง่าย แต่ การจับจังหวะตลาดมันไม่ใช่เรื่องง่าย แค่คุณเข้าใจประะเด็นนี้และไม่หลงไปงมหาจังหวะซื้อขาย ผลตอบแทนของคุณอาจจะดีขึ้นมหาศาล

ลองไปดูการพูดถึงประเด็นนี้และคำแนะนำจากนักลงทุนคนดัง ๆ ของโลกกันบ้าง

I. Peter Lynch 

อดีตผู้จัดการกองทุนในตำนานของ Fidelity ผู้เขียนหนังสือในตำนานอย่าง One up on Wall Street หรือ Beating the Street ก็ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนว่า นักลงทุนจะมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นักลงทุนไปติดเกาะสัก 6 เดือน นี่เป็นการอุปมาให้เห็นภาพของลินช์ว่า ที่นักลงทุนมักจะมีผลตอบแทนลดลงก็เพราะนักลงทุนชอบซื้อขาย เคลื่อนไหวบ่อย ๆ และถูกเร้าโดยข่าวหรือเสียงรบกวนต่าง ๆ การพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ คำแนะนำจากโบรกเกอร์ จากที่ปรึกษาทางการเงิน

การที่ต้องแวดล้อมด้วยข่าวจากตลาดหุ้นเต็มไปหมดทำให้นักลงทุนมีผลตอบแทนลดลงได้ และ Lynch ยังเตือนด้วยว่า การออกจากหุ้นและขายหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหุ้นตกหนักเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะกลับเข้ามาในหุ้นได้ทันตอนที่หุ้นวิ่งครั้งต่อไป

II. Warren Buffett

บัฟเฟตต์ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ผมจำคำพูดของเขาเกี่ยวกับการอยู่นิ่งในตลาดหุ้นได้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่สอนให้เราต้อง “นั่งทับมือตัวเองให้เป็น” เพราะการปฏิเสธไม่ทำอะไร หรือการไม่เคลื่อนไหวในตลาดหุ้นที่มีเสียงรบกวนเต็มไปหมด เป็นคุณลักษณะสำคัญในการลงทุนระยะยาวครับ

III. John C. Bogle

Bogle ผู้มีอายุ 88 ปีในปัจจุบัน ตำนานแห่งวอลสตรีทผู้ก่อตั้ง บลจ. Vanguard และปลุกปั้นให้กองทุนดัชนีเติบโตมาจนทุกวันนี้ อันเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวในตลาดหุ้นมาประมาณ 65 ปี ได้เคยเห็นทั้งตลาดหุ้นที่ตกหนัก -50% จากจุดสูงสุด หรือการตกแบบ -25% ภายในวันเดียว ได้ให้คำแนะนำในการลงทุนว่า ให้หยุดฟังเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น (tune out the market noise) การที่ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงมีความผันผวนไปมาในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องของนักเก็งกำไร ไม่เกี่ยวกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนระยะยาวไม่ควรถูกรบกวนและหวั่นไหวไปกับการขึ้นลงระยะสั้น ๆ ของตลาดหุ้น

โดย Bogle อธิบายว่า เนื่องจากเวลานักลงทุนทั่วไปได้ยินเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจ มีคนมาพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราเงินเฟ้อ ก็จะมีนักลงทุนบางส่วนซื้อขายเมื่อได้ฟังข่าวดังกล่าว ซึ่งนักลงทุนระยะยาวจะไม่ได้รับผลลัพธ์แย่ ๆ จากพฤติกรรมเหล่านี้ถ้าเขายึดมั่นในการลงทุนระยะยาว

หากแต่ เรื่องพวกนี้จะเป็นการรบกวนการลงทุนระยะยาวได้ในกรณีที่นักลงทุนไปสนใจมัน และที่มันส่งผลกระทบต่อนักลงทุนระยะยาวก็เพราะว่า เวลานักลงทุนเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ การแห่ซื้อ แห่ขาย นักลงทุนมักจะถูกรบกวนความคิดให้รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรเกิดขึ้นแน่ ๆ เราต้องทำอะไรบ้างแล้ว

พอถูกชักจูงด้วยเสียงรบกวนจากตลาด นักลงทุนก็จะแห่ขายพอร์ตลงทุนตัวเองและออกจากตลาดไป สุดท้ายนักลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นผู้แพ้ (the losers) — คือเป็นผู้แพ้ให้กับเสียงรบกวนจากตลาดหุ้น จากการเร้าหรือโดยความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น ตกอยู่ภายใต้อารมณ์แบบ เอ้ยย ฉันต้องทำอะไรบางแล้ว ตลาดหุ้นตก ฉันขายดีกว่า และมันก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่แย่ ๆ ในท้ายที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งโบเกิลเคยพูดถึง To-do-list ในการลงทุนของเขาว่า มันไม่มีอะไรมาก เขาลงทุน 50% ในกองทุนดัชนีตราสารหนี้และสัดส่วนอีก 50% ที่เหลือในกองทุนดัชนีหุ้น เขาจะไม่ดูมันทุกวัน ไม่สนใจมูลค่าของกองทุนหุ้น และปกติก็จะดูพอร์ตลงทุนนี้ตอนสิ้นปีครั้งนึง เหตุผลเกี่ยวกับการไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือทำอะไรกับการลงทุนมาก ก็เพราะโบเกิลคิดว่า “การ(คิดว่า)ต้องทำอะไรสักอย่าง(เช่นต้องขยับตัวซื้อขายหุ้น ปรับพอร์ตบ่อย ๆ) อาจไม่ใช่ไอเดียทีดีนัก (ในการลงทุน)”

IV. Other Legends

นอกจากนี้ การชอบซื้อขายกองทุนบ่อย ๆ ก็นับเป็นการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ผลตอบแทนที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะคนที่ชอบซื้อขายเพราะสนใจลำดับผลตอบแทนสูงสุด ชอบดูรายชื่อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การจัดอันดับผลตอบแทนย้อนหลัง

Jack R. Meyer อดีตประธาน Harvard Management Company ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร Business Week 2004 ว่า ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาสามารถหาผู้จัดการกองทุนที่สามารถเอาชนะตลาด(หุ้น)ได้ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาคิดผิด พูดได้ว่า 85-90% ของผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี …นักลงทุนควรลงทุนแบบเรียบง่ายในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทน

Charles Schwab ก็มีความเห็นคล้ายคลึงกับ Meyer โดย Schwab เคยอธิบายว่า ทำไมนักลงทุนชอบลงทุนในกองทุนแบบบริหาร นั่นก็เพราะเหตุผลที่ว่า การลงทุนกองทุนพวก active funds มันคือความสนุก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเลือกม้าที่ชนะ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับผลตอบแทนที่ลดลง เพราะสำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีย่อมดีกว่า เนื่องจากทำนายได้ค่อนข้างแมนยำว่าอีก 10, 15, 20 ปีข้างหน้า คุณจะได้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับสูงกว่าคนอื่น [ที่มัวแต่หากองทุนบริหารที่เก่งที่สุด] อีก 85 จาก 100 คน

V. Conclusion

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า การเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่ได้นำนักลงทุนไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มักจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ลดลงหรือขาดทุนในท้ายที่สุด การไม่ทำอะไรและอยู่นิ่ง ๆ ผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นก็ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกันครับ

ทัศนคติในการลงทุนถูกต้อง + มีวินัยที่จะยึดมั่นในทัศนคตินั้น + อดทนที่จะลงทุนระยะยาวให้ได้ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างมาก ถามว่าการอยู่เฉย ๆ ในตลาดหุ้นเป็นเรื่องยากไหม ผมว่าก็ไม่นะ ที่สังเกตจากคนใกล้ตัวที่สามารถลงทุนมาหลายปีได้ มักจะมีคุณสมบัติร่วมกันประมาณว่า

(1) ตัดสินใจว่าจะลงทุนระยะยาว ส่วนมากก็จะแบบลงทุนประจำโดยหักจากเงินเดือนมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า ลงทุนแบบประจำ DCA นั่นล่ะครับ

(2) ไม่ติดตามการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายวัน คนที่มักจะผ่านไปได้ บางทีก็ด้วยงานที่ทำนั้นหนัก หรือโฟกัสกับตัวงานมากกว่า เลยไม่มีเวลามานั่งจ้องหน้าจอ หรือบางทีก็ดูหน้าจอบ้าง แต่ไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตการลงทุนตัวเอง

(3) มีวินัยที่จะลงทุนตามแผนไปเรื่อย ๆ (stay calm and stay invest) ผ่านความผันผวนตลาดหุ้น ปล่อยให้มันขึ้นมันลงไปของมัน ไม่ว่าตลาดจะเป็นเช่นไร พวกเขาก็จะยังลงทุนต่อไป

(4) พอเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี คนพวกนี้จะเริ่มเห็นธรรมชาติตลาดหุ้นที่มันจะมีขึ้นมีลง มีเรื่องผันผวนเป็นปกติ แล้วจะดวงตาเห็นธรรมว่า การขึ้นลงตลาดหุ้นระยะสั้นเดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันจะวนลูปเป็นวัฏจักร และพวกเขาก็จะเลิกสนใจกับความผันผวนตลาดหุ้นระยะสั้น และมุ่งมั่นต่อการลงทุนระยะยาวตลอดไป

ก่อนจบบทความนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า การขยับตัวบ่อยในตลาดหุ้น การที่คุณนั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับผลตอบแทนในอนาคตและการลงทุนระยะยาวของคุณอย่างแน่นอน ดังที่ Bogle เตือนสติเราไว้ว่า มันไม่ใช่ไอเดียที่ดีเลยที่จะคิดว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหรือต้องขยับตัวบ่อย ๆ ในการลงทุน

“Doing something is not a good idea in this business.”