กรณีศึกษาการเรียกร้องข้อมูลผลตอบแทน SET TRI: บันทึกตลาดทุนไทย

“พลังของนักลงทุนไทย: กรณีเรียกร้องเรื่องกองทุนรวมให้ใช้ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index)”

ตอนปลายปี 2018 ผมได้ไปพบว่าในหนังสือชี้ชวนเสนอขายของกองทุนรวมในหลาย ๆ บลจ. มีการผสมเลขผลตอบแทนระหว่างดัชนีราคา (SET PR) และดัชนีผลตอบแทนรวม (SET TRI) [อ่านความแตกต่างได้ที่นี่] เช่น ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (fund fact sheet) ใส่เลข SET PR เปรียบเทียบกับกองทุนจำนวนหลายปี แล้วใส่เลข SET TR เฉพาะปีล่าสุด ซึ่งผมได้โพสเรื่องราวนี้ให้เพื่อนในเพจ Bear Investor ใน Facebook ทราบเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม และประเด็นนี้ได้จุดกระแสนักลงทุนจำนวนมากรวมถึงบุคคลอื่น ๆ เรียกร้องให้ทางหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (SEC) และทางบลจ.เองทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ลำดับเหตุการณ์

ประมาณช่วงกลางเดือนสิงหาคม ผมได้นั่งอ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปของหลาย ๆ บลจ. แล้วเกิดเอะใจว่าทำไมกองทุนจำนวนมากทำผลตอบแทนได้ชนะ SET TR อีกทั้งสิ่งที่เตะตาผมคือตัวเลขของดัชนีชี้วัด เพราะผมทำบทความมาเยอะจนชินตาและจำเลขผลตอบแทนรายปีของ SET ได้ เมื่อเหลือบดูข้อชี้แจงก็พบว่า ในหนังสือชี้ชวนเขียนแค่ดัชนีชี้วัดคือ SET TR ทั้ง ๆที่ไส้ในหลายปีมันคือ SET PR การตั้งข้อสังเกตผมก็คือ ประกาศที่บังคับให้ใช้ SET TR พึ่งเริ่มต้นมาไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า บลจ. ก็ใส่เลขเฉพาะ SET TR ในปี 2560 อันเป็นปีที่เริ่มบังคับใช้ประกาศของก.ล.ต.

ผมจึงได้โพสสเตตัสในเพจ Facebook วันที่ 14 สิงหาคม 2561 ใจความว่า

” ** เพื่อเป็นการปกป้องนักลงทุนและผู้บริโภคในการรับข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. และวงการกองทุนรวมทำการแก้ไขตัวเลขผลตอบแทนเปรียบเทียบของ SET TRI ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้ถูกต้อง **

1. ความนำเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

กองทุนรวมตราสารทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยจะต้องมีดัชนีชี้วัด (benchmark) เพื่อทำการเปรียบเทียบฝีมือและผลตอบแทนที่กองทุนรวมทำได้ เพื่อให้นักลงทุนได้ทำการตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวมโดยอาศัยข้อมูลเปรียบเทียบผลตอบแทนในอดีตของกองทุนว่า กองทุนทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีหรือไม่

โดยในอดีตกองทุนรวมจะใช้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในส่วนเฉพาะผลตอบแทนของราคาหรือที่เรียกว่า SET Price Return Index (SET PR) ซึ่งมิได้ใช้ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นที่ได้คำนวณรวมเงินปันผล ที่เรียกว่า SET Total Return Index (SET TR/SET TRI) ทำให้ในอดีตนั้น นักลงทุน ผู้บริโภค และคนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่า กองทุนจำนวนมากทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัด ทั้ง ๆ ที่กองทุนเลือกเทียบกับ SET PR ไม่เทียบกับ SET TR ที่รวมเงินปันผล ในขณะที่กองทุนรวมหุ้นย่อมจะต้องได้รับเงินปันผลมาเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่ม อันนำไปสู่ความเข้าใจผิดแก่นักลงทุนจำนวนมาก ว่ากองทุนหุ้นส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

อย่างไรก็ดี ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ใหม่ทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยและใช้ดัชนีชี้วัดเป็นผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องใช้ผลตอบแทนรวมเงินปันผลหรือ SET TR / SET TRI มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

2. ปัญหาที่พบ

เมื่อข้าพเจ้าได้สอบทานตัวเลขในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยจำนวนหนึ่ง กลับพบว่า ตัวเลขผลตอบแทนในส่วนของดัชนีชี้วัดที่แสดงในเอกสารดังกล่าวสามารถสร้างความเข้าใจผิดให้กับนักลงทุน ผู้บริโภค บุคคลทั่วไป เพราะเหตุดังต่อจะได้อธิบายข้างล่างนี้

หนังสือชี้ชวนในส่วนของหน้าที่แสดงผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนจะกำกับไว้ว่า ผลตอบแทนของดัชนีชี้วัดคือ SET TRI หากแต่ตัวเลขที่ปรากฏในเอกสารของหลายกองทุน โดยเฉพาะปี 2559 ย้อนหลังไป ยังคงใช้ตัวเลขผลตอบแทนแบบ SET PR อยู่ ซึ่งวิญญูชนผู้เชื่อมั่นในข้อมูลบนหนังสือชี้ชวนดังกล่าวย่อมจะเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าในอดีตนั้น กองทุนรวมทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัดหรือ benchmark ที่เป็น SET TRI ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลข SET PR

และที่ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบมาจะเห็นได้ว่า ในหนังสือชี้ชวนไม่มีข้อมูลระบุกำกับไว้ว่ามีตัวเลขจำนวนหนึ่งเป็นตัวเลข SET PR แต่อย่างใด ทำให้เมื่อนักลงทุนอ่านแล้วอาจเข้าใจได้ว่าตัวเลขทั้งหมดคือ SET TRI

3. ข้อเรียกร้อง

เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นเพจทางการเงินและมีปณิธานในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมแก่ประชาชนทั่วไป ขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานกำกับทำการตรวจสอบและขอให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมทำการแก้ไขตัวเลขให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในอนาคต

อุตสาหกรรมกองทุนรวมเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเงินตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน ดังนั้น การทำข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้องจะยังประโยชน์ต่อประชาชนและนักลงทุน ผู้บริโภคต่อไป

อนึ่ง ข้าพเจ้าเสนอให้ทำการแก้ไขให้ใช้ตัวเลข SET TR ทั้งหมด มากกว่าที่จะทำการใส่หมายเหตุว่าข้อมูลในปีก่อนหน้าเป็น SET PR เพื่อสร้างความโปร่งใสและง่ายต่อการทำความเข้าใจต่อเอกสารหนังสือชี้ชวน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดสืบไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบต่อ สำนักงาน กลต.

ขอแสดงความนับถือ

เพจ Bear Investor

พร้อมกันนี้ได้แนบตัวอย่างของหน้าหนังสือชี้ชวนที่ได้กล่าวถึงเป็นตัวอย่างไว้ด้วย”

39127248_2251636061731234_3742495933204529152_n
ตัวเลขผลตอบแทนรวม SET TR รายปีที่ถูกต้อง
39017480_2251635961731244_1277280182423519232_n
ตัวอย่างของ บลจ. ที่ใช้ตัวเลข SET TRI ทุกปี

ตัวอย่างหนังสือชี้ชวนที่ไม่ใช้เลข SET TR ในทุกปีโดยปีก่อนหน้าจะใช้เลข SET PR ทั้งหมด

39206536_2251635978397909_3826665038664433664_n

39148089_2251635968397910_9027643303364919296_n

39137748_2251636051731235_6731029105128505344_n

39135005_2251636041731236_8380243611320582144_n

39124581_2251636025064571_6629606201212534784_n

เราจะพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปที่บลจ.ใช้ขายกองทุนต่าง ๆ มีตัวเลขไม่ตรงกับรายละเอียด เช่น บอกว่าใช้ตัวเลขผลตอบแทนแบบ SET TRI แต่ใส่ปีเดียว ปีที่เหลือเป็น SET PR ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดของนักลงทุนและผู้ซื้อกองทุนรวมได้ จริง ๆ เรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่มาก มันคือเรื่องของ Misleading หรือการทำให้เกิดข้อมูลที่เข้าใจผิดได้ และข้อมูลเช่นว่านี้ได้ผ่านตานักลงทุนและคนซื้อกองทุนรวมจำนวนมากมายมหาศาลไปแล้ว

สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ การเพิกเฉยของนักลงทุนและคนทั่วไปต่อเหตุการณ์ ซึ่งมันแสดงให้เห็นผ่านประวัติศาสตร์ว่า นักลงทุนไม่เรียกร้อง เราอาจจะต้องใช้เวลานานมาก เพราะไม่มีใครมาใส่ใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ถ้านับว่ากองทุนมาตั้งกันเยอะ ๆ ก็ช่วงปี 2545 เป็นต้นมา เราใช้เวลากว่า 15 ปีในการทำให้บลจ.หันมาใช้ดัชนี้ชี้วัดเป็น SET TRI ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาใช้ตัวเลข SET PR ในการขายนักลงทุน ซึ่งทำให้คนเข้าใจกันไปหมดว่า กองทุนในไทยทำผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด ชนะตลาดหุ้นกันได้ง่าย ๆ ขนาดกองทุนดัชนียังชนะดัชนีได้เลย! (เพราะเทียบกับ SET PR)

ทุกท่านควรจะสังเกตจากเหตุการณ์นี้ได้ว่า ตัวเลขผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น (SET TRI) ที่รวมเงินปันผลด้วยนั้น มันทรงพลังขนาดไหน ทรงพลังมากซะจนไม่มีใครอยากเอ่ยถึง หรือไม่อยากใส่มันในเอกสารการขาย เพราะมันจะปรากฏอย่างชัดเจนว่า กองทุนส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางเรียกร้องเพิ่มจึงเกิดเป็นกระทู้ Pantip ขึ้นมาอีกหนึ่งช่องทาง (Click Link)

pt

นักลงทุนที่เห็นด้วยเริ่มสร้างแคมเปญเรียกร้องใน Change เพิ่มอีก (Click Link)

Change

ฝันที่เป็นจริง

และล้วก็ได้กำเนิดหลักเกณฑ์บังคับให้ใช้เลข SET TR ทั้งหมดจากสำนักงานก.ล.ต. ในท้ายที่สุด

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า เสียงและพลังของนักลงทุนทุกท่านที่ช่วยกันเรียกร้องความถูกต้องได้สัมฤทธิ์ผลเนื่องด้วยทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้รับฟังความเห็นของนักลงทุนและออกประกาศหลายฉบับ เช่น ประกาศ สน. 64/2561 [Click] ได้กำหนดให้การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เปรียบเทียบกับตัวชี้วัด (brenchmark) จะต้องใช้ดัชนีที่ใช้วัดผลตอบแทนทุกประเภทจากการลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น (total return index) ไม่ใช่ดัชนีที่คำนวณเฉพาะราคา (price index)

64

50971849_2358570351037804_1344567158717284352_n.png

ความประทับใจ

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมภูมิใจยิ่งที่นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีและใช้เรียกร้องเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการลงทุนและวงการการเงินการลงทุนที่ดี มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า พลังของนักลงทุนรายย่อยเมื่อรวมกันแล้วทรงพลังอย่างยิ่งใหญ่มหาศาล

ทั้งนี้ต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วยที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและปกป้องนักลงทุนได้ค่อนข้างรวดเร็วครับ ผลดีที่เกิดขึ้นนี้ย่อมตกแก่นักลงทุนทุกคน แสดงให้เห็น เป็นหลักชัยและเป็นการบ่งชี้การพัฒนาตลาดทุนไทยที่ยั่งยืนในอนาคตโดยคำนึงถึงนักลงทุนผู้เป็นหัวใจสำคัญของระบบครับ

ออมเงินให้ลูก : วิธีการเก็บเงินให้อนาคตของเด็ก

ออมเงินให้ลูก : อนาคตบุตรหลานอยู่ในมือท่าน

พ่อแม่และผู้ปกครองย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตเป็นคนที่ดีและมีคุณภาพในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และแน่นอนว่าการลงทุนอย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ก็คือการลงทุนในอนาคตของคน ๆ หนึ่ง หากการลงทุนในความรู้ให้ผลประโยชน์ที่มหาศาลเพียงใด การลงทุนในเด็กคนหนึ่งให้พร้อมพูนบริบูรณ์ซึ่งความรู้ที่จะทำประโยชน์ให้คนอีกจำนวนมากในอนาคตยิ่งทวีค่ายิ่งไปกว่านั้น

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่าน บันทึกพอร์ตลงทุนของน้องไอวี่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของน้องไอวี่ได้ทำการออมเงินและลงทุนให้สำหรับอนาคตของน้องไอวี่ ซึ่งเป็นความประทับใจของผมมาก คือต้องบอกก่อนว่า ตั้งแต่ผมเขียนบทความลงทุนมาและตระหนักได้ถึงพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น คุณรู้ไหมครับว่าใครที่จะใช้พลังของมันได้ดีที่สุด คำตอบก็คือ ติ๊กต่อก ๆ เด็กแรกเกิดนั่นเอง!

1. ทำไมการ ออมเงินให้ลูก จึงสำคัญมาก

เด็กที่พึ่งเกิดมานั้นได้รับพร 1 ใน 3 ประการของมหัศจรรรย์แห่งดอกเบี้ยทบต้นไปโดยอัตโนมัตินั่นคือ “ระยะเวลาของการลงทุน” เด็กทุกคนอันรวมไปถึงบุตรหลานของผู้ที่อ่านบทความนี้อยู่ มีระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานได้มาก เพราะถ้าเอาตามอายุขัยเฉลี่ยคนไทยก็นู่นเลย 70-80 ปี

ส่วนพรอีก 2 ประการที่เหลือก็คือ “จำนวนเงินออม” กับ “อัตราผลตอบแทน” ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้อยู่ภายใต้กำมือและการตัดสินใจของพ่อแม่และผู้ปกครองอย่างยิ่ง แน่นอนว่าเด็กที่เกิดมาย่อมไม่มีกระแสเงินสดหรือรายได้เงินเดือนและเด็กไม่อาจลงทุนเองได้ ผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กอย่างมหาศาลก็คือคนที่ดูแลเขาและตระหนักได้ว่าควรจะต้องออมเงินหรือลงทุนบางอย่างให้กับเด็กนั้น

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การตัดสินใจเรื่องของ “การออมเงินให้ลูก” เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะส่งผลกระทบต่อเด็กในอนาคตอย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจเริ่ม ออมเงินให้ลูก และทำอย่างถูกต้อง อนาคตของเด็กในภายภาคหน้าจะเจิดจ้าอย่างมากและแจ่มแจ้งยิ่งกว่าแสงตะวันในตอนเที่ยง

ในเมื่อตัวเด็กนั้นได้พลังแห่ง “เวลา” ไว้ข้างกาย แต่สองผสานที่เหลือทั้ง “จำนวนเงิน” และ “ผลตอบแทน” กลับไปอยู่ในมือของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนที่ดูแลเด็ก ทุกสิ่งที่พวกเขาได้ตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจย่อมส่งผลกระทบในระดับสูงสุดกับอนาคตและความมั่งคั่งเด็กทั้งนั้น เรามาดูตัวอย่างข้างล่างนี้กัน

สมมติว่าเราเริ่มต้นที่เด็กอายุ 1 วันกันเลย หากพ่อแม่หรือคนที่เกี่ยวข้องเริ่มเก็บเงินออมเงินให้ลูกในวันนี้ เด็กจะต้องเรียนอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัยในอนาคต ซึ่งกว่าเด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยก็ราว ๆ อายุ 17-18 ปีและหากต่อปริญญาโทเลยก็ในช่วงเวลาใกล้กัน 22-23 ปี นั่นเท่ากับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมจะต้องส่งเสียเลี้ยงดูค่าใช้จ่ายในส่วนของการเรียนการศึกษาไปกว่า 20 ปี และโดยปกติมันย่อมจะต้องรวมถึงค่าอาหาร เดินทาง ที่อยู่อาศัย และอิจิปาถะอื่น ๆ ด้วย

มาดูกันว่าทำไมพ่อแม่จึงเป็นผู้กำหนดทิศทางของเงินในอนาคตเด็กอย่างมาก

หากเราต้องการเก็บเงินให้เด็กในช่วงปริญญาตรี นั่นคือ ตอนอายุ 18 ปี และในกรณีสำหรับต่อปริญญาโทก็คือ 22 ปี หากพ่อแม่ผู้ปกครอง เก็บเงินให้ลูก เดือนละ 1,000 บาทไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งผลตอบแทนตอนนี้เกือบติด 0% (ขนาดสลากออมสิน 5 ปีแบบไม่ถูกรางวัลก็ให้ผลตอบแทนไม่มากไปกว่านั้นคือ 0.8% ต่อปี) อันเราจะคำนวณแบบหยาบ ๆ ไปเลยว่าเป็นการออมเงินให้ลูกโดยไม่มีผลตอบแทน หากคิดเงินก้อนที่จะได้ก็คิดจากเงินเก็บปีละ 12,000 หรือ 18 ปีก็จะได้ 216,000 หรือถ้า 22 ปีก็ 264,000 บาท

เปลี่ยนใหม่เป็นการเก็บเงินในอะไรที่ได้ผลตอบแทนช่วง 2-3% ต่อปี เช่น เงินฝากประจำ หรือกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งผมใช้ตัวเลขผลตอบแทนคือ 3% ต่อปี การลงทุนด้วยเงิน 1,000 ทุกเดือนตั้งแต่อายุ 1 วัน พอถึงอายุ 18 จะได้เงิน 280,973.22 ส่วนอายุ 22 ปีได้ 366,441.36 บาท

หากเปลี่ยนอีกทีเป็นอัตรา 8% ต่อปี โดยอ้างอิงผลตอบแทนช่วงต่ำของ ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้น ความอัศจรรย์ก็จะบังเกิดครับ เพราะการออมเงินให้ลูกหลานเดือนละ 1,000 บาทนั้น เมื่อลูกหลานอายุ 18 ปีจะมีเงิน 449,402.92 (เกือบ 5 แสน) ส่วนตอนอายุ 22 ปีจะมี 665,481.06 บาท (เกือบ 7 แสน)

คุณอาจจะว่าไม่เห็นถึง 1 ล้านเลย แต่ผมขอให้อ่านย้อนอีกครั้ง นี่คือเดือนละ 1,000 บาท! หากท่านอยากรู้ตัวเลขของออมเงินเดือนละ 2,000 หรือ 3,000 ท่านก็จับตัวเลขข้างบนของผมไปคูณ 2 หรือคูณ 3

เห็นไหมครับว่าทำไมถึงสำคัญ หากเราถือคติว่าสิ่งที่จะให้ได้ดีสุดอย่างหนึ่งในชีวิตคนคือการศึกษา การที่ท่านออมเงินเพื่อการเล่าเรียนของบุตรหลานน้อยหรือออมเงินและลงทุนไม่ถูกที่ กำลังของทุนในการสนับสนุนอนาคตเด็กจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงหรือจะไม่รับแรงกระแทก หรือไม่อาจเปิดโอกาสสำหรับเด็กในอนาคต ทั้งหมดนี้จึงล้วนอยู่ที่การตัดสินใจทางการเงินของพ่อแม่ผู้ปกครองเลย

2. ประเภทของ เงินออมเพื่อลูก

อย่างแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานนั้นมันมีลักษณะคล้าย ๆ การก้าวขึ้นบันได เราจะต้องมองไปที่ขั้นสูงสุดว่าจะไปถึงจุดหมายยังไง หากแต่ระหว่างเดินมันก็จะมีเป็นชั้น ๆ ให้ก้าวข้าม ซึ่งค่าใช้จ่ายในการศึกษาก็เช่นกัน ระหว่างที่เรามองไปยังค่าใช้จ่ายในชั้นปริญญา เราก็ไม่สามารถลืมไปได้ว่าเราจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในระดับอนุบาล ประถม และมัธยมก่อน

สมมติเราคิดเรื่องออมเงินตั้งแต่เด็กอายุ 1 วันเช่นเดิม และถ้าตัวเลขนี้ทำให้ท่านขัดใจว่ามาคิดเรื่องเด็ก ณ วันที่เด็กเกิดจะทันหรอ นั่นแสดงว่าท่านมาถูกทางเพราะอันที่จริง (ถ้าเป็นไปได้) เราควรจะคิดไปก่อนที่เด็กจะเกิดมาด้วยซ้ำ!

สำหรับค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาและอาจจะเรื่องอื่น ๆ ในช่วงต้นของเด็ก ผมคงจะไม่เขียนอธิบายมาก เพราะมันมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายในเวลาไม่นาน จึงไม่อาจเอาไปลงทุนอะไรได้มากนัก (ต้องไม่ลืมว่าอย่างการลงทุนในหุ้นควรจะต้องลงทุนยาว 7-10 ปีขึ้นไป) ถ้าจะเขียนอธิบายรวบยอดก็คือ พ่อแม่และผู้ปกครองควรจะต้องมีเงินสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายเด็กใน 1-3 ปีข้างหน้าไว้พร้อมเสมอ และควรจะอยู่ในอะไรที่มีระดับปลอดภัย มีสภาพคล่องและถอนมาใช้ง่าย ซึ่งเหมาะสมสุดก็คงจะหนีไม่พ้นบัญชีเงินฝาก หรืออาจจะพักไว้ใน กองทุนตลาดเงิน หรือ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น

ในขณะที่เงินตอนเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถแบ่งไว้ลงทุนแยกได้ เพราะกว่าเด็กจะเรียนมัธยมก็ตอนอายุ 10 ปีขึ้นไป (ม.ปลายก็ราว ๆ 15) มหาวิทยาลัยก็ราว ๆ 17-18 เราจึงควรแยกเงินไว้สำหรับการเรียนของเด็กในชั้นปีโต ๆ กับในชั้นเรียนใกล้ ๆ เช่น ตอนลูกอายุ 1 ขวบเราก็ควรจะแบ่งเงินกลุ่มหนึ่งสำหรับค่าใช้จ่ายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องครอบคลุมชั้นอนุบาลเผื่อไว้สำหรับประถมศึกษา หากแต่เราจะต้องแบ่งส่วนเงินกลุ่มหนึ่งให้กับค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนในมัธยมกับมหาวิทยาลัยแยกออกมาเลย

ดังนั้น แต่ละครอบครัวควรจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนสำหรับการเรียนในอนาคตของลูกอย่างที่อธิบายไปด้านบน โดยแยกจากค่าใช้จ่ายในชั้นปีใกล้ ๆ เช่น ค่าเทอมที่จะต้องจ่ายใน 3 ปีข้างหน้า

3. แนวทางและวิธีการ ออมเงินให้ลูก สำหรับค่าใช้จ่ายระยะยาว

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า แล้วจะต้องลงทุนอย่างไร? เราลองมาดูกันครับ

(1) จากบทความ บันทึกพอร์ตลงทุนของน้องไอวี่ เนื่องจากคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ก่อตั้ง Jitta.com และมีแนวทางลงทุนของตัวเองโดยอาศัย Jitta Way ทำให้เราเห็นได้ถึง 2 อย่าง นั่นคือ ความรักที่ครอบครัวนี้มีให้กับเด็กและการวางแผนในเรื่องการเงินในอนาคตของเด็กที่ลงมือทำจริงด้วย โดยเน้นลงทุนในหุ้นผ่านวิธีการคัดเลือกตามแนวทาง Jitta ซึ่งหลักการลงทุนที่คุณตราวุทธิ์คุณพ่อของน้องไอวี่อธิบาย มีความครบถ้วนในเรื่องของการลงทุนระยะยาวของตลาดหุ้นครับ

juneweek1_ivy-04

การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจะต้องอาศัยทัศนคติกำกับการลงทุนตลอดเวลา โดยพ่อแม่และผู้ปกครองจะต้องเข้าใจว่า ตาดหุ้นนั้นมีความผันผวนขึ้นลงตลอดเวลา หากแต่ในระยะยาวนั้นผลตอบแทนที่แท้จริงของตลาดหุ้นจะปรากฏออกมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำการลงทุนระยะยาว ควบคุมจิตใจตนเอง และจัดการเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสม เช่น มีการกระจายลงทุนที่เพียงพอ

(2) แนวทางในการลงทุนแบบอื่น ๆ

“สำหรับผมนั้น” ที่ผมยกว่าเฉพาะผม แสดงว่าหากเป็นคนอื่นซึ่งรวมถึงผู้อ่านย่อมไม่ผูกพันจะตัดสินใจตามนี้ ขอให้ทำความเข้าใจหลักการแล้วไปตัดสินใจที่สอดคล้องเหมาะสม ถ้าผมจะ ออมเงินให้ลูก หรือหลานของผม ผมจะลงทุนในหุ้น 100% เพราะ A) เป็นการลงทุนระยะยาวที่มีเวลาเป็นแต้มต่ออันผ่านความผันผวนของตลาดหุ้นช่วงสั้นได้ และ B) ผลตอบแทนหุ้นในระยะยาวน่าประทับใจและเร่งปริมาณเงินได้สูงอันจะสร้างความแตกต่างของเงินในอนาคตเทียบกับการแช่ในเงินฝากไว้เฉย ๆ อย่างมาก

เนื่องจากมันมีมีความหลากหลายในการยอมรับความเสี่ยงและระดับการขาดทุนที่พ่อแม่รับได้ (โปรดสังเกตว่าไม่ใช้ว่าระดับที่ลูกรับได้ เพราะท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ เหมือนที่ลูกไม่อาจเลือกเสื้อใส่เองได้ตอนอายุน้อย) แต่ผมจะเขียนให้ท่านเข้าใจไว้ก่อนว่า ในระยะยาวผลตอบแทนจากหุ้นเป็นผลตอบแทนที่สูงมากระดับ 8-10% โดยเฉลี่ยทบต้นต่อปี หากท่านลงทุนในหุ้น 100% ของเงินลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับเลขพวกนี้ แต่ถ้าลดระดับหุ้นลงเช่นแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้น 50% ที่เหลือเป็นเงินฝาก ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็จะลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งถ้าอยากให้เงินเท่ากัน ในเมื่อลดผลตอบแทนลงมา ปริมาณเงินเก็บย่อมควรจะต้องสูงขึ้น

หากผมเผื่อเงินไว้ในการเรียนต่อปริญญาโทตอนอายุ 22 ปี สมมติให้ไปเรียนนอกเลยอย่างเต็มที่ เราจะใจป้ำเตรียมไว้สุด ๆ ไปเลยเผื่อเด็ก 3-5 ล้านบาท ผมลองคำนวณแล้วก็พบว่า เพียงทำผลตอบแทนได้ 8% ต่อปีและสามารถออมเงินได้เดือนละ 5,000 บาทก็จะได้เงินในอนาคต 3.3 ล้านบาท หรือ 7,500 บาทก็จะได้ 5 ล้าน ถ้าในระยะยาวได้มากกว่า 8% เงินออมจะยิ่งมากกว่านี้

และแม้ในช่วงเรียนป.ตรีหรือเรียนมัธยม หากมีความจำเป็นก็อาจจะดึงเงินก้อนนี้ออกมาบ้างก็ได้ หากแต่ก็ควรเติมกลับไปให้เยอะกว่าเดิมเพื่อเป็นการชดเชยส่วนของเงินที่ถอนออกมาก่อน และเผลอ ๆ ตัวเลข 3-5 ล้านอาจจะดูสูงไปด้วยซ้ำ หากเด็กไม่ได้เรียนต่อในประเทศอย่าง US หรือ UK หรือไม่ได้ไปเรียนนอก เงินที่เหลือนั้นเป็นส่วนเกินความมั่งคั่งของครอบครัวท่านแท้ ๆ เลย และเผลอ ๆ อาจจะไม่ต้องใช้เงินก้อนนี้ถ้าหากเด็กได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อ เพียงแต่อย่างไรนั้นก็คงต้องใช้สำหรับช่วงเวลาเตรียมตัวไปเรียน เผื่อขาด หรือรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตอยู่ดี

โดยวิธีการลงทุนระยะยาวในหุ้นและได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นนั้น พ่อแม่และผู้ปกครองของบุตรหลานสามารถทำได้อย่างเงียบง่ายผ่านการลงทุนระยะยาวใน กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งเป็นวิธีที่นักลงทุนและนักการเงินระดับโลกหลายคนแนะนำ โดยกองทุนดัชนีในประเทศไทยนั้นมักจะลงทุนเลียนแบบดัชนี SET หรือ SET50

และเราสามารถลงทุนระยะยาวได้อย่างง่าย ๆ โดยอาศัยวิธีที่ตัดอารมณ์ในการลงทุนทิ้งและใช้วินัยในการกำกับแทน คือ วิธีลงทุนแบบประจำ (regular investing) ซึ่งก็เช่นเคยว่ามีบุคคลในระดับตำนานของวงการลงทุนหลายคนแนะนำว่าเหมาะสมกับคนทั่วไป และแน่นอนว่าเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของลูกหลานด้วย

ถ้าหากเราพูดกันด้วยใจจริง ถ้าผมมีลูก ผมจะกันเงินส่วนหนึ่งลงทุนเป็นประจำผ่านกองทุนหุ้นที่ลงทุนในหุ้น 100% เช่น กองทุนดัชนีหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ เป็นประจำทุกเดือน หักจากเงินเดือนหรือรายได้โดยอัตโนมัติ เพราะสำหรับผมผู้ซึ่งให้คุณค่ากับการศึกษาและเชื่อเรื่องที่ว่า การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือการลงทุนในด้านการศึกษา (มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน – ไม่สิผมว่ามันเหลือคณานับด้วยซ้ำ) ผมจะไม่พลาดโอกาสที่จะมอบสิ่งที่ทรงค่าที่สุดคือ เงินทุนในการสนับสนุนความรู้ให้กับอนาคตของเขาครับ

4. บทสรุปการ ออมเงินให้ลูก

ผมนั้นอยากจะเขียนเรื่องการออมเงินและลงทุนให้เด็กมาค่อนข้างนาน เพราะไม่อาจปล่อยผ่านเรื่องอนาคตของเด็กไปได้ และเนื่องจากถ้ารอให้ตัวผมเองมีลูกแล้วเขียนให้อ่านก็คงจะใช้เวลาอีกแสนนาน การได้ไปเห็นบทความของน้องไอวี่จึงเตือนให้นึกถึงว่าลืมเขียนบทความเรื่องนี้ไป

ส่วนตัวก็คงต้องย้ำอีกครั้งว่า การออมเงินเพื่ออนาคตของเด็กที่ได้พลังแห่งระยะเวลาเข้ามาเสริมเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากท่านเสียใจว่าท่านออมเงินและลงทุนช้า โปรดอย่าได้ผิดพลาดหากมีโอกาสซ้ำเป็นครั้งที่สองที่จะได้ออมเงินและลงทุนให้เด็กในอนาคต

อย่างไรก็ดี เท่าที่ผมสังเกตนั้น ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีการออมเงินในอนาคตให้เด็กกันในระดับหนึ่ง ด้วยพลังแห่งความรักอันบริสุทธิ์ต่อหนึ่งชีวิตเลือดเนื้อเชื้อไข ดูจะทำให้คนทั่วไปมักคำนึงถึงค่าใช้จ่ายเด็กกันอยู่แล้ว หากแต่ปัญหาที่มองไม่เห็นก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึงเฉพาะค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่กำลังจะถึงในภาพใกล้ ๆ โดยละเลยการออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกหลานในระยะยาว หรือแม้จะได้คำนึงถึงและมีการกันส่วนให้แต่ก็ยังพลาดไปที่เอาเงินนอนแช่ไว้ในบัญชีเงินฝากอันแทบจะไร้ผลตอบแทน

การตัดสินใจเรื่องวางแผนการเงินในส่วนของค่าใช้จ่ายในการศึกษาเด็กได้ดี ประโยชน์ที่ท่านจะได้รับ บุตรหลานของท่านจะได้รับนั้น ก็ต้องพูดกันอีกครั้งว่ามันมหาศาลเกินกว่าที่จะวัดคุณค่าได้ ย้ำกันเป็นรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ด้วยความห่วงใย

An investment in knowledge pays the best interest. — Benjamin Franklin

ผลตอบแทนหุ้น : ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลตอบแทนตลาดหุ้น

“ผลตอบแทนหุ้น” และผลตอบแทนตลาดหุ้น

ผลตอบแทนหุ้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนล้วนสนใจ เรามักจะได้ยินเสมอว่าหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนสูง และมักจะตามมาด้วยคำว่าหุ้นมีความเสี่ยงสูง ตัวเลขที่มักพูดกันติดปากคือผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นคือ 10% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนของคำว่าหุ้นในประโยคข้างต้นหมายความถึงผลตอบแทนรวมของทั้งตลาดหุ้น โดยบทความนี้จะมาทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ของผลตอบแทนหุ้นและผลตอบแทนของตลาดหุ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องสำหรับกำกับการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนทุกคนไว้

1. แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ ผลตอบแทนหุ้น และตลาดหุ้น

เรามาเริ่มต้นทำความเข้าใจอย่างแรกเลยก็คือ หุ้น (stocks) คืออะไร? อธิบายคร่าว ๆ หุ้นก็คือสินทรัพย์ในการลงทุนอย่างหนึ่งที่เมื่อท่านซื้อแล้วก็จะได้สิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้น มีส่วนร่วมในผลกำไรหรือเงินปันผล รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย โดยเบื้องหลังของหุ้นทุกหุ้นก็คือธุรกิจที่มีตัวตนจริง[1. Peter Lynch and John Rothchild, Beating the Street, revised ed. (New York: Simon & Schuster, 1994), 305.] และเรามี วิธีลงทุนหุ้นได้ 2 แบบ คือ ลงทุนคัดเลือกหุ้นเองโดยเปิดบัญชีผ่านบริษัทหลักทรัพย์ กับการลงทุนผ่านกองทุนรวม

โดยผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นนั้น เราอาจจะพูดกว้าง ๆ ได้ว่า ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนรวมระยะยาวที่ประมาณ 7-11% ทบต้นต่อปี ที่ใช้ตัวเลขฐานกว้างเพราะเราอิงมาจากค่าสถิติผลตอบแทนของตลาดหุ้นหลายที่ในโลกและเพื่อเป็นการตัดปัญหาคำว่าระยะยาวนี่คือกี่ปี ซึ่งโดยปกติเช่นตัวผมนั้นคำว่าลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นควรจะมากกว่า 10-20 ปีขึ้นไป และคำพูดติดปากมักจะเป็นว่าในระยะยาวแล้วหุ้นน่าจะให้ผลตอบแทนระหว่าง 9-10% ทบต้นต่อปี แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรใช้ตัวเลขฐานกว้างไปเลยดีกว่า คือ 7-11% ต่อปีเพื่อให้ตระหนักว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นระยะยาวมีความเหวี่ยงอยู่นิด ๆ

โดยผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นนั้น เราอาจจะพูดกว้าง ๆ ได้ว่า ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนรวมระยะยาวที่ประมาณ 7-11% ทบต้นต่อปี

โดยผลตอบแทนนี้จะมาจาก 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนที่มาจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น (capital gain) กับผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend) ซึ่งผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นจะคิดโดยนำเงินปันผลมาลงทุนกลับ (reinvest) และที่เรียกมันว่าผลตอบแทนรวมของหุ้น (Stock Total Returns) ก็เพราะเป็นการคิดผลตอบแทนมาจากการถือหุ้นทั้งตลาดหรือคิดจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้น (ไม่ใช่คิดจากหุ้นรายตัว)

ในอีกทางหนึ่งอาจอธิบายได้ว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นในระยะยาวมาจากผลตอบแทนจริง ๆ ของธุรกิจต่าง ๆ [เบื้องหลังหุ้น] โดยส่วนหนึ่งมาจากเงินปันผลที่ธุรกิจหรือบริษัทเหล่านั้นจ่ายออกมา และส่วนที่เหลือมาจากอัตราการเติบโตของกำไรธุรกิจ[1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007), 192.]

โดยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือมีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ทำกิจการเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของนักลงทุนอยู่แล้ว และคนทั่วไปก็รู้จักหรือใช้บริการกันอยู่ทุกวัน เช่น ปตท. ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย บริษัทมือถือ บริษัทขนส่งมวลชน ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งการถือหุ้นทุกตัวในตลาดรวมกันก็เปรียบเสมือนดั่งการซื้อและถือส่วนในกิจการของกลุ่มบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

businessinset

นักลงทุนควรจะมองทะลุให้เห็นว่าในอนาคตกลุ่มบริษัทเรานี้ก็จะเติบโตทั้งรายได้หรือกำไรด้วยการขายสินค้าและบริการมากขึ้น ขยายกิจการ เปิดสาขาใหม่ และถึงแม้บางบริษัทจะทำได้ไม่ดีหรือต้องล้มหายตายจากไปก็ตาม หากแต่ในภาพรวมนั้นกลุ่มธุรกิจก็ควรจะเติบโตไปอย่างน้อยก็ตาม GDP และเงินเฟ้อ (inflation) และอย่างที่เกริ่นไปนั้น นักลงทุนยังได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลเข้ามาเสริมอีก

นักลงทุนโปรดคิดภาพในหัวไว้ว่าผลตอบแทนนี้มาจากการที่นักลงทุนซื้อหุ้นทุกตัวในตลาดมาถือเอาไว้ หากนักลงทุนถามว่าเราจะทำแบบนั้นได้หรอ ต้องตอบว่านักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนดังว่านี้ง่าย ๆ โดยการซื้อ กองทุนดัชนี (index funds) ซึ่งลงทุนเลียนแบบหุ้นทั้งตลาดหรือหุ้นเกือบทั้งตลาดครับ[1. ibid., 23.] (ในไทยก้คือดัชนี SET, SET50, SET100 เป็นต้น)

ดังนั้น นักลงทุนหรือคนทั่วไปย่อมสามารถถือครองกลุ่มบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ ได้ด้วยเงินก้อนนิดเดียว เช่น 500 บาท หรือ 1 บาท ผ่านการซื้อและถือครอง กองทุนดัชนีที่ลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งนักลงทุนและนักการเงินชื่อดังทั้งหลายก็แนะนำว่า เป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ (low-cost) มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี (well and broadly diversified) และในอนาคตจะทำผลตอบแทนได้มากกว่าการไปซื้อและลงทุนในกองทุนแบบบริหารจัดการคัดเลือกหุ้น (actively managed funds)

“การลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องของการถือครองธุรกิจทั้งหลาย[ในประเทศหรือในโลก]และเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่ได้รับทั้งเงินปันผลและการเติบโตของกำไรจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าว”[1. ibid., 6.]

2. ผลตอบแทนหุ้น มีความผันผวนในระยะสั้นแต่เสถียรในระยะยาว

เวลาพูดถึงผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้น เช่น ผลตอบแทนรวมของ SET (SET TR) โดยบอกว่าได้ 10% ต่อปี คนทั่วไปก็จะเถียงว่าหุ้นมันผันผวนมันจะ 10% ต่อปีได้ยังไง! เพราะในความคิดเขาคือ ผลตอบแทนปีที่ 1 ก็คือ 10% ปีสอง 10% ปีสาม ปีสี่ … ก็ปีละ 10% ซึ่งไม่ใช่ครับ เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นคนกลุ่มหนึ่งเถียงว่าหุ้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนเท่านี้ เขาจะไปหาผลตอบแทน 10% ต่อปีทุกปีได้ยังไงกัน นั่นเพราะเขาติดภาพของเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยเท่า ๆ กันทุกปี

โดยผลตอบแทนตลาดหุ้นเวลาเขาบอกว่ามีผลตอบแทนคิดเฉลี่ยต่อปีนั้น มันมาจากการคิดย้อนกลับมาว่าในแต่ละปีได้เฉลี่ยเท่าไหร่ หากแต่เรื่องจริงในระหว่างปีมันจะมีความผันผวนรวมถึงติดลบได้ เช่น ปีที่ 1 ผลตอบแทน +10% ปีที่สองผลตอบแทนติดลบ -10% และปีที่สามผลตอบแทน +20% ซึ่งตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยนั้นควรจะต้องเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้น (compound interest)

สาเหตุที่ต้องใช้ตัวเลขผลตอบแทนทบต้นเพราะถ้าเอาเลขข้างบนมาบวกกันแบบเร็ว ๆ มันจะได้ผลตอบแทนรวมแค่ 10% แต่ถ้าคิดแบบเฉลี่ยทบต้นจะได้ผลตอบแทนต่อปีเท่ากับ 5.91% หรือเราอาจคิดแบบสมมติเงินลงทุน 100 บาท สิ้นปีที่ 1 กลายเป็น 110 บาท สิ้นปีที่สองเป็น 99 บาท สิ้นปีที่สามเป็น 118.8 บาท ผลตอบแทน 3 ปีได้ 18.8 บาทจากเงินต้น 100 ก็เท่ากับได้ผลตอบแทนเสมือนดอกเบี้ยทบต้นที่ 5.91% ต่อปี

เริ่มต้นนั้นเราลองมาดูผลตอบแทนรวมต่อปีของตลาดหลักทรัพย์ไทยตั้งแต่ก่อตั้งปี 1975-2017 (43 ปี) แยกให้เห็นตัวเลขรายปี ดังรูปด้านล่างนี้ครับ

ผลตอบแทนหุ้น ตลาดหุ้น 1975-2017

ท่านจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนในแต่ละปีมีความผันผวนอย่างมาก ซึ่งอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือในระยะยาวนั้นผลตอบแทนรวมรายปีของตลาดหุ้นไทย (SET Total Return: SET TR or SET TRI) มักจะเป็นบวก มีน้อยปีที่ติดลบ จาก 43 ปี มีเพียง 15 ปีเท่านั้นที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนรวมติดลบ (โอกาส 35%) และปีที่ติดลบมากกว่า 15% ก็มีแค่เพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น (โอกาส 16.28%)

การผันผวนของตลาดหุ้น การที่ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นเรื่องปกติเฉกเช่นฤดูต่าง ๆ[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 46.] ที่ต้องหมุนเวียน มีหน้าหนาวเดี๋ยวก็มีหน้าร้อน หน้าฝน นักลงทุนจะต้องเพิกเฉยต่อความผันผวนช่วงสั้นและอดทนมีวินัยลงทุนระยะยาวให้ได้แม้ในวันที่ดูเหมือนตลาดหุ้นจะถล่มทลายมืดมิดไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ตาม[1. Ken Fisher and Lara Hoffmans, The Ten Roads to Riches: The Ways the Wealthy Got There (And How You Can Too!) (Hoboken: Wiley, 2009), 195.]

ต้องขอแทรกแง่คิดไว้ตรงนี้ว่า การกังวลตลาดหุ้นตกหนักมากไปและพยายามจับจังหวะลงทุนไม่ใช่เรื่องดีเลย เพราะในภาพลงทุนระยะยาวตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่า การนั่งรอหาโอกาสจับจังหวะ (market timing) หรือ การรอหุ้นตก อาจจะทำให้ท่านได้ผลตอบแทนที่ทิ้งห่างจากผลตอบแทนจริงที่ตลาดหุ้นทำได้และเราสามารถจะได้รับผลตอบแทนดังว่าอย่างง่าย ๆ เพียงแค่ลงทุนโดยกลยุทธ์ซื้อแล้วถือครองระยะยาว (buy-and-hold strategy)

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ออมเงินและซื้อสะสมเป็นประจำ (DCA) ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำไปเรื่อย ๆ อันเป็นวิธีที่เหมาะสมกับคนทั่วไปในการลงทุนระยะยาวของหุ้นและกองทุนหุ้น และเป็นหนึ่งใน 10 วิธีสู่ความร่ำรวยที่ทำได้ง่ายมาก ๆ แค่ต้องอาศัยระยะเวลาลงทุนให้ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นทำงาน[1. ibid., 177-178.]

ถามว่าระยะเวลาถือครองหุ้นที่จะทำให้ท่านได้ผลตอบแทนเป็นบวกคือเท่าไหร่ ผมเคยนำข้อมูลของ SET TR ช่วง 2 มกราคม 2002 ถึง 20 พฤศจิกายน 2015 มาจัดทำเป็นผลตอบแทนแบบ Rolling Return นั่นคือ หากท่านลงทุนวันนี้แล้วถือครองไปต่อเนื่อง ท่านจะพบว่าระยะเวลาลงทุน 5 ปีไม่ทำให้ท่านได้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกช่วงเวลา เพราะยังมีโอกาสที่ผลตอบแทนจะติดลบได้ หากแต่ระยะเวลา 7 ปีนั้นเป็นช่วงที่ท่านจะได้ผลตอบแทนเป็นบวกเสมอไม่ติดลบ และก็เป็นการสนับสนุนข้อความที่ว่าการลงทุนระยะยาวในหุ้น (โดยการถือหุ้นทั้งตลาด) หากถือเกิน 10 ปีขึ้นไป (แทบ)จะไม่มีโอกาสขาดทุนเลย

ผลตอบแทนหุ้น Rolling Return ถือ 5 ปี

ผลตอบแทนหุ้น Rolling Return ถือ 7 ปี

ด้วยเหตุนี้ ระยะเวลาในการลงทุนจึงสำคัญมาก นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจะต้องลงทุนระยะยาวอย่างน้อยก็ 7 ปี นั่นนำมาสู่คำถามต่อมา คุณคิดว่า 7 ปีนานไหม? ซึ่งผมคงต้องถามต่อว่า การคบกันของคู่รัก 7 ปีนานไหม แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ถ้าพูดว่าคบกันมา 7 ปีแล้ว คู่รักที่พูดนี้ย่อมเป็นส่วนน้อย ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่บอกว่าลงทุนระยะยาวได้ถึง 7 ปี คนที่พูดอาจมีเยอะ แต่คนที่ทำได้จริงอาจจะมีน้อย

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทนความผันผวนในระยะสั้นของตลาดหุ้นไม่ได้ บางคนเห็นหุ้นติดลบภายในสัปดาห์เดียวก็ขายหุ้นทิ้งซะแล้ว การเชื่อมั่นในหุ้นและวางแผนจะลงทุนกับมันนาน ๆ ไปตลอดชีวิต ประเด็นการขายอาจไม่สำคัญนัก และนักลงทุนไม่ควรคิดจะขายมันง่าย ๆ หลังจากลงทุนไปสักพักเพียงแค่เห็นหุ้นผันผวนเกิดตัวเลขขาดทุนช่วงสั้น เปรียบไปก็เหมือนการแต่งงาน การหย่าง่ายไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่จะนำมาใช้เป็นคู่ชีวิตกับใครสักคน

3. ผลตอบแทนหุ้น มาจากเงินปันผลเป็นหลักในระยะยาว

ผมเคยเขียนบทความในเรื่องนี้ไว้ 2 ครั้ง คือ “ผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์ระหว่าง SET PR กับ SET TR” และ “เงินปันผล : หัวใจแห่งผลตอบแทนของหุ้น” ซึ่งในบทความนี้จะทำการอธิบายใหม่อีกครั้งเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับผลตอบแทนของหุ้นและตลาดหุ้นในระยะยาว

เพื่อให้เห็นภาพของการเติบโตของเงินลงทุนที่ได้ผลตอบแทนระดับผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น (SET TR) หากท่านลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาทตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์มาในเดือนเมษายนปี 1975 (พ.ศ. 2518) มาจนถึงสิ้นปี 2017 (พ.ศ. 2561) รวมเป็นระยะเวลา 43 ปี เงินของท่านจะกลายเป็นเงินถึง 1,243,314 บาท!!!!!! หรือโตในระดับ 124 เด้ง!

ผลตอบแทนหุ้น SET TR 10,000 1975-2017

การที่เงิน 10,000 บาทกลายเป็น 1,243,314 บาท ในระยะเวลา 43 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นได้ 11.87% หรืออาจอธิบายได้ว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนโดยรวมระยะยาวตั้งแต่ก่อตั้งมาจนถึงปี 2017 รวม 40 กว่าปีนั้นสูงในระดับ 11.87% ทบต้นต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนช่วงกว้างที่เกริ่นไว้ช่วงต้นของบทความเสียอีกเพราะนี่สูงมากในระดับเกือบ 12% ทบต้นต่อปีกันไปเลย

ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย (SET TR) ซึ่งได้รวมเงินปันผลทบต้น ในช่วง 1975-2017 (รวม 43 ปี) อยู่ที่ 11.87% ทบต้นต่อปี

อนึ่ง ถ้าใช้ระยะเวลาเป๊ะ ๆ เนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มต้นปลายเดือนเมษายน 1975 ระยะเวลาทบต้นจริงจึงต้องเป็น 42 ปีกับอีก 8 เดือน ซึ่งจะได้ผลตอบแทนทบต้นที่ 11.97% ต่อปี ไม่ต่างกันมาก ในบทความนี้ผมจะใช้ตัวเลขที่น้อยกว่าคือ 11.87% เป็นหลัก

ดังที่เคยเขียนบทความไปว่า ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นโดยรวมนั้น แม้นักลงทุนจะคิดว่าราคาหุ้นคือพระเจ้า หากแต่สิ่งที่ทรงพลังที่สุดในการลงทุนหุ้นระยะยาว คือ เงินปันผล (dividend) ที่ทรงพลังขั้นสุดเมื่อนำมาลงทุนกลับในตลาดหุ้น คิดเสมือนว่าเมื่อท่านถือหุ้นทั้งตลาดหุ้นเมื่อหุ้นทั้งตลาดจ่ายเงินปันผล ท่านก็นำกลับมาซื้อหุ้นทุกตัวในตลาดในสัดส่วนเดิมอีกรอบและทำแบบนี้ไป 43 ปี เงิน 10,000 บาทที่ลงทุนตั้งต้นของท่านจะกลายเป็นเงินประมาณเกือบ 1.25 ล้านบาท

หากแต่ชีวิตท่านจะเศร้ามากหากท่านเป็นคนที่เอาเงินปันผลออกไปใช้และภาวนาอาศัยเพียงการขึ้นลงของตลาดหุ้น เพราะผลตอบแทนของตลาดหุ้นเฉพาะราคา (SET Price Return: SET PR) ไม่อาจทำให้ท่านรวยได้หรอก เพราะเมื่อย้อนดูราคาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ที่เริ่มต้น 100 จุด ณ วันที่ตั้งตลาดหุ้นมาจนถึงสิ้นปี 2017 ที่มีมูลค่าดัชนีปิดที่ 1753.71 จุดนั้น หากท่านได้รับผลตอบแทนเพียงเท่า SET Index เงิน 10,000 ที่ท่านลงทุนจะกลายเป็นแค่เงินหลักแสนเพียง 175,371 เท่านั้นเอง

ผลตอบแทนหุ้น เงิน 10,000 TR vs PR 1975-2017

หากคิดเป็นผลตอบแทนแล้ว เงิน 10,000 กลายเป็นเงิน 175,371 ภายในระยะเวลา 43 ปี นั่นเท่ากับว่า ท่านทำผลตอบแทนทบต้นได้เพียง 6.89% ต่อปีเท่านั้นเอง

เมื่อย้อนไปดูตัวเลขผลตอบแทนระยะยาวของ SET TR ที่ 11.87% ทบต้นต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนเฉพาะจากราคาดัชนี (Prices) อยู่ที่ 6.89% ส่วนต่างตรงนี้ที่เพิ่มพูนมาจากเงินปันผลทบต้นจึงคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีที่ 4.98% หรือราว ๆ 5% ทบต้นต่อปีเลยทีเดียว![1. ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาในช่วงหนึ่งนั้น ผลตอบแทนระยะยาวคือ 11% ต่อปี ซึ่งมาจากส่วนของเงินปันผล 3% ต่อปี See Lynch and Rothchild, Beating the Street, 51.]

นอกจากนี้ ความมหัศจรรย์ของเงินปันผลทบต้นที่ผมอยากให้คุณเห็นก็คือ ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 1975-2017 อยู่ที่ 11.87% ทบต้นต่อปี แบ่งเป็นผลตอบแทนจากส่วนของราคาดัชนีที่ 6.89% ต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 58 ในขณะที่เงินปันผลจะมีสัดส่วนที่เหลือเพียงร้อยละ 42

หากแต่ระยะเวลาลงทุนที่ยาวนาน พลังแห่งเงินปันผลทบต้นจะทรงพลานุภาพยิ่ง เพราะเรายังจำกันได้ใช่ไหมครับว่า เงิน 10,000 บาทที่ทำผลตอบแทนได้เท่ากับ SET PR จะกลายเป็นเงินเพียง 175,371 ในขณะที่หากได้ผลตอบแทนรวมเท่ากับ SET TR ซึ่งเท่ากับว่าได้นำเงินปันผลมาลงทุนทบต้น เงินก้อนเดียวกันจะกลายเป็น 1,243,314 บาท

หากเอา 1,243,314 – 175,371 จะได้มูลค่าเท่ากับ 1,067,943 ซึ่งเงินจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 86% ของเงินที่เติบโตด้วยอัตราดอกเบี้ยทบต้นเท่ากับผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น

ในระยะยาว 40 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนในการลงทุนหุ้นของท่านจะทวีค่ามหาศาลด้วยพลังแห่งเงินปันผล เพราะมูลค่าเงินออมของท่านในอนาคตประมาณ 85% จะมาจากเงินปันผล ที่เหลืออีกน้อยนิด 15% เท่านั้นที่จะมาจากราคาหุ้น

อนึ่ง นักลงทุนบางท่านเช่น Peter Lynch ก็อธิบายในเชิงที่ว่า ส่วนของราคาหุ้น (stock prices) ที่เพิ่มขึ้น มีเหตุผลเบื้องหลังมาจากการที่บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มูลค่าของบริษัทสูงขึ้น[1. ibid., 51.] เงินปันผลจึงยังมีความสำคัญไม่เฉพาะผลตอบแทนในส่วนของมันเพียงอย่างเดียว เพราะมันผูกพันไปถึงส่วนของราคาหุ้นด้วย!

โดยวิธีที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนแบบที่อธิบายไปง่าย ๆ ก็เช่นเดิม คือ การซื้อกองทุนดัชนีที่ลงทุนถือหุ้นทั้งตลาดด้วยค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในระยะยาว ซื้อสะสมแล้วถือครองอย่างมีวินัย และด้วยระบบของกองทุนรวม เมื่อกองทุนดัชนีถือหุ้นทั้งตลาด หากหุ้นที่กองทุนถือมีการจ่ายเงินปันผล กองทุนดัชนีก็จะต้องนำเงินปันผลมาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มในสัดส่วนตามดัชนีอีกครั้ง การลงทุนในกองทุนรวมจึงทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนทบต้นของตลาดหุ้นที่มีความอัศจรรย์ตรงผลตอบแทนส่วนของเงินปันผลรวมอยู่แล้ว

คนที่จะมีปัญหามากที่สุด ก็คือ คนที่ชอบซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะโดนค่าใช้จ่ายในการส่วนของภาษี และโดยทั่วไปคนเหล่านี้ไม่ค่อยนำส่วนของปันผลที่กองทุนจ่ายกลับมาลงทุนใหม่หรอก หรือจะนำกลับมาลงทุนใหม่ ผมก็จะถามต่อว่าแล้วทำไมจะต้องให้กองทุนมันจ่ายเงินปันผลออกไป ใครไม่เข้าใจหรือต้องการศึกษาเพิ่มเติมให้อ่านบทความนี้ครับ >> ปัญหามายาคติและความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล

4. ผลตอบแทนหุ้น ได้มาไม่ยากโดยการซื้อแล้วถือหรือนั่งทับมือให้เป็น

ย้อนไปดูรูปนี้กันอีกครั้งนะครับ

ผลตอบแทนหุ้น ตลาดหุ้น 1975-2017

จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนรวมรายปีแต่ละปีของตลาดหุ้นไทยนั้นมีบวกลบเป็นปกติหรือขาดทุนบ้างในบางเวลาและตัวเลขผลตอบแทนรายปีนั้นห่างกันมาก ช่วงห่างอาจเป็นได้ถึงประมาณ +134% และติดลบได้สูงสุดถึง -53% ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอยู่ที่ประมาณ 12% ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนกับผลตอบแทนรายปีนั้นดูจะแหวกแตกต่างมากมายอะไรปานนี้

คนที่อธิบายเรื่องนี้แล้วผมชอบ คือ John Bogle ซึ่งโบเกิลก็อธิบายในลักษณะคล้าย ๆ กับที่ Warren Buffett อธิบายอีกที[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 1.] การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ ผู้อ่านค่อย ๆ คิดตามที่ผมบรรยายไปนะครับ

I. หมู่บ้านตลาดหุ้นไทย

ลองนึกภาพว่ามีหมู่บ้านหนึ่งชื่อ “หมู่บ้านตลาดหุ้นไทย” ซึ่งสมาชิกในหมู่บ้านแห่งนี้ทุกคนจะได้สิทธิในการเป็นเจ้าของหุ้นหรือมีส่วนในกิจการทั้งหมดของหมู่บ้าน ไล่ไปตั้งแต่สนามบิน ร้านสะดวกซื้อ ธนาคารพาณิชย์และอีกมากมาย ซึ่งโดยปกติถ้าสมาชิกของหมู่บ้านไม่ทำอะไร บริษัทหรือกิจการต่าง ๆ ก็จะทำธุรกิจของมันไป มีรายได้มีกำไรเติบโตไปตาม GDP ของหมู่บ้านกับเงินเฟ้อ และสมาชิกในหมู่บ้านทุกคนจะได้รับเงินปันผล ซึ่งสมาชิกในหมู่บ้านก็จะนำมาซื้อส่วนของกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และราคาของส่วนกิจการที่สมาชิกทุกคนถือก็จะมีราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้ในตอนแรก ผลตอบแทนรวมที่สมาชิกในหมู่บ้านจะได้รับก็คือผลตอบแทนทางธุรกิจที่กิจการทั้งหมดในหมู่บ้านได้สร้างขึ้นซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของราคาและเงินปันผล ซึ่งสมมติว่าได้ 11.87% หรือปัดขึ้นเป็น 12% ต่อปีสวย ๆ (เอ๊ะ เลขคุ้น ๆ) สมาชิกในหมู่บ้านไม่ต้องทำอะไรเลยก็จะได้รับผลตอบแทนเท่านี้ เพียงแค่พวกเขาถือครองหุ้นและกิจการทั้งตลาดแล้วก็อยู่นิ่ง ๆ ทำงานทำการหารายได้ไป เป็นสภาวะที่สมาชิกทุกคนในหมู่บ้านได้ผลตอบแทนทั้งกลุ่มเป็นบวก (positive-sum game)

วันดีคืนดีก็มีเสียงกระซิบจากวงการการเงินและคำแนะนำจากนอกหมู่บ้านว่า แทนที่สมาชิกจะซื้อแล้วถือครองเฉย ๆ ทำไมสมาชิกไม่อยากจะรวยกว่าเดิมหรอ ลองเอาส่วนของกิจการหรือหุ้นที่ถือไปซื้อขายกับสมาชิกหรือชาวบ้านคนอื่นไหม อนิจจาว่าหลังจากนั้น สมาชิกในหมู่บ้านได้เริ่มหันมาซื้อขายหุ้นด้วยกันเองอย่างเมามัน มีการเก็งกำไร มีการเก็งราคา และเสียงกระซิบแห่งการเก็งกำไรเหล่านั้นก็เปลี่ยนมาเป็นโฆษณา สื่อรายวัน ไลน์กลุ่ม เว็บบอร์ด กลุ่มในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของหมู่บ้าน

ด้วยเหตุนี้ผลตอบแทนที่สมาชิกแต่ละคนจะได้อีกอย่างก็คือผลตอบแทนส่วนเกินจากการซื้อขายระหว่างกัน แทนที่ทุกคนจะได้ 12% ต่อปีก็มีช่วงแกว่ง ใครเก็งกำไรหรือจับจังหวะซื้อขายได้ดี (หรือโชคดี) ก็จะได้ผลตอบแทนสูงกว่านั้น และธุรกรรมการซื้อขายทั้งหมดรายปีก็ออกมาแตกต่างจากตัวเลขผลตอบแทนระยะยาวที่ 12% ต่อปีซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนนั่งเฉย ๆ

ดังนั้น ผลตอบแทนจากการเก็งกำไร (Speculative return: ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ P/E) จึงเป็นผลตอบแทนส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมาในตลาดหุ้นแต่ละปี หากแต่ถามว่าผลตอบแทนในภาพรวมเพิ่มขึ้นไหม ก็ต้องตอบว่าไม่เพิ่ม! มันเป็นแค่การโยกย้ายส่วนต่างจากคนที่หนึ่งไปคนที่สอง หากแต่เมื่อคิดผลตอบแทนรวมของบรรดาสมาชิกหมู่บ้านทั้งกลุ่ม พวกเขาไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นมาเลย เพราะผลตอบแทนจากการซื้อขายระหว่างกันที่แต่ละคนได้รับจะหักล้างกันทั้งหมด (zero-sum game)

ในระยะยาวราคา (Prices or P) ของหุ้นหรือของตลาดหุ้นจะไม่สามารถนำไปไกลกว่ากำไร (Earnings or E) หรือเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 307.] ถ้าตอนนี้มันห่างอยู่ อีกไม่นานมันจะต้องวิ่งกลับมาหากัน[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 12.]

นอกจากนี้ นักลงทุนบางคนก็เริ่มสังเกตเห็นว่าในระยะยาวนั้นผลตอบแทนที่มันสวิงแตกต่างกันรายปีมีขาดทุนมีกำไรเป็นบวกเป็นลบนั้น ด้วยพลานุภาพของกฎแห่งการกลับสู่ค่าเฉลี่ย (reversion to the mean) มันจะกลับไปสู่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 12% ต่อปีเหมือนกับตอนที่พวกเขาอยู่เฉย ๆ

“อารมณ์เป็นได้แค่เพียงสิ่งที่ครอบงำผลตอบแทนระยะสั้น หากแต่ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นมาจากเงินปันผลและการเติบโตของกำไรซึ่งเป็นผลตอบแทนที่แท้จริงของธุรกิจ”[1. ibid., 18.]

II. ตอนจบของเรื่องและผู้รอดชีวิต

ผมยังไม่ได้เล่าตอนจบสินะ ในความเป็นจริงพวกสมาชิกในหมู่บ้านผู้ซึ่งเป็นเหมือน ๆ นักลงทุนในปัจจุบัน ไม่ได้ทำการซื้อขายหุ้นกันฟรี ๆ เพราะทุกการเคลื่อนไหวของพวกเขามีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น พวกเขาจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับเสียงกระซิบในตอนแรกซึ่งได้ผันตัวมาทำธุรกิจคนกลางไปแล้ว

สมาชิกในหมู่บ้านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียมซื้อขาย ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ เพราะในตอนหลังสมาชิกในหมู่บ้านถูกทำให้เชื่อว่าแทนที่จะซื้อขายเอง จ้างผู้จัดการการเงิน (money or investment managers) มาคัดเลือกหุ้นดีกว่าไหม เพราะผู้จัดการเหล่านี้จะทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดหุ้น หรือค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษาการเงิน (financial services fees) และอีกมากมาย และสมาชิกหมู่บ้านพวกที่ชอบเก็งกำไรก็จะจ่ายเงินให้แก่ตัวกลางเหล่านี้สูงลิ่วจนมีผู้ที่กล่าวว่า การเก็งกำไรก็คือการพนันอย่างหนึ่งที่สนับสนุนนักบัญชีจำนวนมาก[1. Peter Lynch and John Rothchild, One Up on Wall Street: How to Use What You Already Know to Make Money in The Market, 2nd ed. (New York: Simon & Schuster, 2000), 20.]

ด้วยเหตุนี้ในความเป็นจริงนั้น จากผลตอบแทนที่ได้รับทั้งกลุ่มของสมาชิกในหมู่บ้านอันเป็นผลตอบแทนแบบบวกในกรณีที่ทุกคนถือครองหุ้นเฉย ๆ ก็กลายมาเป็นผลตอบแทนรวมที่ไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้นมาสำหรับทั้งกลุ่ม เมื่อสมาชิกเริ่มซื้อขายหุ้นกันเอง และในท้ายที่สุด ผลตอบแทนที่สมาชิกทั้งกลุ่มได้รับก็ลดลงฮวบฮาบ เมื่อต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับตัวกลางทางการเงินทั้งหลาย อันเป็นผลมาจากการที่พวกเขาไม่ยอมอยู่เฉย ๆ และพยายามเคลื่อนไหวเพื่อหวังว่าจะทำผลตอบแทนให้สูงขึ้น

ในท้ายที่สุดก็กลับกลายเป็นว่า ยิ่งพวกเขาขยับตัวและเสียค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมุ่งไปสู่เกมแห่งผู้แพ้ (Loser’s game) และผลลัพธ์โดยรวมของกลุ่มติดลบ (negative-sum game) เมื่อมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง[1. Charles D. Ellis, Winning the Loser’s Game: Timeless Strategies for Successful Investing, 6th ed. (New York: McGraw-Hill, 2013), 9.]

ในขณะที่การถือหุ้นทั้งตลาดในระยะยาวเป็นเกมที่นำไปสู่ชัยชนะ (Winner’s game) การ[พยายาม]เอาชนะตลาดกลับกลายเป็นเกมแห่งความพ่ายแพ้ (Loser’s game)[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 28.]

ในท้ายที่สุดก็จะเหลือสมาชิกในหมู่บ้านหรือนักลงทุนไม่กี่คนที่ตระหนักได้ว่า ผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนหุ้นนั้นจะต้องมาจากวินัยและความอดทนในการซื้อสะสมหุ้นเป็นประจำและถือครองไปตลอดเวลาผ่านความผันผวนของตลาด เลิกที่จะทำตัวแบบคนส่วนใหญ่ที่เก็งกำไรรายวันหรือถือครองหุ้นสั้น ๆ เลิกที่จะจับจังหวะลงทุนหรือเชื่อมั่นว่าตัวเองจะซื้อถูกไปขายแพง (buy low, sell high strategy) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก และเลิกที่จะเชื่อว่าผู้จัดการการเงินจะทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดเมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เข้าไปด้วย[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 31; Ellis, Winning the Loser’s Game, 3.]

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้รอดชีวิตกลุ่มนี้ยังถือว่าได้มุ่งไปสู่เกมแห่งผู้ชนะในการลงทุน (Winner’s game) ด้วย ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนเหล่านี้จะทำก็คือ การซื้อสะสมเป็นประจำและถือครองกองทุนหุ้นทั้งตลาดหรือเกือบทั้งตลาด ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ผ่านการซื้อกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ อันเป็นวิธีการลงทุนที่ใช้เงินไม่มาก ประหยัดเวลาชีวิต ได้รับการกระจายความเสี่ยงที่ดี และจะได้รับผลตอบแทนในระยะยาวเท่าผลตอบแทนของตลาดหุ้น(หักด้วยค่าใช้จ่าย) และผลตอบแทนเช่นว่านั้นจะเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่พยายามจับจังหวะลงทุน หรือเลือกกองทุนบริการจัดการ (actively managed funds)[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 33.] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้จัดการลงทุนและกองทุนเหล่านี้ไม่อาจชนะตลาด แต่ตลาดนี่ล่ะที่ชนะพวกเขา[1. Ellis, Winning the Loser’s Game, 1.]

“ในการลงทุนนั้น การถือครองเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมดแล้วเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากครอบครองผลตอบแทนของทุนคือกลยุทธ์แห่งชัยชนะ ไม่ใช่การมานั่งซื้อขายหุ้น”[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 192.]

5. ทำไมการเอาชนะ ผลตอบแทนหุ้น ทั้งตลาดถึงยาก

ถ้าอ้างทฤษฎีการเงินอย่างทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ Efficient Market Hypothesis (EMH) ข้อมูลในตลาดหุ้นย่อมจะสะท้อนทุกอย่างไม่ว่าจะข่าวสารในอดีต ปัจจุบัน อนาคตไว้ในราคาแล้ว การจะใช้กลยุทธ์ที่อาศัยข้อมูลย้อนหลัง เช่น การใช้ปัจจัยเชิงเทคนิค (Technical Analysis) หรือแม้จะใช้ข้อมูลทั่วไปมาวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการ (Fundamental Analysis) วิธีเหล่านี้ย่อมไม่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดหุ้น (ผู้อ่านหลายท่านที่อาศัยวิธีเหล่านี้คงโต้แย้งในใจ) ซึ่งทฤษฎีอีกอย่างที่สนับสนุนเรื่องนี้ คือ ทฤษฎีเดินสุ่ม (Random Walk) ซึ่งเห็นว่าการขึ้นลงของตลาดหุ้นหรือราคาหุ้นเป็นการสุ่มและไม่สามารถทำนายได้

แน่นอนครับว่า ทฤษฎีข้างต้นและทฤษฎีเดินสุ่ม ก็ต้องยอมจำนนกับข้อเท็จจริงที่ว่า ตลาดหุ้นนั้นมีช่วงเวลาที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีนักลงทุนหลายคน เช่น Warren Buffett ที่สามารถทำผลตอบแทนในระยะยาวได้สูงกว่าตลาดหุ้นอย่างมาก หากแต่แม้กระทั่งนักลงทุนที่เก่ง ๆ ก็ยังยอมรับว่าตลาดหุ้นนั้นส่วนใหญ่แล้วมักจะมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง (frequently efficient) แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา (not always) มีแค่บางช่วงเวลาที่นักลงทุนที่มีฝีมือและเชี่ยวชาญถึงจะลงไปหาผลตอบแทนส่วนเกินได้ และแม้ตลาดจะไม่ได้ถูกต้องตลอดเวลา แต่ความยากคือไม่มีใครคนไหนหรือหาได้ยากที่จะสามารถรู้ได้มากกว่าตลาดอย่างสม่ำเสมอ[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 105.] และแม้กระทั่ง Buffett ก็ยังคิดว่า มีคนน้อยมากจริง ๆ ที่ควรจะเป็นนักลงทุนเชิงรุก (active investors)[1. [1. Den Stein & Phil DeMuth, The Little Book of Bulletproof Investing: Do’s and Don’ts to Protect Your Financial Life (Hoboken: Wiley, 2010), 56.]]

อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้วการหาผลตอบแทนส่วนเกินจากตลาดหุ้นและการที่จะทำผลตอบแทนระยะยาวได้สูงกว่าตลาดหุ้นอย่างสม่ำเสมอช่างเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เรามาลองไล่ดูกันทีละเรื่องดีกว่าครับ

I. การลงทุนหุ้นเองรายตัว

ต้องยอมรับว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่มากที่สามารถทำผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่าตลาดหุ้นและมีน้อยลงไปอีกสำหรับนักลงทุนที่ชนะตลาดหุ้นอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว อีกอย่างที่เราควรจำเพื่อเวลาฟังคนพูดถึงผลตอบแทนสูง ๆ ที่เขาทำได้ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่เคยวัดผลตอบแทนอย่างละเอียดจริงจัง ปกติคนมักจะใช้วิธีพูดถึงเงินที่ตนลงทุนมากกว่าว่าโตมาเป็นเท่าไหร่ หรือไม่ก็ใช้วิธีหยาบ ๆ ในการคำนวณผลตอบแทนคร่าว ๆ เช่นดูเงินต้นปีปลายปี (บางคนไม่หักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าคอม ด้วยซ้ำ) ทำให้มีนักลงทุนน้อยรายเท่านั้นที่จะเก็บสถิติและทำการเปรียบเทียบผลตอบแทนตลาดหุ้นอย่างจริงจัง

อนึ่ง ตลาดหุ้นยังเป็นสถานที่ซึ่งคนตายไม่ได้พูด คนขาดทุนซึ่งมีเยอะมากจะเงียบ คนได้กำไรซึ่งมีน้อยจะพูด เราจึงมักเห็นแค่คนไม่กี่คนที่มาพูดถึงกำไรที่ทำได้จากตลาดหุ้น และเมื่อการพูดนั้นไม่อาจแน่ได้ใจได้เลยว่าเขาชนะตลาดหุ้นและชนะอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ เราจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่ามีไม่กี่คนหรอกที่ชนะตลาดหุ้นในระยะยาวจริง ๆ

การลงทุนในหุ้นรายตัวไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเวลาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนหรือวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งปกติเวลาในชีวิตของคนทั่วไปก็จะถูกกลืนกินด้วยงานประจำอยู่แล้ว การลงทุนหุ้นรายตัวโดยไม่มีความรู้ก็คือการฆ่าตัวตายง่าย ๆ สำหรับชีวิตลงทุน และการเลือกหุ้นรายตัวนั้นก็ยังมีปัญหาอื่นอีก ถ้านักลงทุนเลือกหุ้นถูกแต่ซื้อที่ราคาผิดและซื้อในช่วงเวลาที่ผิด นักลงทุนก็จะขาดทุนอย่างมาก รวมถึงในขณะเดียวกันนั้น การเลือกหุ้นผิดในเวลาที่ถูก นักลงทุนก็จะขาดทุนหนักไม่แพ้กัน[1. Lynch and Rothchild, One Up on Wall Street, 72.]

Peter Lynch เห็นว่า การลงทุนหุ้นโดยไม่รู้เรื่องดูจะเป็นงานอดิเรกของคนส่วนใหญ่ และที่แปลกคือถ้าเป็นเรื่องอื่น หากคนทั่วไปรู้ว่าทำได้ไม่ดี พวกเขามักจะเลิก แต่ในการลงทุนนั้นไม่ แม้พวกเขาจะรู้ว่าตนไม่มีความสามารถในการเลือกหุ้นแต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาลงทุนต่อไป การเล่นหุ้นจึงเป็นงานอดิเรกที่มีพลังในการทำลายล้างสูง[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 12.] และการเลือกหุ้นเองยังเป็นเรื่องที่ยาก นักลงทุนที่ไม่มีความรู้ควรหลีกเลี่ยง และไม่ใช่เพียงแค่ความรู้เรื่องการคำนวณหรือบัญชีที่จะช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ เพราะไม่เช่นนั้นนักคณิตศาสตร์กับนักบัญชีก็น่าจะเป็นอาชีพที่รวยที่สุดในโลกไปแล้ว[1. ibid., 140.]

นอกจากนี้ อีกทั้งตลาดหุ้นในปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยจำนวนนักลงทุนสถาบันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากซึ่งครอบงำตลาดและสร้างผลกระทบในการที่ความคิด การวิเคราะห์หลักทรัพย์ กิจกรรมการวิจัย ของทั้งกลุ่มรวมกันได้สะท้อนออกมาเป็นราคาหลักทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่นักลงทุนจะพยายามลงทุนเอาชนะตลาดหุ้นและหาผลตอบแทนสูง ๆ เมื่อตัวตลาดหุ้นเป็นดั่งตัวแทนของวงการการเงินทั้งกลุ่ม[1. Ellis, Winning the Loser’s Game, 26.]

II. การจับจังหวะลงทุน

การที่นักลงทุนพยายามจับจังหวะลงทุน (market timing) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ ทั้งการจับจังหวะตลาดเพื่อลงทุนกองทุนรวมหรือเพื่อลงทุนหุ้นรายตัว กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ด้อย เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะพลาดและจับจังหวะช้าไปหนึ่งก้าวเสมอเพราะการมองโลกในแง่ดีและแง่ร้ายเกี่ยวกับตลาดหุ้นจนเกินไป[1. Lynch and Rothchild, One Up on Wall Street, 48; Ellis, Winning the Loser’s Game, 23.]

หากคิดให้ละเอียด เราจะพบว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องยากในการจับจังหวะลงทุน เพราะนักลงทุนต้องถูก 4 ครั้ง เช่น จังหวะแรกคิดถูกว่าหุ้นจะตก จังหวะสองขายตอนก่อนหุ้นตกได้ถูกต้อง จังหวะสามคิดถูกว่าหุ้นกำลังจะขึ้น จังหวะสี่ซื้อหุ้นถูกต้องก่อนที่หุ้นจะขึ้น ซึ่งโดยปกตินักลงทุนทำไม่ได้หรอกครับ มันเป็นโชคดีซะมากกว่า ซึ่งงานวิจัยของ Woodward กับ Chua ของ University of Calgary ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ใช้กลยุทธ์จับจังหวะซื้อขายจะต้องตัดสินใจถูกต้องถึง 70 ใน 100 ครั้งตลอดช่วงเวลาถึงจะเอาชนะนักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์ง่าย ๆ อย่างซื้อแล้วกอดหุ้นเอาไว้[1. See page 186 in A Random Walk down Wall Street 10th edition; this parts has disappeared in 11th edition.]

มีนักลงทุนน้อยมาก ๆ ที่จะจับจังหวะได้ถูกต้องตลอดชีวิต ขนาดตำนานของวงการตลาดทุนอย่าง Bogle และ Malkiel ยังผสานเสียงกันเลยว่า พวกเขาที่อยู่ในธุรกิจนี้มานานยังไม่เคยรู้จักใครเลยที่จะประสบความสำเร็จกับการจับจังหวะซื้อขายในตลาดและยิ่งยากเข้าไปอีกที่จะจับจังหวะได้ถูกต้องจนประสบความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 259.] 

การจับจังหวะลงทุนจึงมักเป็นกลยุทธ์ด้อยที่ทำลายผลตอบแทนของการนักลงทุน ในขณะที่การถือครองหุ้นตลอดเวลากลับให้ผลตอบแทนที่มากกว่า[1. Fisher and Hoffmans, The Ten Roads to Riches, 195.] อีกทั้งการพลาดไม่ถือหุ้นและครองหุ้นในทุกช่วงเวลาขึ้นลงของตลอดหุ้นนั้นอาจเป็นภัยร้ายแรงเพราะจะทำให้นักลงทุนพลาดช่วงขาขึ้นครั้งใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลตอบมหาศาลที่นักลงทุนจะได้รับ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 158; Ellis, Winning the Loser’s Game, 25.]

การพยายามเดาตลาดหุ้นเป็นกลยุทธ์ที่สาบนักลงทุนไว้ล่วงหน้าให้ทำผลตอบแทนหายวับไปถึงครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนระยะยาวตลาดหุ้น (ที่เฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี) เพราะนักลงทุนที่ชอบจับจังหวะลงทุนมักจะทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าตลาดหุ้นถึง 5% ต่อปี[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 242.]

ยกตัวอย่างกรณีนักลงทุนส่วนใหญ่จับจังหวะผิดพลาดในการลงทุนกองทุนรวม เช่น ในปี 1990 นักลงทุนใส่เงินนิดหน่อยเข้าลงทุนกองทุนหุ้นสุทธิ $18,000 ล้านในปี 1990 ซึ่งตอนนั้นตลาดหุ้นมีราคาถูกมาก หากแต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังเกินมูลค่า (overvalued) ปี 1999-2000 และกำลังจะตกหนักในปีถัดไป นักลงทุนกลับเทเงินเข้ามาลงทุนกองทุนหุ้นถึง $420,000 ล้าน[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 54.]

III. การพยายามเลือกกองทุนหุ้นผู้ชนะ

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ด้อยของนักลงทุนในกองทุนรวมที่พยายามเสียเวลาหาผู้ชนะไปอย่างเปล่าประโยชน์ วิธีที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบใช้คือการดูผลตอบแทนย้อนหลังหรือการจัดอันดับผลตอบแทนสูงสุดของกองทุนรวม ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความอธิบายอย่างละเอียดลออแล้วว่า การดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวมแล้วเลือกซื้อเป็นสิ่งที่เสียเวลาและเป็นความเชื่อผิด ๆ

นอกจากนี้ อย่างที่เคยเขียนบ่อย ๆ ผลตอบแทนระยะยาวของกองทุนหุ้นแบบบริหารจัดการโดยส่วนใหญ่จะต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้น เช่น ช่วงปี 1980-2005 ผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนี S&P500 อยู่ที่ 12.5% ต่อปี ส่วนผลตอบแทนของกองทุนหุ้นทั้งกลุ่มโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปี[1. ibid., 44.] และผลตอบแทนที่รายงานของกองทุนรวมนั้นไม่ใช่ผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนได้รับ เพราะนักลงทุนในกองทุนรวมช่วงเวลาดังกล่าวได้ผลตอบแทนเพียงแค่ 7.3% ต่อปี![1. ibid., 51.] โดยสาเหตุก็คล้ายกับข้อ II. นั่นล่ะครับ ที่นักลงทุนทำผลตอบแทนได้น้อยกว่าที่กองทุนทำได้ก็เพราะผลลัพธ์จากการที่นักลงทุนจับจังหวะลงทุนผิดพลาด (counterproductive market timing) และการพยายามนั่งคัดเลือกกองทุนหุ้น (adverse fund selection)[1. ibid, 53.]

งานวิจัยทางวิชาการของไทยก็ให้ผลไปในทางเดียวกันว่า กลยุทธ์ที่ซื้อกองทุน LTF หรือ RMF จากผลตอบแทนที่ดีในอดีตไม่อาจชี้วัดได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนดีในอนาคต และยังพบอีกว่า กองทุนรวมเหล่านี้ทำผลตอบแทนสุทธิ (net returns) ได้ต่ำกว่าผลตอบแทนรวมเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์โดยห่างและทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นประมาณ 2-3% ต่อปี[1. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์, “ผลตอบแทนและความต่อเนื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่มีนโยบายเชิงรุก,” วารสารบริหารธุรกิจ นิด้า 22 (พฤษภาคม 2561): 61.]

โดยผลตอบแทนของกองทุน LTF แบบ actively managed funds ในช่วงปี 2005-2016 อยู่ที่ 12.65% ต่อปี แต่ SET TR อยู่ที่ 15.73% (ห่างกัน 3.08% ต่อปี)[1. ibid., 70.] เงิน 10,000 ในตลาดหุ้นเป็น 57,723.34 แต่เงินในกองทุนบริหารโดยเฉลี่ยเป็นแค่ 41,761.33 ซึ่งห่างกันประมาณ 15,926 บาท! หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่หายไปเกือบ 28%!!

เมื่อข้ามมาดูกองทุน RMF แบบ active funds ช่วงปี 2002-2016 รวม 15 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน RMF คือ 19.54% ส่วน SET TR ให้ผลตอบแทน 21.63% ต่อปี (ห่างกัน 2.09%) หากแต่เงิน 10,000 ในช่วงเวลาดังกล่าวจะกลายเป็น 145,556 หากลงทุนในกองทุนหุ้นไทย RMF แต่จะกลายเป็น 188,630 บาท ห่างกันประมาณ 43,000 บาท! หรือหายไปเกือบ 23%!!

คนที่ยังเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยนั้นไม่มีความเป็นสากล เป็นตลาดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ควรจะต้องทบทวนความคิดใหม่ว่าจริง ๆ มันมีประสิทธิภาพมาตั้งนานแล้วหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุด เป็นสิ่งที่ถูกเก็บจริง ๆ และลดผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในระยะยาวจริง ๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายกองทุนรวม!

6. บทสรุปเพื่อการได้รับ ผลตอบแทนหุ้น ที่ดี

การที่ตลาดหุ้นระยะยาวให้ผลตอบแทนสูง นักลงทุนที่ต้องการจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นเช่นว่านั้น จะต้องทำการลงทุนโดยถือครองหุ้นทั้งตลาด ซึ่งวิธีที่เรียบง่ายและให้ผลดีก็คือการซื้อกองทุนดัชนีที่ซื้อหุ้นทั้งตลาดหรือเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี (a broadly diversified index fund)[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 32.] ซึ่งควรจะเป็นกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ และนักลงทุนที่หวังว่าจะให้เงินออมในอนาคตเติบโตสูงย่อมจะต้องมีหุ้นเป็นส่วนประกอบเสมอ[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 15.]

เนื่องจากตลาดหุ้นเป็นสถานที่รวมความคิดเห็นทุกอย่างของผู้จัดการลงทุน นักการเงินและนักลงทุนเก่ง ๆ จำนวนมากเอาไว้ สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวและราคาที่ปรากฏในตลาดหุ้น การถือครองหุ้นทั้งตลาดจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากความฉลาดและความเชี่ยวชาญของวงการลงทุนไว้ในมือ การถือครองหุ้นทั้งตลาดเป็นดั่งเสมือนการมีนักวิเคราะห์ช่วยวิจัยเรื่องของปัจจัยพื้นฐานและราคาหุ้นให้คุณ และมีผู้จัดการกองทุนรวมกันอีกหลายพันมาทำการคิดวิเคราะห์เลือกหุ้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเหล่านี้พยายามคิดวิเคราะห์ทุกอย่างออกมาและกิจกรรมในการลงทุนของพวกเขาก็สะท้อนออกมาเป็นราคาตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้น[1. Ellis, Winning the Loser’s Game, 42.]

ด้วยเหตุนี้  เมื่อตลาดหุ้นโดยรวมเป็นดั่งสถานที่สะท้อนความคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ หรือผลลัพธ์ของความชาญฉลาดที่ถูกอุทิศให้ตลาดเงินตลาดทุนรวมกันของผู้เชี่ยวชาญการเงินนับพันนับหมื่น สิ่งที่เราควรจะทำคือไม่ต้องตั้งคำถาม[กับตลาดหุ้น]แต่อ้าแขนรับความคิดรวมทั้งกลุ่มเหล่านี้เอาไว้ กองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบหุ้นทั้งตลาด แม้กองทุนจะไม่มีผู้จัดการกองทุนมาคัดเลือกหุ้นให้ (ซึ่งดีเพราะเสียค่าใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็น) หากแต่กองทุนดัชนีก็เปรียบเสมือนได้มีนักวิเคราะห์ ผู้จัดการลงทุน นักการเงิน ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุนรายย่อยเก่ง ๆ ทั้งอุตสาหกรรมการเงินมาทำงานให้[สะท้อนผ่านทางตลาด]เลยทีเดียว (แบบฟรี ๆ)

อีกปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” (costs) เนื่องจากค่าใช้จ่ายจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนทำได้ ยิ่งนักลงทุนเสียค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม และมีการเคลื่อนไหวหมุนเวียนซื้อขายน้อยครั้ง โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนระยะยาวสูงก็มีมากขึ้น นักลงทุนต้องคิดไว้ก่อนว่าหากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนให้เท่าตลาดหุ้นด้วยการลงทุนกองทุนดัชนี นักลงทุนจะต้องทำค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด (ค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนกองทุนรวมมากที่สุด) และแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่ถูกเก็บไปจากนักลงทุนในโลกแห่งความเป็นจริง ย่อมทำให้ผู้จัดการลงทุนทั้งหลายรวมถึงกองทุนแบบบริหารไม่อาจสร้างความแตกต่างและชนะผลตอบแทนของตลาดหุ้น[1. Ferri, All About Index Funds, 31; Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 40-41.]

หากแต่ภัยร้ายในการลงทุนระยะยาวนอกจากค่าใช้จ่ายแล้วยังมีตัวสำคัญอีกนั่นคือ “อารมณ์” (emotions)[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 194.] เพราะตัวชี้วัดว่านักลงทุนจะสามารถลงทุนยาวนานจนได้รับผลตอบแทนของตลาดหุ้นหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องอาศัยวินัยและความอดทน รวมถึงความสามารถในการเพิกเฉยเสียงรบกวนต่าง ๆ จากตลาดหุ้น[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 20; Lynch and Rothchild, Beating the Street, 19.] การพยากรณ์และทำนายเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่เข้าหูนักลงทุนทุกวัน ซึ่งอันที่จริงนั้น Lynch, Fisher และ Bogle ผสานเสียงร่วมกันว่า ไม่มีใครหรอกที่สามารถทำนายตลาดหุ้นและเศรษฐกิจได้[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 307; Fisher and Hoffmans, The Ten Roads to Riches, 194; Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 18.] และเลิกจับจังหวะคาดเดาตลาดหุ้นซะ มันเป็นความคิดเลวร้ายที่จะพยายามทำมัน[1. Ellis, Winning the Loser’s Game, 25]

นักลงทุนจึงควรจะลงทุนด้วยแนวทางและวิธีที่ขจัดอารมณ์ทิ้ง เช่น การลงทุนแบบประจำตามเวลาหรือที่เรียกว่า dollar-cost averaging (DCA) เพื่อขจัดปัญหาด้านอารมณ์เข้ามาพัวพันการลงทุน เช่น การนั่งคาดเดาว่าตลาดหุ้นจะขึ้นจะลง หรือการถูกแรงกระตุ้นให้ซื้อขายบ่อย ๆ[1. Lynch and Rothchild, Beating the Street, 18.] แล้วเอาเวลาไปเพิ่มรายได้และนำเงินมาลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นน่าจะดีกว่า[1. Fisher and Hoffmans, The Ten Roads to Riches, 200-201.]

นอกจากนี้ วิธีลงทุนแบบประจำยังเป็นวิธีที่นักลงทุนและนักการเงินส่วนใหญ่แนะนำ เพราะจะทำให้ในระยะยาวนักลงทุนได้ลงทุนสะสมหุ้นหรือกองทุนหุ้นไปเรื่อย ๆ ได้อย่างเรียบง่ายและประหยัดเวลาเพื่อนำไปใช้ในการลงมือทำเรื่องอื่นที่สำคัญต่อชีวิต โดยไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวติดตามหรือพะวงกับสภาะตลาดหุ้นรายวันรายเดือนรายปีที่มีแต่เสียงรบกวนระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สลักสำคัญอะไรต่อภาพรวมตลาดหุ้นและผลตอบแทนธุรกิจในระยะยาวเลยครับ

The winning formula for success in investing is owning the entire stock market through an index fund, and then doing nothing, Just stay the course.[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 58.]

ผลตอบแทนย้อนหลัง กองทุน : ความเสียเวลาและมายาคติ

ผลตอบแทนย้อนหลัง (past performance) บอกอนาคตของผลตอบแทนกองทุนรวมได้จริงหรือ?

ถ้าถามผมว่า ความเชื่อที่แอบสร้างปัญหาให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอย่างไม่รู้ตัวคือความเชื่อเรื่องอะไร ผมบอกได้เลยว่า การที่นักลงทุนในกองทุนรวม (รวมไปถึงคนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนรวม) เชื่อว่าผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมเป็นสิ่งที่สามารถทำนายผลตอบแทนอนาคตได้ อันนี้ล่ะเป็นความเชื่อแบบมายาคติ (myth) ของนักลงทุนส่วนใหญ่เลยทีเดียว

1. ภาพรวมเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง ของกองทุนรวม

เวลาคนส่วนใหญ่จะลงทุนในกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมหุ้น สิ่งที่พวกเขาตั้งสมมติฐานก็คือ กองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในตอนนี้หรือในอดีต ควรจะทำผลตอบแทนได้ดีในอนาคต เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า คนส่วนใหญ่จะค้นหาใน Google ว่า กองทุนไหนทำผลตอบแทนดี หรือสิบอันดับผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลัง หรือบางคนก็ไปตั้งคำถามกระทู้ว่ากองทุนไหนผลตอบแทนดีบ้าง เรียกได้ว่า พลังงานที่คนส่วนใหญ่เสียไปในการลงทุน คือ การค้นหาผู้ชนะจากผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมนี่ล่ะ

ด้วยเหตุนี้ หน้าเว็บไซต์ที่คนส่วนใหญ่จะไปดู คือ หน้าที่บอกว่า กองทุนนี้ทำผลตอบแทนในอดีตได้เท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบนั่นนี่ หรือเว็บไซต์ที่มีบริการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวม หรือการดูสัญลักษณ์รางวัลต่าง ๆ หรือพวกเขาไม่จำเป็นต้องค้นดูก็ได้ วารสาร นิตยสาร ข่าว หรือสื่อการเงินต่าง ๆ จะรายงานเองว่า กองทุนรวมใดได้ผลตอบแทนสูงสุดของในรอบ 10 ปี 5 ปี 3 ปี 1 ปี หรือหน่วยเดือน สูงสุดของครึ่งปี หรือ 3 เดือน หรือ 1 เดือน หรือแม้กระทั่ง 1 สัปดาห์!!! ก็ในเมื่อนักลงทุนสนใจ วงการการเงินก็ตอบสนองเสนอข่าวสารเหล่านี้ให้จุใจเลยสิ

ส่วนตัวเห็นว่า ข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังแบบระดับเดือน เช่น 1 เดือน และที่ขัดใจสุด คือ ข่าวเกี่ยวกับผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุด 1 สัปดาห์! ข่าวพวกนี้ผมคิดว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดและสิ่งที่นักลงทุนควรทำคือเลื่อนผ่านให้ไวซะมากกว่า

มิใช่แค่วงการโฆษณาหรือสื่อการเงิน แม้กระทั่งวงการกองทุนรวมเองก็เสนอข่าวในลักษณะนี้เช่นกัน พวกเขามักจะบอกว่า กองทุนของพวกเขาได้ผลตอบแทนสูงสุด หรือทำผลตอบแทนได้ดีนะ อันนี้เราก็ว่ากันไม่ได้ ทุกบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ล้วนมีฝ่ายขายกับฝ่ายการตลาด และทั้งสองฝ่ายก็ต้องทำหน้าที่ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท เพราะฉะนั้น เวลานักลงทุนจะซื้อกองทุน สิ่งที่นักลงทุนจะได้เห็นมากที่สุดนอกจากคำบรรยายความดีงามของกองทุน ก็คือ การเสนอตัวเลขผลตอบแทนในอดีตที่แสนจะประทับใจ

คำถามคือ สิ่งที่ทุกภาคส่วนที่ผมเกริ่นไปข้างต้นกำลังทำนั้น มีประโยชน์กับนักลงทุนจริงหรือไม่?

เขียนเปิดประเด็นไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า “ผลตอบแทนย้อนหลัง” (past performance) ของกองทุนรวมไม่สามารถบ่งบอกหรือไม่ใช่วิธีที่ดีเลยในการทำนายอนาคตของผลตอบแทนที่กองทุนรวมจะทำได้[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 88.] และกองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในปัจจุบันหรือในอดีตก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำผลตอบแทนในอนาคตได้ดีแต่อย่างใด ที่หนึ่งในวันนี้ก็เป็นที่โหล่ในอนาคตได้ และโดยปกติกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการในลักษณะเลือกซื้อหุ้นรายตัว (Actively Managed Funds) ส่วนใหญ่มักจะทำผลงานได้แพ้ตลาดหุ้นและสร้างผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน

2. ใครเคยพูดอะไรเอาไว้บ้างเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง

เรามาดูกันครับว่า มีนักลงทุนและนักการเงินคนสำคัญ ๆ เคยพูดเกี่ยวกับ past performance ของกองทุนรวม ไว้อย่างไรกันบ้าง

(I) Burton G. Malkiel ได้ให้ความเห็นว่า บันทึกผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนรวมและบรรดาผู้จัดการกองทุนทั้งหลายนั้นไม่มีค่าอะไรเลยในการทำนายความสำเร็จในอนาคตของกองทุนรวม (worthless) ตัวอย่างน้อยนิดที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ชนะในระยะยาว (หมายถึงมีกองทุนไม่กี่กองที่ชนะตลาดได้) อาจเรียกได้ว่ามันเป็นแค่ความ “บังเอิญ” เท่านั้น[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 398.]

(II) Peter Lynch ผู้จัดการกองทุนคนดังได้อธิบายอย่างเห็นภาพว่า นักลงทุนมักจะชอบดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวม โดยเฉพาะการดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวมที่สูงสุดของปีที่แล้วหรือหนึ่งปีย้อนหลัง แล้วก็ทำการซื้อกองทุนรวมดังกล่าว การกระทำเช่นนี้ไม่ฉลาดเลย (foolish) เพราะโดยปกติการได้ที่หนึ่งมักจะมาจากการลงทุนในหุ้นหรืออุตสาหกรรมร้อนแรง และบางทีอาจจะเป็นแค่ความโชคดีซะมากกว่า[1. Peter Lynch and John Rothchild, Beating the Street, revised ed. (New York: Simon & Schuster, 1994), 68.]

(III) Richard A. Ferri เตือนว่า ผลตอบแทนย้อนหลังไม่สามารถนำมาใช้ในการเลือกกองทุนรวมที่จะเป็นผู้ชนะในอนาคต มันเป็นวิธีที่ไม่อาจเชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ดี วงการกองทุนรวมกับนักลงทุนก็ยังคงเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่านี้[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 27.] และยังพยายามจะเลือกกองทุนโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งเหลวไหล (pure nonsense)[1. ibid., 26.]

(IV) John C. Bogle ให้ข้อสังเกตว่า การดูผลตอบแทนที่ผ่านมาของกองทุนรวมแล้วเอามาใช้เลือกกองทุนเป็นวิธีที่ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า คุณจะได้เจอกองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดในอนาคต สำหรับผลตอบแทน(ย้อนหลัง)แล้ว อดีตไม่อาจบอกอนาคตได้เลย[1. John C. Bogle, The Little Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 87.]

ดูเหมือนทุกคนที่ยกมาจะเห็นตรงกันนะครับว่า ผลตอบแทนในอดีตนั้นไม่อาจบอกได้ถึงผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวม และวิธีเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะเป็นวิธีที่เชื่อถือไม่ได้และเสียเวลา

The past performance is not a good predictor of future returns.

3. เจาะลึกประเด็นเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง

ในหัวข้อนี้เราจะลงไปศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผลตอบแทนในอดีตกัน เพราะน่าจะมีหลายคนสงสัยว่า ถ้าวิธีนี้ไม่ดี มันไม่ดีเพราะอะไร ไม่ดียังไง แล้วเราจะใช้วิธีไหนในการเลือกกองทุนรวมกันล่ะ?

I. โฆษณาผลตอบแทนกองทุนรวม

ประเด็นแรกที่เราจะเริ่มกันก็คือ ในหมู่นักวางแผนการเงินหรือผู้แนะนำการลงทุนมักจะเลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมที่ผ่านมาให้ท่าน หรือสื่อทางการเงินต่าง ๆ อันรวมไปถึงบลจ.เองก็ตาม มักจะอ้างกองทุนอันดับหนึ่งหรืออันดับต้นขึ้นมาแสดงให้ท่านดู หากแต่ข้อมูลเหล่านี้นั้น อาจเป็นการโฆษณาระยะสั้นที่มักจะเลือกบางช่วงเวลาสำหรับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลัง หรือเลือกชนิดและจำนวนกองโดยเฉพาะและใช้กองทุนจำนวนน้อย หรือตัดอะไรบางอย่างทิ้งไป[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 398-399; see also Ferri, All About Index Funds, 26.] ด้วยเหตุนี้ ถ้าเกิดผลตอบแทนช่วงนี้ของกองทุนดี หรือพอดูผลตอบแทนของกองทุนของบลจ.นั้นเป็นช่วงที่ผลตอบแทนสูงจนชนะกองทุนของเจ้าอื่น ๆ เหล่าบลจ.และกองทุนทั้งหลายย่อมไม่พลาดโอกาสในการโฆษณาอยู่แล้ว

ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนที่พยายามเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนที่ผ่านมาอันเป็นวิธีที่ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนและเปล่าประโยชน์ จะยิ่งทำลายความมั่งคั่งของตนเองทิ้งเข้าไปอีก ถ้าเกิดพยายามสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายกองทุนเป็นว่าเล่น[1. Lynch and Rothchild, Beating the street, 81; see also Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 90.] เช่น ขายกองทุนเดิมทิ้งไปลงทุนกองทุนใหม่ที่ได้ที่หนึ่งโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลังที่ถูกประกาศหรือโฆษณา

Peter Lynch เห็นว่า การพยายามนั่งไล่ดูผลตอบแทนย้อนหลัง และการที่บุคลากรในวงการเงินและสื่อต่าง ๆ นั่งรวบรวมผู้ชนะในอดีต แม้มันจะดูเป็นงานอดิเรกของวงการกองทุนรวมและนักลงทุน มีหนังสือ มีบทความมากมายเขียนขึ้นเพื่อสิ่งนี้ แต่นั่นล่ะมันเป็นเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์หรือเสียเวลา[1. Lynch and Rothchild, Beating the street, 68.] ซึ่ง Ferri ก็ได้เตือนด้วยว่า ไม่ว่าบลจ.หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะสาธยายเรื่องผลตอบแทนในอดีตหรือจะทำนายว่ากองทุนไหนจะเป็นผู้ชนะในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างจะไม่สำคัญและไร้ประโยชน์ครับ (irrelevant and useless)[1. Ferri, All About Index Funds, 26-27.]

IIกองทุนมีสัญลักษณ์และรางวัล

บางกองทุนรวมได้รับการจัดอันดับหรือในบางครั้งมีการติดดาว อันบลจ.หรือฝ่ายขายก็จะทำการแปะติดดาวป่าวประกาศ ยิ่งมี 5 ดาว สื่อและโฆษณาจะถูกประทับตราแปะบนโบว์ชัวร์หรือเอกสารประกอบการขาย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะเชื่อว่าการได้ดาวระดับดีเลิศครบ 5 ดาวย่อมเป็นการรับประกันว่ากองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไปด้วย

เปล่าเลยครับ…

แม้กระทั่งระบบดาวของ Morningstar ก็ไม่อาจทำนายผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 39.] กองทุนที่เคยได้ดาวน้อยในอดีตก็อาจจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในอนาคต และกองทุนที่ได้ดาวมากในปัจจุบันก็อาจทำผลตอบแทนได้แย่ในเวลาต่อมา ต้องอย่าลืมการจัดอันดับหรือการติดดาว ข้อมูลที่ใช้ต้องมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นเรื่องของผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไป ๆ มาๆ กลับเพิ่มความเสี่ยงบางอย่างขึ้นมาแทน[1. Charles D. Ellis, Winning the Loser’s Game: Timeless Strategies for Successful Investing, 6th ed. (New York: McGraw-Hill Education, 2013) 126.]

โดย Malkiel อธิบายว่า ระบบดาวไม่อาจรับประกันผลตอบแทนที่เหนือกว่าในอนาคต ไม่รับประกันว่าผลตอบแทนนั้นจะต่อเนื่อง และในอดีตกองทุน 5 ดาวก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่ากองทุน 2-3 ดาวในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้ Malkiel จึงเสนอว่า นักลงทุนที่ชาญฉลาดควรจะมองทะลุผ่านดาวเหล่านี้ไปซะ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 401.] คล้ายกับความคิดของ John Bogle ที่ว่า ระบบดาวอิงอยู่กับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอดีตหรือช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น มันจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน (favor) กองทุนที่ร้อนแรง ความนิยมชั่วขณะหนึ่ง(ของตลาด) หรือแฟชั่นกองทุนที่เปลี่ยนแปลงได้ และกองทุน 5 ดาวหลายครั้งก็ลดลงไปสู่ 1-2 ดาวได้ในระยะเวลาไม่นาน[1. John C. Bogle, Bogle On Mutual Funds: New Perspectives For The Intelligent Investor (Hoboken: Wiley, 2014), 158.]

อนึ่ง แม้จะมีบทความที่เสนอว่าดาวอาจใช้ในการชี้วัดผลการดำเนินงานในอนาคตได้ หากแต่ข้อสรุปนี้ยังถูกอภิปรายถกเถียงโต้แย้งอยู่ว่ามันมีข้อสังเกตบางอย่างที่ต้องพิจารณา และ งานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องระบบการให้ดาว ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่ผู้จัดการกองทุนจะทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดตลอดเวลา และมันไม่เกี่ยวข้องเลยกับผลตอบแทนในอดีตที่พวกเขาทำได้ด้วย

ถ้าหากนักลงทุนต้องการตัวแปรที่จะช่วยในการทำนายผลตอบแทนที่ดีในอนาคต แม้ระบบดาวจะไม่สามารถช่วยได้หากแต่ “อัตราส่วนค่าใช้จ่าย” ของกองทุนรวมกลับเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 142.] ยิ่งค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับต่ำยิ่งทำนายได้ว่ากองทุนรวมนั้นจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงในอนาคต

พูดถึงประเด็นนี้ ผมนึกถึงสมัยผมเข้ามาเริ่มลงทุนและทำการศึกษาเรื่องกองทุนรวมประมาณปี 2012 ผมค่อนข้างจะตื่นตาตื่นใจกับการที่กองทุนรวมได้ 5 ดาวมาก ๆ แต่สักพักผมก็มีเรื่องให้ฉุกคิดบางอย่างกับระบบดาว ถ้าท่านจำได้ช่วงที่ราคาทองคำร้อนแรงให้ผลตอบแทนดี ผมที่นั่งเรียงลำดับดาวดูก็จะพบว่า กองทุนที่ได้ 5 ดาวจำนวนมาก คือ กองทุนรวมทองคำ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทุนหุ้นต่าง ๆ กลับได้จำนวนดาวต่ำลงไป เพราะช่วงปลายปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ช่วงนั้นตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนต่ำ กองทุนหุ้นจึงทำผลตอบแทนได้ไม่ดี

ข้อฉุกคิดข้างบนจึงเป็นครั้งแรกที่ผมสงสัยว่า การอ้างอิงดาวในการลงทุนน่าจะมีปัญหาบางประการ และเมื่อผ่านมาหลายปี ผมก็ไม่ได้สนใจระบบดาวอีกเลย เพราะกองทุนที่รู้จักก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนวนดาวไปมา 2 ดาวบ้าง 5 ดาวบ้าง และในประเด็นนี้ John Bogle ก็ได้ยกตัวอย่างสอดคล้องว่าในอเมริกาก็เคยเกิดปัญหา เพราะบางช่วงเวลา กลุ่มอุตสาหกรรมหรือหุ้นบางประเทศทำผลตอบแทนได้สูง กองทุนที่ร้อนแรงในประเภทสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะได้ดาวเยอะขึ้นมา เช่น กองทุนหุ้นต่างประเทศในช่วงปลายของ 1980s หรือกองทุนหุ้นสุขภาพ (health care funds) ในช่วงต้นของยุค 1990s[1. Bogle, Bogle On Mutual Funds, 158.] ซึ่งความนิยมในกองทุนหุ้นสุขภาพเพราะมีผลตอบแทนย้อนหลังดีในบางช่วงเวลาก็คล้ายคลึงกับในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทุนก็ได้ 5 ดาวกันไป จนทำให้บลจ.ต่าง ๆ เข็นกองทุนหุ้นสุขภาพออกมาขายกันเต็มไปหมด

ข้างบนนี้ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่งว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมมักจะชอบเลียนแบบหรือแห่ตามกันในการขายกองทุนอะไรสักอย่าง และการขายกองทุนประเภทนั้น ๆ มักจะมาในช่วงที่สินทรัพย์ดังกล่าวหรือประเภทของหุ้นหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ ทำผลตอบแทนย้อนหลังได้ดีร้อนแรงจนประจักษ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันง่ายต่อการขายเพราะมีผลตอบแทนล่าสุดเป็นตัวสนับสนุน และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ชอบแห่ตามซื้อกองทุนที่ร้อนแรงอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา สำหรับความนิยมไล่ซื้อกองทุนออกใหม่และพฤติกรรมแห่ตามขายกองทุนยอดฮิตของอุตสาหกรรมกองทุนรวม เช่น กองทุนหุ้นสุขภาพ กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจผู้สูงอายุ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น (ซึ่งขายหลังจากที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร้อนแรงปรับตัวขึ้นมามาก) กองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก (Mid-Small cap) ฯลฯ

IIIทำไมอดีตไม่อาจทำนายอนาคต

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้ คำตอบของเรื่องนี้ คือ

(1) วิธีการลงทุนของกองทุนบริหารจัดการหรือผู้จัดการกองทุนหรือของบลจ.นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม หรือไม่เปลี่ยนไปแต่เป็นวิธีที่ไม่อาจให้ผลตอบแทนดีเหมือนเดิมได้อีกแล้ว เช่น กองทุนบริหารจัดการนี้เคยใช้วิธีลงทุนในหุ้นที่มีสินทรัพย์มาก (asset-play) แต่ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงเวลานี้ หรือ จากเดิมกองทุนนิยมลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมาก ก็เปลี่ยนมาลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลน้อยแต่เน้นเติบโต (อาจเรียกว่าเป็นกรณี Style Drift)

(2) ผู้จัดการกองทุนหรือบลจ.เดิมไม่ได้บริหารกองทุนรวมนั้นแล้ว นี่ก็พบได้ว่ากองทุนรวมนั้นอาจมีผู้จัดการกองทุนใหม่ หรือผู้จัดการกองทุนเก่าลาออก หรือกลุ่มผู้จัดการและคณะกรรมการลงทุนเปลี่ยนชุด หรือบลจ.ถูกควบรวมกิจการทำให้ต้องมีการโยกย้ายกลุ่มผู้จัดการกองทุนเป็นชุดใหม่

(3) กองทุนนั้นมีจำนวนทรัพย์สินที่มากขึ้นทำให้ยากแก่การบริหารจัดการ สำหรับกรณีที่กองทุนนั้นเคยมีขนาดเล็กมาก่อน เช่น เดิมกองทุนมีสินทรัพย์ขนาด 1,000 ล้านบาท พอกองทุนได้รับความสนใจก็มีเงินกลายเป็น 10,000 ล้านบาท ทำให้การซื้อหุ้นขนาดเล็กทำได้ค่อนข้างยาก หรือการซื้อหุ้นบางอย่างติดข้อจำกัดเรื่องต่าง ๆ เช่น สภาพคล่อง หรือสัดส่วนในการลงทุนไปติดข้อกฎหมาย

(4) เป็นแค่เรื่องโชคดีหรือกองทุนซื้อหุ้นถูกตัวชั่วครั้งชั่วคราว 😅

แล้วมีอะไรที่ทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้ดี หรือสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมหรือไม่?

คำตอบคือมีครับ สิ่งนั้นก็คือ “ค่าใช้จ่าย(Costs) นั่นเอง

สิ่งที่ค้นพบกันในวงการการเงินก็คือ ยิ่งกองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะให้ผลตอบแทนดีในระยะยาวและเป็นผู้ชนะย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย[1. Ferri, All About Index Funds, 26.] ตัวแปรหลักที่จะทำนายผลการดำเนินงานในอนาคตจึงได้แก่สัดส่วนค่าใช้จ่ายและอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ ที่ยิ่งมีค่ามากเท่าไหร่ ผลตอบแทนในอนาคตก็ลดฮวบฮาบลงไปเรื่อย ๆ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 401.]

4. ย้อนดูกองทุนรวมหุ้นไทย

ผมได้เคยทำบทความเกี่ยวกับผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมหุ้นไทยไว้หลายบทความ และแนวโน้มก็คล้ายกันว่า ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมไม่บ่งบอกอนาคตที่นักลงทุนจะได้ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกลงทุนในกองทุนแบบบริหารจัดการมีผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้น (Actively Managed Funds) ไม่สามารถทำผลตอบแทนเหนือกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยรวม เช่น บทความเรื่อง ผลตอบแทนของ RMF ในอดีต หรือ ผลตอบแทน LTF ในอดีตไม่อาจบอกอนาคตได้ หรือ ผลตอบแทนกองทุนระหว่างปี 49-58 หรือ RMF กองไหนดี?

หากแต่ในบทความนี้ เราจะมาดูประเด็นเรื่อง การเลือกผู้ชนะโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลัง และนักลงทุนหวังในใจว่ากองทุนเหล่านี้จะยังเป็นผู้ชนะในอนาคตเช่นเดิม มาดูกันว่ามันจะเป็นหวังที่ลม ๆ แล้ง ๆ หรือไม่

ผมมีข้อมูลช่วงปี 2010-2017 ของกองทุนรวมหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 5 ลำดับแรกของแต่ละปี (เป็นข้อมูลในมือที่สามารถหาได้ ณ ตอนทำบทความนี้) และกองทุนเหล่านี้เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย โดยรวมไว้ทั้งกองทุนปกติและกองทุนที่มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่าง LTF RMF ซึ่งผมคิดว่ามันควรถูกจับมายำรวมกัน เพราะถ้ากองทุนบริหารจัดการ (actively managed funds) เหล่านี้มีนโยบายเช่นเดียวกันว่า มันจะต้องทำผลตอบแทนได้ชนะผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย

ดังนั้น มันไม่ควรจะมีข้ออ้างว่าจะต้องมาแยกว่าฉันเป็นกองทุนรวมทั่วไป หรือฉันลดหย่อนภาษีได้แบบ LTF หรือ RMF ถ้ามันลงทุนในหุ้นไทยเหมือน ๆ กัน ที่สำคัญเวลานักลงทุนทุกคนเลือกซื้อกองทุนพวกนี้ก็ย่อมต้องหวังว่ามันจะให้ผลตอบแทนสูดสุดอยู่แล้ว และผลก็ปรากฏดังรูปด้านล่างครับ

RANK1

จากรูปท่านจะเห็นได้ว่า ประการแรก กองทุนหุ้นไทยที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดอันดับ 1 และ 2 ในแต่ละปี ช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ซ้ำหน้ากันเลย และประการที่สอง ท่านที่ซื้อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด 5 ลำดับแรกในปี 2010 ท่านจะพบว่า ใน 7 ปีต่อมา กองทุนเหล่านั้นไม่ติด 5 ลำดับแรกเลยสักปี! ประการสุดท้าย แม้มันจะมีกองทุนที่ยังติดโผอยู่บ้าง แต่ว่าในอนาคตมันจะติดโผอยู่หรือไม่? เขียนมาถึงตรงนี้ท่านยังเชื่ออยู่หรือเกี่ยวกับการดูผลตอบแทนย้อนหลัง

พาทัวร์อีกรอบหนึ่ง คราวนี้มาถึงกองทุนยอดฮิตอย่าง LTF กล้าทายได้เลยว่า ส่วนหนึ่งของท่านที่อ่านบทความนี้ ตอนซื้อกองทุน LTF โดยเฉพาะท่านที่ซื้อเพียงเพื่อลดหย่อนภาษี ท่านก็จะมองหากองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 🧐 โดยเปิดดูสัปดาห์ท้าย ๆ ของเดือนธันวาคมที่กำลังจะหมดเวลาซื้อ LTF

ลองมาดูข้อมูลปี 2007-2017 ข้างล่างนี้กัน แล้วเราจะเห็นอะไรที่น่าสนใจ

RANKLTF

เห็นอะไรไหมครับ ก็เหมือนเดิมกับรูปก่อนหน้า กองทุนที่ได้ลำดับที่ 1 ในแต่ละปีแทบจะไม่ซ้ำหน้ากันเลย และน่าสนใจตรงที่คนที่ซื้อกองทุนโดยดูผลตอบแทนรวมสูงสุดของปี 2007 จะพบใน 10 ปีต่อมาว่า กองทุนที่ท่านซื้อมานั้นแทบจะไม่ติด 5 ลำดับแรกในแต่ละปีของ 10 ปีต่อมาเลยสักกองทุนเดียว

งานวิจัยทางวิชาการของไทยก็ให้ผลไปในทางเดียวกันว่า กลยุทธ์ที่ซื้อกองทุน LTF หรือ RMF จากผลตอบแทนที่ดีในอดีตไม่อาจชี้วัดได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนดีในอนาคต และยังพบอีกว่า กองทุนรวมเหล่านี้ทำผลตอบแทนสุทธิ (net returns) ได้ต่ำกว่าผลตอบแทนรวมเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์โดยห่างและต่ำกว่า 2-3% ต่อปี[1. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์, “ผลตอบแทนและความต่อเนื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่มีนโยบายเชิงรุก,” วารสารบริหารธุรกิจ นิด้า 22 (พฤษภาคม 2561): 61.]

แล้วจะทำอย่างไรดีในการเลือกกองทุนรวม ในเมื่อมันดูผลตอบแทนที่ผ่านมาแล้วเสียเวลา?

คำตอบง่ายมาก คือ ทำใจ! ครับ และยอมรับว่า ผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมไม่สามารถทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้ การเลือกกองทุนรวมโดยดูผลตอบแทนย้อนหลังเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพเลย[1. John C. Bogle, John Bogle on Investing: The First 50 Years (Hoboken: Wiley, 2015), 121.]

5. บทสรุปเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง ของกองทุนรวม

ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนในช่วงเวลาหนึ่งกับผลตอบแทนในช่วงเวลาถัดไป เป็นการยากมากที่นักลงทุนจะมีเครื่องรับประกันว่านักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตโดยใช้วิธีลงทุนในกองทุนที่มีผลตอบแทนดีในช่วงที่ผ่านมา คุณไม่อาจจะเอาชนะตลาดได้สม่ำเสมอจากการซื้อกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดได้ เพราะว่า อดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้ในวงการกองทุนรวม[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 399.]

ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายผู้ชนะในอนาคต คือ การดูจาก “ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม“[1. Mel Lindauer, Taylor Larimore, and Michael LeBoeuf, The Bogleheads’ Guide to Investing, 2nd ed. (Hoboken: Wiley, 2014), 116] เพราะค่าใช้จ่ายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลตอบแทนที่นักลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับ ยิ่งนักลงทุนเสียค่าใช้จ่ายกองทุนรวมมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับก็จะลดลงไป[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 88.] และในทางกลับกัน ยิ่งจ่ายน้อยเท่าไหร่ อนาคตที่กองทุนรวมนั้นจะทำผลตอบแทนได้ดีก็ยิ่งมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่แล้วกูรูในวงการการเงินจึงมักจะแนะนำ “กองทุนดัชนี” เป็นเครื่องมือหลักในการลงทุน โดยให้นักลงทุน ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ (low-cost index funds)

โดยสาเหตุก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายที่ต่ำจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในอนาคตที่สูงขึ้น[1. ibid., 87.] และการลงทุนกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำก็เพิ่มโอกาสในระยะยาวที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนรวมเท่ากับตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุนบริหารจัดการแบบ Actively Managed Funds เพราะกองทุนบริหารส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น

ตัวอย่างของผู้ที่แนะนำเช่นนี้ เช่น Ferri ผู้เสนอว่า อย่าเสียเวลาไปกับการเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนในอดีตเลย การลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ามาก[1. Ferri, All About Index Funds, 27.] หรือ Malkiel กับ Ellis ที่เห็นว่า การลงทุนในกองทุนดัชนีแบบ broad-based index ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอนาคต[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 91.] หรือ John Bogle ที่เห็นว่า กองทุนรวมที่ชนะตลาดในระยะยาวถือว่าเป็นข้อยกเว้นในอุตสาหกรรมกองทุนรวม เพราะฉะนั้นแทนที่จะมัวหาเข็มในกองฟาง (กองทุนผู้ชนะ) การซื้อทั้งกองฟาง (กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ) น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า [1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 86.]

แม้กระทั่งบทความของ Russell Kinnel ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Morningstar เองยังเสนอแนะว่า ในโลกของกองทุนรวมนั้น ตัวเลขของค่าใช้จ่าย (expense ratio) ดูจะเป็นสิ่งเดียวในโลกกองทุนรวมที่ช่วยในการตัดสินใจได้ กองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ในทุกกองทุนแบ่งตามประเภทสินทรัพย์ และในทุกช่วงเวลา สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ

โดยสรุปจึงเห็นได้ว่า การลงทุนในกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนย้อนหลังสูงหรือกองทุนอันดับหนึ่งเป็นวิธีที่ไม่อาจทำนายได้เลยว่าท่านจะได้ผลตอบแทนสูงในอนาคตเช่นเดิมหรือไม่ และส่วนใหญ่คำตอบจะกลายเป็นว่า “ไม่” ซึ่งการยอมรับว่า การมานั่งดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์และเสียเวลา นักลงทุนจะหลุดพ้นจากความเชื่อกระแสหลักในวงการลงทุน หลุดพ้นจากสื่อและการโหมกระหน่ำโชว์โฆษณาผลตอบแทนในอดีต หลุดพ้นจากการผลาญเวลางมหาผู้ชนะ และสามารถนำเวลาไปทำอะไรที่มันมีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้

ส่วนวิธีการเลือกกองทุนรวมที่น่าเชื่อถือและมีงานทางวิชาการสนับสนุนก็คือ การเลือกกองทุนจากอัตราส่วนค่าใช้จ่าย และเนื่องด้วยกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำโดยปกติมักจะเป็นกองทุนดัชนี ดังนั้น การลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ หรืออย่างน้อยลงทุนในกองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ กองทุนพวกนี้นี่ล่ะที่จะสร้างโอกาสที่ทำให้ท่านได้ผลตอบแทนที่สูงในอนาคตครับ

บทความแนะนำอื่นที่ควรอ่านต่อ

(1) ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม

(2) ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายต่อนักลงทุน

(3) กองทุนดัชนีคืออะไร

(4) กองทุนดัชนีในประเทศไทย

(5) กฎของการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย

SET SET50 SET100 ลงทุนดัชนีอะไรดี?

คำถาม: กองทุนดัชนีนั้นควรจะลงทุนในกองทุนดัชนีที่เลียนแบบดัชนี SET Index หรือตัวอื่น ๆ ดี?

ปัญหาที่ว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีไหน? เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิต ซึ่งขออธิบายเริ่มต้นให้เข้าใจก่อนว่า คำแนะนำจากหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนเชิงรับ (passive investment) หรือตำราที่มีคำแนะนำเน้นให้เราลงทุนกองทุนดัชนีมักจะเขียนไว้ว่า (ถ้าเป็นไปได้) นักลงทุนควรลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) ที่มีการลงทุนครอบคลุมที่สุดในลักษณะเป็น Broad-Based Index

1. Broad-Based คืออะไร?

ถ้าจะอธิบายกระชับ ๆ เรื่อง Broad-Based Index ก็คือ เราควรจะลงทุนกองทุนที่มันเลียนแบบดัชนีหุ้นทั้งหมดให้ได้เกือบ 100% ผมยกตัวอย่างดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นสามัญประมาณ 500-600 บริษัท ถ้ากองทุนดัชนีที่เป็นแบบ broad-based กระจายฐานกว้างก็จะต้องลงทุนให้ครบทั้งห้าร้อยหกร้อยหุ้นเหล่านั้น

ประโยชน์ที่สำคัญจากการลงทุนแบบนี้ก็คือ ถ้าลงทุนในกองทุนดัชนีที่ broad-based กระจายฐานกว้างสุด คุณก็จะได้ลงทุนเลียนแบบล้อไปกับตลาดหุ้นจริง ๆ และได้ลงทุนครบทุกหมวดอุตสาหกรรมของดัชนีนั้น ในภาพใหญ่ก็คือการลงทุนในบริษัทที่ผลักดันเศรษฐกิจของดัชนีหรือก็คือเหล่าบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั่นเอง[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 2.] และในกรณีที่ค่าใช้จ่ายกองทุนต่ำมาก ผลตอบแทนที่คุณได้รับในอนาคตก็จะใกล้เคียงสุด ๆ กับผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นอย่างแท้จริง

หากแต่มันมีสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบเพิ่มเติม เพราะการจะลงทุนเลียนแบบดัชนีทั้งหมด เช่น สมมติต้องการจะลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ได้เป๊ะ ๆ ลองนึกภาพกองทุนที่จะต้องลงทุนทุกบริษัทหรือลงทุนให้ครบทั้ง 500-600 หุ้น มันก็จะเกิดความลำบากขึ้นมานิดหน่อย  เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีหรือวิธีการลงทุนที่ทำให้สามารถเลียนแบบใกล้เคียงกับดัชนีได้ เช่น การใช้โปรแกรมที่สามารถคำนวณปรับน้ำหนักหุ้นที่ซื้อเข้ากองทุนรวมให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ต้องการจะเลียนแบบโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อหุ้นครบทุกตัว หรือการใช้ตราสารอนุพันธ์ (derivatives) ช่วยในการปรับพอร์ตลงทุน

เนื่องจากถ้าจะลงทุนให้ครบหลักทรัพย์หรือหุ้นทุกตัวที่ประกอบกันเป็นดัชนีดังกล่าว บางทีมันอาจเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า หุ้นบริษัทขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งมีสภาพคล่องต่ำหรือแทบจะไม่มีการซื้อขาย (ไม่มีคนซื้อขายเป็นเวลาหลายวัน) ปัญหาเหล่านี้ย่อมจะส่งผลทำให้กองทุนดัชนีไม่อาจจะซื้อหุ้นทั้งดัชนีที่มันเลียนแบบให้ครบทุกตัวเป๊ะ ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ในบางครั้ง กองทุนดัชนีที่เลียนแบบทั้งตลาดอาจจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงมากจนเกินไปถ้ากองทุนนั้นพยายามจะลงทุนหุ้นให้ครบทุกตัว ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุด ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับย่อมจะต้องถ่างออกไปอย่างมากจาก ผลตอบแทนรวมของดัชนี (Total Return) เพราะผลตอบแทนที่จะได้รับสุทธิจะต้องหักค่าใช้จ่ายกองทุนออกไปก่อน

ต้องหมายเหตุนิดนึงว่า กองทุนดัชนีไม่จำเป็นต้องลงทุนหุ้นครบทุกตัวตามดัชนีก็ได้ หากสามารถลงทุนเลียนแบบผลตอบแทนได้เท่ากับดัชนีนั้น (โดยทั่วไปจะต้องมีข้อยกเว้นระบุในหนังสือชี้ชวนและทำตามนั้นจริง) ซึ่งกองทุนสามารถกระทำได้โดยการใช้โปรแกรมคำนวณสัดส่วนการลงทุน หรือ ใช้วิธีอื่นใดที่ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนครบหุ้นทุกตัว โดยกองทุนดัชนีอาจใช้วิธีลงทุนได้หลากหลายแบบ คือ

(1) Full Replication คือ ลงทุนหุ้นครบทุกตัวที่ประกอบเป็นดัชนีนั้น

(2) Optimization ซึ่งเป็นวิธีที่จะลงทุนไม่ครบทุกหลักทรัพย์ แต่ทำการคัดเลือกและปรับน้ำหนักลงทุนให้สะท้อนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีนั้นที่สุด (มี tracking error ต่ำที่สุด) ซึ่งมักจะใช้กับดัชนีที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในการซื้อหุ้นให้ครบทุกตัว

(3) Cash Equitization อันนี้เป็นวิธีบริหารจัดการเงินสดของกองทุน โดยลงทุนแบบถือเงินสดในบางช่วงขณะและไม่ทำการเข้าซื้อหุ้นโดยตรง แแต่อาจใช้การซื้อตราสารอนุพันธ์ในลักษณะซื้อ Long position เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำและผลตอบแทนใกล้เคียงเสมือนกับการได้ซื้อหุ้นจริง

นอกจากนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเภทของดัชนี (Index) ที่เลียนแบบหุ้นไม่ครบทั้งตลาดหุ้น ผลตอบแทนก็ย่อมไม่เท่ากับดัชนีใหญ่ที่เลียนแบบหุ้นทั้งตลาดนั้น เช่น ดัชนี SET50 เลียนแบบลงทุนในหุ้นที่มีขนาดมูลค่าตลาด (Market Capitalization or market cap) ประมาณ 70-75% ของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ในระยะสั้นนั้นจึงอาจจะมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะหุ้น 50 ตัวดังกล่าวเป็นหุ้นใหญ่ (Large-cap stocks) ขาดสัดส่วนของผลตอบแทนจากหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Mid-cap and Small-cap stocks) ซึ่งมีจำนวนที่เหลืออีก 500 กว่าตัว (แต่มีมูลค่าตลาดรวมกันแค่ 25-30% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์)

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของการลงทุนกองทุนดัชนีที่มีลักษณะกระจายความเสี่ยงสูงแบบ Broad-based พวกเรานักลงทุนจะต้องดูเรื่องของค่าใช้จ่ายกองทุนประกอบด้วย! เนื่องจากผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ได้รับอาจถูกทำลายทิ้งได้ง่ายดายจากค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมที่สูงปรี๊ดครับ

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีไหนก็ตาม ถ้าค่าใช้จ่ายมหาศาล มันก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่ดีได้

อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ผลตอบแทนในระยะยาวของดัชนีพวกที่เลียนแบบไม่ครบทั้งตลาดหุ้นนี้ แม้จะมีความต่างจากตัวดัชนีใหญ่ แต่ในระยะยาวก็จะมีความใกล้เคียงกันของผลตอบแทนระดับหนึ่ง ถ้าวัดเฉพาะผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายนะครับ (gross returns) อารมณ์คล้ายกับดัชนีตลาดหุ้นอเมริกานั่นล่ะ

หากแต่โดยทั่วไปแล้ว หุ้นขนาดเล็กมักจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น ดัชนีที่ทำการเลียนแบบลงทุนหุ้นทั้งตลาด (total stock market) ซึ่งจะต้องมีการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กร่วมด้วย จึงมีโอกาสในระยะยาว (มาก ๆ) ที่จะมีผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีหุ้นที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว เช่น ดัชนี SET50 หรือดัชนี S&P500

2. เดินชมกองทุนดัชนีในตลาดหุ้นสหรัฐ

โดยดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นดัชนีที่เป็นที่นิยมที่สุดในการเลียนแบบผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐ และมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุน กองทุนดัชนีที่เป็นที่นิยมและมีเม็ดเงินลงทุนสูงจึงมักจะเป็นกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 เช่นเดียวกันกับกองทุน ETF ที่ได้รับความนิยมก็คือ กองทุน ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 อย่าง SPDR S&P500 ETF (SPY) ซึ่งมีขนาดทรัพย์สินสุทธิ (AUM) สูงสุดและมีปริมาณ Volume ซื้อขายสูงสุด หากแต่ดัชนี S&P500 โดยปกติมักจะเลียนแบบหรือเป็นตัวแทนได้เท่ากับ 75% (สามในสี่) ของมูลค่าตลาดของหุ้นสามัญทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 386.] (หรือบางช่วงก็สูงถึง 80%)[1.John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 24.]

ถ้าอยากจะลงทุนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเกือบเท่าตลาดหุ้นอเมริกาทั้งหมดจริง ๆ ต้องลงทุนในกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี Wilshire5000 หรือ Russell 3000 Index (98% ของตลาด) หรือ CRSP Index หรือ MSCI U.S. Broad Market Index ซึ่งกองทุนรวมทั่วไป (mutual funds) ที่มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) สูงที่สุดอย่าง Vanguard Total Stock Market ก็ลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทั้งตลาดครับ โดยกองทุนนี้เลียนแบบดัชนี the CRSP U.S. Total Market Index หากแต่กองทุนรวมทั่วไปที่มีขนาด AUM รองลงมาก็ยังเป็น Vanguard S&P500 อยู่ดีครับ

ส่วนเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนเปรียบเทียบระหว่างดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดกับดัชนี S&P500  ถ้าลองดูกองทุน Vanguard 500 Index Fund Admiral Shares (VFIAX) ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 10.16% ต่อปี ส่วน Vanguard Total Stock Market Index Fund Admiral Shares (VTSAX) ที่เลียนแบบทั้งตลาดหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทน 10.33% ต่อปี ในขณะที่ถ้าย้อนไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2000 กองแรกให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.10% ส่วนกองอันหลัง 6.69% ต่อปี ตามรูปด้านล่างนี้ครับ

vannnnnnnn

ดังนั้น กองทุนดัชนีที่อาจจะเลียนแบบไม่ครบหุ้นทั้งตลาด แต่เป็นการลงทุนในดัชนีที่เลียนแบบใกล้เคียงผลตอบแทนทั้งหมดของตลาดก็อาจจะใช้แทนกันได้ ถ้าเกิดว่าค่าใช้จ่ายเทียบแล้วต่ำกว่ามาก แต่หากค่าใช้จ่ายทั้งหมดพอกัน ก็จะมีประเด็นบางอย่างให้พิจารณาต่อในหัวข้อที่ 4.

3. กลับมาดู SET ชมตลาดหุ้นไทย

เห็นตัวเลขของตลาดหุ้นสหรัฐแล้ว เรามาลองทำวิจัยเพื่อดูผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยกันบ้าง เนื่องจากข้อมูลผลตอบแทนรวมดัชนี SET100 (Total Return: TR) เริ่มถูกจัดทำ ณ วันที่ 29/04/2005 เราจึงลองคำนวณผลตอบแทนทั้ง 3 ดัชนี เริ่มจากวันดังกล่าวจนถึงข้อมูลสุดท้ายวันที่ทำบทความนี้คือ 05/07/2018  โดยสมมติว่าเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 100 บาท ณ วันที่ 29/04/2005 ก็จะได้ผลตามรูปด้านล่าง

set29405-5718

จากรูปนั้นจะเห็นได้ว่า เงิน 100 บาทที่ลงทุนในทั้ง 3 ดัชนี ได้ผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว (29/04/05 – 05/07/18) ระยะเวลาลงทุนประมาณ 13 ปีนิด ๆ เงินใน SET Index กลายเป็น 401.36 บาท SET50 เป็น 375.61 และ SET100 คือ 380.47 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลตอบแทนทั้งตลาดห่างจากผลตอบแทนดัชนีลูกอย่างมีนัยสำคัญ และจากกราฟพบว่า มันมาเบนออกช่วงปี 2012 เป็นต้นมา แต่สำหรับคู่ผลตอบแทน 50 กับ 100 ไม่ต่างกันมาก นั่นหมายถึงในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา ผลตอบแทนส่วนเกินของตลาดหลักทรัพย์ที่ทำได้สูงกว่าย่อมต้องมาจากหุ้นที่อยู่นอกดัชนี SET100 ซึ่งเป็นหุ้นบริษัทขนาดเล็กทั้งหลายนั่นเอง

หากแต่ดังที่เตยได้เขียนบทความเรื่อง การกลับสู่ค่าเฉลี่ย (Reversion to the Mean) เอาไว้ เราจะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า บางทีช่วงระยะเวลาก็หลอกเราได้ ถ้าเราจะเชื่อว่าผลตอบแทนระยะยาวของ SET จะสูงมากกว่า SET50 ตลอดไป บางทีมันก็มีปัญหาในเรื่องของเวลาอ้างอิงที่นำมาอธิบาย

เพราะถ้าย้อนกลับไป ณ วันที่จัดทำผลตอบแทนรวม SET50 คือ 02/01/2002 จนถึงวันล่าสุด 05/07/2018 (ระยะเวลาประมาณ 16 ปี 7 เดือน) เราจะพบความประหลาดใจบางอย่างตามรูปด้านล่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสมมติตัวเลขลงทุนด้วยเงิน 100 บาทเลย เนื่องจากทั้งคู่เริ่มต้นที่ดัชนีผลตอบแทนรวม (TR) ที่ 1000 จุดเท่ากัน และผลปรากฏว่า SET TR กลายเป็น 9890.22 จุด ส่วน SET50 TR กลายเป็น 9852.02 จุด อันเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ บ่งบอกว่าระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น สองดัชนีนี้ก็วิ่งควบกันไปกันมา บางทีมันอาจจะถ่างกันสักพัก แต่ถ้าคุณลงทุนระยะยาว มันก็วิ่งมาหากันในบางเวลาในอนาคต

set020102-050718

อย่างไรก็ตาม นั่นคือ ผลตอบแทนรวมของดัชนีครับ เรามาลองดูผลตอบแทนของกองทุนจริงกันดีกว่า ซึ่งคราวนี้ตัวที่จะทำให้คุณผลตอบแทนถ่างจากดัชนีก็คือ “ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม” นั่นเอง และ ยิ่งค่าใช้จ่ายกองทุนสูงเท่าไหร่มันก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนที่คุณได้รับต่ำลง

นักลงทุนสามารถดูค่าใช้จ่ายกองทุนดัชนีจาก 2 บทความนี้: กองทุนดัชนีในไทย และ กองทุน ETF ในไทย

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มจากวันที่ 02/01/2002 โดย ณ วันดังกล่าวมีกองทุนที่เลียนแบบดัชนีทั้งตลาดอยู่กองเดียว คือ SCBSET ซึ่งมีราคาหน่วย NAV อยู่ที่ 2.7434 และในวันที่ 05/07/2018 มีราคา NAV ที่ 20.1759 นั่นแสดงว่า หากคุณลงทุนด้วยเงิน 1000 บาทในวันดังกล่าวแล้วถือยาวเป็นต้นมา ณ วันที่ 05/07/2018 เงินลงทุนนั้นจะมีมูลค่า 7,354.34 บาท ในขณะที่ TMB50 มีราคาหน่วย ณ วันที่ 02/01/2002 ที่ 10.0476 ส่วนวันล่าสุด 05/07/2018 อยู่ที่ 98.3036 นั่นคือ เงิน 1,000 บาทจะกลายเป็น 9,783.79 บาท

4. ควรลงทุนดัชนี SET แบบไหนดี?

กลับไปสู่คำถามข้างบนสุด ก็คงต้องตอบว่า ไม่มีคำตอบตายตัวให้ครับ 😳 เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมและมุมมองแต่ละด้านของดัชนีต่าง ๆ ทั้งไทยและสหรัฐ เพราะถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเห็นนะครับว่า ในระยะยาวนั้น ผลตอบแทนดัชนีที่เป็นแม่ลูกกันมันก็จะวิ่ง ๆ เคียงคู่กันไปในระยะยาว แต่หากค่าใช้จ่ายที่กองทุนดัชนีเรียกเก็บนั้นสูงเกินไป ผลตอบแทนที่คุณได้รับก็อาจจะหายวับไปเป็นมูลค่าที่เยอะมาก

นักลงทุนหลายท่านก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไปเรื่องดัชนี แม้เราจะรู้แล้วว่าดัชนี the S&P500 เป็นดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐที่เลียนแบบหุ้นขนาดใหญ่ (Big-cap) แต่ก็ยังมีนักลงทุนหลายท่านที่แนะนำให้ลงทุนกองทุน S&P500 อยู่ เช่น Warren Buffett

ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนและนักการเงินหลายท่านที่แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีที่เลียนแบบตลาดหุ้นทั้งตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง John Bogle ที่มักจะแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีหุ้นทั้งตลาด (total stock market) เพราะเป็นดัชนีที่จะได้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมดในตลาดหุ้นและจะได้รับผลตอบแทนทั้งหมดที่แท้จริงที่หุ้นทั้งตลาดทำได้[1. ibid., 25.] เนื่องจากได้รวมทุกหุ้นเอาไว้ในตัว ไม่ว่าจะหุ้นขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก

Malkiel และ Ellis ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับ Bogle คือสนับสนุนกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบหุ้นทั้งตลาดเช่นกัน[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 48.] เพราะดัชนีที่ลงทุนหุ้นทั้งตลาดจะทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีที่เลียนแบบดัชนีดังกล่าวสามารถทำการลงทุนในหุ้นทั้งตลาดซึ่งรวมไปถึงได้ลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก ที่ในระยะยาวมักจะมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 385.]

หากแต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมของนักลงทุนเหล่านี้ในการแนะนำให้ลงทุนกองทุนดัชนีไม่ว่าจะทั้งตลาดหรือแค่ S&P500 คือ

() ทั้งดัชนีตลาดหุ้นที่ครอบคลุมหุ้นทั้งหมดในตลาด (entire market) หรือครอบคลุมหุ้นส่วนใหญ่อย่าง S&P500 ทั้งคู่เป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนผลตอบแทนในระยะยาวของธุรกิจต่าง ๆ และผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นได้ดีทั้งคู่

() ดัชนีทั้งสองแบบนั้นมีการกระจายการลงทุนที่ดี (well-diversified) เพราะทั้งคู่เป็น broad-based index (หรือเกือบ ๆ broad-based) ทำให้มันมีการกระจายลงทุนหุ้นค่อนข้างครบถ้วน เพราะสิ่งสำคัญคือ นักลงทุนไม่ควรไปมุ่งเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมเพียงอุตสาหกรรมเดียวหรือสองสามอย่าง กองทุนพวกนี้ช่วยลดทอนปัญหาที่นักลงทุนชอบไล่ล่าลงทุนอุตสาหกรรมที่ร้อนแรง ซึ่งประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่า นักลงทุนที่ทำแบบนั้นมักจะได้รับความเจ็บปวดและสูญเสียเงินอย่างนัก ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมน้ำมัน ทองคำ ธุรกิจสุขภาพ การบิน ยานยนต์ รถไฟ ฯลฯ

() ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีในระยะยาว ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ใกล้เคียงตลาดหุ้น จัดว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนถือกองทุนแบบบริหารจัดการคัดเลือกหุ้น (actively managed funds)

() อย่างไรก็ดี ทุกคนมีคำแนะนำร่วมเช่นเดียวกันว่า จะต้องเป็นกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ด้วย! 

ก็คงต้องย้ำปิดท้ายอีกครั้งเหมือนในหลายบทความนะครับ (กาดอกจันแปดดอก) ว่า เราจะต้องไม่ลืมกฎแห่งการลงทุนที่เป็นหัวใจสำคัญที่ว่า

มันไม่ใช่แค่ลงทุนในกองทุนดัชนีอย่างเดียว กองทุนดัชนีนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ (lower or lowest index fund) ด้วย 

เพราะค่าใช้จ่ายนั้นสำคัญมากต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในอนาคต ยิ่งค่าใช้จ่ายมาก ผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับย่อมลดน้อยลง

Facebook : Bear Investor