คลังเก็บหมวดหมู่: Index Funds

กรณีศึกษาการเรียกร้องข้อมูลผลตอบแทน SET TRI: บันทึกตลาดทุนไทย

“พลังของนักลงทุนไทย: กรณีเรียกร้องเรื่องกองทุนรวมให้ใช้ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index)”

ตอนปลายปี 2018 ผมได้ไปพบว่าในหนังสือชี้ชวนเสนอขายของกองทุนรวมในหลาย ๆ บลจ. มีการผสมเลขผลตอบแทนระหว่างดัชนีราคา (SET PR) และดัชนีผลตอบแทนรวม (SET TRI) [อ่านความแตกต่างได้ที่นี่] เช่น ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (fund fact sheet) ใส่เลข SET PR เปรียบเทียบกับกองทุนจำนวนหลายปี แล้วใส่เลข SET TR เฉพาะปีล่าสุด ซึ่งผมได้โพสเรื่องราวนี้ให้เพื่อนในเพจ Bear Investor ใน Facebook ทราบเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม และประเด็นนี้ได้จุดกระแสนักลงทุนจำนวนมากรวมถึงบุคคลอื่น ๆ เรียกร้องให้ทางหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (SEC) และทางบลจ.เองทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ลำดับเหตุการณ์

ประมาณช่วงกลางเดือนสิงหาคม ผมได้นั่งอ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปของหลาย ๆ บลจ. แล้วเกิดเอะใจว่าทำไมกองทุนจำนวนมากทำผลตอบแทนได้ชนะ SET TR อีกทั้งสิ่งที่เตะตาผมคือตัวเลขของดัชนีชี้วัด เพราะผมทำบทความมาเยอะจนชินตาและจำเลขผลตอบแทนรายปีของ SET ได้ เมื่อเหลือบดูข้อชี้แจงก็พบว่า ในหนังสือชี้ชวนเขียนแค่ดัชนีชี้วัดคือ SET TR ทั้ง ๆที่ไส้ในหลายปีมันคือ SET PR การตั้งข้อสังเกตผมก็คือ ประกาศที่บังคับให้ใช้ SET TR พึ่งเริ่มต้นมาไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่า บลจ. ก็ใส่เลขเฉพาะ SET TR ในปี 2560 อันเป็นปีที่เริ่มบังคับใช้ประกาศของก.ล.ต.

ผมจึงได้โพสสเตตัสในเพจ Facebook วันที่ 14 สิงหาคม 2561 ใจความว่า

” ** เพื่อเป็นการปกป้องนักลงทุนและผู้บริโภคในการรับข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต. และวงการกองทุนรวมทำการแก้ไขตัวเลขผลตอบแทนเปรียบเทียบของ SET TRI ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้ถูกต้อง **

1. ความนำเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

กองทุนรวมตราสารทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยจะต้องมีดัชนีชี้วัด (benchmark) เพื่อทำการเปรียบเทียบฝีมือและผลตอบแทนที่กองทุนรวมทำได้ เพื่อให้นักลงทุนได้ทำการตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวมโดยอาศัยข้อมูลเปรียบเทียบผลตอบแทนในอดีตของกองทุนว่า กองทุนทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีหรือไม่

โดยในอดีตกองทุนรวมจะใช้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในส่วนเฉพาะผลตอบแทนของราคาหรือที่เรียกว่า SET Price Return Index (SET PR) ซึ่งมิได้ใช้ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นที่ได้คำนวณรวมเงินปันผล ที่เรียกว่า SET Total Return Index (SET TR/SET TRI) ทำให้ในอดีตนั้น นักลงทุน ผู้บริโภค และคนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่า กองทุนจำนวนมากทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัด ทั้ง ๆ ที่กองทุนเลือกเทียบกับ SET PR ไม่เทียบกับ SET TR ที่รวมเงินปันผล ในขณะที่กองทุนรวมหุ้นย่อมจะต้องได้รับเงินปันผลมาเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่ม อันนำไปสู่ความเข้าใจผิดแก่นักลงทุนจำนวนมาก ว่ากองทุนหุ้นส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

อย่างไรก็ดี ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ใหม่ทำให้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยและใช้ดัชนีชี้วัดเป็นผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องใช้ผลตอบแทนรวมเงินปันผลหรือ SET TR / SET TRI มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

2. ปัญหาที่พบ

เมื่อข้าพเจ้าได้สอบทานตัวเลขในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยจำนวนหนึ่ง กลับพบว่า ตัวเลขผลตอบแทนในส่วนของดัชนีชี้วัดที่แสดงในเอกสารดังกล่าวสามารถสร้างความเข้าใจผิดให้กับนักลงทุน ผู้บริโภค บุคคลทั่วไป เพราะเหตุดังต่อจะได้อธิบายข้างล่างนี้

หนังสือชี้ชวนในส่วนของหน้าที่แสดงผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนจะกำกับไว้ว่า ผลตอบแทนของดัชนีชี้วัดคือ SET TRI หากแต่ตัวเลขที่ปรากฏในเอกสารของหลายกองทุน โดยเฉพาะปี 2559 ย้อนหลังไป ยังคงใช้ตัวเลขผลตอบแทนแบบ SET PR อยู่ ซึ่งวิญญูชนผู้เชื่อมั่นในข้อมูลบนหนังสือชี้ชวนดังกล่าวย่อมจะเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าในอดีตนั้น กองทุนรวมทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัดหรือ benchmark ที่เป็น SET TRI ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลข SET PR

และที่ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบมาจะเห็นได้ว่า ในหนังสือชี้ชวนไม่มีข้อมูลระบุกำกับไว้ว่ามีตัวเลขจำนวนหนึ่งเป็นตัวเลข SET PR แต่อย่างใด ทำให้เมื่อนักลงทุนอ่านแล้วอาจเข้าใจได้ว่าตัวเลขทั้งหมดคือ SET TRI

3. ข้อเรียกร้อง

เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นเพจทางการเงินและมีปณิธานในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมแก่ประชาชนทั่วไป ขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานกำกับทำการตรวจสอบและขอให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมทำการแก้ไขตัวเลขให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในอนาคต

อุตสาหกรรมกองทุนรวมเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเงินตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน ดังนั้น การทำข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้องจะยังประโยชน์ต่อประชาชนและนักลงทุน ผู้บริโภคต่อไป

อนึ่ง ข้าพเจ้าเสนอให้ทำการแก้ไขให้ใช้ตัวเลข SET TR ทั้งหมด มากกว่าที่จะทำการใส่หมายเหตุว่าข้อมูลในปีก่อนหน้าเป็น SET PR เพื่อสร้างความโปร่งใสและง่ายต่อการทำความเข้าใจต่อเอกสารหนังสือชี้ชวน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดสืบไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบต่อ สำนักงาน กลต.

ขอแสดงความนับถือ

เพจ Bear Investor

พร้อมกันนี้ได้แนบตัวอย่างของหน้าหนังสือชี้ชวนที่ได้กล่าวถึงเป็นตัวอย่างไว้ด้วย”

39127248_2251636061731234_3742495933204529152_n
ตัวเลขผลตอบแทนรวม SET TR รายปีที่ถูกต้อง
39017480_2251635961731244_1277280182423519232_n
ตัวอย่างของ บลจ. ที่ใช้ตัวเลข SET TRI ทุกปี

ตัวอย่างหนังสือชี้ชวนที่ไม่ใช้เลข SET TR ในทุกปีโดยปีก่อนหน้าจะใช้เลข SET PR ทั้งหมด

39206536_2251635978397909_3826665038664433664_n

39148089_2251635968397910_9027643303364919296_n

39137748_2251636051731235_6731029105128505344_n

39135005_2251636041731236_8380243611320582144_n

39124581_2251636025064571_6629606201212534784_n

เราจะพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปที่บลจ.ใช้ขายกองทุนต่าง ๆ มีตัวเลขไม่ตรงกับรายละเอียด เช่น บอกว่าใช้ตัวเลขผลตอบแทนแบบ SET TRI แต่ใส่ปีเดียว ปีที่เหลือเป็น SET PR ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดของนักลงทุนและผู้ซื้อกองทุนรวมได้ จริง ๆ เรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่มาก มันคือเรื่องของ Misleading หรือการทำให้เกิดข้อมูลที่เข้าใจผิดได้ และข้อมูลเช่นว่านี้ได้ผ่านตานักลงทุนและคนซื้อกองทุนรวมจำนวนมากมายมหาศาลไปแล้ว

สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ การเพิกเฉยของนักลงทุนและคนทั่วไปต่อเหตุการณ์ ซึ่งมันแสดงให้เห็นผ่านประวัติศาสตร์ว่า นักลงทุนไม่เรียกร้อง เราอาจจะต้องใช้เวลานานมาก เพราะไม่มีใครมาใส่ใจเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ถ้านับว่ากองทุนมาตั้งกันเยอะ ๆ ก็ช่วงปี 2545 เป็นต้นมา เราใช้เวลากว่า 15 ปีในการทำให้บลจ.หันมาใช้ดัชนี้ชี้วัดเป็น SET TRI ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาใช้ตัวเลข SET PR ในการขายนักลงทุน ซึ่งทำให้คนเข้าใจกันไปหมดว่า กองทุนในไทยทำผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด ชนะตลาดหุ้นกันได้ง่าย ๆ ขนาดกองทุนดัชนียังชนะดัชนีได้เลย! (เพราะเทียบกับ SET PR)

ทุกท่านควรจะสังเกตจากเหตุการณ์นี้ได้ว่า ตัวเลขผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น (SET TRI) ที่รวมเงินปันผลด้วยนั้น มันทรงพลังขนาดไหน ทรงพลังมากซะจนไม่มีใครอยากเอ่ยถึง หรือไม่อยากใส่มันในเอกสารการขาย เพราะมันจะปรากฏอย่างชัดเจนว่า กองทุนส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นอย่างมาก

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางเรียกร้องเพิ่มจึงเกิดเป็นกระทู้ Pantip ขึ้นมาอีกหนึ่งช่องทาง (Click Link)

pt

นักลงทุนที่เห็นด้วยเริ่มสร้างแคมเปญเรียกร้องใน Change เพิ่มอีก (Click Link)

Change

ฝันที่เป็นจริง

และล้วก็ได้กำเนิดหลักเกณฑ์บังคับให้ใช้เลข SET TR ทั้งหมดจากสำนักงานก.ล.ต. ในท้ายที่สุด

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า เสียงและพลังของนักลงทุนทุกท่านที่ช่วยกันเรียกร้องความถูกต้องได้สัมฤทธิ์ผลเนื่องด้วยทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้รับฟังความเห็นของนักลงทุนและออกประกาศหลายฉบับ เช่น ประกาศ สน. 64/2561 [Click] ได้กำหนดให้การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เปรียบเทียบกับตัวชี้วัด (brenchmark) จะต้องใช้ดัชนีที่ใช้วัดผลตอบแทนทุกประเภทจากการลงทุนในหลักทรัพย์เท่านั้น (total return index) ไม่ใช่ดัชนีที่คำนวณเฉพาะราคา (price index)

64

50971849_2358570351037804_1344567158717284352_n.png

ความประทับใจ

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมภูมิใจยิ่งที่นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีและใช้เรียกร้องเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการลงทุนและวงการการเงินการลงทุนที่ดี มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า พลังของนักลงทุนรายย่อยเมื่อรวมกันแล้วทรงพลังอย่างยิ่งใหญ่มหาศาล

ทั้งนี้ต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วยที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและปกป้องนักลงทุนได้ค่อนข้างรวดเร็วครับ ผลดีที่เกิดขึ้นนี้ย่อมตกแก่นักลงทุนทุกคน แสดงให้เห็น เป็นหลักชัยและเป็นการบ่งชี้การพัฒนาตลาดทุนไทยที่ยั่งยืนในอนาคตโดยคำนึงถึงนักลงทุนผู้เป็นหัวใจสำคัญของระบบครับ

ผลตอบแทนย้อนหลัง กองทุน : ความเสียเวลาและมายาคติ

ผลตอบแทนย้อนหลัง (past performance) บอกอนาคตของผลตอบแทนกองทุนรวมได้จริงหรือ?

ถ้าถามผมว่า ความเชื่อที่แอบสร้างปัญหาให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอย่างไม่รู้ตัวคือความเชื่อเรื่องอะไร ผมบอกได้เลยว่า การที่นักลงทุนในกองทุนรวม (รวมไปถึงคนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนรวม) เชื่อว่าผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมเป็นสิ่งที่สามารถทำนายผลตอบแทนอนาคตได้ อันนี้ล่ะเป็นความเชื่อแบบมายาคติ (myth) ของนักลงทุนส่วนใหญ่เลยทีเดียว

1. ภาพรวมเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง ของกองทุนรวม

เวลาคนส่วนใหญ่จะลงทุนในกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมหุ้น สิ่งที่พวกเขาตั้งสมมติฐานก็คือ กองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในตอนนี้หรือในอดีต ควรจะทำผลตอบแทนได้ดีในอนาคต เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า คนส่วนใหญ่จะค้นหาใน Google ว่า กองทุนไหนทำผลตอบแทนดี หรือสิบอันดับผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลัง หรือบางคนก็ไปตั้งคำถามกระทู้ว่ากองทุนไหนผลตอบแทนดีบ้าง เรียกได้ว่า พลังงานที่คนส่วนใหญ่เสียไปในการลงทุน คือ การค้นหาผู้ชนะจากผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมนี่ล่ะ

ด้วยเหตุนี้ หน้าเว็บไซต์ที่คนส่วนใหญ่จะไปดู คือ หน้าที่บอกว่า กองทุนนี้ทำผลตอบแทนในอดีตได้เท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบนั่นนี่ หรือเว็บไซต์ที่มีบริการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวม หรือการดูสัญลักษณ์รางวัลต่าง ๆ หรือพวกเขาไม่จำเป็นต้องค้นดูก็ได้ วารสาร นิตยสาร ข่าว หรือสื่อการเงินต่าง ๆ จะรายงานเองว่า กองทุนรวมใดได้ผลตอบแทนสูงสุดของในรอบ 10 ปี 5 ปี 3 ปี 1 ปี หรือหน่วยเดือน สูงสุดของครึ่งปี หรือ 3 เดือน หรือ 1 เดือน หรือแม้กระทั่ง 1 สัปดาห์!!! ก็ในเมื่อนักลงทุนสนใจ วงการการเงินก็ตอบสนองเสนอข่าวสารเหล่านี้ให้จุใจเลยสิ

ส่วนตัวเห็นว่า ข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังแบบระดับเดือน เช่น 1 เดือน และที่ขัดใจสุด คือ ข่าวเกี่ยวกับผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุด 1 สัปดาห์! ข่าวพวกนี้ผมคิดว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดและสิ่งที่นักลงทุนควรทำคือเลื่อนผ่านให้ไวซะมากกว่า

มิใช่แค่วงการโฆษณาหรือสื่อการเงิน แม้กระทั่งวงการกองทุนรวมเองก็เสนอข่าวในลักษณะนี้เช่นกัน พวกเขามักจะบอกว่า กองทุนของพวกเขาได้ผลตอบแทนสูงสุด หรือทำผลตอบแทนได้ดีนะ อันนี้เราก็ว่ากันไม่ได้ ทุกบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ล้วนมีฝ่ายขายกับฝ่ายการตลาด และทั้งสองฝ่ายก็ต้องทำหน้าที่ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท เพราะฉะนั้น เวลานักลงทุนจะซื้อกองทุน สิ่งที่นักลงทุนจะได้เห็นมากที่สุดนอกจากคำบรรยายความดีงามของกองทุน ก็คือ การเสนอตัวเลขผลตอบแทนในอดีตที่แสนจะประทับใจ

คำถามคือ สิ่งที่ทุกภาคส่วนที่ผมเกริ่นไปข้างต้นกำลังทำนั้น มีประโยชน์กับนักลงทุนจริงหรือไม่?

เขียนเปิดประเด็นไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า “ผลตอบแทนย้อนหลัง” (past performance) ของกองทุนรวมไม่สามารถบ่งบอกหรือไม่ใช่วิธีที่ดีเลยในการทำนายอนาคตของผลตอบแทนที่กองทุนรวมจะทำได้[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 88.] และกองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในปัจจุบันหรือในอดีตก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำผลตอบแทนในอนาคตได้ดีแต่อย่างใด ที่หนึ่งในวันนี้ก็เป็นที่โหล่ในอนาคตได้ และโดยปกติกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการในลักษณะเลือกซื้อหุ้นรายตัว (Actively Managed Funds) ส่วนใหญ่มักจะทำผลงานได้แพ้ตลาดหุ้นและสร้างผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน

2. ใครเคยพูดอะไรเอาไว้บ้างเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง

เรามาดูกันครับว่า มีนักลงทุนและนักการเงินคนสำคัญ ๆ เคยพูดเกี่ยวกับ past performance ของกองทุนรวม ไว้อย่างไรกันบ้าง

(I) Burton G. Malkiel ได้ให้ความเห็นว่า บันทึกผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนรวมและบรรดาผู้จัดการกองทุนทั้งหลายนั้นไม่มีค่าอะไรเลยในการทำนายความสำเร็จในอนาคตของกองทุนรวม (worthless) ตัวอย่างน้อยนิดที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ชนะในระยะยาว (หมายถึงมีกองทุนไม่กี่กองที่ชนะตลาดได้) อาจเรียกได้ว่ามันเป็นแค่ความ “บังเอิญ” เท่านั้น[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 398.]

(II) Peter Lynch ผู้จัดการกองทุนคนดังได้อธิบายอย่างเห็นภาพว่า นักลงทุนมักจะชอบดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวม โดยเฉพาะการดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนรวมที่สูงสุดของปีที่แล้วหรือหนึ่งปีย้อนหลัง แล้วก็ทำการซื้อกองทุนรวมดังกล่าว การกระทำเช่นนี้ไม่ฉลาดเลย (foolish) เพราะโดยปกติการได้ที่หนึ่งมักจะมาจากการลงทุนในหุ้นหรืออุตสาหกรรมร้อนแรง และบางทีอาจจะเป็นแค่ความโชคดีซะมากกว่า[1. Peter Lynch and John Rothchild, Beating the Street, revised ed. (New York: Simon & Schuster, 1994), 68.]

(III) Richard A. Ferri เตือนว่า ผลตอบแทนย้อนหลังไม่สามารถนำมาใช้ในการเลือกกองทุนรวมที่จะเป็นผู้ชนะในอนาคต มันเป็นวิธีที่ไม่อาจเชื่อถือได้ แต่อย่างไรก็ดี วงการกองทุนรวมกับนักลงทุนก็ยังคงเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่านี้[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 27.] และยังพยายามจะเลือกกองทุนโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งเหลวไหล (pure nonsense)[1. ibid., 26.]

(IV) John C. Bogle ให้ข้อสังเกตว่า การดูผลตอบแทนที่ผ่านมาของกองทุนรวมแล้วเอามาใช้เลือกกองทุนเป็นวิธีที่ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า คุณจะได้เจอกองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดในอนาคต สำหรับผลตอบแทน(ย้อนหลัง)แล้ว อดีตไม่อาจบอกอนาคตได้เลย[1. John C. Bogle, The Little Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 87.]

ดูเหมือนทุกคนที่ยกมาจะเห็นตรงกันนะครับว่า ผลตอบแทนในอดีตนั้นไม่อาจบอกได้ถึงผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวม และวิธีเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะเป็นวิธีที่เชื่อถือไม่ได้และเสียเวลา

The past performance is not a good predictor of future returns.

3. เจาะลึกประเด็นเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง

ในหัวข้อนี้เราจะลงไปศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผลตอบแทนในอดีตกัน เพราะน่าจะมีหลายคนสงสัยว่า ถ้าวิธีนี้ไม่ดี มันไม่ดีเพราะอะไร ไม่ดียังไง แล้วเราจะใช้วิธีไหนในการเลือกกองทุนรวมกันล่ะ?

I. โฆษณาผลตอบแทนกองทุนรวม

ประเด็นแรกที่เราจะเริ่มกันก็คือ ในหมู่นักวางแผนการเงินหรือผู้แนะนำการลงทุนมักจะเลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมที่ผ่านมาให้ท่าน หรือสื่อทางการเงินต่าง ๆ อันรวมไปถึงบลจ.เองก็ตาม มักจะอ้างกองทุนอันดับหนึ่งหรืออันดับต้นขึ้นมาแสดงให้ท่านดู หากแต่ข้อมูลเหล่านี้นั้น อาจเป็นการโฆษณาระยะสั้นที่มักจะเลือกบางช่วงเวลาสำหรับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลัง หรือเลือกชนิดและจำนวนกองโดยเฉพาะและใช้กองทุนจำนวนน้อย หรือตัดอะไรบางอย่างทิ้งไป[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 398-399; see also Ferri, All About Index Funds, 26.] ด้วยเหตุนี้ ถ้าเกิดผลตอบแทนช่วงนี้ของกองทุนดี หรือพอดูผลตอบแทนของกองทุนของบลจ.นั้นเป็นช่วงที่ผลตอบแทนสูงจนชนะกองทุนของเจ้าอื่น ๆ เหล่าบลจ.และกองทุนทั้งหลายย่อมไม่พลาดโอกาสในการโฆษณาอยู่แล้ว

ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนที่พยายามเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนที่ผ่านมาอันเป็นวิธีที่ไม่ทำให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนและเปล่าประโยชน์ จะยิ่งทำลายความมั่งคั่งของตนเองทิ้งเข้าไปอีก ถ้าเกิดพยายามสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายกองทุนเป็นว่าเล่น[1. Lynch and Rothchild, Beating the street, 81; see also Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 90.] เช่น ขายกองทุนเดิมทิ้งไปลงทุนกองทุนใหม่ที่ได้ที่หนึ่งโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลังที่ถูกประกาศหรือโฆษณา

Peter Lynch เห็นว่า การพยายามนั่งไล่ดูผลตอบแทนย้อนหลัง และการที่บุคลากรในวงการเงินและสื่อต่าง ๆ นั่งรวบรวมผู้ชนะในอดีต แม้มันจะดูเป็นงานอดิเรกของวงการกองทุนรวมและนักลงทุน มีหนังสือ มีบทความมากมายเขียนขึ้นเพื่อสิ่งนี้ แต่นั่นล่ะมันเป็นเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์หรือเสียเวลา[1. Lynch and Rothchild, Beating the street, 68.] ซึ่ง Ferri ก็ได้เตือนด้วยว่า ไม่ว่าบลจ.หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะสาธยายเรื่องผลตอบแทนในอดีตหรือจะทำนายว่ากองทุนไหนจะเป็นผู้ชนะในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างจะไม่สำคัญและไร้ประโยชน์ครับ (irrelevant and useless)[1. Ferri, All About Index Funds, 26-27.]

IIกองทุนมีสัญลักษณ์และรางวัล

บางกองทุนรวมได้รับการจัดอันดับหรือในบางครั้งมีการติดดาว อันบลจ.หรือฝ่ายขายก็จะทำการแปะติดดาวป่าวประกาศ ยิ่งมี 5 ดาว สื่อและโฆษณาจะถูกประทับตราแปะบนโบว์ชัวร์หรือเอกสารประกอบการขาย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะเชื่อว่าการได้ดาวระดับดีเลิศครบ 5 ดาวย่อมเป็นการรับประกันว่ากองทุนนี้จะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไปด้วย

เปล่าเลยครับ…

แม้กระทั่งระบบดาวของ Morningstar ก็ไม่อาจทำนายผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 39.] กองทุนที่เคยได้ดาวน้อยในอดีตก็อาจจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในอนาคต และกองทุนที่ได้ดาวมากในปัจจุบันก็อาจทำผลตอบแทนได้แย่ในเวลาต่อมา ต้องอย่าลืมการจัดอันดับหรือการติดดาว ข้อมูลที่ใช้ต้องมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นเรื่องของผลตอบแทนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไป ๆ มาๆ กลับเพิ่มความเสี่ยงบางอย่างขึ้นมาแทน[1. Charles D. Ellis, Winning the Loser’s Game: Timeless Strategies for Successful Investing, 6th ed. (New York: McGraw-Hill Education, 2013) 126.]

โดย Malkiel อธิบายว่า ระบบดาวไม่อาจรับประกันผลตอบแทนที่เหนือกว่าในอนาคต ไม่รับประกันว่าผลตอบแทนนั้นจะต่อเนื่อง และในอดีตกองทุน 5 ดาวก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่ากองทุน 2-3 ดาวในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้ Malkiel จึงเสนอว่า นักลงทุนที่ชาญฉลาดควรจะมองทะลุผ่านดาวเหล่านี้ไปซะ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 401.] คล้ายกับความคิดของ John Bogle ที่ว่า ระบบดาวอิงอยู่กับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอดีตหรือช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น มันจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน (favor) กองทุนที่ร้อนแรง ความนิยมชั่วขณะหนึ่ง(ของตลาด) หรือแฟชั่นกองทุนที่เปลี่ยนแปลงได้ และกองทุน 5 ดาวหลายครั้งก็ลดลงไปสู่ 1-2 ดาวได้ในระยะเวลาไม่นาน[1. John C. Bogle, Bogle On Mutual Funds: New Perspectives For The Intelligent Investor (Hoboken: Wiley, 2014), 158.]

อนึ่ง แม้จะมีบทความที่เสนอว่าดาวอาจใช้ในการชี้วัดผลการดำเนินงานในอนาคตได้ หากแต่ข้อสรุปนี้ยังถูกอภิปรายถกเถียงโต้แย้งอยู่ว่ามันมีข้อสังเกตบางอย่างที่ต้องพิจารณา และ งานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องระบบการให้ดาว ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่ผู้จัดการกองทุนจะทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดตลอดเวลา และมันไม่เกี่ยวข้องเลยกับผลตอบแทนในอดีตที่พวกเขาทำได้ด้วย

ถ้าหากนักลงทุนต้องการตัวแปรที่จะช่วยในการทำนายผลตอบแทนที่ดีในอนาคต แม้ระบบดาวจะไม่สามารถช่วยได้หากแต่ “อัตราส่วนค่าใช้จ่าย” ของกองทุนรวมกลับเป็นสิ่งที่ใช้ทำนายได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 142.] ยิ่งค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับต่ำยิ่งทำนายได้ว่ากองทุนรวมนั้นจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงในอนาคต

พูดถึงประเด็นนี้ ผมนึกถึงสมัยผมเข้ามาเริ่มลงทุนและทำการศึกษาเรื่องกองทุนรวมประมาณปี 2012 ผมค่อนข้างจะตื่นตาตื่นใจกับการที่กองทุนรวมได้ 5 ดาวมาก ๆ แต่สักพักผมก็มีเรื่องให้ฉุกคิดบางอย่างกับระบบดาว ถ้าท่านจำได้ช่วงที่ราคาทองคำร้อนแรงให้ผลตอบแทนดี ผมที่นั่งเรียงลำดับดาวดูก็จะพบว่า กองทุนที่ได้ 5 ดาวจำนวนมาก คือ กองทุนรวมทองคำ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทุนหุ้นต่าง ๆ กลับได้จำนวนดาวต่ำลงไป เพราะช่วงปลายปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ช่วงนั้นตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนต่ำ กองทุนหุ้นจึงทำผลตอบแทนได้ไม่ดี

ข้อฉุกคิดข้างบนจึงเป็นครั้งแรกที่ผมสงสัยว่า การอ้างอิงดาวในการลงทุนน่าจะมีปัญหาบางประการ และเมื่อผ่านมาหลายปี ผมก็ไม่ได้สนใจระบบดาวอีกเลย เพราะกองทุนที่รู้จักก็สับเปลี่ยนหมุนเวียนวนดาวไปมา 2 ดาวบ้าง 5 ดาวบ้าง และในประเด็นนี้ John Bogle ก็ได้ยกตัวอย่างสอดคล้องว่าในอเมริกาก็เคยเกิดปัญหา เพราะบางช่วงเวลา กลุ่มอุตสาหกรรมหรือหุ้นบางประเทศทำผลตอบแทนได้สูง กองทุนที่ร้อนแรงในประเภทสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะได้ดาวเยอะขึ้นมา เช่น กองทุนหุ้นต่างประเทศในช่วงปลายของ 1980s หรือกองทุนหุ้นสุขภาพ (health care funds) ในช่วงต้นของยุค 1990s[1. Bogle, Bogle On Mutual Funds, 158.] ซึ่งความนิยมในกองทุนหุ้นสุขภาพเพราะมีผลตอบแทนย้อนหลังดีในบางช่วงเวลาก็คล้ายคลึงกับในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทุนก็ได้ 5 ดาวกันไป จนทำให้บลจ.ต่าง ๆ เข็นกองทุนหุ้นสุขภาพออกมาขายกันเต็มไปหมด

ข้างบนนี้ก็เป็นข้อสังเกตหนึ่งว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมมักจะชอบเลียนแบบหรือแห่ตามกันในการขายกองทุนอะไรสักอย่าง และการขายกองทุนประเภทนั้น ๆ มักจะมาในช่วงที่สินทรัพย์ดังกล่าวหรือประเภทของหุ้นหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ ทำผลตอบแทนย้อนหลังได้ดีร้อนแรงจนประจักษ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันง่ายต่อการขายเพราะมีผลตอบแทนล่าสุดเป็นตัวสนับสนุน และนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ชอบแห่ตามซื้อกองทุนที่ร้อนแรงอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นในช่วงที่ผ่านมา สำหรับความนิยมไล่ซื้อกองทุนออกใหม่และพฤติกรรมแห่ตามขายกองทุนยอดฮิตของอุตสาหกรรมกองทุนรวม เช่น กองทุนหุ้นสุขภาพ กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจผู้สูงอายุ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น (ซึ่งขายหลังจากที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร้อนแรงปรับตัวขึ้นมามาก) กองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก (Mid-Small cap) ฯลฯ

IIIทำไมอดีตไม่อาจทำนายอนาคต

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้ คำตอบของเรื่องนี้ คือ

(1) วิธีการลงทุนของกองทุนบริหารจัดการหรือผู้จัดการกองทุนหรือของบลจ.นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม หรือไม่เปลี่ยนไปแต่เป็นวิธีที่ไม่อาจให้ผลตอบแทนดีเหมือนเดิมได้อีกแล้ว เช่น กองทุนบริหารจัดการนี้เคยใช้วิธีลงทุนในหุ้นที่มีสินทรัพย์มาก (asset-play) แต่ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงเวลานี้ หรือ จากเดิมกองทุนนิยมลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลมาก ก็เปลี่ยนมาลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลน้อยแต่เน้นเติบโต (อาจเรียกว่าเป็นกรณี Style Drift)

(2) ผู้จัดการกองทุนหรือบลจ.เดิมไม่ได้บริหารกองทุนรวมนั้นแล้ว นี่ก็พบได้ว่ากองทุนรวมนั้นอาจมีผู้จัดการกองทุนใหม่ หรือผู้จัดการกองทุนเก่าลาออก หรือกลุ่มผู้จัดการและคณะกรรมการลงทุนเปลี่ยนชุด หรือบลจ.ถูกควบรวมกิจการทำให้ต้องมีการโยกย้ายกลุ่มผู้จัดการกองทุนเป็นชุดใหม่

(3) กองทุนนั้นมีจำนวนทรัพย์สินที่มากขึ้นทำให้ยากแก่การบริหารจัดการ สำหรับกรณีที่กองทุนนั้นเคยมีขนาดเล็กมาก่อน เช่น เดิมกองทุนมีสินทรัพย์ขนาด 1,000 ล้านบาท พอกองทุนได้รับความสนใจก็มีเงินกลายเป็น 10,000 ล้านบาท ทำให้การซื้อหุ้นขนาดเล็กทำได้ค่อนข้างยาก หรือการซื้อหุ้นบางอย่างติดข้อจำกัดเรื่องต่าง ๆ เช่น สภาพคล่อง หรือสัดส่วนในการลงทุนไปติดข้อกฎหมาย

(4) เป็นแค่เรื่องโชคดีหรือกองทุนซื้อหุ้นถูกตัวชั่วครั้งชั่วคราว 😅

แล้วมีอะไรที่ทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้ดี หรือสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมหรือไม่?

คำตอบคือมีครับ สิ่งนั้นก็คือ “ค่าใช้จ่าย(Costs) นั่นเอง

สิ่งที่ค้นพบกันในวงการการเงินก็คือ ยิ่งกองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่มันจะให้ผลตอบแทนดีในระยะยาวและเป็นผู้ชนะย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย[1. Ferri, All About Index Funds, 26.] ตัวแปรหลักที่จะทำนายผลการดำเนินงานในอนาคตจึงได้แก่สัดส่วนค่าใช้จ่ายและอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ ที่ยิ่งมีค่ามากเท่าไหร่ ผลตอบแทนในอนาคตก็ลดฮวบฮาบลงไปเรื่อย ๆ[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 401.]

4. ย้อนดูกองทุนรวมหุ้นไทย

ผมได้เคยทำบทความเกี่ยวกับผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมหุ้นไทยไว้หลายบทความ และแนวโน้มก็คล้ายกันว่า ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมไม่บ่งบอกอนาคตที่นักลงทุนจะได้ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกลงทุนในกองทุนแบบบริหารจัดการมีผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้น (Actively Managed Funds) ไม่สามารถทำผลตอบแทนเหนือกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยรวม เช่น บทความเรื่อง ผลตอบแทนของ RMF ในอดีต หรือ ผลตอบแทน LTF ในอดีตไม่อาจบอกอนาคตได้ หรือ ผลตอบแทนกองทุนระหว่างปี 49-58 หรือ RMF กองไหนดี?

หากแต่ในบทความนี้ เราจะมาดูประเด็นเรื่อง การเลือกผู้ชนะโดยดูจากผลตอบแทนย้อนหลัง และนักลงทุนหวังในใจว่ากองทุนเหล่านี้จะยังเป็นผู้ชนะในอนาคตเช่นเดิม มาดูกันว่ามันจะเป็นหวังที่ลม ๆ แล้ง ๆ หรือไม่

ผมมีข้อมูลช่วงปี 2010-2017 ของกองทุนรวมหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 5 ลำดับแรกของแต่ละปี (เป็นข้อมูลในมือที่สามารถหาได้ ณ ตอนทำบทความนี้) และกองทุนเหล่านี้เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย โดยรวมไว้ทั้งกองทุนปกติและกองทุนที่มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่าง LTF RMF ซึ่งผมคิดว่ามันควรถูกจับมายำรวมกัน เพราะถ้ากองทุนบริหารจัดการ (actively managed funds) เหล่านี้มีนโยบายเช่นเดียวกันว่า มันจะต้องทำผลตอบแทนได้ชนะผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย

ดังนั้น มันไม่ควรจะมีข้ออ้างว่าจะต้องมาแยกว่าฉันเป็นกองทุนรวมทั่วไป หรือฉันลดหย่อนภาษีได้แบบ LTF หรือ RMF ถ้ามันลงทุนในหุ้นไทยเหมือน ๆ กัน ที่สำคัญเวลานักลงทุนทุกคนเลือกซื้อกองทุนพวกนี้ก็ย่อมต้องหวังว่ามันจะให้ผลตอบแทนสูดสุดอยู่แล้ว และผลก็ปรากฏดังรูปด้านล่างครับ

RANK1

จากรูปท่านจะเห็นได้ว่า ประการแรก กองทุนหุ้นไทยที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดอันดับ 1 และ 2 ในแต่ละปี ช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ซ้ำหน้ากันเลย และประการที่สอง ท่านที่ซื้อกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด 5 ลำดับแรกในปี 2010 ท่านจะพบว่า ใน 7 ปีต่อมา กองทุนเหล่านั้นไม่ติด 5 ลำดับแรกเลยสักปี! ประการสุดท้าย แม้มันจะมีกองทุนที่ยังติดโผอยู่บ้าง แต่ว่าในอนาคตมันจะติดโผอยู่หรือไม่? เขียนมาถึงตรงนี้ท่านยังเชื่ออยู่หรือเกี่ยวกับการดูผลตอบแทนย้อนหลัง

พาทัวร์อีกรอบหนึ่ง คราวนี้มาถึงกองทุนยอดฮิตอย่าง LTF กล้าทายได้เลยว่า ส่วนหนึ่งของท่านที่อ่านบทความนี้ ตอนซื้อกองทุน LTF โดยเฉพาะท่านที่ซื้อเพียงเพื่อลดหย่อนภาษี ท่านก็จะมองหากองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 🧐 โดยเปิดดูสัปดาห์ท้าย ๆ ของเดือนธันวาคมที่กำลังจะหมดเวลาซื้อ LTF

ลองมาดูข้อมูลปี 2007-2017 ข้างล่างนี้กัน แล้วเราจะเห็นอะไรที่น่าสนใจ

RANKLTF

เห็นอะไรไหมครับ ก็เหมือนเดิมกับรูปก่อนหน้า กองทุนที่ได้ลำดับที่ 1 ในแต่ละปีแทบจะไม่ซ้ำหน้ากันเลย และน่าสนใจตรงที่คนที่ซื้อกองทุนโดยดูผลตอบแทนรวมสูงสุดของปี 2007 จะพบใน 10 ปีต่อมาว่า กองทุนที่ท่านซื้อมานั้นแทบจะไม่ติด 5 ลำดับแรกในแต่ละปีของ 10 ปีต่อมาเลยสักกองทุนเดียว

งานวิจัยทางวิชาการของไทยก็ให้ผลไปในทางเดียวกันว่า กลยุทธ์ที่ซื้อกองทุน LTF หรือ RMF จากผลตอบแทนที่ดีในอดีตไม่อาจชี้วัดได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนดีในอนาคต และยังพบอีกว่า กองทุนรวมเหล่านี้ทำผลตอบแทนสุทธิ (net returns) ได้ต่ำกว่าผลตอบแทนรวมเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์โดยห่างและต่ำกว่า 2-3% ต่อปี[1. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์, “ผลตอบแทนและความต่อเนื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่มีนโยบายเชิงรุก,” วารสารบริหารธุรกิจ นิด้า 22 (พฤษภาคม 2561): 61.]

แล้วจะทำอย่างไรดีในการเลือกกองทุนรวม ในเมื่อมันดูผลตอบแทนที่ผ่านมาแล้วเสียเวลา?

คำตอบง่ายมาก คือ ทำใจ! ครับ และยอมรับว่า ผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมไม่สามารถทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้ การเลือกกองทุนรวมโดยดูผลตอบแทนย้อนหลังเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพเลย[1. John C. Bogle, John Bogle on Investing: The First 50 Years (Hoboken: Wiley, 2015), 121.]

5. บทสรุปเกี่ยวกับ ผลตอบแทนย้อนหลัง ของกองทุนรวม

ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนในช่วงเวลาหนึ่งกับผลตอบแทนในช่วงเวลาถัดไป เป็นการยากมากที่นักลงทุนจะมีเครื่องรับประกันว่านักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตโดยใช้วิธีลงทุนในกองทุนที่มีผลตอบแทนดีในช่วงที่ผ่านมา คุณไม่อาจจะเอาชนะตลาดได้สม่ำเสมอจากการซื้อกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดได้ เพราะว่า อดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้ในวงการกองทุนรวม[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 399.]

ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายผู้ชนะในอนาคต คือ การดูจาก “ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม“[1. Mel Lindauer, Taylor Larimore, and Michael LeBoeuf, The Bogleheads’ Guide to Investing, 2nd ed. (Hoboken: Wiley, 2014), 116] เพราะค่าใช้จ่ายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลตอบแทนที่นักลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับ ยิ่งนักลงทุนเสียค่าใช้จ่ายกองทุนรวมมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับก็จะลดลงไป[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 88.] และในทางกลับกัน ยิ่งจ่ายน้อยเท่าไหร่ อนาคตที่กองทุนรวมนั้นจะทำผลตอบแทนได้ดีก็ยิ่งมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่แล้วกูรูในวงการการเงินจึงมักจะแนะนำ “กองทุนดัชนี” เป็นเครื่องมือหลักในการลงทุน โดยให้นักลงทุน ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ (low-cost index funds)

โดยสาเหตุก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายที่ต่ำจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในอนาคตที่สูงขึ้น[1. ibid., 87.] และการลงทุนกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำก็เพิ่มโอกาสในระยะยาวที่นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนรวมเท่ากับตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุนบริหารจัดการแบบ Actively Managed Funds เพราะกองทุนบริหารส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้น

ตัวอย่างของผู้ที่แนะนำเช่นนี้ เช่น Ferri ผู้เสนอว่า อย่าเสียเวลาไปกับการเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนในอดีตเลย การลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ามาก[1. Ferri, All About Index Funds, 27.] หรือ Malkiel กับ Ellis ที่เห็นว่า การลงทุนในกองทุนดัชนีแบบ broad-based index ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอนาคต[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 91.] หรือ John Bogle ที่เห็นว่า กองทุนรวมที่ชนะตลาดในระยะยาวถือว่าเป็นข้อยกเว้นในอุตสาหกรรมกองทุนรวม เพราะฉะนั้นแทนที่จะมัวหาเข็มในกองฟาง (กองทุนผู้ชนะ) การซื้อทั้งกองฟาง (กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ) น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า [1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 86.]

แม้กระทั่งบทความของ Russell Kinnel ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Morningstar เองยังเสนอแนะว่า ในโลกของกองทุนรวมนั้น ตัวเลขของค่าใช้จ่าย (expense ratio) ดูจะเป็นสิ่งเดียวในโลกกองทุนรวมที่ช่วยในการตัดสินใจได้ กองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ในทุกกองทุนแบ่งตามประเภทสินทรัพย์ และในทุกช่วงเวลา สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ

โดยสรุปจึงเห็นได้ว่า การลงทุนในกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนย้อนหลังสูงหรือกองทุนอันดับหนึ่งเป็นวิธีที่ไม่อาจทำนายได้เลยว่าท่านจะได้ผลตอบแทนสูงในอนาคตเช่นเดิมหรือไม่ และส่วนใหญ่คำตอบจะกลายเป็นว่า “ไม่” ซึ่งการยอมรับว่า การมานั่งดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์และเสียเวลา นักลงทุนจะหลุดพ้นจากความเชื่อกระแสหลักในวงการลงทุน หลุดพ้นจากสื่อและการโหมกระหน่ำโชว์โฆษณาผลตอบแทนในอดีต หลุดพ้นจากการผลาญเวลางมหาผู้ชนะ และสามารถนำเวลาไปทำอะไรที่มันมีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้

ส่วนวิธีการเลือกกองทุนรวมที่น่าเชื่อถือและมีงานทางวิชาการสนับสนุนก็คือ การเลือกกองทุนจากอัตราส่วนค่าใช้จ่าย และเนื่องด้วยกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำโดยปกติมักจะเป็นกองทุนดัชนี ดังนั้น การลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ หรืออย่างน้อยลงทุนในกองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ กองทุนพวกนี้นี่ล่ะที่จะสร้างโอกาสที่ทำให้ท่านได้ผลตอบแทนที่สูงในอนาคตครับ

บทความแนะนำอื่นที่ควรอ่านต่อ

(1) ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม

(2) ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายต่อนักลงทุน

(3) กองทุนดัชนีคืออะไร

(4) กองทุนดัชนีในประเทศไทย

(5) กฎของการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย

SET SET50 SET100 ลงทุนดัชนีอะไรดี?

คำถาม: กองทุนดัชนีนั้นควรจะลงทุนในกองทุนดัชนีที่เลียนแบบดัชนี SET Index หรือตัวอื่น ๆ ดี?

ปัญหาที่ว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีไหน? เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิต ซึ่งขออธิบายเริ่มต้นให้เข้าใจก่อนว่า คำแนะนำจากหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนเชิงรับ (passive investment) หรือตำราที่มีคำแนะนำเน้นให้เราลงทุนกองทุนดัชนีมักจะเขียนไว้ว่า (ถ้าเป็นไปได้) นักลงทุนควรลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) ที่มีการลงทุนครอบคลุมที่สุดในลักษณะเป็น Broad-Based Index

1. Broad-Based คืออะไร?

ถ้าจะอธิบายกระชับ ๆ เรื่อง Broad-Based Index ก็คือ เราควรจะลงทุนกองทุนที่มันเลียนแบบดัชนีหุ้นทั้งหมดให้ได้เกือบ 100% ผมยกตัวอย่างดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นสามัญประมาณ 500-600 บริษัท ถ้ากองทุนดัชนีที่เป็นแบบ broad-based กระจายฐานกว้างก็จะต้องลงทุนให้ครบทั้งห้าร้อยหกร้อยหุ้นเหล่านั้น

ประโยชน์ที่สำคัญจากการลงทุนแบบนี้ก็คือ ถ้าลงทุนในกองทุนดัชนีที่ broad-based กระจายฐานกว้างสุด คุณก็จะได้ลงทุนเลียนแบบล้อไปกับตลาดหุ้นจริง ๆ และได้ลงทุนครบทุกหมวดอุตสาหกรรมของดัชนีนั้น ในภาพใหญ่ก็คือการลงทุนในบริษัทที่ผลักดันเศรษฐกิจของดัชนีหรือก็คือเหล่าบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั่นเอง[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 2.] และในกรณีที่ค่าใช้จ่ายกองทุนต่ำมาก ผลตอบแทนที่คุณได้รับในอนาคตก็จะใกล้เคียงสุด ๆ กับผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นอย่างแท้จริง

หากแต่มันมีสิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบเพิ่มเติม เพราะการจะลงทุนเลียนแบบดัชนีทั้งหมด เช่น สมมติต้องการจะลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ได้เป๊ะ ๆ ลองนึกภาพกองทุนที่จะต้องลงทุนทุกบริษัทหรือลงทุนให้ครบทั้ง 500-600 หุ้น มันก็จะเกิดความลำบากขึ้นมานิดหน่อย  เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีหรือวิธีการลงทุนที่ทำให้สามารถเลียนแบบใกล้เคียงกับดัชนีได้ เช่น การใช้โปรแกรมที่สามารถคำนวณปรับน้ำหนักหุ้นที่ซื้อเข้ากองทุนรวมให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ต้องการจะเลียนแบบโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อหุ้นครบทุกตัว หรือการใช้ตราสารอนุพันธ์ (derivatives) ช่วยในการปรับพอร์ตลงทุน

เนื่องจากถ้าจะลงทุนให้ครบหลักทรัพย์หรือหุ้นทุกตัวที่ประกอบกันเป็นดัชนีดังกล่าว บางทีมันอาจเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ครับ ด้วยเหตุผลที่ว่า หุ้นบริษัทขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งมีสภาพคล่องต่ำหรือแทบจะไม่มีการซื้อขาย (ไม่มีคนซื้อขายเป็นเวลาหลายวัน) ปัญหาเหล่านี้ย่อมจะส่งผลทำให้กองทุนดัชนีไม่อาจจะซื้อหุ้นทั้งดัชนีที่มันเลียนแบบให้ครบทุกตัวเป๊ะ ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ในบางครั้ง กองทุนดัชนีที่เลียนแบบทั้งตลาดอาจจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงมากจนเกินไปถ้ากองทุนนั้นพยายามจะลงทุนหุ้นให้ครบทุกตัว ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุด ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับย่อมจะต้องถ่างออกไปอย่างมากจาก ผลตอบแทนรวมของดัชนี (Total Return) เพราะผลตอบแทนที่จะได้รับสุทธิจะต้องหักค่าใช้จ่ายกองทุนออกไปก่อน

ต้องหมายเหตุนิดนึงว่า กองทุนดัชนีไม่จำเป็นต้องลงทุนหุ้นครบทุกตัวตามดัชนีก็ได้ หากสามารถลงทุนเลียนแบบผลตอบแทนได้เท่ากับดัชนีนั้น (โดยทั่วไปจะต้องมีข้อยกเว้นระบุในหนังสือชี้ชวนและทำตามนั้นจริง) ซึ่งกองทุนสามารถกระทำได้โดยการใช้โปรแกรมคำนวณสัดส่วนการลงทุน หรือ ใช้วิธีอื่นใดที่ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนครบหุ้นทุกตัว โดยกองทุนดัชนีอาจใช้วิธีลงทุนได้หลากหลายแบบ คือ

(1) Full Replication คือ ลงทุนหุ้นครบทุกตัวที่ประกอบเป็นดัชนีนั้น

(2) Optimization ซึ่งเป็นวิธีที่จะลงทุนไม่ครบทุกหลักทรัพย์ แต่ทำการคัดเลือกและปรับน้ำหนักลงทุนให้สะท้อนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีนั้นที่สุด (มี tracking error ต่ำที่สุด) ซึ่งมักจะใช้กับดัชนีที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในการซื้อหุ้นให้ครบทุกตัว

(3) Cash Equitization อันนี้เป็นวิธีบริหารจัดการเงินสดของกองทุน โดยลงทุนแบบถือเงินสดในบางช่วงขณะและไม่ทำการเข้าซื้อหุ้นโดยตรง แแต่อาจใช้การซื้อตราสารอนุพันธ์ในลักษณะซื้อ Long position เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำและผลตอบแทนใกล้เคียงเสมือนกับการได้ซื้อหุ้นจริง

นอกจากนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเภทของดัชนี (Index) ที่เลียนแบบหุ้นไม่ครบทั้งตลาดหุ้น ผลตอบแทนก็ย่อมไม่เท่ากับดัชนีใหญ่ที่เลียนแบบหุ้นทั้งตลาดนั้น เช่น ดัชนี SET50 เลียนแบบลงทุนในหุ้นที่มีขนาดมูลค่าตลาด (Market Capitalization or market cap) ประมาณ 70-75% ของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ในระยะสั้นนั้นจึงอาจจะมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะหุ้น 50 ตัวดังกล่าวเป็นหุ้นใหญ่ (Large-cap stocks) ขาดสัดส่วนของผลตอบแทนจากหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Mid-cap and Small-cap stocks) ซึ่งมีจำนวนที่เหลืออีก 500 กว่าตัว (แต่มีมูลค่าตลาดรวมกันแค่ 25-30% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์)

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของการลงทุนกองทุนดัชนีที่มีลักษณะกระจายความเสี่ยงสูงแบบ Broad-based พวกเรานักลงทุนจะต้องดูเรื่องของค่าใช้จ่ายกองทุนประกอบด้วย! เนื่องจากผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ได้รับอาจถูกทำลายทิ้งได้ง่ายดายจากค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมที่สูงปรี๊ดครับ

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีไหนก็ตาม ถ้าค่าใช้จ่ายมหาศาล มันก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่ดีได้

อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ผลตอบแทนในระยะยาวของดัชนีพวกที่เลียนแบบไม่ครบทั้งตลาดหุ้นนี้ แม้จะมีความต่างจากตัวดัชนีใหญ่ แต่ในระยะยาวก็จะมีความใกล้เคียงกันของผลตอบแทนระดับหนึ่ง ถ้าวัดเฉพาะผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายนะครับ (gross returns) อารมณ์คล้ายกับดัชนีตลาดหุ้นอเมริกานั่นล่ะ

หากแต่โดยทั่วไปแล้ว หุ้นขนาดเล็กมักจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น ดัชนีที่ทำการเลียนแบบลงทุนหุ้นทั้งตลาด (total stock market) ซึ่งจะต้องมีการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กร่วมด้วย จึงมีโอกาสในระยะยาว (มาก ๆ) ที่จะมีผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีหุ้นที่เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว เช่น ดัชนี SET50 หรือดัชนี S&P500

2. เดินชมกองทุนดัชนีในตลาดหุ้นสหรัฐ

โดยดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นดัชนีที่เป็นที่นิยมที่สุดในการเลียนแบบผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐ และมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุน กองทุนดัชนีที่เป็นที่นิยมและมีเม็ดเงินลงทุนสูงจึงมักจะเป็นกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 เช่นเดียวกันกับกองทุน ETF ที่ได้รับความนิยมก็คือ กองทุน ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 อย่าง SPDR S&P500 ETF (SPY) ซึ่งมีขนาดทรัพย์สินสุทธิ (AUM) สูงสุดและมีปริมาณ Volume ซื้อขายสูงสุด หากแต่ดัชนี S&P500 โดยปกติมักจะเลียนแบบหรือเป็นตัวแทนได้เท่ากับ 75% (สามในสี่) ของมูลค่าตลาดของหุ้นสามัญทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 386.] (หรือบางช่วงก็สูงถึง 80%)[1.John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 24.]

ถ้าอยากจะลงทุนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเกือบเท่าตลาดหุ้นอเมริกาทั้งหมดจริง ๆ ต้องลงทุนในกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี Wilshire5000 หรือ Russell 3000 Index (98% ของตลาด) หรือ CRSP Index หรือ MSCI U.S. Broad Market Index ซึ่งกองทุนรวมทั่วไป (mutual funds) ที่มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) สูงที่สุดอย่าง Vanguard Total Stock Market ก็ลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทั้งตลาดครับ โดยกองทุนนี้เลียนแบบดัชนี the CRSP U.S. Total Market Index หากแต่กองทุนรวมทั่วไปที่มีขนาด AUM รองลงมาก็ยังเป็น Vanguard S&P500 อยู่ดีครับ

ส่วนเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนเปรียบเทียบระหว่างดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดกับดัชนี S&P500  ถ้าลองดูกองทุน Vanguard 500 Index Fund Admiral Shares (VFIAX) ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี S&P500 ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 10.16% ต่อปี ส่วน Vanguard Total Stock Market Index Fund Admiral Shares (VTSAX) ที่เลียนแบบทั้งตลาดหุ้นอเมริกาให้ผลตอบแทน 10.33% ต่อปี ในขณะที่ถ้าย้อนไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2000 กองแรกให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.10% ส่วนกองอันหลัง 6.69% ต่อปี ตามรูปด้านล่างนี้ครับ

vannnnnnnn

ดังนั้น กองทุนดัชนีที่อาจจะเลียนแบบไม่ครบหุ้นทั้งตลาด แต่เป็นการลงทุนในดัชนีที่เลียนแบบใกล้เคียงผลตอบแทนทั้งหมดของตลาดก็อาจจะใช้แทนกันได้ ถ้าเกิดว่าค่าใช้จ่ายเทียบแล้วต่ำกว่ามาก แต่หากค่าใช้จ่ายทั้งหมดพอกัน ก็จะมีประเด็นบางอย่างให้พิจารณาต่อในหัวข้อที่ 4.

3. กลับมาดู SET ชมตลาดหุ้นไทย

เห็นตัวเลขของตลาดหุ้นสหรัฐแล้ว เรามาลองทำวิจัยเพื่อดูผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยกันบ้าง เนื่องจากข้อมูลผลตอบแทนรวมดัชนี SET100 (Total Return: TR) เริ่มถูกจัดทำ ณ วันที่ 29/04/2005 เราจึงลองคำนวณผลตอบแทนทั้ง 3 ดัชนี เริ่มจากวันดังกล่าวจนถึงข้อมูลสุดท้ายวันที่ทำบทความนี้คือ 05/07/2018  โดยสมมติว่าเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 100 บาท ณ วันที่ 29/04/2005 ก็จะได้ผลตามรูปด้านล่าง

set29405-5718

จากรูปนั้นจะเห็นได้ว่า เงิน 100 บาทที่ลงทุนในทั้ง 3 ดัชนี ได้ผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว (29/04/05 – 05/07/18) ระยะเวลาลงทุนประมาณ 13 ปีนิด ๆ เงินใน SET Index กลายเป็น 401.36 บาท SET50 เป็น 375.61 และ SET100 คือ 380.47 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลตอบแทนทั้งตลาดห่างจากผลตอบแทนดัชนีลูกอย่างมีนัยสำคัญ และจากกราฟพบว่า มันมาเบนออกช่วงปี 2012 เป็นต้นมา แต่สำหรับคู่ผลตอบแทน 50 กับ 100 ไม่ต่างกันมาก นั่นหมายถึงในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา ผลตอบแทนส่วนเกินของตลาดหลักทรัพย์ที่ทำได้สูงกว่าย่อมต้องมาจากหุ้นที่อยู่นอกดัชนี SET100 ซึ่งเป็นหุ้นบริษัทขนาดเล็กทั้งหลายนั่นเอง

หากแต่ดังที่เตยได้เขียนบทความเรื่อง การกลับสู่ค่าเฉลี่ย (Reversion to the Mean) เอาไว้ เราจะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า บางทีช่วงระยะเวลาก็หลอกเราได้ ถ้าเราจะเชื่อว่าผลตอบแทนระยะยาวของ SET จะสูงมากกว่า SET50 ตลอดไป บางทีมันก็มีปัญหาในเรื่องของเวลาอ้างอิงที่นำมาอธิบาย

เพราะถ้าย้อนกลับไป ณ วันที่จัดทำผลตอบแทนรวม SET50 คือ 02/01/2002 จนถึงวันล่าสุด 05/07/2018 (ระยะเวลาประมาณ 16 ปี 7 เดือน) เราจะพบความประหลาดใจบางอย่างตามรูปด้านล่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสมมติตัวเลขลงทุนด้วยเงิน 100 บาทเลย เนื่องจากทั้งคู่เริ่มต้นที่ดัชนีผลตอบแทนรวม (TR) ที่ 1000 จุดเท่ากัน และผลปรากฏว่า SET TR กลายเป็น 9890.22 จุด ส่วน SET50 TR กลายเป็น 9852.02 จุด อันเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ บ่งบอกว่าระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น สองดัชนีนี้ก็วิ่งควบกันไปกันมา บางทีมันอาจจะถ่างกันสักพัก แต่ถ้าคุณลงทุนระยะยาว มันก็วิ่งมาหากันในบางเวลาในอนาคต

set020102-050718

อย่างไรก็ตาม นั่นคือ ผลตอบแทนรวมของดัชนีครับ เรามาลองดูผลตอบแทนของกองทุนจริงกันดีกว่า ซึ่งคราวนี้ตัวที่จะทำให้คุณผลตอบแทนถ่างจากดัชนีก็คือ “ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม” นั่นเอง และ ยิ่งค่าใช้จ่ายกองทุนสูงเท่าไหร่มันก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนที่คุณได้รับต่ำลง

นักลงทุนสามารถดูค่าใช้จ่ายกองทุนดัชนีจาก 2 บทความนี้: กองทุนดัชนีในไทย และ กองทุน ETF ในไทย

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มจากวันที่ 02/01/2002 โดย ณ วันดังกล่าวมีกองทุนที่เลียนแบบดัชนีทั้งตลาดอยู่กองเดียว คือ SCBSET ซึ่งมีราคาหน่วย NAV อยู่ที่ 2.7434 และในวันที่ 05/07/2018 มีราคา NAV ที่ 20.1759 นั่นแสดงว่า หากคุณลงทุนด้วยเงิน 1000 บาทในวันดังกล่าวแล้วถือยาวเป็นต้นมา ณ วันที่ 05/07/2018 เงินลงทุนนั้นจะมีมูลค่า 7,354.34 บาท ในขณะที่ TMB50 มีราคาหน่วย ณ วันที่ 02/01/2002 ที่ 10.0476 ส่วนวันล่าสุด 05/07/2018 อยู่ที่ 98.3036 นั่นคือ เงิน 1,000 บาทจะกลายเป็น 9,783.79 บาท

4. ควรลงทุนดัชนี SET แบบไหนดี?

กลับไปสู่คำถามข้างบนสุด ก็คงต้องตอบว่า ไม่มีคำตอบตายตัวให้ครับ 😳 เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมและมุมมองแต่ละด้านของดัชนีต่าง ๆ ทั้งไทยและสหรัฐ เพราะถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเห็นนะครับว่า ในระยะยาวนั้น ผลตอบแทนดัชนีที่เป็นแม่ลูกกันมันก็จะวิ่ง ๆ เคียงคู่กันไปในระยะยาว แต่หากค่าใช้จ่ายที่กองทุนดัชนีเรียกเก็บนั้นสูงเกินไป ผลตอบแทนที่คุณได้รับก็อาจจะหายวับไปเป็นมูลค่าที่เยอะมาก

นักลงทุนหลายท่านก็มีความเห็นแตกต่างกันออกไปเรื่องดัชนี แม้เราจะรู้แล้วว่าดัชนี the S&P500 เป็นดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐที่เลียนแบบหุ้นขนาดใหญ่ (Big-cap) แต่ก็ยังมีนักลงทุนหลายท่านที่แนะนำให้ลงทุนกองทุน S&P500 อยู่ เช่น Warren Buffett

ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนและนักการเงินหลายท่านที่แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีที่เลียนแบบตลาดหุ้นทั้งตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง John Bogle ที่มักจะแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกองทุนที่เลียนแบบดัชนีหุ้นทั้งตลาด (total stock market) เพราะเป็นดัชนีที่จะได้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมดในตลาดหุ้นและจะได้รับผลตอบแทนทั้งหมดที่แท้จริงที่หุ้นทั้งตลาดทำได้[1. ibid., 25.] เนื่องจากได้รวมทุกหุ้นเอาไว้ในตัว ไม่ว่าจะหุ้นขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก

Malkiel และ Ellis ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับ Bogle คือสนับสนุนกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบหุ้นทั้งตลาดเช่นกัน[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 48.] เพราะดัชนีที่ลงทุนหุ้นทั้งตลาดจะทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนดัชนีที่เลียนแบบดัชนีดังกล่าวสามารถทำการลงทุนในหุ้นทั้งตลาดซึ่งรวมไปถึงได้ลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก ที่ในระยะยาวมักจะมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้สูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่[1. Malkiel, A Random Walk down Wall Street, 385.]

หากแต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมของนักลงทุนเหล่านี้ในการแนะนำให้ลงทุนกองทุนดัชนีไม่ว่าจะทั้งตลาดหรือแค่ S&P500 คือ

() ทั้งดัชนีตลาดหุ้นที่ครอบคลุมหุ้นทั้งหมดในตลาด (entire market) หรือครอบคลุมหุ้นส่วนใหญ่อย่าง S&P500 ทั้งคู่เป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนผลตอบแทนในระยะยาวของธุรกิจต่าง ๆ และผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นได้ดีทั้งคู่

() ดัชนีทั้งสองแบบนั้นมีการกระจายการลงทุนที่ดี (well-diversified) เพราะทั้งคู่เป็น broad-based index (หรือเกือบ ๆ broad-based) ทำให้มันมีการกระจายลงทุนหุ้นค่อนข้างครบถ้วน เพราะสิ่งสำคัญคือ นักลงทุนไม่ควรไปมุ่งเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมเพียงอุตสาหกรรมเดียวหรือสองสามอย่าง กองทุนพวกนี้ช่วยลดทอนปัญหาที่นักลงทุนชอบไล่ล่าลงทุนอุตสาหกรรมที่ร้อนแรง ซึ่งประวัติศาสตร์สอนให้รู้ว่า นักลงทุนที่ทำแบบนั้นมักจะได้รับความเจ็บปวดและสูญเสียเงินอย่างนัก ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมน้ำมัน ทองคำ ธุรกิจสุขภาพ การบิน ยานยนต์ รถไฟ ฯลฯ

() ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีในระยะยาว ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ใกล้เคียงตลาดหุ้น จัดว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนถือกองทุนแบบบริหารจัดการคัดเลือกหุ้น (actively managed funds)

() อย่างไรก็ดี ทุกคนมีคำแนะนำร่วมเช่นเดียวกันว่า จะต้องเป็นกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ด้วย! 

ก็คงต้องย้ำปิดท้ายอีกครั้งเหมือนในหลายบทความนะครับ (กาดอกจันแปดดอก) ว่า เราจะต้องไม่ลืมกฎแห่งการลงทุนที่เป็นหัวใจสำคัญที่ว่า

มันไม่ใช่แค่ลงทุนในกองทุนดัชนีอย่างเดียว กองทุนดัชนีนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ (lower or lowest index fund) ด้วย 

เพราะค่าใช้จ่ายนั้นสำคัญมากต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในอนาคต ยิ่งค่าใช้จ่ายมาก ผลตอบแทนในอนาคตที่นักลงทุนจะได้รับย่อมลดน้อยลง

Project “A”

โปรเจกต์ A นี้ผมตั้งชื่อให้เต็ม ๆ ว่า Project “Accumulating Wealth” โดยจะเป็นพอร์ตทดลองวิธีการลงทุนแบบประจำ (regular savings plan) ซึ่งเบื้องหลังแนวคิดที่มาของโปรเจกต์นี้ คือ หลักการคุณค่าสำคัญ (core value) 2 ประการ คือ การลงทุนแบบประจำ (regular investment or DCA) กับ การลงทุนเชิงรับในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ (passive investment + low-cost index) ซึ่งท่านสามารถทำความเข้าใจได้จากบทความต่าง ๆ เหล่านี้ครับ 

START!!

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นซื้อครั้งแรกวันที่ 28/06/2018 จะซื้อปีละ 25,000 บาท โดยจะแบ่งซื้อเดือนละ 2,000 บาท และจะมีหนึ่งเดือนที่ซื้อเพิ่ม 1,000 บาท ซึ่งจะทำการลงทุนเป็นประจำทุกวันที่ 28 ในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ คือ กองทุนทหารไทยเซ็ต 50 (TMBSET50) ไม่มีกำหนดเลิกครับ ลงทุนไปเรื่อย ๆ และจะทำการอัพเดตมูลค่าทุกปีครับ

projecta

 

ETF หรือ Exchange Traded Fund คืออะไร?

กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) หรือ “อีทีเอฟ” เป็นกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษสำคัญ คือ สามารถทำการซื้อขายได้ทันที (real-time) ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นที่อีทีเอฟนั้นจดทะเบียนซื้อขายอยู่ ในแง่นี้ ซื้อกองทุนอีทีเอฟจึงเหมือนกับการซื้อหุ้นตัวหนึ่ง เมื่อซื้อแล้วมันก็จะปรากฏในบัญชีหลักทรัพย์หรือพอร์ตลงทุนที่นักลงทุนมีกับบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker)

1. ETF คืออะไร?

ETF จะเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรับ (passive) ต้องการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี (index) หรือราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนอีทีเอฟนั้นใช้อ้างอิง พูดอีกอย่างก็คือ จริง ๆ แล้ว ETF ก็คือกองทุนดัชนี (index fund) ประเภทหนึ่ง นั่นล่ะครับ เพียงแต่ว่ามันสามารถซื้อขายได้ทันทีในตลาดหลักทรัพย์ ในแง่นี้จึงต่างกับกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) ที่ปกติ ในประเทศไทย นักลงทุนที่อยากลงทุนกองทุนรวมก็จะไปซื้อกองทุนประเภทนี้ที่ธนาคาร เพราะปกติธนาคารเป็นตัวแทนที่สะดวกที่สุดในสายตาคนทั่วไป สำหรับการซื้อขายกองทุนรวมที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งบลจ.ก็มักจะเป็นผู้ที่บริหารจัดการและเสนอขายกองทุนอีทีฟด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ หลักการทุกอย่างของกองทุนดัชนี จึงต้องถูกนำมาใช้กับกองทุนอีทีเอฟด้วย เพราะฉะนั้น นักลงทุนควรอ่านบทความต่อไปนี้เสียก่อนจะทำให้เข้าใจกองทุนอีทีเอฟได้ดีขึ้น : (1) กองทุนดัชนี คืออะไร (2) ประวัติศาสตร์กองทุนดัชนี (3) กองทุนดัชนีในไทย (4) กองทุนดัชนี กับคำแนะนำของกูรู และ (5) บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับกองทุนดัชนี

เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ของกองทุน ETF และจุดขายหลัก คือ การเป็นกองทุนรวมที่ซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยสะดวก เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการซื้อขายสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงได้แบบ ณ เวลานั้นเลย ด้วยเหตุนี้จึงมีหนึ่งบุคคลที่เข้ามารับทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องให้กับการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟเรียกว่า “Market Maker” (ผู้ดูแลสภาพคล่อง)

โดยทางบลจ. ผู้ออกกองทุนอีทีเอฟ จะมีการแต่งตั้ง Market Maker เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งคำสั่งเสนอซื้อเสนอขาย (bid-offer) หน่วยของกองทุนอีทีเอฟ ในระหว่างที่ตลาดหุ้นมีการซื้อขาย จะได้มีหน่วยของอีทีเอฟปรากฏตลอดเวลาสอดคล้องกับสภาวะตลาดและดัชนีอ้างอิง ให้นักลงทุนที่สนใจสามารถซื้อขายได้ทันที ทั้งนี้นักลงทุนอาจเปรียบเทียบราคากองทุนอีทีเอฟกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณ (iNAV = Indicative Net Asset Value) ที่แสดงควบคู่กันระหว่างเวลาซื้อขายได้

2. iNAV คืออะไร?

iNAV คืออะไร? อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า เป็นมูลค่าของ ETF ที่ใกล้เคียงที่สุดกับมูลค่าของ ETF ที่ควรจะเป็น ลองนึกภาพเวลาซื้อกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) ที่ธนาคาร นักลงทุนมักจะรู้ว่าราคา NAV (ราคาสินทรัพย์สุทธิของกองทุนที่ได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายไปแล้ว) เป็นเท่าไหร่ ก็ตอนหลังจากตลาดหุ้นปิดไปแล้ว (ในกรณีที่ซื้อกองทุนหุ้นไทย)

หากแต่กองทุนอีทีเอฟมีการซื้อขายตลอดเวลาที่ตลาดหุ้นทำการอยู่ ดังนั้น ราคาจึงมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เพราะอย่างกองทุนอีทีเอฟที่เลียนแบบดัชนี SET50 นั้น นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรายตัวน่าจะเห็นภาพว่าดัชนี SET50 มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที ดังนั้น กองทุนอีทีเอฟที่ขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

เพราะฉะนั้น iNAV จึงเป็นการคำนวณราคา NAV ของกองทุน ETF ตลอดเวลา และ Market Maker ก็จะทำการส่งคำสั่งซื้อขายและพยายามทำให้ราคากองทุนอีทีเอฟสอดคล้องใกล้เคียงกับราคา iNAV ครับ

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่ราคาของกองทุนอีทีเอฟกับ iNAV จะเท่ากัน เนื่องจากประเด็นเกี่ยวข้องกับเงินปันผล ช่องว่างระหว่างราคาซื้อขาย (bid-ask spread) ช่องว่างราคาของหุ้นอ้างอิงของกองทุน แล้วก็เสียงรบกวนของตลาดรวมถึงความล่าช้าของข้อมูลในการซื้อขายหลักทรัพย์[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 62.]

3. เดินทัวร์ ETF ในประเทศไทย

การลงทุนกองทุนอีทีเอฟในประเทศไทย สามารถทำได้โดยการเปิดบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทั้งหลาย เพราะ กองทุนอีทีเอฟส่วนใหญ่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และโดยปกติการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟต้องมีขั้นต่ำการซื้อเป็น board lot คือซื้อครั้งละอย่างน้อย 100 หน่วย (ดูรายชื่อ ค่าสถิติ และคำอธิบายเบื้องต้นได้ตาม links นี้ของตลาดหลักทรัพย์ครับ

อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นครับ กองทุนอีทีเอฟก็เป็นดั่งกองทุนดัชนีชนิดหนึ่ง มันก็เหมือนกองทุนรวมดัชนีทั่วไปที่อาจลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ตามที่นโยบายลงทุนของกองทุนอีทีเอฟนั้นกำหนด ว่าจะลงทุนและเลียนแบบสินทรัพย์อ้างอิงหรือดัชนีอันไหน จึงมีได้ทั้ง ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีตราสารหนี้ ดัชนีตราสารทุนหรือหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลงทุนเลียนแบบดัชนีอ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ ทั้งทองคำ หรือน้ำมัน เป็นต้น

ในประเทศไทยนั้น กองทุนอีทีเอฟมักจะนิยมลงทุนเลียนแบบสินทรัพย์และดัชนีเหล่านี้

  • เลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เช่น กองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET50 อย่าง TDEX หรือ ESET50 หรือกองทุนที่เลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเภทอื่น เช่น กองทุน TH100 และ BSET100 ซึ่งเลียนแบบดัชนี SET100 และ BMSCITH ซึ่งเลียนแบบดัชนี MSCI Thailand ex Foreign Board Index
  • เลียนแบบดัชนีหุ้นอื่น ๆ เช่น 1DIV เลียนแบบดัชนี SET High Dividend 30 หรือ BMSCG เลียนแบบดัชนี BCAP Mid Small Cap CG Index TR
  • เลียนแบบตราสารหนี้ เช่น กองทุน ABFTH
  • เลียนแบบดัชนีอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อย่าง EICT หรือ EFOOD (ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม) ECOMM (ธุรกิจพาณิชย์) EBANK (ธุรกิจธนาคาร)
  • เลียนแบบหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น CSI300 เลียนแบบดัชนีหุ้น CSI 300 Index ของจีน
  • เลียนแบบสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงอื่น เช่น ลงทุนในกองคำ อย่าง TGOLDETF (ธนชาตอีทีเอฟทองคำแท่ง) GLD หรือลงทุนเลียนแบบดัชนีอ้างอิงน้ำมัน อย่าง ENY หรือ ENGY 
36114200_2201689639847063_331579609919258624_n
ตัวอย่างหน้าจอการซื้อขาย ETF ผ่านมือถือ

4. เปรียบเทียบ ETF กับกองทุนรวมทั่วไป

คำถามที่น่าสนใจ คือ ในกรณีที่เราอยากลงทุนกองทุนดัชนี เราควรลงทุนกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) หรือ ลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟอันไหนจะดีกว่ากัน ?

เรามาลองเทียบกันทีละประเด็นดีกว่าครับ

(I) ด้านสินทรัพย์ที่ลงทุน

ทั้งคู่ก็มีความหลากหลายสำหรับกรณีที่เราอยากจะลงทุนในสินทรัพย์หรือเลียนแบบดัชนีประเภทต่าง ๆ เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบัน กองทุนรวมทั่วไปน่าจะมีตัวเลือกที่มากกว่า แต่สำหรับสินทรัพย์ธรรมดาอย่าง กองทุนดัชนีหุ้น SET50, SET100 ทั้งคู่ล้วนมีให้เลือกลงทุนครับ

(II) ด้านภาษี

กองทุนรวมได้รับการยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไร (capital gain) เมื่อทำการขายคืนบลจ. และกองทุนอีทีเอฟก็ยกเว้นตรงนี้ผ่านกฎหมายอีกฉบับในลักษณะของการขายหลักทรัพย์อย่างกองทุนอีทีเอฟผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็จะได้ยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไรเช่นเดียวกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และสิ่งที่เหมือนกัน คือ ในกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล สำหรับบุคคลธรรมดา จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งเลือกได้ว่าจะหักทิ้งไปเลย หรือจะนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่น

(III) ด้านเวลาในการซื้อขาย

กองทุนอีทีเอฟย่อมมีข้อดีในเรื่องของการซื้อขายได้ทันที (real-time) เพราะฉะนั้น เช่นในกรณีของกองทุนหุ้น นักลงทุนสามารถดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์พร้อมทั้งตัดสินใจซื้อขายบนดัชนีอ้างอิง ณ เวลานั้น ๆ สมมติเราเห็นดัชนี SET Index อยู่ที่ 1500 จุด เราเห็นว่าตัวเลขนี้น่าสนใจ เราก็สามารถทำการซื้อขายได้เลย

ในขณะที่กองทุนรวมทั่วไป นักลงทุนจะได้ราคาเดียวกัน คือ ราคา ณ เวลาปิดทำการตลาดหลักทรัพย์ แม้ในเวลาระหว่างวันดัชนี SET Index จะแกว่งที่ 1500-1550 จุด แต่ถ้าเวลาปิดทำการ ตัวเลขดัชนีปิดที่ 1550 จุด นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไปก็จะได้ราคาเดียวกัน คือ ซื้อ ณ ที่ดัชนีอ้างอิง 1550 จุดครับ

นอกจากนี้ เรื่องของเวลาซื้อขาย การซื้อกองทุนอีทีเอฟสามารถซื้อได้ตามเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ คือ ตอนเช้าช่วง 10.00-12.30 ตอนบ่ายช่วง 14.30-16.30 แต่สำหรับกองทุนรวมทั่วไป ปกติแล้วบลจ.จะให้ท่านส่งคำสั่งซื้อขายตามเวลาทำการธนาคารพาณิชย์กรณีซื้อที่สาขา ซึ่งมักจะเป็นช่วง 8.30-15.30 หรืออาจซื้อได้ตลอดเวลาในกรณีซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต หากแต่คำสั่งจะทำการในช่วงเวลาทำการอยู่ดี คือ มักจะปิดรับคำสั่งช่วง 15.30-16.00 ถ้าหมดเวลานี้ คำสั่งจะยกยอดไปซื้อในอีกวัน

(IV) ด้านความสะดวก

ผมคิดว่ามันก็สะดวกทั้งคู่นะครับ คือ หลังจากที่เราเปิดบัญชีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีหลักทรัพย์กรณีซื้อกองทุนอีทีเอฟ หรือเปิดบัญชีกองทุนรวมทั่วไปที่ตัวแทนขายอย่างธนาคารต่าง ๆ หลังจากนั้นเราก็สามารถซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการเข้า Streaming หรือเข้า mobile/internet banking

มีอันหนึ่งที่ผมว่าต่าง คือ มันจะมีเอกสิทธิ์อะไรบางอย่างแตกต่างกันไป อย่างกรณีซื้อกองทุนรวมผ่านธนาคารบางเจ้า มันจะถูกนับเป็นสินทรัพย์ที่ลูกค้าซื้อผ่านธนาคาร ซึ่งจะนำไปสู่การบริการแบบสิทธิพิเศษ เช่น กรณีของ K-Wisdom (สมมติเรามีกองทุนผสมเงินฝากเกิน 10 ล้านบาท) ถ้า 50 ล้านก็กลายเป็น K-Private Banking ซึ่งธนาคารอื่น ๆ ก็จะมีชื่อแตกต่างกันไป อาทิ SCB First, SCB Private Banking, Krungsri Prime, Krungsri Exclusive ฯลฯ

หากแต่ใช่ว่าการซื้อกองทุนอีทีเอฟผ่านโบรกเกอร์จะไม่มีเอกสิทธิ์อะไรแบบนี้ ต้องไปดูเงื่อนไขบล.ที่ใช้บริการครับ เพราะบางที่ก็มีเอกสิทธิ์สำหรับลูกค้าพอร์ตใหญ่ ๆ เช่นกัน

5. ค่าใช้จ่ายของกองทุน ETF

แต่สำหรับนักลงทุนโดยไปทั่วแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่าย และ ค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าใครยังไม่รู้จักค่าใช้จ่ายของกองทุน ควรอ่านบทความนี้ก่อน > ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม!

โดยค่าใช้จ่ายที่ควรเปรียบเทียบกันระหว่าง กองทุนรวมทั่วไป (mutual) กับ ETF น่าจะแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้

(I) ค่าใช้จ่ายของกองทุนอีทีเอฟ

ในที่นี้ก็ได้แก่ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุน ไล่ตั้งแต่ ค่าบริหารจัดการ (management fee) ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชี ค่าผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนเองเวลากองทุนซื้อขายหุ้นในพอร์ตของกองทุน ฯลฯ

(II) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟ

ตรงนี้จะต่างกัน เพราะกองทุนรวมทั่วไปอาจจะมีพวกค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (front-back loads) แต่สำหรับกองทุนรวมดัชนี ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (transaction fees) ซึ่งเรียกเก็บกันที่ปกติ 0.10% ทั้งตอนซื้อและตอนขาย

ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟค่าใช้จ่ายในการซื้อและขายขึ้นอยู่กับว่าค่าธรรมเนียมที่คุณจ่ายให้บล.ที่คุณเปิดพอร์ตนั้นเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยกลางสำหรับซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต คือ 0.1578% ซึ่งบางเจ้าก็จะมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำด้วยวันละ 50 บาทโดยประมาณ บางเจ้าก็ไม่มี

(III) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

มันจะมีค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่น ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เป็นการเรียกเก็บโดยตรง แต่ในบางตำราก็จะถือว่า เป็นสิ่งที่ลดทอนผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะได้รับ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เป็นผลมาจากการเลียนแบบดัชนีอ้างอิงไม่ใกล้เคียง (tracking error) หรือ กรณีกองทุนอีทีเอฟสำหรับค่าใช้จ่ายที่มีมาจากการที่นักลงทุนซื้อขายกองทุนอีทีเอฟในราคาที่ห่างจาก iNAV หรือค่าใช้จ่าย bid-ask spread หรือ การที่กองทุนถือเงินสดระดับหนึ่งจนเกิด “Cash drag” พวกนี้คำนวณค่อนข้างยากครับ แต่เราต้องไม่ลืมมัน เราคำนวณมันเป๊ะไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงมันไม่มี!!

ที่ผมจะลองสำรวจดู คือ ค่าใช้จ่ายของกองทุนอีทีเอฟประเภทที่เป็นกองทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นไทยหลักอย่าง SET Index หรือ MSCI ในลักษณะของ broad-based index (กระจายการลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดหุ้น) อย่าง SET50, SET100, MSCI Thailand นะครับ

etf-set

เมื่อดูตารางข้างบนเราจะพบคู่ท้าชิงที่น่าสนใจ คือ กองทุนเปิด KT-SET50-A กับกองทุน ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50 อย่าง TDEX ซึ่งทั้งคู่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดต่ำที่สุด โดยค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของ TDEX อยู่ที่ประมาณ 0.57% ต่อปี ส่วน TMB50 อยู่ที่ 0.65% ต่อปี ห่างกันประมาณ 0.08% ซึ่งค่อนข้างเป็นตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญครับ

6. ประเด็นที่ต้องคำนึงระหว่าง ETF กับกองทุนรวมทั่วไป

แล้วเราควรลงทุนใน TDEX ที่เป็นกองทุนอีทีเอฟหรือเปล่า? การจะตอบคำถามนี้ได้ต้องพิจารณาทุกอย่างให้ครบถ้วนก่อน ลองวิเคราะห์ทีละประเด็นนะครับ

(1) ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการลงทุนในกองทุนรวม คือ การเลือกนโยบายกองทุนว่าควรจะจ่ายปันผลหรือไม่ ซึ่งทางผมเองเคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความ “ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับ “กองทุนปันผล”” ว่าทำไมเราถึงไม่ควรลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล และบังเอิญว่า กองทุนอีทีเอฟเกือบทั้งหมด (รวมถึง TDEX) ก็มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยปกติจะเขียนด้วยว่าจ่ายไม่เกิน 100% ของกำไร

การที่กองทุนจ่ายกำไรออกมาเป็นปันผล ส่วนนี้เราก็จะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษี หรือหัก ณ ที่จ่ายทิ้งไปเลย 10% ซึ่งตรงนี้ก็จะลดทอนผลตอบแทนจากการลงทุนไปอีก ดังนั้น โดยส่วนตัวผมเองจึงไม่ลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล ส่วนนักลงทุนจะตัดสินใจอย่างไรลองอ่านบทความข้างต้นให้เข้าใจแล้วตัดสินใจดูเอง

(2) เหตุผลของความแตกต่างที่เคยได้อธิบายข้างต้นมาว่า การลงทุนกองทุนอีทีเอฟสามารถซื้อได้ทันที real-time และตัวกองทุนอีทีเอฟอยู่ในพอร์ตบัญชีหลักทรัพย์ของ บล.

ส่วน mutual fund มักจะเป็นบัญชีอยู่กับบลจ.หรือตัวแทนขายกองทุนอย่างธนาคาร ซึ่งก็จะมีสิทธิประโยชน์แตกต่างออกไป และ mutual fund จะซื้อขายกันที่ราคาปิดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่ราคา real-time ของวัน

(3) ท่านต้องรวมค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ไปด้วย การซื้อ mutual fund ที่เป็นกองทุนรวมดัชนีปกติจะไม่มีค่าใช้จ่ายพวก loads แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายขาเข้าและขาออกราว ๆ 0.10% ส่วนกองทุนอีทีเอฟขึ้นอยู่กับว่าโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการคิดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

(4) ข้อที่ต้องพิจารณาและสำคัญก็คือ ความสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนแบบประจำ (Regular investment หรือ DCA) กองทุนรวมดัชนีที่เป็น mutual ส่วนใหญ่มักจะสะดวกในเรื่องนี้ สามารถลงทุนเป็นประจำรายเดือนได้โดยเฉลี่ย 500 – 1000 บาทต่อเดือนโดยการตัดเงินในบัญชี

ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟผมเข้าใจว่า ปัจจุบันก็มีคำสั่งที่ให้หักซื้อรายเดือนได้ แต่อาจจะเจอปัญหาเรื่อง board lot ขั้นต่ำ ทำให้อาจซื้อได้ไม่เต็มจำนวนเงิน ซึ่งต่างจาก mutual fund ที่สามารถหักซื้อได้เต็มจำนวน เพราะมันหารหน่วยให้ละเอียดได้เป็นทศนิยมหลายหลัก เงิน 1,000 บาทก็ซื้อเต็ม 1,000 บาท

(5) มีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นในการซื้อกองทุนอีทีเอฟ เช่น ค่าใช้จ่ายจาก bid-ask spread คือ การที่เราซื้อกองทุนอีทีเอฟในตลาดหลักทรัพย์มันจะมีต้นทุนช่องว่างระหว่างราคา ซึ่งต้นทุนตัวหนึ่ง คือ iNAV กับราคาจริงที่คุณซื้อกองทุนอีทีเอฟมา แม้อาจจะดูเล็กน้อย แต่ก็ต้องไม่ลืมตรงนี้ด้วย

โดยสรุป แม้เราจะพบว่า ETF ในประเทศไทยบางกองมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากองทุนรวมดัชนีทั่วไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ประกอบ หากมองให้รอบด้านก็ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไปจะด้อยกว่า เนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่าง จึงไม่อาจเทียบตัวเลขพวกค่าใช้จ่ายแฝงให้เห็นประจักษ์ จึงขอให้นักลงทุนพิจารณาตัดสินใจบนข้อมูลที่ได้อธิบายไปด้านบนเองว่า นักลงทุนเหมาะสมหรือพิจารณาว่าจะลงทุนในกองทุนรวมหรือในกองทุนอีทีเอฟดี ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนเองครับ

ปล. โดนส่วนตัว ผมเองไม่มีการลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ เพราะคิดว่ากองทุนดัชนีทั่วไปที่เป็น mutual fund เมื่อพิจารณาหลายด้านแล้ว ข้อดีโดยรวมสูงกว่าการถือครองกองทุนอีทีเอฟครับ