กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) หรือ “อีทีเอฟ” เป็นกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษสำคัญ คือ สามารถทำการซื้อขายได้ทันที (real-time) ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นที่อีทีเอฟนั้นจดทะเบียนซื้อขายอยู่ ในแง่นี้ ซื้อกองทุนอีทีเอฟจึงเหมือนกับการซื้อหุ้นตัวหนึ่ง เมื่อซื้อแล้วมันก็จะปรากฏในบัญชีหลักทรัพย์หรือพอร์ตลงทุนที่นักลงทุนมีกับบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker)
1. ETF คืออะไร?
ETF จะเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรับ (passive) ต้องการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี (index) หรือราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนอีทีเอฟนั้นใช้อ้างอิง พูดอีกอย่างก็คือ จริง ๆ แล้ว ETF ก็คือกองทุนดัชนี (index fund) ประเภทหนึ่ง นั่นล่ะครับ เพียงแต่ว่ามันสามารถซื้อขายได้ทันทีในตลาดหลักทรัพย์ ในแง่นี้จึงต่างกับกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) ที่ปกติ ในประเทศไทย นักลงทุนที่อยากลงทุนกองทุนรวมก็จะไปซื้อกองทุนประเภทนี้ที่ธนาคาร เพราะปกติธนาคารเป็นตัวแทนที่สะดวกที่สุดในสายตาคนทั่วไป สำหรับการซื้อขายกองทุนรวมที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งบลจ.ก็มักจะเป็นผู้ที่บริหารจัดการและเสนอขายกองทุนอีทีฟด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ หลักการทุกอย่างของกองทุนดัชนี จึงต้องถูกนำมาใช้กับกองทุนอีทีเอฟด้วย เพราะฉะนั้น นักลงทุนควรอ่านบทความต่อไปนี้เสียก่อนจะทำให้เข้าใจกองทุนอีทีเอฟได้ดีขึ้น : (1) กองทุนดัชนี คืออะไร (2) ประวัติศาสตร์กองทุนดัชนี (3) กองทุนดัชนีในไทย (4) กองทุนดัชนี กับคำแนะนำของกูรู และ (5) บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับกองทุนดัชนี
เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ของกองทุน ETF และจุดขายหลัก คือ การเป็นกองทุนรวมที่ซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยสะดวก เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการซื้อขายสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงได้แบบ ณ เวลานั้นเลย ด้วยเหตุนี้จึงมีหนึ่งบุคคลที่เข้ามารับทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องให้กับการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟเรียกว่า “Market Maker” (ผู้ดูแลสภาพคล่อง)
โดยทางบลจ. ผู้ออกกองทุนอีทีเอฟ จะมีการแต่งตั้ง Market Maker เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งคำสั่งเสนอซื้อเสนอขาย (bid-offer) หน่วยของกองทุนอีทีเอฟ ในระหว่างที่ตลาดหุ้นมีการซื้อขาย จะได้มีหน่วยของอีทีเอฟปรากฏตลอดเวลาสอดคล้องกับสภาวะตลาดและดัชนีอ้างอิง ให้นักลงทุนที่สนใจสามารถซื้อขายได้ทันที ทั้งนี้นักลงทุนอาจเปรียบเทียบราคากองทุนอีทีเอฟกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณ (iNAV = Indicative Net Asset Value) ที่แสดงควบคู่กันระหว่างเวลาซื้อขายได้
2. iNAV คืออะไร?
iNAV คืออะไร? อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า เป็นมูลค่าของ ETF ที่ใกล้เคียงที่สุดกับมูลค่าของ ETF ที่ควรจะเป็น ลองนึกภาพเวลาซื้อกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) ที่ธนาคาร นักลงทุนมักจะรู้ว่าราคา NAV (ราคาสินทรัพย์สุทธิของกองทุนที่ได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายไปแล้ว) เป็นเท่าไหร่ ก็ตอนหลังจากตลาดหุ้นปิดไปแล้ว (ในกรณีที่ซื้อกองทุนหุ้นไทย)
หากแต่กองทุนอีทีเอฟมีการซื้อขายตลอดเวลาที่ตลาดหุ้นทำการอยู่ ดังนั้น ราคาจึงมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เพราะอย่างกองทุนอีทีเอฟที่เลียนแบบดัชนี SET50 นั้น นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรายตัวน่าจะเห็นภาพว่าดัชนี SET50 มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที ดังนั้น กองทุนอีทีเอฟที่ขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เพราะฉะนั้น iNAV จึงเป็นการคำนวณราคา NAV ของกองทุน ETF ตลอดเวลา และ Market Maker ก็จะทำการส่งคำสั่งซื้อขายและพยายามทำให้ราคากองทุนอีทีเอฟสอดคล้องใกล้เคียงกับราคา iNAV ครับ
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่ราคาของกองทุนอีทีเอฟกับ iNAV จะเท่ากัน เนื่องจากประเด็นเกี่ยวข้องกับเงินปันผล ช่องว่างระหว่างราคาซื้อขาย (bid-ask spread) ช่องว่างราคาของหุ้นอ้างอิงของกองทุน แล้วก็เสียงรบกวนของตลาดรวมถึงความล่าช้าของข้อมูลในการซื้อขายหลักทรัพย์[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 62.]
3. เดินทัวร์ ETF ในประเทศไทย
การลงทุนกองทุนอีทีเอฟในประเทศไทย สามารถทำได้โดยการเปิดบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทั้งหลาย เพราะ กองทุนอีทีเอฟส่วนใหญ่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และโดยปกติการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟต้องมีขั้นต่ำการซื้อเป็น board lot คือซื้อครั้งละอย่างน้อย 100 หน่วย (ดูรายชื่อ ค่าสถิติ และคำอธิบายเบื้องต้นได้ตาม links นี้ของตลาดหลักทรัพย์ครับ
อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นครับ กองทุนอีทีเอฟก็เป็นดั่งกองทุนดัชนีชนิดหนึ่ง มันก็เหมือนกองทุนรวมดัชนีทั่วไปที่อาจลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ตามที่นโยบายลงทุนของกองทุนอีทีเอฟนั้นกำหนด ว่าจะลงทุนและเลียนแบบสินทรัพย์อ้างอิงหรือดัชนีอันไหน จึงมีได้ทั้ง ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีตราสารหนี้ ดัชนีตราสารทุนหรือหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลงทุนเลียนแบบดัชนีอ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ ทั้งทองคำ หรือน้ำมัน เป็นต้น
ในประเทศไทยนั้น กองทุนอีทีเอฟมักจะนิยมลงทุนเลียนแบบสินทรัพย์และดัชนีเหล่านี้
- เลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เช่น กองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET50 อย่าง TDEX หรือ ESET50 หรือกองทุนที่เลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเภทอื่น เช่น กองทุน TH100 และ BSET100 ซึ่งเลียนแบบดัชนี SET100 และ BMSCITH ซึ่งเลียนแบบดัชนี MSCI Thailand ex Foreign Board Index
- เลียนแบบดัชนีหุ้นอื่น ๆ เช่น 1DIV เลียนแบบดัชนี SET High Dividend 30 หรือ BMSCG เลียนแบบดัชนี BCAP Mid Small Cap CG Index TR
- เลียนแบบตราสารหนี้ เช่น กองทุน ABFTH
- เลียนแบบดัชนีอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อย่าง EICT หรือ EFOOD (ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม) ECOMM (ธุรกิจพาณิชย์) EBANK (ธุรกิจธนาคาร)
- เลียนแบบหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น CSI300 เลียนแบบดัชนีหุ้น CSI 300 Index ของจีน
- เลียนแบบสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงอื่น เช่น ลงทุนในกองคำ อย่าง TGOLDETF (ธนชาตอีทีเอฟทองคำแท่ง) GLD หรือลงทุนเลียนแบบดัชนีอ้างอิงน้ำมัน อย่าง ENY หรือ ENGY

4. เปรียบเทียบ ETF กับกองทุนรวมทั่วไป
คำถามที่น่าสนใจ คือ ในกรณีที่เราอยากลงทุนกองทุนดัชนี เราควรลงทุนกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) หรือ ลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟอันไหนจะดีกว่ากัน ?
เรามาลองเทียบกันทีละประเด็นดีกว่าครับ
(I) ด้านสินทรัพย์ที่ลงทุน
ทั้งคู่ก็มีความหลากหลายสำหรับกรณีที่เราอยากจะลงทุนในสินทรัพย์หรือเลียนแบบดัชนีประเภทต่าง ๆ เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบัน กองทุนรวมทั่วไปน่าจะมีตัวเลือกที่มากกว่า แต่สำหรับสินทรัพย์ธรรมดาอย่าง กองทุนดัชนีหุ้น SET50, SET100 ทั้งคู่ล้วนมีให้เลือกลงทุนครับ
(II) ด้านภาษี
กองทุนรวมได้รับการยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไร (capital gain) เมื่อทำการขายคืนบลจ. และกองทุนอีทีเอฟก็ยกเว้นตรงนี้ผ่านกฎหมายอีกฉบับในลักษณะของการขายหลักทรัพย์อย่างกองทุนอีทีเอฟผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็จะได้ยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไรเช่นเดียวกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และสิ่งที่เหมือนกัน คือ ในกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล สำหรับบุคคลธรรมดา จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งเลือกได้ว่าจะหักทิ้งไปเลย หรือจะนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่น
(III) ด้านเวลาในการซื้อขาย
กองทุนอีทีเอฟย่อมมีข้อดีในเรื่องของการซื้อขายได้ทันที (real-time) เพราะฉะนั้น เช่นในกรณีของกองทุนหุ้น นักลงทุนสามารถดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์พร้อมทั้งตัดสินใจซื้อขายบนดัชนีอ้างอิง ณ เวลานั้น ๆ สมมติเราเห็นดัชนี SET Index อยู่ที่ 1500 จุด เราเห็นว่าตัวเลขนี้น่าสนใจ เราก็สามารถทำการซื้อขายได้เลย
ในขณะที่กองทุนรวมทั่วไป นักลงทุนจะได้ราคาเดียวกัน คือ ราคา ณ เวลาปิดทำการตลาดหลักทรัพย์ แม้ในเวลาระหว่างวันดัชนี SET Index จะแกว่งที่ 1500-1550 จุด แต่ถ้าเวลาปิดทำการ ตัวเลขดัชนีปิดที่ 1550 จุด นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไปก็จะได้ราคาเดียวกัน คือ ซื้อ ณ ที่ดัชนีอ้างอิง 1550 จุดครับ
นอกจากนี้ เรื่องของเวลาซื้อขาย การซื้อกองทุนอีทีเอฟสามารถซื้อได้ตามเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ คือ ตอนเช้าช่วง 10.00-12.30 ตอนบ่ายช่วง 14.30-16.30 แต่สำหรับกองทุนรวมทั่วไป ปกติแล้วบลจ.จะให้ท่านส่งคำสั่งซื้อขายตามเวลาทำการธนาคารพาณิชย์กรณีซื้อที่สาขา ซึ่งมักจะเป็นช่วง 8.30-15.30 หรืออาจซื้อได้ตลอดเวลาในกรณีซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต หากแต่คำสั่งจะทำการในช่วงเวลาทำการอยู่ดี คือ มักจะปิดรับคำสั่งช่วง 15.30-16.00 ถ้าหมดเวลานี้ คำสั่งจะยกยอดไปซื้อในอีกวัน
(IV) ด้านความสะดวก
ผมคิดว่ามันก็สะดวกทั้งคู่นะครับ คือ หลังจากที่เราเปิดบัญชีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีหลักทรัพย์กรณีซื้อกองทุนอีทีเอฟ หรือเปิดบัญชีกองทุนรวมทั่วไปที่ตัวแทนขายอย่างธนาคารต่าง ๆ หลังจากนั้นเราก็สามารถซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการเข้า Streaming หรือเข้า mobile/internet banking
มีอันหนึ่งที่ผมว่าต่าง คือ มันจะมีเอกสิทธิ์อะไรบางอย่างแตกต่างกันไป อย่างกรณีซื้อกองทุนรวมผ่านธนาคารบางเจ้า มันจะถูกนับเป็นสินทรัพย์ที่ลูกค้าซื้อผ่านธนาคาร ซึ่งจะนำไปสู่การบริการแบบสิทธิพิเศษ เช่น กรณีของ K-Wisdom (สมมติเรามีกองทุนผสมเงินฝากเกิน 10 ล้านบาท) ถ้า 50 ล้านก็กลายเป็น K-Private Banking ซึ่งธนาคารอื่น ๆ ก็จะมีชื่อแตกต่างกันไป อาทิ SCB First, SCB Private Banking, Krungsri Prime, Krungsri Exclusive ฯลฯ
หากแต่ใช่ว่าการซื้อกองทุนอีทีเอฟผ่านโบรกเกอร์จะไม่มีเอกสิทธิ์อะไรแบบนี้ ต้องไปดูเงื่อนไขบล.ที่ใช้บริการครับ เพราะบางที่ก็มีเอกสิทธิ์สำหรับลูกค้าพอร์ตใหญ่ ๆ เช่นกัน
5. ค่าใช้จ่ายของกองทุน ETF
แต่สำหรับนักลงทุนโดยไปทั่วแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่าย และ ค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าใครยังไม่รู้จักค่าใช้จ่ายของกองทุน ควรอ่านบทความนี้ก่อน > ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม!
โดยค่าใช้จ่ายที่ควรเปรียบเทียบกันระหว่าง กองทุนรวมทั่วไป (mutual) กับ ETF น่าจะแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
(I) ค่าใช้จ่ายของกองทุนอีทีเอฟ
ในที่นี้ก็ได้แก่ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุน ไล่ตั้งแต่ ค่าบริหารจัดการ (management fee) ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชี ค่าผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนเองเวลากองทุนซื้อขายหุ้นในพอร์ตของกองทุน ฯลฯ
(II) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟ
ตรงนี้จะต่างกัน เพราะกองทุนรวมทั่วไปอาจจะมีพวกค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (front-back loads) แต่สำหรับกองทุนรวมดัชนี ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (transaction fees) ซึ่งเรียกเก็บกันที่ปกติ 0.10% ทั้งตอนซื้อและตอนขาย
ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟค่าใช้จ่ายในการซื้อและขายขึ้นอยู่กับว่าค่าธรรมเนียมที่คุณจ่ายให้บล.ที่คุณเปิดพอร์ตนั้นเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยกลางสำหรับซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต คือ 0.1578% ซึ่งบางเจ้าก็จะมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำด้วยวันละ 50 บาทโดยประมาณ บางเจ้าก็ไม่มี
(III) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
มันจะมีค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่น ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เป็นการเรียกเก็บโดยตรง แต่ในบางตำราก็จะถือว่า เป็นสิ่งที่ลดทอนผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะได้รับ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เป็นผลมาจากการเลียนแบบดัชนีอ้างอิงไม่ใกล้เคียง (tracking error) หรือ กรณีกองทุนอีทีเอฟสำหรับค่าใช้จ่ายที่มีมาจากการที่นักลงทุนซื้อขายกองทุนอีทีเอฟในราคาที่ห่างจาก iNAV หรือค่าใช้จ่าย bid-ask spread หรือ การที่กองทุนถือเงินสดระดับหนึ่งจนเกิด “Cash drag” พวกนี้คำนวณค่อนข้างยากครับ แต่เราต้องไม่ลืมมัน เราคำนวณมันเป๊ะไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงมันไม่มี!!
ที่ผมจะลองสำรวจดู คือ ค่าใช้จ่ายของกองทุนอีทีเอฟประเภทที่เป็นกองทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นไทยหลักอย่าง SET Index หรือ MSCI ในลักษณะของ broad-based index (กระจายการลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดหุ้น) อย่าง SET50, SET100, MSCI Thailand นะครับ
เมื่อดูตารางข้างบนเราจะพบคู่ท้าชิงที่น่าสนใจ คือ กองทุนเปิด KT-SET50-A กับกองทุน ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50 อย่าง TDEX ซึ่งทั้งคู่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดต่ำที่สุด โดยค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของ TDEX อยู่ที่ประมาณ 0.57% ต่อปี ส่วน TMB50 อยู่ที่ 0.65% ต่อปี ห่างกันประมาณ 0.08% ซึ่งค่อนข้างเป็นตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญครับ
6. ประเด็นที่ต้องคำนึงระหว่าง ETF กับกองทุนรวมทั่วไป
แล้วเราควรลงทุนใน TDEX ที่เป็นกองทุนอีทีเอฟหรือเปล่า? การจะตอบคำถามนี้ได้ต้องพิจารณาทุกอย่างให้ครบถ้วนก่อน ลองวิเคราะห์ทีละประเด็นนะครับ
(1) ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการลงทุนในกองทุนรวม คือ การเลือกนโยบายกองทุนว่าควรจะจ่ายปันผลหรือไม่ ซึ่งทางผมเองเคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความ “ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับ “กองทุนปันผล”” ว่าทำไมเราถึงไม่ควรลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล และบังเอิญว่า กองทุนอีทีเอฟเกือบทั้งหมด (รวมถึง TDEX) ก็มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยปกติจะเขียนด้วยว่าจ่ายไม่เกิน 100% ของกำไร
การที่กองทุนจ่ายกำไรออกมาเป็นปันผล ส่วนนี้เราก็จะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษี หรือหัก ณ ที่จ่ายทิ้งไปเลย 10% ซึ่งตรงนี้ก็จะลดทอนผลตอบแทนจากการลงทุนไปอีก ดังนั้น โดยส่วนตัวผมเองจึงไม่ลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล ส่วนนักลงทุนจะตัดสินใจอย่างไรลองอ่านบทความข้างต้นให้เข้าใจแล้วตัดสินใจดูเอง
(2) เหตุผลของความแตกต่างที่เคยได้อธิบายข้างต้นมาว่า การลงทุนกองทุนอีทีเอฟสามารถซื้อได้ทันที real-time และตัวกองทุนอีทีเอฟอยู่ในพอร์ตบัญชีหลักทรัพย์ของ บล.
ส่วน mutual fund มักจะเป็นบัญชีอยู่กับบลจ.หรือตัวแทนขายกองทุนอย่างธนาคาร ซึ่งก็จะมีสิทธิประโยชน์แตกต่างออกไป และ mutual fund จะซื้อขายกันที่ราคาปิดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่ราคา real-time ของวัน
(3) ท่านต้องรวมค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ไปด้วย การซื้อ mutual fund ที่เป็นกองทุนรวมดัชนีปกติจะไม่มีค่าใช้จ่ายพวก loads แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายขาเข้าและขาออกราว ๆ 0.10% ส่วนกองทุนอีทีเอฟขึ้นอยู่กับว่าโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการคิดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
(4) ข้อที่ต้องพิจารณาและสำคัญก็คือ ความสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนแบบประจำ (Regular investment หรือ DCA) กองทุนรวมดัชนีที่เป็น mutual ส่วนใหญ่มักจะสะดวกในเรื่องนี้ สามารถลงทุนเป็นประจำรายเดือนได้โดยเฉลี่ย 500 – 1000 บาทต่อเดือนโดยการตัดเงินในบัญชี
ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟผมเข้าใจว่า ปัจจุบันก็มีคำสั่งที่ให้หักซื้อรายเดือนได้ แต่อาจจะเจอปัญหาเรื่อง board lot ขั้นต่ำ ทำให้อาจซื้อได้ไม่เต็มจำนวนเงิน ซึ่งต่างจาก mutual fund ที่สามารถหักซื้อได้เต็มจำนวน เพราะมันหารหน่วยให้ละเอียดได้เป็นทศนิยมหลายหลัก เงิน 1,000 บาทก็ซื้อเต็ม 1,000 บาท
(5) มีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นในการซื้อกองทุนอีทีเอฟ เช่น ค่าใช้จ่ายจาก bid-ask spread คือ การที่เราซื้อกองทุนอีทีเอฟในตลาดหลักทรัพย์มันจะมีต้นทุนช่องว่างระหว่างราคา ซึ่งต้นทุนตัวหนึ่ง คือ iNAV กับราคาจริงที่คุณซื้อกองทุนอีทีเอฟมา แม้อาจจะดูเล็กน้อย แต่ก็ต้องไม่ลืมตรงนี้ด้วย
โดยสรุป แม้เราจะพบว่า ETF ในประเทศไทยบางกองมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากองทุนรวมดัชนีทั่วไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ประกอบ หากมองให้รอบด้านก็ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไปจะด้อยกว่า เนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่าง จึงไม่อาจเทียบตัวเลขพวกค่าใช้จ่ายแฝงให้เห็นประจักษ์ จึงขอให้นักลงทุนพิจารณาตัดสินใจบนข้อมูลที่ได้อธิบายไปด้านบนเองว่า นักลงทุนเหมาะสมหรือพิจารณาว่าจะลงทุนในกองทุนรวมหรือในกองทุนอีทีเอฟดี ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนเองครับ
ปล. โดนส่วนตัว ผมเองไม่มีการลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ เพราะคิดว่ากองทุนดัชนีทั่วไปที่เป็น mutual fund เมื่อพิจารณาหลายด้านแล้ว ข้อดีโดยรวมสูงกว่าการถือครองกองทุนอีทีเอฟครับ
กองทุนรวมดัชนีได้รับปันผลจากหุ้นที่ถือจริง
ส่วน ETF ไม่ได้รับเพราะไม่มีหุ้นจริงใช่หรือเปล่าครับ
ถูกใจถูกใจ
โดยปกติได้รับครับ พวก ETF ถือหุ้นจริง ๆ ครับ แต่ต้องไปดูในรายงานของกองทุน ETF ด้วย เพราะบางเจ้าอาจใช้วิธีลงทุนแบบพิเศษ เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่างในการไปลงทุนหลักทรัพย์นั้น
ถูกใจถูกใจ