คลังเก็บหมวดหมู่: Index Funds

SET Total Return vs. SET Index return

ก่อนถึงประเด็นเรื่อง SET Total Return เราต้องย้อนไปหาประเด็นเรื่องตลาดหุ้นก่อน เพราะเรามักจะได้ยินคำว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ไม่ไปไหน ถ้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีเคยสูงสุดที่ 1753 จุดตอนต้นปี 4 มกราคม พ.ศ. 2537 หากแต่ตอนนี้ยังอยู่แค่ประมาณ 1500 – 1600 จุด แสดงว่าผ่านมาเกือบ 25 ปี ตลาดหุ้นไทยยังกลับไปจุดเดิมไม่ได้เลย ไหน ไหน ไหน ใครบอกให้ลงทุนในหุ้น

ความแตกต่างระหว่าง SET Total Return กับ SET Index

จริง ๆ แล้ว ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ ดัชนีที่ประกาศกันอยู่ในแต่ละวัน คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ดัชนี SET Index ซึ่งคำนวณเฉพาะราคาหุ้น (รายละเอียดวิธีการคำนวณ) โดยเริ่มต้นที่ 100 จุด ณ วันที่ตลาดหุ้นเปิดทำการวันแรก ชื่อของมันอีกอย่าง คือ SET Price return index (SET PR)

หากแต่ลองคิดภาพเราถือหุ้นทั้งตลาดหุ้น บริษัทหรือกิจการที่อยู่เบื้องหลังหุ้นนั้น ๆ ถ้ามีกำไรก็จะต้องจ่ายออกมาเป็นเงินปันผลให้นักลงทุนด้วย เพราะฉะนั้น ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นที่แท้จริงจะต้องมาจาก 1. ราคาหุ้น (capital gain) กับ 2. เงินปันผล (dividend) และถ้านักลงทุนนำเงินปันผลที่ได้มาซื้อหุ้นเพิ่มอีก ทำให้ในปีต่อไปจำนวนหุ้นที่ถือจะมากขึ้น ผลตอบแทนปันผลก็ควรจะมากขึ้นตามไปด้วย

หากนักลงทุนทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยในแต่ละปีเมื่อได้ปันผลก็นำปันผลมาลงทุนทบต้นกลับ (re-invest) ที่มักจะเรียกกันว่า ลงทุนแบบทบต้น ทำให้ผลตอบแทนที่ท่านจะได้รับ เป็นไปในรูปแบบที่คล้ายกับดอกเบี้ยทบต้น (compound interest) เช่น ในปีที่หนึ่งฝากเงิน 100 บาทได้ดอกเบี้ย 5% คือ 5 บาท เอา 5 บาทมาฝากเป็นเงินต้นกลับ ปีที่สองก็จะมีเงินต้นที่ 105 บาทและจะได้ดอกเบี้ย 5.25 บาทก็เอามาฝากทบต้นต่อ แล้วก็ทำไปเรื่อย ๆ

โดยดัชนีที่ทำหน้าที่แสดงผลตอบแทนทบต้นและผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นจริง ๆ ก็คือ SET Total Return Index (SET TR หรือ SET TRI) ซึ่งคำนวณเสมือนมีการถือหุ้นทั้งตลาดแล้วเวลาได้ปันผลก็นำมาลงทุนทบต้นกลับทันที ดังที่อธิบายข้างบนครับ ถามว่ามันแตกต่างกันมากหรือไม่ ลองดูภาพข้างล่างนี้ครับ

เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ได้เริ่มคำนวณ SET Total Return ในวันที่ 2 มกราคม 2545 (2002) และเลขฐานคือ 1000 จุด ในขณะเดียวกันวันดังกล่าวดัชนีตลาดหุ้น SET PR หรือ SET Index อยู่ที่ 305.19 จุด ผมได้เทียบผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยให้วันดังกล่าวเริ่มต้นที่ 100% ข้างล่างคือภาพเปรียบเทียบผลตอบแทนของ SET TR กับ SET Index ครับ (SET TR คือเส้นสีฟ้า)

settri-v-index-2jan02-2jan17
ผลตอบแทนเปรียบเทียบระหว่าง SET Index – เส้นส้ม กับ SET TR – เส้นฟ้า  (02 Jan 02 – 16 Jan 17)

นั่นก็คือผ่านมา 15 ปี เริ่มต้นเงินที่ 10,000 บาท เงินที่ลงทุนใน SET โดยไม่ได้นำปันผลมาลงทุนทบต้น จะกลายเป็นเงินมูลค่า 51,502 บาท (จาก 100% เป็น 515.02%) ในขณะที่ถ้าคุณลงทุนในตลาดหุ้นโดยนำปันผลกลับมาลงทุนทบต้นต่อ เงินก้อนนั้นจะกลายเป็น 92,349 บาท !! (923.49%) หรือเกือบ 2 เท่าของเงินก้อนเดียวกันที่นำปันผลไปใช้ หมายความว่า ส่วนต่างถึง 40,847 บาทเป็นผลตอบแทนรวมของเงินปันผล ที่คนที่เอาเงินออกไปใช้จะไม่รู้หรอกว่าเขาจะพลาดอะไรบ้าง (แต่ตอนนี้น่าจะรู้แล้ว)

นั่นแสดงว่า ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นไทย (Total Return) ถ้าแบ่งเป็น 100% จะมาจากเงินปันผลถึง 44.23% หรือกล่าวแบบรวบยอดได้ว่า 15 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยเกือบร้อยละ 45 มาจากเงินปันผล !! ยิ่งลงทุนนานเท่าไหร่ ผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นจะมาจากผลตอบแทนของเงินปันผลทบต้น

SET Total Return ผ่านเลนส์ต่างประเทศ

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตอนอ่านหนังสือ Stocks for the Long Run ของ Jeremy Siegel ที่คำนวณผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นสหรัฐช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาจะพบว่า เงินปันผลคือผลตอบแทนส่วนสำคัญของผลตอบแทนหุ้นและตลาดหุ้นในระยะยาว[1. ผลตอบแทนระยะยาวตลาดหุ้นสหรัฐช่วงปี 1802-2012 อยู่ที่ 8.1% ต่อปี ซึ่งมาจากผลตอบแทนในส่วนของเงินปันผลถึง 5.1% ต่อปี, See Jeremy J. Sielgel, Stocks for the Long Run: The Definitive Guide to Financial Market Returns & Long-Term Investment Strategies, 5th ed. (New York: MaGrawHill Education, 2014), 82.-83.]

เพราะฉะนั้นวิธีลงทุนของเราจึงควรสอดคล้องกับสิ่งที่เราค้นพบข้างบน นั่นคือ จะต้องลงทุนในลักษณะที่สร้างพลังของดอกเบี้ยทบต้น และ เงินปันผลที่ได้รับก็ควรนำกลับมาลงทุนต่อ ไม่ใช่เอาออกไปใช้

วิธีที่น่าจะเรียบง่ายที่สุดของนักลงทุนทั่วไปก็คือ ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และเป็นกองทุนประเภทที่ไม่จ่ายปันผลเพื่อให้เงินของเราลงทุนทบต้นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่นำออกมาใช้ และไม่ต้องโดนภาระภาษีจากเงินปันผล

และถ้านักลงทุนต้องการผลตอบแทนแบบนี้ นักลงทุนจะต้องลงทุนระยะยาวในกองทุนหุ้นโดยการถือครองระยะยาว และเพื่อสอดคล้องกับหลักการลงทุนอัตโนมัติก็ควรจะ ซื้อแบบสะสม เพื่อลงทุนระยะยาวเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่นักลงทุนที่เป็นตำนานหลายๆคน แนะนำ

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงสมัยก่อนที่กองทุนในไทยมักจะชอบใช้ดัชนีชี้วัด (benchmark) เป็น SET Index (SET PR) ทำให้เราจะเห็นว่ากองทุนส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนได้ชนะตลาดหุ้นตลอด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขมาใช้ SET TR เป็นดัชนีชี้วัดแทน ต่อไปก็จะได้เห็นชัด ๆ ครับว่า ระยะยาว กองทุนแบบบริหาร (active funds) ที่ชนะตลาดหุ้นมีน้อยมาก

บทสรุปเกี่ยวกับ SET Total Return

บทสรุปของบทความนี้มีอยู่ว่า การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น ควรลงทุนให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผลตอบแทนตลาดหุ้น นั่นคือ ลงทุนโดยการถือครองหุ้นระยะยาว และเวลาได้ผลตอบแทนก็นำกลับไปลงทุนทบต้น ปล่อยให้เงินที่ลงทุนเติบโตต่อเนื่องเรื่อยไป เสมือนดั่งการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถสร้างต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ภายในเวลาไม่กี่ปีครับ การลงทุนต้องใช้เวลา อดทนถือลงทุนระยะยาวอย่างมีวินัย และลงทุนอย่างสม่ำเสมอให้ได้ครับ แล้วผลลัพธ์ที่สดใสจะรอนักลงทุนทุกคนอยู่

“Someone is sitting in the shade today because someone planted a tree a long time ago.” — Warren Buffett

ปล. หลังจากทำบทความนี้ได้ 2 เดือน ผมก็ได้ข้อมูลครบของ SET TRI ทำให้ค้นพบว่า ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นกว่าร้อยละ 80 มาจากผลตอบแทนของดอกเบี้ยทบต้นครับ !! — เงินปันผล : หัวใจแห่งผลตอบแทนหุ้น ****

เกมหุ้น : สนามแห่งผู้แพ้หรือสนามแห่งผู้ชนะกันแน่

หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า Positive-sum, Zero-sum, Negative-sum อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การเล่นเกม แต่ละอย่าง (ซึ่งอาจรวมถึง เกมหุ้น) จะให้ผลลัพธ์รวมที่ต่างกัน คือ

(1) Positive-sum game เป็นการเล่นเกมที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะได้ผลลัพธ์โดยรวมเป็นบวก ผู้เล่นได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งคู่

(2) Zero-sum คือเล่นกันไปแล้วมีคนหนึ่งได้ คนหนึ่งเสีย

(3) Negative-sum เกมที่เล่นแล้วจะต้องเสียทั้งคู่เรื่อยๆทุกครั้งที่เล่น

เพราะฉะนั้นเกมที่ทำให้เราชนะจริง ๆ และเป็นเกมที่ควรจะกระโดดเข้าไปเล่น คือ เกมที่มีลักษณะเป็น positive-sum และเชื่อไหมครับว่า ตลาดหุ้นเองนั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่เป็นบวก การลงทุนในหุ้นคือการลงทุนที่เสมือนว่า เรากำลังเล่นเกมที่เราจะเป็นผู้ชนะแน่ ๆ (Winner’s game)

ให้ลองคิดภาพธุรกิจแบบเป็นกลุ่ม ลองนึกภาพตามว่าในตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งมีหุ้นรวมกันประมาณ 500-600 บริษัท) สมมตินักลงทุนทุกคนร่วมกันเป็นกลุ่ม ถือหุ้นของทุกบริษัทเหล่านี้แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย ซื้อแล้วถือยาว ธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น ปตท. 7-11 ห้างเซ็นทรัล แมคโคร โรงพยาบาลกรุงเทพ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารทั้งหลาย ฯลฯ ก็จะดำเนินธุรกิจของมันไปเรื่อย ๆ มีกำไรรวมกันที่เติบโตไปตามเศรษฐกิจ ปรับราคาสินค้าและบริการตามเงินเฟ้อ พัฒนาศักยภาพนวัตกรรมและการทำกำไร มีการขยายสาขา มีการขายของขายสินค้าได้มากขึ้น มีการขยายกิจการไปต่างประเทศ

พอบริษัทเหล่านี้มีกำไรรวมกันก็จ่ายปันผลให้นักลงทุนทั้งกลุ่ม กำไรที่เหลืออยู่นั้น ทางธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ ก็เอากลับไปลงทุนต่อ ผลตอบแทนของธุรกิจโดยรวมก็จะสะท้อนกลับมาในผลตอบแทนของตลาดหุ้น ที่สถิติบอกว่าประมาณ 9-10% ทบต้นต่อปี ในภาพรวมแล้ว การเล่น เกมหุ้น รูปแบบนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นบวกกับนักลงทุนทั้งกลุ่ม จึงจัดว่าเป็น positive-sum game ทำให้การลงทุนในหุ้นย่อมเป็นเกมของผู้ชนะที่แท้จริง

ทว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่นักลงทุนไม่ยอมถือหุ้นยาว แต่อยากได้กำไรไว ๆ นักลงทุนก็จะเริ่มพยายามทำการซื้อขายระหว่างกัน นึกภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันที่มันมีการซื้อขายครับ คนหนึ่งได้กำไร แสดงว่าอีกคนหนึ่งพลาดที่ขายออกมา (ผลตอบแทนลดลง)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองโดยภาพรวมแล้วมันก็ไม่มีกำไรหรือผลตอบแทนเพิ่มในระบบแต่อย่างใด มันเป็นแค่การถ่ายเทความมั่งคั่งชั่วระยะเวลาหนึ่งให้กับผู้เล่นอีกฝ่าย (คนหนึ่งได้คนหนึ่งเสีย แต่ทั้งระบบได้เท่าเดิม) เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่นักลงทุนทั้งกลุ่มเลิกถือหุ้นยาวและพยายามเอาชนะกันเอง การเล่น เกมหุ้น แบบนี้ระหว่างกันจัดเป็น Zero-sum game แม้การเล่นเกมแบบนี้จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ แต่ผลลัพธ์โดยรวมเป็นศูนย์

แต่นั้นคือตลาดหุ้นที่ยังขาดความจริงข้อหนึ่งครับ ถ้าเมื่อไหร่มีการพยายามซื้อขายกันเอง สิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามาคือ “ค่าใช้จ่าย” (Costs) ต้นทุนธุรกรรมทุกอย่างจะลดผลตอบแทนทั้งที่ผู้ชนะได้ไป และยังซ้ำเติมคนที่พลาด้วย จากเดิมไม่มีค่าใช้จ่ายมันเป็นแค่ zero-sum ผลลัพธ์โดยรวมศูนย์ พอเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายลงไป เท่ากับทั้งระบบมีแต่เสียเพิ่มขึ้น ท้ายสุดมันก็จะนำทั้งระบบไปสู่ Negative-sum game ที่ผลลัพธ์ทั้งหมดติดลบ

ก่อนการถูกหักค่าใช้จ่าย การพยายามเอาชนะตลาดให้ผลลัพธ์โดยรวมเป็นศูนย์ แต่หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว การพยายามเอาชนะตลาดหุ้น เป็นเกมที่มีผลลัพธ์ติดลบ เพราะฉะนั้น การลงทุนโดยที่คุณพยายามจะเอาชนะตลาดหุ้นจึงเท่ากับคุณพาตัวเองไปเล่นในสนามที่เป็นเกมของผู้แพ้ (Beating the stock market is a loser’s game.)

สำหรับนักลงทุนที่พยายามจะเอาชนะตลาด คุณกำลังเล่นเกมที่ทำให้ตัวเองก้าวไปสู่เกมแห่งผู้แพ้ แต่ในทางกลับกันมีผู้ที่ชนะในเกมนี้คือ ว่าแต่ใครคือผู้ชนะ? อาจมีคนตอบถูก

ผู้ชนะก็คือคนที่เก็บค่าใช้จ่ายจากนักลงทุนนั่นเองยังไงล่ะ บุรุษผู้คอยเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าต๋ง (the man in the middle) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือค่าคอมที่โบรกเกอร์เรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนอันแสนแพง ค่าธรรมเนียมขาย ค่าที่ปรึกษาการลงทุน ค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจ ค่าการตลาด ค่าที่ปรึกษาบัญชี-กฎหมาย ฯลฯ รวม ๆ แล้วก็คือค่าใช้จ่ายจากส่วนงานต่าง ๆ ในตลาดทุนนั่นล่ะครับ

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ถูก Warren Buffett เขียนในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Berkshire ครั้งหนึ่งว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คำนวณแล้วอาจจะถึง 20% ของผลตอบแทนจากกำไรที่ธุรกิจทำได้ในแต่ละปี ถ้าธุรกิจทั้งตลาดหุ้นทำผลกำไรได้ 1 ล้านล้าน นักลงทุนทั้งระบบปีหนึ่งก็จะเสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 ล้าน เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ นักลงทุนควรจะลงทุนแล้วก็นั่งเฉย ๆ เพื่อลดการเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ John Bogle ยังเขียนไว้ในหนังสือ The Little book of Common Sense Investing บอกให้เราคิดภาพของคาสิโน ตัวคาสิโนและบ่อนคือผู้ชนะระยะยาวที่แท้จริง จากการเก็บค่าต๋งค่าธรรมเนียมที่คุณจ่ายเพื่อเล่นพนัน ในตลาดหุ้นก็เช่นกัน คนเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็คือผู้ชนะแบบเงียบ ๆ (“Our financial croupiers always win. In the Casino, the house always wins. Investing is no different.”)

สุดท้ายแล้วการพยายามเอาชนะตลาดหุ้นก็นำไปสู่เส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะนำคุณไปสู่ผลลัพธ์ติดลบของเกมแห่งผู้แพ้ วิธีที่จะทำให้เราเล่นเกมที่ชนะ คือ คุณต้องลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นและถือยาว (Buy-and-hold strategy) โดยลงทุนด้วยวิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนเท่าตลาดหุ้น ลงทุนถือหุ้นส่วนใหญ่หรือทั้งตลาด ลงทุนถือยาวไปเรื่อย ๆ อาจจะตลอดเวลาและตลอดไปให้นานที่สุด โดยจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ หรือน้อยที่สุด นักลงทุนต้องเลิกที่จะพยายามจับจังหวะตลาด เลิกที่จะทำการซื้อขายบ่อย ๆ เลิกที่จะเปลี่ยนกองทุนไปมา เลิกที่จะคาดการณ์ตลาด เลิกที่จะพยายามหากองทุนผู้ชนะ และ เลิกที่จะพยายามชนะตลาด และทั้งหมดเหล่านี้ก็นำไปสู่หลักการที่เป็น คำแนะนำของนักลงทุนสำคัญหลายคน ที่ว่า

“จงลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด”

และต้องไม่ลืมหลักการเรื่อง ลงทุนระยะยาว ด้วยครับ

กองทุนดัชนี ในไทย (Index Funds in Thailand)

กองทุนดัชนี (Index Funds)

ในประเทศไทยนั้น ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์กองทุนรวม (mutual funds) กองทุนดัชนี กองแรกน่าจะเป็น SCBSET ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) โดยออกกองทุนมาตอนปี พ.ศ. 2539 ส่วนกองทุนรวมที่เลียนแบบดัชนี SET50 กองแรกคือ TMBSET50 ของบลจ.ทหารไทยในปี พ.ศ. 2544 ครับ ก็เกือบ 20 กว่าปีแล้วที่เกิดกองทุนรวมดัชนีในไทยขึ้นมา

ปรับปรุงบทความ 22/07/62

1. ดัชนีที่ กองทุนดัชนี ในไทยนิยมเลียนแบบ

ดัชนีที่เป็นที่นิยมเลียนแบบของ กองทุนดัชนี ในไทย คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ซึ่งถือว่าดีครับ เพราะเกณฑ์ในการคำนวณและคัดเลือกบริษัทเข้ามาประกอบดัชนีนั้น ใช้หลักการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) (ดูรายละเอียด)

โดยสรุปคร่าว ๆ ก็คือ ดัชนีประเภทนี้จะเป็นดัชนีแบบกระจายฐานกว้าง (broad-based) มีหุ้นหลายตัวประกอบกันโดยเรียงตามขนาดมูลค่าบริษัท (market cap) บริษัทไหนมีขนาดใหญ่ก็จะมีน้ำหนักในการลงทุนมากกว่า และการเปลี่ยนแปลงราคาในแต่ละวันก็จะทำการปรับมูลค่าใหม่ล่าสุดให้กับหลักทรัพย์แต่ละตัวเองครับ ถ้าหุ้นตัวนั้นมีมูลค่าตลาดตกลงมา น้ำหนักของมันในดัชนีก็จะลดน้อยลงไปอัตโนมัติ ทำให้ผู้จัดการกองทุนแทบจะไม่ต้องมายุ่งในการซื้อขายปรับเปลี่ยนสัดส่วนแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ ดัชนี SET Index จึงเป็นหนึ่งในดัชนีหุ้นที่ทำการเข้าซื้อและถือยาวได้ง่ายที่สุด (buy-and-hold strategy) และจะประกอบด้วยหุ้นหลากหลายตัวทำให้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ในไทยนั้นหลัก ๆ ก็จะมี ดัชนี SET, SET50, SET100 โดยตัวเลข 50-100 ก็คือจำนวนหุ้นที่จะต้องเลียนแบบครับ

ยกตัวอย่าง ดัชนี SET50 โดยปกติมูลค่าของมันก็จะมีน้ำหนักประมาณ 70-75% ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งค่อนข้างคล้ายกับ ดัชนี the S&P500 ที่มีน้ำหนักประมาณสามในสี่ของมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐ กองทุนที่เลียนแบบมักจะทำได้ไม่ยาก ทำให้สามารถจะ copy ลงทุนหุ้นได้ครบ (full replication)

ส่วนดัชนี SET100 นั้น กองทุนอาจจะมีหุ้นไม่ถึง 100 ตัว หรือกรณีเลียนแบบ SET ยังไงก็คงลงทุนไม่ครบ 500-600 ตัวแน่ ๆ เพราะหุ้นตัวเล็ก ๆ สภาพคล่องในการซื้อขายยิ่งต่ำ หากแต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เขาสามารถใช้วิธีปรับสัดส่วนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีได้โดยไม่ต้องมีหุ้นทุกตัวครบ คือ อาจจะคำนวณโดยใช้โปรแกรมว่าต้องเพิ่มลดน้ำหนักของหุ้นตัวไหนจึงจะใกล้เคียงกับการลงทุนตามดัชนีนั้น ๆ มากที่สุด (optimization)

ข้อมูลผมอาจจะตกหล่น แต่เท่าที่สำรวจดู ข้อเสียอย่างหนึ่งของกองทุนรวมโดยเฉพาะกองทุนเปิดในบ้านเรานั้น ไม่มี กองทุนดัชนี สินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น กองทุนดัชนีตราสารหนี้ กองทุนดัชนีอสังหาริมทรัพย์ มาเป็นตัวเลือกให้นักลงทุน (ต่างประเทศมีและนิยมมากด้วย) ก็จะต้องทำการรอคอยกันต่อไปว่า บลจ. เจ้าไหนจะเข็นมันออกมาก่อน

2. แนวทางลงทุนกองทุนดัชนี 

ด้วยความครบครันของดัชนี SET Index ไม่ว่าจะมีลักษณะตามเกณฑ์ market cap-weighted, เป็น broad-based index จึงทำให้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี (broad diversification) และอย่างดัชนี SET50 นั้นลงทุนตามได้ง่าย ลงทุนหุ้นครบทั้ง 50 ตัวได้ด้วยวิธี full replication ซึ่งจะทำให้กองทุนสามารถคิดค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ได้ ทำให้กองทุนดัชนีในไทยเราที่เป็น กองทุนดัชนีหุ้น SET50 จึงค่อนข้างจะเหมาะสมในการถือครองระยะยาว ประเด็นนี้ค่อนข้างคล้ายกับกองทุนดัชนีหุ้นสหรัฐที่มักจะนิยมเลียนแบบดัชนี the S&P 500

อนึ่ง กองทุนดัชนีที่เหมาะสมจะลงทุนนั้น ยังต้องคำนึงถึง ค่าใช้จ่าย เป็นสำคัญ จะต้องมีค่าใช้จ่ายรวมที่ต่ำมาก ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี (lower or lowest-cost index funds)

ยิ่งสมมติคุณลงทุนกองทุนดัชนี SET50 ก็ในเมื่อทุกอย่างมันเหมือนกันหมด กองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET50 ต้องลงทุนหุ้นทุกตัวเหมือนกัน ต้องทำผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี SET50 เมื่อมันไม่มีความต่าง คุณจึงควรเลือกกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่าย ต่ำที่สุด ครับ

นอกจากนี้ กองทุนดัชนีไม่ควรมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ เช่น ไม่ควรมีธรรมเนียมในการซื้อขาย (no-load) แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายที่เก็บเข้ากองทุนประเภทค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (transaction fees) แบบนี้ยอมรับได้

อีกประเด็นคือ นักลงทุนควรลงทุนระยะยาวในกองทุนหุ้นอย่างน้อย 7-10 ปีขึ้นไป ดังนั้น นักลงทุนย่อมไม่ควรลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีนโยบายในการจ่ายปันผล (ดูข้อเสีย)

ข้อมูลด้านล่างนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลกองทุนดัชนีหุ้นไทย โดยจะตัดกองทุนเปิดดัชนีที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลทิ้งไป เช่น TMB50DV, T-SET50 และบางกองทุนที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายรวมทุกอย่างสูงเกิน 1% ไปมาก หรือบางกองที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่ำเกินไป เช่น ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ที่มีโอกาสอาจจะถูกปิดหรือเลิกกองทุน

อนึ่ง นักลงทุนต้องระวังกองทุนรวมที่มีคำว่า SET50, SET100 แต่ไม่ใช่กองทุนดัชนีนะครับ เช่น 1AMSET50, KFENSET50 พวกนี้เป็น actively managed funds ไม่ใช่กองทุนดัชนีแบบเชิงรับแท้ (passive index funds) 

ข้อมูลด้านล่างนี้เก็บรวบรวมมา ณ วันที่ 22/07/2562 ก็จะพยายามอัพเดตอย่างน้อยทุกครึ่งปีครับ

(1) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (fee in-out) คือ คือค่าใช้จ่ายเวลาเราซื้อหรือขายกองทุนซึ่งทำให้กองทุนมีการเคลื่อนไหวเพราะเงินเราไหลเข้าออก กองทุนจึงเก็บค่าใช้จ่ายจากเราโดยตรง จะได้ไม่กระทบกับเงินลงทุนของคนอื่นที่เขาไม่ได้มาซื้อขายกับเราด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือก็เก็บเข้ากองทุน ทำให้ค่าใช้จ่ายตัวนี้โอเคและสมเหตุสมผลในการเก็บครับ

(2) ค่าธรรมเนียม (Load – front, back) คือค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายกองทุน ซึ่งกองทุนดัชนีที่ดีไม่ควรมีพวกนี้ครับ (no-load)

(3) Expense Ratio (Total expense ratio – TER) เป็นอัตราค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวม ซึ่งคิดรวมแล้วทั้งค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุน ค่าดูแลกองทุน ค่านายทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นอันแสนจะยิบย่อย (-_-“) ผลตอบแทนส่วนใหญ่ในระยะยาวของเราจะหายก็เพราะตัวนี้ครับ สำคัญมาก (ตัวเลขที่เอามาคือเป็นตัวเลขรวมภาษี บางกองทุนโชว์ก่อนภาษีผมก็ทำการเหมาคร่าว ๆ โดยคูณ 1.07 เข้าไป)

(4) Turnover rate expense คือ ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดจากการที่กองทุนทำการซื้อขายหุ้นของกองทุน หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการหมุนเวียนซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน เพราะทุกครั้งที่กองทุนมีการเคลื่อนไหว มีการซื้อขายหุ้นในพอร์ตก็จะต้องจ่ายค่าคอมให้โบรกเกอร์ทั้งหลาย ซึ่งปกติมันควรจะน้อยครับเพราะส่วนใหญ่กองทุนพวกนี้ก็ควรจะถือหุ้นยาว

หากท่านไม่เข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมที่กล่าวไปข้างบน ทุกท่านควรจะอ่านและทำความเข้าใจให้ดีกับรายละเอียดของค่าใช้จ่ายแต่ละตัวตามบทความนี้ >> ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม

ช่องสุดท้าย คือ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับในท้ายที่สุด ดูไว ๆ ช่องนี้ได้เลย 

Annotation 2019-07-22 191347

* Class E เป็นกองทุนที่ทางบลจ.ไทยพาณิชย์กำหนดให้ซื้อผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือดิจิตัลเท่านั้น โดยจะยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ แต่จะมีเงื่อนไขว่าห้ามซื้อกองทุนพวกนี้เกิน 1 ล้านบาท หรือลงทุนไปแล้ว ถ้ามูลค่าเงินลงทุนของเงินกองทุน Class E ทุกกองที่ลงทุนไปเติบโตไปเกิน 1 ล้านบาท ก็จะซื้อเพิ่มอีกไม่ได้ รายละเอียดโปรดดูที่เว็บไซต์ของทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ เองนะครับ

จากรูปข้างบนนั้นก็จะเห็นได้ว่า กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายรวมต่ำที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ พวกกองทุน Class E ของบลจ.ไทยพาณิชย์ (0.10-011%) แต่ถ้าไม่นับ Class E ก็จะเป็นกองทุน K-SET50 (0.57%) ของค่ายบลจ.กสิกร

ส่วนหมวดกองทุนประหยัดภาษีนั้นต่ำสุดในหมวด LTF คือ KLTF50 (0.76%) ถ้าเป็นหมวด RMF ก็คือ SCBRMS50 (0.69%) ครับ

ต้องเข้าใจว่าต่อให้ต่ำสุดในหมวดนั้นแต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกิน 1% ต่อปี กองทุนดัชนีกองนั้นก็จะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสักเท่าไหร่ครับ มันต้องรวมกันสองอย่างคือ เป็น “กองทุนดัชนี” และต้องมี “ค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด” 

* Class E เป็นกองทุนที่ทางบลจ.ไทยพาณิชย์กำหนดให้ซื้อผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือดิจิตัลเท่านั้น โดยจะยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ แต่จะมีเงื่อนไขว่าห้ามซื้อกองทุนพวกนี้เกิน 1 ล้านบาท หรือลงทุนไปแล้ว ถ้ามูลค่าเงินลงทุนของเงินกองทุน Class E ทุกกองที่ลงทุนไปเติบโตไปเกิน 1 ล้านบาท ก็จะซื้อเพิ่มอีกไม่ได้ รายละเอียดโปรดดูที่ เว็บไซต์ของทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ เองนะครับ

ค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นและความหวัง

ถามว่าค่าใช้จ่ายกองทุนดัชนีในบ้านเรานั้นต่ำหรือยัง คำตอบคือยังครับ ค่าเฉลี่ยจริง ๆ ค่าใช้จ่ายรวมไม่ควรเกิน 0.5% ควรจะต่ำกว่านี้ ลองดูกองทุนดัชนีของสหรัฐก็จะอยู่ที่ 0.1 – 0.3% ต่อปีครับ (ต่ำสุดเลยคือ 0.05%!) แต่ถามว่าค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุนดัชนีหุ้นไทย ต่ำ ๆ ก็อยู่ที่ 0.6 – 0.8% ต่อปี ก็ถือว่าน้อยกว่าเกือบ 2-3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปหากลงทุนในกองทุนบริหารจัดการที่คัดเลือกหุ้นรายตัว (actively managed funds) ครับ

ค่าเฉลี่ยที่ผมเคยสำรวจนั้น กองทุนบริหารจัดการในไทยมีค่าใช้จ่ายหลักและค่าใช้จ่ายแฝงรวมกันประมาณ 1.75 – 2.50% ต่อปีเลยทีเดียว ระยะยาวส่วนต่างพวกนี้จะถ่างผลตอบแทนออกเยอะมากครับด้วยพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น

แล้วถามว่ากองทุนรวมในไทยที่เป็นกองทุนบริหารทำผลตอบแทนได้แย่กว่าดัชนีหรือตลาดหุ้นหรือไม่ โปรดลองอ่านบทความเหล่านี้ครับ มายาคติและการเสียเวลาดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวม และ ผลตอบแทนของหุ้นและตลาดหุ้น แล้วจะเห็นว่ากองทุนผู้ชนะตลาดหุ้นอย่างสม่ำเสมอนั้นมีน้อยจริง ๆ และผู้ชนะในวันนี้ก็อาจจะเป็นผู้แพ้ในวันหน้าได้

นอกจากนี้ นักลงทุนก็ไม่มีวิธีไหนทำนายได้ด้วยว่า กองทุนไหนจะเป็นที่หนึ่งในอีก 20-40 ปีข้างหน้า โดยปกติการเสียเวลามานั่งหากองทุนบริหารที่จะเป็นผู้ชนะ มักจะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผลตอบแทนด้อยลงครับ

Searching for superior active funds is an inferior strategy.“— Richard A. Ferri

3. กองทุนดัชนีที่ลงทุนดัชนีหุ้นต่างประเทศ

มีกองทุนดัชนีอีกประเภทในไทยที่ส่วนตัวผมอยากเตือนให้นักลงทุนระวังคือ กองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Fund – FIF) ไม่ว่าจะเป็น Fund of Funds หรือ Feeder Fund พวกนี้มีการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่แพงมาก และเก็บซ้ำซ้อนจนลดทอนผลตอบแทนที่นักลงทุนควรได้ จนอาจไม่คุ้มค่าในระยะยาวที่จะลงทุนครับ

ยกตัวอย่าง กองทุนที่ลงทุนในดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่น นักลงทุนซื้อตอนแรกก็โดนค่าธรรมเนียมขาย (front-load) ไป 1.0 – 1.5% กองทุนพวกนี้เอาเงินท่านไปซื้อ ETF ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 0.3 – 0.4% ต่อปี แล้วกองทุนในไทยยังเก็บค่าใช้จ่ายท่านซ้ำอีก เช่น บางเจ้าเก็บปีละ 1.0 – 1.5% ต่อปี สรุปแล้วปีแรกท่านก็เสียค่าใช้จ่ายไปรวมร่วม ๆ 2 – 3% พอถือไปเรื่อย ๆ ปีหลัง ๆ ก็เสียอีก 1.5 – 2.0% ต่อปี

ถ้าระยะยาวดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี ท่านก็จะโดยกินผลตอบแทนไปแล้วเกือบร้อยละ 20 ผ่านค่าใช้จ่ายที่เสียไปในแต่ละปี ส่วนตัวผมจึงแทบไม่แตะต้องกองทุนพวกนี้เลย ค่าใช้จ่ายที่แพงขนาดนี้ ระยะยาวย่อมลดทอนข้อดีที่จะได้จากการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนต่างประเทศครับ

อนึ่ง มีคำกล่าวว่า การกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศประกอบในพอร์ตฟอลิโอถือเป็น free-lunch ในการลงทุน แต่ถ้าถูกคิดค่าใช้จ่ายแพงขนาดนี้นอกจากเราจะไม่มี free-lunch อาหารกลางวันให้กินแล้ว เรายังต้องจ่ายอาหารเช้าและเย็นให้กับอุตสาหกรรมกองทุนรวมด้วย

แล้วควรจะลงทุนอย่างไรดี?

จริง ๆ การลงทุนกองทุนดัชนีในไทยตอนนี้ เมื่อเริ่มจากหลักการว่าลงทุนระยะยาวเป็นประจำ สม่ำเสมอ ตามช่วงเวลาที่กำหนดเช่นทุกเดือน โดยที่กองทุนดัชนีนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด การลงทุนตามแนวทางข้างต้นในปัจจุบัน จึงควรจะลงทุนใน class e ของบลจ.ไทยพาณิชย์เป็นอันแรก จะกองทุน SETE หรือ SET50E ลงทุนให้ครบสิทธิที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเสียก่อน เพราะจะได้ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายรวม ๆ ต่ำที่สุดแล้ว ราว ๆ 0.1-0.2% ที่เหลือเกินล้านค่อยไปลงทุนกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดกองอื่น ซึ่งจากตารางข้างบนก็คือ K-SET50

ผมว่าสิทธิ 1 ล้านนี่ เอาจริงคือไม่เลวเลยนะครับ โดยเฉพาะคนที่เริ่มลงทุนหรือคนที่จบใหม่เริ่มงาน สมมติเงินเดือน 15,000 คุณเก็บ 2,000 ปีละ 24,000 กว่าจะไปทะลุครบล้านนี่ก็ได้อีกหลายปี แม้กระทั่งคนที่ลงทุนอยู่แล้ว ในเมื่อคุณสามารถลงทุนใน 1 ล้าน class e ได้ด้วย เราก็ควรจะลงให้เต็มก่อน ค่อยไปที่อื่น เป็นหนึ่งล้านที่ทุกคนได้สิทธิฟรี ๆ กันหมด อยู่ที่จะลงทุนไม่ลง

ถ้าเรายึดตามหลักการกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ พวกตระกูล e class ของบลจ.นี้ ณ ตอนนี้คือให้สิทธิตามนี้จริง ๆ ในอนาคตถ้ามีบลจ.ไหนทำได้ดีกว่า เราก็ลงทุนไปตามนั้น สมมติบลจ.ที่มีกองทุนดัชนีตอนนี้ทำ e class ออกมาอีก เราอาจจะได้ e class รวมกันหลายบลจ. เพิ่มอีก 5 ล้าน (สมมติมี 5 บลจ. ออก e class) แบบนั้นก็อาจกระจายลงทุนไปบลจ.ละล้าน ไม่มีอะไรห้าม ขนาดเงินฝาก เรายังนั่งหาโปรดอกเบี้ยสูงเลย นี่พวกกองทุนรวมคือทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายต่ำเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างหนึ่ง

เอาแค่ 1 ล้าน สมมติลงในกองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET Index สมมติผลตอบแทนระยะยาวทบต้น 30 ปีข้างหน้าคือ 9% ต่อปี คุณลงกองทุนดัชนี A ที่คิดค่าใช้จ่าย 0.1% ต่อปี ผลตอบแทนจะเหลือ 8.9% ต่อปี คุณลงกองทุนดัชนี B ค่าใช้จ่าย 0.6% ต่อปี ผลตอบแทนเหลือ 8.4% เงินหนึ่งล้านในกอง A จะเป็น 12.9 ล้าน กอง B จะเป็น 11.24 ล้าน ต่างกัน 1.6-1.7 ล้านบาท ถ้านานกว่านั้นตัวเลขก็จะถ่างออกไปมาก ๆ ครับ

ทวนกันอีกรอบ เราไม่ภักดีกับบลจ.ไหน เพราะเราจะลงทุนในบลจ.ที่มีกองทุนดัชนีที่ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เพราะในแง่หนึ่ง เราถือว่าบลจ.ที่ออกกองทุนดัชนีค่าใช้จ่ายต่ำมาก ๆ นั้นปฏิบัติกับเรานักลงทุนอย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงพวกเราเป็นสำคัญแล้ว แม้อาจจะไม่ที่สุด แต่การได้จุดเริ่มต้นระบบที่ 1 ล้านเท่านั้น ก็เป็นจุดเริ่มที่ดีครับ

ทั้งนี้ กองทุนคลาส e ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการยังรวมไปถึงกองทุนดัชนีต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้น กองทุนดัชนีหุ้นต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำแบบนี้ก็เพิ่มความน่าสนใจสำหรับการลงทุนพวกกองทุนดัชนีที่ไปลงทุนในกองทุนดัชนีต่างประเทศ ที่กองแม่ในตปท.ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่เยอะด้วย อย่างกอง SCBS&P500 ที่ค่าใช้จ่ายกอง class e ในไทยมีค่าใช้จ่ายราว ๆ 0.1% กว่า และไปลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ SPDR S&P 500 ETF Trust ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อปีราว 0.1% ค่าใช้จ่ายรวมจึงตกอยู่ราว ๆ 0.2%+ ก็ใช้ได้อยู่ครับ ไม่เหมือนกับกองทุนแบบไม่ class e ที่ค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่า 1.2%

โปรดอย่าลืมว่า…

อะไรที่คุณไม่จ่ายออกไปในการลงทุน ในด้านหนึ่งมันก็คือผลตอบแทนที่คุณได้รับ ยิ่งคุณจ่ายค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่ในการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนกองทุนรวม ผลตอบแทนที่คุณจะได้รับก็จะน้อยลงไป

“The Fact is that the reverse is true : the more you pay, the less your earn.” — John C. Bogle[1. John C. Bogle, Bogle On Mutual Funds: New Perspectives For The Intelligent Investor (Hoboken: Wiley, 2014), 208.]

ตรวจสอบค่าใช้จ่ายรวมทุกอย่างให้ดีก่อนที่จะลงทุนในอะไรก็ตามครับ เพราะโดยทั่วไปแล้วนั้น ค่าใช้จ่ายที่ต่ำย่อมนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับนักลงทุน

“Other things equal, lower costs mean higher returns.” — John C. Bogle[1. ibid., 253]

อยากให้อ่านบทความนี้ต่อครับ 

I. DCA กับคำแนะนำของกูรู

II. ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลตอบแทนหุ้นและตลาดหุ้น

III. ความเชื่อเกี่ยวกับผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน 

—♦ ข้อมูลอ้างอิงค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมดัชนี จัดทำ ณ วันที่ 22/07/2562

Annotation 2019-07-22 191453

ประวัติกองทุนดัชนี : ประวัติศาสตร์ของผู้ชนะแห่งวงการลงทุน

การศึกษาเกี่ยวกับ ประวัติกองทุนดัชนี จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับการลงทุนกองทุนดัชนี เพราะเมื่อเราลองย้อนดูประวัติศาสตร์ของมัน เส้นทางต่อสู้ของการลงทุนเชิงรับ (passive investment) ความลำบากกองทุนดัชนีที่กว่าจะมีวันนี้ได้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า กองทุนพวกนี้ก็เจ็บมาเยอะพอดู

และที่ ๆ บทความนี้จะพาไปย้อนอดีตคือ สหรัฐ (USA) เพราะกองทุนดัชนีสำหรับนักลงทุนรายย่อยเกิดขึ้นที่นั่นเป็นครั้งแรกครับ

1. ช่วงก่อนการเกิดขึ้นของกองทุนดัชนี

ประวัติกองทุนดัชนี ก่อนยุค 1960 โปรดนึกภาพก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนปี พ.ศ. 2500 วงการลงทุนอยู่ในมือของผู้จัดการกองทุนซึ่งบริหารจัดการคัดเลือกหุ้นเพื่อหาผลตอบแทนสูงสุด (Actively Managed Funds) อันที่จริงสมัยนั้นอุตสาหกรรมกองทุนรวมยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างเล็กมากครับ แต่ภาพรวมคือ จะมีผู้จัดการกองทุนหรือผู้จัดการเงินทุนเป็นคนวิเคราะห์หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่จะลงทุน ไม่ก็เป็นคนตัดสินใจโดยมีฝ่ายวิจัย นักวิเคราะห์หรือที่ปรึกษามาร่วมทีมลงทุนด้วย

ช่วง 1960s-1970s ช่วงนี้เป็นยุคคล้าย ๆ ยุค renaissance และปฏิวัติวงการลงทุน เพราะเป็นช่วงเวลาที่วงการศึกษา (academic) ศาสตราจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีบทวิจัยจากโรงเรียนธุรกิจ (business school) ตามมหาวิทยาลัยดัง ๆ อาทิ Wharton Chicago เข้ามาพลิกวงการลงทุน อีกทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนในยุคถัด ๆ ไป เพราะผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็ออกมาทำงานในวงการลงทุน และเอาสิ่งที่เรียนรู้มาขยายในภาคปฏิบัติจริง ทำให้วงการศึกษาครอบงำตลาดทุนในยุคหลัง ๆ ครับ

คนในวงการที่เปลี่ยนโลกลงทุนในยุคนี้ก็เช่น Harry Markowitz ผู้ที่ได้ทำให้เกิดหลักการลงทุนที่ฮิต ๆ กันต่อมาคือ “อย่าใส่ไข่ทุกใบไว้ในตะกร้าใบเดียว” (don’t put all your eggs in one basket.) คือ มันถูกสกัดมาจากทฤษฎีการเงินสำคัญที่ยังเป็นเสาหลักของการเรียนการสอนอยู่ทุกวันนี้ในเรื่องของ “Portfolio Selection” ความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์รายตัวไม่สำคัญเท่าความเสี่ยงที่ทั้งพอร์ตลงทุนแบกรับครับ ถ้าคุณลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี (well-diversified) คุณจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นโดยที่ความเสี่ยงลดลง

เริ่มแรกมาร์โควิซเป็นคนเริ่ม แล้วมีคนหลัง ๆ ที่สำคัญอีกหลายคนมาช่วยต่อยอดพัฒนาทฤษฎีให้เข้มแข็งขึ้น อาทิ Kenneth R. French, Eugene Fama และได้พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมาเป็น Modern Portfolio Theory (MPT) ในปัจจุบันครับ

ยุคนี้อีกทฤษฏีหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือทฤษฎี “Market Efficiency” (ตลาดที่มีประสิทธิภาพ) คือทฤษฎีนี้บอกว่า ถ้าตลาดทุนมีประสิทธิภาพในระดับสูงสุด การใช้วิธีลงทุนแบบเทคนิค แบบปัจจัยพื้นฐาน และแม้กระทั่งข้อมูลภายในก็ไม่สามารถหาประโยชน์หรือทำผลตอบแทนส่วนเกินได้ เพราะตลาดจะรับรู้ข่าวสารทุกอย่าง และราคาที่ปรากฏของหลักทรัพย์ เช่น ราคาหุ้น นั้น ได้สะท้อนข่าวสารและความคาดหวังไปหมดแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือ เลิกคิดที่จะชนะตลาดซะ มันไปถึงขั้นนั้นเลย

2. ประวัติกองทุนดัชนี : ก้าวแรกของการเกิดขึ้นมา

ยุค 1970-1990s ยุคนี้คือช่วงแรกที่เกิดกองทุนดัชนีครับ เพราะยุคก่อนหน้านั้นมันมีทฤษฎีทางการเงินมารองรับถึง 2 อย่างคือ ทฤษฎีตลาดที่มีประสิทธิภาพ และทฤษฎีพอร์ตฟอลิโอสมัยใหม่ (เรื่องของการผสมสินทรัพย์ลงทุน) คราวนี้นักลงทุนสถาบันก็เริ่มเรียกหาตัวช่วยที่จะลงทุนตามทฤษฎีเหล่านี้ได้ขึ้นมา ประกอบกับการมีหนังสือสำคัญ ๆ ที่ออกมากระแทกแสกหน้าวงการลงทุน ที่ยังครองโดยผู้จัดการกองทุน 100% นั่นคือ

ในปี 1973, ศาสตราจารย์ Burton G. Malkiel ตีพิมพ์หนังสือชื่อ A Random Walk Down Wall Street เผยแพร่ทฤษฎีเดินสุ่ม มาย้ำอีกทีว่า ในตลาดทุนหรือตลาดหุ้นนั้น การเคลื่อนไหวของราคาไม่สามารถทำนายได้โดยวิธีการใด ๆ และการลงทุนด้วยวิธีเทคนิค วิธีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน วิธีจับจังหวะตลาดก็ไม่ได้ผลในตลาดหุ้น (หนังสือเล่มนี้ดีมาก ๆ ควรอ่านครั้งหนึ่งในชีวิตการลงทุนครับ)

พอช่วงปี 1975-1976 ก็มีแรงกระแทกจาก Charles D. Ellis ตีพิมพ์บทความเรื่อง “The Loser’s Game” (เกมแห่งผู้แพ้) ที่บอกว่า  การลงทุนคือเกมคล้าย ๆ เทนนิสมือสมัครเล่น ใครที่ตีพลาดน้อยกว่ามักจะเป็นฝ่ายชนะ และคนที่พยายามจะเคลื่อนไหวมาก ๆ เช่น พวกผู้จัดการกองทุนที่ซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ จะเป็นผู้ที่แพ้ครับ อีกทั้งยังตีแผ่อีกว่า ที่ผ่านมานั้นผู้จัดการกองทุนโดยเฉลี่ยนั้นเขาบริหาร Actively Managed Funds ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นอย่างมาก นักลงทุนสถาบันกว่า 85% ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าดัชนี The S&P500[1. John C. Bogle, Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor, Fully Updated 10th Anniversary Edition ed. (Hoboken: Wiley, 2010), 153.] หรือพูดอีกแบบก็คือ ลงทุนได้ผลตอบแทนเท่าดัชนีก็ถือว่าได้ผลตอบแทนมากกว่ากองทุนแบบบริหารจำนวนกว่า 70-80% จากทั้งหมดครับ

คราวนี้เรื่องมันส์ ๆ และความมหัศจรรย์ของกองทุนดัชนีก็ได้เริ่มบังเกิดขึ้น

ไอเดียเกี่ยวกับกองทุนที่ทำการลงทุนหุ้นตามน้ำหนัก (market-weighted) เลียนแบบดัชนี the S&P500 ได้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกในปี 1971 ที่สัมมนาโรงเรียนบริหารธุรกิจ Harvard โดย Batterymarch Financial Management แต่ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก หากแต่กองทุนดัชนีที่มีชีวิตได้เกิดขึ้นครั้งแรกโดยธนาคาร Wells Fargo ซึ่งสร้างบัญชีกองทุนเกษียณอายุ (pension fund) ลงทุนเลียนแบบหุ้นในตลาดหุ้น NYSE ในลักษณะลงทุนน้ำหนักเท่ากัน (equal-weighted) หากแต่ประสบปัญหาความยุ่งยากลำบากในการบริหารจัดการอย่างมาก จนตอนหลังต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีลงทุนเลียนแบบตามน้ำหนักของดัชนี the S&P500 แทน[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 44.]

ผ่านไปประมาณ 5 ปี บลจ.แวนการ์ด (Vanguard) โดย John C. Bogle ก็สร้างกองทุนดัชนีออกมาโดยเลียนแบบดัชนี the S&P500 Index โดยในปี 1976 วันที่ 30 สิงหาคม Vanguard ได้ออกกองทุน VFINX ซึ่งเป็นกองทุนดัชนีกองแรกสำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป (individual investors) โดยมีเงินลงทุนตอนแรกที่นักลงทุนซื้อกองทุน VFINX เพียงแค่ $11.4 million (สิบเอ็ดล้านเหรียญสหรัฐ) เท่านั้น

3. เสียงเยาะเย้ยจากวงการ Wall Street

สิ่งที่วงการกองทุนรวมตอบรับกองทุนดัชนีคือ “เสียงหัวเราะและเยาะเย้ย” บ้างก็ว่าเป็นความโง่เขลาของโบเกิล (Bogle’s Folly) วงการกองทุนรวมตั้งคำถามว่า “ใครกันจะต้องการกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเท่ากับค่าเฉลี่ย(ของตลาด)?”

สมัยนั้นบลจ.ที่ใหญ่สุดในวงการคือ Fidelity ผู้บริหารได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “I can’t believe that the great mass of investors are going to be satisfied with just receive average returns.”[1. ibid., 46.] (ประมาณว่า จะบ้าหรอ! นักลงทุนคนไหนหรือใครกันจะมาพอใจกับผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าตลาดหุ้น)

บางโบรกเกอร์ก็โจมตีว่า กองทุนดัชนีพวกนี้ไม่ดี เวลาขายให้นักลงทุนก็จะบอกว่า คุณจะเอาหรอ จะลงทุนจริงหรือกับกองทุนพวกนี้ นี่มันเป็นกองทุนสำหรับนักลงทุนที่เป็นแค่พวกค่าเฉลี่ยนะ (average fund for average person) กระตุ้นให้คนซื้อรู้สึกแย่เวลาซื้อกองทุนดัชนี

ถามว่าจริง ๆ แล้ว สาเหตุที่พวกเขาไม่ชอบกองทุนดัชนีนั้นไม่ใช่อะไรครับ กองทุนดัชนีของ Vanguard ประมาณสองปีหลังก่อตั้งมาได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมในการขาย (Sale Front-Load) ทำให้เวลานักลงทุนมาซื้อกองทุนพวกนี้ คนขายเช่นโบรกเกอร์  ตัวแทนขาย ที่ปรึกษาการลงทุน ไม่ได้ค่านายหน้าครับ

พูดให้เห็นภาพก็คือโดยปกติสมัยนั้น กองทุนหุ้นทั่วไปมีค่าธรรมเนียมในการขายสูงมาก ประมาณ 5-10% ลองคิดภาพ คุณลงทุนไป 10,000 เหรียญ คุณได้ลงทุนจริง 9,000-9,500 ส่วนที่หายไป 500 ก็เข้ากระเป๋าคนขายซะ แถมถือไปเรื่อย ๆ ก็มีค่าใช้จ่ายอีกปีละประมาณ 1.5-2.5% ต่อปี

ในขณะที่กองทุนดัชนี S&P500 ของแวนการ์ดสมัยนั้นคิดค่าใช้จ่ายปีละ 0.25% ต่อปี เท่ากับประหยัดจากปกติ 1.25-2.25% ต่อปี มาตุนเป็นผลตอบแทนไว้ในกระเป๋าของเราเอง แถมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมซื้อขายให้ตัวแทนขายคนไหนด้วย ก็ใช้เวลาประมาณ 10 กว่าปี คือใกล้ ๆ ปี 1985 กองทุน Vanguard S&P500 ถึงมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนโตจาก 10 ล้านตอนแรกเป็น 1,000 ล้านเหรียญ

4. การต่อสู้ของกองทุนดัชนีอย่างไม่ย่อท้อ

ยุค 1990 เป็นต้นมา พอเวลาผ่านไป ด้วยความไม่ย่อท้อและความพิสูจน์ได้ของกองทุนดัชนีว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำของมัน ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บน้อยมาก ๆ กลยุทธ์ลงทุนที่เลียนแบบและถือหุ้นยาวสามารถเอาชนะกองทุนรวมแบบบริหารจัดการส่วนใหญ่ได้ในระยะยาว งานวิจัยสมัยนั้นก็ตีพิมพ์รัว ๆ ว่า กองทุน actively managed funds ไม่ได้สร้างคุณค่าหรือทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีเลย พวกมันแพ้ตลาดและแพ้กองทุนดัชนีหลุดรุ่ย ทำให้กระแสความนิยมในกองทุนดัชนีมีสูงขึ้น

พอถึงปี 1993 เงินลงทุนในกองทุนดัชนีก็ขยับมาเป็น $125bn (125,000 ล้านเหรียญ) คิดเป็น 4% ของเงินลงทุนในกองทุนรวมสมัยนั้น มันนิยมมากจนกระทั่งคนที่ดูถูกมัน เช่น Fidelity ต้องกลืนน้ำลายตัวเองและออกกองทุนดัชนีมาขายนักลงทุนบ้าง รวมถึงการเกิดขึ้นมาของกองทุน ETF ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็เป็นตัวเร่งให้การลงทุนกองทุนดัชนีและการลงทุนเชิงรับกลายเป็นกระแสหลักขึ้นมา จากจำนวนกองทุนดัชนี 1 กองทุนในปี 1976 เป็น 2 กองทุนในปี 1980 เป็น 18 กองทุนในปี 1990 เป็น 310 กองทุนในปี 2000 เป็น 900 กองทุนในปี 2010[1. ibid., 8.] และปัจจุบันมีกองทุนดัชนีมากเกินกว่า 2,000 กองทุนไปแล้ว!

5. ประวัติกองทุนดัชนี ในยุคสมัยใหม่ :การก้าวสู่ชัยชนะ

ด้วยเวลาที่นานพอก็ทำให้คนเห็นอะไรอีกหลายอย่าง เช่น ตอน Vanguard ตั้งกองทุนดัชนีออกมา มีกองทุนหุ้นทั่วไป (general equity) ตอนนั้น 211 กอง พอมาถึงยุคล่าสุดเหลือผู้อยู่รอดเพียง 50 กองทุนในปัจจุบัน และส่วนใหญ่ทำผลตอบแทนแพ้กองทุนดัชนีของ Vanguard ด้วย เงินลงทุนก้อนใหม่ ๆ จึงหลั่งไหลเข้าสู่กองทุนรวมดัชนี

ตัวเลขปี 2015 นั้นมีเงินลงทุนในกองทุนรวมดัชนีหุ้น $4 trillion หรือประมาณ 33% ของเงินลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมด และกระแสเงินลงทุนใหม่ ๆ ในปัจจุบันก็ไหลเข้ากองทุนดัชนีเรื่อย ๆ ครับ

ส่วนกองทุน Vanguard S&P500 พระเอกของเรานั้นปัจจุบันก็เป็นกองทุนรวมหุ้น (mutual equity fund) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาครับ ล่าสุดคือขนาดทรัพย์สินสุทธิประมาณ $230bn (230,000 ล้านเหรียญ) และคิดค่าใช้จ่ายเพียง 0.16% ต่อปี แต่ถ้าลงทุนด้วยเงินจำนวนสูงขึ้นต่องวด (VFIAX) ค่าใช้จ่ายรวมจะเหลือ 0.05% ต่อปี !! และผลตอบแทนทบต้นของมันตั้งแต่ก่อตั้ง 1976-2015 (ประมาณ 40 years) คือ 10.8% ต่อปีครับ

6. บทสรุป

จะเห็นได้ว่า กว่ากองทุนดัชนีกว่าจะได้รับความนิยมสุดๆจริง ๆ ก็ใช้เวลาเกือบ 20 ปีนับแต่กองแรกถูกสร้างขึ้นมา แต่การเกิดขึ้นมาบนโลกของมันเป็นประโยชน์กับนักลงทุนส่วนใหญ่ครับ กองทุนดัชนีในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยม และคนส่วนใหญ่ก็ได้รับสารจากแหล่งต่าง ๆ ว่า ให้ลงทุนในกองทุนแบบบริหาร (actively managed funds) เป็นหลัก บ้างก็ว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่กองทุนดัชนีจะชนะกองทุนบริหารในไทยได้ (อันนี้ไม่จริงนะครับ สามารถอ่านบทความอื่น ๆ ในเพจนี้ประกอบได้)

ผมขอจบบทความด้วยข้อคิดจาก John Bogle ที่ว่า

Don’t look for the needle in the haystack. Just buy the haystack![1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007) 86.]

แทนที่จะงมหากองทุนบริหารที่เป็นที่หนึ่งในอนาคต (ซึ่งไม่มีใครทำนายได้) หรือแทนที่จะเลือกหุ้นเลือกหลักทรัพย์เองรายตัว หรือแทนที่จะมัวมานั่งงมเข็มกองทุนที่สุดยอดที่สุดจากกองฟาง ประวัติศาสตร์ของกองทุนดัชนีได้แสดงให้เห็นแล้วว่า

“ซื้อทั้งกองฟางไปเลย อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า”

Index Fund ดีไหม : รวมคำแนะนำเกี่ยวกับ กองทุนดัชนี

Index Fund หรือกองทุนดัชนี ถือว่าเป็นเครื่องมือในการลงทุน ที่บรรดานักลงทุนชั้นเอกชั้นเซียน และตำนานในวงการการเงินและการลงทุนหลายคนของโลกนั้น ให้คำแนะนำไปในทางเดียวกันว่า “กองทุนดัชนี” เป็นตัวเลือกการลงทุนที่ดีมาก ๆ สำหรับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการลงทุน กองทุนดัชนีในไทย ได้ด้วย

รวมคำแนะนำเกี่ยวกับ Index Fund

1. Warren Buffett

สำหรับกองทุนดัชนี (index fund) ดูวอร์เร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนในตำนานคนนี้จะเป็นแฟนตัวยงของมัน เพราะเขามักจะเป็นผู้ที่แนะนำนักลงทุนทั่วไปเสมอว่า กรณีที่ไม่ได้ต้องการทุ่มเทเวลากับการลงทุน ตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุดของนักลงทุนทั่วไปคือ “กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ” และนี่คือคำแนะนำที่ผมรวบรวมมาครับ

ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ปี 1996 เขาเขียนไว้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ (ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย) จะพบว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลงทุนในหุ้นสามัญคือลงทุนผ่านกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ คนที่ลงทุนโดยใช้วิธีนี้จะมั่นใจได้ว่าผลตอบแทนสุทธิ(หลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหมด) สูงกว่านักลงทุนมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่[1. Let me add a few thoughts about your own investments. Most investors, both institutional and individual, will find that the best way to own common stocks is through an index fund that charges minimal fees. Those following this path are sure to beat the net results (after fees and expenses) delivered by the great majority of investment professionals.]

มีครั้งหนึ่ง Buffett เคยให้คำแนะนำนักบาสที่ชื่อ LeBron James ว่า ควรลงทุนซื้อสะสมในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ถือครองมันไป 30-40 ปี ด้วยลักษณะของการถือครองกองทุนดัชนี ทำให้เราได้ถือครองส่วนของธุรกิจสำคัญในประเทศ มีการกระจายความเสี่ยง และไม่มีอะไรให้ต้องกังวล เพราะในระยะยาว มูลค่าของมันควรจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[1. Just making monthly investments in a low-cost index fund makes a lot of sense,” Buffett said. He added: Owning a piece of America, a diversified piece, bought over time, held for 30 or 40 years, it’s bound to do well. The income will go up over the years, and there’s really nothing to worry about.]

ในงานประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ปี 2004 บัฟเฟตต์เคยตอบคำถามเกี่ยวกับการลงทุนว่า “ถ้าคุณลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีต้นทุนต่ำโดยที่ไม่ลงทุนหนัก ๆ ในครั้งเดียวแต่ลงทุนถัวเฉลี่ยอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี คุณจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า 90% ของนักลงทุนที่ลงทุนในเวลาเดียวกัน”[1. If you invested in a very low cost index fund — where you don’t put the money in at one time, but average in over 10 years — you’ll do better than 90% of people who start investing at the same time.]

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณสามารถสละเวลามาศึกษาเรื่องลงทุนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6-8 ชั่วโมงได้ ก็อาจจะลงทุนเอง แต่ถ้าไม่อาจทำแบบนี้ได้ ก็ให้ลงทุนแบบซื้อสะสมเป็นประจำในกองทุนดัชนี ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงทั้งด้านสินทรัพย์ (ลงทุนหุ้นหลายตัว) และด้านเวลา ซึ่งเป็นสองสิ่งสำคัญในการลงทุน[1. If you like spending 6-8 hours per week working on investments, do it. If you don’t, then dollar-cost average into index funds. This accomplishes diversification across assets and time, two very important things.]

การลงทุนประจำในกองทุนดัชนี S&P500 ที่มีต้นทุนต่ำ ไม่ลงทุนหนักครั้งเดียว ลงทุนไปเรื่อย ๆ ลืมมันไปซะแล้วก็กลับไปทำงาน[1. Just pick a broad index like the S&P 500. Don’t put your money in all at once; do it over a period of time. I recommend John Bogle’s books — any investor in funds should read them. They have all you need to know. Vanguard. Reliable, low cost. If you’re not professional, you are thus an amateur. Forget it and go back to work.]

ใน จดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2014 บัฟเฟตต์ได้พูดถึงพินัยกรรมในส่วนของตนที่จะยกให้ภรรยาว่า “คำแนะนำแก่ทรัสตีเป็นคำแนะนำที่เรียบง่าย ให้แบ่งทรัพย์สินลงทุน 10% ในรูปของเงินสดโดยพักไว้ในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และอีก 90% ของเงินที่เหลือให้ลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้น S&P500 ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมาก ๆ [บัฟเฟตต์]เชื่อว่าผลตอบแทนระยะยาวจากนโยบายลงทุนแบบนี้ จะสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับของนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะกองทุนบำนาญ นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายย่อย ผู้ซึ่งจ้างผู้จัดการกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายสูง ๆ”[1. My advice to the trustee couldn’t be more simple: Put 10% of the cash in short-term government bonds and 90% in a very low-cost S&P 500 index fund. (I suggest Vanguard’s.) I believe the trust’s long-term results from this policy will be superior to those attained by most investors — whether pension funds, institutions or individuals — who employ high-fee managers.]

2. The Intelligent Investor by Benjamin Graham

ในหนังสือตำนานเล่มนี้มีส่วนที่เขียนเกี่ยวกับกองทุนรวมดัชนีและการลงทุนแบบเชิงรับ (passive investment) ไว้หลัก ๆ 2 แห่งที่น่าสนใจ

อันแรกคือส่วนที่บอกว่า “เนื่องจากต้นทุนที่สูงและพฤติกรรมแย่ ๆ ของผู้จัดการกองทุน กองทุนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถสร้างผลตอบแทนดี ๆ ให้แก่นักลงทุนได้ จะว่าไปแล้ว ผลตอบแทนสูง ๆ ไม่ได้ต่างอะไรไปจากปลาที่ไม่ได้ถูกแช่ไว้ในตู้เย็น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วของพวกเขาจะทำให้กองทุนส่วนใหญ่แพ้ดัชนีมากขึ้นเรื่อย ๆ .. ถ้าเป็นเช่นนั้น นักลงทุนผู้ชาญฉลาดควรจะทำอย่างไร ? .. ข้อแรก ต้องตระหนักไว้ว่า กองทุนดัชนี ซึ่งถือหุ้นทุกตัวในตลาดตลอดเวลาและไม่ได้แสร้งทำเป็นว่าสามารถคัดเลือกหุ้นที่ “ดีที่สุด” และ หลีกเลี่ยงหุ้น “ที่แย่ที่สุด” ได้  จะสามารถเอาชนะกองทุนรวมส่วนใหญ่ได้ในระยะยาว”[1. Benjamin Graham, The Intelligent Investor : คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า, แปลโดยพรชัย รัตนนนทชัยสุข (กรุงเทพมหานคร: วิสดอมเวิร์ค เพลส, 2553), หน้า 355.]

และอีกส่วนที่ผมชอบมาก ๆ คือ “กองทุนดัชนีมีข้อเสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ พวกมันน่าเบื่อ คุณจะไม่สามารถไปงานเลี้ยงบาบีคิวและคุยโม้ว่าคุณเป็นเจ้าของกองทุนรวมซึ่งให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในประเทศได้ คุณจะคุยไม่ได้ว่าคุณชนะตลาด เพราะงานของกองทุนดัชนีก็คือการทำผลงานให้ได้ในระดับเดียวกับตลาด ผู้จัดการกองทุนดัชนีของคุณจะไม่เสี่ยงเดิมพันกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่พวกเขาคิดว่าน่าจะดูดีที่สุดในอนาคต  แต่กองทุนดัชนีจะถือครองหุ้นทุกตัว อย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อเวลาผ่านไป ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนของกองทุนดัชนีจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่ระย่อ  การถือกองทุนดัชนีไว้นานอย่างน้อย 20 ปี และ เพิ่มเงินลงทุนใหม่เข้าไปทุก ๆ เดือนจะทำให้คุณสามารถเอาชนะนักลงทุนมืออาชีพและนักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ได้ ในช่วงท้ายของชีวิต เกรแฮมยกย่องกองทุนดัชนีว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนรายย่อย วอร์เรน บัฟเฟตต์เองก็กล่าวในลักษณะเดียวกัน”[2. เรื่องเดียวกัน, หน้า 357.]

3. John C. Bogle

จอห์น โบเกิล เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างกองทุนดัชนีสำหรับนักลงทุนรายย่อยขึ้นมา ซึ่งโบเกิลเป็นผู้ที่อุทิศตนเชื่อมั่นในการลงทุนเชิงรับด้วยกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ อย่างมาก และเขาจะแนะนำนักลงทุนตลอดเวลาว่า นักลงทุนควรลงทุนระยะยาวในกองทุนรวมดัชนีที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี (broadly diversified) โดยเฉพาะกองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีที่ถือครองหลักทรัพย์หรือหุ้นทั้งตลาด จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนเท่ากับผลตอบแทนระยะยาวที่ธุรกิจทั้งหมดทำได้[1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007), 32.] และกองทุนดัชนีนั้นควรมีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ เพราะค่าใช้จ่ายที่ต่ำจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับอย่างมาก[1. John C. Bogle, Bogle On Mutual Funds: New Perspectives For The Intelligent Investor (Hoboken: Wiley, 2014), 179.]

โดยสรุปสั้น ๆ ก็คือ Bogle ได้แนะนำว่า สูตรแห่งชัยชนะสำหรับการลงทุนก็คือการถือครองหุ้นทั้งตลาดผ่านกองทุนดัชนี หลังจากนั้นไม่ต้องทำอะไรอีกเลยนอกจากถือครองและมีวินัยที่จะลงทุนถือครองกองทุนดัชนีเช่นว่าเรื่อย ๆ ตลอดไป (The winning formula for success in investing is owning the entire stock market through an index fund, and then doing nothing. Just stay the course.)[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 58.]

4. คำแนะนำอื่น ๆ เกี่ยวกับ Index Fund

ด้านล่างนี้คือคำแนะนำประทับตราอีกมากมายให้กับกองทุนดัชนีครับ

William Bernstein

ในหนังสือของเขาที่ชื่อ The Intelligent Asset Allocator อธิบายว่า นักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงกลยุทธ์แห่งการเป็นผู้แพ้ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ซื้อและถือครองกองทุนดัชนีที่ถือหุ้นทั้งตลาด ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่ต่ำของกองทุนดัชนีนั้น[1. William J. Bernstein, The Intelligent Asset Allocator: How to Build Your Portfolio to Maximize Returns and Minimize Risk (New York: McGraw-Hill, 2017), 95.]

The Economist

นิตยสารการเงินและเศรษฐกิจชื่อดังฉบับนี้เคยแนะนำว่า การที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมมหาศาลกับลูกค้าและนักลงทุน มันเป็นการให้สิทธิพิเศษในการสูญเสียเงินพ่วงไปด้วย … การลงทุนที่ดีกว่า คือ การลงทุนในกองทุนดัชนี เพราะกองทุนดัชนีสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนเท่าตลาด แต่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าอย่างมาก (It is better to invest in an indexed fund that promises a market return but with significantly lower fees.)

Jack R. Meyer

อดีตประธาน Harvard Management Company ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Business Week 2004 โดยชี้ให้เห็นประเด็นเกี่ยวกับผู้คนส่วนใหญ่ที่มักจะคิดว่า พวกเขาสามารถหาผู้จัดการกองทุนที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาคิดผิด พูดได้ว่า 85-90% ของผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนี… นักลงทุนควรลงทุนแบบเรียบง่ายในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทน[1. “Most people think they can find managers who can outperform, but most people are wrong. I will say that 85 to 90 percent of managers fail to match their benchmarks. Investors should simply have index funds to keep their fees low and their taxes down. No doubt about it.” See Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 7.]

Burton G. Malkiel

ศาสตราจารย์มัลคีลเขียนไว้ในหนังสือ A Random Walk Down Wall Street ไว้ว่า “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ซื้อกองทุนดัชนี มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนเหนือกว่าผู้ที่ซื้อกองทุนปกติทั่วไป ที่มีการบริหารด้วยผู้จัดการกองทุน ซึ่งคิดค่าที่ปรึกษาจำนวนมากและมีอัตราหมุนเวียนของหลักทรัพย์ในพอร์ตลงทุนสูงมาก จนทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลง”[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 384.] หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ “การลงทุนในกองทุนดัชนีนั้นเป็นวิธีที่มีเหตุผลและใช้ได้จริง สำหรับการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนของตลาดได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ เลย และยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก”[1. ibid., 385.]

Charles T. Munger 

คู่หูของบัฟเฟตต์ เคยพูดว่า ตัวเลือกที่ฉลาดกว่า คือ เลิกจ่ายเงินแพง ๆ ให้ที่ปรึกษาทางการเงิน และลดการซื้อขายหรือหมุนเวียนกองทุนบ่อย ๆ โดยเปลี่ยน[จากกองทุนบริหาร]มาลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้น[1. “The wiser choice is to dispense with the consultants and reduce the investment turnover, by changing to indexed investment in equities” See Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 137.]

Peter Lynch

นักลงทุนตำนานคนหนึ่งของวงการก็เป็นผู้ที่เคยให้ความเห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่จะทำได้ดีและมีความมั่งคั่งกว่าหากลงทุนในกองทุนดัชนี[1. John C. Bogle, Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor, Fully Updated 10th Anniversary Edition ed. (New Jersey: John Wiley & Sons, 2010), 184.] เช่น เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Barron’s ครั้งหนึ่งว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี The S&P 500 ให้ผลตอบแทนรวม 343.8% นั่นคือผลตอบแทนเกือบ 4 เด้ง ทว่ากองทุนรวมหุ้นโดยเฉลี่ยทำได้ 283% [ผู้จัดการกองทุน]ผู้เชี่ยวชาญทำผลตอบแทนได้แย่ นักลงทุนส่วนใหญ่จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ามากถ้าลงทุนในกองทุนดัชนี[1. “So it’s getting worse, the deterioration by professionals is getting worse. The public would be better off in an index fund.” See Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 87.]

นอกจากนี้ Lynch ยังให้ความเห็นไว้อีกว่า แทนที่จะมาเสียเวลานั่งเลือกกองทุนผู้ชนะที่มีน้อยนิด การซื้อทั้งกระดานไปเลย (ลงทุน index fund) น่าจะเป็นสิ่งดีกว่า[1. Peter Lynch and John Rothchild, Beating the Street, revised ed. (New York: Simon & Schuster, 1994), 60.]

William J. Ruane 

เพื่อนสนิทของบัฟเฟตต์และตอนที่บัฟเฟตต์หยุดลงทุนช่วงปี 1969 เขาก็แนะนำให้นักลงทุนไปลงทุนต่อในกองทุน Sequoia ของรูแอน ครั้งหนึ่งรูแอนเคยถูกถามความเห็นเกี่ยวกับกองทุนดัชนี เขาตอบว่า “กองทุนดัชนีน่าสนใจสำหรับคนทั่ว ๆ ไป … อาจไม่ใช่แหล่งลงทุนที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากคุณต้องการลงทุนในตลาดหุ้นโดยที่ไม่มีความรู้มากพอ กองทุนดัชนีก็จะเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุน” และยังให้คำแนะนำต่ออีกว่า สำหรับนักลงทุนรายย่อยแล้วให้นำเงินครึ่งหนึ่งของคุณไปลงทุนในกองทุนดัชนี[1. Warren Boroson, แกะรอยการลงทุน เลือกหุ้นอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์: Pick Stocks Like Warren Buffett, แปลโดย ประภาคาร ภราดรภิบาล (กรุงเทพมหานคร: วิง มีเดีย, 2559), 190.]

Charles Schwab

Schwab เป็นหนึ่งในผู้ที่เชื่อมั่นในพลังของการลงทุนตามดัชนี (the power of indexing)[1. Bogle, Common Sense on Mutual Funds, 184.] โดยเขาเคยตอบคำถามว่าทำไมนักลงทุนชอบลงทุนในกองทุนแบบบริหาร (manage funds) เขาตอบว่า มันคือความสนุก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะเลือกม้าที่ชนะ แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีย่อมดีกว่า ทำนายได้ค่อนข้างแมนยำว่าอีก 10, 15, 20 ปีข้างหน้า คุณจะได้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับสูงกว่าแปดสิบห้าจากร้อยคน แล้วทำไมคุณถึงจะไม่ลงทุนในกองทุนดัชนีล่ะ?[1. “For the average person, I’m more of an indexer…The predictability is so high…For 10, 15, 20 years you’ll be in the 85th percentile of performance. Why would screw it up?” See Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, 59.]

David Swensen

ประธานเจ้าหน้าที่หน้าลงทุนของ Yale University Endowment ให้คำแนะนำไว้ว่า ควรลงทุนในกองทุนรวมที่มีการหมุนเวียนซื้อขายหุ้นในพอร์ตต่ำ กองทุนเชิงรับที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี[1. “Invest in low-turnover, passively managed index funds…and stay away from profit-driven investment management organizations.” See ibid., 198.]

The Little Book of Bulletproof Investing 

หนังสือเล่มนี้ให้คำแนะนำไว้ว่า “จงลงทุนในกองทุนดัชนี จับตามองค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าคอมมิชชั่น ภาษี และจงลงทุนโดยซื้อแล้วถือยาว”[1. Den Stein & Phil DeMuth, The Little Book of Bulletproof Investing: Do’s and Don’ts to Protect Your Financial Life (Hoboken: Wiley, 2010), 66.]

The Little Book of Main Street Money 

หนังสือเล่มนี้ให้คำแนะนำไว้ว่า การลงทุนโดยพยายามเอาชนะตลาดมักจะนำไปสู่ความล้มเหลว สิ่งที่เราต้องการคือกลยุทธ์ที่ให้โอกาสในการประสบความสำเร็จ[ในการลงทุน] ซึ่ง “กองทุนดัชนี” ได้เสนอสิ่งที่เราต้องการ มันไม่พยายามเอาชนะตลาด และตรงกันข้าม มันซื้อหลักทรัพย์หรือหุ้นทุกตัวเพื่อพยายามเลียนแบบผลตอบแทนของตลาดแทนด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ในขณะที่นักลงทุนแบบเชิงรุก (active investors) ทำผลตอบแทนได้ห่างจากตลาดเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว ผลก็คือ กองทุนดัชนีซึ่งธรรมดาไม่หรูและมีเป้าหมายมุ่งสู่ผลตอบแทนเฉลี่ย กลับกลายเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด[1. Jonathan Glements, The Little Book of Main Street Money: 21 Simple Truths that Help Real People Make Real Money (Hoboken: Wiley, 2009), 88.]

Richard A. Ferri 

เขาเขียนไว้ในหนังสือ All About Index Funds ว่า ในระยะยาว กองทุนดัชนีจะชนะกองทุนรวมบริหารส่วนใหญ่ ประโยชน์ของมันคือค่าใช้จ่ายที่ต่ำ และค่าใช้จ่ายที่ต่ำส่งผลดีที่สุดในการลงทุนกองทุนรวม[1. “In the long run, index funds beat most active funds. The Index Funds advantage is low-cost, and low costs are critical in all mutual fund investing.” See Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started, 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 23.]

Larry E. Swedroe

ในหนังสือ What Wall Street doesn’t want you to know แนะนำว่า กองทุนดัชนีเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลเพราะว่า มันให้ผลตอบแทนเท่ากับที่ตลาดทำได้ ด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก ๆ[1. The Index funds should be the preferred choice, the reason are that they deliver market returns, at very low costs.]

Charles D. Ellis 

ผู้เขียนหนังสือสำคัญในวงการลงทุนเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Winning the Loser’s Game ซึ่งสามารถสรุปหลักการย่อ ๆ ได้ว่า เกมแห่งการลงทุนคือเกมที่ง่ายต่อการเป็นผู้ชนะ ถ้าเข้าร่วมคลับการลงทุนแบบเชิงรับ ลงทุนในกองทุนดัชนี ที่มีความเรียบง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า[1. “…the market -matching strategy of investing in index funds, touting their simplicity, …, low cost, …, and superior returns…” See Charles D. Ellis, Winning the Loser’s Game: Timeless Strategies for Successful Investing, 6th ed. (New York: McGraw-Hill, 2013), ix.] เนื่องจากการจะเอาชนะตลาดเป็นเรื่องที่ยากมากเมื่อคำนำถึงค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การหลีกเลี่ยงมันและลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายโดยรวมต่ำ ๆ จะทำให้นักลงทุนเป็นผู้ชนะนักลงทุนอื่นกว่า 80% ในระยะยาว[1. ibid., 42.] และเขายังให้คำแนะนำร่วมกับ Malkiel ว่า นักลงทุนจะมีฐานะทางการเงินที่ดีในภายหน้าด้วยการลงทุนซื้อและถือครองกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีอย่างกองทุนดัชนีที่ถือครองหุ้นทั้งตลาด[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 34.]

Ken Fisher

การลงทุนระยะยาวในหุ้นเป็น 1 ใน 10 เส้นทางที่ Fisher เห็นว่าสามารถนำไปสู่ความร่ำรวยได้ โดย Fisher แนะนำให้นักลงทุนพยายามเลี่ยงการลงทุนในกองทุนบริหารจัดการคัดเลือกหุ้น (active mutual funds) และใช้กลยุทธ์ลงทุนเชิงรับ (passive) แทน โดยทำการซื้อและลงทุนกองทุนดัชนีหรือกองทุน ETF ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำด้วย[1. Ken Fisher and Lara Hoffmans, The Ten Roads to Riches: The Ways the Wealthy Got There (And How You Can Too!) (Hoboken: Wiley, 2009), 191.] ซึ่งจะทำผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนแบบ active[1. ibid., 192.]

สุดท้ายนี้ ขอจบบทความนี้โดยปิดท้ายด้วยคำแนะนำของบุรุษผู้ก่อตั้งกองทุนดัชนีขึ้นมาเจ้าแรก John C. Bogle ที่ว่า “กลยุทธ์การลงทุนสำหรับผู้ชนะคือ ลงทุนถือหุ้นของธุรกิจส่วนใหญ่ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำแบบนี้แบบเรียบง่าย คือ ซื้อกองทุนดัชนีที่ลงทุนหุ้นทั้งตลาดและถือมันไปตลอดกาล

The Best way to implement [winning] strategy is indeed simple: Buying a fund that hold this [the nation’s publicly held business at very low cost] market portfolio, and holding it forever.[1. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing, xi.]

โดยสรุปก็คือ พวกเขาเหล่านี้กำลังบอกเราว่า เกมของผู้ชนะ คือ การเลือกข้างลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีต้นทุนต่ำครับ

บทความเกี่ยวเนื่อง — กองทุนดัชนีในไทย