กองทุนดัชนี (Index Funds)
ในประเทศไทยนั้น ถ้าพูดถึงประวัติศาสตร์กองทุนรวม (mutual funds) กองทุนดัชนี กองแรกน่าจะเป็น SCBSET ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) โดยออกกองทุนมาตอนปี พ.ศ. 2539 ส่วนกองทุนรวมที่เลียนแบบดัชนี SET50 กองแรกคือ TMBSET50 ของบลจ.ทหารไทยในปี พ.ศ. 2544 ครับ ก็เกือบ 20 กว่าปีแล้วที่เกิดกองทุนรวมดัชนีในไทยขึ้นมา
ปรับปรุงบทความ 22/07/62
1. ดัชนีที่ กองทุนดัชนี ในไทยนิยมเลียนแบบ
ดัชนีที่เป็นที่นิยมเลียนแบบของ กองทุนดัชนี ในไทย คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ซึ่งถือว่าดีครับ เพราะเกณฑ์ในการคำนวณและคัดเลือกบริษัทเข้ามาประกอบดัชนีนั้น ใช้หลักการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) (ดูรายละเอียด)
โดยสรุปคร่าว ๆ ก็คือ ดัชนีประเภทนี้จะเป็นดัชนีแบบกระจายฐานกว้าง (broad-based) มีหุ้นหลายตัวประกอบกันโดยเรียงตามขนาดมูลค่าบริษัท (market cap) บริษัทไหนมีขนาดใหญ่ก็จะมีน้ำหนักในการลงทุนมากกว่า และการเปลี่ยนแปลงราคาในแต่ละวันก็จะทำการปรับมูลค่าใหม่ล่าสุดให้กับหลักทรัพย์แต่ละตัวเองครับ ถ้าหุ้นตัวนั้นมีมูลค่าตลาดตกลงมา น้ำหนักของมันในดัชนีก็จะลดน้อยลงไปอัตโนมัติ ทำให้ผู้จัดการกองทุนแทบจะไม่ต้องมายุ่งในการซื้อขายปรับเปลี่ยนสัดส่วนแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ดัชนี SET Index จึงเป็นหนึ่งในดัชนีหุ้นที่ทำการเข้าซื้อและถือยาวได้ง่ายที่สุด (buy-and-hold strategy) และจะประกอบด้วยหุ้นหลากหลายตัวทำให้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ในไทยนั้นหลัก ๆ ก็จะมี ดัชนี SET, SET50, SET100 โดยตัวเลข 50-100 ก็คือจำนวนหุ้นที่จะต้องเลียนแบบครับ
ยกตัวอย่าง ดัชนี SET50 โดยปกติมูลค่าของมันก็จะมีน้ำหนักประมาณ 70-75% ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งค่อนข้างคล้ายกับ ดัชนี the S&P500 ที่มีน้ำหนักประมาณสามในสี่ของมูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐ กองทุนที่เลียนแบบมักจะทำได้ไม่ยาก ทำให้สามารถจะ copy ลงทุนหุ้นได้ครบ (full replication)
ส่วนดัชนี SET100 นั้น กองทุนอาจจะมีหุ้นไม่ถึง 100 ตัว หรือกรณีเลียนแบบ SET ยังไงก็คงลงทุนไม่ครบ 500-600 ตัวแน่ ๆ เพราะหุ้นตัวเล็ก ๆ สภาพคล่องในการซื้อขายยิ่งต่ำ หากแต่ไม่ต้องกังวลไปครับ เขาสามารถใช้วิธีปรับสัดส่วนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีได้โดยไม่ต้องมีหุ้นทุกตัวครบ คือ อาจจะคำนวณโดยใช้โปรแกรมว่าต้องเพิ่มลดน้ำหนักของหุ้นตัวไหนจึงจะใกล้เคียงกับการลงทุนตามดัชนีนั้น ๆ มากที่สุด (optimization)
ข้อมูลผมอาจจะตกหล่น แต่เท่าที่สำรวจดู ข้อเสียอย่างหนึ่งของกองทุนรวมโดยเฉพาะกองทุนเปิดในบ้านเรานั้น ไม่มี กองทุนดัชนี สินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น กองทุนดัชนีตราสารหนี้ กองทุนดัชนีอสังหาริมทรัพย์ มาเป็นตัวเลือกให้นักลงทุน (ต่างประเทศมีและนิยมมากด้วย) ก็จะต้องทำการรอคอยกันต่อไปว่า บลจ. เจ้าไหนจะเข็นมันออกมาก่อน
2. แนวทางลงทุนกองทุนดัชนี
ด้วยความครบครันของดัชนี SET Index ไม่ว่าจะมีลักษณะตามเกณฑ์ market cap-weighted, เป็น broad-based index จึงทำให้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี (broad diversification) และอย่างดัชนี SET50 นั้นลงทุนตามได้ง่าย ลงทุนหุ้นครบทั้ง 50 ตัวได้ด้วยวิธี full replication ซึ่งจะทำให้กองทุนสามารถคิดค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ได้ ทำให้กองทุนดัชนีในไทยเราที่เป็น กองทุนดัชนีหุ้น SET50 จึงค่อนข้างจะเหมาะสมในการถือครองระยะยาว ประเด็นนี้ค่อนข้างคล้ายกับกองทุนดัชนีหุ้นสหรัฐที่มักจะนิยมเลียนแบบดัชนี the S&P 500
อนึ่ง กองทุนดัชนีที่เหมาะสมจะลงทุนนั้น ยังต้องคำนึงถึง ค่าใช้จ่าย เป็นสำคัญ จะต้องมีค่าใช้จ่ายรวมที่ต่ำมาก ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี (lower or lowest-cost index funds)
ยิ่งสมมติคุณลงทุนกองทุนดัชนี SET50 ก็ในเมื่อทุกอย่างมันเหมือนกันหมด กองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET50 ต้องลงทุนหุ้นทุกตัวเหมือนกัน ต้องทำผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี SET50 เมื่อมันไม่มีความต่าง คุณจึงควรเลือกกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่าย ต่ำที่สุด ครับ
นอกจากนี้ กองทุนดัชนีไม่ควรมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ เช่น ไม่ควรมีธรรมเนียมในการซื้อขาย (no-load) แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายที่เก็บเข้ากองทุนประเภทค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (transaction fees) แบบนี้ยอมรับได้
อีกประเด็นคือ นักลงทุนควรลงทุนระยะยาวในกองทุนหุ้นอย่างน้อย 7-10 ปีขึ้นไป ดังนั้น นักลงทุนย่อมไม่ควรลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีนโยบายในการจ่ายปันผล (ดูข้อเสีย)
ข้อมูลด้านล่างนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลกองทุนดัชนีหุ้นไทย โดยจะตัดกองทุนเปิดดัชนีที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลทิ้งไป เช่น TMB50DV, T-SET50 และบางกองทุนที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายรวมทุกอย่างสูงเกิน 1% ไปมาก หรือบางกองที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่ำเกินไป เช่น ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ที่มีโอกาสอาจจะถูกปิดหรือเลิกกองทุน
อนึ่ง นักลงทุนต้องระวังกองทุนรวมที่มีคำว่า SET50, SET100 แต่ไม่ใช่กองทุนดัชนีนะครับ เช่น 1AMSET50, KFENSET50 พวกนี้เป็น actively managed funds ไม่ใช่กองทุนดัชนีแบบเชิงรับแท้ (passive index funds)
ข้อมูลด้านล่างนี้เก็บรวบรวมมา ณ วันที่ 22/07/2562 ก็จะพยายามอัพเดตอย่างน้อยทุกครึ่งปีครับ
(1) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (fee in-out) คือ คือค่าใช้จ่ายเวลาเราซื้อหรือขายกองทุนซึ่งทำให้กองทุนมีการเคลื่อนไหวเพราะเงินเราไหลเข้าออก กองทุนจึงเก็บค่าใช้จ่ายจากเราโดยตรง จะได้ไม่กระทบกับเงินลงทุนของคนอื่นที่เขาไม่ได้มาซื้อขายกับเราด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือก็เก็บเข้ากองทุน ทำให้ค่าใช้จ่ายตัวนี้โอเคและสมเหตุสมผลในการเก็บครับ
(2) ค่าธรรมเนียม (Load – front, back) คือค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายกองทุน ซึ่งกองทุนดัชนีที่ดีไม่ควรมีพวกนี้ครับ (no-load)
(3) Expense Ratio (Total expense ratio – TER) เป็นอัตราค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวม ซึ่งคิดรวมแล้วทั้งค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุน ค่าดูแลกองทุน ค่านายทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นอันแสนจะยิบย่อย (-_-“) ผลตอบแทนส่วนใหญ่ในระยะยาวของเราจะหายก็เพราะตัวนี้ครับ สำคัญมาก (ตัวเลขที่เอามาคือเป็นตัวเลขรวมภาษี บางกองทุนโชว์ก่อนภาษีผมก็ทำการเหมาคร่าว ๆ โดยคูณ 1.07 เข้าไป)
(4) Turnover rate expense คือ ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดจากการที่กองทุนทำการซื้อขายหุ้นของกองทุน หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการหมุนเวียนซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน เพราะทุกครั้งที่กองทุนมีการเคลื่อนไหว มีการซื้อขายหุ้นในพอร์ตก็จะต้องจ่ายค่าคอมให้โบรกเกอร์ทั้งหลาย ซึ่งปกติมันควรจะน้อยครับเพราะส่วนใหญ่กองทุนพวกนี้ก็ควรจะถือหุ้นยาว
หากท่านไม่เข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมที่กล่าวไปข้างบน ทุกท่านควรจะอ่านและทำความเข้าใจให้ดีกับรายละเอียดของค่าใช้จ่ายแต่ละตัวตามบทความนี้ >> ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม
ช่องสุดท้าย คือ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับในท้ายที่สุด ดูไว ๆ ช่องนี้ได้เลย
* Class E เป็นกองทุนที่ทางบลจ.ไทยพาณิชย์กำหนดให้ซื้อผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือดิจิตัลเท่านั้น โดยจะยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ แต่จะมีเงื่อนไขว่าห้ามซื้อกองทุนพวกนี้เกิน 1 ล้านบาท หรือลงทุนไปแล้ว ถ้ามูลค่าเงินลงทุนของเงินกองทุน Class E ทุกกองที่ลงทุนไปเติบโตไปเกิน 1 ล้านบาท ก็จะซื้อเพิ่มอีกไม่ได้ รายละเอียดโปรดดูที่เว็บไซต์ของทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ เองนะครับ
จากรูปข้างบนนั้นก็จะเห็นได้ว่า กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายรวมต่ำที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ พวกกองทุน Class E ของบลจ.ไทยพาณิชย์ (0.10-011%) แต่ถ้าไม่นับ Class E ก็จะเป็นกองทุน K-SET50 (0.57%) ของค่ายบลจ.กสิกร
ส่วนหมวดกองทุนประหยัดภาษีนั้นต่ำสุดในหมวด LTF คือ KLTF50 (0.76%) ถ้าเป็นหมวด RMF ก็คือ SCBRMS50 (0.69%) ครับ
ต้องเข้าใจว่าต่อให้ต่ำสุดในหมวดนั้นแต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกิน 1% ต่อปี กองทุนดัชนีกองนั้นก็จะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสักเท่าไหร่ครับ มันต้องรวมกันสองอย่างคือ เป็น “กองทุนดัชนี” และต้องมี “ค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด”
* Class E เป็นกองทุนที่ทางบลจ.ไทยพาณิชย์กำหนดให้ซื้อผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือดิจิตัลเท่านั้น โดยจะยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ แต่จะมีเงื่อนไขว่าห้ามซื้อกองทุนพวกนี้เกิน 1 ล้านบาท หรือลงทุนไปแล้ว ถ้ามูลค่าเงินลงทุนของเงินกองทุน Class E ทุกกองที่ลงทุนไปเติบโตไปเกิน 1 ล้านบาท ก็จะซื้อเพิ่มอีกไม่ได้ รายละเอียดโปรดดูที่ เว็บไซต์ของทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ เองนะครับ
ค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นและความหวัง
ถามว่าค่าใช้จ่ายกองทุนดัชนีในบ้านเรานั้นต่ำหรือยัง คำตอบคือยังครับ ค่าเฉลี่ยจริง ๆ ค่าใช้จ่ายรวมไม่ควรเกิน 0.5% ควรจะต่ำกว่านี้ ลองดูกองทุนดัชนีของสหรัฐก็จะอยู่ที่ 0.1 – 0.3% ต่อปีครับ (ต่ำสุดเลยคือ 0.05%!) แต่ถามว่าค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุนดัชนีหุ้นไทย ต่ำ ๆ ก็อยู่ที่ 0.6 – 0.8% ต่อปี ก็ถือว่าน้อยกว่าเกือบ 2-3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปหากลงทุนในกองทุนบริหารจัดการที่คัดเลือกหุ้นรายตัว (actively managed funds) ครับ
ค่าเฉลี่ยที่ผมเคยสำรวจนั้น กองทุนบริหารจัดการในไทยมีค่าใช้จ่ายหลักและค่าใช้จ่ายแฝงรวมกันประมาณ 1.75 – 2.50% ต่อปีเลยทีเดียว ระยะยาวส่วนต่างพวกนี้จะถ่างผลตอบแทนออกเยอะมากครับด้วยพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น
แล้วถามว่ากองทุนรวมในไทยที่เป็นกองทุนบริหารทำผลตอบแทนได้แย่กว่าดัชนีหรือตลาดหุ้นหรือไม่ โปรดลองอ่านบทความเหล่านี้ครับ มายาคติและการเสียเวลาดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวม และ ผลตอบแทนของหุ้นและตลาดหุ้น แล้วจะเห็นว่ากองทุนผู้ชนะตลาดหุ้นอย่างสม่ำเสมอนั้นมีน้อยจริง ๆ และผู้ชนะในวันนี้ก็อาจจะเป็นผู้แพ้ในวันหน้าได้
นอกจากนี้ นักลงทุนก็ไม่มีวิธีไหนทำนายได้ด้วยว่า กองทุนไหนจะเป็นที่หนึ่งในอีก 20-40 ปีข้างหน้า โดยปกติการเสียเวลามานั่งหากองทุนบริหารที่จะเป็นผู้ชนะ มักจะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผลตอบแทนด้อยลงครับ
“Searching for superior active funds is an inferior strategy.“— Richard A. Ferri
3. กองทุนดัชนีที่ลงทุนดัชนีหุ้นต่างประเทศ
มีกองทุนดัชนีอีกประเภทในไทยที่ส่วนตัวผมอยากเตือนให้นักลงทุนระวังคือ กองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Fund – FIF) ไม่ว่าจะเป็น Fund of Funds หรือ Feeder Fund พวกนี้มีการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่แพงมาก และเก็บซ้ำซ้อนจนลดทอนผลตอบแทนที่นักลงทุนควรได้ จนอาจไม่คุ้มค่าในระยะยาวที่จะลงทุนครับ
ยกตัวอย่าง กองทุนที่ลงทุนในดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่น นักลงทุนซื้อตอนแรกก็โดนค่าธรรมเนียมขาย (front-load) ไป 1.0 – 1.5% กองทุนพวกนี้เอาเงินท่านไปซื้อ ETF ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 0.3 – 0.4% ต่อปี แล้วกองทุนในไทยยังเก็บค่าใช้จ่ายท่านซ้ำอีก เช่น บางเจ้าเก็บปีละ 1.0 – 1.5% ต่อปี สรุปแล้วปีแรกท่านก็เสียค่าใช้จ่ายไปรวมร่วม ๆ 2 – 3% พอถือไปเรื่อย ๆ ปีหลัง ๆ ก็เสียอีก 1.5 – 2.0% ต่อปี
ถ้าระยะยาวดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี ท่านก็จะโดยกินผลตอบแทนไปแล้วเกือบร้อยละ 20 ผ่านค่าใช้จ่ายที่เสียไปในแต่ละปี ส่วนตัวผมจึงแทบไม่แตะต้องกองทุนพวกนี้เลย ค่าใช้จ่ายที่แพงขนาดนี้ ระยะยาวย่อมลดทอนข้อดีที่จะได้จากการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนต่างประเทศครับ
อนึ่ง มีคำกล่าวว่า การกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศประกอบในพอร์ตฟอลิโอถือเป็น free-lunch ในการลงทุน แต่ถ้าถูกคิดค่าใช้จ่ายแพงขนาดนี้นอกจากเราจะไม่มี free-lunch อาหารกลางวันให้กินแล้ว เรายังต้องจ่ายอาหารเช้าและเย็นให้กับอุตสาหกรรมกองทุนรวมด้วย
แล้วควรจะลงทุนอย่างไรดี?
จริง ๆ การลงทุนกองทุนดัชนีในไทยตอนนี้ เมื่อเริ่มจากหลักการว่าลงทุนระยะยาวเป็นประจำ สม่ำเสมอ ตามช่วงเวลาที่กำหนดเช่นทุกเดือน โดยที่กองทุนดัชนีนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด การลงทุนตามแนวทางข้างต้นในปัจจุบัน จึงควรจะลงทุนใน class e ของบลจ.ไทยพาณิชย์เป็นอันแรก จะกองทุน SETE หรือ SET50E ลงทุนให้ครบสิทธิที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเสียก่อน เพราะจะได้ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายรวม ๆ ต่ำที่สุดแล้ว ราว ๆ 0.1-0.2% ที่เหลือเกินล้านค่อยไปลงทุนกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดกองอื่น ซึ่งจากตารางข้างบนก็คือ K-SET50
ผมว่าสิทธิ 1 ล้านนี่ เอาจริงคือไม่เลวเลยนะครับ โดยเฉพาะคนที่เริ่มลงทุนหรือคนที่จบใหม่เริ่มงาน สมมติเงินเดือน 15,000 คุณเก็บ 2,000 ปีละ 24,000 กว่าจะไปทะลุครบล้านนี่ก็ได้อีกหลายปี แม้กระทั่งคนที่ลงทุนอยู่แล้ว ในเมื่อคุณสามารถลงทุนใน 1 ล้าน class e ได้ด้วย เราก็ควรจะลงให้เต็มก่อน ค่อยไปที่อื่น เป็นหนึ่งล้านที่ทุกคนได้สิทธิฟรี ๆ กันหมด อยู่ที่จะลงทุนไม่ลง
ถ้าเรายึดตามหลักการกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ พวกตระกูล e class ของบลจ.นี้ ณ ตอนนี้คือให้สิทธิตามนี้จริง ๆ ในอนาคตถ้ามีบลจ.ไหนทำได้ดีกว่า เราก็ลงทุนไปตามนั้น สมมติบลจ.ที่มีกองทุนดัชนีตอนนี้ทำ e class ออกมาอีก เราอาจจะได้ e class รวมกันหลายบลจ. เพิ่มอีก 5 ล้าน (สมมติมี 5 บลจ. ออก e class) แบบนั้นก็อาจกระจายลงทุนไปบลจ.ละล้าน ไม่มีอะไรห้าม ขนาดเงินฝาก เรายังนั่งหาโปรดอกเบี้ยสูงเลย นี่พวกกองทุนรวมคือทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายต่ำเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้นในระยะยาวอย่างหนึ่ง
เอาแค่ 1 ล้าน สมมติลงในกองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET Index สมมติผลตอบแทนระยะยาวทบต้น 30 ปีข้างหน้าคือ 9% ต่อปี คุณลงกองทุนดัชนี A ที่คิดค่าใช้จ่าย 0.1% ต่อปี ผลตอบแทนจะเหลือ 8.9% ต่อปี คุณลงกองทุนดัชนี B ค่าใช้จ่าย 0.6% ต่อปี ผลตอบแทนเหลือ 8.4% เงินหนึ่งล้านในกอง A จะเป็น 12.9 ล้าน กอง B จะเป็น 11.24 ล้าน ต่างกัน 1.6-1.7 ล้านบาท ถ้านานกว่านั้นตัวเลขก็จะถ่างออกไปมาก ๆ ครับ
ทวนกันอีกรอบ เราไม่ภักดีกับบลจ.ไหน เพราะเราจะลงทุนในบลจ.ที่มีกองทุนดัชนีที่ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เพราะในแง่หนึ่ง เราถือว่าบลจ.ที่ออกกองทุนดัชนีค่าใช้จ่ายต่ำมาก ๆ นั้นปฏิบัติกับเรานักลงทุนอย่างเป็นธรรมและคำนึงถึงพวกเราเป็นสำคัญแล้ว แม้อาจจะไม่ที่สุด แต่การได้จุดเริ่มต้นระบบที่ 1 ล้านเท่านั้น ก็เป็นจุดเริ่มที่ดีครับ
ทั้งนี้ กองทุนคลาส e ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการยังรวมไปถึงกองทุนดัชนีต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้น กองทุนดัชนีหุ้นต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำแบบนี้ก็เพิ่มความน่าสนใจสำหรับการลงทุนพวกกองทุนดัชนีที่ไปลงทุนในกองทุนดัชนีต่างประเทศ ที่กองแม่ในตปท.ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่เยอะด้วย อย่างกอง SCBS&P500 ที่ค่าใช้จ่ายกอง class e ในไทยมีค่าใช้จ่ายราว ๆ 0.1% กว่า และไปลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ SPDR S&P 500 ETF Trust ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อปีราว 0.1% ค่าใช้จ่ายรวมจึงตกอยู่ราว ๆ 0.2%+ ก็ใช้ได้อยู่ครับ ไม่เหมือนกับกองทุนแบบไม่ class e ที่ค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่า 1.2%
โปรดอย่าลืมว่า…
อะไรที่คุณไม่จ่ายออกไปในการลงทุน ในด้านหนึ่งมันก็คือผลตอบแทนที่คุณได้รับ ยิ่งคุณจ่ายค่าใช้จ่ายมากเท่าไหร่ในการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนกองทุนรวม ผลตอบแทนที่คุณจะได้รับก็จะน้อยลงไป
“The Fact is that the reverse is true : the more you pay, the less your earn.” — John C. Bogle[1. John C. Bogle, Bogle On Mutual Funds: New Perspectives For The Intelligent Investor (Hoboken: Wiley, 2014), 208.]
ตรวจสอบค่าใช้จ่ายรวมทุกอย่างให้ดีก่อนที่จะลงทุนในอะไรก็ตามครับ เพราะโดยทั่วไปแล้วนั้น ค่าใช้จ่ายที่ต่ำย่อมนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นสำหรับนักลงทุน
“Other things equal, lower costs mean higher returns.” — John C. Bogle[1. ibid., 253]
อยากให้อ่านบทความนี้ต่อครับ
II. ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลตอบแทนหุ้นและตลาดหุ้น
III. ความเชื่อเกี่ยวกับผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน
—♦ ข้อมูลอ้างอิงค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมดัชนี จัดทำ ณ วันที่ 22/07/2562
อยากสอบถาม เรื่อง ค่าธรรมเนียมที่ควรนำมาพิจารณา ที่กอง SCB เรียกเก็บจริง 0.44% แต่อาจจะเก็บได้ถึง 2% แต่กอง TMB เรียกเก็บจริง 0.88 แต่จะเพิ่มได้ไม่เกิน 1.2% อยากสอบถามว่าในระยะยาวเรื่องค่าธรรมเนียมจะมีผลมากน้อยเพียงใดคะ
ถูกใจถูกใจ
เขาสามารถปรับขึ้นปรับลงได้ครับ ภายในกรอบที่วางไว้ อย่างเจ้าที่พึ่งปรับขึ้นไปก็แสดงให้เห็นว่ากองทุนรวมมีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายได้ จากปัจจัยหลายอย่าง แต่จากที่ดูย้อนหลังมา มันไม่ใช่จะปรับกันง่าย ๆ ครับ (การปรับแบบมีสาระสำคัญ)
ถ้าถามเรื่องค่าธรรมเนียมมีผลอย่างไรในระยะยาว อ่านนี่ได้เลยครับ http://bearinvestor.net/2017/02/26/causation-costs-to-returns
ถูกใจถูกใจ
เรียนถามครับ การกระจายความเสี่ยงไปกองทุนรวมต่างประเทศ ควรเลือกกองเลียนแบบดัชนี
หรือ เอาชนะดัชนีครับ
ถูกใจถูกใจ
ผมว่าหลักการ Index Funds เป็นสากลนะครับ ยิ่งประเทศอย่างสหรัฐหรือยุโรปที่งานวิจัยรองรับตลอดมาว่า การเอาชนะผลตอบแทนรวมของตลาดเป็นเรื่องที่ยากมากในระยะยาว แต่การไปลงทุนเราต้องคำนึงถึงต้นทุนด้วยนะครับ ถ้าค่าใช้จ่ายสูงก็กระทบกับผลตอบแทนที่ได้รับครับ
ถูกใจถูกใจ
เห็นอีกบทความบอกว่าค่าใช้จ่าย
SCBset50 ต่ำสุดหรือป่าวครับ
แต่บทความนี้บอก TMB 50
รบกวนช่วยอธิบายด้วยครับ
ขอบพระคุณครับ
ถูกใจถูกใจ
ยึดบทความกองทุนดัชนีในไทยได้เลยครับ บทความนี้กับในพวกบทความเก่า ๆ น่าจะหลุดรอดสายตา เดี๋ยวไล่แก้ไขให้ครับ
ถูกใจถูกใจ
Facsheet ของ SET50 LTF และ SET100 RMF ของกรุงศรี (ซึ่งเป็นกองทุนดัชนีหุ้นประหยัดภาษีที่ถูกที่สุด) ระบุว่าเป็นกองทุนที่ “ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออก (issuer concentration)” แสดงว่าจริง ๆ แล้วยังถือหุ้นไม่ค่อยกระจาย ยังไม่ควรถือเพียงสองกองนี้หรือเปล่าครับ
ถูกใจถูกใจ
มันมาจากประกาศก.ล.ต. สธ.10/2561 ครับ ลงทุนกระจุกตัวในผูัออกคือกองทุนได้ลงทุนในตราสารที่ออกโดยบุคคลหนึ่งอันได้แก่ผู้ออกตราสาร คู่สัญญา ผู้ที่มีภาระผูกพันเกินร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
อย่าง SET50 นั้นปัจจุบันมูลค่าของหุ้นปตท. PTT มันประมาณ 10% กว่าของดัชนี ทำให้กองทุนต้องระบุไปตามนั้นครับ ถามว่ากระจายความเสี่ยงไม่พอไหม อันนี้เราลงทุนในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น SET50 แล้ว เลียนแบบเกือบเท่าตลาดหุ้นเป๊ะ ๆ ในทางทฤษฎีมันกระจายความเสี่ยงเกือบเท่าตลาดหุ้นแล้วนะครับ (ถ้าจะเท่าจริงต้องลงทุนเลียนแบบถือหุ้นเหมือน SET INDEX เลย)
ถูกใจถูกใจ
SCBSET50 ค่าการจัดการล่าสุด 0.72% อ้างอิง fact sheet มิ.ย.61
ถูกใจถูกใจ
อยากสอบถามค่ะว่าควรเลือกลงทุนในกองดัชนี(เช่น TMB50) หรือกองดัชนีที่เป็น RMF(เช่น KFS100RMF)
ปัจจุบันเสียภาษีอยู่ในเกณฑ์ 15% ขอบคุณค่ะ
ถูกใจถูกใจ
โดยปกติควรเลือกกองทุนที่ลดหย่อนได้หรือได้สิทธิประโยชน์ภาษีก่อนนะครับ ถ้าเรามีภาระภาษี เพราะภาษีที่ได้รับการลดหย่อน ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนเพิ่มอย่างหนึ่งครับ
ถูกใจถูกใจ
ถ้าอยากกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในกองทุนดัชนีต่างประเทศอย่างเช่น s&p500 csi300ของจีน มีกองทุนไหนที่มีค่าใช้จ่ายถูกๆแนะนำไหม หรือมีวิธีลงทุนอย่างอื่นอีกบ้างไหมคับ
ถูกใจถูกใจ
กองทุนพวกนี้มักจะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายสูงครับ เพราะมันต้องลงทุนสองต่อ เงินเราจะโดนเก็บที่กองทุนในไทย และกองทุนในไทยต้องไปลงทุนใน Master Fund หรือ ETF ที่ต่างประเทศก็จะโดนหักค่าใช้จ่ายอีก (อาจจะมีการคืนค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นให้ อันนี้ต้องดูในหนังสือชี้ชวน) โดนเฉลี่ยค่าธรรมเนียมขายกองทุนพวกนี้ เราจะโดนเก็บ 1.0-1.5% จากเงินลงทุน พอไปโดนหักทั้งกองไทยกองนอกอีกก็อาจจะโดนเก็บอีกราว ๆ 1.0-1.5% อีกครั้ง โดยสรุปเสียไป 2.0-3.0% บางทีก็ได้ไม่คุ้มเสียนะครับผมว่า ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายพวกนี้จะกัดกร่อนผลตอบแทนระยะยาวของคุณเยอะมาก ๆ
ถูกใจถูกใจ
สอบถามเรื่องการลงทุนครับ สมมุติผมมีเงิน “พร้อม” ซื้อกองทุนดัชนีตอนนี้เลย 100,000 บาท ผมควร…
1. ซื้อทีเดียวเลย 100,000 บาท หรือ
2. แบ่งซื้อเดือนละ 10,000 บาท 10 เดือน (เงินที่ยังไม่ซื้อฝากธนาคารไว้ครับ)
ขอบคุณครับ
ถูกใจถูกใจ