หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า Positive-sum, Zero-sum, Negative-sum อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การเล่นเกม แต่ละอย่าง (ซึ่งอาจรวมถึง เกมหุ้น) จะให้ผลลัพธ์รวมที่ต่างกัน คือ
(1) Positive-sum game เป็นการเล่นเกมที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะได้ผลลัพธ์โดยรวมเป็นบวก ผู้เล่นได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งคู่
(2) Zero-sum คือเล่นกันไปแล้วมีคนหนึ่งได้ คนหนึ่งเสีย
(3) Negative-sum เกมที่เล่นแล้วจะต้องเสียทั้งคู่เรื่อยๆทุกครั้งที่เล่น
เพราะฉะนั้นเกมที่ทำให้เราชนะจริง ๆ และเป็นเกมที่ควรจะกระโดดเข้าไปเล่น คือ เกมที่มีลักษณะเป็น positive-sum และเชื่อไหมครับว่า ตลาดหุ้นเองนั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่เป็นบวก การลงทุนในหุ้นคือการลงทุนที่เสมือนว่า เรากำลังเล่นเกมที่เราจะเป็นผู้ชนะแน่ ๆ (Winner’s game)
ให้ลองคิดภาพธุรกิจแบบเป็นกลุ่ม ลองนึกภาพตามว่าในตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งมีหุ้นรวมกันประมาณ 500-600 บริษัท) สมมตินักลงทุนทุกคนร่วมกันเป็นกลุ่ม ถือหุ้นของทุกบริษัทเหล่านี้แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย ซื้อแล้วถือยาว ธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น ปตท. 7-11 ห้างเซ็นทรัล แมคโคร โรงพยาบาลกรุงเทพ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารทั้งหลาย ฯลฯ ก็จะดำเนินธุรกิจของมันไปเรื่อย ๆ มีกำไรรวมกันที่เติบโตไปตามเศรษฐกิจ ปรับราคาสินค้าและบริการตามเงินเฟ้อ พัฒนาศักยภาพนวัตกรรมและการทำกำไร มีการขยายสาขา มีการขายของขายสินค้าได้มากขึ้น มีการขยายกิจการไปต่างประเทศ
พอบริษัทเหล่านี้มีกำไรรวมกันก็จ่ายปันผลให้นักลงทุนทั้งกลุ่ม กำไรที่เหลืออยู่นั้น ทางธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ ก็เอากลับไปลงทุนต่อ ผลตอบแทนของธุรกิจโดยรวมก็จะสะท้อนกลับมาในผลตอบแทนของตลาดหุ้น ที่สถิติบอกว่าประมาณ 9-10% ทบต้นต่อปี ในภาพรวมแล้ว การเล่น เกมหุ้น รูปแบบนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นบวกกับนักลงทุนทั้งกลุ่ม จึงจัดว่าเป็น positive-sum game ทำให้การลงทุนในหุ้นย่อมเป็นเกมของผู้ชนะที่แท้จริง
ทว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่นักลงทุนไม่ยอมถือหุ้นยาว แต่อยากได้กำไรไว ๆ นักลงทุนก็จะเริ่มพยายามทำการซื้อขายระหว่างกัน นึกภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันที่มันมีการซื้อขายครับ คนหนึ่งได้กำไร แสดงว่าอีกคนหนึ่งพลาดที่ขายออกมา (ผลตอบแทนลดลง)
เพราะฉะนั้น ถ้ามองโดยภาพรวมแล้วมันก็ไม่มีกำไรหรือผลตอบแทนเพิ่มในระบบแต่อย่างใด มันเป็นแค่การถ่ายเทความมั่งคั่งชั่วระยะเวลาหนึ่งให้กับผู้เล่นอีกฝ่าย (คนหนึ่งได้คนหนึ่งเสีย แต่ทั้งระบบได้เท่าเดิม) เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่นักลงทุนทั้งกลุ่มเลิกถือหุ้นยาวและพยายามเอาชนะกันเอง การเล่น เกมหุ้น แบบนี้ระหว่างกันจัดเป็น Zero-sum game แม้การเล่นเกมแบบนี้จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ แต่ผลลัพธ์โดยรวมเป็นศูนย์
แต่นั้นคือตลาดหุ้นที่ยังขาดความจริงข้อหนึ่งครับ ถ้าเมื่อไหร่มีการพยายามซื้อขายกันเอง สิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามาคือ “ค่าใช้จ่าย” (Costs) ต้นทุนธุรกรรมทุกอย่างจะลดผลตอบแทนทั้งที่ผู้ชนะได้ไป และยังซ้ำเติมคนที่พลาด้วย จากเดิมไม่มีค่าใช้จ่ายมันเป็นแค่ zero-sum ผลลัพธ์โดยรวมศูนย์ พอเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายลงไป เท่ากับทั้งระบบมีแต่เสียเพิ่มขึ้น ท้ายสุดมันก็จะนำทั้งระบบไปสู่ Negative-sum game ที่ผลลัพธ์ทั้งหมดติดลบ
ก่อนการถูกหักค่าใช้จ่าย การพยายามเอาชนะตลาดให้ผลลัพธ์โดยรวมเป็นศูนย์ แต่หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว การพยายามเอาชนะตลาดหุ้น เป็นเกมที่มีผลลัพธ์ติดลบ เพราะฉะนั้น การลงทุนโดยที่คุณพยายามจะเอาชนะตลาดหุ้นจึงเท่ากับคุณพาตัวเองไปเล่นในสนามที่เป็นเกมของผู้แพ้ (Beating the stock market is a loser’s game.)
สำหรับนักลงทุนที่พยายามจะเอาชนะตลาด คุณกำลังเล่นเกมที่ทำให้ตัวเองก้าวไปสู่เกมแห่งผู้แพ้ แต่ในทางกลับกันมีผู้ที่ชนะในเกมนี้คือ ว่าแต่ใครคือผู้ชนะ? อาจมีคนตอบถูก
ผู้ชนะก็คือคนที่เก็บค่าใช้จ่ายจากนักลงทุนนั่นเองยังไงล่ะ บุรุษผู้คอยเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าต๋ง (the man in the middle) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือค่าคอมที่โบรกเกอร์เรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนอันแสนแพง ค่าธรรมเนียมขาย ค่าที่ปรึกษาการลงทุน ค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจ ค่าการตลาด ค่าที่ปรึกษาบัญชี-กฎหมาย ฯลฯ รวม ๆ แล้วก็คือค่าใช้จ่ายจากส่วนงานต่าง ๆ ในตลาดทุนนั่นล่ะครับ
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ถูก Warren Buffett เขียนในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Berkshire ครั้งหนึ่งว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คำนวณแล้วอาจจะถึง 20% ของผลตอบแทนจากกำไรที่ธุรกิจทำได้ในแต่ละปี ถ้าธุรกิจทั้งตลาดหุ้นทำผลกำไรได้ 1 ล้านล้าน นักลงทุนทั้งระบบปีหนึ่งก็จะเสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 ล้าน เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ นักลงทุนควรจะลงทุนแล้วก็นั่งเฉย ๆ เพื่อลดการเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
นอกจากนี้ John Bogle ยังเขียนไว้ในหนังสือ The Little book of Common Sense Investing บอกให้เราคิดภาพของคาสิโน ตัวคาสิโนและบ่อนคือผู้ชนะระยะยาวที่แท้จริง จากการเก็บค่าต๋งค่าธรรมเนียมที่คุณจ่ายเพื่อเล่นพนัน ในตลาดหุ้นก็เช่นกัน คนเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็คือผู้ชนะแบบเงียบ ๆ (“Our financial croupiers always win. In the Casino, the house always wins. Investing is no different.”)
สุดท้ายแล้วการพยายามเอาชนะตลาดหุ้นก็นำไปสู่เส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะนำคุณไปสู่ผลลัพธ์ติดลบของเกมแห่งผู้แพ้ วิธีที่จะทำให้เราเล่นเกมที่ชนะ คือ คุณต้องลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นและถือยาว (Buy-and-hold strategy) โดยลงทุนด้วยวิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนเท่าตลาดหุ้น ลงทุนถือหุ้นส่วนใหญ่หรือทั้งตลาด ลงทุนถือยาวไปเรื่อย ๆ อาจจะตลอดเวลาและตลอดไปให้นานที่สุด โดยจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ หรือน้อยที่สุด นักลงทุนต้องเลิกที่จะพยายามจับจังหวะตลาด เลิกที่จะทำการซื้อขายบ่อย ๆ เลิกที่จะเปลี่ยนกองทุนไปมา เลิกที่จะคาดการณ์ตลาด เลิกที่จะพยายามหากองทุนผู้ชนะ และ เลิกที่จะพยายามชนะตลาด และทั้งหมดเหล่านี้ก็นำไปสู่หลักการที่เป็น คำแนะนำของนักลงทุนสำคัญหลายคน ที่ว่า
“จงลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด”
และต้องไม่ลืมหลักการเรื่อง ลงทุนระยะยาว ด้วยครับ