ค่าใช้จ่ายกองทุน

ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม (ทั้งหมด!!)

นักลงทุนทุกท่านควรระลึกถึงกฎสำคัญของการลงทุนอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ผลตอบแทนสุทธิที่ท่านจะได้รับ คือ “ผลตอบแทนหลังหักจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว” ขอให้อ่านทวนซ้ำอีกสัก 3 รอบ 

ก็คล้ายๆเงินเดือนครับ สมมติเราเงินเดือน 30,000 บาท แต่ใช้จ่ายเดือนละ 25,000 จริงๆ แล้วผลตอบแทนของการได้รับเงินเดือนเราก็มีเพียงแค่ 5,000 ในทางธุรกิจก็เช่นกัน บริษัทแห่งหนึ่งมีรายได้ 100 ล้านบาท ถ้าหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมถึงภาษี มันอาจจะเหลือ “กำไรสุทธิ” แค่ 1 ล้านบาทก็ได้ เพราะฉะนั้น กลยุทธ์อย่างหนึ่งในการทำธุรกิจคือ มุ่งสู่ความเป็น “Cost Leader Ship” หรือบริษัทที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มันอาจจะกลายเป็นที่หนึ่งหรือผู้นำเลยก็ได้

ในการลงทุนก็เหมือนกันครับ นักลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดอาจจะเป็นผู้ชนะนักลงทุนกว่า 90% ในตลาดหุ้นได้เลยทีเดียว ยกตัวอย่าง ในระยะยาว ถ้าตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ 10% ทบต้นต่อปี (คือ ถ้าคุณถือหุ้นทุกบริษัทตามสัดส่วนดัชนีตลาดหุ้นคุณจะได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ 10% ต่อปี) แสดงว่า ไอ้เจ้า 10% นี่คือ ผลตอบแทนขั้นต้น (Gross Return) ซึ่งนักลงทุนจะได้เท่ากัน แต่เนื่องจากผลตอบแทนขั้นต้นนี้จะถูกหักโดยค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนเสียไปอีก เพราะฉะนั้นผลตอบแทนสุทธิ (Net Return) ที่นักลงทุนได้รับจะไม่เท่ากัน และผมก็อาจจะพูดได้เกือบเต็มปากว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องจ่ายอะไรไปบ้าง! นักลงทุนหลายท่านเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะการซื้อกองทุนรวม โดยอาจจะไม่รู้ด้วยว่า ตัวเองต้องเสียค่าใช้จ่ายรายปี (แต่หักเก็บทุกวัน) และจริงๆก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ อุตสาหกรรมกองทุนรวมจะพยายามพูดถึงค่าใช้จ่ายด้วยเสียงที่เบาดังเสียงกระซิบ คือเขาไม่ได้ปิดบังนะครับ มีการเปิดเผย ถ้านักลงทุนที่ขยันมากๆ จะค้นพบค่าใช้จ่ายพวกนี้ แต่ถ้านักลงทุนไม่ใส่ใจ เขาก็ไม่พูดหรอกว่าพวกท่านต้องจ่ายออกไปเท่าไหร่บ้าง และเวลาขายจริงๆ พวกเขาก็ทำเป็นลืมๆกันไป และนี่ก็คือ ประเภทค่าใช้จ่ายต่างๆที่นักลงทุนจะต้องเสียครับ

(1)  ค่าธรรมเนียมซื้อขายขาเข้า-ขาออก (Front-Back Load)
(2) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Transaction Fee)
(3) ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี (Total Expenses)
(4) ค่าใช้จ่ายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน (Turn Over Rate Expense)
(5) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ภาษี (Other Expenses)

อธิบายทีละตัวเลยดีกว่า

(1)  ค่าธรรมเนียมซื้อขายขาเข้า-ขาออก (Front-Back Load)

ค่าธรรมเนียมอันนี้จำง่ายมาก เวลามีการซื้อหรือขายกองทุน ท่านจะถูกหักเงินออกไปตามเปอร์เซ็นต์ที่เขากำหนดไว้ เช่น กองทุนระบุว่า กองทุนมี ค่าธรรมเนียมการขาย 2% (Front Load) ถ้านักลงทุนต้องการซื้อกองทุนด้วยเงิน 100 บาท ท่านก็จะถูกหักไปร้อยละสองหรือ 2 บาท เท่ากับว่าเงินที่จะถูกนำไปลงทุนจริงคือ 98 บาท ถามว่ามันถูกหักไปไหน แท่น แท้น ก็ถูกหักไปจ่ายให้คนขายกองทุนทั้งหลายไงครับ อันได้แก่ ตัวแทนขายทั้งหลายไม่ว่าจะ ธนาคาร โบรกเกอร์ ท่านซื้อกับใคร front load ก็จะถูกหักไปให้เขาเหล่านั้นนั่นล่ะ เพราะฉะนั้น ต้องระวัง “แรงจูงใจ” บางอย่างให้ดี โปรดระวังคนขายที่พยายามขายกองทุนที่มี Load เยอะๆ (อันอาจจะมาจากเป้ายอดอะไรบางอย่าง) ในมุมกลับกันบางกองทุนไม่เก็บ Front แต่เก็บ Back Load หรือค่าธรรมเนียมรับซื้อคืนแทน สมมติท่านลงทุนมา 1 ปีเงินกลับมาเป็น 100 บาท ถ้า Back Load 2% เงินเวลาขายคืนท่านจะได้รับจริงแค่ 98 บาท ไอ้เจ้า back load ที่ว่าก็จะเข้าสู่กระเป๋าของบริษัทจัดการกองทุนหรือคนอื่นตามที่พวกเขาตกลงกัน นักลงทุนท่านไหนที่ชอบซื้อขายกองทุนบ่อยๆ ไอ้พวกค่าธรรมเนียมเหล่านี้นี่ล่ะครับจะกัดกินเงินของท่านรวดเร็วมาก และค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย คือ 1-2% สำหรับกองทุนหุ้น, กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ โปรดระวังจ่าย 100 ได้ลงทุนจริง 98-99 บาท ขายทิ้งแทนที่จะได้ 100 ก็ได้ 98 บาท (ดูค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้จากหนังสือชี้ชวนครับ)

(2) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Transaction Fee)

ค่าใช้จ่ายตัวนี้เป็นค่าใช้จ่ายประเภทเดียวที่เรียกว่า ค่าใช้จ่ายเพชรน้ำดี สาเหตุก็เพราะ มันถูกเก็บเข้ากองทุนรวมครับ อธิบายก่อนว่า สมมติมีนักลงทุนถือกองทุนอยู่ 100 ท่าน ถือกองทุนกันมานานมาก ไม่ได้ซื้อไม่ได้ขาย วันหนึ่งก็มีนักลงทุนคนๆหนึ่งเข้ามาร่วมลงทุนด้วย แต่ซื้อขายบ่อยๆดังพายุ การซื้อขายแต่ละครั้งรบกวนกองทุนต้องซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ในกองทุนเพื่อให้ได้สัดส่วนลงทุนที่ดี ท่านจะเห็นได้ว่า มันเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนที่อยู่เฉยๆต้องมาควักเงินจ่ายให้คนที่ชอบซื้อขายบ่อยๆ เพราะการซื้อขายหลักทรัพย์ทุกครั้ง กองทุนต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าคอมมิชชั่นให้ broker เป็นต้น เพราะฉะนั้น ไอ้เจ้า transaction fee จึงเก็บจากนักลงทุนที่ซื้อหรือขายกองทุน เพื่อจะได้ไม่รบกวนนักลงทุนที่ถือกองทุน และถ้าเก็บไปแล้ว เวลาจ่ายจริงยังเหลือ ก็จะเก็บเข้ากองทุนครับ จัดว่าได้กำไรอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มีประโยชน์ (เพียงตัวเดียว-สำหรับกองทุนรวม) ค่าเฉลี่ยในไทยจะเก็บ 0.1-0.2% ของสินทรัพย์ที่ซื้อหรือขายกองทุนครับ (ดูค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้จากหนังสือชี้ชวนครับ)

(3) ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี (Total Expenses)

ค่าใช้จ่ายตัวนี้ล่ะครับที่มหึมามหาศาลที่สุด และนักลงทุนต้องกังวลให้มากที่สุด ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่างๆของกองทุนครับ ตัวหลักที่สุดคือ “ค่าใช้จ่ายในการจัดการ” (Management fee) ซึ่งจ่ายให้กับผู้จัดการกองทุน หรือจ่ายให้กับบริษัทจัดการกองทุนรวม (และส่วนใหญ่พวกเขาเอาไปจ่ายให้กับตัวแทนขายด้วย!) นอกจากนี้ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหลายแหล่ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านทะเบียน ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย ค่าใช้จ่ายด้านการรับฝากทรัพย์สิน ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการจัดการตกประมาณ 1-1.5% สำหรับกองทุนหุ้น และพอบวกค่าใช้จ่ายจัดการอื่นๆก็จะรวมกันได้ถึง 1.5-2% ต่อปีเลยทีเดียว และแม้มันจะชื่อว่าต่อปี แต่เก็บจริงๆ เก็บเฉลี่ยทุกวันครับ คุณถือกองทุนแค่วันเดียวคุณก็โดนเก็บแล้ว ไม่ต้องกลัวเรื่องพวกนี้เขาไม่ลืมแน่ๆ

ความน่ากลัวอยู่ตรงนี้ครับ จำได้ไหมว่า ผลตอบแทนขั้นต้นของตลาดหุ้นระยะยาวคือ 10% ต่อปี ต่อให้บรรดากองทุนหุ้นทั้งหลายจะโหมโฆษณาว่าตัวเองมีฝีมือคัดเลือกหุ้นขนาดไหนก็ตาม ระยะยาวกองทุนหุ้นกว่า 2 ใน 3 หรือแม้กระทั่ง 3 ใน 4 กองทุน ไม่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ ถ้าพวกเขาทำผลตอบแทนได้เท่าตลาดหุ้นคือ 10% ต่อปี ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี (Total Expenses Ratio) ที่ตก 2% ต่อปี หมายความว่า ทุกปีกองทุนจะหักค่าใช้จ่ายจากสินทรัพย์เราไป 2% ต่อปีเรื่อยๆ เท่ากับว่าผลตอบแทนที่เราจะได้รับจริงก็จะเหลือ 8% ต่อปี และถ้าท่านอ่านผ่านๆ ผมจะเน้นให้เห็นว่า

2% ต่อปีเท่ากับ 20% ของผลตอบแทนในระยะยาวของตลาดหุ้น!”

ยิ่งท่านถือกองทุนนานเท่าไหร่ ไอ้เจ้าตัวนี้ล่ะครับที่จะกัดกินผลตอบแทนระยะยาวที่ควรจะได้รับ (เราสามารถดูค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้จาก ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญหรือรายงานประจำปีของกองทุน)

(4) ค่าใช้จ่ายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน (Turn Over Rate Expense)

ค่าใช้จ่ายตัวสุดท้ายนี่ล่ะครับ ที่ผมมั่นใจว่า 90% ของนักลงทุนที่ลงทุน โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไม่รู้จัก ถ้านักลงทุนท่านใดที่เคยซื้อขายหุ้นด้วยตัวเอง จะรู้ว่าทุกครั้งที่เราซื้อขายหุ้นเราต้องเสียค่านายหน้า (commission) ให้กับบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ เช่นกัน กองทุนรวมหุ้นเวลาซื้อขายหุ้นก็จะต้องเสียค่านายหน้าในการซื้อขายหุ้นเหมือนกัน แสดงว่า ยิ่งกองทุนซื้อขายหุ้นบ่อยเท่าไหร่ (มี Turn over rate สูง) ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายพวกนี้ทะยาน และค่าใช้จ่ายตรงนี้จะมองไม่เห็นครับ เพราะมันไม่ถูกรวมในค่าใช้จ่ายจ่ายประเภท (3) หรือค่าใช้จ่ายรวมต่อปี (Total Expenses) แต่จะถูกแยกออกมา นั่นแสดงว่า กองทุนที่มีการซื้อขายหุ้นบ่อยๆเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะลดทอนผลตอบแทนจากการลงทุนของนักลงทุน เท่าที่ผมเคยสำรวจแบบกว้างๆ ไอ้เจ้าค่าใช้จ่ายตัวนี้ ตก 0.1-1.0% คือช่วงกว้างมาก (และเคยเห็นบางกองสูงถึง 1.5% ด้วย) ค่าใช้จ่ายตัวนี้สำคัญมากๆ ควรเฝ้าติดตามให้ดี หรืออีกวิธีคือดูจากสไตล์ลงทุนของบริษัทจัดการของท่านว่าเป็นพวก ถือลงทุนระยะยาวหรือเก็งกำไรระยะสั้น ยิ่งซื้อขายหุ้นบ่อยรัวๆเท่าไหร่ ให้พึงระวังให้ดี (ให้ดูค่าใช้จ่ายตรงนี้จากรายงานประจำปี ส่วนที่เรียกว่า รายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์)

(5) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ภาษี (Other Expenses)

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตัวที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ  ค่าใช้จ่ายด้านภาษี โดยนักลงทุนที่เลือกให้กองทุนจ่ายกำไรหรือส่วนต่าง Capital Gain จาก NAV ออกมาเป็นเงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% อาจจะดูไม่เยอะแต่ระยะยาวก็ไม่ใช่น้อยๆนะครับ ถ้าคุณลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว การลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผลไม่สมเหตุสมผลเลย
อีกอันหนึ่งที่ผมพบในบทความกองทุนรวมของต่างประเทศ เขาเรียกว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการถือครองเงินสดในกองทุนหุ้น (Cash Drag) คือ ปกติการที่คุณจะได้ผลตอบแทนเท่าตลาดหุ้นคุณต้องถือหุ้น 100% แต่กองทุนมักจะถือเงินสดจากการเก็งว่าตลาดหุ้นจะไม่ดีหรือถือด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้ ระยะยาวเกิดความเสียหายจากการถือเงินสดที่ให้ผลตอบแทนต่ำ อีกประมาณ 0.1-0.5% ต่อปีครับ

มาถึงจุดนี้ ผมจะยกตัวอย่างให้ดูว่า ค่าใช้จ่ายพวกนี้ทำร้ายนักลงทุนอย่างไร ขออนุญาตยกกองทุนหุ้นกองหนึ่งมาล่ะกันครับ เริ่มกันเลย (เป็นข้อมูลจริงนะครับ) กองทุนนี้มีค่าใช้จ่ายดังนี้

(1)  ค่าธรรมเนียมซื้อขายขาเข้า-ขาออก (Front-Back Load) = 1.00%
(2) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Transaction Fee) = ไม่มี
(3) ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี (Total Expenses) = 1.76%
(4) ค่าใช้จ่ายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน (Turn Over Rate Expense) = 0.51%
(5) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ภาษี (Other Expenses) = ไม่มีการจ่ายปันผล

เท่ากับว่า ถ้าเราลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาท เราจะถูกหัก front load ไป 1.00% เหลือลงทุนจริง 990,000 บาท แต่กองทุนนี้คิดค่าใช้จ่ายรวมต่อปี 1.76% + มีค่าใช้จ่ายจาก turn rate อีกประมาณ 0.5% = เราจะเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 2.25% ต่อปีครับ และถ้าสมมติกองทุนทำผลตอบแทนได้เท่ากับตลาดหุ้นในระยะยาว เมื่อถูกหักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะเหลือผลตอบแทนแค่ 7.75% ต่อปี เมื่อเราลงทุนผ่านไปเป็นเวลา 50 ปี (สมมตินักลงทุนถือตั้งแต่อายุ 20 และมาดูอีกทีตอนอายุ 70) เงินก้อนนี้จะกลายเป็น 41.35 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ เท่ากับ 41 ล้านบาท

ท่านอาจจะดีใจ แต่ถ้าเงินก้อนเดียวกัน 1 ล้านบาท ที่ลงทุนในตลาดหุ้นและได้ผลตอบแทนเท่าตลาดหุ้น คือ 10% ต่อปี เงินก้อนนั้นจะกลายเป็น 117.4 หรือถ้วนๆคือ 117 ล้านบาท !!!!!!!!

ผมถามคำเดียวง่ายๆเลย เงินเกือบ 80 ล้านบาท หายไปไหน ? ทำไมเราถึงได้ผลตอบแทนแค่  35% ของผลตอบแทนที่ตลาดหุ้นทำได้ ( 41 จาก 117 ล้าน) อันนี้ยังไม่รวมค่าเสียหายจาก cash drag ซึ่งอาจทำให้กองทุนได้ผลตอบแทนแค่ 7.25-7.50% ต่อปี หรือเราได้เงินแค่ประมาณ 30-35 ล้าน (ร้อยละ 25-30% ของผลตอบแทนที่ควรได้)

นี่ล่ะครับ มหัศจรรย์ของค่าใช้จ่ายทบต้น แม้จะเสียค่าใช้จ่ายแค่ประมาณ 25% ของผลตอบแทนตลาดหุ้น (แทนที่จะได้ผลตอบแทน 10% ต่อปีต้องถูกหักไปประมาณ 2.5% ต่อปี) แต่ระยะเวลาลงทุนที่นานขึ้น คุณจะไม่ได้ผลตอบแทน 75% ที่เหลือ แต่คุณจะได้แค่ 30% กว่าๆเท่านั้น และผลตอบแทนที่หายไปกว่า 70% ก็คือสิ่งที่คุณจ่ายให้กับอุตสาหกรรมกองทุนรวม อุตสาหกรรมโบรกเกอร์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และอื่นๆอีกมากมาย

วิธีลงทุนที่ดีที่สุด จึงเป็นวิธีลงทุนโดยอาศัย “กองทุนดัชนี” (Index Fund) ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เพราะมันจะทำให้ท่านได้ผลตอบแทนระยะยาวเบื้องต้นเท่ากับผลตอบแทนของตลาด (อาจจะเป็นตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้) และด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ด้วยการถือครองหลักทรัพย์ที่นานทำให้มี turn over rate น้อยมาก ค่าใช้จ่ายต่างๆก็จะน้อยลงไปอีก ทำให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายของท่านสูงกว่านักลงทุนโดยเฉลี่ยครับ และ Cost Leader Ship มีในการลงทุนอย่างแน่นอน นักลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดอาจจะเป็นผู้ชนะนักลงทุนกว่า 90% ในตลาดหุ้นได้เลยทีเดียว ขออ้างคำพูดของ Warren Buffett ประกอบหลักการนี้เป็นการปิดบทความ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทเบิร์กไชร์ฯ ว่า

“Let me add a few thoughts about your own investments.  Most investors, both institutional and individual, will find that the best way to own common stocks is through an index fund that charges minimal fees. Those following this path are sure to beat the net results (after fees and expenses) delivered by the great majority of investment professionals.”

นักลงทุนส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นนักลงทุนมืออาชีพ และ นักลงทุนรายย่อย จะพบว่า วิธีที่ดีที่สุดในการเป็นเจ้าของหุ้นสามัญก็คือ การซื้อกองทุนดัชนีซึ่งคิดค่าธรรมเนียมต่ำ  คนที่ทำตามวิธีนี้มั่นใจได้ว่าจะสามารถได้ผลตอบแทน (หลักหักค่าธรรมเนียม และ ค่าใช้จ่าย) สูงกว่านักลงทุนมืออาชีพส่วนใหญ่”

เพราะฉะนั้นมาทวนกฎสำคัญในการลงทุนอีกครั้งครับ ผลตอบแทนสุทธิที่ท่านจะได้รับ คือ “ผลตอบแทนหลังหักจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว” ยิ่งค่าใช้จ่ายน้อยลงเท่าไหร่ ประหยัดหนึ่งบาทเท่ากับได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหนึ่งบาทครับ และในการลงทุนอาจจะไม่ใช่แค่ 1 บาท แต่จะได้กลับคืนมาเป็นร้อยเป็นพันบาทเลยทีเดียว

ใส่ความเห็น