เคยมีนักลงทุนหลายท่านถามว่า อยากจะซื้อกองทุนสะสมทุกเดือนแบบที่เคยแนะนำจะทำยังไงดี ตัดบัญชีอะไรได้บ้าง? แล้วทำยังไง ต้องติดต่อที่ไหน เลยคิดว่าน่าจะเขียนสักบทความ ใช้ประสบการณ์ที่ส่วนตัวมีเลขผู้ถือหน่วยครบเกือบทุกบลจ.ล่ะครับ อิอิ ผมจะเขียนเฉพาะเจ้าหลักๆล่ะกัน จะละเอียดหน่อยสำหรับเจ้าที่ผมใช้บ่อยนะครับ ขออนุญาติเขียนนิยามคำซ้ำๆไว้ก่อนจะได้เข้าใจตรงกัน
ก. บัญชีรับเงิน = บัญชีที่เราผูกกับกองทุนไว้ เวลาขายกองทุน เงินจะเข้าบัญชีอันนี้
ข. บัญชีตัดเงิน = ส่วนมากใช้เวลาซื้อในเน็ต มันจะตัดเงินจากบัญชีนี้ที่เราทำเรื่องไว้ไปซื้อกองทุน
ค. ซื้อครั้งแรก = การซื้อกองทุนครั้งแรก เช่น ไปเปิดกองทุนที่ธนาคาร จะต้องซื้อขั้นต่ำตามกำหนด
ง. ซื้อครั้งต่อไป = การซื้อกองทุนครั้งหลังๆ (หลังจากเปิดกองทุนแล้ว) จำนวนเงินมักจะต่ำกว่าครั้งแรก
จ. เอกสารซื้อกองทุนครั้งแรกมักจะไม่ต่างกัน ต้องมีสมุดบัญชีออมทรัพย์(ตามที่แต่ละเจ้าให้ใช้ธนาคารไหนได้บ้าง) บัตรประจำตัวประชาชน และ “เงินขั้นต่ำ” แล้วแต่ว่าจะซื้อครั้งแรกหรือครั้งอื่น ออ ถ้าคนไม่มีสมุดบัญชีออมทรัพย์แล้วเปิดใหม่ ก็แนะนำเตรียม 500 บาทสำหรับเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรก ส่วนบัตรเอทีเอ็มนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ปฏิเสธไปครับ
(1) บลจ.กสิกรไทย (K-Asset)
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเปิดกองทุนเจ้านี้คือ ไปธนาคารกสิกรไทยครับ ก็แจ้งเรื่องว่าจะมาเปิดกองทุน เจ้านี้จะโหดหน่อย ซื้อกองทุนครั้งแรกขั้นต่ำ 5,000 บาททุกครั้งที่เปิดกองใหม่ และครั้งต่อไปก็ 5,000 บาทเหมือนเดิม (ยกเว้นบางกองเช่น K-Money, K-MPLUS พวกนี้ขั้นต่ำ 500 ทุกครั้งที่ซื้อ) บัญชีรับเงินจะผูกได้แค่ บัญชีธนาคารกสิกร เท่านั้น พอเปิดเสร็จก็ได้สมุดมาเล่มหนึ่ง หลังจากนั้นวิธีซื้อขายกองทุนที่สะดวกสุดของเจ้านี้คือ K-Invest ซึ่งถ้าใครมี K-Cyber Banking ที่ไว้โอนเงินของธนาคาร เราสามารถ login เข้าไปสมัคร K-Invest ได้ ก็กรอกๆไปครับ พอใช้งานได้ เราก็จะซื้อ ขาย หรือตั้งให้มันซื้อล่วงหน้าทุกเดือนได้ผ่านเน็ต ผมว่าเจ้านี้ทำสะดวกนะ หน้าตารายการไม่ค่อยรก แล้วก็สมัยนี้มันโชว์ใน K-Mobile Banking Plus ก็ซื้อกองทุนผ่านแอพมือถือได้ด้วย แล้วก็สำหรับคนที่ตั้งใจจะตัดเงินซื้อกองทุนสะสมทุกเดือน เจ้านี้มีสองวิธีคือ ตั้งค่าซื้อรายเดือนใน K-Invest โดยให้หักตัดบัญชีได้ 5 ธนาคารคือ KBANK SCB BBL BAY TMB (โหลดแบบฟอร์มหักบัญชีแล้วส่งเรื่องไปยังบลจ.กสิกรโดยตรงเรื่องจะไวกว่าไปธนาคารมาก) กับอีกวิธีคือ ไปธนาคารแล้วบอกเขาอยากตัดซื้อรายเดือน เขาก็จะให้กรอกฟอร์ม ตรงนี้ขั้นต่ำในการซื้อรายเดือนคือ 500 บาทครับ
(2) บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM)
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเปิดกองทุนเจ้านี้คือ ไปธนาคารไทยพาณิชย์ ก็แจ้งเรื่องว่าจะมาเปิดกองทุน ซื้อกองทุนครั้งแรกขั้นต่ำ 5,000 บาททุกครั้งที่เปิดกองใหม่ แต่ครั้งต่อไปเหลือ 1,000 บาท SCBAM นี่ลำบากหน่อยตรงที่ “จะรับเงินหรือตัดเงินซื้อกองทุนก็ใช้ได้แค่บัญชีออมทรัพย์ไทยพาณิชย์เท่านั้น” แต่ค่อนข้างจะสะดวกตรงที่ถ้าใครมี SCB Easy Net ธนาคารออนไลน์ ท่านสามารถเอาเลขบัญชีกองทุนไปเพิ่มตรง Easy Fund แล้ววันถัดมาเราก็สามารถตั้งค่าให้ซื้อกองทุนรายเดือนได้ (Advance Purchase) ครับ เช่น ซื้อทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน หักผ่านบัญชีไทยพาณิชย์ เลขที่ xxx ถ้าจำไม่ผิดเจ้านี้ตัดเงินไวนะครับ ตัดตอนตีหนึ่งถึงตีห้าของวันที่ท่านตั้งซื้อ แล้วก็ถ้าจะตั้งแผนใหม่แบบเบื่อวันที่ 1 เอาเป็นวันที่ 20 ต้องยกเลิกแผนเดิมก่อนนะครับ ไม่งั้นมันจะมี 2 แผนตัดเงินซ้ำกัน โดยส่วนตัวคิดว่า SCBAM ซื้อขายกองทุนผ่านเน็ตหรือมือถือค่อนข้างสะดวกเป็นลำดับต้นๆเลยล่ะ
(3) บลจ.บัวหลวง (BBLAM)
สะดวกสุดคือไปธนาคารกรุงเทพ ซื้อกองทุนครั้งแรกขั้นต่ำ 500 บาททุกครั้งที่เปิดกองใหม่ ครั้งต่อๆไปก็ 500 บาท (ช่วงหลังๆไม่แน่ใจว่ามีกองไหนยังต้องเปิด 1,000 หรือเปล่านะครับ สมัยก่อนต้องเปิด 1 พันแต่ปรับลงมา) บัวหลวงจะคล้ายๆกับไทยพาณิชย์ “จะรับเงินหรือตัดเงินซื้อกองทุนก็ใช้ได้แค่บัญชีออมทรัพย์กรุงเทพเท่านั้น” เจ้านี้พิเศษหน่อยตรงที่เราต้องทำเรื่องขอให้เพิ่มเลขกองทุนเข้า iBanking ของธนาคาร แต่ถ้าเพิ่มแล้วเราก็จะซื้อขายกองทุนได้สะดวกบนเน็ตและมือถือ (เจ้านี้ค่อนข้างทำแอพสบายตา) ความพิเศษอีกอย่างคือบลจ.บัวหลวงซื้อขายผ่านบัตรเอทีเอ็มได้ (ทำเรื่องขอผูกบัญชีกองทุนกับบัตรก่อนนะครับ) ก็ไปกดๆซื้อที่ตู้ แล้วก็สามารถซื้อขายผ่านบัวหลวงโฟน 1333 ได้อีก แต่สำหรับคนที่ต้องการซื้อรายเดือนสะสม ต้องกรอกแบบฟอร์มที่ธนาคารครับ ที่นี่เรียกว่า ซื้อถัวเฉลี่ยรายเดือน ขั้นต่ำก็ 500 บาทครับผม แต่เวลาจะแก้ไขก็ต้องมากรอกแบบฟอร์มแก้ใหม่ด้วย
(4) บลจ.กรุงศรี (KSAM)
เจ้านี้คือในบรรดาระบบซื้อขาย online ผมชอบมากที่สุด กรุงศรีนี่โดยปกติเปิดกองทุนครั้งแรก 2,000 ครั้งต่อไปเท่ากัน แต่สำหรับบางกองเช่น KFSPLUS เข้าใจว่าจะซื้อได้ที่ 1,000 ต่อครั้งครับ ก็ไปธนาคารกรุงศรีนี่ล่ะ ข้อเด่นสุดที่ดีมากๆสำหรับค่ายนี้คือ คุณตัดเงินและรับเงินผ่านธนาคารได้หลากหลาย ประมาณ 7 แห่ง คือ BBL SCB KBANK KTB BAY TMB LHBANK ตอนซื้อเสร็จบอกเขาสมัคร @ccess Online ด้วย ระบบนี้ทำให้คุณซื้อขายกองทุนออนไลน์ได้ และผูกบัญชีได้ครบเลย (ส่วนตัวผมผูกบัญชีไว้ 6 ธนาคารทั้งตัดเงิน รับเงินขายคืน แต่ละธนาคารผูกได้หลายเลขนะครับ เช่น ผมอาจผูกบัญชีออมทรัพย์กรุงไทย 2 บัญชีเลยก็ได้) จึงเหมาะจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น คุณซื้อ KFSPLUS (กองทุนตลาดเงินกึ่งตราสารหนี้ระยะสั้น) ไว้พักเงิน สมมติคุณได้เงินเดือนผ่าน SCB แต่มีบัตร ATM ของ KBANK คุณสามารถตั้งค่าให้หักเงินผ่าน SCB ซื้อกองทุน แล้วขายกองทุนให้ไปยังบัญชี KBANK ได้ ที่สำคัญคือ กรุงศรีนี้ตั้งค่าซื้อหรือขายกองทุนรายเดือนในเน็ตได้ง่ายๆเลยครับ คือใครเปิดกองทุนกรุงศรี เลือกแผนอัตโนมัติก็ตั้งค่าซื้อสะสมรายเดือนได้ล่ะ เลือกได้ด้วยว่าจะให้หักบัญชีธนาคารไหน(ไปทำเรื่องสมัครหักเงินฝากก่อน ไปธนาคารหรือจะปริ้นต์ส่งไปบลจ.โดยตรงก็ได้ครับ ใครสะดวกก็ไปตรงชั้น 1 ตึกเพลินจิตทาวเวอร์ตรงข้างๆเมอคิวรี่กับอาคารต้นสนชิดลมอ่ะครับ) แต่แนะนำเลย สมัคร @ccess ซะ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ
(5) บลจ.ทหารไทย (TMBAM)
ในสมัยก่อน บลจ. ทหารไทยสามารถผูกบัญชีตัดเงินรับเงินได้เยอะมาก คือทุกแบงก์เกือบครบ ทั้ง BBL KTB SCB KBANK BAY TMB TBANK(ธนชาต) UOB LHBANK (ทำทุกอย่างแบบที่อธิบายของกรุงศรีได้เลย เรื่องพักเงิน) แต่ตอนนี้ (หลังก.ย. 2560) สามารถทำได้เฉพาะผู้ลงทุนที่เปิดบัญชีกับบลจ.โดยตรงหรือตัวแทนขายอื่น เพราะ คนที่เปิดบัญชีกองทุนกับธนาคาร TMB จะผูกบัญชีได้เฉพาะกับบัญชีออมทรัพย์ธนาคารทหารไทยเท่านั้น! ทำให้ความสะดวกของเจ้านี้ลดลงไปมาก อย่างไรก็ดี เจ้านี้ยังมีข้อดีในการช่วยใออม เพราะกองทุนทหารไทยเปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 ครั้งต่อไปคุณซื้อ 1 บาทก็ได้ ส่วนการซื้อสะสมกองทุนรายเดือนจะกรอกแบบฟอร์มที่ธนาคารก็ได้ให้ตัดเงิน แต่แนะนำเหมือนกันว่าสมัคร Fundlink Online ของบลจ.ซะ (เจ้านี้เป็นอีกเจ้าที่น่าชมในเรื่องระบบออนไลน์ที่ข้อมูลดีและจัดการง่าย)
(6) บลจ.ธนชาต (Thanachart Fund)
ระบบคล้ายๆบลจ.กรุงศรีและทหารไทย ซื้อครั้งแรกไปธนาคารธนชาต เปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งต่อไป 1,000 เท่ากัน จะทำเรื่องตัดเงินซื้อสะสมทุกเดือนก็กรอกใบคำขอที่ธนาคารก็ได้ แต่ก็แนะนำให้สมัคร Thanachart Fund online ด้วย เขาปรับปรุงใหม่ผมว่าใช้ง่ายและดีขึ้นเยอะ เราสามารถตั้งค่าซื้อขายกองทุนรายเดือนได้ในเน็ตครับ แต่ต้องทำเรื่องหักเงินรับเงินไว้ด้วย กรณีบัญชีหักเงินเจ้านี้ได้ 5 ธนาคาร SCB BBL KBANK BAY TBANK
(7) บลจ.กรุงไทย (KTAM)
ซื้อครั้งแรกไปธนาคารกรุงไทย เปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งต่อไป 1,000 เท่ากัน จะทำเรื่องตัดเงินซื้อสะสมทุกเดือนก็กรอกใบคำขอที่ธนาคารก็ได้ หรือจะตั้งค่าในเน็ตก็ได้ ระบบที่นี่ชื่อ KTAM Smart Trade ผูกได้ 5 บัญชีธนาคาร รับเงินตัดเงิน คือ KTB BBL SCB KBANK BAY แต่ต้องระวังนะครับอันนี้หมายถึงผูกกับ KTAM Smart Trade (ปริ้นต์ส่งไปบลจ.ที่ตึกเอ็มไพร์ง่ายสุด) เพราะถ้าซื้อผ่านธนาคารมันจะถูกระบบให้ผูกบัญชีรับเงินตัดเงินได้แค่ KTB หรือธนาคารกรุงไทย เตรียมสมุดออมทรัพย์กรุงไทยไปด้วย
คือต้องเข้าใจก่อนว่าหลายๆบลจ.นั้นการซื้อผ่านธนาคารคือ การซื้อขายผ่านตัวแทนเจ้าหนึ่ง คนที่เปิดกองทุนกับบลจ.ที่สำนักงานโดยตรงกับซื้อผ่านธนาคารจะได้ความสะดวกบางอย่างต่างกัน ถ้าไปเจอพนักงานขายที่ธนาคารยืนยันว่าไม่ได้ ใช้บัญชีธนาคารอื่นรับเงินไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจว่าอาจจะเพราะ 1)พนักงานไม่รู้ (เอาจริงๆนักลงทุนโปรๆหลายคนยังไม่รู้เลยครับ) 2)พนักงานรู้แต่ด้วยนโยบายธนาคารต้องบอกไปก่อนว่าใช้ได้แค่บัญชีตัวเอง ถ้าเรามั่นใจเราก็ยืนยันบอกไปครับ ไม่ก็ให้เขาโทรคุยกับบลจ.ก็จะเคลียร์กันง่ายขึ้น หรือบางเจ้าระบบทั้งมวล พนักงานธนาคารทำไม่ได้ คุณต้องส่งเอกสารไปเดินเรื่องเองที่สำนักงานบลจ.ก็มี หลังๆมีอะไรผมก็ติดต่อบลจ.โดยตรงง่ายกว่า
เพราะฉะนั้น อ่านบทความนี้แล้ว เวลาไปซื้อกองทุนที่ธนาคาร โดยเฉพาะเจ้าที่ตัดเงินรับเงินได้หลากหลาย เช่น กรุงศรี ทหารไทย ธนชาต ฯลฯ ถ้าจะเอาสะดวกสุดผมแนะนำไปสาขาที่ชินกับความแอดวานซ์ รู้เรื่องดี เช่น แถวสยาม พารากอน เซ็นทรัลเวิล์ด สีลม ชิดลม ย่านธุรกิจพวกนี้เขาจะพอทราบครับ
(9) บลจ.อื่นๆ
บลจ.ลูกแบงก์อื่นๆ เช่น ยูโอบี แลนด์แอนด์เฮาส์ ซีไอเอ็มบีพรินซิเพิล ผมเคยเปิดแต่ก็ลืมๆไปบ้าง แต่คอนเซปต์คล้ายๆกันครับ ส่วนมากจะผูกบัญชีกับธนาคารตัวเอง เช่น บลจ.ยูโอบี ไปซื้อที่ธนาคารยูโอบีก็มักจะต้องรับเงินตัดเงินผ่านออมทรัพย์ยูโอบี เจ้านี้ถ้าจำไม่ผิด ส่วนใหญ่ซื้อครั้งแรก 2,000 ครั้งต่อไป 1 บาท คล้ายๆทหารไทย (แต่บางกองก็ไม่นะครับต้องดูด้วย) เจ้านี้ตัดเงินซื้อทุกเดือนโดยการกรอกแบบฟอร์มที่ธนาคารหรือตั้งค่าซื้อรายเดือนผ่านออนไลน์ (จะให้ดีสมัคร online ด้วยนะครับ ข้อดีคือสามารถติดต่อขอทำเรื่องกับบลจ.ให้หักเงินตัดเงินรับเงินผ่านธนาคารอื่นได้ น่าจะ 5 ธนาคารนะครับ BBL SCB KBANK BAY TMB และ UOB ด้วย)
บลจ.เอกเทศอย่าง MFC แอสเซทพลัส ฯลฯ อันนี้ต้องไปสมัครเองที่สำนักงาน อย่าง MFC นี่อยู่ตึกแถวๆตรงแยกก่อนถึงอโศก (เข้าใจว่าอยู่ตึกเดียวกับสำนักบัญชีอีวาย) แล้วก็มีสาขาอื่นๆด้วย รายละเอียดคงต้องขอให้ลองศึกษาดู ผมจำไม่ได้ล่ะว่าขั้นต่ำอะไรยังไง เลือนราง 555
อีกบลจ.ที่จำแม่นหน่อย คือ Aberdeen ส่วนตัวไปซื้อที่ตึกบางกอกซิตี้ตรงแยกบีทีเอสช่องนนทรีอ่ะครับ ซื้อทุกครั้ง 10,000 บาท แต่สำหรับกองทุน Aberdeen Growth ถ้าซื้อแบบตัดเงินซื้อสะสมรายเดือนสามารถหักที่ 1,000 บาทต่อเดือนได้ครับ เพราะเข้าโครงการสานฝันที่พันบาทส่วนกองอื่นเข้าใจว่าขั้นต่ำซื้อรายเดือนจะสูงกว่านี้ ซื้อสะสมรายเดือนต้องกรอกแบบฟอร์มนะครับ วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับบลจ.นี้ในการซื้อขายคือสมัคร Online ซะ สามารถรับเงินตัดเงินได้ 4 ธนาคารคือ BBL SCB KBANK และ BAY คือยุ่งยากครั้งแรกแต่ครั้งอื่นๆสบายครับ
10) การซื้อกองทุนผ่านตัวแทนขายอื่น
ยกตัวอย่างเช่น อย่างโครงการ Open ของธนาคาร TMB ที่ซื้อกองทุนได้หลายเจ้า เช่น TMBAM, Aberdeen, UOBAM, CIMB-Principal, Manulife พวกนี้ก็จะมีข้อจำกัดเช่น จะซื้อขายก็ต้องไปธนาคารทหารไทย ต้องลองดูรายละเอียดครับว่าทำอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้อาจมีตัวแทนขายอื่นเช่น บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ บริษัทประกันชีวิตบางเจ้าก็ขายกองทุน หรือพวก Fund Supermart อย่าง โนมูระ เมจิคเวลท์ ฯลฯ พวกนี้ก็ดูรายละเอียดอีกที (ถ้าจะเอาให้สะดวกผมว่า โนมูระเนี่ยสะดวกมาก ผูกบัญชีได้ธนาคารเดียวก็จริง แต่ซื้อกองทุนได้ทุกเจ้าในประเทศเลยครับ โดยเฉพาะบัวหลวง ยาขมของพวกตัวแทนขายอิสระ เพราะเขาไม่ค่อยอนุญาตให้ใครขาย แต่โนมูระนี่เทียวไล้เทียวขื่อมานาน จนพึ่งได้เมื่อไม่กี่ปีก่อน)
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์นะครับ ไว้มีอะไรอัพเดตก็จะมาแก้เรื่อยๆให้ : )
ปล. บางธนาคารอาจจะมีรายละเอียดเล็กๆตรงบัญชีที่หักเงินรับเงิน บางเจ้าอาจจะบอก ผูก SCB ได้ แต่ระบุต้องเป็น SCB สาขากรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น หรือบางบลจ.ก็ไม่รับภาระค่าธรรมเนียมให้ เช่น อาจผูกบัญชีต่างจังหวัดแล้วเวลาหักเงินเราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมข้ามเขต แต่บางบลจ.ก็รับภาระให้ ข้อมูลตรงนี้เปลี่ยนแปลงได้ สงสัยก็ลองถามบลจ.เพื่อความชัวร์อีกครั้งครับ (แต่ส่วนมากบลจ.ที่เป็นลูกธนาคาร ธนาคารจะรับภาระค่าธรรมเนียมข้ามจังหวัดของตัวเองให้ครับ เช่น บลจ.บัวหลวง หักเงินจากบัญชีธนาคารกรุงเทพสาขาต่างจังหวัดแบบนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมข้ามเขต)