ค่าใช้จ่ายกองทุน

เปิดกองทุน วิธีการซื้อและตั้งค่าลงทุนรายเดือน

เคยมีนักลงทุนหลายท่านถามเรื่องกองทุนรวมว่า อยากจะ เปิดกองทุน ซื้อกองทุนสะสมทุกเดือนแบบที่เคยแนะนำจะทำยังไงดี ตัดบัญชีอะไรได้บ้าง? แล้วทำยังไง ต้องติดต่อที่ไหน เลยคิดว่าน่าจะเขียนสักบทความ ใช้ประสบการณ์ที่ส่วนตัวมีเลขผู้ถือหน่วยครบเกือบทุกบลจ.ให้เป็นประโยชน์

ผมจะเขียนวิธี “เปิดกองทุน” เฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เจ้าหลัก ๆ ล่ะกันนะครับ และจะเขียนละเอียดหน่อยสำหรับเจ้าที่ผมใช้บ่อย ขออนุญาติเขียนนิยามคำซ้ำ ๆ ไว้ก่อนจะได้เข้าใจตรงกัน

  • บัญชี “รับ” เงิน = บัญชีเงินฝากธนาคารที่เราผูกกับกองทุนไว้ เวลาขายกองทุน (withdraw or redeem) เงินจะคืนเข้าบัญชีอันนี้
  • บัญชี “ตัด“เงิน = ส่วนมากใช้เวลาซื้อในเน็ต มันจะเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารที่เวลาเราทำการสั่งซื้อกองทุน ระบบจะทำการตัดเงินจากบัญชีเงินฝากนี้ที่เราทำเรื่องอนุญาตไว้ เพื่อไปซื้อกองทุนที่เราได้ส่งคำสั่งซื้อ (purchase or subscription) ไว้
  • โดยบัญชีที่ผูกกับกองทุนรวมยังแบ่งได้เป็น บัญชีหลัก = บัญชีเงินฝากธนาคารที่เป็นบัญชีแรกในการผูกไว้กับกองทุน โดยปกติจะเป็นบัญชีที่ถ้าหากเจ้าของบัญชีกองทุนซื้อขายกองทุนรวมแล้ว เงินที่ถูกหักไปซื้อกองทุนจะหักจากบัญชีนี้ และเงินที่ได้รับจากการขายคืนก็จะโอนเข้าบัญชีนี้เช่นกัน และ บัญชีที่ผูกรอง ซึ่งบางบลจ.จะอนุญาตให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมีบัญชีรองหรือบัญชีย่อย อันเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกกับกองทุนเพิ่มเติมจากบัญชีหลัก ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถเลือกให้ตัดเงินซื้อกองทุนจากบัญชีนี้ หรือให้เงินที่ขายกองทุนรวมเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารนี้ได้ แต่จะต้องทำรายการเลือกเองในช่องทางอินเตอร์เน็ต (เพราะโดยปกติหากทำการขายคืนที่สาขา เงินจะถูกทำรายการจากบัญชีหลัก)
  • บลจ. = ตัวย่อของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อตั้งและบริหารจัดการกองทุนรวม และจะแยกออกไปเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลต่างหาก โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ บลจ.ที่เป็นบริษัทในเครือธนาคาร เช่น บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.กสิกรไทย กับ บลจ.ที่มิได้เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร
  • ซื้อครั้งแรก = การซื้อกองทุนครั้งแรกสุดเลย (initial purchase) และมักจะมีข้อกำหนดโดยบลจ.ว่า การซื้อกองทุนครั้งแรกเพื่อเปิดบัญชีจะต้องซื้อขั้นต่ำกี่บาท
  • ซื้อครั้งต่อไป = การซื้อกองทุนครั้งหลัง ๆ (หลังจากเปิดกองทุนแล้ว – subsequent purchases) จำนวนเงินในการซื้อมักจะถูกกำหนดไว้ต่ำกว่าการซื้อครั้งแรก
  • ตัวย่อชื่อธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารธนชาต (TBANK) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารยูโอบี (UOB)

เอกสารซื้อกองทุนครั้งแรกมักจะไม่ต่างกัน ต้องมีสมุดบัญชีออมทรัพย์ (ตามที่แต่ละเจ้าให้ใช้ธนาคารไหนได้บ้าง) บัตรประจำตัวประชาชน และ “จำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ” แล้วแต่ว่าจะซื้อครั้งแรกหรือครั้งอื่น สำหรับคนไม่มีสมุดบัญชีออมทรัพย์แล้วเปิดใหม่ ก็แนะนำให้เตรียม 500 บาทสำหรับเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรกด้วยครับ ส่วนบัตรเอทีเอ็มนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ปฏิเสธเขาไป

ไกด์ทัวร์พาชมวิธี เปิดกองทุน

* ข้อมูลด้านล่างอัพเดตปรับปรุง ณ วันที่ 03/07/2018

(1) บลจ.กสิกรไทย (K-Asset)

www.kasikornasset.com: วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะ เปิดกองทุน เจ้านี้คือ ไปธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ก็แจ้งเรื่องว่า จะมาเปิดกองทุน  ส่วนใหญ่การซื้อกองทุนครั้งแรกของเจ้านี้มีขั้นต่ำ 500 บาททุกครั้งที่เปิดกองใหม่ และครั้งต่อไปก็ 500 บาทเหมือนเดิม บัญชีรับเงินจะผูกได้แค่ บัญชีธนาคารกสิกร เท่านั้น พอเปิดเสร็จก็ได้สมุดมาเล่มหนึ่ง

หลังจากนั้นวิธีซื้อขายกองทุนที่สะดวกสุดของเจ้านี้คือการใช้ระบบ K-Invest ซึ่งถ้าใครมี K-Cyber Banking ที่ไว้โอนเงินของธนาคาร เราสามารถ login เข้าไปสมัคร K-Invest ได้ ก็กรอก ๆ ไปครับ พอใช้งานได้ เราก็จะซื้อ ขาย หรือตั้งค่าให้มันซื้อล่วงหน้าทุกเดือนได้ผ่านอินเตอร์เน็ต ผมว่าเจ้านี้ทำรายการสะดวกนะ หน้าตารายการไม่ค่อยรก แล้วก็สมัยนี้มันโชว์ใน K-Mobile Banking Plus ก็ซื้อกองทุนผ่านแอพมือถือได้ด้วย

สำหรับคนที่ตั้งใจจะตัดเงินซื้อกองทุนสะสมทุกเดือน เจ้านี้มีสองวิธีคือ ทางแรก ทำการตั้งค่าซื้อรายเดือนใน K-Invest โดยให้หักตัดบัญชีได้ 5 ธนาคารคือ KBANK SCB BBL BAY TMB (โหลดแบบฟอร์มหักบัญชีแล้วส่งเรื่องไปยังบลจ.กสิกรโดยตรง การดำเนินการจะไวกว่าไปธนาคารกสิกรมาก) กับอีกทางหนึ่ง คือ ไปธนาคารกสิกรแล้วบอกเขาอยากตัดซื้อรายเดือน เขาก็จะให้กรอกฟอร์ม ตรงนี้ขั้นต่ำในการซื้อรายเดือน คือ 500 บาทครับ

(2) บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM)

www.scbam.com: วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเปิดกองทุนเจ้านี้คือ ไปธนาคารไทยพาณิชย์ ก็แจ้งเรื่องว่าจะมาเปิดกองทุน ซื้อกองทุนครั้งแรกขั้นต่ำ 5,000 บาททุกครั้งที่เปิดกองใหม่ แต่ครั้งต่อไปเหลือ 1,000 บาท (บางกองทุนครั้งแรก 1,000 ครั้งต่อไป 1,000 ก็มี ต้องดูรายละเอียดเป็นรายกองไปนะครับ) SCBAM นี่ลำบากหน่อยตรงที่ “จะรับเงินหรือตัดเงินซื้อกองทุนก็ใช้ได้แค่บัญชีออมทรัพย์ไทยพาณิชย์เท่านั้น”

หากแต่บลจ.ไทยพาณิชย์ค่อนข้างจะสะดวกตรงที่ถ้าใครมี SCB Easy Net ธนาคารออนไลน์ ท่านสามารถเอาเลขบัญชีกองทุนไปเพิ่มตรง Easy Fund แล้ววันถัดมาเราก็สามารถตั้งค่าให้ซื้อกองทุนรายเดือนได้ (Advance Purchase) ครับ เช่น ซื้อทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน หักผ่านบัญชีไทยพาณิชย์ เลขที่ 001XXXYYYY

อนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดเจ้านี้ตัดเงินไวนะครับ ตัดตอนตีหนึ่งถึงตีห้าของวันที่ท่านตั้งซื้อ แล้วก็ถ้าจะตั้งแผนใหม่แบบเบื่อวันที่ 1 เอาเป็นวันที่ 20 ต้องยกเลิกแผนเดิมก่อนนะครับ ไม่งั้นมันจะมี 2 แผนตัดเงินซ้ำกัน โดยส่วนตัวคิดว่า SCBAM ซื้อขายกองทุนผ่านเน็ตหรือมือถือค่อนข้างสะดวกเป็นลำดับต้น ๆ เลยล่ะ

(3) บลจ.บัวหลวง (BBLAM)

www.bblam.co.th: สะดวกสุดคือไปธนาคารกรุงเทพ เปิดกองทุน ซื้อครั้งแรกขั้นต่ำ 500 บาททุกครั้งที่เปิดกองใหม่ ครั้งต่อ ๆ ไปก็ 500 บาท (ช่วงหลัง ๆ ไม่แน่ใจว่า มีกองไหนยังต้องเปิดขั้นต่ำ 1,000 บาทหรือเปล่านะครับ) บลจ.บัวหลวงจะคล้าย ๆ กับบลจ.ไทยพาณิชย์ “จะรับเงินหรือตัดเงินซื้อกองทุนก็ใช้ได้แค่บัญชีออมทรัพย์กรุงเทพเท่านั้น” แต่เจ้านี้พิเศษหน่อยตรงที่ เราต้องทำเรื่องขอให้เพิ่มเลขกองทุนเข้า iBanking ของธนาคาร แต่ถ้าเพิ่มแล้วเราก็จะซื้อขายกองทุนได้สะดวกบนเน็ตและมือถือ (เจ้านี้ค่อนข้างทำแอพสีขาวสบายตา)

ความพิเศษอีกอย่าง คือ บลจ.บัวหลวงซื้อขายผ่านบัตรเอทีเอ็มได้ (ทำเรื่องขอผูกบัญชีกองทุนกับบัตรก่อนนะครับ) ก็ไปกด ๆ ซื้อที่ตู้ ATM แล้วก็สามารถซื้อขายผ่านบัวหลวงโฟน 1333 ได้อีก แต่สำหรับคนที่ต้องการซื้อรายเดือนสะสม ต้องกรอกแบบฟอร์มที่ธนาคารครับ ที่นี่เรียกว่า ซื้อถัวเฉลี่ยรายเดือน ขั้นต่ำก็ 500 บาทครับผม แต่เวลาจะแก้ไขก็ต้องมากรอกแบบฟอร์มแก้ใหม่ที่ธนาคารกรุงเทพด้วย

(4) บลจ.กรุงศรี (KSAM)

www.krungsriasset.com: เจ้านี้คือในบรรดาระบบซื้อขาย online ผมชอบมากที่สุด กรุงศรีนี่โดยปกตินั้น เปิดกองทุน ครั้งแรก 2,000 ครั้งต่อไปเท่ากัน แต่สำหรับบางกองเช่น KFSPLUS เข้าใจว่าจะซื้อได้ที่ 1,000 บาทต่อครั้งครับ (โปรดดูหนังสือชี้ชวนแต่ละกองทุนว่าซื้อขั้นต่ำเท่าไหร่) เวลาเปิดกองทุนก็ไปธนาคารกรุงศรีนี่ล่ะ

ข้อเด่นสุดที่ดีมาก ๆ สำหรับค่ายนี้คือ คุณตัดเงินและรับเงินผ่านธนาคารได้หลากหลาย ประมาณ 9 แห่ง คือ BBL SCB KBANK KTB BAY TMB LHBANK UOB KK ตอนซื้อเสร็จบอกเขาสมัคร @ccess Online ด้วย ระบบนี้ทำให้คุณซื้อขายกองทุนออนไลน์ได้ และผูกบัญชีได้ครบเลย (ส่วนตัวผมผูกบัญชีไว้ 6 ธนาคารทั้งตัดเงิน รับเงินขายคืน แต่ละธนาคารผูกได้หลายเลขนะครับ เช่น ผมอาจผูกบัญชีออมทรัพย์กรุงไทย 2 บัญชีเลยก็ได้)

กองทุนตลาดเงิน หรือ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ของบลจ.กรุงศรีจึงเหมาะจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น คุณซื้อ KFSPLUS (กองทุนตลาดเงินกึ่งตราสารหนี้ระยะสั้น) ไว้พักเงิน สมมติคุณได้เงินเดือนผ่าน SCB แต่มีบัตร ATM ของ KBANK คุณสามารถตั้งค่าให้หักเงินผ่าน SCB ซื้อกองทุน แล้วขายกองทุนให้ไปเข้ายังบัญชีออมทรัพย์ KBANK ได้

ที่สำคัญคือ กรุงศรีนี้ตั้งค่าซื้อหรือขายกองทุนรายเดือนในเน็ตได้ง่าย ๆ เลยครับ คือ ใครเปิดกองทุนกรุงศรี เลือกแผนอัตโนมัติก็ตั้งค่าซื้อสะสมรายเดือนได้ล่ะ เลือกได้ด้วยว่าจะให้หักบัญชีธนาคารไหน (ไปทำเรื่องสมัครหักเงินฝากก่อน ไปธนาคารหรือจะปริ้นต์ส่งไปบลจ.โดยตรงก็ได้ครับ ใครสะดวกก็ไปตรงชั้น 1 ตึกเพลินจิตทาวเวอร์ตรงข้าง ๆ เมอคิวรี่กับอาคารต้นสนชิดลมอ่ะครับ)  แต่แนะนำเลย สมัคร @ccess ซะ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

(5) บลจ.ทหารไทย (TMBAM)

www.tmbam.com: ในสมัยก่อน บลจ. ทหารไทยสามารถผูกบัญชีตัดเงินรับเงินได้เยอะมาก คือทุกแบงก์เกือบครบ ทั้ง BBL KTB SCB KBANK BAY TMB TBANK(ธนชาต) UOB LHBANK (ทำทุกอย่างแบบที่อธิบายของกรุงศรีได้เลย เรื่องพักเงิน) แต่หลัง ก.ย. 2560 เป็นต้นมา สามารถทำได้เฉพาะผู้ลงทุนที่เปิดบัญชีกับบลจ.ทหารไทยโดยตรงหรือตัวแทนขายอื่น เพราะ คนที่เปิดบัญชีกองทุนกับธนาคาร TMB จะผูกบัญชีได้เฉพาะกับบัญชีออมทรัพย์ธนาคารทหารไทยเท่านั้น!  ทำให้ความสะดวกของเจ้านี้ลดลงไปมาก

อย่างไรก็ดี เจ้านี้ยังมีข้อดีในการช่วยออม เพราะกองทุนทหารไทยเปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 ครั้งต่อไปคุณซื้อ 1 บาทก็ได้ ส่วนการซื้อสะสมกองทุนรายเดือนจะกรอกแบบฟอร์มที่ธนาคารก็ได้ให้มันตัดเงิน แต่แนะนำเหมือนกันว่าสมัคร Fundlink Online ของบลจ.ซะ (เจ้านี้เป็นอีกเจ้าที่น่าชมในเรื่องระบบออนไลน์ที่ข้อมูลดีและจัดการง่ายมาก)

(6) บลจ.ธนชาต (Thanachart Fund)

www.thanachartfund.com: ระบบคล้าย ๆ บลจ.กรุงศรีและทหารไทย ซื้อครั้งแรกไปธนาคารธนชาต เปิดกองทุนครั้งแรก สำหรับกองทุนปกติจะต้องซื้อครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งต่อไป 1,000 เท่ากัน จะทำเรื่องตัดเงินซื้อสะสมทุกเดือนก็กรอกใบคำขอที่ธนาคารก็ได้ แต่ก็แนะนำให้สมัคร Thanachart Fund online ด้วย เขาปรับปรุงใหม่ผมว่าใช้ง่ายและดีขึ้นเยอะ เราสามารถตั้งค่าซื้อขายกองทุนรายเดือนได้ในเน็ตครับ แต่ต้องทำเรื่องหักเงินรับเงินไว้ด้วย กรณีบัญชีหักเงินเจ้านี้ได้ 5 ธนาคาร SCB BBL KBANK BAY TBANK

(7) บลจ.กรุงไทย (KTAM)

www.ktam.co.th: ซื้อครั้งแรกไปธนาคารกรุงไทย เปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งต่อไป 1,000 เท่ากัน (หรือบางกองก็ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อครั้งต่อไป) จะทำเรื่องตัดเงินซื้อสะสมทุกเดือนก็กรอกใบคำขอที่ธนาคารหรือจะตั้งค่าในเน็ตก็ได้

ระบบซื้อขายกองทุนออนไลน์ที่นี่ชื่อ KTAM Smart Trade ผูกได้หลายบัญชีธนาคาร รับเงินตัดเงิน คือ KTB BBL SCB KBANK BAY TMB (ดูเหมือนจะมี CIMB TISCO KK ด้วย) แต่ต้องระวังนะครับอันนี้หมายถึงผูกกับ KTAM Smart Trade ที่ดำเนินการกับทางบลจ.โดยตรง (ปริ้นต์ส่งไปบลจ.ที่ตึก empire tower ง่ายสุด) เพราะถ้าซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย เราจะผูกบัญชีรับเงินตัดเงินได้แค่ บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย (KTB) เท่านั้น


มีเรื่องอยากชี้แจงอย่างหนึ่ง คือ ต้องเข้าใจก่อนว่าหลาย ๆ บลจ.นั้นการซื้อผ่านธนาคารคือ การซื้อขายผ่านตัวแทนเจ้าหนึ่ง คนที่เปิดกองทุนกับบลจ.ที่สำนักงานโดยตรง กับซื้อผ่านธนาคารจะได้ความสะดวกบางอย่างต่างกัน

ถ้าไปเจอพนักงานขายที่ธนาคารยืนยันว่าไม่ได้นะ ใช้บัญชีธนาคารอื่นรับเงินไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจว่าอาจจะเพราะ 1) พนักงานไม่รู้ เพราะเอาจริง ๆ นักลงทุนโปรมากหลายคนยังไม่รู้เลยครับ หรือ 2) พนักงานรู้แต่ด้วยนโยบายธนาคารต้องบอกไปก่อนว่า ใช้ได้แค่บัญชีตัวเอง ถ้าเรามั่นใจเราก็ยืนยันบอกไปครับ ไม่ก็ให้เขาโทรคุยกับบลจ.ก็จะเคลียร์กันง่ายขึ้น หรือบางเจ้าระบบทั้งหมดทั้งมวล พนักงานธนาคารทำไม่ได้ คุณต้องส่งเอกสารไปเดินเรื่องเองที่สำนักงานบลจ.ก็มี หลัง ๆ มีอะไรผมก็ติดต่อบลจ.โดยตรงง่ายกว่า

เพราะฉะนั้น อ่านบทความนี้แล้ว เวลาไปซื้อกองทุนที่ธนาคาร โดยเฉพาะเจ้าที่ตัดเงินรับเงินได้หลากหลาย เช่น กรุงศรี ทหารไทย ธนชาต ฯลฯ ถ้าจะเอาสะดวกสุดผมแนะนำไปสาขาที่ชินกับการทำธุรกรรมเชิงลึก รู้เรื่องดี เช่น แถวสยาม พารากอน เซ็นทรัลเวิล์ด สีลม ชิดลม ย่านธุรกิจพวกนี้เขาจะพอทราบครับ



(9) เปิดกองทุน กับ บลจ. อื่น ๆ

นอกจากทั้ง 7 บลจ. ข้างต้นแล้ว ยังมีบลจ. อีกจำนวนมากที่ให้บริการบริหารกองทุนรวม เช่น บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล (CIMB Principal) บลจ.ทิสโก้ (Tisco) บลจ.ทาลิส (Talisam) บลจ.บางกอกแคปปิตอล (BCAP asset) บลจ.ฟิลลิป (Phillip) บลจ.ภัทร (Phatra) บลจ.แมนูไลฟ์ (Manulife) บลจ.วรรณ (ONEAM) บลจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH fund) ฯลฯ

บลจ.ลูกแบงก์อื่น ๆ เช่น ยูโอบี แลนด์แอนด์เฮาส์ ซีไอเอ็มบีพรินซิเพิล ผมเคยเปิดกองทุนแต่ก็นานมากแล้ว ข้อมูลบางอย่างอาจจะลืม ๆ ไปบ้าง หรือเขาได้เปลี่ยนแปลงวิธีการเปิดบางประการ แต่แนวทางการเปิดกองทุนรวมก็น่าจะยังคล้าย ๆ กันกับบลจ.ทั่วไปครับ โดยส่วนมากบลจ.ในเครือของธนาคารเหล่านี้จะต้องผูกบัญชีกับธนาคารตัวเอง เช่น

บลจ.ยูโอบี (UOBAM)uobam.co.th การซื้อกองทุนของบลจ.ยูโอบีที่สะดวกที่สุดคือไปซื้อที่ธนาคารยูโอบี ซึ่งมักจะต้องรับเงินตัดเงินผ่านบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารยูโอบี เจ้านี้ถ้าจำไม่ผิด ส่วนใหญ่ซื้อครั้งแรก 2,000 ครั้งต่อไป 1 บาท คล้าย ๆ กันกับบลจ.ทหารไทย (แต่บางกองก็ไม่นะครับอาจจะซื้อได้โดยใช้จำนวนเงินต่ำกว่านั้นต้องดูด้วย) เจ้านี้สามารถทำเรื่องตัดเงินซื้อทุกเดือนโดยการกรอกแบบฟอร์มที่ธนาคารหรือตั้งค่าซื้อรายเดือนผ่านออนไลน์ ถ้าจะให้ดีควรสมัครบริการซื้อขายกองทุนรวมทางอินเตอร์เน็ต (online platform) ด้วยนะครับ ข้อดีของบลจ.นี้อีกอย่างคือสามารถติดต่อขอทำเรื่องกับบลจ.ให้หักเงินตัดเงินรับเงินผ่านธนาคารอื่นได้ น่าจะ 5 ธนาคารได้แก่ BBL SCB KBANK BAY และ TMB ด้วย

บลจ.เอกเทศที่มิได้เป็นบริษัทในเครือของธนาคารอย่าง บลจ.MFC บลจ.แอสเซทพลัส ฯลฯ อันนี้ต้องไปสมัครเองที่สำนักงาน อย่าง บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC) นี่อยู่ตึก Lake รัชดาแถว ๆ ตรงแยกก่อนถึงอโศก (เข้าใจว่าอยู่ตึกเดียวกับสำนักบัญชีอีวาย) แล้วก็มีสาขาอื่น ๆ ด้วย รายละเอียดคงต้องขอให้ลองศึกษาดู ผมจำไม่ได้ล่ะว่าขั้นต่ำอะไรยังไง เลือนรางมาก แทบไม่ได้ทำธุรกรรมอะไรกับบลจ.เหล่านี้เลยตั้งแต่เปิดกองทุน

บลจ. Aberdeenaberdeen-asset.co.th ส่วนตัวไปซื้อที่ตึกบางกอกซิตี้ตรงแยกบีทีเอสช่องนนทรีครับ ซื้อทุกครั้ง 10,000 บาท แต่สำหรับกองทุน Aberdeen Growth ถ้าซื้อแบบตัดเงินซื้อสะสมรายเดือนสามารถหักที่ 1,000 บาทต่อเดือนได้ครับ เพราะกองทุนนี้เข้าโครงการสานฝันที่พันบาท ส่วนกองอื่นเข้าใจว่าขั้นต่ำซื้อรายเดือนจะสูงกว่านี้ ซื้อสะสมรายเดือนต้องกรอกแบบฟอร์มนะครับ  วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับบลจ.นี้ในการซื้อขายคือสมัคร Online ซะ สามารถรับเงินตัดเงินได้ 4 ธนาคารคือ BBL SCB KBANK และ BAY คือยุ่งยากครั้งแรกแต่ครั้งอื่น ๆ สบายครับ

(10) เปิดกองทุน ผ่านช่องทางอื่น

ในปัจจุบันนั้นเราสามารถซื้อกองทุนรวมต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่บลจ.หรือไปซื้อผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนขาย เพราะยังมีช่องทางอื่น ๆ ในการซื้อขายกองทุนรวม ซึ่งบางที่นั้นสามารถซื้อกองทุนรวมของหลาย ๆ บลจ.ได้ครบในการเปิดบัญชีครั้งเดียว

ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Open Architecture ของธนาคารทหารไทย (TMB Advisory) ซึ่งสามารถซื้อกองทุนรวมจากบลจ.ต่าง ๆ ได้ถึง 8 เจ้า คือ บลจ.TISCO บลจ.UOB บลจ.วรรณ บลจ.อเบอร์ดี บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทหารไทย บลจ.แมนูไลฟ์ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล พวกนี้ก็จะมีข้อจำกัดเช่น จะซื้อขายก็ต้องไปธนาคารทหารไทย ต้องลองดูรายละเอียดครับว่าทำอะไรได้บ้าง หรืออย่าง ธนาคารออมสิน ที่เปิดขายกองทุนรวมถึง 11 เจ้าหลัก

นอกจากนี้อาจมีตัวแทนขายอื่น เช่น บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ บริษัทประกันชีวิตบางเจ้าก็ขายกองทุน (ไม่ใช่การซื้อประกันแบบ Unit Linked นะครับ หมายถึงซื้อกองทุนจริง ๆ เช่น BLA กรุงเทพประกันชีวิตเป็นหนึ่งช่องทางขายของบลจ.บัวหลวง)

อย่างบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือที่นักลงทุนเรียกว่าโบรกเกอร์นั้น หากใครมีบัญชีซื้อขายหุ้น โดยปกติเราสามารถติดต่อกับทางโบรกเกอร์หรือเจ้าหน้าที่การตลาดที่ดูแลบัญชีหุ้นของเราได้ว่าเราสนใจจะเปิดกองทุนรวมครับ เท่าที่เคยดูมาเกือบทุก บล. ล้วนมีบริการซื้อขายกองทุนรวมอยู่แล้ว

(11) Fund Supermart

นอกจากนี้ ยังมีบริการซื้อขายกองทุนรวมที่เรียกว่า Fund Supermart คือ นึกภาพซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ได้ขายสินค้าทั่วไปแต่ขายกองทุนรวมแทน ผู้ที่ให้บริการในลักษณะของ Fund Supermart จะมีกองทุนรวมจำนวนมากให้ผู้ที่สนใจหรือนักลงทุนสามารถทำการซื้อขายได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ (Nomura) บริษัทหลักทรัพย์ Phillip หรือ WealthMagik ฯลฯ พวกนี้ก็ต้องไปดูรายละเอียดอีกทีว่า มีบริการซื้อขายกองทุนรวมของบลจ.ไหนบ้าง

อย่างผมนั้นในสมัยก่อนเคยเปิดบัญชีหลักทรัพย์ซื้อขายหุ้นกับบล.โนมูระ ซึ่งมีบริการ Fund Supermart และส่วนตัวคิดว่า ถ้าจะเอาให้สะดวกผมว่า บล.โนมูระเนี่ยสะดวกมาก แม้ว่าจะต่างจากบลจ.ต่าง ๆ ตรงที่เราสามารถผูกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้ธนาคารเดียวก็จริง แต่ที่ iFund ของโนมูระนั้น เราสามารถซื้อกองทุนได้ทุกเจ้าในประเทศเลยครับ โดยเฉพาะ บลจ.บัวหลวง (BBLAM) ยาขมของพวกตัวแทนขายอิสระ เพราะเขาไม่ค่อยอนุญาตให้ใครขาย แต่โนมูระนี่สามารถซื้อกองทุนของบลจ.บัวหลวงได้

(12) ความแตกต่างบางประการของตัวแทนขาย

การที่เราซื้อกองทุนรวมจากคนละที่ เราก็จะได้รับสิทธิอะไรบางอย่างแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เราถือว่าเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้น ๆ ที่เราซื้อครับ เพียงแค่ในบางประเด็นอาจจะมีสิ่งที่ช่องทางการขายแต่ละเจ้าเสนอให้เป็นการแตกต่าง เช่น สำหรับบางบลจ.นั้น หากท่านซื้อผ่านตัวแทนขายที่เป็นธนาคาร ท่านอาจจะผูกบัญชีรับเงินตัดเงินได้แค่บัญชีธนาคารเดียวคือของธนาคารที่ท่านไปซื้อ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากซื้อกองทุนรวมของบลจ.ทหารไทยผ่านธนาคารทหารไทย บัญชีที่ท่านจะผูกใช้งานได้ก็ได้เฉพาะบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารทหารไทย แต่หากไปเปิดบัญชีกองทุนที่บลจ.โดยตรง ท่านจะใช้บัญชีธนาคารไหนก็ได้ (ย้อนกลับไปดูหัวข้อบลจ.ทหารไทย)

กรณีซื้อผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนขายของบลจ. โดยเฉพาะบลจ.ที่เป็นบริษัทในเครือธนาคาร บางธนาคารจะนับรวมจำนวนเงินลงทุนในกองทุนรวมของท่านเป็นหนึ่งในยอดการซื้อผลิตภัณฑ์ของธนาคารดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่สิทธิพิเศษหรือการยกระดับบางประการ เช่น กรณีของบลจ.กสิกรไทย เงินในกองทุนรวมของบลจ.กสิกรที่ซื้อผ่านธนาคารกสิกรไทย หากถึงระดับหนึ่ง เช่น 10 ล้านบาท ท่านอาจจะได้สิทธิเป็น K-Wisdom หรือถ้า 50 ล้านอาจจะเป็น K Private Banking

โดยธนาคารอื่น ๆ อาจมีสิทธิประโยชน์เช่นนี้ เช่น SCB First ของไทยพาณิชย์ หรือ Krungsri Exclusive ของกรุงศรี หรือ KTB Precious ของกรุงไทย  ซึ่งนักลงทุนจะได้รับบริการพิเศษจากธนาคารต่าง ๆ เหล่านี้ในเรื่องของบัตรเครดิตเฉพาะ บริการพิเศษที่สนามบิน โรงแรมหรือฟิตเนส ฯลฯ

นอกจากนี้ บางธนาคารที่เป็นตัวแทนขายกองทุนรวมอันรวมถึงตัวบลจ.เอง อาจจะมีรายละเอียดเล็ก ๆ ตรงบัญชีที่หักเงินรับเงิน บางเจ้าอาจจะบอก ผูก SCB ได้ แต่ระบุต้องเป็น SCB สาขากรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น หรือบางบลจ.ก็ไม่รับภาระค่าธรรมเนียมให้ เช่น อาจผูกบัญชีต่างจังหวัดได้ แต่เวลาหักเงินเราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมข้ามเขต แต่บางบลจ.ก็รับภาระให้ ข้อมูลตรงนี้เปลี่ยนแปลงได้

หากสงสัยข้อมูลตรงไหน ผมแนะนำให้ติดต่อสอบถามบลจ.โดยตรง เพื่อความชัวร์อีกครั้งครับ ทั้งนี้ส่วนมากบลจ.ที่เป็นลูกธนาคาร ธนาคารจะรับภาระค่าธรรมเนียมข้ามจังหวัดของตัวเองให้ครับ เช่น บลจ.บัวหลวง หักเงินจากบัญชีธนาคารกรุงเทพสาขาต่างจังหวัดแบบนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมข้ามเขต

หวังว่าข้อมูลเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์นะครับ ไว้มีอะไรอัพเดตก็จะมาแก้เรื่อย ๆ ให้ และถ้าใครมีข้อมูลอัพเดตใหม่กว่า สามารถฝากความคิดเห็นไว้ทางด้านล่างได้เลยครับ ขอบพระคุณมากครับ


ด้านล่างนี้เป็นบทความที่น่าอ่านเพิ่มเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนแบบประจำ

(ก) การลงทุนแบบประจำ (DCA or Regular investing) คืออะไร?

(ข) รวบรวมคำแนะนำว่า นักลงทุนทั่วไปควรลงทุนแบบประจำสม่ำเสมอ

(ค) กองทุนดัชนีคืออะไร

(ง) กองทุนดัชนีในประเทศไทย

(จ) รวมคำแนะนำเกี่ยวกับกองทุนดัชนี

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s