RMF (Retirement Mutual Fund) หรือชื่อไทยก็คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ วัตถุประสงค์ของมันคือเกิดมาเพื่อส่งเสริมการออมสำหรับเป็นทุนไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ รัฐเลยจูงใจด้วยการให้สิทธิที่จะนำเอาเงินซื้อกองทุนชนิดนี้มาลดหย่อนภาษีได้ โดยมีข้อบังคับสำคัญคือ คุณจะต้องถือมันยาวจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์จึงจะขายได้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ด้วยข้อบังคับที่ทำให้เราต้องถือมันไว้นานมาก ไม่สามารถขายได้ (จริงๆขายก่อนได้แต่เคลียร์กับสรรพากรเอง ฮ่าๆ) โดยปกติถ้าคุณลงทุนไวเช่นตั้งแต่อายุ 25 คุณจะมีเวลาถือมันถึง 30 ปี และเวลาที่นานขนาดนี้ ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะทำให้เงินคุณโตได้มากเท่าหุ้นอีกแล้ว และหุ้นที่ถือนานสามสิบปีแทบไม่มีทางที่ผลตอบแทนจะติดลบเลย ดังนั้น คนอายุน้อยโปรดลงทุนในหุ้นเถิดจะเกิดผล
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกอง RMF ที่ลงทุนในหุ้น คือ พอต้องลงทุนยาวมากๆ คนส่วนใหญ่ลงทุนแล้วก็ไม่ค่อยได้ยุ่งกับมัน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ซื้อกันมักจะเป็นกองทุนแบบบริหารคัดเลือกหุ้น (Actively Managed-funds) สิ่งที่สังเกตเห็นคือRMF หุ้นมักจะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่อปีที่สูงมากกว่ากองหุ้นทั่วไป วันนี้ได้โอกาสผมเลยลองดึงข้อมูลมาดู พบว่า
1) กอง RMF หุ้นกองแรกจดทะเบียนขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2544 แล้วก็ค่อยๆทยอยออกกันมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้นประมาณ 30 กว่ากองทุน ในนี้เป็นกองทุนดัชนี (Index Funds) จำนวน 6 กองทุน ที่เหลือเป็นกองทุนแบบบริหารคัดเลือกหุ้น
2) ผมได้ทำการค้นค่าใช้จ่ายกองทุนรวมรายกอง โดยค่าใช้จ่ายที่ว่านี้จะประกอบด้วย
– ค่าใช้จ่ายรวม Total Expense Ratio (TER) ได้แก่ ค่าบริหารจัดการ ค่านายทะเบียน ฯลฯ
– ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ ค่า Commission ที่กองทุนเสียเวลาซื้อขายหุ้น
ผมขออนุญาตเรียกรวมกันว่า Real Expense โดยค่าใช้จ่าย TER จะถูกเก็บเป็นรายวันหักออกจากกองทุน ส่วนค่าคอมมิชชั่นนั้นยิ่งกองทุนซื้อขายเปลี่ยนหุ้นบ่อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้เยอะเท่านั้น ซึ่งกองทุนไหนที่เก็บ TER แพงแล้วยังเทรดหุ้นซื้อขายบ่อยอีก ไอ้ส่วนที่จ่ายออกไปนี้จริงๆแล้วคือผลตอบแทนของนักลงทุนผู้ซื้อกองทุนทั้งนั้นครับ เช่น ถ้ากองทุนทำผลตอบแทนทั้งปีได้ 10% แต่เก็บค่าใช้จ่ายรวมที่ 2% ต่อปีและเสียค่าคอมอีก 1% ต่อปี ผลตอบแทนที่จะได้ก็จะเหลือมาถึงมือนักลงทุนแค่ 7% เท่านั้น ผลตอบแทนที่หายไปคือ 30% !!!!
ผลการวิจัย พบว่า กองทุน RMF หุ้นไทยทั้งหมดนั้นเก็บ TER เฉลี่ยที่ 1.75% ต่อปี และจ่ายค่าคอมอีกประมาณ 0.57% รวมแล้วคือ 2.32% ซึ่งถือว่าสูงเลยทีเดียว แต่ทว่า ! ถ้าหากตัดกองทุน RMF หุ้นที่เป็นกองทุนดัชนีทิ้ง เราจะพบว่ากองทุนบริหาร Active-RMF คิดค่าใช้จ่ายรวมต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.95% ต่อปีและเสียค่าคอมอีก 0.69% แล้วที่เหลือจึงจะเป็นผลตอบแทนมาถึงนักลงทุน
เพราะฉะนั้น เบ็ดเสร็จแล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดจริงๆของ Active-RMF(หุ้นไทย) โดยเฉลี่ยก็คือ 2.64% ! หรือถ้าระยะยาวตลาดหุ้นให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี ผลตอบแทนสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายของคุณจะเหลือ 7.36% ต่อปีหรือ หายไปร้อยละ 26.4 เลยทีเดียว !!!
ทั้งนี้กองที่มีค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุด 2 อันดับแรกตกเป็นของ CIMB-PRINCIPAL SET100 กับ Krungsri SET100RMF ครับ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.75% ต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของกองบริหารทั่วไปอยู่ที่ 2.64% ผลต่างระหว่างต่ำสุดกับค่าเฉลี่ยคือ ทำให้คุณจ่ายด้วยต้นทุนที่น้อยกว่า 3.5 เท่าครับ
ลองมาดูผลตอบแทนกันบ้าง…
เนื่องจากอยากจะได้จำนวนกองมากพอสมควร กว่าจะมีกองทุน RMF หุ้นไทยครบ 20 กอง เราก็ต้องรอถึงปี 2551 ครับ แต่ใน 20 กองนี้เป็นกองดัชนี 3 กองคือ จัมโบ้25RMF ทหารไทยSET50RMF กับ กรุงศรีSET100RMF เราจึงมีกองทุนบริหารจำนวน 17 กองครับ
การวิจัยครั้งนี้ สมมติให้ลงทุนที่เงิน 10,000 บาท ณ ราคาหน่วยวันสุดท้ายของปี 2551 แล้วถือจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2015 ที่ผ่านมา (เกือบ 7 ปี) เราจะพบว่า
1. กองทุนบริหารทั้ง 17 กองทุนนั้น ถ้าคุณลงทุนซื้อทุกกองเท่าๆกันแล้วถือมา เงินของคุณจะโตเป็น 29,520 บาท
2. สมมติว่าคุณซื้อโดยดูผลตอบแทนย้อนหลังว่ากองไหนดีใน 17 กองบริหาร เนื่องจากคำนวณโดยใช้ราคาหน่วยสิ้นปี 2551 เราเลยดูผลตอบแทนปี 2551 ว่ากองไหนให้ผลตอบแทนดีสุด (เพราะคุณสามารถดูวันที่ 29 แล้วซื้อวันที่ 30 ธันวาคมได้) โดยซื้อเท่ากันทุกกอง จะได้เงินโตเป็นจำนวนดังนี้
–ถ้าซื้อกองที่ผลตอบแทนสูงสุดปี51 = 19,129
-ถ้าซื้อกองที่ผลตอบแทนต่ำสุดปี51 = 29,348
-ถ้าซื้อ 2 กองแรกที่ผลตอบแทนสูงสุด = 22,972
-ถ้าซื้อ 3 กองแรกที่ผลตอบแทนสูงสุด = 23,975
-ถ้าซื้อ 5 กองแรกที่ผลตอบแทนสูงสุด = 26,579
-ถ้าซื้อ 7 กองแรกที่ผลตอบแทนสูงสุด = 25,427
-ถ้าซื้อ 10 กองแรกที่ผลตอบแทนสูงสุด = 27,509
3. ถ้าคุณลงทุนในกองทุนดัชนี จะได้ว่า
กองจัมโบ้25RMF กลายเป็น 29,485
กองทหารไทยSET50RMF กลายเป็น 31,990 และ
กองกรุงศรีSET100RMF กลายเป็น 33,325 บาท (โดยกรุงศรีกองนี้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุดจะชนะ 11 จาก 17 กองทุน หรือชนะ 65% ของกองทุน RMF หุ้นไทยไม่รวมกองดัชนีครับ)
จริงๆแล้ว สิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดนั้นหรือ กลับกลายเป็นว่า … ถ้าเราลงทุนด้วยการซื้อหุ้นทั้งตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อทั้ง SET แล้วถือไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลตอบแทนทั้งหมดรวมเงินปันผลทบต้นของ SET จะทวีเงิน 10,000 กลายเป็น 37,869 !!!!!
ซึ่งผลตอบแทนของ SET สูงกว่ากองทุนที่ได้ผลตอบแทนอันดับหนึ่งที่เงินโตมาเป็น 37,339 ด้วยซ้ำโอ้ว เกม Survivor ครั้งนี้ไม่มีผู้รอดชีวิตครับ ในช่วงเวลาที่ยกมาทำวิจัยทุกกองไม่สามารถเป็น The Face Thailand ได้ ถ้าให้อ้างเหตุผล คือ อาจจะเพราะช่วงรอยต่อ 2551-2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกา และตลาดหุ้นไทยร่วงหนักเกือบ -50% กองทุนหุ้นส่วนใหญ่พยายามขายหุ้นทิ้งแล้วถือตราสารหนี้บางส่วน แต่พอปีถัดมาตลาดหุ้นทะยานมากๆ กองทุนไม่มีหุ้นเต็มมือแบบดัชนี อาจจะเพราะยังไม่แน่ใจว่าตลาดหุ้นกลับมาแล้วจริงๆ การตัดสินใจช้านี้มีต้นทุนสำคัญ ทำให้พอพอเวลาหุ้นเป็นกระทิงก็จะพลาดผลตอบแทนตอนต้นของขาขึ้นรอบใหม่ครับ (ไว้ทำวิจัยให้ดู)
สรุปประเด็นทางความคิด
(a) พอจะถือเป็นหลักได้แล้วว่าในระยะยาว Cost is Matter ; วิธีทำนายผลตอบแทนกองทุนได้ง่ายที่สุด อาจจะดูได้จากอัตราค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุนรวม ว่ายิ่งสูงเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสแพ้ตลาดหุ้นในอนาคตมากเท่านั้น ทวนกันอีกครั้ง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจริงๆของกองทุนบริหาร RMF หุ้นไทยอยู่ที่ 2.64% ในระยะยาวถ้าตลาดหุ้นได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% คุณจะถูกหักผลตอบแทนไปถึงร้อยละ 26.4 เหลือแค่ 7.36% ถามว่ามากไหม ถ้าคนเราลงทุน RMF 30 ปี เงิน 10,000 ของคุณจะกลายเป็น 198,374 ถ้าได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี แต่จะเหลือแค่ 90,364 ถ้าได้ผลตอบแทน 7.36% คำถามว่าแล้วเงิน 100,000 บาทหรือ 10 เท่าของเงินต้นที่เราควรได้หายไปไหน คำตอบคือมันก็หายไปกับค่าใช้จ่ายกองทุนนั่นเอง ไอ้ค่าใช้จ่ายต่างกันเล็กๆ 1-2% นี่ล่ะ ระยะยาวมันทบต้นและส่งผลกระทบรุนแรงมาก
(b) หลักฐานจากงานวิจัยข้างบนน่าจะพอทำให้เห็นภาพได้ ถ้าคุณลงทุนใน SET ระหว่าง 2551-2558(10ธ.ค.) เงิน 10,000 จะกลายเป็น 37,869 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกองทุนบริหารทำได้ 29,520 หรือหายไป 22% (ไม่ใช่เงินน้อยๆนะครับ) วิธีที่ง่ายสุดเลือกกองดัชนีที่ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดคุณก็จะยังได้เงิน 33,325 หรือหายไปแค่ 12% เท่านั้น และงานวิจัยนี้ก็ให้ผลที่น่าตกใจอีกว่า กองที่ได้ 1 ก็ยังผลตอบแทนแพ้ SET ด้วย (-_-“)
(c) มีของแถมสำหรับวิจัยครั้งนี้คือ ลองทำให้ดูครับว่า การเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนล่าสุดของปีที่เริ่มต้น กลับให้ผลตอบแทนที่น้อยที่สุด (19,129) และไม่ว่าคุณจะซื้อ 2,3,5,7,10 กองแรกที่มีผลตอบแทนสูงสุด คุณก็ยังได้ต่ำกว่าซื้อกองดัชนีเพียงกองเดียว และแพ้กระทั่งซื้อทุกกองเท่าๆกันด้วย (อันนี้ผมแปลกใจครับ ผลออกมาก็ทึ่งอยู่ เข้าใจว่า Timing หรือช่วงเวลาที่เลือกมานั้น ผลออกมาเป๊ะพอดี ไว้ปีหน้าทำใหม่)
จากบทความหลายอันประกอบกันไม่ว่าจะเป็น แอลทีเอฟกองไหนดี, ดูผลตอบแทนย้อนหลังบอกอนาคตจริงหรือ, 10ปีผ่านไปกองหุ้นไทยเทียบSET รวมถึงบทความนี้น่าจะพอบอกเราได้แล้วว่า
1. ในระยะยาวกองทุนหุ้นทำผลตอบแทนได้แพ้ตลาดหุ้น เพราะหนึ่งพวกเขาไม่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่า หรือแม้จะเลือกหุ้นทำผลตอบแทนได้สูงกว่าแต่สุดท้ายผลตอบแทนสุทธิก็ยังต่ำกว่าตลาดหุ้นอยู่ดี เพราะ สิ่งที่ทำให้พวกเขาแพ้จริงๆคือ “ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวม” ที่สูงลิ่วต่างหาก
2. การลงทุนโดยดูผลตอบแทนย้อนหลังเป็นเรื่องที่เสียเวลามากๆ เพราะผลตอบแทนย้อนหลังไม่สามารถทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้เลย การที่อุตสาหกรรมพยายามขายและโฆษณาเราด้วยผลตอบแทนร้อนแรงล่าสุดทำให้เราติดอยู่ในวังวนไล่ล่ากองทุนหุ้นที่หนึ่งตลอดเวลา กลับกลายเป็นว่าส่วนใหญ่มันทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ต่ำในระยะยาวแทน
3. ทางออกคือ จากสถิติในระยะยาวนั้น เวลาที่ไกลออกไป 10,20,30 ปี แทบจะหาใครชนะตลาดหุ้นยากสม่ำเสมอค่อนข้างยากมาก วิธีที่จะใช้ลงทุนหุ้นได้ดีที่สุด ก็คือ “ลงทุนในกองทุนดัชนีหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดนั่นเอง”
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงแนวคิดส่วนตัวเกี่ยวกับวิธีการลงทุนของผู้เขียน ไม่ได้มีเจตนาชักชวนให้ลงทุนตาม ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน เพราะการขาดทุนจะเกิดขึ้นกับเงินของนักลงทุนเอง