ผลตอบแทน LTF ย้อนหลัง บอกอนาคตได้จริงหรือ?

วันนี้ได้เวลาทำสิ่งหนึ่งที่อยากทำ นั่นคืออยากลองหาดูว่า กองทุนหุ้นที่ได้ที่ 1-5 ในแต่ละปีมีโอกาสเท่าไหร่ที่จะอยู่ในลำดับเดิม ๆ ในช่วงเวลาต่อมา และครั้งนี้ผมจะใช้กองทุนหุ้นระยะยาว LTF ในการทำวิจัยย้อนหลัง back-testing ครับว่า ผลตอบแทน LTF ที่ย้อนหลัง สามารถทำนายผลตอบแทนในอนาคตได้จริงหรือไม่?

1. ผลตอบแทน LTF จากการซื้อกองทุน 5 อันดับแรก

ในบ้านเรามีกองทุนหุ้นระยะยาว LTF ทั้งหมด 52 กองทุน และเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนในระยะถัดที่มีข้อกำหนดให้ถือครอง 7 ปี (สำหรับบางท่านที่ซื้อวันสุดท้ายของปีจะถือแค่ 5 ปี 2 วัน) เพราะฉะนั้นผมจะใช้วิธีเลือกกองทุนลำดับ 1-5 แล้วดูว่า 5 ปีต่อมาจะเกิดอะไรขึ้น พวกมันจะมีโอกาสกลับมาเข้าสู่ทำเนียบได้อีกหรือไม่

สาเหตุที่เลือกแค่ห้าลำดับแรกก็เพราะว่า ในเมื่อ LTF มี 52 กอง แสดงว่า 5 กองแรกนั้นคือ TOP 10% สูงสุด จะได้รู้ไปว่า การดูผลตอบแทนย้อนหลัง หรือดูที่ 1-5 ในแต่ละปีแล้วซื้อ (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปน่าจะนิยมทำกัน) จะได้กองทุนผลตอบแทนสูงสุดแบบที่พวกเขาหวังกันหรือไม่

โดยผมจะใช้ห้าลำดับแรกของปี 2007, 2008, 2009 ซึ่งจะครบ 5 ปีใน 2012, 2013, 2014 และด้านล่างคือผู้เข้ารอบ Hall of Fame ในแต่ละปีของเราครับ

rank1
หมายเหตุ : ตัดกองทุน LTF ที่มีนโยบายผสมตราสารหนี้ทิ้ง เช่น 70/30 75/25 ซึ่งถ้าไม่ตัด ในปี 2008 กองที่ผลตอบแทนสูงสุดทั้งหมดจะเป็นกองทุนพวกนี้ครับ
  • ปี 2007 กองทุน 5 ลำดับแรก ไม่ติด TOP5 ในปี 2012
  • กองทุนที่ได้ 5 ลำดับแรกในปี 2008 มี 2 กองที่ในปี 2013 กลับมาติดอันดับอีกครั้ง
  • ทว่าเคสปี 2009 คล้าย ๆ 2008 คือ 5 ลำดับแรก มี 2 กองทุนที่ห้าปีต่อมาติดลำดับอีกครั้ง

เมื่อคำนวณดูจะพบว่า ใน 1 ปีจะมี 5 กองทุนแรกให้เลือก ซึ่งถ้าเราย้อนหลัง 3 ปี เราจะซื้อกองเดียววัดใจได้ 15 ครั้ง แต่เราจะมีโอกาสแค่ 4 จาก 15 หรือ 26.67% ที่จะเลือกกองทุนได้ถูกต้องว่า 5 ปีต่อมา มันจะยังอยู่ในลำดับที่ 1-5

หากลองทดสอบแบบถือครองสมัยก่อนคือ 5 ปีปฎิทิน หรือน้อยสุด 3 ปี 2 วัน เพราะฉะนั้นใช้ระยะเวลา 3 ปีมาดูผลตอบแทน ก็จะพบว่าลำดับ 1-5 ในปีแรก จะกลับมาเป็นครองแชมป์ 5 ลำดับเดิมในอีก 3 ปีต่อมานั้น มีโอกาสเพียงแค่ 6 จาก 25 ครั้งหรือ 24% เท่านั้นที่คุณจะเลือกถูก

ที่โหดกว่านั้นคือ หากดูว่า มีกี่ปีที่ 1-5 ลำดับแรกจะกลับมาอยู่ 1-5 ของปีต่อมา เราสามารถทำธุรกรรมได้ 5 กองทุนต่อปี ก็จะมีทั้งหมด 7 ปี หรือ 35 ครั้ง แต่กลับมีแค่ 5 ครั้งเท่านั้นที่ห้าอันดับแรกของปีแรกจะเป็น 5 ลำดับแรกของปีถัดมา หรือคิดเป็นโอกาสเพียง 1 ใน 7 ซึ่งเท่ากับความน่าจะเป็น 14.29%

2. งานสนับสนุนเพิ่มเติม

งานวิจัยทางวิชาการของไทยก็ให้ผลไปในทางเดียวกันว่า กลยุทธ์ที่ซื้อกองทุน LTF จากผลตอบแทนที่ดีในอดีตไม่อาจชี้วัดได้ว่ากองทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนดีในอนาคต และยังพบอีกว่า กองทุนรวม LTF เหล่านี้ทำผลตอบแทนสุทธิ (net returns) ได้ต่ำกว่าผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์โดยห่างและทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นประมาณ 3% ต่อปี[1. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์, “ผลตอบแทนและความต่อเนื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่มีนโยบายเชิงรุก,” วารสารบริหารธุรกิจ นิด้า 22 (พฤษภาคม 2561): 61.]

โดยผลตอบแทนของกองทุน LTF แบบ actively managed funds ในช่วงปี 2005-2016 อยู่ที่ 12.65% ต่อปี แต่ SET TR อยู่ที่ 15.73% (ห่างกัน 3.08% ต่อปี)[1. ibid., 70.] เงิน 10,000 ในตลาดหุ้นเป็น 57,723.34 แต่เงินในกองทุนบริหารโดยเฉลี่ยเป็นแค่ 41,761.33 ซึ่งห่างกันประมาณ 15,926 บาท! หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่หายไปเกือบ 28%!!

3. บทสรุปสำหรับ ผลตอบแทน LTF

การดูลำดับผลตอบแทนกองทุนสูงสุด 1-5 ลำดับแรก แทบจะไม่เชื่อมโยงกับลำดับที่ของมันใน 1 ปี 3 ปี 5 ปีต่อมาเลย เป็นการยากที่คุณจะเลือก 1-5 ลำดับแรก แล้วหวังว่ามันจะเป็น 1-5 ลำดับแรกในอนาคต โอกาสถูกต้องน้อยกว่า 1/4 (ปาลูกดอกสี่ครั้งโดนเป้าครั้งเดียว)

และแม้จะหวังในรอบสั้น ๆ เช่น กรณี 1 ปี มันก็ยากยิ่งกว่า เพราะมีโอกาสน้อยกว่า 1/6 เปรียบไปแล้วก็เหมือนสุ่มทอยลูกเต๋าแล้วทายหน้าครับ โอกาสถูกพอกันเลย

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ให้เห็นก็คือ ผลตอบแทนล่าสุดไม่บ่งบอกอะไรถึงผลตอบแทนในอนาคตเลย !! ไม่ว่าจะในระยะยาว หรือระยะสั้นก็ตาม (ไม่เชื่อลองย้อนไปดูผลตอบแทนที่ปีแรกสูง มีโอกาสน้อยมากที่ปีที่สองจะสูงด้วย)

บางท่านอาจจะสังเกตว่าบางกองมันก็กลับมาเป็นที่ 1-5 บ่อย ๆ นะ แสดงว่ามันก็น่าจะดูผลตอบแทนย้อนหลังได้บ้าง ซึ่งผมมีข้อเสนอแนะอีกว่า ที่เรารู้ว่ามันกลับมาเป็นที่ 1-5 ได้ใหม่ ก็เพราะผลตอบแทนมันโชว์ให้เห็นแล้วว่ามันกลับมาได้ ตรงนี้เรามีข้อมูลในอดีตให้ดู อันเป็นการมองกระจกหลัง อะไร ๆ ก็เลยดูง่ายไปซะหมด เพราะถ้าจับสถิติต่อ ณ 4 ธันวาคมปี 2015 กองทุน LTF ที่อยู่ลำดับ 1-5 ของปี 2014 ก็ไม่ติดห้าลำดับแรกครับ เป็นการวกกลับสู่ค่าเฉลี่ย ที่เรียกว่า “Reversion to the Mean” (RTM)

สิ่งที่อยากจะฝากไว้จริง ๆ ก็คือ วิธีที่หลายคนกำลังทำกันอยู่ ดูว่าใครผลตอบแทนดีล่าสุดแล้วซื้อตาม ยกตัวอย่าง ท่านจะซื้อ LTF วันที่ 30 ธันวาคม วันก่อนหน้านั้นท่านก็เปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อดูว่า ใครหนอผลตอบแทนดีสุดในปีนี้ แล้วก็ซื้อกองทุนหุ้นที่ร้อนแรงล่าสุด ก็อย่างที่วิจัยครั้งนี้ทำให้เห็นครับ 1-3-5 ปีข้างหน้า (หรือไกลไปอีก) โอกาสที่ท่านจะได้กองทุนผลตอบแทนสูง ๆ ติดลำดับต้นอีกรอบนั้นมันช่างยากเสียจริง ไม่เชื่อดูบทวิจัยก่อนหน้าก็ได้ครับว่า กอง LTF ส่วนใหญ่ในระยะยาวยังแพ้ผลตอบแทนตลาดหุ้นอีกต่างหาก)

ดังนั้น สรุปกันสั้น ๆ ง่ายได้ว่า

“Past performance does not guarantee future results.”

ที่เขาโปรยไว้เวลาโฆษณากองทุนนั้น มันถูกต้องจริง ๆ

บทความแนะนำ:

(1) ทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลตอบแทนหุ้นและตลาดหุ้น

(2) ผลตอบแทนย้อนหลัง กองทุน : ความเสียเวลาและมายาคติ


**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงแนวคิดส่วนตัวเกี่ยวกับวิธีการลงทุนของผู้เขียน ไม่ได้มีเจตนาชักชวนให้ลงทุนตาม ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s