ในระยะยาวแล้วค่อนข้างยากที่จะหา กองหุ้น หรือกองทุนหุ้นกองไหนสามารถชนะตลาดหุ้นได้ ซึ่งประเด็นนี้ในต่างประเทศค่อนข้างมีบทวิจัยและบทความแพร่หลายกอง แต่ในไทยผมพบว่า ไม่ค่อยจะมีใครทำ แถมหลายคนก็บอกว่า ตลาดหุ้นบ้านเรานั้น กองทุนแบบบริหารเลือกหุ้น (Actively Managed Funds) น่าจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า เพราะตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
หากแต่ส่วนตัวผมกลับเชื่อว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังพัฒนาไปสู่ยุคที่การจะหาผลตอบแทนส่วนเกิน (Alpha Return) จากตลาดหุ้นจะทำได้ยากขึ้นมาก ลองดูกรณีข้างล่างนี้ก็ได้ครับ
“Investment Managers are not beating the market; the market is beating them.” — Charles D. Ellis[1. Charles D. Ellis, Winning the Loser’s Game: Timeless Strategies for Successful Investing, 6th ed. (New York: McGraw-Hill, 2013), 1.]
อย่างที่ Ellis บอกครับ ในระยะยาวแล้วผู้จัดการกองทุนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้น แทนที่ชนะกลับกลายเป็นว่าพวกเขาแพ้ตลาดหุ้นซะเอง
ผมได้ทำการเลือกกองหุ้นเรียงตามผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุด 2 ช่วงเวลา คือ 5 ปีย้อนหลัง กับ 10 ปีย้อนหลังจาก Morningstar Thailand (ใช้ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2558) เลือกกลุ่ม Thai Equity Large-Cap กับ Mid-Small Cap โดยกองทุนเหล่านี้จะประกอบด้วยกองทุนหุ้นทั้งหมด (รวม LTF-RMF ด้วย) แต่จะตัดกองทุนประเภทลงทุนหุ้น 70-75% และตัดกองทุนดัชนีทิ้งด้วย เพื่อหาว่าจริง ๆ แล้วค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุนหุ้นไทยแบบบริหารทำได้เท่าไหร่กันแน่
โดยตัวตัดเชือกก็คือ ผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index Total Return : SET TR) ซึ่งตัวชี้วัดนี้กำลังบอกว่า ถ้าเราลงทุนด้วยการซื้อหุ้นทั้งตลาดถือไว้ กับการสุ่มลงทุนในกองหุ้นที่เคลมตัวเองว่า สามารถคัดเลือกหุ้นชนะตลาดหุ้นได้ จริง ๆ แล้วพวกมันชนะได้จริงหรอ? หรือเรากำลังจ่ายค่าธรรมเนียมแพง ๆ ไม่รู้ตัวโดยที่ไม่ได้ประโยชน์ส่วนเพิ่มอะไรขึ้นมา
Case 1 : วัดผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี
กรณีนี้เราจะพบว่า จำนวนกองทุนหุ้นแบบคัดเลือกหุ้น (Active Funds) รวมทั้งสิ้น 120 กองทุน ทำผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 9.98% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นของ SET TR อยู่ที่ 10.79% ต่อปี (ห่างกัน 0.81% ต่อปี หรือกองทุนเหล่านี้เฉลี่ยแล้วทำผลตอบแทนได้แค่ 92.5% ของตลาดหุ้น) ถ้าคุณลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วใน SET TRI คุณจะมีเงินทั้งสิ้นตอนนี้ที่ 29,276 บาท แต่กองทุนรวมโดยเฉลี่ยจะทำเงินให้คุณที่ 27,017 บาท หายไปประมาณ 2,200 บาท หรือเกือบ 10%
อีกอย่างที่น่าสังเกตคือ ใน 120 กองทุนนี้มีแค่ 43 กองทุนเท่านั้นที่ทำผลตอบแทนได้สูงกว่า SET TR หรือคิดเป็นจำนวนเพียง 35.83% เท่านั้น หมายความว่ากองทุนอีก 77 กองหรือ 65% ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าตลาดหุ้นครับ
Case 2 : วัดผลการดำเนินงาน กองหุ้น ย้อนหลัง 5 ปี
กรณีนี้ล่ะครับที่ค่อนข้างยืนยันความคิดผมว่า ตลาดหุ้นไทยไม่หมูอีกแล้ว เพราะ 5 ปีย้อนหลังคือช่วง 2011-2015 ซึ่งถือว่ามีผู้เล่นในตลาดหุ้นจำพวกนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะในไทยเองหรือมาจากต่างประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลคือรอบนี้มี Active Funds ให้ตัดเชือกรวม 154 กองทุนครับ ในขณะที่ SET TR ทำผลตอบแทนย้อนหลังได้ 8.37% ต่อปี
เหล่าผู้ท้าชิงของเรา กองหุ้นแบบบริหารจัดการโดยเฉลี่ยทำผลตอบแทนทบต้นย้อนหลังได้เพียง 6.78% หรือทำได้แค่ 81% ของผลตอบแทนที่ตลาดหุ้นทำได้ และมีจำนวนเพียง 50 กองเท่านั้นที่ชนะ SET TR พูดอีกแบบก็คือ กองหุ้นเกือบ 70% ทำผลตอบแทนได้แย่กว่าตลาดหุ้น
Case 3 : ถ้าเลือกลงทุนกองทุนดัชนีแทนกองทุนบริหาร
ผมใช้กองทุนทหารไทย SET50 เป็นตัวแทน เพราะตั้งมานานสุด (2544) เราจะพบว่า กองทุนทำผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีได้เฉลี่ย 9.34% ต่อปี และ 5 ปีเฉลี่ย 6.13% ต่อปี ซึ่งถ้าเอามาเทียบตำแหน่งผลตอบแทนแล้วจะพบว่า
ช่วงระยะเวลา 10 ปีนั้น จำนวน 120 กองทุน มีเพียง 42 กองทุนที่แพ้ทหารไทย SET50 หรือพูดอีกแบบว่า กองทุน TMB50 มันทำผลตอบแทนชนะแค่ 35% ของกองทุนทั้งหมด (ซึ่งต่างจาก SET TRI ที่ชนะถึง 65%)
ส่วนช่วง 5 ปีย้อนหลัง กองทุนทหารไทย SET50 ชนะ 57 จาก 154 กองทุน หรือชนะกองทุนประมาณ 40% (ในขณะที่ SET TRI ชนะกองทุนเกือบ 70%)
บทสรุป
กองหุ้น ส่วนใหญ่ในบ้านเราในแต่ละช่วงเวลา เฉลี่ยแล้ว 60-70% จะแพ้ผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นครับ (สอดคล้องกับบทวิจัยก่อนหน้าของผมที่ว่า กองทุน LTF ส่วนใหญ่แพ้ตลาดหุ้น) จึงมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่ในระยะยาวนั้นกองทุนแบบบริหารจัดการคัดเลือกหุ้น (actively managed funds) ทั้งหลายจะทำผลตอบแทนได้สูงพอจะชนะตลาดหุ้น
ถ้าหากคุณคาดหวังแบบชนะตลาดหุ้น 2% ต่อปี ผมจะบอกให้ว่า ในช่วงเวลา 10 ปี มีแค่ 6 จาก 120 กองทุน และในช่วง 5 ปีย้อนหลัง มีแค่ 17 จาก 154 หรือพูดกว้าง ๆ ได้ว่า จะหากองทุนที่ชนะตลาดหุ้นระยะยาวแบบได้ส่วนเกิน +2% ต่อปี คุณต้องงมกองทุนด้วยโอกาสความน่าจะเป็นเพียง 5-10% ให้ได้ และความยากอยู่ที่
(1) คุณต้องรู้ว่าอีก 5, 10, 20, 30 ปีข้างหน้าใครจะผลตอบแทนอยู่ลำดับแรก
(2) คุณรู้ผู้ชนะไม่พอ คุณต้องถือผู้ชนะนั้นตลอด 5, 10, 20, 30 ปีด้วย
(3) มันยากตั้งแต่หาข้อ 1 แล้วครับ เพราะผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถบอกผลตอบแทนในอนาคตได้ (โปรดดูตัวอย่างจากกอง LTF >Click)
ลองเดาดูก็ได้ครับว่าใครจะเป็นที่ 1 ในอีก 20, 30 ปีข้างหน้า โดยดูผลตอบแทนย้อนหลังตอนนี้ ซึ่งสีฟ้าที่เน้นไว้คือจะให้เห็นว่ามีโอกาสต่ำกว่าครึ่งที่คุณปาเป้าที่ 1-10 แล้วมันจะไม่อยู่ในช่วงเวลาถัดไป
ซึ่งถ้าคุณคิดว่าเดาไม่ถูกแน่ ๆ อันนี้ถือว่าคุณได้เริ่มต้นเห็นทางสว่างแล้วครับ เพราะในต่างประเทศนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะลงทุนหุ้นระยะยาวก็คือ
ลงทุนใน “กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด”
ซึ่งปัญหามันก็อยู่ที่ตรงนี้ครับ บ้านเรานั้นเก็บค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมกองทุนดัชนีค่อนข้างแพงมาก (เก็บกันที่ 0.6-0.9% ต่อปีเลยทีเดียว) ทำให้กองทุนพวกนี้ไม่โชว์ผลตอบแทนที่เห็นชัดเจนว่า ในระยะยาวกองทุนดัชนีชนะกองทุนบริหารได้เกือบ 70-80%
ขอจบบทความนี้ด้วยคำกล่าวสำคัญของ Warren Buffett ในรายงานประจำปี 1996 ที่ว่า
“Let me add a few thoughts about your own investments. Most investors, both institutional and individual, will find that the best way to own common stocks is through an index fund that charges minimal fees. Those following this path are sure to beat the net results (after fees and expenses) delivered by the great majority of investment professionals.”
ก็อย่างที่บัฟเฟตต์ว่าครับ “วิธีที่ดีที่สุดที่ (คนส่วนใหญ่) จะลงทุนในหุ้นสามัญก็คือ ลงทุนในกองทุนดัชนีที่คิดใช้จ่ายต่ำที่สุด” ในระยะยาวนั้นผลตอบแทนสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายของคุณจะดีกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น ถ้าไม่เชื่อลองดูข้างบนก็ได้ครับว่า ในระยะยาวนั้นมีกองทุนจำนวนน้อยนิดที่จะชนะตลาดหุ้นได้จริง ๆ
บทความอื่นที่แนะนำ
(1) ทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลตอบแทนหุ้นและตลาดหุ้น
(2) ความเสียเวลาในการนั่งดูผลตอบแทนย้อนหลังกองทุน
(3) กองทุนดัชนี (index funds) คืออะไร?
** บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงแนวคิดส่วนตัวเกี่ยวกับวิธีการลงทุนของผู้เขียน ไม่ได้มีเจตนาชักชวนให้ลงทุนตาม ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน