เงินปันผล คือ หัวใจของผลตอบแทนระยะยาวของหุ้น คุณเชื่อหรือไม่?
จากกระทู้เดิม SET Index v. SET TRI ที่เคยทำการเปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดหุ้นว่า จริง ๆ แล้วผลตอบแทนสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลตอบแทนจากเงินปันผลทบต้น (dividend re-invest) แต่ข้อมูลที่นำมาใช้ คือ ช่วง Jan 2002 – Jan 2017 : ก็ประมาณ 15 ปี
หากแต่ล่าสุดผมได้ข้อมูลครบตั้งแต่เปิดตลาด (ต้องขอบคุณ งานนำเสนอของบลจ.กรุงศรี ที่ทำให้ต่อจิ๊กซอว์ได้ครบมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ) เพราะผมขาดข้อมูล SET TRI ช่วงปี 1975-2001 (หรือช่วง พ.ศ. 2518-2544) ได้ภาพด้านล่างนี้เลยต่อยอดได้เลย
เงินปันผล คือ หัวใจของผลตอบแทนตลาดหุ้น
เพราะฉะนั้นเราจะมาดูกันว่า ตั้งแต่เปิดตลาดหุ้น เมษายน 2518 – ธันวาคม 2559 (April 1975 – Dec 2016) หรือเป็นเวลา 42 ปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แบบคำนวณราคา SET Index (SET PR) ที่โชว์หราอยู่ทุกวันนี้ กับผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์ที่คิดคำนวณรวมเงินปันผลทบต้นไปด้วย (SET TRI) ส่วนต่างจากพลังของผลตอบแทนเงินปันผลเป็นอย่างไรบ้าง?
และนี่คือ ผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์ อันบอกเราอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งดั่งแสงตะวันได้ว่า เงินปันผล คือ หัวใจของผลตอบแทนจากตลาดหุ้น เพราะถ้าคุณนำมันมาลงทุนแบบทบต้น โอ้โหว โปรดดูนี่ครับ
จากจุดสตาร์ทเริ่มต้น ณ วันที่ตั้งตลาดหุ้น คือ เมษายน 2518 ดัชนีทั้งสองเริ่มที่ 100 จุด หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป 40 กว่าปี ท่านจะเห็นได้ว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2559 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) อยู่ที่ 1542.94 จุด หากแต่ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ (SET Index Total Return) อยู่ที่ 9065.29 !!!
นั่นเท่ากับว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนของราคา (price index) คิดเป็นแค่ 17% ส่วนที่หายไปกว่า 83% คือผลตอบแทนจากเงินปันผลที่นำมาทบต้น อื้อ หือออ ข้อสรุป ณ ตรงนี้คือ
ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนที่สำคัญที่สุดของตลาดหุ้นที่เป็นหัวใจอย่างแท้จริง คือ ผลตอบแทนจากเงินปันผลทบต้น เพราะคิดเป็นร้อยละ 80-85 ของผลตอบแทนรวมทั้งหมดของ ถ้าคุณลงทุนถึง 40 กว่าปี
นอกจากนี้ระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ยังให้ผลตอบแทนทั้งหมด (SET TRI) คิดเป็นอัตราผลตอบแทนทบต้นถึง 11.33% ต่อปีด้วย (หากคิดปัดเต็มเป็น 42 ปี) แต่หากคิดปี 1975 ซึ่งมีแค่ช่วง 30/04/75 ถึงสิ้นปีก็จะได้ผลตอบแทนที่ประมาณ 11.4% ต่อปีครับ
ประเด็นความคิดเรื่อง เงินปันผล
(1) ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นไทยในอดีต ค่อนข้างใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นอื่น ๆ ที่ประมาณ 9-11% ทบต้นต่อปี โปรดขีดเส้นใต้คำว่ายาว กรณีนี้คือลงทุน 40 กว่าปี ระยะเวลาลงทุนต่ำกว่า 10 ปีไม่นับว่ายาว และแน่นอนว่าคนที่ลงทุนแค่ 1-2 ปีจะใช้คำว่ายาวไม่ได้ พวกลงทุนหลักวัน หลักเดือนยิ่งห่างไกลลิบ ๆ
(2) ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นที่แท้จริง เกิดจากพลังของดอกเบี้ยทบต้นเงินปันผล นั่นคือ การนำเงินปันผลที่ได้รับมาลงทุนกลับ (dividend re-invest) เป็นการพิสูจน์สิ่งที่อ่านมาจากหนังสือหลายเล่ม[1. มีหนังสือหลายเล่มมากที่บอกว่า ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นจริง ๆ แล้วนั้น เงินปันผลเป็นสัดส่วนใหญ่และสำคัญที่สุดของผลตอบแทนตลาดหุ้น ช่น หนังสือ Stock for the Long Run ของ Jeremy J. Siegel หรือหนังสือ John Bogle on Investing และ Bogle on Mutual Funds ของ John C. Bogle ครับ ซึ่งความสำคัญของเงินปันผลยังรวมไปกรณีของหุ้นรายตัวด้วยเช่นกัน เพราะเงินปันผลทบต้นส่งผลให้การลงทุนในหุ้นบางตัวได้ผลตอบแทนสูงมาก ๆ ด้วย อาทิ หุ้นบริษัท Phillip Morris, Exxon Mobil]
(3) เงินปันผลในข้อ 2 ไม่ได้หมายถึง เงินปันผลของกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผล ใครไม่เข้าใจ โปรดอ่านอันนี้ครับ > ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับ “กองทุนปันผล”
(4) จากข้อ 2 คงเห็นแล้วนะครับว่า หัวใจของผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้น มาจากการลงทุนให้นาน ลงทุนถือครองหุ้นไปเรื่อย ๆ ได้เงินปันผลก็นำมาลงทุนกลับ อย่างกรณีกองทุนรวมที่ไม่จ่ายปันผล จะทำการ re-invest อัตโนมัติ ก็เบาภาระเราไปได้ ไม่ต้องซื้อหุ้นลงทุนทบต้นเอง ถ้าถามว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลทบต้นเยอะขนาดไหน ระยะยาวมาก ๆ เกือบครึ่งชีวิตจากข้อมูลข้างบนก็คือ ร้อยละ 85 ของผลตอบแทนรวมกันเลยทีเดียว
(5) เมื่อรู้แบบนี้แล้ว อย่าไปติดภาพมายาที่เห็นว่าตลาดหุ้นยังไม่ไปไหน แล้วก็บอกผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนไม่มีหรอก เลยพยายามซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นหรือกองทุนหุ้น
เพราะฉะนั้น เพื่อให้ได้รับพลังจากเงิ้นปันผลทบต้น เราต้องลงทุนระยะยาวอย่างมีวินัยครับ และลงทุนโดยให้อยู่ในลักษณะของการ re-invest นำเงินปันผลมาลงทุนทบต้นตลอดเวลาครับ สู้ ๆ