วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับ กองทุนดัชนี : ข้อคิดจากรายงานผู้ถือหุ้น – 2017

ผมได้อ่านรายงานที่ Warren Buffett เขียนถึงผู้ถือหุ้นประจำปี 2017 (งบปี 2016) ของ Berkshire Hathaway ปีนี้เขาอุทิศเกือบ 5 หน้าวิพากษ์อุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะเหล่ากองทุนรวมทั้งหลายที่คิดค่าใช้จ่ายสูง ๆ โดยเริ่มเล่าจาก เกมเดิมพันการกุศลที่เริ่มขึ้นในปี 2008 โดยบัฟเฟตต์เชื่อมั่นว่า พวกผู้เชี่ยวชาญการลงทุนที่ใช้วิธีการลงทุนเชิงรุก เช่น กองทุนแบบบริหาร (active funds) ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมมหาศาล (the massive fees levied by a variety of “helpers”) จะสร้างผลตอบแทนที่แย่มาก ๆ ให้กับนักลงทุนที่เป็นลูกค้า และทำผลตอบแทนได้แพ้กองทุนดัชนีที่คิดค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ (low-cost index fund)

โดยบัฟเฟตต์ได้ผู้ท้าชนรับคำท้าเป็นกองทุนป้องกันความเสี่ยง (hedge funds) ที่ชื่อ Protégé ซึ่งใช้วิธีลงทุนแบบ funds-of-funds โดยเลือกลงทุนในกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่เป็น funds-of-funds เป็นจำนวน 5 กอง โดย Protégé คัดเลือกลงทุนในกองทุน 5 กอง ซึ่งกองทุนเหล่านั้นลงทุนแบบ funds-of-funds ก็จะไปคัดเลือกกองทุนอื่น ๆ อีกหลายกองเพื่อลงทุนต่ออีกที ลองนึกภาพ funds-of-funds ก็คือ การที่เราเอาเงินไปลงทุนในกองทุน A แล้วกองทุน A ก็เอาเงินเราไปเลือกลงทุนในกองทุนที่เขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนดี อาจจะแบ่งไปลงทุนในกองทุน B C E F G… ส่วนบัฟเฟตต์เลือกลงทุนในกองทุนดัชนี Vanguard S&P500 Index ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำมาก ๆ แค่ 0.05-0.10% ต่อปี

เวลาผ่านไปเป็นเวลา 9 ปี (2008-2016) กองทุนดัชนี S&P500 ของบัฟเฟตต์ทำเงินเติบโตได้ถึง 85.4% ชนะกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ Protégé เลือกหมดเลย โดยผลตอบแทนของกองทุนดัชนีที่ 85.4% เป็นตัวเลขที่สูงกว่ากองทุนที่ Protégé เลือก ซึ่งกองทุนเหล่านั้นได้ผลตอบแทนแค่ 62.8, 28.3, 8.7, 7.5 และ 8.7% เท่านั้นเอง ทำให้เงิน $1,000,000 ที่ลงทุนในกองทุนป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้นให้ผลตอบแทนทบต้นที่ 2.2% ต่อปี หรือเงินจะเพิ่มขึ้นมาประมาณ $220,000 แต่ในขณะเดียวกัน เงินที่ลงทุนในกองทุนดัชนี Vanguard S&P500 จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินถึง $854,000

บัฟเฟตต์ให้ข้อสังเกตว่า กองทุนเหล่านี้อาจจะมีผู้จัดการกองทุนที่เก่งและมีความสามารถ หากแต่ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่มหาศาล (huge fees) จะกัดกินผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจนหมด ลงเอยด้วยการที่ผู้จัดการกองทุนเหล่านี้รวยมาก แต่นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ห่วยมาก

บัฟเฟตต์ให้ลองนึกภาพ ตลาดหุ้นที่มีนักลงทุนฉลาด ๆ เก่ง ๆ เต็มไปหมด เป็นนักลงทุนเชิงรุก (active investors) ในขณะที่จะมีนักลงทุนอีกกลุ่มเป็นนักลงทุนเชิงรับ (passive investors) ซึ่งนักลงทุนกลุ่มแรกจะมีมากกว่า นักลงทุนกลุ่มหลังมีน้อยกว่าและหวังผลตอบแทนแค่เพียงค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้น หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยค่าใช้จ่ายที่มหาศาล ผลลัพธ์โดยรวมของนักลงทุนเชิงรุกย่อมถูกค่าใช้จ่ายกัดกิน จนได้ผลตอบแทนต่ำกว่านักลงทุนเชิงรับ ฝีมือของนักลงทุนเชิงรุกไม่สามารถก้าวข้ามค่าใช้จ่ายไปได้

เพราะฉะนั้น บัฟเฟตต์จึงแนะนำว่า นักลงทุนโดยทั่วไปจะทำผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นได้ดีกว่ามาก ถ้าลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ แทนที่จะไปลงทุนในกองทุนเชิงรุก โดยเฉพาะกองทุนแบบ funds of funds ซึ่งบัฟเฟตต์เชื่อว่า กลุ่มของนักลงทุนที่ไม่ทำอะไรเลย (do-nothing investors — คือลงทุนในกองทุนดัชนีแล้วถือไปเรื่อย ๆ) จะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ มีย่อหน้าหนึ่งที่น่าสนใจคือ บัฟเฟตต์อธิบายเพิ่มให้ว่า แน่ล่ะ มันต้องมีนักลงทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนดัชนีอยู่แล้วในระยะยาว แต่บัฟเฟตต์ระบุได้ประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้นที่จะมีความสามารถแบบนี้ เพราะฉะนั้น นักลงทุนทั้งรายใหญ่รายเล็กควรยึดอยู่กับการลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ (“Both large and small investors should stick with low-cost index fund”)

นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ยังได้เล่าเรื่องน่าสนใจให้ฟังอีกว่า หลายต่อหลายปี เขาจะถูกถามจากคนอื่น ๆ เรื่องวิธีลงทุน ซึ่ง บัฟเฟตต์จะแนะนำเป็นประจำว่า ให้ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ (เขายกตัวอย่าง กองทุนดัชนี S&P500 Index) ซึ่งก็มีบางคนเชื่อตามคำแนะนำนี้ หากแต่ไม่มีนักลงทุนประเภทที่รวยมาก ๆ เช่น นักลงทุนรายบุคคลที่มีเงินลงทุนเยอะ ๆ นักลงทุนสถาบัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ ที่เลือกจะทำตามคำแนะนำของเขา พวกเขาจะบอกว่า ขอบคุณ แล้วก็เดินตามเสียงเพรียกมรณะไป (บัฟเฟตต์เปรียบกับ siren song ของนางเงือก)

เสียงเรียกที่ Buffett เรียกว่าเสียงเพรียกมรณะนั้นมาจากเสียงของค่าใช้จ่ายมหาศาล หรือในหลายครั้งก็คือการเรียกหาผู้แนะนำการลงทุนที่ขยันให้คำแนะนำแก่เราว่าจงซื้อ ๆ ขาย ๆ กองทุนรัว ๆ (hyper-helper consultant) โดยคำแนะนำจะมาในรูปของการลงทุนแบบแฟชั่น หาสไตล์จับจังหวะลงทุน หาคำทำนายหรือแนวโน้มเศรษฐกิจ มาให้เราซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุนหุ้นไปมา

เขายังให้ข้อสังเกตอีกว่า นักลงทุนเหล่านี้มีเงินลงทุนจำนวนมาก เป็น the financial “elites” อยากได้บริการการลงทุนหรือคำแนะนำซื้อขายที่มันดูหรูหราพิเศษ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่คำกล่าวที่ว่า

“เมื่อคนที่มีเงิน ได้เจอคนที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ คนที่มีประสบการณ์จะจบลงด้วยการได้เงินไป ส่วนคนที่มีเงินจะต้องเสียเงินไปและได้รับประสบการณ์ (แย่ ๆ) กลับมาแทน”

โดยสรุป คำแนะนำสุดท้ายของบัฟเฟตต์ได้เตือนให้เราระวัง 4 ตัวอักษร คือ -fees- (ถ้าเป็นภาษาไทยก็อาจจะเป็น 3 คำ คือ -ค่าใช้จ่าย- หรือ – ค่าธรรมเนียม- ที่ต้องระวังให้ดีก็เพราะว่า

“ผลตอบแทนจากการลงทุนที่แย่ จะมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่มหาศาล”

Poor investment performance accompanied by huge fees. —Warren Buffett

นักลงทุนอาจจะสงสัยว่าแล้ว กองทุนที่ลงทุนในกองทุนอื่น ๆ หลายกอง (funds of funds) ในประเทศไทยมีไหม ตอบเลยครับว่า มี! แล้วก็ลักษณะคล้าย ๆ กันนี่ล่ะ คือ กองทุนพวกนี้จะเอาเงินไปลงทุนในกองทุนอื่นอีกหลาย ๆ กอง ที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นกองทุนประเภทที่เอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศครับ ซึ่งอย่างบางกองทุนก็เอาเงินไปลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศหลาย ๆ กอง โดยพวกเขาก็จะโปรยคำเชื่อมั่นว่า พวกเขามีความสามารถในการ “คัด” และสามารถ “เลือก” กองทุนที่เป็นผู้ชนะ หรือสามารถ “สลับ-สับ-เปลี่ยน” ไปยังกองทุนอื่น ๆ ที่มีความสามารถดีกว่าได้ และสามารถ “จับจังหวะ” ลงทุนได้ด้วย

กองทุนพวกนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ๆ และเป็นค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน เช่น คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี (annual management fees) ให้กับกองทุนแม่ในไทย สมมติปีละ 1.5% บวกกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมแล้วอาจจะตก 2% ต่อปี แล้วยังต้องไปเสียค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บจากกองทุนที่กองทุนแม่ในไทยไปลงทุนอีก สมมติอีก 2% เท่ากับว่า นักลงทุนเสียค่าใช้จ่าย หรือในมุมกลับ เสียเงินเสียผลตอบแทนไปแล้ว 4% ต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายระดับนี้ นักลงทุนหวังผลตอบแทนสูง ๆ แบบชนะตลาดหุ้นหรือดัชนีชี้วัดยากครับ เอาแค่ไม่ให้ผลตอบแทนแพ้ตลาดแบบหลุดรุ่ยก็น่าจะต้องเชียร์จนหืดจับแล้ว


บทความแนะนำ

(1) กองทุนดัชนี (index funds)

(2) รวมคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนดัชนี

(3) กองทุนดัชนีในประเทศไทย

6 ความเห็นบน “วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับ กองทุนดัชนี : ข้อคิดจากรายงานผู้ถือหุ้น – 2017”

  1. กองทุนรวมกรุงไทย ออพเพอร์ทูนิตีส์ มี TER 0.15% แต่ไม่ใช่กองทุนดัชนี หุ้นกระจุกบางอุตสาหกรรม ปัจจุบันลงทุนหุ้นอเมริกา ไทย และฮ่องกงเป็นหลัก. ขอสอบถามความเห็นว่าควรใช้ลงทุนร่วมกับกองทุนดัชนีหรือไม่.

    ถูกใจ

    1. เป็นกองทุนแบบผสมที่ค่าใช้จ่ายต่ำดี (ผมดูคร่าว ๆ นะครับ) ส่วนจะใช้ร่วมลงทุนด้วยได้ไหม มันไม่ใช่กองทุนดัชนีครับ นักลงทุนตัดสินใจเองดีกว่าครับ

      ถูกใจ

  2. กองทุน SET50 มีสัดส่วน Top-ten holdings ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ Vanguard 500 (แต่สัดส่วน market cap ต่อทั้งตลาดใกล้เคียงกัน) และหุ้น ปตท. มีน้ำหนักสูงถึงกว่า 10%. ทำให้ยังไม่แน่ใจว่าควรลงทุนในกองทุน SET50 อย่างเดียวหรือไม่. อยากทราบความเห็นเรื่องนี้ด้วย.

    ถูกใจ

    1. ผมว่าสัดส่วนการกระจายของดัชนีก็ไม่กระจุกตัวแต่ละอุตสาหกรรมจนเกินไปนะครับ สัดส่วนมันก็คล้าย ๆ หลายดัชนีนะครับ เช่น FTSE100 https://www.ishares.com/uk/individual/en/products/251795/ishares-ftse-100-ucits-etf-inc-fund?siteEntryPassthrough=true&locale=en_GB&userType=individual

      H-Shares นี่ยิ่งเข้าไปใหญ่ https://www.scbam.com/medias/fund-doc/master-fund/SCBCE_MASTER.pdf

      เรื่องลงทุนไม่ลงทุน นักลงทุนตัดสินใจเอาเองดีกว่าครับ

      ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s