เกมของตลาดหุ้น

หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า Positive-sum, Zero-sum, Negative-sum game อธิบายง่ายๆก็คือ การเล่นเกมแต่ละอย่างจะให้ผลลัพธ์รวมที่ต่างกัน คือ Positive-sum game เป็นการเล่นเกมที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะได้ผลลัพธ์โดยรวมเป็นบวก คือ ได้ทั้งคู่ ส่วน Zero-sum คือเล่นกันไปแล้วมีคนหนึ่งได้ คนหนึ่งเสีย และสุดท้าย Negative-sum เกมที่เล่นแล้วจะต้องเสียทั้งคู่เรื่อยๆทุกครั้งที่เล่น เพราะฉะนั้นเกมที่ทำให้เราชนะจริงๆ ควรจะกระโดดเข้าไปเล่นเกมที่เป็น positive-sum และเชื่อไหมครับว่า ตลาดหุ้นเองนั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่เป็นบวก การลงทุนในหุ้นคือการลงทุนที่เสมือนว่าเรากำลังเล่นเกมที่เราจะเป็นผู้ชนะแน่ๆ (Winner’s game)

ลองคิดภาพธุรกิจแบบเป็นกลุ่ม ลองนึกตามว่าในตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งมีหุ้นรวมกันประมาณ 500-600 บริษัท) สมมตินักลงทุนทุกคนร่วมกันเป็นกลุ่มถือหุ้นของทุกบริษัทเหล่านี้แล้วก็ไม่ทำอะไรเลย ซื้อแล้วถือยาว ธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น ปตท., เซ่เว่น, เซ็นทรัลพัฒนา, โรงพยาบาลกรุงเทพ, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง, ปูนซีเมนต์ไทย, ธนาคารทั้งหลาย ฯลฯ ก็จะดำเนินธุรกิจของมันไปเรื่อยๆ มีกำไรรวมกันที่เติบโตไปตามเศรษฐกิจ-ปรับราคาตามเงินเฟ้อ-พัฒนาศักยภาพนวัตกรรมและการทำกำไร-ขยายสาขา-ขายของมากขึ้น-ขยายไปต่างประเทศ พอมีกำไรรวมก็จ่ายปันผลให้นักลงทุนทั้งกลุ่ม กำไรที่เหลือ ธุรกิจและบริษัทต่างๆก็เอากลับไปลงทุนต่อ ผลตอบแทนของธุรกิจโดยรวมก็จะสะท้อนกลับมาในผลตอบแทนของตลาดหุ้น (ที่สถิติบอกว่าประมาณ 9-10% ทบต้นต่อปี) ในภาพรวมแล้วการเล่นเกมรูปแบบนี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นบวกกับนักลงทุนทั้งกลุ่ม จึงจัดว่าเป็น positive-sum game สำหรับเจ้าของธุรกิจผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่รวมกันเป็นกลุ่ม การลงทุนในหุ้นย่อมเป็นเกมของผู้ชนะที่แท้จริง

ทว่าเมื่อไหร่ที่นักลงทุนไม่ยอมถือหุ้นยาว แต่อยากได้กำไรไวๆ นักลงทุนก็จะเริ่มพยายามทำการซื้อขายระหว่างกัน นึกภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันที่มันมีการซื้อขายครับ คนหนึ่งได้กำไร แสดงว่าอีกคนหนึ่งพลาดที่ขาย(ผลตอบแทนลดลง) เพราะฉะนั้นถ้ามองโดยภาพรวมแล้วมันก็ไม่มีกำไรหรือผลตอบแทนเพิ่มในระบบแต่อย่างใด มันเป็นแค่การถ่ายเทความมั่งคั่งชั่วระยะเวลาหนึ่งให้กับผู้เล่นอีกฝ่าย (คนหนึ่งได้คนหนึ่งเสีย แต่ทั้งระบบได้เท่าเดิม) เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่นักลงทุนทั้งกลุ่มเลิกถือหุ้นยาวและพยายามเอาชนะกันเอง การเล่นเกมแบบนี้ระหว่างกันจัดเป็น Zero-sum game แม้การเล่นเกมแบบนี้จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ แต่ผลลัพธ์โดยรวมเป็นศูนย์

แต่นั้นคือตลาดหุ้นที่ยังขาดความจริงข้อหนึ่งครับ นั่นคือ ถ้าเมื่อไหร่มีการพยายามซื้อขายกันเอง สิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามาคือ “ค่าใช้จ่าย” Costs ต้นทุนธุรกรรมทุกอย่างจะลดผลตอบแทนทั้งที่ผู้ชนะได้ไปและซ้ำเติมคนที่พลาด จากเดิมไม่มีค่าใช้จ่ายมันก็เป็น zero-sum ผลลัพธ์โดยรวมศูนย์ พอเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายลงไป เท่ากับทั้งระบบมีแต่เสียเพิ่มขึ้น ท้ายสุดมันก็จะนำทั้งระบบไปสู่ Negative-sum game ที่ผลลัพธ์ทั้งหมดเป็นลบ

ก่อนการถูกหักค่าใช้จ่าย การพยายามเอาชนะตลาดให้ผลลัพธ์โดยรวมเป็นศูนย์ แต่หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว การพยายามเอาชนะตลาดหุ้น เป็นเกมที่มีผลลัพธ์ติดลบ เพราะฉะนั้น การลงทุนโดยที่คุณพยายามจะเอาชนะตลาดหุ้นจึงเท่ากับคุณพาตัวเองไปเล่นในสนามที่เป็นเกมของผู้แพ้ (Beating the stock market is a loser’s game.)

สำหรับนักลงทุนที่พยายามจะเอาชนะตลาด คุณกำลังเล่นเกมที่ทำให้ตัวเองก้าวไปสู่เกมแห่งผู้แพ้ แต่ในทางกลับกันมีผู้ที่ชนะในเกมนี้คือ ว่าแต่ใครคือผู้ชนะ? ผมว่าคุณตอบถูก ผู้ชนะก็คือคนที่เก็บค่าใช้จ่ายจากนักลงทุนนั่นเอง บุรุษผู้คอยเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าต๋ง (the man in the middle) ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือค่าคอมที่โบรกเกอร์เรียกเก็บ, ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนอันแสนแพง, ค่าธรรมเนียมขาย, ค่าที่ปรึกษาการลงทุน, ค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจ, ค่าการตลาด, ค่าที่ปรึกษาบัญชี-กฎหมาย ฯลฯ รวมๆแล้วก็คือค่าใช้จ่ายจากส่วนงานต่างๆในตลาดทุนนั่นล่ะครับ ซึ่ง Warren Buffett ครั้งหนึ่งเคยเขียนในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Berkshire ว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คำนวณแล้วอาจจะถึง 20% ของผลตอบแทนจากกำไรที่ธุรกิจทำได้ในแต่ละปี ถ้าธุรกิจทั้งตลาดหุ้นทำผลกำไรได้ 1 ล้านล้าน นักลงทุนทั้งระบบปีหนึ่งก็จะเสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 ล้าน เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ นักลงทุนควรจะลงทุนแล้วก็นั่งเฉยๆ

John Bogle เขียนไว้ในหนังสือ The Little book of Common Sense Investing บอกให้เราคิดภาพของคาสิโน ตัวคาสิโนและบ่อนคือผู้ชนะระยะยาวที่แท้จริงจากการเก็บค่าต๋งที่คุณจ่ายเพื่อเล่น ในตลาดหุ้นก็เช่นกัน คนเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่างๆก็คือผู้ชนะ (“Our financial croupiers always win. In the Casino, the house always wins. Investing is no different.”)

สุดท้ายแล้วการพยายามเอาชนะตลาดหุ้นก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำคุณไปสู่ผลลัพธ์ติดลบของเกมแห่งผู้แพ้ วิธีที่จะทำให้เราเล่นเกมที่ชนะ คือ คุณต้องลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นและถือยาว (Buy and Hold Strategy) โดยลงทุนด้วยวิธีที่ทำให้ได้ผลตอบแทนเท่าตลาดหุ้น ลงทุนถือหุ้นส่วนใหญ่หรือทั้งตลาด ลงทุนถือยาวไปเรื่อยๆ อาจจะตลอดเวลาและตลอดไปให้นานที่สุด โดยจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ ต่ำ หรือ น้อยที่สุด เลิกที่จะพยายามจับจังหวะตลาด เลิกที่จะทำการซื้อขายบ่อยๆ เลิกที่จะเปลี่ยนกองทุนไปมา เลิกที่จะคาดการณ์ตลาด เลิกที่จะพยายามหากองทุนผู้ชนะ และ เลิกที่จะพยายามชนะตลาด ก็นำไปสู่หลักการที่เป็น คำแนะนำของนักลงทุนสำคัญๆ ที่ว่า

“จงลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด”

และต้องไม่ลืมหลักการเรื่อง ลงทุนระยะยาว ด้วยครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s