หุ้นตก ควรพอหรือรอ(ถัว)ต่อไป

 เคยคิดอยากจะเขียนเรื่องนี้มานานครับ ประจวบเหมาะกับเจอกระทู้สะเทือน Pantip กระทู้นี้พอดี   ” ขาดทุนหุ้น 93% ถัว อยู่เฉย หรือ คัท วิธีไหนดี  ” จึงตั้งใจจะเขียนขึ้นมาครับ เพราะเอาจริงๆแล้ว การถัวหุ้น มันเป็นการบริหารเงินลงทุนอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ ซึ่งถ้าทำไม่ดี ส่วนมากจะจอดและเจ๊งครับ

ลองดูกราฟข้างล่างนี่ซึ่งเป็นราคาหุ้น SSI ก็ได้ จาก 1.7 บาทถ้าคุณถัวมาเรื่อยๆ ถัวกันไปที่ 1.5, 1.2, 1.0 ….. บาท คุณอาจจะต้องมาจบที่เห็นมันราคาเหลือ 0.04 บาทครับ *_*

ssi
SSI:TB, source : bloomberg

หลายๆท่านอาจจะเคยผ่านช่วงเวลาที่หุ้นหรือกองทุนหุ้นที่ท่านได้ซื้อมาราคาตกอย่างรุนแรง เช่น อาจจะซื้อกองทุนมาที่ราคาหน่วยละ 10 บาท แล้วสัปดาห์ต่อมาก็เหลือ 9 บาท หรือซื้อหุ้นบางตัว เช่น พอเขาบอกว่าหุ้น PTT นั้นดี พอเราเข้าซื้อที่ 300 บาทต่อหุ้น วันต่อมามันเหลือ 280 บาทซะล่ะ ถ้าท่านซื้อมา 10,000 หุ้นก็เท่ากับขาดทุนวันเดียวเงินหายไปถึง 200,000 บาท (บิ๊กไบค์หายไปหนึ่งคัน!) คราวนี้ปัญหาเกิดครับ นักลงทุนหลายๆคนจะมาอยู่ในจุดที่เริ่มวู่วามกับการลงทุน คนที่มีเงินเริ่มกระสับกระส่าย และอยากจะเอาเงินมาใส่เพิ่ม ซื้อถัวมันเข้าไป ด้วยเหตุผลที่ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้องมากๆครับ เหตุผลที่พวกเขาอยากจะซื้อเพิ่ม ก็เพียงเพราะว่ามันจะทำให้ต้นทุนที่โชว์ของเขาถูกลง เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นเพิ่มอีก 10,000 หุ้นที่ราคา 280 เราจะได้ต้นทุนหุ้นทั้งหมดเฉลี่ยที่ 290 บาท เขียนให้ชัดเจนขึ้นจะได้ว่า

ต้นทุนเดิม 300 บาท จำนวน 10,000 หุ้น ต้นทุนเป็นเงิน 3 ล้านบาท

ต้นทุนใหม่ 290 บาท จำนวน 20,000 หุ้น ต้นทุนเป็นเงิน 5.8 ล้านบาท

ถ้าหุ้นขึ้นไปเป็น 300 บาทเท่าเดิม คุณจะได้กำไร 10 บาทต่อหุ้นหรือคิดเป็นเงินกำไรรวม 200,000 บาท คุณอาจจะมองว่ามันดี ได้กำไรเพิ่มด้วย ถ้าถือเท่าเดิมเวลาหุ้นมันกลับมาราคาเดิมคุณก็แค่เท่าทุน แต่อันนี้มีกำไร

แต่…คำถามครับ

แล้วถ้าหุ้นลงต่อล่ะ?

สมมติหุ้นลงเหลือ 200 บาทจะเกิดอะไรขึ้น นี่ล่ะครับสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่ากลัวมาก มันคือ การเอามือไปรับมีด!!!

มันมีกับดักตัวเลขที่หลอกเราครับ ถ้าเราไม่ถัว เราจะขาดทุนหุ้นที่ -33.33% (หุ้นราคาเหลือ 200 จาก 300) แต่ถ้าคุณถัวไปเพิ่มตามที่ยกตัวอย่างด้านบน คุณจะขาดทุน -31.03% ดูเผินๆเหมือนจะดี ขาดทุนน้อยกว่าตั้ง 2% แต่ตรงนี้ล่ะครับที่ต้องระวังให้ดี ถ้าเราไม่ได้ถัวอะไรแต่แรก เราจะมีแค่ 10,000 หุ้นที่ซื้อมา และมูลค่าเงินลงทุนของเราจะเหลือ 2 ล้านบาท (ขาดทุนไปเป็นเงิน 1 ล้าน) แต่ทว่าถ้าคุณถัวซื้อเพิ่มไปอีก 10,000 หุ้น คุณจะมีหุ้นรวม 20,000 หุ้นและเมื่อราคาตอนนี้มัน 200 บาท มูลค่าเงินลงทุนของคุณจะเหลือ 4 ล้านจาก 5.8 ล้านบาท เท่ากับเงินหายไปเกือบ 2 ล้านบาท !! หรือเกือบ 2 เท่าของการไม่ถัวหุ้นเพิ่ม จงจำไว้ว่าการถัวหุ้นเวลาหุ้นตกนั้น

คุณขาดทุนเปอร์เซนต์น้อยกว่า

แต่อาจขาดทุนตัวเงินได้มโหฬาร!!

ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่หุ้นตกนิดตกหน่อย ติดลบแค่ 5% 10% ก็ถัวหุ้น รีบซื้อเพิ่มซะล่ะ ปลายทางการลงทุนของคุณจะริบหรี่มากๆ เพราะขึ้นชื่อว่าหุ้น การขึ้นลงมากกว่า 50% เกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าคุณรีบถัวแล้วหุ้นดันลงต่อ แล้วคุณก็ซื้อๆๆๆ มันจะทำให้คุณสะสมหุ้นไปเยอะเรื่อยๆ และสุดท้ายเมื่อคุณไม่มีเงินและหุ้นไม่ขึ้น คุณจะขาดทุนมหาศาลไปกับหุ้นเพียงตัวเดียว ถ้าใครเคยได้อ่านบทความของคุณนรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ จะพบสถิติว่า การถัวหุ้นนั้น 3-4 ครั้งแรก คุณอาจจะได้กำไรติดมือกลับมา แต่ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นครั้งที่คุณมั่นใจ เพราะถัวเพิ่มแล้วได้กำไรมาตั้ง 3-4 รอบ แต่รอบสุดท้ายนี้นอกจากจะไม่กำไรแล้ว มันจะทำให้คุณขาดทุนหนักจนกำไร 3-4 ครั้งแรกหายวับ และร้ายสุดคือคุณจะสูญเงินจนหมดจากการถัวหุ้นที่ผิดพลาดเพราะท้ายที่สุดบริษัทมันล้มละลาย

การจะซื้อหุ้นเพิ่มเวลาหุ้นตก คุณต้องศึกษามาให้ดีที่สุดว่าตัวกิจการมีโอกาสที่จะเติบโตและกลับมาจุดเดิมได้ไหม มันต่างกันระหว่างคุณถัวหุ้นพลังงานทดแทนรายเล็กๆที่มีข่าวปั่นหุ้นกันสนุกสนาน กับถัวกิจการที่ค่อนข้างคงทนและใหญ่เกินกว่าจะล้ม (แต่ไม่ใช่ล้มไม่ได้) ซึ่งบางทีเจ้าหุ้นพวกนี้ก็อาจจะไม่กลับไปที่ราคาเดิมก่อนหน้าก็ได้ ถ้าเกิดมันขึ้นมาเพราะแรงเก็งกำไรมหาศาล กว่าจะคืนทุนอาจจะต้องรอไปอีกหลายปี นอกจากนี้การที่หุ้นมันราคาตกลงมามันมีหลายสาเหตุมากๆ ไม่ว่าจะเรื่องภาวะภาพรวมตลาดหุ้นที่กำลังหวาดกลัวทำให้คนเทขายบริษัทต่างๆอย่างไม่มีสติ หรืออาจจะเป็นเรื่องภายในบริษัทเอง เช่น รายได้หด ปีนี้มีผลประกอบการขาดทุน ฯลฯ ทำให้การใช้กลยุทธ์ “ถัวหุ้น” นั้นเราจะต้องมีความมั่นใจจริงๆ เพราะคุณกำลังจะเติมเงินลงหลุม ซึ่งไม่รู้ว่าปลายทางมันจะได้คืนหรือไม่

ข้อเสียอีกหนึ่งอย่างของการถัวหุ้น มันจะทำให้น้ำหนักของพอร์ตลงทุนเสียไป เนื่องจากยิ่งซื้อหุ้นตัวไหนเพิ่มยิ่งเป็นการฝากโอกาสไว้บนสินทรัพย์หรือบริษัทเดียว เช่น ถัวไปถัวมาหุ้นที่คุณถัวเพิ่มอาจจะมีน้ำหนัก 80% ของเงินลงทุนไปเลย ในขณะที่ก่อนราคามันตก มันมีน้ำหนักเพียงแค่ 20% ต้องระวังด้วย กลยุทธ์ถัวหุ้นควรเป็นอะไรที่ต้องตัดสินใจมาดีจริงๆ เพราะถ้าพลาดแล้ว ระดับของการขาดทุนจะหนักหนามาก

ในบางสินทรัพย์ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นนั้น จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการซื้อหรือถัวเพิ่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า การถัวหุ้นรายตัวนั้น คุณจะต้องมั่นใจบริษัทจริงๆ เช่น เราซื้อหุ้นปูนซีเมนต์ไทยมา 100 หุ้น ถ้าราคามันร่วงไป -20% คุณต้องวิเคราะห์มาดีๆว่ามีเหตุผลอะไรจะต้องซื้อเพิ่มไหม นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานอาจจะบอกว่า ตัวมูลค่าบริษัทถูกมากแล้ว ถ้าตกลงไปอีก มันจะถือว่ายิ่งถูก ใครมั่นใจซื้อได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ามันมีความเสี่ยงที่จะลงทุนหุ้นผิดพลาดสูงมาก เพราะคุณกำลังเอาเงินส่วนใหญ่ไปวางบนหุ้นเพียงตัวเดียว ซึ่งมีอะไรรออยู่ไม่รู้

ในทางตรงกันข้าม…

กองทุนรวมหุ้นนั้นสามารถใช้การถัวได้ ถามว่าทำไมถัวกองทุนได้ แต่หุ้นเป็นตัวๆไม่ควรทำไม่ควรถัว คำตอบก็คือ กองทุนรวมหุ้นนั้นมักจะประกอบด้วยหุ้นที่ลงทุนกว่า 10-20 หรือ 30 บริษัทขึ้นไป ทำให้การลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว เงินของเราไม่ได้ให้น้ำหนักไปกับบริษัทใดโดดๆจนเกินไป แต่เราลงทุนในหุ้นที่ประกอบกันมาหลายตัว โดยเฉพาะกองทุนดัชนี Index Fund จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะการถัวนั้นจะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า

  1. กองทุนรวมหุ้นประกอบด้วยหุ้นหลายๆตัวซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงไปในหลากหลายอุตสาหกรรมและหลากหลายบริษัท โอกาสที่จะล้มหายล้มละลายไปพร้อมกันหมดย่อมยาก
  2. ระยะยาวตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% ทบต้นต่อปี นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า ผลตอบแทนหุ้นควรจะโตไปตามเศรษฐกิจ การถัวในวันนี้ย่อมทำได้ เพราะท้ายที่สุดเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดี ตลาดหุ้นกลับมาทะยาน หุ้นพวกนี้ก็จะกลับขึ้นมาด้วย

สรุป

โดยส่วนตัว ความเห็นของผมก็คือ ในเรื่องการถัวหุ้นเวลาหุ้นตกหนักนั้น สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นเป็นตัวๆ จะต้องศึกษาให้ดี ก่อนจะใส่เงินอีกก้อนไปช้อนซื้อหุ้นที่มันตก เพราะถ้าซื้อแล้วมันอาจจะตกลงไปหนักกว่าเดิมอีก เคสที่เลวร้ายคือมันอาจจะตกไปจนกระทั่งเหลือศูนย์เพราะเข้ากระสู่กระบวนการล้มละลายก็มีตัวอย่างให้เห็น จึงต้องระวัง หากแต่กรณีที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เช่น กองทุนดัชนี การที่หุ้นตกลงมาหนักๆ อาจจะถือว่าเป็นโอกาสสำหรับคนที่ลงทุนระยะยาว กรณีนี้สามารถซื้อกองทุนเพิ่มได้ครับ

แต่ก่อนจะถัว นักลงทุนที่เซียนแล้วจะมีหลักการสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของ Money Management หรือการบริหารจัดการเงินลงทุน โดยเฉพาะคำถามที่ว่า หุ้นตัวนี้หรือสินทรัพย์ประเภทนี้มีขนาดเท่าไหร่ในการลงทุน เช่น คุณมีเงิน 100 บาท คุณตั้งใจว่าจะลงทุนหุ้น 5 ตัว ตัวละเท่าๆกัน ก็จะเท่ากับ 20% ต่อเงินลงทุนต่อตัว ดังนั้น การจะถัวเพิ่ม คุณต้องระวังสัดส่วนพวกนี้เพี้ยนด้วย เพราะถัวไปถัวมาบางตัวอาจจะมีมูลค่าเงินลงทุนกลายเป็น 50% ไปเลย และจะทำให้การจัดพอร์ตลงทุนของเราเพี้ยนไปหมด

วิธีที่ผมทำส่วนตัวเวลาจะซื้อถัวสินทรัพย์อะไรสักอย่าง คือ

  1. ผมต้องมั่นใจจริงๆว่ามันจะกลับมาและให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
  2. จะคุมไม่ให้การถัวหุ้นตัวนึงทำให้สัดส่วนพอร์ตลงทุนเพี้ยน เช่น พอร์ตหุ้นของผมจะมีกฎว่าโดยปกติจะไม่มีหุ้นตัวใดน้ำหนักเกิน 40% ของพอร์ตครับ ก็เป็นวิธีคุมอารมณ์ตัวเองอย่างหนึ่งที่อาจจะไปตกหลุมรักหุ้นสักตัว
  3. ผมจะทำแผนไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะทำอย่างไรเมื่อหุ้นตก จะไม่มีการมาตัดสินใจหน้างาน เช่น สมมติผมซื้อ PTT เจ้าเก่าที่ราคา 300 บาท ผมอาจจะตั้งเป้าว่า ถ้ามันเหลือร่วงลงมาจนติดลบ -15% ผมจะซื้อหุ้นตัวนี้เพิ่มเล็กๆ ถ้าลงมาถึง -30% ผมอาจจะถัวเพิ่มอี่กไม้ ซึ่งปกติผมจะตั้งเป้าถัวไว้ไม่เกิน 2 รอบ ถ้ามันตกลงไปอีก ผมจะจำกัด Downside เรื่องเงินขาดทุน ว่าจะขาดทุนได้สูงสุดเท่านี้จริงๆ จะไม่ขาดทุนมากกว่านี้แล้ว ถ้าตกไปหนักกว่าจุดที่ตั้งใจไว้ ก็จะไม่มีการซื้อเพิ่มครับ หรือตกลงมาไม่ถึงก็ไม่ซื้อเพิ่มเหมือนกัน

เพราะโดยปกติแล้ว การถัวหุ้นมันอันตรายจริงๆครับ ไม่จำเป็นอย่าไปทำมันสุ่มสี่สุ่มห้าครับ