ความเสี่ยง (risks)

นอกจากผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายแล้ว อีกด้านของสามเหลี่ยมในการลงทุนก็คือ ความเสี่ยง (risks) ซึ่งไอ้คำว่า ความเสี่ยง เนี่ย เป็นปัญหาในวงการเงินอย่างมาก ผมถือตามคำอธิบายของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ว่า ความเสี่ยง คือ ความไม่รู้ ซึ่งเพราะคุณไม่รู้ว่าความเสี่ยงของสิ่งที่คุณกำลังจะลงทุนมันคืออะไร ทำให้ความเสียหายที่ได้รับมันสูงมาก เพราะแม้จะเป็นการลงทุนที่ดูเหมือนจะเสี่ยงสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าคุณเข้าใจมันดี คุณจะมีวิธีการลงทุนพร้อมวินัยที่จะรับมือกับมันได้ ความเสี่ยงที่สำคัญมาก ๆ ของคนส่วนใหญ่ คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่คิดว่าตัวเองรู้ แต่จริง ๆ แล้วตัวเองไม่รู้ครับ เพราะมันจะพาไปเจ๊งได้ง่ายที่สุด

นอกจากนี้ความเสี่ยงที่คุณพึงระวังไว้ คือ ความเสี่ยงที่จะทำให้เราสูญเสียเงินไปทั้งหมด ในการลงทุน เงินต้นหรือทุน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน ! ซึ่งอย่าขาดทุนในที่นี้คือ อย่าขาดทุนจนเงินต้นสูญหมดในระยะยาวครับ เพราะการลงทุนบางอย่าง เช่น คุณลงทุนในหุ้นระยะยาว คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่ในระยะสั้น เงินลงทุนของคุณจะผันผวน ขาดทุนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ บ้าง ข้อนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี บางคนลงทุนในกองทุนหุ้น 10,000 บาท ผ่านไป 2 สัปดาห์เงินต้นขาดทุนไป 500 บาทก็ไม่เอาแล้ว ขายทิ้ง การขาดทุนแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมพูดถึงนะครับ เพราะระยะเวลาในการลงทุนช่วงหนึ่ง คุณต้องมีเงินลงทุนที่มูลค่าลดลงอยู่แล้วล่ะ ถ้าหุ้นมันตก แต่ในระยะยาวตลาดหุ้นควรจะให้ผลตอบแทนคาดหวังที่เป็นบวก ถ้าคุณถือครองไปเกิน 10-15 ปีได้ อันนี้ล่ะครับ ระยะยาวมันไม่ขาดทุน เพราะฉะนั้น ถ้าคุณลงทุนในหุ้นระยะยาว คุณจะไม่เสี่ยง ซึ่งสิ่งนี้ต้องเกิดจากความเข้าใจ และมีทัศนคติคุมไปตลอดระยะเวลาที่จะลงทุน ผ่านตลาดหุ้นตก หุ้นขึ้น ให้ได้

หากแต่ความเสี่ยงสำคัญในการลงทุนหุ้น (เช่น ลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น) จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ ความเสี่ยงระดับตลาด (market risk) กับความเสี่ยงอื่นที่ไม่ใช่ความเสี่ยงตลาด ว่าแต่ Market Risk คืออะไร

ความเสี่ยงระดับตลาด เป็นความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทนั้นในระดับภาพรวมทั้งหมดครับ เช่น ความเสี่ยงระดับตลาดของหุ้น ก็คือ ความเสี่ยงที่หุ้นทั้งตลาดจะต้องแบกรับ พูดให้เข้าใจง่าย ก็คือ ถ้าคุณถือหุ้นทั้งตลาด ไอ้การที่หุ้นตกเนี่ย คุณก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงที่หุ้นมันตก แล้วมูลค่าความมั่งคั่งของคุณลดลง ซึ่งเราอาจจะพูดได้อีกทางว่า มันเป็นความเสี่ยงระดับกว้างของการลงทุนหุ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ลงทุนในหุ้นจะหลีกหนีความเสี่ยงระดับตลาดของหุ้นไม่ได้ เป็นความเสี่ยงที่ขจัดไม่ได้ ต้องยอมรับมัน ถ้าอยากจะถือหุ้น

ในขณะที่ความเสี่ยงอื่นที่ไม่ใช่ความเสี่ยงตลาด ผมจะเรียกมันว่า ความเสี่ยงที่คุณเลือกที่จะแบกรับเอง เพราะจริง ๆ แล้วคุณสามารถเลือกขจัดมันทิ้งไปได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ความเสี่ยงของหุ้นหรือหลักทรัพย์รายตัว (the risk of selecting specific securities) ก็เข้าใจง่าย ๆ เลย คุณไม่ลงทุนในหุ้นทั้งตลาด คุณเลือกหุ้นเป็นรายตัว เพราะฉะนั้นมันจะเกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมา ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปลงทุนในหุ้นอะไร ความเสี่ยงพวกนี้จะหลากหลาย เช่น บริษัททำยอดขายได้ตกฮวบฮาบ ขาดทุน บริษัทเจ๊งล้มละลาย ผู้บริหารของบริษัทลาออก ฯลฯ
  • ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม (sectors risk) อันนี้ลองนึกภาพนักลงทุนที่ชอบซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เขาคิดว่ามันร้อนแรง และจะทำผลตอบแทนในอนาคตได้มาก จึงเลือกจะ bet กับอุตสาหกรรมเดียว หรือลงทุนในไม่กี่อุตสาหกรรม เช่น health care, aging, IT, oil, premium brands, digital นักลงทุนก็จะแบกรับความเสี่ยงเฉพาะ เช่น ถ้าลงทุนในหุ้นอุตสาหกรรมสุขภาพอย่างเดียว นักลงทุนก็จะต้องเจอความเสี่ยงของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น เรื่องของใบอนุญาต เรื่องของนโยบายของรัฐ เรื่องของการแข่งขัน เรื่องของอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวว่าจะดีหรือแย่

นอกจากนี้ นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น นักลงทุนยังต้องแบกรับความเสี่ยงอีก ถ้านักลงทุนลงทุนในกองทุนแบบบริหารเชิงรุก (active funds) ได้แก่

  • manager risk  อันนี้ก็คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากผู้จัดการกองทุน หรือความเสี่ยงจากสไตล์การลงทุนที่เปลี่ยนไปของกองทุนแอ็คทีฟที่คุณเลือกลงทุน เช่น ผู้จัดการกองทุนคนนี้ถูกย้าย หรือ ผู้จัดการกองทุนกองนี้ฝีมือห่วยมาก ๆ (ซึ่งเราจะรู้ในอนาคต) หรือผู้จัดการกองทุนและบลจ.ที่บริหารกองทุนนี้เปลี่ยนสไตล์ลงทุน หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้บริหารกองทุนลาออก ไปตั้งบริษัทใหม่ หรือถูกซื้อตัวยกทีม ความเสี่ยงพวกนี้ถือว่านักลงทุนจะต้องแบกรับ ถ้านักลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนแบบ active
  • style drift อันนี้เป็นความเสี่ยงประเภทที่ว่า การที่เราไปลงทุนในกองทุน active นั้น ถ้าผู้จัดการกองทุนหรือบลจ.ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเคยเชื่อ มันจะส่งผลกระทบมาก เพราะนักลงทุนเองจะสูญเสียการควบคุมพอร์ตลงทุนบางอย่าง เช่น พอร์ตจัดสรรสินทรัพย์ของคุณจะเบี่ยง เพราะสมมติถ้าคุณแบ่งเงินลงทุน 100% เป็นหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% แต่คุณลงทุนกองทุนหุ้นแบบเชิงรุก ซึ่งปกติเขาจะถือเงินสดไว้จับจังหวะลงทุน ทำให้สัดส่วนหุ้นที่คุณต้องการลงทุน 50% มันไม่ถึง 50% ครับ การจะลงทุนให้ได้สัดส่วนหุ้นเป๊ะ คุณควรจะต้องเลือกกองทุนดัชนีหุ้นและหลีกเลี่ยงกองทุน active ซะ หรืออีกกรณีคือคุณวางแผนว่ากองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นแบบที่คุณถูกใจ แต่พอเปลี่ยนแนวลงทุน สไตล์ที่คุณวางไว้มันก็เปลี่ยน พอร์ตลงทุนในภาพรวมของคุณก็จะเพี้ยนไปเลย สมมติว่า คุณบอกคุณจะซื้อกองทุนเชิงรุกที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (mid-small cap) แต่คุณจะสังเกตได้ว่าในหนังสือชี้ชวนมักจะเปิดช่องว่า ไม่เป็นการห้ามให้ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ถ้าผู้จัดการกองทุนเห็นว่า หุ้นขนาดใหญ่จะให้ผลตอบแทนดีกว่า แบบนี้สไตล์ลงทุนของภาพรวมทั้งหมดของคุณก็เปลี่ยนแล้ว นี่ล่ะครับสไตล์ดริ๊ฟต์

จะเห็นได้ว่า แค่แบกรับความเสี่ยงแบบตลาด (market risk) อย่างเดียวก็ถือว่าหนักแล้ว การจะเพิ่มความเสี่ยงอย่างอื่นนั้น บางทีก็ไม่จำเป็นเลย เผลอ ๆ จะทำให้แบกรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยที่ผลตอบแทนระยะยาวแย่ลงไปอีก (พบได้บ่อยสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น ซื้อกองทุน active ที่ปรากฏว่าผลตอบแทนระยะยาวในอนาคตต่อไปจะแย่มาก ๆ)

การลงทุนที่จะจำกัดให้คุณแบกรับแค่ภาระความเสี่ยงจากตลาด ก็คือ กองทุนดัชนี (index funds) ครับ กองทุนดัชนีจะกำจัดความเสี่ยงประเภทหุ้นรายตัว (individual stocks risk) ความเสี่ยงอุตสาหกรรม (market sectors risk) กำจัดความเสี่ยงจากผู้จัดการกองทุน (risk of manager selection) และหมดปัญหาเรื่อง style drift ความเสี่ยงอย่างเดียวที่เหลืออยู่คือ ความเสี่ยงตลาด (market risk) ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้ว

ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง การถือครองกองทุนดัชนีที่ถือหุ้นทั้งหมด (เกือบทั้งตลาดหุ้น) เป็นกลยุทธ์ที่ลดความเสี่ยงลงอย่างมาก เพราะแทนที่จะแบกรับความเสี่ยง 5-6 ประเภทความเสี่ยง คุณก็จะเหลือแค่ความเสี่ยงเดียว คือ ความเสี่ยงจากตลาด ซึ่งตรงนี้วิธีลดความเสี่ยงลงไปอีก เราอาจจะอาศัยการผสมสินทรัพย์ลงทุน ด้วยการจัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่ง ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือ อสังหาริมทรัพย์ ครับ¹

โดยสรุป

ความเสี่ยงทั้งหมดที่อธิบายมา จริง ๆ แล้วนักลงทุนแบกรับแค่ความเสี่ยงระดับตลาด (market risk) ก็พอแล้วครับ และวิธีที่จะกำจัดความเสี่ยงอื่นได้อย่างดี คือ การลงทุนในกองทุนดัชนีแบบคลาสสิก กองทุนดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีแท้ ๆ ของตลาดหุ้น (พวกดัชนีที่ลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดหุ้น เป็นดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักตลาด ถ้าหุ้นไทยก็ ดัชนี SET, SET50, SET100 นั่นล่ะครับ) ถ้าพิจารณาในแง่ความเสี่ยง กองทุนดัชนี น่าจะเป็นกองทุนเดียวที่สามารถถือครองได้ระยะยาวแบบสบายใจ เพราะว่า

  1. มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพออย่างมาก เพราะได้ถือครองหุ้นเกือบทั้งตลาด หรือไม่ก็น้ำหนักเกือบ 75-90% ของตลาดหุ้นโดยรวม และการถือครองหุ้นเป็นตะกร้าแบบนี้ ทำให้กำจัดความเสี่ยงหุ้นรายตัว (individual stock risk) อย่างหมดจด
  2. นอกจากความเสี่ยงจากหุ้นรายตัวจะหมดไป ความเสี่ยงจากผู้จัดการกองทุน ความเสี่ยงจาก style drift รวมไปถึงความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมก็จะหายไปด้วย จะเหลือไว้ก็แค่ความเสี่ยงระดับตลาดเท่านั้น
  3. กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ก็จะทำให้เราได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดหุ้นมากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ความเสี่ยงเดียวที่นักลงทุนส่วนใหญ่ควรจะแบกรับจึงมีเพียง market risk และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอื่น ๆ ซื้อกองทุนดัชนี ที่ถือหุ้นทั้งตลาด (และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด) ดูน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีครับ

“It’s bad enough that you have to take market risk…, avoid the problem — buy a well-run index fund and own the whole market.” – William Bernstein


¹ จริง ๆ มีประเด็นความเสี่ยงหนึ่ง คือเรื่องของความเสี่ยงจากเวลา (horizon time) คือ ถ้าเราลงทุนในระยะเวลานาน ๆ จริง ๆ สินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่น หุ้น เพราะสินทรัพย์พวกตราสารหนี้จะถูกเงินเฟ้อกัดกินและทำให้มันไม่สามารถรักษาอำนาจซื้อ (purchasing power) ให้เราได้ แต่ประเด็นนี้ไว้จะเขียนในบทความอื่นต่อไปครับ

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s