กองทุนดัชนี คืออะไร

กองทุนดัชนี (Index Funds) ก็คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี หรือพูดอีกอย่าง มันก็คือกองทุนที่ลงทุนโดยพยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีที่มันลงทุนตามครับ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะมีการจัดทำดัชนีที่เรียกว่า SET50 Index (หุ้น 50 ตัวที่ใหญ่ที่สุดของตลาดโดยมีเงื่อนไขอื่นอีกนิดหน่อย) ถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายลงทุนโดยเลียนแบบ SET50 เพื่อที่จะให้ผลตอบแทนเท่ากับดัชนีนี้ กองทุนก็จะต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่ถูกนำมาคำนวณดัชนี ซึ่งกรณีปกตินั้นก็จะต้องลงทุนในหุ้น 50 ตัวดังกล่าว ดังนั้นไม่ว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวอย่างไร หุ้นตกหุ้นขึ้น โดยปกติกองทุนเหล่านี้ก็จะต้องเคลื่อนไหวไปตามนั้นด้วย กำไรขาดทุนเหมือนกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์สูงสุดคือ เลียนแบบผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด พวกมันจึงจะต้องลงทุนตลอดเวลาเต็มอัตรา (Fully Invested) แต่เรื่องจริงก็อาจจะต้องถือเงินสดนิดหน่อยไว้สำหรับคืนเงินให้คนที่ขายกองทุนครับ เราจะเห็นว่ากลยุทธ์ลงทุนของกองทุนดัชนีนั้น “เรียบง่าย” กองทุนจะทำการซื้อหลักทรัพย์(เช่น หุ้น)ที่ประกอบเป็นดัชนีแล้วก็ถือลงทุนไปเรื่อยๆ—Simply buy and hold the securities in a particular index

กองทุนดัชนีนั้นไม่ได้มีแค่กองทุนที่ลงทุนในดัชนีหุ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใด ถ้ามันมีดัชนีที่สามารถลงทุนตามได้ กองทุนดัชนีก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นนอกจากกองทุนหุ้นแล้ว ก็จะมีกองทุนดัชนีตราสารหนี้, กองทุนดัชนีอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ที่ฮิตสุดคือกองทุนดัชนีหุ้นครับ ที่ดังๆระดับโลก ก็เช่น กองทุนดัชนี S&P500 Index ของสหรัฐ, กองทุนดัชนี Nikkei225 ของญี่ปุ่น, หรือกองทุนดัชนี Euro Stoxx600 ของยุโรป เป็นต้น

กองทุนดัชนีนั้นจะไม่มีการพยายามทำผลตอบแทนให้เกินดัชนีที่มันเลียนแบบ ไม่มีการพยายามหาหลักทรัพย์ที่ชนะในอนาคต ดัชนีประกอบด้วยหุ้นอะไรก็จะต้องซื้อและถือไปตามนั้น มันจะต้องมั่นคงในนโยบาย และเพราะเหตุนี้มันไม่ต้องจ้างนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนเป็นโหลๆมานั่งวิเคราะห์ให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายของกองทุนดัชนีจึง ต่ำกว่า กองทุนที่จ้างผู้จัดการกองทุนมาหาผลตอบแทนให้ได้สูงกว่าดัชนีชี้วัด (Actively Managed or Active Funds) และเพราะเหตุนี้ในเมื่อมันพยายามเลียนแบบดัชนี ผลตอบแทนรวมที่มันจะได้ก็จะต้องเท่ากับดัชนีดังกล่าวเป็นผลตอบแทนขั้นต้น (Gross Return) แต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้จริงๆจะต้องหัก ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม เหลือเป็นผลตอบแทนสุทธิ (Net Return) ดังนั้นวิธีเลือกกองทุนดัชนีที่ลงทุนในดัชนีเดียวกัน ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด ตัวเดียวที่จะทำให้ผลตอบแทนคุณหายไปคือค่าใช้จ่าย ดังนั้นจงเลือก กองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด (Lowest-cost) เพราะฉะนั้นเวลาลงทุนคุณต้องเอาไป 2 อย่าง คือ กองทุนดัชนี และกองทุนดัชนีนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดด้วย



ข้อดีของกองทุนดัชนี

(1) ค่าใช้จ่าย—Costs

นี่คือข้อดีที่สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมสุดๆในการลงทุน คือ โดยปกตินั้นกองทุนดัชนีจะมี “ค่าใช้จ่ายรวม” ที่ถูกและต่ำกว่ากองทุนแบบบริหารทั้งหลาย และในวงการลงทุนนั้น เพียงแค่คุณไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เงินที่ประหยัดได้ก็คือผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ ในการลงทุนนั้นการไม่จ่ายออกไปคือการได้รับกลับมาครับ คุณอย่าไปเชื่อการกล่าวอ้างของกองทุนรวมที่คิดค่าใช้จ่ายแพงๆ ยิ่งค่าใช้จ่ายเยอะเท่าไหร่ มันยิ่งกลืนกินผลตอบแทนที่คุณจะได้รับในอนาคต  ในวงการลงทุนนั้น Cost is Matter สิ่งที่ส่งผลกระทบมากอันดับต้นๆต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้คือ “ค่าใช้จ่าย” ครับ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องค่าใช้จ่าย — ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม, ผลกระทบจากค่าใช้จ่าย

(2) ผลตอบแทน—Returns

เนื่องจากกองทุนพยายามเลียนแบบดัชนีชี้วัด เพราะฉะนั้นในระยะยาวผลตอบแทนคุณก็ควรจะใกล้เคียงผลตอบแทนของดัชนีดังกล่าวครับ เช่น กองทุนที่เลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็ควรจะได้ผลตอบแทนระยะยาวเท่ากับตลาดหุ้นไทย(ซึ่งจะมาจากส่วนต่างราคาและเงินปันผลทบต้น) แต่คุณอาจจะได้น้อยกว่าเพราะดัชนีนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายแต่กองทุนนั้นมี แต่เชื่อไหมครับระยะยาวนั้นผลตอบแทนของดัชนีกลับสูงกว่าผลตอบแทนของกองทุนบริหารหรือแม้กระทั่งผลตอบแทนของนักลงทุนที่ลงทุนเอง ยิ่งระยะเวลานานเท่าไหร่ยิ่งมีกองทุนรวมแบบบริหารน้อยมากที่จะทำผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุนดัชนีและมากกว่าอย่างสม่ำเสมอ ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีจึงไม่ใช่ผลตอบแทนของค่าเฉลี่ยแต่กลายเป็นผลตอบแทนที่มากกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นไม่ว่าจะรายย่อยหรือสถาบัน และคุณยังได้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีอย่างมาก เนื่องจากอย่างที่บอก ว่าปกติกองทุนดัชนีจะลงทุนเต็มอัตราจึงไม่มีผลตอบแทนที่หายไปจากการถือเงินสดไว้ (no cash-drag) ในขณะที่กองทุนแบบบริหารพยายามที่จะจับจังหวะลงทุน พวกเขาจึงต้องถือเงินสดไว้บางส่วนตลอดเวลา ในระยะยาวผลตอบแทนก็จะลดน้อยลงไปอีกจากต้นทุนการถือเงินสด ซึ่งแทบจะไม่มีผลตอบแทนหรือผลตอบแทนน้อยกว่าการถือหุ้น(หรือหลักทรัพย์)อย่างมาก

(3) ความเสี่ยง—Risks

กองทุนดัชนีเป็นกองทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างดี (well-diversified) เนื่องจากปกติดัชนีจะประกอบด้วยหลักทรัพย์จำนวนมาก ทำให้กองทุนลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัว เช่น อาจจะลงทุนในหุ้น 50-100 ตัว ความเสี่ยงจึงถูกกระจายออกไป ความเสี่ยงเดียวที่จะเหลืออยู่คือความเสี่ยงที่เท่ากับตลาด นั่นคือถ้าดัชนีตกลงมา กองทุนดัชนีของคุณก็จะขาดทุนตามนั้น แต่ความเสี่ยงประเภทถือหลักทรัพย์หรือหุ้นไม่กี่ตัวแล้วมันมีปัญหาจนกระทบเงินทั้งหมดอย่างหนักจะไม่เกิดขึ้นเพราะแต่ละตัวจะมีน้ำหนักลงทุนไม่มากเมื่อเทียบกับทั้งพอร์ตกองทุนรวม

ความเสี่ยงอีกอย่างที่กองทุนดัชนีกำจัดทิ้งได้ คือ Management-Risk จะไม่มีการเปลี่ยนนโยบายลงทุน เปลี่ยนผู้จัดการกองทุน หรือฝีมือของกองทุนหดหายลงด้วยสาเหตุใด เพราะกองทุนดัชนีมีโนบายลงทุนคงที่ตลอดเวลา (consistent strategy) มันต้องเลียนแบบดัชนีไปเรื่อยๆครับ หมดปัญหาความเสี่ยงว่าวันดีคืนดีกองทุนจะเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์อื่นลงทุนหรือความไม่เสถียรจากฝีมือใดๆ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องความเสี่ยง — ความเสี่ยง (risks)

(4) เวลา—Time

อันนี้เป็นการผสานกันของข้อดีข้างบนจนได้ตัวนี้ครับ เนื่องจากกองทุนดัชนีมีค่าใช้จ่ายรวมที่ต่ำทำให้ผลตอบแทนในอนาคตหลังหักค่าใช้จ่ายจะใกล้เคียงกับผลตอบแทนตลาดหุ้น และจากงานวิจัยจำนวนมาก ก็พบว่าผลตอบแทนของพวกมันมากกว่ากองทุนแบบบริหารทั้งหลาย อีกทั้งนโยบายการลงทุนก็คงที่ ทำให้มันเหมาะอย่างมากที่จะลงทุนระยะยาวโดยได้รับผลตอบแทนทบต้นตามที่ควรจะเป็นของสินทรัพย์ดังกล่าว คุณจึงสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือในการลงทุนเป็นแกนหลักของพอร์ตลงทุนระยะยาว (Core; Long-Term investment)

เนื่องจากมันเลียนแบบดัชนี คุณจึงไม่มีภาระหน้าที่หรือต้องใช้เวลามากมานั่งติดตามว่ากองทุนจะลงทุนอะไร กองทุนจะไปทำอะไรแปลกๆหรือเปล่า อีกทั้งการติดตามก็ทำได้ง่าย เพราะมันเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด ถ้าสมมติตลาดหุ้นตกหนัก คุณอนุมานได้เลยว่ากองทุนของคุณต้องตกลงมาพอกัน ก็สามารถลงทุนเพิ่มได้ และรูปแบบของกองทุนดัชนีก็เป็นการลงทุนที่ “เรียบง่าย” คุณจึงสามารถนำเวลาอันมีค่าไปทำอย่างอื่นที่สำคัญในชีวิตได้โดยไม่ต้องมานั่งติดตามอะไรมันมาก แค่ทำตามวินัยและอดทนตามแผนลงทุนที่กำหนดไว้พอ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ คุณสามารถจัดพอร์ตลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยใช้กองทุนดัชนีกับทุกสินทรัพย์ที่เราลงทุน เช่น กองทุนดัชนีหุ้น, กองทุนดัชนีตราสารหนี้ โดยไม่ต้องมีความเสี่ยงจากการหักเหผลตอบแทน(เพราะไม่ใช่กองทุนบริหารที่ต้องขึ้นอยู่กับฝีมือ) ดังนั้นคุณสามารถสร้างตะกร้าลงทุนที่ได้ผลตอบแทนแท้ๆ(รวมถึงความเสี่ยงด้วย) จากการผสมกันของทรัพย์สินต่างๆอย่างใกล้เคียงที่สุดครับ


ข้อเสียของกองทุนดัชนี

กองทุนดัชนีมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย ข้อด้อยครับ คือ อย่างแรก “มันน่าเบื่อ” คุณจะไปพูดคุยความหวือหวาไม่ได้เลย เพราะมันก็เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติของผลตอบแทนหุ้นครับ, ไม่มีการลงทุนร้อนแรง (แต่ระยะยาวพวกนี้กลับเป็นข้อดีนะครับ) และคุณจะไม่สามารถอ้างได้ว่าได้ถือกองทุนที่ผลตอบแทนดีเยี่ยมที่สุด เพราะทุกช่วงเวลาจะมีกองทุนร้อนแรงหรือกองทุนดาวรุ่งที่ทำผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุนดัชนีอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติครับ แต่การจะหาว่าใครจะชนะกองทุนดัชนีในอีก 20-40 ปีข้างหน้า คุณจะตอบไม่ได้เลย มันจึงเป็นความฉูดฉาดในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะในโลกของกองทุนรวมนั้นการพยายามหากองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุดมักจะนำไปสู่ผลตอบแทนต่ำๆในอนาคตครับ (Searching for superior active funds is an inferior strategy.—Richard A. Ferri)

ข้อเสียต่อมาคือ เนื่องจากมันถือสินทรัพย์ตลอดเวลา เวลาดัชนีดังกล่าวตกหรือร่วงแรงมันก็จะตกลงมาด้วยพอๆกัน จึงไม่เหมือนกองทุนแบบบริหารที่อาจจะถือเงินสดลดแรงกระแทกได้ แต่จะบอกว่าในระยะยาวกลยุทธ์ถือเงินสดของกองทุนดังว่านั้นไม่สามารถสร้างผลตอบแทนสูงๆในระยะยาวได้หรอกครับ เพราะพวกเขามักจะจับจังหวะช้าไปหนึ่งจังหวะ มันเหมือนการทอยเหรียญ คุณต้องถือเงินสดคือทายถูกว่าตลาดหุ้นจะร่วงไปอีก และคุณต้องทายถูกอีกรอบว่าคุณจะต้องกลับมาซื้อตอนไหน เพราะถ้าตลาดฟื้นขึ้นมา แล้วกองทุนบริหารไม่มีหุ้น ผลตอบแทนก็จะถูกหักล้างและน้อยลงไปเอง (ซึ่งจากงานวิจัยในต่างประเทศรวมถึงจากในอดีตของไทย ปกติพวกเขาก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว)


สำหรับนักลงทุนทั่วไปนั้น กองทุนดัชนีค่อนข้างเป็นตัวเลือกที่ดีลำดับต้นๆในการลงทุนแล้วครับ Warren Buffett ซึ่งเป็นนักลงทุนเอกคนหนึ่งของโลกได้แนะนำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ระยะยาวการลงทุนในกองทุนประเภทนี้จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่านักลงทุนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยด้วยกันหรือแม้กระทั่งมากกว่านักลงทุนสถาบันผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายครับ

“Let me add a few thoughts about your own investments. Most investors, both institutional and individual, will find that the best way to own common stocks is through an index fund that charges minimal fees. Those following this path are sure to beat the net results (after fees and expenses) delivered by the great majority of investment professionals.” — Buffett, 1996 letter to shareholders


บทความอ่านประกอบเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s