บทความนี้เรามาคุยกันถึงกองทุนพักเงินที่เรียกว่า “กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น”—Short term Bond กันดีกว่า พิเศษหน่อยคือผมจะพูดถึงกองทุนพวกนี้ที่ผมลงทุนเองอยู่และประสบการณ์ที่ผ่านมาปี คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ก็คือ กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร ตั๋วแลกเงิน ฯลฯ โดยมีอายุตราสารเฉลี่ยประมาณ 1-1.5 ปี ตราสารพวกนี้ก็จะหมดอายุแล้วก็คืนเงินต้น ปกติจะดำรงรักษา duration ของพอร์ตที่เฉลี่ยประมาณไม่เกิน 1.0-1.5 มันก็คล้าย ๆ กองทุนตลาดเงิน (Money Market—MMF) เวอร์ชั่นพัฒนาขึ้นมานั่นเองครับ แต่จริงๆมันคือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ทำให้ขายแล้วได้เงินวันถัดไป (T+1) อาจจะเรียกมันว่า กองทุนตราสารหนี้ที่ซื้อขายได้ทุกวันและ(ทำให้)มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับ MMF — Daily Fixed (DF) คือ กองทุนนี้มักจะลงทุนแกนกลางกึ่ง ๆ MMF แต่จะมีการผสมตราสารหนี้อายุยาวขึ้นมาลงไปนิดหน่อย ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากปกติ หรืออาจจะเปิดโอกาสให้ไปลงทุนตราสารหนี้ที่กว้างขวางขึ้น เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศ แต่ก็ยังคงลักษณะบางอย่างของ MMF เอาไว้ เช่น ยังเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง ยังเป็นกองทุนที่ขายวันนี้ได้รับเงินวันทำการถัดไป (T+1) ส่วนตัวผมเลิกเก็บเงินในบัญชีออมทรัพย์ไปนานมากแล้ว และเปลี่ยนมาใช้กองทุนพวกนี้เพื่อพักเงินระหว่างที่ยังไม่ได้ทำอะไรแทน ทุกวันนี้พอได้เงิน ผมก็จะค้างไว้ในบัญชีไม่เกิน 10,000 บาท ที่เหลือจะเอาไปซื้อกองทุนพวกนี้หมด ดังนั้น วัตถุประสงค์ ในการลงทุนของกองทุนพวกนี้คือ
- ไว้พักเงินสภาพคล่อง เช่น เงินเดือนส่วนที่หักไว้เป็นเงินออม, รอซื้อสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น
- เก็บไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในระยะเวลาใกล้ๆ เช่น ค่าเทอม
- เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน
- เป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตลงทุนระยะยาว แต่ไม่ควรเกิน 20% มีไว้เป็นสภาพคล่องเฉย ๆ
สมัยแรก ๆ ผมใช้วิธีทั่วไปคือก็ดูเว็บไซต์เปรียบเทียบผลตอบแทน กองไหนดีก็ไปเปิดบัญชีกับที่นั่น เนื่องจากผมมีบัญชีธนาคารครบเกือบทุกธนาคารจึงอิสระมาก ๆ เรียกว่ามีบัญชีกองทุนทุกที่ และสมัยก่อนเป็นนักศึกษาจึงมีเวลาสำหรับการไปฝากไปโอนเงิน คนส่วนใหญ่ถ้ามาเปิดกองทุนพักเงินตอนทำงานแล้วก็มักจะหนีไม่ค่อยพ้น กองทุนในเครือธนาคารที่ตนรับเงินเดือนหรือไปทำธุรกรรมได้สะดวก แต่กองทุนพวกนี้จริง ๆ แล้วมันมีอะไรซับซ้อนนะครับ แม้มันจะดูเหมือน ๆ กันก็เถอะ หลายเจ้ามักจะมีกองทุนตลาดเงินกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นพวกนี้รวมกันประมาณ 2-3 กอง ถ้าแบ่งแบบง่าย ๆ ก็คือ กองที่เน้นปลอดภัย ลงทุนแต่ตราสารการเงินที่รัฐบาลออกและค้ำประกัน กับ กองที่ยังปลอดภัยแต่ผสมอะไรให้มันผลตอบแทนดีขึ้น เช่น ใส่เงินฝาก ใส่ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ลงไปบ้าง อย่างที่บอกสมัยก่อนผมลงทุนโดยดูผลตอบแทนเป็นหลัก แต่หลัง ๆ นี้เรื่องกลับเปลี่ยนไป พอศึกษามากขึ้น ผมกลับสังเกตว่า พอร์ตลงทุนของกองทุนพวกนี้ไม่ค่อยแตกต่างกันหรอก ผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่กองทุนถือมันก็ใกล้เคียงกัน ตัวที่จะวัดว่าใครผลตอบแทนดีไม่ดีคืออะไรรู้ไหมครับ มันก็คือ “ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี” นั่นเอง สมมติว่าเฉลี่ยแล้วกองทุนพวกนี้ถือตราสารทั้งหมดแล้วให้ผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ย 3% ต่อปีเท่ากัน ซึ่งมันควรจะเป็นผลตอบแทนของคุณทั้งหมด แต่ด้วย range หรือช่วงกว้างของค่าใช้จ่ายที่แต่ละเจ้าเรียกเก็บ มีตั้งแต่ 0.2 – 1.0% ต่อปี นั่นคือ คุณจะได้ผลตอบแทนทั้งปี 2.0% – 2.8% ต่อปี เนื่องจากโดนชาร์จค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน สำหรับกองทุนพวกนี้แล้ว ฝีมือของผู้จัดการกองทุนส่งผลน้อยมาก ๆ เพราะท้ายที่สุดจะไปโดนค่าใช้จ่ายรวมกัดกินผลตอบแทนส่วนเกินกันหมด กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะวัดว่าผลตอบแทนสุดท้ายคุณจะได้เท่าไหร่ จึงนำมาสู่แนวทางลงทุนของผม หลักสำคัญคือดู นโยบายลงทุน คู่ไปกับ ค่าใช้จ่ายกองทุน โดยให้น้ำหนักตัวหลังเยอะกว่า
ผมลองพาเดินทัวร์ทำความรู้จักกองทุนประเภทนี้ของแต่ละบลจ.หลัก ๆ ดีกว่าครับ (บางกองอาจถูกจัดเป็นกองทุนตลาดเงินได้นะครับ แต่ผมว่ามันเป็นกองตราสารหนี้ระยะสั้นมากกว่า อิงเกณฑ์ตาม Morningstar เป็นหลัก) โดยจะคัดมาแต่กองทุนที่ค่าใช้จ่ายรวมต่ำ ๆ ประมาณไม่เกิน 0.40% ต่อปีครับ เพราะฉะนั้นหลายค่ายหลายกองจะหายไปทันที (จริง ๆ แล้วมันมีกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเยอะนะครับ เช่น K-SF/K-SFPLUS ของ K-Asset หรือ TMBUSB ของ TMBAM เป็นต้น) ทั้งนี้สภาพคล่องต้องดีต้องขายแล้วได้เงินวันทำการถัดไปด้วย (T+1)
ชื่อบริษัทจัดการ—ชื่อกองทุน—ค่าใช้จ่ายรวมต่อปี
- KTAM— KT-ST —0.30% (ต้องซื้อกับบลจ.โดยตรง)
- KTAM— KTSTPLUS —0.30%
- KTAM— KTPLUS —0.38%
- KSAM— KFSMART —0.39%
ปล. ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนและรายงานประจำปีผสมกัน แก้ไขปรับปรุง ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2560
วิธีเลือกกองพวกนี้ในปัจจุบันของผม จึงสรุปได้เรียงตามลำดับ คือ
1. เลือกที่มีค่าใช้จ่ายรวมต่อปีต่ำสุด (ถ้าเป็นไปได้)
2. ถ้าผลตอบแทนไม่ต่างกัน เลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก (แต่ส่วนตัวเห็นว่า กองทุนพวกนี้นโยบายลงทุนมักจะอนุรักษ์นิยมพอสมควรครับ ไม่มีใครอยากเสียชื่อเสียงเรื่องบริหารกองทุนตราสารหนี้ผิดพลาด ลองดูพวกตราสารที่ลงทุนก็ได้ครับ ถ้าคงระดับเรตติ้งที่ A มาก ๆ เป็นส่วนใหญ่ก็จะปลอดภัยขึ้นมาหน่อย แต่ถ้ามีแต่ BBB+ มาก ๆ อันนี้ควรจะตั้งข้อสงสัยครับ)
3. พิจารณาประเด็นอื่น ๆ เช่น ความสะดวกในการใช้บริการ อาทิ กองทุนของบลจ.กรุงศรี ธนชาต ยูโอบี ฯลฯ มักจะผูกบัญชีธนาคารทั้งตัดเงินและรับเงินได้หลากหลายครับ (ดู บทความนี้ ประกอบ)
ปล. การลงทุนในกองทุนพวกนี้ยังไงก็ยังหลงเหลือความเสี่ยงครับ บทความนี้อธิบายประสบการณ์และการลงทุนส่วนตัวให้ลองไปศึกษาดู แต่ละคนมีแนวทางลงทุนต่างกันครับ และกองทุนพวกนี้ไม่ได้คุ้มครองเงินต้น มีโอกาสจะสูญเงินได้แม้กระทั่งกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลล้วน ๆ (แต่โอกาสน้อยมาก) เพราะฉะนั้นควรลงทุนอะไรที่เราเข้าใจกับมันดีที่สุดครับ