PVD

PVD – กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร ?

ในบรรดาการลงทุนทั้งหมดนั้น การลงทุนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund or PVD) สำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป โดยเฉพาะคนที่เป็นพนักงานเอกชน ผมอยากให้สนใจการลงทุนในกองทุนนี้เป็นสำคัญ เพราะมันคือ การลงทุนที่ดีที่สุด เท่าที่การลงทุนหนึ่งจะมีให้ได้แล้วครับ

คนที่ทำงานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักเจ้านี่พอสมควร เพราะโดนหักเงินกันทุกเดือน และหลายคนก็จะวุ่นวายใจกับมันมากเพราะโดนมันหักเงินไป แทนที่จะได้เงินเดือนเต็ม ๆ มาใช้ แต่เจ้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ผมนับว่าเป็นการลงทุนที่ดีมาก ๆ ถ้าเทียบเป็นไพ่ป๊อกเก้าก็ 3 เด้งเลยทีเดียวครับ

หลักการของมันก็คือ สมมติเงินเดือนเรามี 100% กองทุนนี้มันจะหักเงินเราไปลงทุนเลยตั้งแต่ก่อนจ่ายเงินเดือนให้ บางบริษัทอาจจะหัก 5% บางบริษัท 10% ซึ่งมันทำตัวแบบภาษีครับ คือหักไปก่อนตั้งแต่แรก เรียกว่าเอาไปตั้งแต่ก่อนเราจะเห็นเงินเดือน ทำให้มันเป็นการลงทุนที่ดีเพราะเรา “จ่ายให้ตัวเองก่อนโดยอัตโนมัติทันที” อันนี้คือข้อดีสุด ๆ อย่างหนึ่งของมันครับ

ส่วนสามเด้งที่ผมว่าของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้แก่ ประการแรกนั้น การมีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถ้าลงทุนสินทรัพย์ที่ถูกต้อง ส่วนประการที่สองนั้น จำนวนเงินออมจะเพิ่มมากขึ้นอีกจากการสมทบโดยเงินของนายจ้าง และประการสุดท้าย คือ PVD ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ลองมาดูทีล่ะอันครับ

1. ผลตอบแทน PVD จะสูงถ้าลงทุนถูกต้อง

เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นหักเงินไปลงทุนตั้งเดือนแรก ๆ ที่ทำงาน และมันจะหักไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่คุณยังทำงานอยู่ ทำให้ถ้าเราเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ เช่น ตั้งแต่อายุ 20 ปีต้น ๆ พอไปถึงอายุที่จะนำเงิน PVD มาใช้อย่างสบายก็คือ อายุ 55 ปีตามเงื่อนไข

นั่นเท่ากับว่า ถ้าเรามีเวลาลงทุนสูงสุดได้เกือบ 30 ปี ระยะเวลาที่ลงทุนนานขนาดนั้น เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนในระยะสั้นแต่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ๆ ในระยะยาวอย่างหุ้นได้อย่างสบายใจ เนื่องจากเรามีระยะเวลาในการลงทุนที่นานเกิน 10-20 ปีขึ้นไป ทำให้ผลตอบแทนหุ้นมักจะเป็นบวกเสมอตามสถิติที่ผ่านมา และทำให้เราได้รับผลตอบแทนของหุ้นที่ประมาณ 9-10% ทบต้นต่อปีได้

และเมื่อพูดถึงการลงทุนในหุ้น 100% ล้วนนั้น ผมนึกถึงพาหนะการลงทุน 2 อย่างที่สามารถทำได้ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทั้ง 2 กองทุนนี้ถ้าคุณอายุไม่เกิน 40 ปี ยิ่งคนที่ลงทุนตั้งแต่อายุต่ำกว่า 30 เราสามารถอัดหุ้นเต็มกระสุนได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าอายุไม่มาก แผนการลงทุนที่ดีที่สุดนั้นควรจะเลือกนโยบาย PVD แผนที่ลงทุนในหุ้นเยอะที่สุดครับ

หุ้นในระยะยาวคือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากในระดับ 10% ทบต้นต่อปีได้เลยทีเดียว บนอัตราเร่งเท่านี้ ทุก ๆ 7 ปีเงินจะโตเป็นเท่าตัว 

สาเหตุเพราะอะไรน่ะหรือ? การที่หุ้นขึ้นหุ้นลงรายวัน รายเดือน ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเงินลงทุนระยะยาวเลย เราไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจการขึ้นลงรายปีของหุ้นด้วย เพราะกว่าเราจะขายได้ก็นู่น อายุ 55 ปี

คนที่อายุน้อยแต่เลือกลงทุนในตราสารหนี้ 100% ไปตลอด อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว และแก้ไขไม่ได้ด้วยเมื่อครบอายุ 55 ปีแล้ว

ความมั่งคั่งที่เป็นตัวเงินของคุณที่หายไปอาจจะแตะระดับแปดหลัก อาจมีมูลค่าเกิน 10 ล้านขึ้นยังได้ ซึ่งมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดง่าย ๆ แบบนี้นี่เอง

ลองสมมติตัวอย่างนะครับ ถ้าเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 25 มีเงินเดือนแค่ 20,000 บาท ไม่ปรับขึ้นเลยตลอดชีวิตไปจนถึงอายุ 55 ปี (ชีวิตโหดร้ายมากแต่แบบอยากให้เห็นตัวเลขชัด) ถ้าสมมติคุณเลือกสะสมหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 10% คุณจะมีเงินไปออมเดือนละ 2,000 บาท พออายุ 55 ปี สำหรับคนที่ลงทุนแผนตราสารหนี้ล้วน ระยะยาวผลตอบแทนน่าจะอยู่ที่ 3.5% ทบต้นต่อปี เท่ากับคุณจะมีเงินในตอนนั้น (ไม่รวมส่วนของนายจ้าง) ที่ประมาณ 1,270,000 บาท

ในขณะที่ถ้าคุณเลือกแผนหุ้น 100% ตั้งแต่แรก ๆ แล้วในเวลาเท่ากันได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9% ทบต้นต่อปี เท่ากับคุณจะมีเงินในอนาคตประมาณ 3,666,000 บาท หรือเกือบเท่า 3 เท่าของคนที่อยู่ในแผนตราสารหนี้ล้วน (นับเฉพาะแค่เงินเราอย่างเดียวกันะครับ)

กรณีนายจ้างสมทบให้เท่ากัน (สมมติให้สมทบตามที่คุณหักเต็มจำนวน 100%) คนที่ลงทุนแผนนโยบายตราสารหนี้ลล้วนอาจจะมีเงินออกมาที่ 2-3 ล้านบาท แต่คนที่ลงทุนแผนหุ้น 100% ได้เงินออกมาที่ประมาณ 7 ล้านบาท แค่นี้คุณภาพชีวิตก็ต่างกันมาก ๆ แล้วครับ และยังต้องย้ำอีกว่า นี่คือการสมมติในแบบที่เงินเดือนไม่ขึ้นเลยด้วยนะครับ 30 ปี ถ้าเงินเดือนโตหรือขึ้นอีก ปริมาณเงินที่จะได้รับยิ่งต่างกันมหาศาล

2. ตัวเร่งมูลค่าของ PVD

การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจะมีตัวเร่งการลงทุนและปริมาณเงินหลัก ๆ คือ

I. จำนวนเงินที่เราหักมาสะสม

ปริมาณเงินเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นตัวทวีอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับความมั่งคั่งระยะยาว คนที่หักเงิน PVD แค่ 5% ย่อมไม่เท่าคนหัก 10% หรือบริษัทที่สมทบเงิน 5% ย่อมไม่เท่ากับบริษัทที่สมทบ 10% หรือเลวร้ายที่สุดคือบางคนไม่ยอมหักเงินเข้า PVD เลย หรือบางคนออกจากงานปุ๊บก็เอาไปใช้หมดเลย แบบนี้ก็จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะทำร้ายฐานะทางการเงินในอนาคตมาก ๆ

II. ผลตอบแทนที่ได้รับ

คนที่ลงทุนแผนหุ้นล้วน (ตราสารทุน 100%) ผลตอบแทนย่อมมากกว่าคนที่จมอยู่กับตราสารหนี้หรือตลาดเงินมาก ๆ และอย่างที่ผมบอกเลย ไม่มีอะไรจะพลาดเท่านี้แล้วถ้าตัดสินใจ (หรือไม่ยอมตัดสินใจจนทำให้) ลงทุนแผนตราสารหนี้ลล้วนไปตลอดชีวิตการทำงาน และยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ถ้าไม่ยอมเข้าแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

III. ระยะเวลาในการลงทุน

ยิ่งทำงานไว มีระยะเวลาทำงานนานยิ่งสะสมทบต้นให้เงินโตมหาศาลกว่าครับ ทั้งนี้ต้องปล่อยให้เงินลงทุนโตต่อเนื่อง โดยการที่ไม่ดึงมันมาใช้หรือขายทิ้งนะครับ เวลาออกจากงานเก่าไปงานใหม่

จากที่เคยอ่านบทวิจัยเมื่อนานมาแล้ว เงินก้อนที่ใหญ่ที่สุดที่ลูกจ้างในอเมริกาได้รับมาจาก 401(k) เป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดของพวกเขาจากการทำงาน ซึ่งในไทยนั้น 401(k) ก็คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ค่อนข้างน่าเศร้าครับ ในไทยนั้นผมเคยอ่านบทความสัมภาษณ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเฉลี่ยแล้วลูกจ้างจะออกจากงานไป โดยได้รับเงินก้อนดังกล่างต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเงินพวกนี้ได้รับตอนเกษียณอายุนะครับ คือมันจะเป็นเงินก้อนท้าย ๆ ที่จะเอาไปใช้ชีวิตหลังอายุ 60 ปี

ทว่าตัวเลขที่ลึกลงไปก็คือ เงินที่ต่ำกว่าหนึ่งล้านที่ว่านั้นเป็นจำนวนเงินแค่ 300,000 บาท! หรือสามารถนำเงินไปใช้ได้อีกแค่ 20 ปีหรือใช้ได้แค่เดือนละ 1,300 บาท!!! บนสภาวะที่ราคาของปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุที่ผมคิดว่ามันต่ำขนาดนี้ ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากสาเหตุดังนี้

(1) หักเงินเข้าสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันน้อยเกินไป

(2) เงินที่ลงทุนใน PVD ลงทุนในแผนตราสารหนี้ล้วนทำให้เงินโตไม่ทันเงินเฟ้อ ซึ่งข้อนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ เพราะขณะนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งอุตสาหกรรมมีเงินลงทุนในหุ้นเพียงแค่ 10-15% ส่วนที่เหลือคนเอาเงินไปลงทุนในตราสารหนี้เกือบทั้งหมด

(3) เวลาที่ออกจากงานก็เลือกที่จะขายกองทุนทิ้งหมด ไม่ยอมโอนเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังที่ทำงานใหม่

(4) บริษัทต่าง ๆ ไม่อยากเพิ่มต้นทุนตัวเองเลยสมทบเงินลงทุนต่ำสุดเท่าที่กฎหมายกำหนด

 3. พลังของเงินสมทบจากนายจ้าง

ใครที่ทำงานบริษัทที่จ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ เราจะต้องใช้ประโยชน์ที่ดีที่สุดของมันให้ได้ เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่มีในทุกสินทรัพย์แล้ว เพราะ “มันมีคนทบทวีเงินออมของเราเพิ่มให้ด้วย” เช่น คุณหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5 บาท ถ้าบริษัทสมทบให้ 100% บริษัทจะใส่เงินให้มาอีก 5 บาท ทำให้เงินที่เราจะได้ลงทุนรวมแล้วคือ 10 บาท แถมยังสามารถนำเอา 5 บาทที่ว่าไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก เรียกได้ว่าเป็นโคตรของโคตรดี

เพราะฉะนั้นโปรดจำไว้ว่า เราควรพยายามลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยหักเงินให้เต็มตามอัตราสมทบและเลือกแผนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นมากที่สุด

ยิ่งเรามีระยะเวลาทำงานอีก 30-40 ปี อันเป็นระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้นานมาก ๆ การลงทุนโดยอยู่ในแผนที่มีสัดส่วนลงทุนหุ้น 100% นี่ล่ะที่จะทำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคุณในท้ายที่สุดโตทะยานมหาศาลกว่าคนทั่วไปในรุ่นเดียวกันที่เลือกลงทุนแผนอื่น ๆ อย่างแน่นอน ซึ่งความต่างที่ว่าคือหลักล้านได้เลยทีเดียว

สาเหตุที่มันต่างกันมโหฬารก็เพราะว่า ส่วนที่นายจ้างสมทบเงินให้ (โดยเฉพาะกรณีสมทบเท่ากัน 100% ของเงินที่ถูกหัก) มันจะช่วยเข้ามาทบให้เงินโตเป็น 2 เท่า เช่น บริษัทบางแห่งนั้น หากคุณหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 10% ของเงินเดือน นายจ้างจะสมทบให้เท่ากัน แค่นี้ก็ถือเสมือคุณได้มีเงินไปลงทุนถึง 20% ของเงินเดือนกันไปเลย ความต่างของมูลค่าเงินในอนาคตจึงสูงมากไปตามระยะเวลาลงทุนที่เหลือหรือระยะเวลาทำงานที่เหลือก่อนเกษียณ

ในปัจจุบันนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ถูกปรับปรุงด้วยกฎหมายใหม่ อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถหักเงินได้มากกว่าที่นายจ้างสมทบ เช่น เราสามารถเลือกว่าจะหักเงิน 5-7-9-11-13-15% ของเงินเดือนก็ได้ แม้นโยบายของบริษัทที่เราทำงานจะสมทบเงินให้แค่ 5% ก็ตาม

ทั้งนี้การสมทบเงินของนายจ้างก็ยังอยู่ตามที่บริษัทหรือนายจ้างกำหนดอยู่นะครับ เช่น แม้เราจะสะสม 15% นายจ้างก็จะจ่ายเงินให้ 5-10% สมทบตามอายุงาน เพียงแต่กฎหมายปรับใหม่ให้ดีกว่าแต่ก่อน เพราะเดิมนั้นลูกจ้างจะหักเงินเกินกว่าที่นายจ้างสมทบไม่ได้

4. หนึ่งเด้งจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี

เงินส่วนที่โดนหักไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เราสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ครับ รัฐเข้ามาส่งเสริมในส่วนนี้เพื่อจะทำให้คนลงทุนระยะยาว และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการช่วยเหลือพลเมืองในอนาคต และถ้าเราลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเรื่อย ๆ จนอายุ 55 ปี ตราบเท่าที่ยังไม่มีการขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมา ภาระภาษีจะไม่เข้ามายุ่งกับเราแล้ว และเมื่อครบเงื่อนไขที่อายุ 55 ปีแล้ว เงินก้อนนี้ซึ่งเราจะได้รับก็ยังยกเว้นภาษีเงินได้ให้อีกด้วย

สำหรับนักลงทุนที่ต้องออกจากงานก่อน การขายทิ้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะทำให้ท่านต้องนำเงินที่ขายมาไปยื่นเสียภาษีด้วย ทางออกที่รัฐวางไว้ก็คือ ให้ท่านทำการคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเก่าไว้ในบริษัทเก่าก่อน พอได้งานที่ใหม่ค่อยทำเรื่องย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ (ไม่ถือว่าเป็นการขายที่ผิดเงื่อนไขทางภาษี)

นอกจากนี้ตามกฎเกณฑ์ใหม่นั้น ท่านสามารถโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่รองรับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากแต่ยังต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่จะขายได้แบบปลอดภาระภาษีก็ตอนอายุ 55 เหมือนเดิม

ทั้งนี้ใครที่คิดว่าออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่พอ สามารถซื้อ RMF ลงทุนคู่ไปได้ โดยจำนวนเงินที่ลงทุนทั้งสองกองทุนนี้และประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และอย่าลืมเงื่อนไขของ RMF ด้วย (ประเด็นภาษีมีรายละเอียดเพิ่มเติมให้ดูข้อกฎหมายตัวเต็มด้วยนะครับ)

5. บทสรุปของ PVD

ทบทวนหลักการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกรอบ หากใครที่ยังมีอายุน้อย ๆ พึ่งเริ่มทำงาน แล้วบริษัทมีให้เลือกแผนลงทุนหุ้นได้ 100% สามารถเลือกนโยบายหุ้นล้วนแล้วลงกองสำรองเลี้ยงชีพให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งมันจะเป็นการตัดสินใจที่ดีมาก ๆ ครับ แบบที่คุณในอนาคตจะต้องขอบคุณตัวเองสุดฤทธิ์

ส่วนที่ผมชอบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่อนข้างมาก เพราะมันคือ การลงทุนอัตโนมัติ จ่ายให้ตัวเองก่อนแบบแท้ ๆ เราไม่เห็นเงินก้อนนี้ตอนเงินเดือนออกแน่นอน คล้าย ๆ ภาษีที่รัฐใช้วิธีเก็บเอาไปก่อน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงมีอัตราความไวไม่แพ้สรรพากรครับ แถมยังได้ผลประโยชน์ถึงสามทาง ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน ได้เงินสมทบจากนายจ้าง และได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี

แทบจะไม่มีการลงทุนบนโลกนี้ที่จะดีทุกด้านเท่านี้อีกแล้วครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s