ในบรรดาการลงทุนทั้งหมดนั้น แผนการลงทุนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ—Provident Fund (PVD) สำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป โดยเฉพาะคนที่เป็นพนักงานเอกชน ผมอยากให้สนใจการลงทุนในกองทุนนี้เป็นสำคัญ เพราะมันคือ การลงทุนที่ดีที่สุด เท่าที่การลงทุนหนึ่งจะมีให้ได้แล้วครับ
คนที่ทำงานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักเจ้านี่พอสมควร เพราะโดนหักกันทุกเดือน และหลายคนก็จะวุ่นวายใจกับมันมากเพราะโดนมันหักเงินไปแทนที่จะได้เงินเดือนเต็มๆมาใช้ แต่เจ้า PVD นั้นผมนับว่าเป็นการลงทุนที่ดีมากๆ ถ้าเทียบเป็นไพ่ก็ป๊อกเก้า 3 เด้งเลยทีเดียวครับ หลักการของมันก็คือ สมมติเงินเดือนเรามี 100% PVD จะหักเงินเราไปลงทุนเลยตั้งแต่ก่อนจ่ายเงินเดือนให้ บางบริษัทอาจจะหัก 5% บางบริษัท 10% ซึ่งมันทำตัวแบบภาษีครับ คือหักไปก่อนโดยตั้งแต่แรกตั้งแต่ก่อนเห็นเงินเดือน ทำให้มันเป็นการลงทุนที่ดีเพราะเรา “จ่ายให้ตัวเองก่อนโดยอัตโนมัติทันที” อันนี้คือข้อดีสุดๆอย่างหนึ่งของมันครับ ส่วนสามเด้งที่ผมว่าของ PVD ได้แก่ มีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถ้าลงทุนสินทรัพย์ที่ถูกต้อง, จำนวนเงินออมเพิ่มมากขึ้นอีกจากการสมทบโดยเงินของนายจ้าง, และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่างหาก ลองมาดูทีล่ะอันครับ
(1) เด้งที่หนึ่ง ; มีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถ้าลงทุนสินทรัพย์ที่ถูกต้อง
เนื่องจาก PVD นั้นหักเงินไปลงทุนตั้งแต่เดือนแรกๆที่ทำงาน และหักไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คุณยังทำงานอยู่ ทำให้ถ้าเราเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เช่น ตั้งแต่อายุ 20 ปีต้นๆ อายุที่จะนำเงิน PVD มาใช้อย่างสบายใจคืออายุ 55 ปีตามเงื่อนไข เท่ากับมีเวลาลงทุนสูงสุดได้เกือบ 30 ปี ระยะเวลาลงทุนที่นานขนาดนั้น เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนในระยะสั้นแต่ผลตอบแทนสูงมากๆในระยะยาวอย่างหุ้นได้อย่างสบายใจ เนื่องจากลงทุนนานเกิน 10-20 ปีขึ้นผลตอบแทนหุ้นจะเป็นบวกเสมอตามสถิติและได้รับผลตอบแทนสามัญของหุ้นที่ประมาณ 9-10% ทบต้นต่อปีได้ พูดถึงการลงทุนในหุ้น 100% ล้วนนั้น ผมนึกถึงพาหนะการลงทุน 2 อย่างที่สามารถทำได้ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทั้ง 2 อย่างนี้ถ้าคุณอายุไม่เกิน 40 โดยเฉพาะคนที่ยังลงทุนตั้งแต่อายุต่ำกว่า 30 เราสามารถอัดหุ้นเต็มกระสุนได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าอายุไม่มาก แผนลงทุนที่ดีที่สุดนั้นควรจะเลือกนโยบาย PVD แผนที่ลงทุนในหุ้นเยอะที่สุดครับ เพราะอะไรน่ะหรือ การที่หุ้นขึ้นลงรายวัน รายเดือน ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเงินลงทุนระยะยาวคุณเลย ไม่ต้องสนใจการขึ้นลงรายปีด้วย เพราะกว่าเราจะขายได้ก็นู่นนนน อายุ 55 ปี ถ้าเราเลือกลงทุนแต่ตราสารหนี้ ผมถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งนึงในชีวิตเลยทีเดียว ความมั่งคั่งที่เป็นตัวเงินของคุณที่หายไปอาจจะแตะระดับแปดหลัก อาจมีมูลค่าเกิน 10 ล้านขึ้นไปยังได้ ซึ่งมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดง่ายๆแบบนี้นี่เอง
ลองสมมติตัวอย่างนะครับ ถ้าเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 25 มีเงินเดือนแค่ 20,000 บาท ไม่ปรับขึ้นเลยตลอดชีวิตไปจนถึงอายุ 55 ปี (ชีวิตโหดร้ายมากแต่แบบอยากให้เห็นตัวเลขชัดๆ) ถ้าสมมติ คุณเลือกสะสมหัก PVD ที่ 10% คุณจะมีเงินไปออมเดือนละ 2,000 บาท พออายุ 55 ปี สำหรับคนที่ลงทุนแผนตราสารหนี้ล้วน ระยะยาวผลตอบแทนน่าจะอยู่ที่ 3.5% ทบต้นต่อปี เท่ากับ คุณจะมีเงินตอนนั้น(ไม่รวมส่วนของนายจ้าง) ที่ประมาณ 1,270,000 ล้านบาท ในขณะที่ถ้าคุณเลือกแผนหุ้น 100% ตั้งแต่แรกๆ แล้วระยะยาวในเวลาเท่ากันได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9% ทบต้นต่อปี เท่ากับคุณจะมีเงินในตอนนั้นประมาณ 3,660,000 ล้านบาท (หรือเกือบ 3 เท่าของคนที่อยู่ในแผนตราสารหนี้ล้วน) อันนี้แค่เงินเราอย่างเดียว กรณีนายจ้างสมทบให้เท่ากัน(กรณีนี้คือ 10%) คนที่ลงทุน PVD ตราสารหนี้ล้วนอาจจะมีเงินออกมาที่ 2-3 ล้านบาท แต่คนที่ลงทุนแผนหุ้น 100% ได้เงินออกมาที่ประมาณ 7 ล้านบาท แค่นี้คุณภาพชีวิตก็ต่างกันมากๆแล้วครับ แล้วนี่คือการสมมติในแบบที่เงินเดือนไม่ขึ้นด้วยนะครับ 30 ปี ถ้าเงินเดือนโตอีกปริมาณเงินที่ต่างกันยิ่งมหาศาล เนื่องจากการลงทุนใน PVD นั้น มีตัวเร่งการลงทุนและปริมาณเงินหลักๆคือ
- จำนวนเงินที่เราหักมาสะสม—คนหักแค่ 5% ย่อมไม่เท่าคนหัก 10% หรือ บริษัทที่สมทบ 5% ย่อมไม่เท่ากับบริษัทที่สมทบ 10% หรือแม้กระทั่งบางคนก็ไม่ยอมหักเลย หรือออกจากงานปุ๊บก็เอาไปใช้หมด อันนี้ก็จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะทำร้ายฐานะการเงินในอนาคตมากๆ
- ผลตอบแทน—คนลงทุนแผนหุ้นล้วนผลตอบแทนย่อมมากกว่าคนที่จมอยู่กับตราสารหนี้หรือตลาดเงินมากๆ อย่างที่ผมบอกเลยไม่มีอะไรจะพลาดเท่านี้แล้วถ้าตัดสินใจ(หรือไม่ยอมตัดสินใจจนทำให้)ลงทุนแผนตราสารหนี้ล้วนไปตลอดชีวิตการทำงาน
- เวลา—ยิ่งทำงานไว มีระยะเวลาทำงานนานยิ่งสะสมทบต้นให้เงินโตมหาศาลกว่าครับ ทั้งนี้ต้องปล่อยให้เงินลงทุนโตต่อเนื่องโดยการที่ไม่ดึงมันมาใช้หรือขายทิ้งนะครับเวลาออกจากงานเก่าไปงานใหม่
จากที่เคยอ่านบทวิจัยเมื่อนานมามากแล้ว เงินก้อนที่ใหญ่ที่สุดที่ลูกจ้างในอเมริกาได้รับมาจาก 401(k) เป็นเงินก้อนที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาจากการทำงาน ซึ่งในไทยก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) แต่ค่อนข้างน่าเศร้าครับ ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของสำนักงานกลต. โดยเฉลี่ยแลัวลูกจ้างจะออกจากงานไปโดยได้เงินก้อนดังกล่าวต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเงินพวกนี้ได้ตอนเกษียณอายุนะครับ คือเป็นเงินก้อนท้ายๆที่จะเอาไปใช้ชีวิตหลังอายุหกสิบปี ทว่าตัวเลขที่ลึกไปอีก คือ เงินที่ต่ำกว่าล้านที่ว่าคือ 300,000 บาท ! หรือใช้ได้อีก 20 ปีแต่ต้องใช้เดือนละ 1,300 บาท !!!! บนสภาวะที่ราคาของปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุที่ผมคิดว่ามันต่ำขนาดนี้ ความผิดพลาดก็คือ
1) หักเงินเข้า PVD กันน้อย
2) ลงทุนในตราสารหนี้กันหมด ทำให้เงินโตไม่ทันเงินเฟ้อ (ข้อนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ เพราะขณะนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งอุตสาหกรรมมีเงินลงทุนในหุ้นเพียงแค่ 10-15% ที่เหลือเป็นตราสารหนี้เกือบหมด)
3) พอออกจากงานก็เลือกที่จะขายกองทุนทิ้งหมด ไม่โอนมายัง PVD ที่ทำงานใหม่
4) บริษัทต่างๆไม่อยากเพิ่มต้นทุนตัวเอง เลยสมทบต่ำสุดเท่าที่กม.กำหนด
(2) เด้งที่สอง ; จำนวนเงินออมเพิ่มมากขึ้นอีกจากการสมทบโดยเงินของนายจ้าง
ใครที่ทำงานบริษัทที่จ่ายเงินสมทบกองสำรองเลี้ยงชีพให้ใช้ประโยชน์ที่ดีที่สุดของมันนะครับ มันคือการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่มีในทุกสินทรัพย์แล้วเพราะ “มันมีคนทบทวีเงินออมของเราเพิ่มด้วย” เช่น คุณโดนหักเงินไป 5 บาท ถ้าบริษัทสมทบให้เท่ากันคือ 5 บาท เงินที่เราจะได้ลงทุนรวมคือ 10 บาท แถมยังเอา 5 บาทที่ว่าไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก โคตรของโคตรดี เพราะฉะนั้นให้พยายามลงทุนในส่วนนี้ให้เต็มอัตรา แล้วพยายามเลือกการลงทุนที่อัดหุ้น มีเวลาทำงานอีก 30-40 ปี ถ้าลงทุนได้ยาวขนาดนี้ การลงทุนโดยอยู่ในแผนที่มีสัดส่วนลงทุนหุ้น 100% นี่ล่ะที่จะทำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคุณในตอนท้ายโตทะยานมหาศาล กว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เลือกแผนอื่นๆเพราะกลัวหุ้นแน่นอน ซึ่งถ้าทำงานกันยาวๆ อาจจะต่างกันหลายล้านทีเดียวเพราะส่วนที่นายจ้างทบทวีให้ซึ่งถ้าสมทบเท่ากันสูงสุดอาจจะทำให้เงินโตขึ้นอีกเท่าตัว! (เช่น บางบริษัท คุณหักไปสะสม 10% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบให้อีก 10% แค่นี้ก็มูลค่ามหาศาลเป็นล้านในอนาคตแล้วครับ ถ้าทำงานนานๆ)
อาจจะมีหลายคนยังไม่รู้นะครับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนนี้กฎหมายยปรับใหม่ อนุญาตให้ลูกจ้างหักเงินได้มากกว่าที่นายจ้างสมทบ เช่น เราสามารถเลือกว่าจะหัก 5 7 9 11 13 หรือ 15% ของเงินเดือนก็ได้ แม้นโยบายบริษัทจะสมทบให้แค่ 5% ก็ตาม ทั้งนี้การสมทบเงินของนายจ้างก็ยังอยู่ที่เขากำหนดนะครับ เช่น เราสะสม 15% นายจ้างก็อาจจะจ่ายเงินสมทบที่ 5-10% ตามอายุงาน ถือว่าเป็นการปลดล็อกประเด็นที่เดิมทำให้ลูกจ้างหักเงินเกินนายจ้างสมทบไม่ได้
(3) เด้งที่สาม ; ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เงิน PVD ส่วนที่โดนหักไปนั้น เราสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ครับ รัฐส่งเสริมในส่วนนี้เพื่อจะได้ทำให้คนลงทุนระยะยาวและแบ่งเบาภาระของรัฐในการช่วยเหลือในอนาคต และถ้าลงทุน PVD ไม่เรื่อยๆจนอายุ 55 ปี ตราบใดที่ยังไม่มีการขายออกมา ภาษีจะไม่มายุ่งกับเราเลย แถมพอครบเงื่อนไขคืออายุเกิน 55 ปีแล้ว เงินก้อน PVD ที่เราได้รับจะได้รับยกเว้นภาษีด้วย โอ้โห คือมันดีมากๆๆ จริงครับ สำหรับนักลงทุนที่ต้องออกจากงานก่อน การขายทิ้ง PVD จะทำให้ท่านต้องนำมันไปยื่นเสียภาษีด้วย ทางออกที่รัฐวางไว้คือ ให้ท่านคงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้กับบริษัทเก่าก่อน พอได้งานที่ใหม่ค่อยโอนไปยัง PVD ของที่ทำงานใหม่ครับ แค่นี้ก็ไม่ถือว่าขายแล้ว หรือกฎเกณฑ์ใหม่สามารถโอน PVD นั้นไปยังกองทุน RMF ที่รองรับการโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ (บนเงื่อนไขขายได้แบบปลอดภาระทุกอย่างที่อายุ 55 เหมือนเดิม) ทั้งนี้ใครที่คิดว่าออมใน PVD ยังไม่พอ สามารถซื้อ RMF ลงทุนคู่ไปได้ ทั้งนี้ PVD รวม RMF และประกันบำนาญ ต้องไม่ไม่เกิน 500,000 บาท และอย่าลืมเงื่อนไขของ RMF ด้วย (ประเด็นภาษีมีรายละเอียดเพิ่มเติมให้ดูตัวเต็มด้วยนะครับทั้ง PVD ทั้ง RMF เลย)
สรุป
ใครอายุน้อยๆ พึ่งเริ่มทำงาน แล้วบริษัทมีให้เลือกแผนลงทุนหุ้นได้ 100% สามารถเลือกนโยบายหุ้นล้วนแล้วลงกองสำรองเลี้ยงชีพให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้จะเป็นการตัดสินใจที่ดีมากๆครับ ส่วนที่ผมชอบมันค่อนข้างมาก เพราะมันคือ การลงทุนอัตโนมัติ จ่ายให้ตัวเองก่อนแบบแท้ๆ เราไม่เห็นเงินก้อนนี้ตอนเงินเดือนออกแน่นอน คล้ายๆภาษีที่รัฐเอาไปก่อน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีอัตราความไวไม่แพ้สรรพากรครับ แถมยังได้ผลประโยชน์ถึงสามทาง ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน, ได้เงินสมทบจากนายจ้าง, และได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
ไม่มีการลงทุนใดดีเท่านี้อีกแล้วครับ