NAV หรือราคาหน่วยลงทุน เป็นสิ่งที่นักลงทุนมักจะสงสัย โดยคำถามที่ถูกถามบ่อยเกี่ยวกับกองทุนรวมในประเด็นเรื่อง NAV อย่างหนึ่งคือ “ซื้อกองทุนที่ราคาหน่วยถูกกว่าดีไหม จะได้จำนวนหน่วยเยอะ ๆ” ซึ่งเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดครับ อันอาจนำไปสู่การเลือกลงทุนกองทุนรวมที่ผิดวัตถุประสงค์ได้
1. กำไรจากกองทุนคำนวณเป็น %
ถ้าเราสมมติกองทุน A กับ กองทุน B มีนโยบายลงทุนเหมือนกันทุกอย่างเป๊ะ ๆ เรากำลังเลือกจะลงทุนแค่หนึ่งกอง แต่กอง A ราคาหน่วย (NAV per unit) อยู่ที่ 50 บาท แต่ราคาหน่วย NAV ของกองทุน B อยู่ที่ 5 บาท นักลงทุนอาจจะถูกยั่วยวนว่า เอ๊ะถ้าเราซื้อกองทุน B เราก็จะได้จำนวนหน่วยมากกว่า เวลาได้กำไรก็ต้องได้มากกว่าสิ ซึ่ง ผิด ครับ !!
กองทุนรวมนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “กำไร” หรือ “ผลตอบแทน” ซึ่งปกติ การคำนวณผลตอบแทนของกองทุนรวมจะคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ครับ ดังนั้น ถ้าในปีเดียวกัน กองทุน A และ B ทำผลตอบแทนได้เท่ากันที่ 10% ราคาหน่วยของกองทุน A จะโตจาก 50 บาทเป็น 55 บาท ส่วนกองทุน B ราคาหน่วยจะโตจาก 5 บาทเป็น 5.5 บาท และกำไรของนักลงทุนสองคนจะได้เท่ากัน ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
นักลงทุนสองคนมีเงินลงทุนคนละ 10,000 บาท หากคนแรกลงทุนกองทุน A ซึ่งราคาหน่วยละ 50 บาท ก็จะได้จำนวนหน่วยรวม 10,000/50 = 200 หน่วย (units) ถ้ากองทุนทำผลตอบแทนตามตัวอย่างได้ 10% ราคาหน่วยกลายเป็น 55 บาท มูลค่าเงินลงทุนของเขาก็จะกลายเป็น 11,000 บาท (55 × 200) หรือมีกำไรจากการลงทุนครั้งนี้ 1,000 บาท
หากคนที่สองลงทุนกองทุน B ซึ่งราคาหน่วยละ 5 บาท ก็จะได้จำนวนหน่วยรวม 10,000/5 = 2,000 หน่วย ถ้ากองทุนทำผลตอบแทนตามตัวอย่างได้ 10% เท่ากองทุน A ราคาหน่วยกลายเป็น 5.5 บาท มูลค่าเงินลงทุนของเขาก็จะกลายเป็น 11,000 บาท (5.5 × 2,000) หรือมีกำไรจากการลงทุนครั้งนี้ 1,000 บาท เหมือนกรณีลงทุนกับกองทุน A เด๊ะ ๆ เลยเห็นไหมครับ
เพราะฉะนั้นในกรณีที่ กองทุนทำผลตอบแทนได้เท่ากัน ราคาหน่วยไม่เป็นประเด็น หน่วยต่ำหรือหน่วยสูงก็จะได้ผลกำไรเป็นตัวเงินเท่าเทียมกัน ♥ เพราะฉะนั้นลงทุนในกองทุนรวมอย่าไปหลงกับราคาหน่วยถูกครับ
2. NAV มีราคาต่างกันเพราะอะไร?
คำถามคือ แล้วทำไมราคาหน่วยแต่ละกองทุนถึงไม่เท่ากัน? คำตอบ คือ
(1) กองทุนอาจ ตั้งกองมาไม่พร้อมกัน
โดยปกตินั้นกองทุนรวมมักจะมีราคาเริ่มต้นตอนเสนอขายครั้งแรกที่ 10 บาทครับ แต่ถ้าตั้งมาไม่พร้อมกัน ผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนทำให้ราคาหน่วยของกองทุน(ที่ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล)จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ คือ ราคาหน่วยจะโตจาก 10 เป็น 15 เป็น 20 บาท
ยิ่งผ่านไปนานยิ่งราคาหน่วยทบทวีถ้ามีกำไรทบต้นไปเรื่อย ๆ จึงเป็นได้ว่า กองทุน ก.ไก่ ตั้งมาตอนปี 2540 หรือประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้ว อาจมีราคาหน่วยสูงถึง 100 บาท ซึ่งกลับกัน กองทุนที่พึ่งตั้งปี 2558 หรือปีที่แล้วก็อาจจะมีราคาหน่วยอยู่ที่ประมาณ 9-11 บาท ซึ่งสมเหตุสมผลครับ
(2) กองทุนตั้งมาพร้อมกันอาจจะราคาหน่วยไม่เท่ากัน เพราะนโยบายจ่ายปันผล
เนื่องจากกองทุนที่มีการจ่ายปันผลจะต้องจ่ายกำไรออกมา ทำให้ราคาหน่วยจะไม่ค่อยเพิ่มครับ ในขณะที่กองทุนที่ไม่จ่ายปันผล กำไรจะทบต้นลงทุนต่อทำให้ราคาหน่วยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ยกตัวอย่าง เช่น กองทุนสองกองตั้งมาในปี 2555 พร้อมกัน ทำผลตอบแทนรวมห้าปีที่ผ่านได้เท่ากันคือ 50% กองทุนที่ไม่จ่ายปันผล ราคา NAV ต่อหน่วยก็ควรโตจาก 10 เป็น 15 บาท ในขณะที่กองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผล กองทุนอาจจะมีราคาหน่วยที่ 10 บาทเท่าเดิมก็ได้ครับ ถ้าจ่ายกำไรออกมาเป็นปันผลหมดเลย
(3) กองทุนตั้งมาพร้อมกันอาจจะราคาหน่วยไม่เท่ากันเพราะทำผลตอบแทนไม่เท่ากัน
กรณีเป็นกองทุนประเภทเดียวกัน เช่น กองทุนหุ้นไทย ตั้งมาพร้อมกัน ถ้ากองไหนมีกำไรหรือลงทุนแล้วมีฝีมือได้ผลตอบแทนดี กองนั้นควรจะมีราคาหน่วยที่สูงขึ้นครับ ในขณะที่อีกกอง ถ้าลงทุนแล้วขาดทุน กองทุนนั้นก็อาจจะมีราคาหน่วยน้อยกว่า จนไปถึงราคาหน่วยต่ำกว่า 10 บาทเลยก็ได้ ถ้าขาดทุนเรื่อย ๆ
ข้อนี้จึงเห็นได้ว่า ถ้าเปรียบเทียบสองกองทุนแล้วพบว่าตั้งมาใกล้ ๆ กัน แต่ราคาหน่วยห่างกันมาก เช่น ตั้งมาปี 2555 ผ่านไป 5 ปี ลงทุนหุ้นไทยเหมือนกัน นโยบายคล้ายกัน ไม่จ่ายปันผลเหมือนกัน กองแรกราคาหน่วยเป็น 20 บาท กองสองราคาหน่วยเหลือ 8 บาท กองสามราคาเป็น 11 บาท อันนี้อาจสรุปคร่าว ๆ ได้ครับว่า ฝีมือการลงทุนของกองที่สองกับกองที่สามค่อนข้างแย่กว่ากองแรกมาก
(4) กองทุนตั้งมาพร้อมกันอาจจะราคาหน่วยไม่เท่ากันเพราะลงทุนต่างกัน
อันนี้น่าจะเกิดบ่อยครับ เพราะถ้าสินทรัพย์ลงทุนต่างกัน เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น ลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนในทองคำ ลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ต่างประเทศ ผลตอบแทนระยะสั้น กลาง ๆ หรือจนถึงยาว ๆ ย่อมแตกต่างกันไป บางสินทรัพย์ช่วงเวลานี้ขาดทุนแต่อีกสินทรัพย์หนึ่งมีกำไร จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมราคาหน่วยแตกต่างกัน กองทุนที่ลงทุนในหุ้น กับกองทุนที่ลงทุนในทองคำ แบบนี้ยังไงก็ต้องต่างกันครับ
(5) กองทุนตั้งมานานแต่ราคาหน่วยเพิ่มขึ้นไม่มากเพราะ ตั้งมาช่วงเกิดวิกฤตพอดี
หลาย ๆ กองทุนบ้านเราเจอตรงนี้กันพอสมควรครับ โดยเฉพาะกองทุนหุ้นไทยที่ตั้งมาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งหรือก่อนหน้านั้น อาทิ SCBSET(2539), BKA(2536), BKD(มีนโยบายจ่ายปันผล) ซึ่งราคาล่าสุดหน่วยละ 4.5 บาท ตั้งมาปี 2537, TMBCHEQ(2550) ราคาหน่วยละ 4 บาท—ใครลงทุนหุ้นจีนน่าจะเข้าใจดีว่าตลาดหุ้นร่วงหนักหลายรอบมาก แต่จะเห็นว่าหลายๆกองพอผ่านวิกฤตไปก็จะฟื้นตัวกลับมาได้ เช่น SCBSET ตอนนี้ราคาหน่วยละ 16-17 บาท กองทุน BKA ราคาหน่วยละ 30 กว่าบาท
นอกจากนี้ จะสังเกตได้ว่า “จังหวะเวลาที่ตั้งกองทุน” ก็ส่งผล เพราะอย่างกอง ABG(2540) ตั้งมาตอนวิกฤตแต่อยู่ในช่วงที่หุ้นดีราคาถูกเต็มตลาดแล้ว อันนี้ราคาหน่วยก็จะไม่ถูกกระแทกครับ เพราะหลังจากนั้นตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาหน่วยก็จะโตเรื่อย ๆ ซึ่งกองนี้ก็มีราคาหน่วยที่โตจาก 10 เป็น 100 บาทในปัจจุบัน
ในขณะที่นักลงทุนที่ซื้อกองทุนหุ้นหลาย ๆ กองในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อย่างเช่น กอง BKA ช่วงต้มยำกุ้งที่ราคาตกจาก 10 บาทเหลือหน่วยละ 3 บาท ตอนนี้ก็กลายเป็น 30 บาท ผลตอบแทนก็จะไม่ห่างกันเท่าไหร่ครับ
3. บทสรุปเรื่อง NAV
จากตัวอย่างข้างต้นทั้งหมดนั้นเราจึงเห็นได้ว่า ราคาหน่วยไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการลงทุน สมมติเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน นโยบายเดียวกัน เช่น ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50 ตัวอย่างที่โดนถามบ่อย ๆ เช่น กองทุน TMBSET50 ตอนนี้ราคาหน่วยละ 80 บาท กองทุน K-SET50 ตอนนี้หน่วยละ 30 บาท กองทุน SCBSET50 หน่วยละ 15 บาท จะลงทุนกองไหนดี บางคนบอกไม่เอา TMBSET50 เพราะราคาหน่วยขึ้นไปสูงมาก เดี๋ยวได้หน่วยน้อย หรือกลัวจะมันสูงขึ้นไปอีกไม่ได้ เหตุผลพวกนี้ถือว่า ผิด !! เพราะที่ราคาหน่วย TMBSET50 สูงสุดก็เนื่องจากมันตั้งมาปี 2544 ในขณะที่กองอื่นอย่าง SCBSET50 ตั้งมาหลังสุดในปี 2554 ห่างกันประมาณสิบปีได้
กรณีข้างบนยังสามารถยกเป็นตัวอย่างได้ดีว่า การลงทุนระยะยาวในกองทุนหุ้น ผลตอบแทนจะสูงมาก ถ้าลงทุนนานผ่านความผันผวนอย่างอดทนไปได้ เพราะกองเริ่มจาก 10 บาทผ่านไป 15 ปี ราคาหน่วยกลายเป็น 80 บาท ตอนนี้เงินโตมาประมาณสามเด้ง
ในขณะที่กองทุนตลาดเงินตั้งมาพอ ๆ กัน บลจ.เดียวกัน เช่น TMBMF ทหารไทยธนบดียังอยู่ที่ 20 บาทอยู่เลยครับ ซึ่งถ้า SCBSET50 มีนโยบายลงทุนเหมือนกันทำผลตอบแทนได้ทบต้นไปเรื่อย ๆ อนาคตก็ควรจะต้องกลายเป็น 20, 30… ตามหลักการครับ
อย่างไรก็ดี ถ้าคุณตอบว่า เลือกกองทุนนี้เพราะนโยบายการลงทุนตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เลือกเพราะ ค่าใช้จ่ายกองทุนรวมต่ำสุด หรือเลือกเพราะเหตุผลที่ไม่ใช่ว่าราคาหน่วยถูกหรือหน่วยแพง เหตุผลพวกนี้ถือว่าใช้ประกอบการเลือกกองทุนรวมเพื่อลงทุนได้ √ เพราะฉะนั้น โปรดอย่าตกใจเวลาเห็นกองทุนราคาหน่วยสูง ๆ กองทุนพวกนี้ลงทุนได้ครับ ไม่ต้องกังวลว่าจะได้กำไรน้อยกว่ากองที่ราคาหน่วยถูก ๆ แต่คำถามสำคัญก่อนลงทุนต้องตอบให้ได้ครับว่า
“เราลงทุนกองนี้เพราะอะไร?”
อันนี้คือคำถามสำคัญที่สุดในการลงทุนกองทุนรวมครับ