เวลาผมพูดเรื่อง ผลตอบแทน จากการลงทุน เราหลายคนอาจจะงงว่ามันคิดกันยังไง จริง ๆ มันก็คือ กำไรจากการลงทุนนั่นล่ะครับ เวลาเราลงเงินทุนไปแล้วเราได้ผลตอบแทนกลับมาคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์จากเงินลงทุนเท่าไหร่ สมมติเราลงทุนไป 100 บาทตอนต้นปี พอปลายปีได้เงินมา 5 บาท แบบนี้ก็จะถือว่าเราได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 5% ต่อปี ซึ่งแต่ละการลงทุน มันมีผลตอบแทนต่างกันครับ และมันมีกระแสเงินสดจากการลงทุนต่างกันด้วย อธิบายทีละตัวได้ว่า
ผลตอบแทนแต่ละสินทรัพย์
เงินฝากและสลาก
ทั้งคู่เราจะได้ผลตอบแทนเป็น “ดอกเบี้ย” อันนี้เข้าใจง่ายหน่อยเพราะทุกคนน่าจะคุ้นชิน พิเศษตรงสลากเพราะจะได้ผลตอบแทนเป็น “ดอกเบี้ย+ถูกรางวัล” สมมติสลากออมสินอายุ 3 ปี หน่วยละ 50 บาท ถ้าฝากครบ 3 ปี ได้ดอกเบี้ย 2.25 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 1.5% ต่อปี ถ้าใครถูกรางวัลก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มอีก ซึ่งตัวหลังนี่ก็แล้วแต่โชคของแต่ละคนครับ มิอาจก้าวล่วงได้
ผลตอบแทน ตราสารหนี้
ไม่ว่าจะตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ตัวสัญญาใช้เงิน สินทรัพย์ประเภท “ตราสารหนี้” นี้จะได้ผลตอบแทนจาก “ดอกเบี้ย” เช่นกันครับ สมมติซื้อ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.5% เขาก็จ่ายดอกเบี้ยให้เราปีละ 3.5% เรื่อยๆทุกปี พอถึงปีที่ 10 ก็จะคืนเงินต้นกลับมาให้ อันนี้หล่ะครับคือผลตอบแทนต่อปี
ทว่าจริง ๆ แล้ว ยังมีผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วย (capital gain) สมมติพันธบัตรตามตัวอย่าง พอผ่านไปอัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดลดลง มีพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีตัวใหม่ออกมาแต่ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี แบบนี้พันธบัตรตัวที่เราถือ ถ้านำไปขายต่อ ราคาขายจะต้องสูงกว่าเดิมครับ เพราะนักลงทุนไม่สามารถหาดอกเบี้ยของพันธบัตรในอัตราเท่านี้จากตลาดได้ (ตัวที่เราถือให้ดอกเบี้ยตั้งเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์)
หากแต่โดยปกตินักลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาขึ้นลงของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ต่าง ๆ เพราะถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ โดยทั่วไปนักลงทุนก็มุ่งเน้นแค่ดอกเบี้ย เนื่องจากน่าจะตั้งใจถือตราสารหนี้จนครบอายุกันซะเป็นส่วนใหญ่ ก็จะไปกระทบเฉพาะคนที่ต้องขาย หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินจึงต้องขายตราสารหนี้ออกมาก่อน
ผลตอบแทน ทองคำ
อันนี้ผลตอบแทนจะมาจาก “ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นหรือส่วนต่างราคา” สมมติเราซื้อ ทองคำ หนักหนึ่งบาทตรงราคาบาทละ 27,000 ถ้าทองคำเหลือ 20,000 เราจะมีผลตอบแทนขาดทุนติดลบเกือบ 26% ซึ่งสังเกตได้ว่า ผลตอบแทนของทองคำมาจากราคาส่วนต่างอย่างเดียว เราซื้อเพราะเราคาดว่าราคามันจะสูงเพราะมีคนให้ราคามากขึ้น จัดว่าเป็นอะไรที่ผมว่ามันเสี่ยงมาก ๆ เพราะโดยตัวมันเองถือไปสิบปีมีทองก้อนเดียวผ่านไปมันก็มีแค่ก้อนเดียว ทองคำมันไม่งอกครับ
อสังหาริมทรัพย์
ที่ดิน บ้าน คอนโด ผลตอบแทนก็มาจาก “ราคา” ที่มันเพิ่มขึ้นกับผลตอบแทนของ “ค่าเช่า” เช่น ซื้อที่ดินมา 1 ล้านบาท ผ่านไป 3 ปี ขายได้ 1.3 ล้าน ก็ตกผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณปีละ 10% หรือซื้อคอนโดมา 3 ล้านบาท ปล่อยเช่าได้เดือนละ 1 หมื่น ตกปีละ 120,000 ก็จะได้ผลตอบแทนจากการเช่าตกปีละ 4% ครับ
กองทุนรวม
กองทุนรวม มีผลตอบแทนปกติ 2 อย่าง คือ ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น (Capital gain) และผลตอบแทนจากเงินปันผล ในกรณีที่กองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายปันผล (Dividend) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เราเลือกได้ครับ ถ้าเราลงทุนในกองทุนที่ไม่มีการจ่ายปันผล เราจะได้ผลตอบแทนจาก capital gain อย่างเดียว สมมติเราซื้อกองทุนราคาหน่วยละ 10 บาท พอปลายปีราคาหน่วยเป็น 20 บาท เท่ากับเราได้ผลตอบแทนเท่าตัวครับ (100%)
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นกองทุนจ่ายปันผล สมมติจ่ายปันผล 8 บาท เราจะยังได้กำไรจากส่วนต่างราคาหน่วยที่ 2 บาทที่ค้างอยู่ ซึ่งเท่ากับว่า เราก็ได้ผลตอบแทนรวม 10 บาทเหมือนกัน (รวมเงินปันผลอีก 8 บาท) เมื่อต้นทุนซื้อมาที่หน่วยละ 10 บาท กำไรที่ได้ก็จะคิดเป็นผลตอบแทน 100% เช่นกัน
การลงทุนในสินทรัพย์หลายอย่างนักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ผลตอบแทนแม้จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น REITs พวกนี้เป็นทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผลตอบแทนส่วนใหญ่ก็จะมาจากลักษณะแบบกองทุนรวมครับ
ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อ REITs จากตลาดหุ้น ก็จะได้ปันผลเป็นหลัก รวมถึงราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วย (gain) หรือกองทุนตราสารหนี้ กองทุนไปถือตราสารหนี้ เวลาได้ดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้นกองทุนก็จะได้รับ แต่เรานักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจาก gain และ dividend (ถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายปันผล) กองทุนหุ้นก็หลักการแบบเดียวกันครับ
หุ้น
โดยทั่วไปคนเราจะได้ผลตอบแทนจาก “หุ้น” 2 อย่าง คือ ราคาหุ้นที่เพิ่ม (Capital gain) กับ เงินปันผล (Dividend) สองอย่างรวมกันครับ เช่น ซื้อหุ้น ปตท. ที่ราคา 30 บาท สิ้นปีราคา หุ้นปตท. ขึ้นไปอยู่ที่ 35 บาท เท่ากับเราได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา 5 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนที่ 16.67% และปตท.มีกำไรจึงจ่ายเงินปันผลทั้งปีที่ 1 บาท เท่ากับเราได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอีก 3.33% ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในหุ้นปตท.ครั้งนี้จึงรวมกันได้ประมาณ 20% นั่นเอง
ประเด็นสำคัญของหุ้นที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษ คือ ผลตอบแทนของหุ้น กับผลตอบแทนของกองทุนหุ้น อันนี้หลายคนจะสับสนกันพอสมควร ผลตอบแทนหุ้นอย่างที่บอกครับว่ามีสองอย่างหลัก ๆ คือ ส่วนต่างราคากับเงินปันผล แต่ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นนั้น สมมตินะครับ กองทุน A ถือหุ้น b,c,d,e,f…ถึง z เพราะฉะนั้น ผลตอบแทนที่กองทุน A จะได้รับจากการลงทุนหุ้นก็คือ ส่วนต่างราคาและเงินปันผล
หากแต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจะได้รับ ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนนั้น ถ้ากองทุนไม่มีนโยบายจ่ายปันผล ผลตอบแทนที่ท่านได้รับจะมาจาก ส่วนต่างของราคาหน่วย NAV per unit ของกองทุนที่สูงขึ้น (หรือลดลง)
อธิบายง่าย ๆ ในกรณีกองทุนหุ้นได้กำไรจากการลงทุนหรือได้รับเงินปันผล กองทุนก็จะนำกำไรไปลงทุนต่อ (reinvest) โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทบต้นไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ากองทุนมีนโยบายจ่ายปันผล กองทุนก็จะจ่ายออกมา โดยอาจจะจ่ายจากปันผลที่ได้รับ หรือจ่ายจากการขายหุ้นที่ได้กำไรเพราะขายได้ในราคาสูงกว่าตอนซื้อมา
ดังนั้น อย่าสับสนปันผลของหุ้นกับปันผลของกองทุนหุ้นนะครับ กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผลจะจ่ายปันผลเมื่อกองทุนมีกำไรเท่านั้น ซึ่งแม้ในปีนั้นมันจะได้กำไรจากส่วนที่ได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่ถือ แต่ถ้าราคาหุ้นทุกตัวที่ถือกลับร่วงลงหนักเกินกว่ากำไรจากปันผล แบบนี้ถือว่าขาดทุน กองทุนก็อาจจะจ่ายปันผลไม่ได้ครับ
และในกรณีเดียวกัน ถ้าสองกองทุนมีทุกอย่างเหมือนกันหมด การลงทุนระยะยาวควรจะลงทุนในกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล เพราะกองทุนจะมีการลงทุนกลับตลอดเวลา เราไม่ต้องทำอะไร แต่การจ่ายปันผลนักลงทุนจะเสียภาษีที่ 10% (ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอคืนภาษี) ดังนั้น ถ้าจะลงทุนระยะยาว ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็อย่าไปลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผลครับ
ผลตอบแทน ขั้นต้นกับสุทธิ
ถ้าจะคิดให้ละเอียดจริง ๆ ผลตอบแทนพวกนี้ที่ว่ามาเป็นผลตอบแทนขั้นต้นครับ (Gross returns) เราอาจจะได้ผลตอบแทนน้อยลงมาก ๆ ถ้าคิดรวมค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างเหลือเป็นผลตอบแทนสุทธิ (Net Returns) ดังนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนที่แท้จริงจึงควรจะต้องหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดด้วยครับ เพื่อดูว่าแท้จริงแล้ว เราได้ผลตอบแทนเท่าไรกันแน่
ผลตอบแทนที่เราควรสนใจจริง ๆ จึงเป็นผลตอบแทน “หลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างรวมถึงภาษีแล้ว” (Returns after taxes and costs) เพราะบางทีที่เห็นมีกำไรตอนแรกก็อาจจะพลิกเป็นขาดทุนก็ได้ ถ้าหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งมวล เช่น ค่านายหน้าค่าคอมในการซื้อขายหุ้น ค่าธรรมเนียมซื้อขายกองทุน ค่าธรรมเนียมบัตร ค่าส่วนกลางซ่อมแซมบำรุง ฯลฯ (เราจะตัดพวกค่าใช้จ่ายที่คำนวณไม่ได้ เช่น ค่าจิตใจ ความเครียดออกนะครับ) พวกนี้ลดทอนผลตอบแทนของเรามาก ๆ
ถ้าเราทำผลตอบแทนเบื้องต้นได้สูง แต่สุดท้ายแล้วหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วไม่มีกำไรก็ถือว่าเราเหนื่อยฟรีครับ ในโลกของการลงทุนนั้น มักจะเริ่มต้นในฐานะวงการที่
“คุณจะได้รับในสิ่งที่คุณไม่ได้จ่ายเงินออกไป”
เพราะฉะนั้น โปรดระวังต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหลายให้ดีครับ (Cost is matter)