เวลาผมพูดเรื่อง ผลตอบแทนจากการลงทุน เราหลายคนอาจจะงงว่ามันคิดกันยังไง จริงๆมันก็คือ กำไรจากการลงทุนนั่นล่ะครับ ว่าเราลงเงินทุนไปแล้วเราได้ผลตอบแทนกลับมาคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์จากเงินลงทุน สมมติเราลงทุนไป 100 บาทตอนต้นปี พอปลายปีได้เงินมา 5 บาท แบบนี้ก็จะถือว่าเราได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 5% ต่อปี ซึ่งแต่ละการลงทุน มันมีผลตอบแทนต่างกันครับ (และมันมีกระแสเงินสดจากการลงทุนต่างกันด้วย) อธิบายทีละตัวได้ว่า
เงินฝาก : เราจะได้ผลตอบแทนเป็น “ดอกเบี้ย” อันนี้เข้าใจง่ายหน่อยเพราะทุกคนน่าจะคุ้นชิน
สลาก : ได้ผลตอบแทนเป็น “ดอกเบี้ย+ถูกรางวัล”อย่าง สมมติสลากออมสินอายุ 3 ปี หน่วยละ 50 บาท ถ้าฝากครบ 3 ปี ได้ดอกเบี้ย 2.25 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 1.5% ต่อปี ถ้าใครถูกรางวัลก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มอีก ซึ่งตัวหลังนี่ก็แล้วแต่โชคของแต่ละคนครับ มิอาจก้าวล่วงได้ (ฮ่าๆ)
ตราสารหนี้ : ไม่ว่าจะตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ตัวสัญญาใช้เงิน สินทรัพย์ประเภทนี้จะได้ผลตอบแทนจาก “ดอกเบี้ย” เช่นกันครับ สมมติซื้อ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.5% เขาก็จ่ายดอกเบี้ยให้เราปีละ
3.5% เรื่อยๆทุกปี พอถึงปีที่ 10 ก็จะคืนเงินต้นกลับมาให้ อันนี้หล่ะครับคือผลตอบแทนต่อปี ทว่าจริงๆแล้วยังมีผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วย (Gain) สมมติพันธบัตรตามตัวอย่าง พอผ่านไปอัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดลดลง มีพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีตัวใหม่ออกมาแต่ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี แบบนี้พันธบัตรตัวที่เราถือถ้าขายต่อราคาจะต้องสูงกว่าเดิมครับ เพราะนักลงทุนไม่สามารถหาดอกเบี้ยในอัตราเท่านี้ของพันธบัตรจากตลาดได้ (ตัวที่เราถือให้ดอกเบี้ยตั้งเกือบสี่เปอร์เซนต์) แต่โดยปกตินักลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาขึ้นลงของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ต่างๆ เพราะถ้าไม่จำเป็นจริงๆ โดยทั่วไปก็มุ่งเน้นแค่ดอกเบี้ย เนื่องจากน่าจะตั้งใจถือจนครบอายุกันซะเป็นส่วนใหญ่ ก็จะไปกระทบเฉพาะคนที่ต้องขายหรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินจึงต้องขายตราสารหนี้ออกมาก่อน
ทองคำ : อันนี้ผลตอบแทนจะมาจาก “ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นหรือส่วนต่างราคา” สมมติเราซื้อทองคำหนักหนึ่งบาทตรงราคาบาทละ 27,000 ถ้าทองคำเหลือ 20,000 เราจะมีผลตอบแทนขาดทุนติดลบเกือบ 26% (สังเกตได้ว่าผลตอบแทนของทองคำมาจากราคาส่วนต่างอย่างเดียว เราซื้อเพราะเราคาดว่าราคามันจะสูงเพราะมีคนให้ราคามากขึ้น จัดว่าเป็นอะไรที่ผมว่ามันเสี่ยงมากๆ เพราะโดยตัวมันเองถือไปสิบปีมีทองก้อนเดียวผ่านไปมันก็มีแค่ก้อนเดียวมันไม่งอกครับ)
อสังหาริมทรัพย์ : ที่ดิน บ้าน คอนโด ผลตอบแทนก็มาจาก “ราคา” ที่มันเพิ่มขึ้นกับผลตอบแทนของ “ค่าเช่า” เช่น ซื้อที่ดินมา 1 ล้านบาท ผ่านไป 3 ปี ขายได้ 1.3 ล้าน ก็ตกผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณปีละ 10% หรือซื้อคอนโดมา 3 ล้านบาท ปล่อยเช่าได้เดือนละ 1 หมื่น ตกปีละ 120,000 ก็จะได้ผลตอบแทนจากการเช่าตกปีละ 4% ครับ
กองทุนรวม : ผลตอบแทนปกติมี 2 อย่าง
หนึ่ง : ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น (Capital gain)
สอง : ผลตอบแทนจากเงินปันผล ถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายปันผล (Dividend)
ซึ่งสองอย่างนี้เราเลือกได้ครับ ถ้าเราลงทุนในกองทุนที่ไม่มีก่ารจ่ายปันผล เราจะได้ผลตอบแทนจาก capital gain อย่างเดียว สมมติเราซื้อกองทุนราคาหน่วยละ 10 บาท พอปลายปีราคาหน่วยเป็น 20 บาท เท่ากับเราได้ผลตอบแทนเท่าตัวครับหรือ 100% แต่ถ้ากองทุนจ่ายปันผล สมมติจ่ายปันผล 8 บาท เราจะยังได้กำไรจากส่วนต่างราคาหน่วยที่ 2 บาทที่ค้างอยู่ เท่ากับว่าเราก็ได้ผลตอบแทนรวม 10 บาทเหมือนกัน (รวมเงินปันผลอีก 8 บาท) ซึ่งต้นทุนซื้อมาที่หน่วยละ 10 บาท ก็จะคิดเป็นผลตอบแทน 100% เช่นกัน
** การลงทุนในสินทรัพย์หลายอย่างนักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ผลตอบแทนแม้จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น REITs พวกนี้เป็นทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ผลตอบแทนส่วนใหญ่ก็จะมาจากลักษณะแบบกองทุนรวมครับ คือ เราซื้อ REITs จากตลาดหุ้น ก็จะได้ปันผลเป็นหลัก (รวมถึงราคาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วย–gain) หรือกองทุนตราสารหนี้ กองทุนไปถือตราสารหนี้ เวลาได้ดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้นกองทุนก็จะได้รับ แต่เรานักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจาก Capital Gain และ Dividend(ถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายปันผล) กองทุนหุ้นก็หลักการแบบเดียวกันครับ
หุ้น : โดยทั่วไปคนเราจะได้ผลตอบแทนจากหุ้น 2 อย่าง คือ ราคาหุ้นที่เพิ่ม (Capital gain) กับเงินปันผล (Dividend) สองอย่างรวมกันครับ เช่น ซื้อหุ้น ปตท. ที่ราคา 300 บาท สิ้นปีราคา หุ้นปตท. ขึ้นไปอยู่ที่ 350 บาท เท่ากับเราได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา 50 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนที่ 16.67% และปตท.มีกำไรจึงจ่ายเงินปันผลทั้งปีที่ 13 บาทเท่ากับได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลอีก 4.3% ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในปตท.ครั้งนี้จึงเท่ากับ 21% นั่นเอง
ประเด็นสำคัญของหุ้นที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษ คือ ผลตอบแทนของหุ้น กับผลตอบแทนของกองทุนหุ้น อันนี้หลายคนจะสับสนกันพอสมควร ผลตอบแทนหุ้นอย่างที่บอกครับว่ามีสองอย่างหลักๆคือ ส่วนต่างราคากับเงินปันผล แต่ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นนั้น สมมตินะครับ กองทุน A ถือหุ้น b,c,d,e,f..ถึง z เพราะฉะนั้นผลตอบแทนที่กองทุน A จะได้รับจากการลงทุนหุ้นก็คือ ส่วนต่างราคาและเงินปันผล หากแต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจะได้รับ ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนนั้น ถ้ากองทุนไม่มีนโยบายจ่ายปันผล ผลตอบแทนที่ท่านได้รับจะมาจาก ส่วนต่างของราคาหน่วย NAV per unit ของกองทุนที่สูงขึ้น(หรือลดลง) อธิบายง่ายๆ กองทุนถ้าได้กำไรจากการลงทุนหรือได้รับเงินปันผล กองทุนก็จะเอาไปลงทุนต่อ (reinvest) โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทบต้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้ากองทุนมีนโยบายจ่ายปันผล กองทุนก็จะจ่ายออกมา โดยอาจจะจ่ายจากปันผลที่ได้รับ หรือจ่ายจากการขายหุ้นที่ได้กำไร(ราคาสูงกว่าตอนซื้อมา) ดังนั้น อย่าสับสนปันผลของหุ้นกับปันผลของกองทุนหุ้นนะครับ กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผลจะจ่ายปันผลเมื่อกองทุนมีกำไรเท่านั้น ซึ่งแม้ในปีนั้นมันจะได้กำไรจากส่วนที่ได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่ถือ แต่ราคาหุ้นทุกตัวที่ถือกลับร่วงลงหนักเกินกว่ากำไรจากปันผล แบบนี้ถือว่าขาดทุนก็อาจจะจ่ายปันผลไม่ได้ครับ และในกรณีเดียวกัน ถ้าสองกองทุนมีทุกอย่างเหมือนกันหมด การลงทุนระยะยาวควรจะลงทุนในกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล เพราะกองทุนจะมีการลงทุนกลับตลอดเวลา เราไม่ต้องทำอะไร แต่การจ่ายปันผลนักลงทุนจะเสียภาษีที่ 10% (ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอคืนภาษี) ดังนั้น ถ้าจะลงทุนระยะยาว ไม่จำเป็น อย่าไปลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผลครับ
ถ้าจะคิดให้ละเอียดจริงๆ ผลตอบแทนพวกนี้เป็นผลตอบแทนขั้นต้นครับ (Gross) เราอาจจะได้น้อยลงมากๆ ถ้าคิดรวมค่าใช้จ่ายหลายๆอย่างเหลือเป็นผลตอบแทนสุทธิ (Net) ดังนั้นผลตอบแทนจากการลงทุนที่แท้จริงจึงควรจะต้องหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมดด้วยครับ เพื่อดูว่าแท้จริงแล้ว เราได้ผลตอบแทนเท่าไรกันแน่
ผลตอบแทนที่เราควรสนใจจริงๆ คือผลตอบแทน “หลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างรวมถึงภาษีแล้ว”
เพราะบางทีที่เห็นมีกำไรตอนแรกก็อาจจะพลิกเป็นขาดทุนก็ได้ถ้าหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งมวล (เราจะตัดพวกค่าใช้จ่ายที่คำนวณไม่ได้ เช่น ค่าจิตใจ ความเครียดออกนะครับ) เช่น ค่านายหน้าค่าคอมในการซื้อขายหุ้น, ค่าธรรมเนียมซื้อขายกองทุน, ค่าธรรมเนียมบัตร, ค่าส่วนกลางซ่อมแซมบำรุง, ฯลฯ พวกนี้ลดทอนผลตอบแทนของเรามากครับ ถ้าเราทำผลตอบแทนเบื้องต้นได้สูง แต่สุดท้ายแล้วหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วไม่มีกำไรก็ถือว่าเราเหนื่อยฟรีครับ ในโลกของการลงทุนนั้น มักจะเริ่มต้นในฐานะวงการที่
“คุณจะได้รับในสิ่งที่คุณไม่ได้จ่ายเงินออกไป”
เพราะฉะนั้นโปรดระวังต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหลายให้ดีครับ (Cost is matter)