“Cash Drag” เป็นศัพท์ที่ผมเจอจากหนังสือลงทุนเล่มหนึ่ง แล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจครับ ว่าแต่อะไรคือ แคชแด๊ก (หนังสือบางเล่มก็ใช้ว่า Cash Position หรือ Cash Reverse) ถ้าใครเคยเล่นเกมที่มันจะชอบค้างบ่อย ๆ เล่นแล้ว lag อาการคล้ายกันครับ
Cash Drag ก็คือ การที่เราถือเงินสดไว้ไม่ยอมลงทุน ซึ่งการที่เราถือเงินสดไว้เยอะ ๆ ในบางเหตุการณ์มันก็สมเหตุสมผล แต่กลับกันในบางครั้งมันจะส่งผลเสียอย่างมาก ผมจะแยกอธิบายดังนี้ครับ
การถือเงินสดเพราะไม่ลงทุน
กรณีแรกแคชแดรกเพราะ ไม่ยอมลงทุน กรณีนี้เป็นเรื่องที่มักจะเกิดกับคนทั่วไป คือ มีเงินสดเก็บไว้กับตัวตลอด ไม่ยอมเอาไปลงทุนให้มันเติบโตขึ้นมา คนส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ครับ มีเงินสดก็เก็บไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร พอจะลงทุนก็จะเลือกแต่อะไรที่มันคล้าย ๆ เงินฝาก เช่น เงินฝากประจำ สลากออมสิน แม้กระทั่งกองทุนประเภท term fund (พวกที่กำหนดลงทุนแค่ 3-6-12 เดือนแล้วปิดกองทุน)
ถ้าคุณจะลงทุนแต่สินทรัพย์ประเภทนี้ในระยะยาวตลอดชีวิต คุณจะได้รับผลกระทบจากการถือเงินสดมาก ๆ แบบสูงสุด นั่นคือ เงินของคุณจะถูกเงินเฟ้อกัดกินไปเรื่อย ๆ อำนาจซื้อลดลงฮวบฮาบ แล้วก็ยากมากที่จะร่ำรวยขึ้นมาจากการลงทุน ต้องอาศัยเก็บเงินหนัก ๆ หรือหารายได้เยอะมาก ๆ เพื่อเอาเงินมาเก็บไว้
Cash Drag เพราะจับจังหวะลงทุน
กรณีนี้แคชแดรกเพราะ จับจังหวะลงทุน (market timing) อันนี้หล่ะครับ ความหมายที่แท้จริง นักลงทุน (อาจจะส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ) จะถือเงินสดไว้ระดับหนึ่ง สืบเนื่องมาจากการจับจังหวะลงทุน เช่น รอได้จังหวะเหมาะ ๆ ค่อยลงทุน หรือขายหุ้นขายกองทุนออกเพราะได้กำไรนิดหน่อยแต่ส่วนใหญ่ที่ขายเพราะกลัวหุ้นตกแล้วกำไรจะหายไป
หากแต่การยกตัวอย่างนี้ ผมจะไม่รวมนักลงทุนที่ขยันทำการบ้าน ศึกษาค้นคว้า มีวิธีลงทุนที่ดี มีวินัย เช่น แบบ VI เก๋า ๆ อะไรอย่างนั้นนะครับ พวกนี้จะมีเหตุผลในการถือเงินสดไว้ เพราะอาจจะหาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าไม่เจอ แต่ถึงอย่างไร ก็อาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า cash reverse กับนักลงทุนกลุ่มนี้ได้เหมือนกัน
ถามว่าการถือเงินสดในกรณีนี้จะส่งผลอย่างไร? คำตอบ คือ สถานะเงินสดในระยะยาวนั้นไม่สร้างผลตอบแทนหรือให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก ๆ ทำให้เงินบางส่วนของคุณได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าผลตอบแทนระยะยาวจากตลาดหุ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กองทุนรวมหุ้น ประเภทกองทุนบริหารเชิงรุก (actively managed funds) ทั้งหลาย กองทุนพวกนี้จะถือเงินสดไว้ส่วนหนึ่งเพื่อจับจังหวะลงทุนซื้อหุ้น หรือด้วยลักษณะถ้าเป็นกองทุนเปิดที่ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน (open-end fund) กองทุนพวกนี้ก็ต้องถือสภาพคล่องระดับหนึ่งเพื่อให้มีเงินจ่ายคืนนักลงทุนที่ขายกองทุนได้
หากแต่ในระยะยาวถ้าผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นต้องเติบโตขึ้น การถือเงินสดไว้ย่อมทำให้ผลตอบแทนส่วนหนึ่งของกองทุนน้อยกว่าปกติได้ (poorly performing) อันเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทุนพวกนี้แพ้ตลาดหุ้นในระยะยาว (มีปัจจัยอื่นทบไปอีก เช่น ค่าใช้จ่ายกองทุนรวมที่สูง)
ข้อสังเกตง่าย ๆ คือ กองทุนพวกนี้พยายามจับจังหวะถือเงินสดใช่ไหมครับ พอเวลาเขาคิดวิเคราะห์ว่าหุ้นกำลังจะตก เขาก็จะขายหุ้นทิ้งถือเงินสด ถ้าโชคดีก็ทายถูก ถ้าไม่ ก็จะเกิด cash drag เพราะหุ้นขึ้น แต่กองทุนยังถือเงินสดไว้ ไม่ได้ซื้อหุ้น ผลตอบแทนก็จะแพ้ตลาด กลับกัน ในเวลาที่ขายหุ้นทิ้ง แต่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงฟื้นตัว พวกมันจะทะยานไวมาก กว่าจะแน่ใจเข้ามาซื้อหุ้นคืนก็พลาดหรือช้าไปหลายก้าวแล้ว
เราลองสังเกตดูก็ได้ ช่วงหลังหุ้นตก แล้วถ้าตลาดหุ้นทะยานฟื้นตัวอย่างไวมาก กองทุนหุ้นเชิงรุกแบบบริหารจัดการจะแพ้ตลาดเกือบหมด เพราะพวกนี้มีแต่เงินสดสภาพคล่อง เราเรียกว่าเป็นกรณีแบบ Cash Reverse ถือเงินสดแบบผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเพราะพวกผู้จัดการกองทุนมักจะถือเงินสดน้อยในช่วงที่ตลาดหุ้นทะยาน(และกำลังจะตกหนัก)แต่ขายหุ้นทิ้งถือเงินสดเต็มมือตอนที่ตลาดหุ้นตกหนักแล้ว[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (New Jersey: John Wiley and Sons, 2013), 33.] แต่ไม่ยอมซื้อหุ้นคืน จนกระทั่งตลาดหุ้นทะยานไปไกลเป็นกระทิงแล้ว เขาถึงเริ่มซื้อหุ้นกัน (ช่างเป็นความผิดพลาดแบบซ้ำ ๆ)
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแคชแดรก
ถามว่าการถือเงินสดมีผลกระทบมากไหม เราลองคิดภาพผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นประมาณ 10% ทบต้นต่อปี กองทุนรวมหุ้นแบบบริหารเชิงรุกทั้งหลาย โดยเฉลี่ยจะถือเงินสดไว้ประมาณ 5-10% เพราะฉะนั้น ในระยะยาวมันอาจจะส่งผลให้กองทุนพวกนี้แพ้ตลาดหุ้น (underperform) ผลตอบแทนของพวกกองทุนเหล่านี้โดยเฉลี่ยก็ควรจะเหลือแค่ 9-9.5% ต่อปี
โดยในหนังสือของ John C. Bogle อธิบายไว้ว่า สถานะถือครองเงินสดไว้ ในภาวะที่หุ้นขึ้นเป็นตลาดกระทิง (holdings of cash reverse) จะลดทอนผลตอบแทนของกองทุนลงไปเฉลี่ยประมาณ 0.6% ต่อปี[1. John C. Bogle, Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor, Fully Updated 10th Anniversary Edition ed. (New Jersey: John Wiley & Sons, 2010), 167.]
นอกจากนี้ ยังมีอีกคนที่เห็นด้วยว่าการถือเงินสดมาก ๆ ถือเป็นผลกระทบทางลบต่อนักลงทุน คือ Larry E. Swedroe คนเขียนหนังสือ What Wall Street Doesn’t Want You to Know เพราะเขาถือว่า Cash Reverse เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทุนบริหารเชิงรุกแพ้กองทุนดัชนีในระยะยาว อีกทั้งผลตอบแทนของนักลงทุนจะลดลงด้วยแบบทบต้น (negative compounding) สาเหตุหนึ่งก็เพราะแคชแดรกนี่ล่ะครับ
แล้วจะลงทุนอย่างไรจึงจะไม่แคชแดรก ?
กองทุนที่จะไม่ถือเงินสดไว้ คือ กองทุนดัชนี (index funds) นั่นเอง เนื่องด้วยข้อบังคับนโยบายลงทุนของมัน ทำให้กองทุนพวกนี้ต้องลงทุนเลียนแบบตลาดหุ้นเสมอ จึงต้องมีหุ้นเต็มสตรีมครบอัตราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าหุ้นจะตกหรือหุ้นจะขึ้น กองทุนพวกนี้จะต้องถือหุ้นให้ใกล้เคียงหรือ 100% ตลอด สินทรัพย์ประเภทเงินสดสภาพคล่องมีไว้เท่าที่จำเป็นต่อการจ่ายเงินคืนให้กับผู้ถือหน่วยที่ทำการขายกองทุน
เพราะฉะนั้น เมื่อมีหุ้นเต็มมือตลอดเวลา ผลตอบแทนของกองทุนดัชนีจะต้องล้อไปตามตลาดหุ้น ดัชนีหุ้นตก -50% มันก็ควรจะต้องติดลบ -50% ด้วย แต่แน่นอนว่าในทางกลับกัน ถ้าหุ้นขึ้น +28% มันก็ต้องขึ้นด้วยอัตราเดียวกันนั่นเอง
กลยุทธ์ที่จะตัดปัญหาเรื่องนี้ไปได้ ควรจะเป็น กลยุทธ์ถือครองกองทุนดัชนีหุ้นตลอดเวลาและลงทุนไปเรื่อย ๆ จะหุ้นตกหรือหุ้นขึ้น ก็ปล่อยมันไปครับ
“Stay hold Stay Invest”