“รอหุ้นตก หนัก ๆ ก่อนค่อยเริ่มลงทุน ต้นทุนจะได้ต่ำกว่าปกติ”
“ตอนนี้ตลาดหุ้นขึ้นมาสูงแล้ว อย่าพึ่งไปเริ่มลงทุน”
“รอตลาดหุ้นตกไปมากกว่านี้อีกสิ ค่อยลงทุน อย่ารีบ”
ประโยคข้างบนเป็นประโยคที่ดูดี แต่เป็นกับดักที่ร้ายแรงสำหรับนักลงทุนทั่วไปด้วย ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ประโยคข้างบนนั้นถูกต้องสำหรับนักลงทุนที่เลือกลงทุนสไตล์เชิงรุก (Active Investment) ทั้งหลาย เช่น กลุ่ม VI เพราะการรอซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า เป็นหลักการสำคัญในการลงทุนสำหรับนักลงทุนเหล่านี้
หากแต่นักลงทุนทั่วไป (Average Persons) จะประสบปัญหากับคำแนะนำนี้มาก เพราะเมื่อไหร่คือต้นทุนต่ำแล้ว เมื่อไหร่คือหุ้นตก เมื่อไหร่ตลาดหุ้นคือยอดดอย เมื่อไหร่ตลาดหุ้นคือจุดต่ำสุด-จุดสูงสุด คำถามเหล่านี้ยากมาก เนื่องจากนักลงทุนทั่วไปมีปัญหาใหญ่คือ ประเมินมูลค่าหุ้นไม่คล่องหรือไม่เป็น (ซึ่งไม่แปลก คนรู้วิธีประเมินยังประเมินแตกต่างกันได้เหลือเชื่อ) แต่เมื่อไหร่ที่นักลงทุนรู้ว่าตนเองประเมินมูลค่าหุ้นไม่เป็น สิ่งนี้จะไม่ใช่จุดอ่อนของนักลงทุนอีกแล้ว เพราะนักลงทุนได้ “รู้ว่าตัวเองไม่รู้” ซึ่งสำคัญมาก!
เมื่อนักลงทุนเข้าใจแล้วว่าตนไม่รู้หรอกว่า ตลาดหุ้นมันจะประเมินมูลค่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าจุดต่ำสุดสูงสุด หุ้นตกหุ้นขึ้นคำนวณอย่างไรก็ไม่รู้ เมื่อยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ นักลงทุนก็จะไม่คิดว่าตัวเองสามารถเดาตลาดหุ้นได้ว่าตอนนี้อยู่ในจุดไหน ทำให้นักลงทุนสามารถทิ้งการจับจังหวะตลาดหุ้น (market timing) ไปได้ และยังทำให้นักลงทุนไม่เชื่อว่าตนเองสามารถซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุด ขายหุ้นที่จุดสูงสุด หรือยอมรับอย่างสดใสว่าตนนั้นไม่สามารถเดาได้หรอกนะว่าตลาดหุ้นจะไปทางไหน เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องไปเดา ไม่ต้องไปจับจังหวะซื้อขายให้เสียเวลา
ข้างบนนี้สำคัญมาก ขีดเส้นใต้แปดเส้นเลยครับ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไม่รู้ว่าตัวเองกำลังไม่รู้อะไร นักลงทุนเชื่อว่าตนเองรู้ไปซะหมดทุกอย่าง เชื่อมั่นว่าตัวเองจะขายหุ้นทิ้งที่จุดสูงสุด และซื้อหุ้นคืนที่จุดต่ำสุดได้ หรือเชื่อว่าที่ตนเองขายหุ้นทิ้งนั้นถูกต้องเพราะเดี๋ยวหุ้นจะตก อะไรเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์การลงทุนที่แย่ เพราะนักลงทุนไม่สามารถขีดวงกลมความสามารถตัวเองได้ว่า “อะไรที่ตนเองไม่รู้” นักลงทุนที่ไม่เข้าใจตรงจุดนี้ก็จะได้รับบทเรียนจากการลงทุนต่อไปในอนาคต
เพราะฉะนั้นนักลงทุนระยะยาวทั่วไปไม่ควรกังวลเรื่องนี้เลยครับ หลักสำคัญคือ เราควรจะอยู่ในหุ้นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้พลาดช่วงเวลาที่หุ้นขึ้น และไม่ควรจะออกจากหุ้น เพราะตรงไหนคือจุดออกจุดเข้าเราไม่รู้ การไปจับจังหวะลงทุนยิ่งแย่เข้าไปอีก นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 1 คือทายถูกว่าหุ้นจะตก นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่สองด้วยการขายหุ้นนั้นทิ้งไป นักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 3 คือทายถูกว่าหุ้นกำลังจะขึ้น และนักลงทุนจะต้องถูกครั้งที่ 4 คือ ต้องซื้อหุ้นนั้นก่อนที่มันจะขึ้นด้วย พูดง่ายแต่ทำยากมาก เลิกคิดซะ
การจะมานั่งรอเพื่อให้ได้ลงทุนที่จุดต่ำสุดนั้นมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงมาก เพราะนักลงทุนจะต้องคำนวณได้นะว่าอะไรคือจุดต่ำสุด หุ้นตกตรงนี้พอไหม ซึ่งมันจะมีอคติเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง นักลงทุนมักจะไปยึดติดกับตัวเลขดัชนี (anchoring) กลุ่มคนที่เข้ามาเห็นดัชนีตอนไหนก็จะยึดติดกับเลขนั้น ๆ เช่น คนที่เข้ามาลงทุนตอน 1400 จุดก็จะมองว่า 1300 จุดคือหุ้นถูก กลับกัน คนที่มาลงทุนตอน 1800 จุด ก็จะเห็นว่า 1650 จุดนั้นเป็นดัชนีที่ต่ำมาก ๆ แล้ว (ซึ่งคนกลุ่มแรกที่ชินกับ 1400 จุดก็จะตกใจว่านั่นคือต่ำหรอ) ซึ่งถ้านักลงทุนคำนวณมูลค่าได้ นักลงทุนก็อาจจะหาตัวเลขออกมาได้ แต่นั่นล่ะเมื่อเรารู้ว่าเราประเมินมูลค่าไม่ได้ก็จบ ปล่อยให้ปัญหานี้เป็นที่กังวลกับนักลงทุนคนอื่นไปซะ
สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วไปคือ เราต้องลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น และจะต้องมีกระบวนการลงทุนที่ถูกต้อง ประกอบกับมีวินัยที่จะลงทุนตามกระบวนการที่ถูกต้องด้วย
เพราะฉะนั้นในเมื่อกรณีนี้เราควบคุมตลาดหุ้นไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้แน่นอนคือ “วินัย” ที่จะลงทุนระยะยาว ซึ่งวิธีลงทุนที่น่าจะช่วยได้เยอะในการควบคุมวินัยลงทุนในสายตาผม คือ ลงทุนโดยใช้หลักการลงทุนแบบประจำหรือ DCA เพราะนักลงทุนจะได้ลงทุนตลอดเวลา หุ้นขึ้นก็ได้ซื้อ หุ้นลงก็ได้ซื้อ และตัดปัจจัยด้านอารมณ์ทิ้งไปเลย
นอกจากนี้ ถ้าลงทุนด้วยวิธี DCA การเริ่มตอนไหนดูจะไม่น่าสำคัญ เนื่องจากสมมติคุณลงทุนซื้อกองทุนดัชนีหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดเดือนละ 2,000 บาท การที่คุณจะไปนั่งรอให้หุ้นตกเพื่อจะได้เริ่ม ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะเสียหายหนักมาก เพราะคุณจะได้ต้นทุนต่ำ ๆไม่กี่เดือนหรอก และคุณก็จะต้องเจอตลาดหมีที่หุ้นตกในรอบถัดไปอยู่ดี เพราะมันคือธรรมชาติตลาดหุ้น ซึ่งถ้าคุณลงทุนตอนตลาดหุ้นทะยานเป็นกระทิง ก็น่าจะเดาได้ว่าเดี๋ยวก็เจอตลาดหมีต่อไป
หากแต่ถ้าคุณลงทุนแบบ DCA ซื้อสะสมตลอดเป็นประจำอย่างมีวินัย ตอนหุ้นตกก็ได้ซื้อ ตอนหุ้นขึ้นก็ได้ซื้อ ระยะยาวต้นทุนคุณก็จะเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ดี สมมติเราจะลงทุนเป็นประจำทุกเดือนต่อเนื่องไปอีก 50 ปี (1 ปีมี 12 เดือน) เพราะฉะนั้นคุณจะได้ลงทุนเกือบ 600 ครั้ง
คำถามคือคุณจะมารอหุ้นตกเพื่อจะได้เริ่มต้นลงทุนในช่วงหุ้นตกแค่ 10-20 ครั้งหรอครับ แต่คุณจะต้องรอลงทุนอะไรแบบนี้ไม่รู้ว่าตอนไหน ใคร ๆ ก็เชื่อว่าตัวเองจับจังหวะลงทุนถูก คำถามคือตอนดัชนี 1200 จุดซึ่งถือว่าต่ำสุดในระยะหลายปีที่ผ่านมา (2012-2017) มีนักลงทุนทั่วไปกี่คนกันที่ได้ลงทุนเพราะรู้ว่ามันคือต้นทุนต่ำแล้วในช่วงเวลานั้น
โดยส่วนตัวจึงคิดว่า คำแนะนำที่ให้หาจุดต่ำสุดหรือรอจุดต่ำสุดค่อยลงทุน ในทางปฏิบัติสำหรับคนส่วนใหญ่ทำได้ยากครับ เผลอ ๆ จะทำให้ไม่ได้ลงทุนเลย
การจับจังหวะลงทุนถูกต้องผมว่าเป็นปัจจัยที่ไม่สำคัญเลย ถ้าคุณจะเริ่มต้นลงทุนระยะยาวไปอีกหลาย ๆ ปี สิ่งที่สำคัญกว่ามากคือ การปลูกฝังพฤติกรรมหรือเริ่มลงทุนสร้างวินัยต่างหากที่สำคัญ ซึ่งการจะบ่มเพาะอุปนิสัยเหล่านี้จะต้องใช้เวลา เขาถึงมีคำพูดกันว่าเวลาที่เริ่มต้นลงทุนที่ดีสุดคือ “ตอนนี้” ยังไงล่ะครับ เพราะพฤติกรรมการลงทุนที่ดีมีวินัยมันต้องใช้เวลา การลงทุนก็ต้องใช้เวลา คุณจะต้องสร้างอุปนิสัยการลงทุนที่ดี การเริ่มทันทีจะทำให้เราสร้างอุปนิสัยเริ่มต้นด้วยจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่เมื่อมีเงินลงทุนจำนวนที่มากต่อไป เราจะมีอุปนิสัยการลงทุนที่ดีพร้อมแล้ว!
ซึ่งถ้าคุณไม่เริ่มต้นสักที คุณก็น่าจะรอไปเรื่อย ๆ และสำหรับบางคนอาจจะรอตลอดไปเลยก็ได้ครับ