มักจะมีคำถามที่ชวนสงสัยว่าเราควร มีกองทุนกี่กองดี ? นั่นสิครับ ในการลงทุนควรมีกองทุนกี่กองดี ควรจะต้องใส่ไข่ไว้ในตะกร้าหลายๆใบไหม เดี๋ยวมันแตกหมด ซึ่งเอาจริงๆแล้ว เราไม่จำเป็นต้องมีกองทุนหลายๆกองเลย ถ้าแบ่งประเภทกองทุนตามสิทธิประโยชน์ของมัน กองทุนที่เราควรมีก็จะได้แก่
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกรณีของข้าราชการก็คือ กบข.
- กองทุนที่สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อมาลดหย่อนภาษีได้ ก็จะมี 2 กองทุน คือ กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- กองทุนรวมทั่วไป
ซึ่งโดยปกติคุณก็ควรจะมีกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาวๆ และออมเงินให้เติบโตเพียงแค่ 4 กองทุน คือ PVD / LTF / RMF / กองทุนรวมทั่วไป และถ้าคุณเป็นคนที่อายุยังน้อย (เช่น เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 25-30) มีเวลาลงทุนได้นานมากๆ (ลงทุนได้อีก 20 ปี+) และต้องการให้เงินในอนาคตเติบโตสูงสุด ก็ควรจะเลือกเป็น PVD ที่มีหุ้น 100% หรือหุ้นมากที่สุด เลือก LTF ประเภทหุ้นแท้ๆ ไม่ใช่ผสมตราสารหนี้ที่เรียกว่า 70/30 เลือกลงทุนใน RMF หุ้น แล้วก็เลือกกองทุนหุ้นอีกหนึ่งกองเพื่อลงทุนระยะยาวเพิ่มไปอีก เอาจริงๆคุณก็จะมีกองทุนแค่ 4 กองในชีวิตครับ แต่ทั้งนี้อาจจะมีกองทุนอีกกองเพิ่มขึ้นมาเป็นกองที่ 5 คือ กองทุนรวมเอาไว้สำรองค่าใช้จ่ายหรือไว้ใช้พักเงิน เช่น กองทุนตลาดเงิน หรือจะเป็น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
เท่ากับกองทุนในมือเราก็จะมี 5 กอง ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับเรียบง่ายและสมประโยชน์ที่ต้องการ โดยมี PVD – LTF – RMF ไว้เป็นเงินลงทุนระยะยาวและสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีกองทุนรวมธรรมดาอีกกองซึ่งในยามฉุกเฉินสามารถสั่งขายออกมาได้สะดวก โดยอาจจะมีไว้สองกองทุนคือกองทุนหุ้นกับกองทุนที่เอาไว้พักเงิน
ผมมีข้อสังเกตว่ากรณีนี้เรามีกองทุนหุ้นอย่างน้อย 3-4 กอง ถ้าเรานับหุ้นที่กองทุนถือลงทุน ซึ่งปกติก็จะมีจำนวนระหว่าง 20-40 ตัว เรามีกองทุนหุ้น 3-4 กองทุน คิดแบบเร็วๆ เราก็น่าจะถือหุ้นถึง 60-160 บริษัท แต่เรื่องจริงมันจะต้องมีการลงทุนในหุ้นซ้ำๆกัน เพราะ active funds มักจะลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ๆนี่ล่ะ ซึ่งก็ไม่พ้นเราจะมีหุ้นซ้ำไปซ้ำมา โดยรวมแล้วเราก็น่าจะลงทุนในหุ้น 50 บริษัทขึ้นไป ลองคิดดูดีๆนะครับ ถ้าจำนวนหุ้นเยอะขนาดนี้ แล้วมันจะต่างอะไรกับถือกองทุนดัชนี SET50 ถ้าคุณจะถือหุ้นเยอะขนาดนี้นะ ซึ่งในเมื่อมันถือหลายๆกองทุนแล้วหุ้นพอๆกับ SET50 ท่านจะถือกองทุนแบบ active ไปทำไมกัน เพราะกองทุนพวกนี้ค่าใช้จ่ายรวมต่อปีสูงกว่าประมาณ 2-5 เท่า ทางเลือกที่น่าจะดีกว่าก็คือถือกองทุนดัชนีทุกกองไปเลยโดยเลือก กองทุนดัชนี ที่มี ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด
หลักการนี้นำไปใช้กับคำถามที่ว่า เราควรจะถือกองทุนหุ้นหลายๆกองเพื่อกระจายความเสี่ยงหรือไม่ นักลงทุนที่คิดจะถือกองทุนหุ้นประมาณ 3-5 กองเพื่อกระจายความเสี่ยง (กรณีนี้ผมหมายถึงคุณมี LTF หุ้น 3-5 กอง หรือมี RMF หุ้น 3-5 กองนะครับ)¹ นักลงทุนไม่ได้กระจายความเสี่ยงอะไรหรอกครับ นักลงทุนถือหุ้นประหนึ่งถือหุ้นทั้งดัชนีน่ะล่ะ แต่ความเสี่ยงไม่ได้กระจาย แถมเพิ่มความเสี่ยงมาอีกด้วยว่าระยะยาวนั้นนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดอย่างมาก เพราะค่าใช้จ่ายกองทุนพวกนี้รวมกันมันจะกัดกินผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้ไปเกือบหมด ผมเข้าใจอคติ (bias) อย่างหนึ่งของนักลงทุนนะ นักลงทุนจะคิดว่าตัวเองแยกตะกร้า ฉันลงทุนกองทุนหุ้น A กองทุนหุ้น B กองทุนหุ้น C กองทุนละ 100 บาท ปีนี้กองทุน A กับ B ผลตอบแทนแย่ เงินเหลือ 90 บาททั้งคู่ แต่ C ดีมากกลายเป็น 110 บาท นักลงทุนจะสนใจผลตอบแทนของกองทุน C แล้วนักลงทุนก็จะสบายใจ หารู้ไม่ว่า เงินใน A B C มันก็เงินนักลงทุนเองทั้งหมดไม่ใช่หรือ คือ 300 บาท เพราะฉะนั้นเวลาคำนวณผลกำไรจริง นักลงทุนต้องคิดรวมกันเป็นเงินก้อนเดียว ไม่ใช่แยก ก็จะได้ 290 บาท ซึ่งนักลงทุนก็ขาดทุนอยู่ดี
เพราะฉะนั้น การลงทุนโดยซื้อกองทุนกระจายหลายๆกองในสินทรัพย์ชนิดเดียวกัน เช่น กองทุนหุ้นไทยซื้อไป 5-6 กอง ส่วนตัวผมว่ามันไร้หลักการลงทุนที่ดีมารองรับ ถ้านักลงทุนบอกจะกระจายความเสี่ยงเวลาหุ้นตก มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ถ้าตลาดหุ้นจะตกหนักร่วงลงแรงมาก หุ้นทั้งตลาดมันก็ควรจะร่วงลงมาด้วย กองที่จะรอดก็จะมีแต่กองทุนที่ถือเงินสดไว้เยอะๆ จับจังหวะถูก แต่ส่วนมากจะมาพลาดอีกรอบก็ตอนหุ้นขึ้น กองทุนพวกนี้จะไล่ซื้อหุ้นไม่ทัน สุดท้ายผลตอบแทนระยะยาวที่ท่านจะได้ก็จะลดน้อยถดถอยลงอยู่ดี
พฤติกรรมที่โดนอคติบดบังแบบนี้จะพบได้ในพฤติกรรมการลงทุนอีกประเภทคือ การที่นักลงทุนชอบซื้อกองทุนหลายๆกอง กองไหนขาดทุนก็ดองไว้ แล้วก็ช็อปปิ้งกองใหม่ไปเรื่อยๆ กองไหนกำไรก็ขาย กองขาดทุนก็ดองไว้ต่อ (ที่ Peter Lynch เรียกว่าพฤติกรรม “เด็ดดอกไม้ รดน้ำวัชพืช”) สุดท้ายพอร์ตกองทุนของนักลงทุนเหล่านี้ก็จะมีแต่กองทุนที่ขาดทุนเก็บสะสมไว้เต็มไปหมด เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนอคติในการลงทุนได้ดีว่าคนเรามักจะลงทุนโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
เพราะฉะนั้นถามตัวเองทุกครั้งเวลาจะซื้อกองทุนเพิ่มว่ามันจำเป็นจริงๆหรือ การมีกองทุนเยอะแยะเกินไปอาจจะเป็นตัวบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่าคุณควรจะรู้แล้วนะว่าคุณน่ะ
ยังไม่รู้อะไรและยังไม่เข้าใจในการลงทุนดี
ควรทบทวนพอร์ตการลงทุนได้แล้วครับ
¹ การที่มีกองทุน LTF หุ้นหนึ่งกอง RMF หุ้นหนึ่งกอง กองทุนหุ้นธรรมดาอีกหนึ่งกอง โดยทั้งสามกองทุนเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมด ไม่เหมือนกับการมี LTF 5 กอง RMF อีก 5 กอง รวมเป็น 10 กองและเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมด เพราะกรณีหลังเป็นการลงทุนแบบไม่เกิดประโยชน์อะไร ส่วนกรณีแรกเป็นการที่เราลงทุนโดยเน้นสิทธิบางอย่างแยกไปครับ เช่น LTF มันก็มีหลักเกณฑ์ลดหย่อนภาษีที่แตกต่างจาก RMF จึงสามารถลงทุนในหุ้นไทยทั้งหมดได้แม้จะรวมเป็นตะกร้าเดียวกันเนื่องจากลักษณะสิทธิประโยชน์ในการลงทุนมันแยกกัน คือ จริงๆเราต้องการจะลงทุนในหุ้นไทย 100% แต่เพราะมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเราจึงต้องแบ่งไปลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทแยกสัดส่วนเงินกันครับ
แล้วถ้าซื้อกองทุนหุ้นขนาดใหญ่หรือเซ็ท 50 และกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยถือยาวทั้งคู่ มีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวทางนี้ครับ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างระดับผลตอบแทนให้คงที่หรือเปล่า ขอบคุณครับ
ถูกใจถูกใจ
แล้วถ้าซื้อกองทุนหุ้นขนาดใหญ่หรือเซ็ท 50 และกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยถือยาวทั้งคู่ มีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวทางนี้ครับ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างระดับผลตอบแทนให้คงที่หรือเปล่า ขอบคุณครับ
ถูกใจถูกใจ
คือถ้าซื้อ SET50+กองทุนหุ้นขนาดกลาง+เล็กมันก็น่าจะเท่ากับซื้อ SET อยู่ดีหรือเปล่าครับ (อันนี้มาจากปัญหาหนึ่งในวงการกองทุนดัชนีไทย ที่ตัวกองทุนเลียนแบบ SET Index แท้ ๆ และค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ นั้นไม่มี ที่มีก็เก็บแพงไปประมาณ 1% นิด ๆ ต่อปี) เว้นแต่จะลงทุนกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กในสัดส่วนที่มาก ๆ
ถูกใจถูกใจ