DCA (dollar-cost-average) — Regular Investment
DCA คือ วิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่ส่วนตัวนั้น ผมคิดว่าค่อนข้างเหมาะสมกับนักลงทุนรายย่อยทั่วไปที่ต้องการออม ลงทุน หรือสะสมความมั่งคั่งระยะยาวด้วยการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (accumulating wealth) โดยเฉพาะ “หุ้น” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ ผลตอบแทนสูงในระยะยาวแต่มีความผันผวนอย่างมากในระยะสั้น
ในทางสถิติจากงานวิจัยตลาดทุนหลายประเทศ หุ้นในระยะยาวนั้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นที่ประมาณ 8-10% ต่อปี แต่ในรายปีอาจจะเหวี่ยงตัวผันผวนสูงมาก ตั้งแต่ +100% หรือติดลบ -50% เลยก็ได้ หากแต่ถ้าลงทุนถือครองเป็นเวลานานพอ ประมาณ 10-15 ปีขึ้นไป มันจะแสดงผลตอบแทนที่แท้จริงออกมาครับ ย้ำว่าถ้าอยากจะได้ผลตอบแทนดังว่า นักลงทุนจะต้องอดทนถือครองหุ้นให้นานพอ ต่ำกว่า 7 ปีนี่หุ้นนั้นยังมีความผันผวนอยู่ได้
1. การลงทุนแบบประจำเป็นวิธีลงทุนที่เหมาะกับคนทั่วไป
ที่ผมว่า วิธีลงทุนแบบประจำ (regular investing) เป็นวิธีที่เหมาะสมกับนักลงทุนทั่วไปก็เพราะ นักลงทุนส่วนใหญ่มีภารกิจในงานประจำแต่ละวันที่ต้องใส่ใจและต้องใช้เวลา จึงควรจะเอาเวลาที่มีนั้นไปพัฒนาศักยภาพในการทำงาน มากกว่าที่จะมานั่งเสียเวลาไปกับการติดตามตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด หรือมานั่งจับจังหวะลงทุนหุ้น (ซึ่งจากงานวิจัยส่วนใหญ่ก็พบว่านำไปสู่ผลขาดทุนมากกว่าจะได้กำไร)
อาจจะพอกล่าวได้ว่า กรณีที่ไม่ได้ต้องการเป็นนักลงทุนเต็มตัวหรือทุ่มเทเวลามาเป็นนักลงทุนมืออาชีพ คนทำงานทั้งหลายควรจะเอาเวลาไปพัฒนาขีดความสามารถหรือทำตามความฝันของตน แล้วแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้มาลงทุนในหุ้นครับ
ทั้งนี้การลงทุนแบบประจำก็จะเป็นวิธีลงทุนที่ค่อนข้างสอดคล้องกับพฤติกรรมการลงทุนแบบนั้น คือ เรากำหนด จำนวนเงิน และ เวลา ที่จะลงทุนเป็นประจำ (บางทีก็เรียกว่าการซื้อถัวเฉลี่ย) ยกตัวอย่าง เรามีเงินเดือน 20,000 บาท ต้องการลงทุนเดือนละ 5,000 เราก็อาจจะตั้งแผนให้ซื้อกองทุนรวมหุ้น ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน เป็นจำนวน 5,000 บาท
เมื่อตั้งแผนลงทุนแบบประจำแล้ว เราก็ลงทุนตามแผนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ ลงทุนระยะยาวจนเกษียณกันไปเลย มีเงินหรือรายได้เพิ่มก็ปรับแผน เช่น อาจจะเปลี่ยนเป็นลงทุนเดือนละ 10,000 ในอนาคต และนี่คือข้อดีสำคัญ ๆ สองประการหลักของวิธีลงทุนแบบนี้
(I) เป็นการ “จ่ายให้ตัวเองก่อน” : ก่อนที่เราจะจ่ายเงินไปกับค่าใช้จ่ายใด เราควรจ่ายให้กับการออมและการลงทุนเพื่ออนาคตของตัวเราเองก่อนครับ วิธีนี้มันจะหักเงินหรือเราต้องเอาเงินเดือนไปลงทุนก่อนที่เราจะเอาเงินมาใช้จ่าย ทำให้สอดคล้องกับหลักการ รายได้-เงินออม = ค่าใช้จ่าย และสอดคล้องกับการใช้ชีวิต เพราะปกติเงินเดือนที่ได้ก็จะเข้ามาเป็นประจำทุกเดือน ดังนั้น การลงทุนให้สอดคล้องโดยหักจากรายได้ไปออมทุกเดือน ทำให้การลงทุน “เรียบง่าย” และปฏิบัติตามได้สบาย ๆ
(II) นอกจากจะจ่ายให้ตัวเองก่อนแล้ว ยังเป็นการ “ลงทุนแบบอัตโนมัติ” และ “ตัดอารมณ์ทิ้ง” วิธีลงทุนแบบนี้ทำให้เงินของคุณไปลงทุนทันที ลงทุนตามเวลา เป็นการลงทุนแบบที่ไม่มีอารมณ์เข้าข้องเกี่ยว ไม่มีการจับจังหวะลงทุน เพราะใช้ “วินัยและความอดทน” ที่จะทำตามแผนเป็นหลัก
นอกจากนี้ ถ้านักลงทุนมีวินัยในการลงทุนได้ ปัญหาสำคัญในการลงทุนซึ่งมักจะมาจากตัวนักลงทุนเองอย่าง “อารมณ์” (emotions)[1. John C. Bogle, The LiIttle Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (Hoboken: Wiley, 2007), 194.] ก็จะถูกกำจัดทิ้งไป ซึ่งเป็นข้อดีอย่างยิ่งของวิธีลงทุนแบบประจำครับ เพราะนักลงทุนได้ขจัดศัตรูตัวร้ายแห่งการลงทุนไปหนึ่งอย่างที่พยายามกระตุ้นให้นักลงทุนจับจังหวะลงทุน (market timing) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกลยุทธ์ที่ด้อยประสิทธิภาพและนักลงทุนมักจะจับจังหวะผิดพลาดบ่อย ๆ[1. ibid., 53.]
2. ประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับ DCA
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนแบบประจำซึ่งก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่อยากจะให้สังเกตไว้ ก็คือ
I. มันไม่ใช่วิธีที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด
วิธีลงทุนแบบประจำไม่ใช่วิธีที่ทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนสูงสุด หากแต่มันเป็นวิธีที่ทำให้คุณได้รับ “ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในระยะยาว” โดยปฏิบัติตามได้อย่างเรียบง่าย อันนี้ค่อนข้างสำคัญ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย เท่าที่ผมเคยอ่านบทวิจัยของ Vanguard ระยะยาวจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนแบบ Lump Sum (ลงทุนครั้งเดียวแล้วถือยาว) ซึ่งก็สมเหตุสมผลครับ
ในเมื่อระยะยาวตลาดหุ้นจะมีการเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ คนที่ลงทุนด้วยเงินก้อนเดียวหนัก ๆ ก่อน ก็ควรจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าคนที่ทยอยลงทุนเกลี่ย ๆ เฉลี่ย ๆ เป็นช่วงเวลา ความยากของการลงทุนแบบ Lump sum นั้นมีหลายระดับ ระดับที่ผมคิดว่ายากสำหรับคนทั่วไป คือ คุณจะช็อกมาก ๆ ถ้าดันแจ็กพ็อตไป Lump sum แล้วเจอหุ้นตกหนักหลังจากนั้น สิ่งที่ทำให้คุณถือลงทุนต่อไม่ได้ก็เพราะมันจะเกิดความกลัวขึ้นมาในจิตใจครับ
และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ถ้าคุณกลัวแบบนั้น คุณก็จะเริ่มจับจังหวะลงทุน (Market Timing) ซึ่งโดยปกตินักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถด้านนั้นหรอกจึงมักจะจบลงที่ทำให้เกิดผลขาดทุนมากกว่ากำไร ในประเด็นนี้นั้น John Bogle ผู้เป็นตำนานของวงการกองทุนรวมก็เคยกล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานในวงการลงทุนมาหลายสิบปี ยังไม่เคยเจอคนที่คาดเดาเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นแล้วถูกได้ตลอดเวลา และคนที่จับจังหวะลงทุนได้ถูกต้องเสมอนั้น เขาก็บอกว่าเขาไม่เคยเจอเลย
การเริ่มต้นลงทุนที่ราคาหุ้น ณ จุดสูงสุด แล้วไปขาย ณ จุดสูงสุด เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ นักลงทุนมักจะชอบและฝันว่าตัวเองจะเจอโชคดีที่ถูกจังหวะเช่นนี้ (Luck in picking a right time to invest) หากแต่การลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นตลอดเวลาและลงทุนระยะยาวไปตลอดสำคัญกว่าการจับจังหวะลงทุนครับ พยายามทำให้เวลาอยู่ข้างคุณ (Put time on your side.)[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 13.] ด้วยวิธีลงทุนแบบประจำซึ่งจะช่วยสร้างความอัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้น มากกว่าจะไปเสียเวลาจับจังหวะลงทุนถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ
II. ระยะเวลาในการลงทุนด้วยวิธี DCA
คุณต้องลงทุน เป็นระยะเวลาที่นานพอ โดยเฉพาะกับ “หุ้น” คือ ต้องไม่หลงไปกับคำพูดที่หลายคนบอกว่า dollar-cost averaging หรือการลงทุนแบบประจำในช่วงเวลาที่หุ้นตก หรือหุ้นเป็นขาลง จะส่งผลให้นักลงทุนขาดทุน โอเคแน่นอนครับว่า ในระยะเวลาสั้น ๆ วิธี DCA ไม่ปกป้องคุณจากการขาดทุน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามันปกป้องคุณจากการโชคร้ายลงทุนด้วยเงินก้อนเดียวหนัก ๆ ในช่วงที่ตลาดกำลังจะตกหนักด้วย[1. ibid., 65.]
หากแต่การซื้อสะสมตามวินัย ช่วงตลาดหุ้นตก คุณก็จะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเพราะถัวเฉลี่ยเนื่องจากได้ซื้อตอนหุ้นหรือสินทรัพย์มีราคาที่ลดลงจากเดิม ในทางตรงกันข้าม ช่วงเวลาที่ตลาดเป็นขาขึ้น ด้วยพลังแห่งวินัยในลงทุนแบบประจำก็จะต้องทำให้คุณลงทุนต่อไป แต่เมื่อลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่าเดิม มันจะทำให้คุณซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นได้น้อยลง ระยะยาวต้นทุนในการลงทุนของคุณก็จะเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยครับ[1. Burton G. Malkiel, A Random Walk down Wall Street: The Time-tested Strategy for Successful Investing, 11th ed. (New York: W. W. Norton & Company, 2016), 357.]
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญมากก็คือ “วินัย” เพราะคุณจะต้องลงทุนไปเรื่อย ๆ แม้แต่วันที่โลกการเงินดูจะมืดหม่น มีแต่ข่าวร้าย หันไปรอบตัว ใคร ๆ ก็เลิกลงทุนหุ้น ตลาดหุ้นตกหนัก ราวกับโลกนี้จะไม่มีแสงอาทิตย์ขึ้นในตลาดหุ้นอีกแล้ว คุณก็จะต้องลงทุนต่อไปให้ได้[1. Malkiel and Ellis, The Elements of Investing, 64.]
ถ้าจะให้แน่ใจว่าเราจะได้รับ ผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้น คุณต้องลงทุนระยะยาว เพราะฉะนั้นควรจะ DCA สะสมไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็ควรมากกว่า 7 ปีขึ้นไป ใครที่มีช่วงระยะเวลาลงทุนสั้นกว่านั้น ยังไงก็มีโอกาสขาดทุน
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเป็นการซื้อสะสมในหุ้นหรือกองทุนหุ้น ยังไง ๆ ก็ต้องใช้เวลาครับ เพราะเวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนระยะยาว และในระหว่างนั้นอย่าได้สนใจภาพสั้น ๆ จะหุ้นขึ้นหุ้นลงก็ปล่อยมันไป เพราะมันคือธรรมชาติของตลาดหุ้นอยู่แล้ว คนที่ไม่เข้าใจตรงนี้ต่างหากที่ไม่เข้าใจหลักการลงทุนในหุ้น
III. สินทรัพย์แต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน
สำหรับการลงทุนประจำโดย DCA หุ้นรายตัวคุณต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น วิเคราะห์ได้ เลือกหุ้นได้ และ พลาดได้
สินทรัพย์ที่เหมาะกับวิธีลงทุนแบบประจำจริง ๆ คือ การซื้อสะสมกองทุนรวมหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยง (broadly diversified )ประกอบด้วยหุ้นหลายตัวรวมกันในพอร์ตฟอลิโอ ตัวอย่างเช่น ลงทุนแบบประจำในกองทุนรวมหุ้นที่เป็นกองทุนดัชนีแบบกระจาย (Broad-based Index Funds)
อย่างในไทยก็เช่น กองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET Index SET50 หรือ SET100 กระทั่งกองทุนหุ้นปกติก็ถือว่า มีการกระจายความเสี่ยงในระดับหนึ่ง เพราะมักจะประกอบด้วยหุ้นอย่างน้อย 20-30 ตัวขึ้นไป ทำให้แต่ละตัวจะมีขนาดประมาณ 3-5% ของพอร์ต ซึ่งการสูญเสียในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะไม่กระทบพอร์ตลงทุนหลักหรือภาพรวมของกองทุนมากนัก และหุ้นหลายตัวรวมกันก็เสมือนมีการถือธุรกิจที่รวมกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมเติบโตไปตามเศรษฐกิจระยะยาวครับ
ทั้งนี้โดยสภาพนั้น กองทุนรวมมักจะมีการกระจายการลงทุนระดับหนึ่งอยู่แล้ว กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ก็สามารถลงทุนซื้อสะสมด้วยวิธีลงทุนแบบประจำได้เช่นกัน
3. DCA คือวิธีที่เพิ่มเวลาให้นักลงทุน
สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือ กำหนดจำนวนเงิน ที่จะออมหรือลงทุน กำหนดเวลา ที่จะทำการลงทุนเป็นประจำ การกำหนดที่สอดคล้องกับนักลงทุนทั่วไปมากที่สุดในความคิดของผม คือ ซื้อสะสมรายเดือน เพราะสอดคล้องกับเงินเดือนที่ออก ไม่ยุ่งยาก และเรารักษาความมีวินัยที่จะทำตามได้ง่าย ลองนึกภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เจ้านี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการซื้อแบบ DCA ครับ
ทั้งนี้ต้องระวังประเด็นที่นักลงทุนหลายคน บางทีก็อาจจะพยายามหาอะไรที่มันซับซ้อน เช่น ลงทุนรายสัปดาห์ ลงทุนรายวันที่เลือก เช่น ทุกจันทร์ ทุกศุกร์ (อันนี้ยังพอได้) แม้กระทั่งลงทุนตามใจ ใช้แนวเทคนิค กราฟมาดูมาจับจังหวะ ซึ่งระยะยาวผลตอบแทนจะไม่แตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญกับรายเดือน (หรืออาจต่ำกว่าด้วยซ้ำ) จึงต้องระวังว่า ถ้ามันซับซ้อนจนทำตามยากจนเกินไป ทำตามไม่ได้ การลงทุนแบบนั้นก็จะไม่มีประโยชน์เลย
ข้อดีสำคัญของการซื้อสะสมรายเดือนเด่น ๆ คือมันค่อนข้างทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยาก ราย 2 เดือน 3 เดือน ครึ่งปี หนึ่งปี อาจจะมีปัญหาตรงการลืม หรือ สะสมเงินไว้แล้วแต่อดใจไม่ไหวเอาไปใช้ก่อน ยิ่งปล่อยเวลาเนิ่นนานยิ่งทำให้เกิดข้ออ้างไม่ลงทุนเอาดื้อ ๆ
สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญจริง ๆ ที่การลงทุนแบบประจำให้คุณได้ คือ ผลตอบแทนระยะยาวที่น่าพึงพอใจโดยที่มีเวลาชีวิตในการไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่า เป็นการที่ในด้านของชีวิต เราก็มีการเติบโต ในด้านของการลงทุนเราก็มีความมั่งคั่ง+เงินออมเติบโตเช่นกัน อันจะทำให้เห็นชัดเจนว่า นักลงทุนมักจะลืมต้นทุนด้านเวลาครับ
วิธีลงทุนแบบ DCA คือ วิธีที่ให้เวลากับนักลงทุนได้ คุณไม่ต้องสนใจภาพตลาดหุ้นในระยะสั้น ๆ เลย แม้กระทั่งภาพยาวด้วยในหลาย ๆ ครั้ง ขอแค่คุณเข้าใจภาพใหญ่ของการลงทุน มีวินัยในการลงทุน มีความอดทนทำตามแผน ภาพรวมชีวิตของคุณจะได้ผลตอบแทนสูงสุด ๆ ในหลายด้านด้วยวิธีลงทุนแบบประจำอย่างมีวินัยครับ
4. บทสรุปเกี่ยวกับการลงทุนแบบประจำ
การลงทุนแบบประจำเป็นวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ และสามารถผสานสอดคล้องกับประโยชน์ที่ดีของการลงทุนกองทุนดัชนี นั่นคือ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในอนาคตที่น่าประทับใจด้วยการลงทุนในกองทุนดัชนีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ และลงทุนเป็นประจำเรื่อย ๆ ตลอดเวลาอย่างมีวินัย
แม้ว่าการลงทุนแบบประจำจะไม่ทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนสูงที่สุด หากแต่คนที่ลงทุนเป็นประจำตามระยะเวลาที่กำหนดแบบอัตโนมัติทุกเดือนจะได้รับประโยชน์จากความมีวินัยของตนเอง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนสูง ๆ ให้นักลงทุนได้ และจะสูงขึ้นไปอีกถ้ากล้าซื้อหุ้นเพิ่มในเวลาที่นักลงทุนส่วนใหญ่เทขายหุ้นหนีตาย[4. Peter Lynch and John Rothchild, Beating the Street, revised ed. (New York: Simon & Schuster, 1994), 33.]
บทความต่อเนื่องอ่านเพิ่มเติมครับ: วิธีเปิดกองทุนรวมเจ้าหลักและตั้งค่าซื้อรายเดือน