มีเรื่องหนึ่งที่คาใจมานาน เพราะมองข้อดีของมันไม่ออกเลย ประเด็นที่ว่าคือ ถ้าเราจะลงทุนระยะยาวในกองทุนหุ้น ทำไมเราถึงเอาเงินไปไว้ในกองทุนแบบมีปันผล? หัวข้อนี้น่าสนใจมากๆ เพราะตัวผมเองนั้นมักจะได้อ่านความเห็นในเว็บบอร์ดลงทุน แนะนำให้ลงทุนรายเดือนเฉลี่ยในกองทุนแบบมีปันผล ได้ปันผลมาก็เอาไปซื้อกลับ หรืออีกเคสหนึ่งให้รอซื้อกองทุนหลังปันผลเพราะจะได้ NAV ราคาหน่วยถูกลง หรือไม่ก็แนะนำเลยว่าให้ซื้อก่อนปันผล เพราะจะได้ปันผลมาใช้เลยไม่ต้องรอ เรื่องทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างลึกซึ้งทีเดียว
1.อย่างแรกเลย ปันผลทุกครั้งนั้นจะถูกหักภาษี 10% ครับ สมมติปันผลมา 100 บาท ก็จะเหลือเงินสดจริงๆให้เรา 90 บาท (ในส่วนนี้ใครที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีสามารถขอคืนภาษีได้โดยทำการยื่นแบบภงด.) แต่ แต่ ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีคนทำแบบนี้เยอะไหม หรือส่วนมากจะละเลยแล้วปล่อยภาษีทิ้งไปเลย ถ้าเราลงทุนหลายสิบปี ผลตอบแทนเราจะถูกลดทอนลงจากภาษีที่ว่าไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่กลับกันถ้าปล่อยเงินโตในกองทุนไปเรื่อยๆ จะไม่ถูกหักภาษีเลย แถมตอนขายทิ้งก็ไม่มีภาษีด้วย ผมจึงไม่เห็นประโยชน์ในการลงทุนระยะยาวกับกองทุนแบบมีปันผลเลย นี่คือข้อสงสัยอย่างที่หนึ่ง
2.เรื่องที่สอง ถ้าจะลงทุนแบบซื้อเฉลี่ยไปเรื่อยๆ ทำไมถึงต้องลงทุนกองทุนที่มีปันผล แล้วเอาเงินปันผลที่ได้มาซื้อต่อ ทั้งๆที่จะโดนภาษีหักไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าเงินที่เอามาลงทุนต่อย่อมจะน้อยกว่ามากๆเมื่อเทียบกับเราปล่อยเงินให้อยู่ในกองทุนแล้วปล่อยกองทุนลงทุนทบต้นต่อไป
3.การแนะนำให้เข้าซื้อก่อนปันผล จะได้ปันผลมาใช้เลย ผมสมมติแบบนี้ กองทุน xxx มี NAV ที่ 14 บาท ประกาศจ่ายปันผล 1 บาท มีคนแนะนำให้ผมซื้อเลย จะได้ปันผล ผมก็เข้าซื้อ กลายเป็นว่าหลังปันผล ผมได้เงินปันผล 0.9 บาท (ถูกหักภาษี10%) และราคา NAV หลังหักปันผล 1 บาทก็จะเหลือที่ 13 บาท สรุปแล้วผมมีมูลค่าลงทุนเหลือเพียง 13 บาทและเงินปันผลที่ได้รับ 0.9 บาท นั่นคือผมขาดทุน! และ และ เห็นอะไรไหมครับไอ้ 0.9 บาทที่ผมได้มันก็คือเงินลงทุนที่ผมพึ่งซื้อไปนั่นเอง
4.การซื้อหลังกองทุนปันผลด้วยเหตุผลว่าเพราะจะได้หน่วยที่ถูก นั่นคือ ต้นทุนหลอก ครับ เรารู้สึกว่ามันถูก จริงๆไม่ถูกหรอก เราก็ได้เท่ากับคนที่เขาซื้อมาก่อนนั่นล่ะ เหมือนตัวอย่างข้างบน NAV 14 บาท ปันผล 1 บาทเหลือ 13 บาท สรุปแล้ว คนที่ซื้อก่อนเราเขาก็เหลือต้นทุนที่ 13 บาท + เงินปันผลในมือ 1 บาท (สมมติว่าไม่ถูกหักภาษี) ส่วนเราก็ถ้าเงินเท่ากัน 14 บาทซื้อที่ NAV 13 บาท เราก็จะเหลือเงินในมือ 1 บาทเหมือนกัน
เงินที่คุณจะลงทุนในหุ้นเป็นเงินลงทุนระยะยาว ลงทุนกันอีก 20-50 ปี การให้ทุกบาททุกสตางค์เติบโตทบต้นเป็นอะไรที่สมเหตุผลสุด แล้วทำไมเราจะต้องให้กองทุนจ่ายปันผลออกมาด้วย ในเมื่อคุณก็ต้องเอากลับไปลงทุนใหม่ สำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปีแล้วบอกว่าจะเอาปันผลออกมาใช้จ่าย ผมว่ามันไม่ถูกอยู่ดี เพราะต้องมองเงินทั้งก้อนนี้เป็นเงินในอนาคตทั้งหมด การดึงหรือชักออกมาใช้ก่อน ทำให้เงินต่อไปเราหดลงด้วย
การปล่อยให้เงินเติบโตในกองทุน ผู้จัดการกองสามารถนำเงินไป reinvest ลงทุนต่อได้ทันที มันจะเกิดผลตอบแทนแบบดอกเบี้ยทบต้น
การที่กองทุนจ่ายปันผล เงินปันผลจะถูกหักภาษี 10% ซึ่งมันอาจดูเล็กน้อยแต่ระยะยาวแล้วแย่มาก ตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติเราลงทุนกองทุนหุ้นไป 1,000 กองทุนทำกำไร 10% เงินโตเป็น 1,100 กองทุนจ่ายกำไรออกมาหมด คือ จ่ายกำไรมา 100 บาท คุณถูกหักภาษี 10% เงินรับจริงเหลือ 90 บาท คุณเอาไปใช้ และนี่คือต้นทุนค่าเสียโอกาสครับ นั่นคือ เงิน 10 บาทนี้ถ้าสามารถลงทุนในกองทุนต่อแล้วได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี อีก 20 ปี เงินก้อนนี้คือ 80 บาท และอีก 40 ปี มันคือ 640 บาท !!! ถ้าเงินภาษีที่ถูกหักคือ 1 ล้านบาท เงินนั่นในอนาคตอีก 40 ปี คือ 64 ล้านบาทนะครับ
อีกประเด็นสำคัญที่จะหลงกันมาก คือ ปันผลหุ้น กับ ปันผลกองทุนหุ้น นั้น “ไม่เหมือนกัน” ปันผลของหุ้นแต่ละตัวนั้นมาจากกำไรของบริษัทที่ทำได้แล้วจ่ายออกมา แต่ปันผลของกองทุนหุ้นนั้นมาจากกำไรจากการลงทุนของกองทุนรวม เพราะฉะนั้นกองทุนหุ้นอาจได้รับปันผลจากหุ้น แต่ กองทุนอาจจ่ายปันผลไม่ได้ ลองดูตัวอย่างกัน (ในตัวอย่างจะไม่หักค่าใช้จ่ายกองทุนและหนี้สินนะครับ จะได้ไม่งง)
สมมติกองทุนรวมหมีน้อยตั้งมาด้วยเงินลงทุนของนักลงทุนรวมกัน 1,000 ล้านบาท โดยปกติราคาหน่วย NAV per unit ก็จะเริ่มต้นที่ 10 บาท สมมติแบบเข้าใจง่ายๆว่ากองทุนเอาเงินไปซื้อหุ้นบริษัทปูนตราลูกหมี ที่ราคาหุ้นละ 100 บาทด้วยเงินทั้งหมด เวลาผ่านไปหนึ่งปี บริษัทปูนตราลูกหมีมีกำไรเลยจ่ายปันผล กองทุนได้ปันผลมารวม 50 ล้านบาท = ตอนนี้กองทุนมีกำไรแล้ว 50 ล้านบาท (หรือผลตอบแทน 5% จากเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท—ราคาหน่วย NAV per unit จะกลายเป็น 10.50 บาท) ตรงนี้ขึ้นอยู่กับกองทุน ถ้าสมมติกองทุนนี้มีนโยบายไม่จ่ายปันผล กองทุนก็จะเอาเงินไปลงทุนซื้อหุ้นต่อ (Reinvest) เงินเราก็จะเติบโตต่อไป แต่ถ้ากองทุนมีนโยบายจ่ายปันผล กองทุนอาจจะจ่ายออกมาหมดเลยก็ได้ ก็คือ จ่ายออกมา 0.5 บาทต่อหน่วย และ NAV per unit จะเหลือ 10 บาทเท่าเดิม
เหตุการณ์เดิม กองทุนได้ปันผลมารวม 50 ล้านบาท = ตอนนี้กองทุนมีกำไรแล้ว 50 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นบริษัทปูนลูกหมีเหลือ 70 บาทต่อหุ้น = ตอนนี้มูลค่าเงินต้นของกองทุนจาก 1,000 ล้านบาทจะเหลือ 700 ล้านบาท แต่มีกำไรจากปันผลมาก็จะมีมูลค่าทรัพย์สิน 750 ล้านบาท และราคาหน่วยก็จะเหลือ 7.5 บาท เห็นไหมครับ เคสนี้กองทุนได้กำไรจากปันผลแต่กองทุนไม่อาจจ่ายปันผลได้ สาเหตุก็เพราะกองทุนไม่มีกำไร กองทุนขาดทุนอยู่ย่อมจ่ายปันผลไม่ได้
เอาใหม่ กลับไปที่เหตุการณ์เดิม กองทุนได้ปันผลมารวม 50 ล้านบาท = ตอนนี้กองทุนมีกำไรแล้ว 50 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นบริษัทปูนลูกหมีทะยานเป็น 120 บาทต่อหุ้น = ตอนนี้มูลค่าเงินต้นของกองทุนจาก 1,000 ล้านบาทกลายเป็น 1,200 ล้านบาทบวกมีกำไรจากปันผลมาก็จะมีมูลค่าทรัพย์สิน 1,250 ล้านบาท และราคาหน่วยก็จะพุ่งเป็น 12.5 บาท เคสนี้กองทุนอาจจ่ายปันผลออกมาได้ถึง 250 ล้านบาท โดยการเอาปันผลที่ได้รับออกมาจ่าย (50 ล้านบาท) และขายหุ้นในส่วนที่เป็นกำไรคือ 200 ล้านบาทออกมาด้วย (ซึ่งทำได้) มูลค่าทรัพย์สินก็จะกลับไปเหลือ 1,000 ล้านบาทเท่าเดิม และราคาหน่วยก็กลับไปเป็น 10 บาท นักลงทุนได้ปันผลออกมาหน่วยละ 2.5 บาท (และถูกหักภาษี 10%)
ทั้งนี้ พวกกองทุนที่จ่ายปันผลก็จะมีนโยบายแตกต่างกันไป เช่น กองทุนจ่ายปันผลแหลก กองทุนนี้พอมีกำไรปุ๊บก็จ่ายกำไรออกมาหมดเลย (ซึ่งจ่ายได้จากปันผลที่ได้รับหรือไม่มีปันผลก็ขายหุ้นที่มีกำไรทิ้งแล้วเอากำไรที่ได้มาจ่ายปันผล) หรือกองทุนจ่ายกะปริบกะปรอย จ่ายครึ่งหนึ่ง เก็บผลกำไรไว้ครึ่งหนึ่ง พอต่อไปสถานการณ์ไม่ดี ตลาดหุ้นผันผวน กองทุนจ่ายปันผลแหลกอาจจะจ่ายปันผลไม่ได้เลย เพราะไม่มีกำไรเหลืออยู่(แถมขาดทุน) แต่กองทุนจ่ายกะปริบกะปรอยอาจจะยังจ่ายได้โดยควักกำไรเก่าที่สะสมคงเหลือไว้มาจ่ายแทน
คือ เราต้องไปดูนโยบายจ่ายเงินปันผลกองทุนอีกทีด้วยครับ กองทุนสามารถจ่ายออกมาได้จาก กำไรสุทธิในงวดนั้น เช่น ปีนี้ขาดทุนก็ไม่จ่าย แต่ปีต่อไปมีกำไรแบบนี้จ่ายได้ หรือบางกองแม้งวดนี้จะขาดทุนแต่ถ้ายังมีกำไรสะสมอยู่ก็จ่ายปันผลได้ ซึ่งต้องสังเกตนโยบายและวิธีจ่ายของกองทุนแต่ละเจ้าครับ
มีประเด็นหนึ่งเรื่องจ่ายปันผลที่ส่วนตัวผมแอบคิด คือ กองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผล มักจะสร้างปัญหาระดับหนึ่งให้ผู้จัดการกองทุน เพราะ สมมติถ้าไม่มีนโยบายจ่ายปันผล กองทุนจะค่อนข้างอิสระที่จะเอาเงินผลกำไรไปลงทุนต่อได้สะดวก แต่กรณีกองทุนจ่ายปันผล ผู้จัดการกองทุนมีประเด็นต้องพิจารณาตรงนี้ เพราะฉะนั้น อาจจะไม่สามารถเอาเงินปันผลและผลกำไรไปลงทุนต่อได้ หรือกลับกัน หุ้นในพอร์ตมีกำไรยังไม่รับรู้ (unrealized Gain) แต่เพราะนโยบายถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องจ่ายปันผล แม้จะมองเห็นศักยภาพของหุ้นตัวนั้นในอนาคต แต่ก็จำต้องทยอยขายหุ้นดังกล่าวออกมาเพื่อให้จ่ายปันผลได้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อฝีมือการลงทุน (performance) ของกองทุนได้ เพราะการทยอยขายหุ้นย่อมต้องกระทบต่อราคาของหุ้นตัวนั้นเอง เช่น กรณีที่สภาพคล่องน้อยหรือหุ้นไม่ค่อยมีการซื้อขาย ทำให้เกิดช่องว่างราคา (bid-spread) ได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แถมการขายหุ้นต้องเสียค่าคอมมิชชัน ค่าใช้จ่าย อีกด้วย
จริงๆแล้ว มีอีกหนึ่งประเด็นที่มักพูดกันบ่อย คือ กองทุนจ่ายปันผล ทำให้เก็บกำไรเอาไว้ก่อนเพราะพอมีกำไรกองทุนก็จ่ายออกมา ในขณะที่กองไม่ปันผลถือไปก็ราคาขึ้นลงอาจไม่ได้อะไรถ้าไม่ขายทิ้ง อันนี้ตอบได้เลยครับว่า ถ้าคุณจะลงทุนระยะยาว การได้ปันผลออกมา ภาระแรก “เสียภาษี”โอเคว่า ถ้าจะบอกว่าได้กำไรเป็นเงินสดมาพักไว้ก่อน ก็ต้องไม่ลืมว่าการถือเงินสดเอาไว้ยาวๆก็จะเกิดภาระต่อมาคือ ต้นทุนการถือเงินสด—อันแรกคือ Cash Drag สมมติได้ปันผลมาโดยปกติถ้ามันอยู่ในกองทุนเขาก็จะเอากำไรไปลงทุนทบต้นต่อ แต่พอมันอยู่ในมือเราปุ๊บ ถ้าหุ้นมันขึ้นต่อไปเรื่อยๆ คุณก็จะเสียผลกำไรเพราะแทนที่จะได้ถือหุ้นกลับต้องมาถือเงินสดไว้ในมือ การกลับไปลงทุนต่อก็ต้องซื้อ หน่วยที่ราคาแพงขึ้น —ปัญหาที่สองคือ “การจับจังหวะลงทุน” (Market Timing) คุณก็จะไม่รู้อีกว่าต้องกลับเข้าไปซื้อตอนไหน ต่อให้โชคดีปันผลมาแล้วหุ้นตก นักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีความสามารถในการจับจังหวะลงทุนหรอกครับ มันคือเรื่องที่ยากมาก พอหุ้นตกก็ไม่กล้าลงทุนต่อ สักพักตลาดฟื้นก็ไม่แน่ใจ พอตลาดกระทิงค่อยกลับมาซื้อ เป็นวงจรผิดพลาดไปอีก ปกติคนไม่เจอปัญหาข้อนี้เพราะ เผลอๆ ได้เงินปันผลมาก็เอาไปใช้จ่ายล่ะ (ฮ่า) ไม่ยอมลงทุนต่อ เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้างต้น ถ้าไม่จำเป็น อย่าลงทุนกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผลครับ ก็จะปิดความเสี่ยงและปัญหาพวกนี้ได้
สรุปแล้ว กองทุนปันผลไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ลงทุนระยะยาว การปล่อยให้เงินเติบโตในกองทุนที่มีนโยบายไม่จ่ายปันผลย่อมดีกว่ามากๆ ถ้าฉุกเฉินก็ใช้วิธีขายทิ้งบางส่วนเอาเงินออกมาซะ (ไม่เสียภาษีด้วย) กองทุนแบบปันผลจะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการกระแสเงินสดเข้ามาใช้ระหว่างปี อารมณ์ว่าตอนอายุ 50-60 มีเงินก้อน 10 ล้าน จึงซื้อไว้แล้วรอรับปันผลแต่ละปีมากกว่า ไม่ใช่คนที่ตั้งใจจะลงทุนตั้งแต่ยังหนุ่มสาวเพื่อสะสมเงินไว้ใช้ในอนาคตครับ (และต้องไม่ลืมว่า กองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผล ถ้ากองทุนไม่มีกำไรก็จ่ายปันผลไม่ได้)
ขอให้เข้าใจให้ดีว่า ผลตอบแทนสุดท้ายที่เราจะได้รับสำคัญมากๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ว่านั้น ต้องเป็นผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายและหักภาษีทั้งหมดแล้ว เรียกว่าเป็น Net Total Return (After total expenses & taxes) เรื่องนี้สำคัญมากๆ การลงทุนอะไรที่ผลตอบแทนพอๆกัน แต่มีอันหนึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อปีต่ำและไม่มีภาระภาษีหนักๆ ย่อมดีกว่ามากๆ เป็นนักลงทุนต้องศึกษาให้แม่นครับ อย่าเชื่อสิ่งที่นักลงทุนหมู่มากทำตามกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วผมมักพบว่าเป็นวิธีและแนวทางที่ลดทอนผลตอบแทนระยะยาวของเพื่อนๆนักลงทุนทั้งนั้น เราต้องพิสูจน์ให้ชัดก่อนที่จะเอาเงินที่หามาอย่างยากลำบากสักก้อนไปลงทุนหรือใช้วิธีลงทุนแบบไหนก็ตาม
ชอบหลาย
ถูกใจถูกใจ
เป็นตรรกะที่ใช้ได้เลยครับ
ถูกใจLiked by 1 person
ขอบคุณมากครับ ได้ความรู้ดีมากๆ
ถูกใจLiked by 1 person
ขอบคุณเช่นกันครับ : )
ถูกใจถูกใจ
เก่งที่สุด
ถูกใจLiked by 1 person
ขอบคุณที่ช่วยเคาะขี้เลื่อยออกจากหัวให้นะคะ
😀
ถูกใจถูกใจ
ช่วยกันครับ ผมก็เคยไม่เข้าใจมาก่อนสมัยแรก ๆ : )
ถูกใจถูกใจ