“หุ้น หุ้น หุ้น”
ทุกคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ “หุ้น” ใครๆก็เล่นหุ้น มีแต่คนพูดถึงหุ้น ในรถไฟฟ้าก็ได้ยิน เพื่อนของเพื่อนก็ลงทุน อ้าวแล้วถ้าเราจะซื้อหุ้นกับเขาบ้างต้องไปที่ไหน อย่างไร?
“หุ้น” จริงๆมันเป็นคำเรียกความเป็นเจ้าของ เป็นการร่วมทุนของบริษัท หรือภาษาที่เราเรียกและได้ยินกันบ่อยๆว่า ไปเป็นหุ้นส่วนกันนั่นล่ะครับ ยกตัวอย่าง เช่น ผมกับเพื่อนรวมกันห้าคน ลงเงินร่วมกัน 100,000 บาท หรือที่เรียกกันว่า ทุน เปิดร้านขายเสื้อผ้าที่จตุจักร แล้วเราก็มาคิดกันว่า จะแบ่งสัดส่วนความเป็นเจ้าของยังไง เราก็เอาหนึ่งแสนบาทนั้นตั้ง แล้วก็หารเป็นส่วนเท่าๆกัน ถ้าแบ่งเป็นส่วนละหนึ่งหมื่นก็จะมีสิบส่วน ไอ้ส่วนที่ว่านี่ล่ะครับเรียกว่า หุ้น ดังนั้น ถ้ารวมเงินกันหนึ่งแสน แบ่งเป็น 10 หุ้น ถ้าเราอยากได้หนึ่งหุ้นก็จะต้องจ่าย 10,000 บาท พออ่านมาถึงตรงนี้หลายๆคนจะเริ่มคิดล่ะ ทำไมหุ้นมันแพงจุงเบย ดังนั้นถ้าเราระดมทุนให้ได้เงินเยอะๆ จากคนหลายๆคน เราก็ทำให้หุ้นหนึ่งหุ้นราคาถูกลงนั่นเอง ไอ้ราคาที่ตั้งไว้นั้นเค้าเรียก ราคาพาร์ (par) ครับ เพื่อให้ระดมเงินเปิดร้านเสื้อผ้าที่จตุจักรได้ง่ายขึ้น ผมก็เลยเอาหนึ่งแสนบาทที่ตั้งไว้ แบ่งเป็น 100,000 หุ้น หุ้นละ 1 บาท ใครอยากซื้อเท่าไหร่ก็เอาเงินมา พอจะเข้าใจไอ้คำว่า หุ้น มากขึ้นแล้วใช่เปล่าครับ
แล้วหุ้นที่ซื้อมานั้นเราถือไว้จะได้อะไรขึ้นมา อย่างแรกเลยที่สำคัญมาก คือ ซื้อเท่าไหร่เราก็มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในกิจการดังกล่าวเท่านั้นครับ เช่น ร้านขายเสื้อของเราใช้เงินลงทุนรวมหนึ่งแสนบาท มีหนึ่งแสนหุ้น ถ้าผมซื้อมา 60,000 หุ้น หรือ 60% ของหุ้นทั้งหมด ผมก็จะมีสถานะความเป็นเจ้าของและสัดส่วนในกิจการ 60% ของร้านเสื้อนี้ ซึ่งเอาจริงๆแล้ว หุ้น นั้นจะมีขึ้นมาได้ ต้องตั้งกิจการเป็นบริษัทครับ ถ้าซื้อตามที่ว่า ผมก็มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 60% มีสิทธิออกเสียงโหวตได้ 60% (ไม่มีใครใหญ่กว่าผมในบริษัทนี้แล้ว อิอิ)
ต่อมาพอมีหุ้นแล้ว และกิจการของเราที่ว่าก็ขายเสื้อไปเรื่อยๆ พอสิ้นปี สรุปยอดว่าได้ กำไร (Net Income) เท่าไหร่ เราจะได้เป็นเจ้าของกำไรของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นที่เรามีครับ และมีสิทธิได้รับ เงินปันผล—Dividend (ถ้าจ่าย) สมมติ ร้านเสื้อของเราขายดีมาก สิ้นปีขายแล้วได้กำไรทั้งปี 100,000 บาทถ้วน เราซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 60% จะมี สิทธิในสัดส่วนกำไร 60% หรือ 60,000 บาทนั่นเองครับ ถ้าบริษัทจ่ายกำไรออกมาคืนแก่คนร่วมทุนทุกคนทั้งหมด เขาเรียกจ่ายเงินปันผล (และกรณีนี้จ่าย 100%) ดังนั้นเราจะได้เงินปันผล 60,000 บาท ถ้าจ่ายครึ่งนึงอีกครึ่งนึงเก็บไปซื้อเสื้อผ้าทำทุนขายต่อปีหน้าอีก บริษัทก็จะจ่ายเงินปันผลแค่ครึ่งเดียวคือ 50,000 บาท ซึ่งเราจะได้เงินปันผล 30,000 บาทแทน (60%ของเงินปันผลที่จ่าย)
อย่างที่บอกครับจากตัวอย่างร้านเสื้อของเรามีหุ้นทั้งหมดหนึ่งแสนหุ้น (หุ้นละบาท) มีกำไรสิ้นปี 100,000 บาท ดังนั้น กำไรต่อหุ้น (Earning per share–EPS) จะเท่ากับ 1 บาท (กำไรหารด้วยหุ้นทั้งหมด) ถ้าต่อไปในอนาคต ร้านเสื้อของเราขายดีมาก เป็นแลนด์มาร์กของจตุจักร ขายได้กำไรปีละหนึ่งล้านบาท กำไรต่อหุ้นก็จะตกอยู่ที่กำไรต่อหุ้นหุ้นละ 10 บาท ซึ่งถ้าจ่ายปันผล 50% ก็จะจ่ายเงินปันผล 500,000 บาท มีหุ้นหนึ่งแสนหุ้น ก็จ่ายปันผลให้หุ้นละ 5 บาท (Dividend per share–DPS) เรามีหุ้นทั้งหมดจำได้ไหมครับ ว่า 60% ของหุ้นทั้งหมดหนึ่งแสนหุ้น หรือมี 6 หมื่นหุ้น เราก็จะได้เงินปันผลปีนี้ 300,000 แสนบาทนั่นเอง อย่าลืมนะครับว่าเราลงทุนไปแค่ 6 หมื่นเองนะ
ต่อมาครับ เราจะเห็นว่าหุ้นของเรามูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวันๆ วันหนึ่งก็มีคนขอเข้าพบเพื่อซื้อหุ้นที่เราถือ เพราะเขาอยากได้กำไรบ้าง อันนี้ล่ะครับ ที่เราจะได้กำไรอีกส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่า ส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) พวกเราคิดว่าถ้าเป็นผม ผมจะขายหุ้นละเท่าไหร่? ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่ 1 บาทครับ ในเคสนี้เราสามารถขายหุ้นได้หุ้นนึงเกิน 25-50 บาท ขึ้นไปได้เลย (ลองคิดดีๆครับ เขาซื้อไป 50 บาทต่อหุ้นก็จริง แต่ร้านเสื้อของเราสามารถจ่ายปันผลได้ปีละ 5 บาท 10 ปีเขาก็คืนทุนแล้ว นี่ถ้าร้านขายดีต่อไปอีก กำไรโตพรวดพราดอีก เขาก็คืนทุนเร็วขึ้นไปด้วยนะ) ซึ่งราคาหุ้น x หุ้นทั้งหมดจะได้ตัวเลขที่เรียกว่า มูลค่าของบริษัทตามราคาตลาด (Market Capitalization—Marketcap)
นี่ล่ะครับคอนเซปต์หลักๆของหุ้น เวลาซื้อหุ้น เราก็จะได้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมในกิจการตามสัดส่วนที่ถือหุ้น เวลาบริษัทได้กำไรเราก็ได้เป็นเจ้าของกำไรบริษัทตามสัดส่วนดังกล่าว ถ้าจ่ายกำไรออกมาเรียกว่าจ่ายเงินปันผลเราก็ได้เงินตามสัดส่วนหุ้นที่เราถือ แถมหุ้นนั้นเราก็เอาไปขายแลกเปลี่ยนมือได้ ซึ่งประเด็นนี้ล่ะครับ ทำให้เกิดตลาดหุ้นขึ้นมา
วัตถุประสงค์ของตลาดหุ้น คือมีไว้เพื่อระดมทุนให้บริษัทต่างๆขยายงานขยายกิจการได้รวดเร็วขึ้น ด้วยการที่เจ้าของบริษัทเดิม นำหุ้นบางส่วนมาขายเอามากระจายให้ประชาชนทั่วไปได้ถือหุ้น แล้วเอาเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปขยายกิจการต่อ สมมติ(อีกแล้ว) ว่าร้านเสื้อผ้าที่ว่าของเรา ตอนนี้ใหญ่มาก รายได้ขายเสื้อพุ่งเป็นปีละ 500 ล้านบาท กำไรปีละ 50 ล้านบาท ผมกับเพื่อนก็ตกลงกันเอาบริษัทมาระดมทุนใน ตลาดหลักทรัพย์ (ชื่อจริงของตลาดหุ้น) โดยอาจยอมลดสัดส่วนกลุ่มผมและเพื่อนถือหุ้นรวมกันเหลือ 60% หุ้นอีก 40% ขายให้ประชาชนนักลงทุน แต่จะได้เงินค่าขายหุ้นมา สมมติว่า 100 ล้านบาท เอาไปสร้างโรงงานผลิตเสื้อได้อีก ไม่ต้องไปกู้ด้วย
นี่ล่ะครับตลาดหุ้นที่ว่า ลองนึกถึงตลาดจตุจักรก็ได้ครับ แค่ไม่ได้ขายเสื้อผ้า แต่ขายหุ้น ขายความเป็นเจ้าของกิจการ คนที่ซื้อหุ้นแต่ละบริษัทไปแล้วก็เอามาขายได้ ลองนึกภาพเดินเข้าโครงการแล้วเจอร้าน ปตท., ธนาคารไทยพาณิชย์, เอไอเอส, เซเว่น, เซ็นทรัล ฯลฯ มาขายเอาหุ้น วันนี้อาจจะมีราคาขายหุ้นละ 10 บาท 300 บาท 150 บาทเท่านั้น หน้าร้านก็มีคำอธิบายบอกว่า บริษัทนี้ทำอะไร ขายอะไร มีกำไรเท่าไหร่ รายได้ปีละกี่ล้าน งบการเงินเป็นอย่างไร ปัจจุบันใครเป็นเจ้าของ นโยบายจ่ายปันผลปีละกี่เปอร์เซ็นต์ ต่อไปจะขยายกิจการยังไง ใครเป็นผู้บริหาร ใครเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ข้อมูลมีเยอะแยะ และจำนวนบริษัทก็มีมากมาย เรามีหน้าที่เลือกบริษัทที่ต่อไปเติบโต กำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ขายของได้มากขึ้น เข้ามาเป็นหุ้นในพอร์ตลงทุนเรา สิ่งเหล่านี้คือหลักพื้นฐานที่สำคัญ
หุ้น คือ ธุรกิจ
คำว่า หุ้น จริงๆค่อนข้างลึกซึ้งนะครับ บนความหมายที่รับรู้แตกต่างกันไปของคนที่เป็นนักลงทุนและคนที่ไม่ได้เป็น ในทางกฎหมาย หุ้น ก็คือส่วนทุนของบริษัทที่ถูกแบ่งออกเท่าๆกัน เพราะฉะนั้นศัพท์ทางการเงินที่ใช้เรียกหุ้นว่า “ตราสารทุน” ก็เข้าใจได้ง่ายๆว่า ถ้าคุณซื้อหุ้น คุณก็จะมีสถานะทางการเงิน(และทางกฎหมาย) เป็นผู้มีส่วนทุนในบริษัทหรือกิจการนั้นๆ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรจะระลึกไว้ตลอดเวลาคือ หุ้นทุกหุ้นที่เราซื้อ มันมีเบื้องหลังเป็น “ธุรกิจ” เสมอ เราไม่ได้ซื้อกระดาษหรือซื้อแค่ตัวย่อภาษาอังกฤษที่มีราคาขึ้นลงเปลี่ยนไปมาทุกนาที เราซื้อสินทรัพย์ที่มีตัวตนจริงๆ
ฟังดูก็ไม่มีอะไร แต่เชื่อหรือไม่ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นรายวัน ไม่ได้มองหุ้นเป็นธุรกิจ พวกเขามองมันสองอย่างไวๆคือ มันมีตัวย่อว่าอะไร และราคาตอนนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าถามลึกลงไปว่าหุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไร มีโมเดลธุรกิจแบบไหน เชื่อสิครับว่าน้อยคนนักจะตอบได้ ผมยกตัวอย่างหุ้นที่แม้คนไม่ได้ลงทุนก็ต้องรู้จัก อย่าง PTT —ชื่อย่อหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โอเคว่าเวลาเขาจะซื้อหุ้นปตท. ทุกคนจำได้ว่ามันคือ PTT แต่ถ้าจะถามคำถามที่ทุกคนพอจะตอบได้ คุณต้องถามว่าตอนนี้มันราคาหุ้นละเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เขาจะหามาให้คุณได้ แต่ถ้าถามว่าไหนลองเล่าโมเดลธุรกิจปตท.คร่าวๆสักสองสามนาทีว่ามันทำกิจการอะไร โครงสร้างรายได้มาจากไหน กำไรของบริษัทจริงๆมาจากหน่วยธุรกิจใด มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?. ผมว่าในร้อยคนจะมีคนตอบให้คุณฟังได้และถูกต้องด้วยน้อยมากๆ
น่าแปลกใจไหมครับว่า พวกเขาเอาเงินหลักหมื่นหลักล้านมาซื้อหุ้นพวกนี้แต่พวกเขาไม่เคยสละเวลามานั่งศึกษาค้นคว้าหรือทำความเข้าใจเบื้องหลังของหุ้นแต่ละตัวว่าทำธุรกิจอย่างไร ทั้งๆที่กลับกันเวลาเขาเหล่านี้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือมือถือ พวกเขามักจะทำการบ้านกันเป็นอย่างดี เทียบราคา เทียบคุณภาพ หาโปรโมชันที่ดีที่สุด แต่กับหุ้น คนส่วนใหญ่ทำการบ้านน้อยมาก แถมยอมจ่ายแพงกว่าปกติเยอะๆด้วย (เป็นไม่กี่ที่บนโลกเลยมั้งครับที่เห็นของมีราคาถูกแล้วมักจะเกิดความกลัวไม่กล้าซื้อกัน)
ในบรรดานักลงทุนระดับตำนานทั้งหลาย ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เสมอว่า หุ้นกับธุรกิจเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องยึดโยงกัน Warren Buffett ครั้งหนึ่งเคยพูดว่าตัวเขาเองเป็นนักลงทุนที่ดีเพราะเข้าใจธุรกิจ และก็ทำได้ดีในธุรกิจเพราะเป็นนักลงทุน และในส่วนของหุ้นนั้นระยะยาวแล้วก็จะให้ผลตอบแทนดีหรือไม่ก็มาจากตัวธุรกิจหรือกิจการของหุ้นตัวนั้นเอง แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะลืมๆมันไป ส่วน Peter Lynch นักลงทุนตำนานของโลกคนหนึ่งได้บอกไว้ว่า แม้มันจะง่ายที่จะลืมก็เถอะ แต่หุ้นทุกตัวคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ คุณต้องจำข้อนี้ให้ได้ แล้วคุณจะต่างไปเลยจากนักลงทุนจำนวนมากในตลาดหุ้น
ปรัชญาที่ว่า หุ้นคือส่วนของธุรกิจ จึงสำคัญ และเบื้องหลังหุ้นทุกตัวมีธุรกิจและกิจการผูกอยู่เสมอ ถ้าจะลงทุนระยะยาวให้ได้ผลตอบแทนดี แนวคิดที่ว่า ซื้อหุ้นคือซื้อธุรกิจ ควรจะเป็นหลักการและทัศนคติที่ยึดมั่นไว้เสมอเวลาลงทุนครับ
ขอขอบคุณสำหรับความรู้และ ปรัชญาดี ๆ นะครับ
^_^
ถูกใจถูกใจ