เงินสำรอง หรือเงินสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ลองตอบคำถามข้างล่างนี้ดูนะครับ
(A) ถ้าตอนนี้เราต้องหาเงินมาใช้ทันที ภายใน 2 วันจำนวน 10,000 บาท โดยห้ามขอใคร ห้ามกู้ ห้ามยืม ห้ามขายสินค้า เราจะหาเงินก้อนนั้นได้อย่างไร?
(B) ถ้าต่อจากข้างบน แม้หา 10,000 มาได้ แต่นับจากวันนี้เราจะไม่มีเงินเข้ามา 3 เดือน และกฏเดิมห้ามขอ ห้ามยืม ห้ามกู้หรือขายสินค้า เราจะหาเงินก้อนนั้นได้อย่างไร?
ถ้าภายใน 10 วินาทีเรานึกคำตอบไม่ได้ แสดงว่า เรามีปัญหาทางการเงินบางอย่างแล้วล่ะ ในทางกลับกัน ถ้าเราสามารถนึกแล้วตอบได้ทันทีก็แสดงว่า เราน่าจะมีการวางแผนการเงินที่ดีพอสมควร
คำตอบที่ง่ายที่สุดควรจะเป็นว่า “เอ้า! ก็ถอนเงินสดออกจากบัญชีสำรองเงินฉุกเฉินไง แค่ 3 เดือนเอง ไม่ลำบากเลย เพราะเราสำรองไว้ตั้ง 6 เดือน”
คำถามคือ เงินสำรอง นี่มันคืออะไร?
ลองนึกภาพตามผมนะครับ โดยปกติแล้วคนเราก็จะมีเงินเดือนหรือรายได้เข้ามาเป็นประจำ ถูกไหมครับ แต่เงินเดือนที่ได้มาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายทุกเดือนด้วยเช่นกัน คราวนี้ลองคิดดี ๆ ถ้าบางคนที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่เป็นปกติแล้ว เขามักจะพบว่าค่าใช้จ่ายโดยปกติหรือโดยเฉลี่ย มันจะไม่สวิงหรือเหวี่ยงไปมามากนัก เช่น เราอาจจะมีค่าใช้จ่ายปกติประมาณ 70-80% ของเงินเดือน (ค่าน้ำ ไฟ ค่าเช่าห้อง ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่ามือถือ ค่าเดินทาง ฯลฯ) ซึ่งเราจะกะได้ครับว่าอยากอยู่แบบสบาย ๆ แต่ละเดือน เราควรมีเงินเท่าไหร่ดี
แนวคิดนี้จึงนำมาต่อยอดว่า เอ้ย แล้วถ้าสมมติถ้าเราไม่มีเงินเดือนเข้ามาสักสองสามเดือน ชีวิตเราจะพังไหม แน่นอนว่าสำหรับหลายคน พังครับ! ใครที่ผ่อนบ้าน ผ่อนรถอยู่จะเข้าใจดีครับว่า การขาดเงินไปเดือนสองเดือนแล้วค้างค่างวดมันจะมีปัญหาตามมาร้อยแปดอย่าง
แล้วเชื่อไหมครับ สะดุดกันทีนึงปัญหาพวกนี้นี่ล่ะที่จะทำให้เกิดปัญหาทางการเงินมาเป็นระลอกคลื่น เพราะอะไร? เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บครับ พอเจอปัญหาฉุกเฉินทางการเงิน สิ่งที่เป็นทางออกที่เขาจะไขว่คว้าหาไวที่สุดคือ การกู้ยืม !!! ไม่ว่าจะกู้จากเพื่อนฝูง ครอบครัว บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เงินนอกระบบ ซึ่งถ้าพลาดไม่สามารถหาเงินไปใช้คืนได้ ชีวิตก็จะเครียดและลำบากไปอีกยาว ๆ แน่นอน
แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าเราวางแผนเงินดีดี เราจะไม่กลัวเรื่องพวกนี้เลย เงินก็สามารถหามาได้ไวยิ่งกว่าเงินติดล้อ อันนี้เงินติดเครื่องบินเจ็ตซะด้วย เพียงแค่เรามี เงินสำรอง หรือมีการสำรองเงินเอาไว้สักก้อนหนึ่ง ก้อนที่ทำให้อุ่นใจ เป็นก้อนที่รู้สึกถึงการมาของความมั่นคง พร้อมรับแรงกระแทกทางการเงินที่อาจคาดไม่ถึง (ลองนึกภาพ ยิ้มแล้วยักไหล่นิด ๆ อิอิ)
โดยปกติแล้ว เราควรมีเงินสำรองอย่างน้อย
1. สำรอง 6-12 เท่าของค่าใช้จ่าย หรือ
2. สำรอง 6-12 เท่าของเงินเดือน
ตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายปกติเดือนละ 18,000 เราก็เลือกสำรองเงินอย่างน้อย 6 เท่าหรือ 6 เดือนขึ้นไป นั่นคือ ระหว่าง 108,000 – 120,000 บาทนั่นเอง (6 เท่าของ 18,000 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน = 108,000 ส่วน 6 เท่าของเงินเดือน = 6 x 20,000 = 120,000) ซึ่งเงินสำรองเนี่ยอย่างน้อย แบบน้อยจริง ๆ ควรมี 3 เดือนครับ แล้วก็อย่างมากก็ไม่ควรเกิน 2 ปี (24 เดือน)
เอาจริงผมว่าตัวเลขที่เหมาะสมของมันคือ 6-12 เดือนครับ คือ ไม่มากเกินจนเอาเงินไปจม หรือ ไม่น้อยไปจนไม่พอเวลาเกิดปัญหา เพราะระยะเวลาหกเดือนถึงหนึ่งปีนั้น เรามีเวลาคิดหาทางออกได้หลายทางมาก ๆ ครับ การมีเงินสำรองพวกนี้ลองคิดภาพตามผมนะครับ มันลื่นไหลทางความคิดได้มากโดยที่เราไม่ต้องเครียดเลย (นักการเงินส่วนใหญ่มักจะแนะนำเงินสำรองที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่าย)[1. Burton G. Malkiel and Charles D. Ellis, The Elements of Investing: Easy Lessons for Every Investor, updated ed. (Hoboken: Wiley, 2013), 96.]
เราอุ่นใจว่าเวลาเกิดปัญหากระทบการเงิน เวลาเงินช็อต เวลาต้องใช้เงินด่วน ใช้เงินรักษา เรื่องบางเรื่องที่ต้องใช้เงินเลยตอนนี้ เราสามารถนำเงินก้อนนี้มาจัดการปัญหาได้ เราอยากย้ายงานไปที่ใหม่ที่ดี เราก็มีเวลาที่จะออกไปอยู่เฉย ๆ ได้ เวลาเราตกงาน เราสามารถนั่งคิดตกผลึก หรือหาทางออกได้เกินครึ่งปี หรืออยากหยุดไปทำอะไรสักอย่าง เราก็สร้างเวลาในการใช้ชีวิตได้ โดยที่เราไม่เครียดกับเรื่องเงิน
ประโยชน์ที่สำคัญบางอย่างจาก เงินสำรอง : เวลา
ตัวอย่างข้างบนทำให้เห็นว่า เงินนั้นสามารถสร้าง “เวลา” ได้ด้วย
การไม่เครียดเรื่องเงิน ทำให้เราไม่เครียดในเรื่องอื่น ปัญหาของเงินคือปัญหาของหลาย ๆ อย่าง ถ้าเราไม่ต้องกังวลกับเรื่องขาดเงิน ช็อตเงิน เราสามารถจะเอาเวลาในชีวิตไปใช้กับความคิดเกี่ยวกับเรื่องอื่นได้ ที่ไม่ใช่การเอาเวลาส่วนใหญ่ไปคิดเรื่องเงินแบบคนทั่ว ๆ ไป
แล้วเราจะเก็บเงินสำรองนี้ไว้ในไหนดี ? มีหลายตัวเลือกมากครับ ไหน ๆ มันก็นอนยาว ๆ ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว ก็เอาไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยดี ๆ (หรือกองทุนรวมตลาดเงินสักกอง) เพราะทั้งสองอย่างนี้ดึงเงินออกมาได้ทันทีครับ ในเวลาปกติไม่เกิน 2 วัน ทำให้มีสภาพคล่องพอตัว ผมลองยกตัวอย่างที่พักเงินดี ๆ ให้ เช่น
(1) บัญชีออมทรัพย์ธรรมดา มีเอทีเอ็มหรือไม่ก็ได้ แต่อันนี้ต้องเก็บแยกนะครับ ไม่เอามาปนกับบัญชีค่าใช้จ่าย เปิดใหม่เลยก็ได้ (แต่ไม่เอาฝากประจำนะครับ พวกนี้ติดเงื่อนระยะเวลา แม้ถอนได้แต่วุ่นวายกว่า)
(2) บัญชีออมทรัพย์แบบพิเศษ พวกฝากไม่ประจำที่ดอกเบี้ยดี ๆ หน่อย เช่น บัญชีออมทรัพย์ฝากไม่ประจำ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายเจ้า เช่น กรุงศรีมีแต่ได้ ธนชาตอัลตร้าเซฟวิ่ง หรือที่ยอดฮิตคือ ME ของ TMB
(3) กองทุนตลาดเงิน (money market fund) พวกนี้คือกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารเงินตราสารหนี้ระยะเวลาสั้น ๆ มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝาก ฯลฯ กองทุนพวกนี้เวลาขายได้เงินวันถัดไปนะครับ (T+1) ขายจันทร์ได้อังคาร ขายศุกร์ได้จันทร์ (ถ้าไม่ติดวันหยุดธนาคารในระหว่างนั้น)
(4) กองทุนตราสารหนี้ อันนี้ผลตอบแทนจะสูงมากขึ้นจากกองทุนตลาดเงิน แต่มีความผันผวนนิด ๆ ส่วนมากขายกองทุนได้เงินสองวันถัดไป (T+2) หรือพวก กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น อันนี้จะขายแล้วได้เงินวันทำการถัดไป (T+1) ซึ่งค่อนข้างสะดวกมากกว่า
ทั้งนี้ไม่แนะนำ ตราสารหนี้ หุ้นกู้ พันธบัตรเป็นตัว ๆ นะครับ เพราะมันล็อกเงิน ไม่เหมาะกับคำว่าฉุกเฉิน การขายระหว่างที่ตราสารยังไม่ครบอายุไถ่ถอนเป็นอะไรที่ไม่สะดวกมาก ๆ และมีผลเสียหลายอย่าง
โดยส่วนตัวผมแนะนำให้พัก เงินสำรอง ใน ข้อ 2 กับ ข้อ 3 ครับ พอเก็บเงินครบตามที่ตั้ง เช่น สำรองเงินครบ 6 เดือนหรือ 1 ปีของเงินเดือนหรือค่าใช้จ่ายแล้ว เราก็หยุดครับ (จะเอา 2 ปีหรือ 24 เท่า/เดือน ก็ได้ ถ้าต้องการความปลอดภัยมากขึ้น) ปล่อยมันนอนนิ่ง ๆ ไม่ต้องใช้ เอามาใช้เฉพาะเวลาฉุกเฉินเท่านั้น เช่น เข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ตกงานหนัก ปัญหาทางการเงินรุนแรง ต้องแบบเคสที่เข้ามาปุ๊บคนทั่วไปมีน็อคครับ
กรณีถ้าเงินพวกนี้ไปดาวน์รถ ซื้อกระเป๋า ซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยว ไม่นับว่าเป็นเคสฉุกเฉินครับ อย่าถอนเงินก้อนนี้ไปใช้ เพราะรายการเหล่านี้จัดเป็นความต้องการ (want) ของเรา ไม่ใช่ความจำเป็น (need) ต้องไม่ละเมิดกฎตัวเองครับ
เงินสำรอง มันจะมีเรื่องแปลกอยู่อย่าง คล้าย ๆ ถังดับเพลิง คล้าย ๆ ถุงลมตรงพวงมาลัย ไม่ได้มีเพื่อต้องการใช้ครับ แต่มีไว้อุ่นใจเฉย ๆ แล้วคนที่มีก็มักจะไม่ได้ใช้ด้วย มันก็สมเหตุสมผลนะครับ ถ้าคนที่วางแผนบริหารเงินดีแบบนี้ เขาก็คงไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน แต่คนที่ไม่มี ส่วนมากก็จะเจอแต่ปัญหาเรื่องเงินนี้ร่ำไป
ความแปลกอีกอย่างคือ คนที่วางแผนการเงินที่คนมองทั่วไปว่าคิดแต่เรื่องเงินนั้น พวกนี้กลับไม่เจอปัญหาทางการเงิน แล้วสามารถเอาเวลาไปคิดเรื่องอื่น ๆ สบาย ๆ แต่คนที่ไม่คิดเรื่องการบริหารเงินเลย กลับต้องเจอปัญหาทางการเงินตลอดเวลา แล้วก็บ่นแบบนี้เรื่อยไป ซึ่งเราควรหนีจากวงจรแบบนั้นครับ
แนะนำบัตรกดเงินสดของ Umay+เผื่อเงินสำรองไม่พอแล้วต้องใช้เงินด่วนค่ะ
ถูกใจถูกใจ