สถานะ “เจ้าหนี้”

     ในโลกของการลงทุนนั้น เราสามารถเป็นผู้ลงทุนในรูปแบบหลักๆได้สองอย่างครับ คือ “เจ้าหนี้” หรือ “เจ้าของ”


 

ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าหนี้ในการลงทุน

วิธีการก็คล้ายกับการให้เพื่อนยืมเงินนั่นล่ะครับ แต่โลกของการลงทุนจะสลับด้านหน่อย ปกติเราให้เพื่อนยืมเงิน เราก็จะบอกว่า เฮ้ย ยืมไปแล้วคิดดอก 10% ต่อปีนะ ถ้าเพื่อนเรายืมไป 100 บาทก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 10 บาท แต่พอเป็นโลกการลงทุนแล้ว ต้องมองมุมกลับปรับมุมมองนิดหน่อย ลูกหนี้ต่างหากที่เป็นคนกำหนดดอกเบี้ยให้ เอ้า บางคนอาจจะสงสัย นี่ให้ยืมไม่พอยังต้องมาตามใจอีกนะว่าจะคิดดอกเบี้ยเขาได้เท่าไหร่ เพื่อให้หายสงสัย งั้นมาดูกันว่าในการลงทุน เราให้ใครยืมเงินได้บ้าง

ถ้าให้ธนาคารยืม จะเรียกว่า “เงินฝาก”
ถ้าให้รัฐบาลยืม จะเรียกว่า “พันธบัตร” 
ถ้าให้บริษัทเอกชนยืม จะเรียกว่า “หุ้นกู้” 
อาจจะมีอย่างอื่นอีก เช่น ตั๋วเงิน ตั๋วแลกเงิน
แต่โดยรวมจะเรียกเหมาว่า “ตราสารหนี้”

ความหมายตราสารหนี้ คือ พอเราซื้อมันแล้ว เราจะได้สถานะทางกฎหมายเป็นเจ้าหนี้นั่นแหล่ะ ซึ่งเจ้าหนี้นั้นตามกฎหมายถ้าเกิดมีการล้มละลายหรือชำระบัญชี เราจะมีสิทธิก่อนในการขอเงินคืนหนี้ก่อน ทำให้สถานะเราไม่เสี่ยงเท่าหุ้นส่วนหรือเจ้าของครับ เพราะกลุ่มหลังจะได้ทีหลังสุดซึ่งส่วนมากก็จะไม่เหลืออะไรให้

ถ้าให้ธนาคารกู้เงินเรา ธนาคารก็เอาเงินไปปล่อยสินเชื่อให้คนอื่นกู้ต่อ ถ้าให้รัฐบาลกู้รัฐบาลก็เอาเงินไปสร้างบริการสาธารณะ สาธารณูปโภคทั้งหลาย ถนน ไฟฟ้า โรงเรียน ฯลฯ ถ้าให้บริษัทเอกชนกู้เขาก็จะเอาเงินไปขยายกิจการ แต่ที่เหมือนกันแน่ๆ คือ เมื่อกู้ไปแล้ว เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยเราตามที่กำหนดและเมื่อครบกำหนดเวลาการกู้ เขาต้องคืนเงินต้นให้กับเราด้วย การลงทุนประเภทนี้ก็คล้ายๆการให้เพื่อนยืมเงิน ก่อนจะให้ยืม คนให้ยืมต้องวิเคราะห์นิดหน่อย คือต้องคิดว่า คนกู้จะมีเงินมาจ่ายคืนเราหรือเปล่า” คล้ายๆเวลาเราให้เพื่อนยืมเงิน แต่พอเวลาทวงเรานี่ล่ะจะเป็นลูกหนี้เองแทน กราบไหว้วิงวอน ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาปวดหัวนี้ สำคัญสุดคือไม่ว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ตัวไหน เราต้องวิเคราะห์สถานะทางการเงินก่อนว่าเขาจะมีเงินจ่ายเงินต้นคืนและมีเงินจ่ายดอกเบี้ยได้หรือไม่)

ในบรรดาทั้งหมดที่พูดมาข้างบน รัฐบาลมีเครดิตในการยืมเงินสูงที่สุดครับ บางทีก็พูดกันว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวหนี้เลย (risk-free rate) อย่างเงินฝากนั้นเอาจริงๆแล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรนะครับ แต่เงินฝากเป็นที่ที่รวมเงินของประชาชนทุกหมู่เหล่ารายย่อยรายจิ๋ว การที่จะปล่อยให้เงินฝากประชาชนหายเพราะธนาคารล้มนั้นจะส่งผลกระทบมาก รัฐบาลจึงตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากมารับประกันเงินต้นให้ว่าจะได้คืนต่อให้ธนาคารล้ม เงินฝากจึงยังดูมั่นคงพอควร (หากแต่ต่อไปจะคุ้มครองเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อ 1 ธนาคารเท่านั้นในอนาคต) ถัดมาคือพันธบัตร หุ้นกู้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ เครดิตก็จะพอๆกัน เพราะส่วนมากรัฐบาลเป็นคนค้ำประกันให้ ก็ไม่ต่างอะไรจากรัฐบาลเป็นลูกหนี้นั่นแหล่ะครับ จึงยังไม่เสี่ยงมาก

ที่เสี่ยงขึ้นมาคือ บริษัทเอกชน อันนี้หล่ะ เราต้องวิเคราะห์ดูก่อนว่า สถานะการเงินของบริษัทที่เราจะให้กู้นั้นแข็งแรงหรือไม่ มีหนี้สินเยอะจนจะล้มละลายหรือเปล่า จะอยู่ถึงวันที่เราจะได้เงินคืนไหม ซึ่งบริษัทที่สถานะการเงินดี ชื่อเสียงและผลิตภัณฑ์แข็งแกร่ง เขาก็จะยิ้มๆ บอก เฮ้ย อั๊วนี่ระดับสิบบริษัทใหญ่สุดในประเทศนะ ให้ดอกเบี้ยน้อยหน่อย ลื้อจะเอาเปล่า แล้วก็ยักไหลนิดๆ ใช่ครับยิ่งบริษัทอยู่ในเกรดดี แข็งแกร่ง ดอกเบี้ยเขาจะให้น้อย (เพราะเขาก็มั่นใจว่าเขามีเงินจ่ายหนี้แน่ๆ ส่วนเราก็อุ่นใจว่ายังไงเงินต้นฉันก็ได้คืนเหมือนกัน นึกภาพบริษัทพวกนี้ก็ ปตท. ปูนซีเมนต์ไทย) ส่วนตรงกันข้ามบริษัทที่สถานะการเงินไม่ดีส่วนมากก็จะต้องยอมรับว่าฐานเงิน ไม่แข็งแกร่ง ถ้าอยากได้เงินระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ ก็ต้องให้ดอกเบี้ยสูงๆจูงใจเราครับ

เรื่องการมองเครดิตบริษัทเนี่ย มันจะมีบริษัทที่ทำกิจการประเมินความน่าเชื่อถืออยู่นะครับ อารมณ์แบบว่าคอยให้เครดิตว่าบริษัทนี้ออกหุ้นกู้จะให้เกรดแบบไหน เรียงตามความแข็งแกร่ง ดีสุดก็ AAA พอรับได้ก็ BBB แต่ถ้าต่ำกว่านี้ถือว่าโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง เบี้ยวได้ ใครจะให้กู้ก็รับความเสี่ยงกันไปเอง ยกตัวอย่างบริษัทจัดอันดับดังๆพวกนี้ก็ Standard&Poor’s , Moody’s ในไทยมีสองเจ้าคือ TRIS กับ Fitch Rating

เวลาลงทุนพวกตราสารหนี้ทั้งหลาย ตัวกลางสำคัญเลยคือ “พันธบัตรรัฐบาล” เพราะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนของตราสารหนี้ตัวอื่นครับ สมมติพันธบัตรรัฐบาลอายุสิบปีให้ดอกเบี้ย 3.5% หุ้นกู้บริษัทแข็งแกร่งหน่อยก็จะให้ 4-5% ขึ้นไป ถ้าบริษัทเครดิตการเงินอ่อนแอ อาจจะต้องให้ 6-7% ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น จำได้ไหมครับที่บอกไปข้างบนว่า พันธบัตรรัฐบาลนั้นมีเครดิตสูงสุดในทางการเงิน ดังนั้น ในเมื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้ว(แทบ)จะไม่มีการเบี้ยวหนี้ เราได้ดอกเบี้ย 3.5% แต่พวกบริษัททั้งหลายมีโอกาสเบี้ยวได้ ดังนั้นจะมากู้เงินฉัน ก็ต้องให้ดอกฉันแพงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสิ !

ตราสารหนี้เนี่ย เวลาออกมาให้เราลงทุน มักจะมีกำหนดอายุครับ เช่น พันธบัตรหรือหุ้นกู้อายุ 3 / 5 / 7 /10 ปี หมายถึงถ้าอายุ 10 ปี คือปีที่ 10 เขาจะคืนเงินต้นให้เราครับ แล้วถ้าบอกหุ้นกู้อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4% คือระหว่างสิบปีเนี่ย ทุกๆปีมันจะจ่ายดอกเบี้ยให้เรา 4% นั่นเอง (มักจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง มิ.ย. กับ ธ.ค.) แต่ระหว่างนั้นเราไม่มีสิทธิจะไปทวงหนี้ก่อนนะครับ เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือเรื่อง ปัญหาสภาพคล่อง (Liquidity risk) มันจะล็อกเงินแช่ไว้ตามเวลาของตราสารหนี้ตัวนั้นๆ ขายก่อนก็จะเจอปัญหา ถ้าอยากได้เงินคืนก่อน เราต้องเอาหุ้นกู้หรือพันธบัตรนั้นไปขายให้นักลงทุนรายอื่นแทน ซึ่งอาจจะโดนกดราคาได้เพราะราคาต้องขึ้นอยู่กับภาวะดอกเบี้ยในขณะนั้น เป็น ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate Risk) สมมติเราซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุสิบปี ดอกเบี้ย 3.5% แต่ต่อมาดอกเบี้ยในตลาดเงินขึ้น พันธบัตรชุดใหม่อายุสิบปี ให้ดอกเบี้ย 4.5% เราจะขาดทุนทันที ! แต่เป็นขาดทุนที่ไม่ใช่ขาดทุนจริงๆ จะขาดทุนเมื่อเราเอาไปขาย เพราะคนจะตอกหน้าเราว่า นี่ตอนนี้ผมซื้อเองผมได้ 4.5% ดอกเบี้ยมากกว่าของคุณที่ 3.5% ถ้าจะซื้อผมขอกดราคาล่ะกันนะ

ผมลืมบอกไป ส่วนมากพวกตราสารหนี้นี้ เวลาขายจะขายเป็นหน่วยๆ เช่น หน่วยละ 1,000 บาท แต่อาจจะกำหนดต่อไปว่าซื้อขั้นต่ำเท่าไหร่ เช่น หุ้นกู้ สมมติหุ้นกู้ปูนซีเมนต์ไทยอาจจะกำหนดหน่วยละ 1,000 บาท แต่ต้องซื้อ 100 หน่วย ก็คือใช้เงินลงทุนก้อนละ 1 แสนบาทครับ ถ้าอยากใช้เงินน้อยๆ แนะนำให้ใช้กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นที่ลงทุนแทนเพราะเริ่มต้นลงทุนใช้เงินน้อยกว่ามาก 500-1,000 บาทก็ลงทุนได้แล้ว (แต่ลักษณะการลงทุนจะต่างไปหน่อย)

คนส่วนใหญ่ที่มีเงินเย็นๆก็มักจะชอบลงทุนพวกตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้ เพราะมีความมั่นคง(พอควร) ได้ดอกเบี้ย(เป็นความเคยชินและคุ้นเคย) และล็อกผลตอบแทนได้ รู้เลยว่าแต่ละปีจะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ แต่อย่างว่าครับ ข้อเสียที่ยิ่งใหญ่อีกอย่าง คือ ตราสารหนี้ทั้งหลายนั้นหนีเงินเฟ้อไม่ค่อยทัน เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยระยะยาวอยู่ที่ 3-4% ต่อปี ผลตอบแทนที่คาดหวังระยะยาวของตราสารหนี้เกรด A ก็อยู่ระดับประมาณนี้ สูงกว่ากันไม่มาก โอกาสที่เงินจะด้อยค่าลงเพราะโดนเงินเฟ้อกิน หรือเงินโตไม่ทันราคาของมีสูงมากๆ คือ คุณได้รับเงินต้นคืนในตอนท้ายก็จริงๆ แต่อำนาจซื้อของคุณลดลง ซื้อของได้น้อยลง

แล้วต้องไม่ลืมว่าปกติ ตราสารหนี้ทั้งหลาย(รวมถึงเงินฝากประจำด้วย) จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (ซึ่งเราสามารถเลือกเป็น Final Tax คือเหมาจ่ายแบบนั้นไปเลย 15% หรือจะไปยื่นรวมขอคืนภาษีปีถัดไปก็ได้ถ้าเราเสียภาษีไม่ถึง) ทำให้คุณต้องคำนวณดีๆ สมมติ ตราสารหนี้ตัวนั้นให้ดอกเบี้ยปีละ 5% แต่ผลตอบแทนที่คุณจะได้รับจริงจะเหลือแค่ 4.25% เท่านั้น ผลตอบแทนตราสารหนี้จึงมีภาษีเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญครับ

มีอีกอย่างที่ผมเห็นเป็นข้อด้อยสำคัญ คือ การเป็นเจ้าหนี้นั้น มันถูกล็อกผลตอบแทนครับ ถ้าหุ้นกู้ของเราดอกเบี้ย 5% บริษัทก็มีหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยแค่ 5% เฉยๆ ไม่มีทางจะมาใจดี เฮ้ย ปีนี้บริษัทได้กำไรมหาศาลเดี๋ยวจ่ายดอกเบี้ยให้ 10% เลย ไม่มีทางแน่นอน ให้เห็นภาพ ลองนึกภาพว่าเพื่อนยืมเงินเรา 10,000 บาท กำหนดให้จ่ายดอกเบี้ย 1,000 บาทสิ้นปี แต่ก่อนสิ้นปีเพื่อนถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง เพื่อนจะให้เราเพิ่มเป็นดอกเบี้ย 5,000 บาทไหม ก็ไม่ ฉันใดฉันนั้น หุ้นกู้สมมติของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยเขากู้เราไปทำกิจการได้กำไรเติบโตขึ้น ทว่าเจ้าหนี้ได้ดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่เจ้าของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นปูนซีเมนต์ไทยเท่านั้นครับที่จะมั่งคั่งขึ้น ได้ปันผลมากขึ้น นี่เป็นข้อดีของการถือหุ้นที่ผมว่ายอดเยี่ยมที่สุด ดังนั้นในสายตาของผมจึงคิดว่า(โดยส่วนตัวนะครับ) การมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ในการลงทุนไม่อาจจะทำให้เรามั่งคั่งขึ้นสูงๆได้ครับ เหมือนๆกับที่ไม่มีใครสามารถรวยได้โดยฝากเงินธนาคารไปเรื่อย เราจะได้ยินก็แค่ว่า คนรวยมีเงินก้อนใหญ่มากๆแล้วฝากธนาคารกินดอกเบี้ย แต่ยากมากที่จะมีใครรวยจากการฝากเงินในธนาคารอย่างเดียวครับ แค่เงินเฟ้อเราก็แพ้แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังยินดีรับดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ซึ่งทางที่ถูกต้องในการวางแผนการเงิน การมีสินทรัพย์เป็นตราสารหนี้อย่างเดียวเลย แม้กระทั่งคนที่อายุมากแล้วก็ไม่ถือว่าถูกต้องครับ อย่างน้อยต้องผสมสินทรัพย์ที่เป็นพวกตราสารประเภทที่เราเป็นเจ้าของ อาทิ ตราสารทุนหรือหุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ลงไปบ้างครับผม : )

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s