Earning Yield Gap (EYG) เป็นหนึ่งในตัวเลขที่จะตอบข้อสงสัยที่ว่า ตลาดหุ้นตอนนี้มีราคาแพงไปหรือยัง และในเมื่อตลาดหุ้นนั้นมีทั้งช่วงที่หุ้นถูกและหุ้นแพง ถ้าเรารู้ว่าช่วงนี้หุ้นแพงเราก็ไม่ควรจะลงทุนเพราะมีสิทธิที่หุ้นจะตกลงมาหนัก ๆ ได้
ในบทความนี้ผมจะอธิบาย EYG และตัวเลขย้อนหลังของมันในตลาดหุ้นไทย แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า นอกจากตัวเลข EYG มันมีวิธีอะไรมาใช้วิเคราะห์ความถูกแพงของหุ้นกันได้บ้าง ผมรวบรวมมา 3 วิธีให้ทำความเข้าใจกันง่าย ๆ ครับ
วิธีวัดความถูกแพงของตลาดหุ้น
(1) Relative Valuation
เป็นวิธีที่ดูอัตราส่วนทางการเงินของตลาดหุ้น เช่น ดู P/E เทียบราคาดัชนีตลาดหุ้นกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดว่าเป็นกี่เท่า หรือดู P/B เทียบราคาดัชนีตลาดหุ้นกับมูลค่าทางบัญชีของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดว่าเป็นกี่เท่า ดู Dividend Yield เทียบราคาดัชนีตลาดหุ้นกับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
เราสามารถดูอัตราส่วนเหล่านี้แล้วเอาไปเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาในอดีตว่า ช่วงก่อนที่หุ้นจะตกหนัก ๆ อัตราส่วนพวกนี้เป็นอย่างไร ที่ผมเคยทดลองทำแล้วก็มี วิธี P/E หรือ Price/Earning(Click) ส่วนอัตราส่วนอื่นขอยกยอดไปก่อนครับ
(2) Stock Market Capitalization to GDP Ratio
เทียบมูลค่าตลาดหุ้น (Market Cap) กับ GDP ถ้าสูงเกินไป เช่น 3-4 เท่า แบบนี้ถือว่ามูลค่าของตลาดหุ้น สูงกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศจนเกินไปครับ นักลงทุนกำลังจ่ายมากกว่าผลผลิตที่ทำได้ของชาติ เราจึงต้องระมัดระวัง (ส่วนควรระวังเมื่อเป็นตัวเลขเท่าไหร่นั้น ขอยกยอดไปเขียนให้ละเอียดในโอกาสหน้าครับ)
(3) Earning Yield Gap
วิธีเทียบผลตอบแทน ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้น (Stock Earnings) กับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งแทบไม่มีความเสี่ยง (10-Y Government Bond Yield; risk-free rate) บนหลักการที่ว่าทุกการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนที่มีเหตุผลควรจะเทียบผลตอบแทนของหุ้นกับพันธบัตรรัฐบาลซึ่งแทบจะปราศจากความเสี่ยง สมมติว่า คุณสามารถลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนถึง 7% ต่อปีได้ แล้วทำไมคุณจะเอาเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแค่ 5% ในขณะนั้นล่ะ
วิธีนี้จึงเป็นวิธีประเมินความถูกแพงตลาดหุ้นอย่างหนึ่ง ด้วยการเอาผลตอบแทน ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้น มาลบหรือหักออกด้วยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ตัวเลขที่ได้คือ Earning Yield Gap (EYG) แล้วเทียบค่านี้กับอดีตว่า ก่อนตลาดหุ้นจะตกหนัก ๆ นั้น ตัวเลขที่ได้มักจะเป็นเท่าไหร่ เราจะได้หลบสภาะตลาดหุ้นถล่มได้ทัน หรืออีกแง่หนึ่ง เราได้หาจังหวะขายหุ้นเพื่อถือเงินสดรอช่วงเวลาการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งวิธีนี้ผมจะเขียนอธิบายให้ชัดเจนในบทความนี้ครับ เราลองมาดูกันดีกว่า
วิธีวัดความถูกแพงของตลาดหุ้นด้วยการคำนวณ EYG
เราสามารถดึงข้อมูลจาก เว็บตลาดหลักทรัพย์ และเว็บ ThaiBMA สำหรับตัวข้อมูล โดยข้อมูลล่าสุด ณ 16/09/58 ตลาดหลักทรัพย์ (SET) มีค่า P/E ที่ 18.20 เท่า เราจะได้ ผลตอบแทนตลาดหุ้นไม่รวมปันผลที่ประมาณ 5.49% ส่วนพันธบัตรรัฐบาลอายุใกล้เคียง 10 ปีให้ผลตอบแทนที่ 3% เรานำมาหักลบกันก็จะได้ Earning Yield Gap หรือ EYG ปัจจุบันที่ 2.49% ครับ
คำถามคือแล้วในอดีตเป็นเท่าไหร่? ผมได้ลองดึงข้อมูลรายเดือนของทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ระหว่าง มกราคม 2001 – สิงหาคม 2015 มาหาค่าเฉลี่ยดูพบว่า ค่าเฉลี่ย EYG ของไทยในช่วงประมาณ 15 ปีที่ผ่านมาคือ 4.75% ครับ ดังรูปด้านล่างนี้
ข้อสังเกตคือ ช่วงที่ EYG เหนือกว่าค่าเฉลี่ยนั้น (มากกว่า 4.75) ผมไฮไลต์ให้เป็นสีเขียว ซึ่งจะพบว่ามีช่วงหลัก ๆ ที่น่าสนใจ คือ ระหว่างปี 2001 – 2003 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และหุ้นช่วงนั้นมีราคาที่ถูกเอามาก ๆ ที่หุ้นตกจากประมาณ 1750 จุด เหลือ 200 จุด
ช่วงต่อมาคือช่วงปลายปี 2008 – ต้นปี 2009 นั่นคือ หลังจากเกิดวิกฤต Subprime ของอเมริกานั่นเอง และทำให้ตลาดหุ้นไทยตกลงไปเกือบ 50% และช่วงสุดท้ายที่ผมอยากให้สังเกต คือ ปลายปี 2011 ครับ ถ้าจำกันได้ช่วงนั้นคือ เวลาที่ประเทศไทยเจออุทกภัยน้ำท่วมใหญ่นั่นเอง
เมื่อไรที่พบว่า EYG พุ่งไปเกิน 5% โดยเฉพาะเวลาที่เกิน 10% ด้วยแล้ว บอกได้เลยว่า นี่คือโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตของนักลงทุน ที่จะได้หุ้นในราคาที่ถูก และสร้างผลตอบแทนมหาศาลในเวลาต่อมา ห้ามพลาดกันเลยทีเดียว!
ข้อสังเกตถัดมา แม้จะใช้คำว่าค่าเฉลี่ย EYG ที่ 4.75 แต่ถ้าลองดูดี ๆ เราจะพบว่า ช่วงเวลามากกว่าครึ่งนั้น หุ้นตกอยู่ในภาวะที่ EYG ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น และคงจะเห็นกันได้ทุกคนว่า ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน คือ กันยายน 2015 ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนตลาดหุ้นกับพันธบัตรนั้นต่ำมาก
เมื่อมองย้อนไปจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมหุ้นสองสามปีดังกล่าวผันผวนสุดฤทธิ์นั่นก็เพราะ EYG กำลังบอกให้คุณรู้ว่า ในเวลานี้หุ้นอยู่ในช่วงที่แพงกว่าปกติ การซื้อหุ้นตอนนี้เท่ากับว่า นักลงทุนกำลังจะจ่ายแพงสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับ เพราะฉะนั้น นักลงทุนทุกคนพึงระวัง!
อยากจะฝากไว้อีกนิดว่า ใครที่คิดว่า เฮ้ย เดี๋ยวฉันก็เก็บเงินไว้รอช่วงเวลาหุ้นถูกจริงค่อยซื้อไม่ดีกว่าหรือ ผมอยากจะให้มองย้อนไปดี ๆ ครับ เห็นช่วงปลายปี 2009 เป็นต้นมาไหมครับ การถือเงินสดรอไว้เพื่อให้หุ้นตกหนัก ๆ จะทำให้คุณพลาดโอกาสที่จะมีหุ้นถือครองมาตั้งแต่ตอนนั้น ตอนที่ SET Index อยู่ที่ 500 จุด และปัจจุบันคือ 1300 – 1400 จุด[footnote]เขียนบทความนี้ตอนปี 2015 พอต้นปี 2018 ดัชนี SET Index ทะยานไปสู่ 1800 จุด ก่อนจะตกมาที่ 1600 จุด ณ วันที่ปรับปรุงบทความ 30/06/2018[/footnote] ถ้าเจาะผลตอบแทนของหุ้นรายตัวลงไป ต้นทุนการสูญเสียมีมหาศาลครับ
ประเด็นของ Earning Yield Gap กับการลงทุนระยะยาว
ถ้าคุณคิดจะลงทุนยาว ๆ จริง ๆ ควรเชื่อคำว่า Stock For the Long Run ดีกว่า คือถ้ามันยาวถึง 30-40 ปี คุณลงทุนนานขนาดนั้น การ Timing หรือจับจังหวะลงทุนแทบไม่มีประโยชน์เลย การลงทุนแบบ Lump Sum หรือลงเงินก้อนแล้วถือยาวไป สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก ๆ หรือจะใช้ วิธีลงทุนแบบประจำ (regular investing) ก็ได้
ก็ที่สำคัญที่ผมอยากย้ำคือ บางทีมันลงมาถึงจุดที่ EYG สูงแล้ว ๆ แต่ภาวะรอบตัวจะกลายเป็นว่า หุ้นตกมารุนแรงมาก สุดท้ายคุณก็แพ้ใจตัวเองไม่กล้าลงทุนอยู่ดี ต้องระวังตรงนี้ด้วย นักลงทุนหลายๆคนมีความรู้ แต่พอถึงเวลาลงสนามจริงกลับไม่มีวินัย ผลตอบแทนก็ไม่ดีครับ
ประโยชน์ของ EYG จริง ๆ ที่ผมอยากจะให้เข้าใจคือ มันจะทำให้คุณสามารถตระหนักและชะลอความหน้ามืดตามัว เกิดความโลภสุดขีดที่ต้องการจะลงทุนหุ้นหนัก ๆ ลงทุนด้วยเงินมหาศาลในช่วงภาวะหุ้นแพง ๆ ครับ ตัวเลข EYG มันทำให้คุณสามารถดึงกำไรบางส่วนออกมาได้
ในความเห็นของผมคือ สมมติถือหุ้น 100% ถ้า EYG มันต่ำจริง ๆ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ๆ เช่น อยู่ที่ 2-3% คุณอาจลดหุ้นไปซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้แทน โดยให้มันเหลือแค่ 50-60% แบบนี้ก็ได้ครับ
บทสรุปของ Earning Yield Gap
อย่างไรก็ดี ระยะยาวเราไม่ควรถือหุ้นต่ำกว่า 40-50% ให้มั่นใจยังไงก็ไม่ควรขายทิ้งไปทั้งหมด เพราะบางทีก็อย่างที่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เคยพูดไว้ครับว่า ตลาดสามารถไร้เหตุผลได้นานเกินกว่าคุณจะทนได้ บางทีตลาดหุ้นว่าแพงแล้ว มันก็แพงไปอีกเรื่อย ๆ และพอมันตกลงมา หุ้นมันก็ไม่กลับมาจุดเดิมล่ะ คล้าย ๆ ดัชนี Dow Jones ของอเมริกาที่สมัยก่อนอยู่ที่ 1000 จุด ตอนนี้อยู่ที่ 17000 จุด[footnote]จากวันที่เขียนบทความปี 15 มาถึงวันที่ปรับปรุงบทความ 30/06/18 ดัชนีทะยานมาสู่ 24000 จุด[/footnote] และมันก็ไม่มีทางอีกแล้วที่จะกลับไปจุดเดิม ถ้าเราเอาแต่รอเราอาจจะต้องรอเก้อ เรียกได้ว่าตกรถไฟของจริงเลยทีเดียว การใช้วิธีคำนวณต่าง ๆ ต้องประยุกต์ใช้ให้ดี
“Markets can remain irrational a lot longer than you and I can remain solvent.” – John Maynard Keynes