กองทุนรวม นั้นก็คือ กองเงินที่ทุกคนหรือนักลงทุนทุกคนเอาเงินมาสมทบมารวมกันเพื่อเอาไปลงทุนตามที่นโยบายกองทุนได้กำหนดกันไว้ ลองคิดภาพเพื่อนสมัยมัธยมเราทุกคนเอาเงินมารวมกันเท่าไหร่ก็ได้ คนละล้าน คนละหมื่น คนละพัน แล้วมันจะได้เป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้นมาก สามารถเอาไปซื้ออะไรแพงๆได้ง่ายขึ้น เช่นกันครับ
สมมติให้กองทุนหนึ่งมีคนลงทุนสามคน คนนึงลงทุน 800,000 อีกคนลงทุน 150,000 และคนสุดท้ายลงทุน 50,000 รวมกันเท่ากับ 1 ล้านบาท สัดส่วนเงินลงทุนในกองทุนนี้ก็จะเป็นของสามคน คนละ 80% , 15% , 5% ตามลำดับ ต่อมาเอาเงินไปลงทุนซื้อที่ดินราคาหนึ่งล้านบาทเป๊ะๆ พอราคาที่ดินพุ่งไป 1.5 ล้านบาทแล้วกองทุนนี้ก็ขายที่ดินทิ้ง ก็จะคืนเงินต้นตามที่ทุกคนลงมา ส่วนกำไร 5 แสนก็แบ่งกันไปตามสัดส่วนเช่นเดียวกัน กองทุนรวมในทางการเงินก็คอนเซปต์เดียวกันเป๊ะๆครับ คิดภาพว่านักลงทุนทุกคนเอาเงินมาร่วมลงทุนกันมันจะได้เงินก้อนใหญ่มาก (กองทุนบางกองในไทยขนาด 1 แสนล้านบาทก็มี) ทำให้เอาเงินไปลงทุนในอะไรได้สารพัด
ตลาดกองทุนรวมนั้นมีกองทุนมาขายเรานับร้อยนับพันกองทุน สุดแต่ว่าเราจะอยากเอาเงินไปลงทุนในสินค้าหรือสินทรัพย์อะไร ไม่ว่าจะเป็น กองทุนที่เอาเงินไปลงทุนในเงินฝาก,ในพันธบัตร,ในหุ้นกู้,ในตราสารหนี้,ในหุ้น,ในอสังหาริมทรัพย์,ในทองคำ,ในน้ำมัน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเอาไปลงทุนในต่างประเทศก็ได้ แต่ละอันก็แยกย่อย เช่น กองทุนหุ้นก็จะมี กองทุนหุ้นที่ลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ๆ กองทุนหุ้นที่ลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก ลงทุนในบริษัทเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น จะลงทุนเฉพาะหุ้นเกี่ยวกับกิจการธนาคาร สถาบันการเงินเท่านั้น มีหมดครับ แล้วแต่เราจะถูกใจว่าอยากเอาเงินเราไปซื้อกองทุนอะไรเพื่อลงทุนดี
กองทุนรวมนั้นมีหลายชื่อตามวัตถุประสงค์ด้วย เช่น กองทุนรวมธรรมดา (ที่อธิบายไปด้านบน) กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตในวัยเกษียณของเราดีขึ้น เช่น ข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข), เอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ—PVD, ประกันสังคมก็มีกองทุนเหมือนกันเอาเงินประกันสังคมไปลงทุนหาเงินเพิ่ม, กองทุนลดหย่อนภาษี—LTF RMF, กองทุนเปิดที่ซื้อขายในตลาดหุ้น—ETF และอีกมากมาย แต่ที่ผมจะอธิบายนั้น เราจะเน้นที่ กองทุนรวมธรรมดา (Mutual Fund) ซึ่งเป็นกองทุนประเภทกองทุนเปิด คือซื้อขายได้ทุกวันทำการที่ธนาคารและตลาดหุ้นเปิดทำการ ใครลงทุนไปแล้วอยากขายก็มาขายคืนได้ อันนี้คือกองทุนรวมที่เราได้ยินคนพูดถึงกันบ่อยๆ นั่นเอง
สมมติเราเลือกว่าเราจะลงทุน “กองทุนหุ้น” เราก็ต้องเลือกต่อไปว่า เราจะให้ใครเป็นคนดูแลและบริหารกองทุนที่เราซื้อ คนที่เราต้องรู้จักคือ บลจ. หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ครับ คนนี้คือคนที่จะบริหารเงินเรา แต่ส่วนมากเขาจะเป็นเครือของธนาคาร ทำให้เวลาเราได้ยินคนพูดกันว่า ไปซื้อกองทุนไทยพาณิชย์ กองทุนกสิกร เราต้องไม่สับสนนะครับ คนบริหารคือ บลจ. ส่วนธนาคารเป็นแค่ตัวแทนขายให้เราเฉยๆ จึงต้องดูที่ฝีมือคนบริหารเป็นสำคัญ ถ้าธนาคารเจ๊ง กองทุนไม่เจ๊งนะครับ กองทุนถูกจดทะเบียนแยกออกไป(เป็นนิติบุคคลต่างหาก) มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง สมมติซื้อกองทุนของบลจ. abc ธนาคาร abc ขายให้ ถ้าวันดีคืนดี ธนาคาร abc และบลจ. abc ได้หายไป กองทุนที่เราซื้อก็จะถูกยกไปให้บลจ.อื่นดูแลและบริหารแทน
กลับมาต่อครับ ถ้าเราตัดสินใจว่าจะซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น และ สมมติ ว่าเราเลือกว่าจะซื้อของบลจ.กสิกรไทย ก็ต้องดูว่ากองทุนหุ้นของกสิกรซึ่งจะมีกองทุนหุ้นหลายกองมากๆ มีนโยบายลงทุนต่างกันไป สมมติเราซื้อไปสักกองหนึ่ง ลงทุน 10,000 บาท เราจะเป็น ผู้ถือหน่วยลงทุน—unit holder สิ่งที่เราจะได้มาคือ จำนวนหน่วยลงทุน(units) ซึ่ง จำนวนหน่วยลงทุนจะได้จาก เอาเงินลงทุน 10,000 / หารด้วย ราคาหน่วยลงทุน—NAV(per unit) สมมติราคาหน่วย 20 บาท เราจะได้หน่วยทั้งสิ้น 10,000/20 = 500 หน่วยนั่นเอง
NAV—Net Asset Value คืออะไร? เข้าใจง่ายๆมันก็คือ การเอาเงินทั้งหมดที่ลงทุนของกองทุน สมมติ 1,000 ล้านบาท(หักด้วยหนี้สินและค่าใช้จ่าย) แล้วหารด้วยจำนวนหน่วยที่มีทั้งหมด (units) เช่น 100 ล้านหน่วย เท่านี้ NAV ก็จะเท่ากับ 1,000 ล้านบาท/100ล้านหน่วย = ได้ราคา NAV ต่อหน่วยเท่ากับหน่วยละ 10 บาท
เราควรทำความเข้าใจ NAV นะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าราคาหน่วยที่เราซื้อ หรือราคา NAV ที่เราซื้อนั้นเป็นตัวที่จะบอกกำไรของเราครับ ในทุกวันๆจะมีการคำนวณกำไรขาดทุนของกองทุน ถ้าสมมติกองทุนนำเงินไปลงทุนงอกเงยได้กำไร ราคา NAV จะขึ้นครับ ราคาที่ขึ้นนั่นล่ะคือกำไรของเราเป็นผลตอบแทนที่เราได้รับ ถ้าอยากได้ก็ขายกองทุนทิ้ง แต่กลับกัน เราสามารถปล่อยกองทุนเติบโตไปเรื่อยๆ ถ้ามีกำไรเรื่อยๆ ราคา NAV ต่อหน่วยก็จะโตไปเรื่อยๆ
กองทุนเวลาตั้งขึ้นมาครั้งแรก NAV per unit หรือราคาต่อหน่วยจะเริ่มต้น(par) = 10 บาท เวลาเราจะซื้อกองทุนสมมติเห็น ราคาหน่วยละ 20 กับหน่วยละ 5 บาท บางคนจะซื้อกองทุนที่สองโดยให้เหตุผลว่า จะได้ unit หรือหน่วยลงทุนเยอะๆ เพราะราคา NAV ต่อหน่วยมันถูกกว่า อันนี้ผิดนะครับ ผลตอบแทนที่เราได้จะเป็นเปอร์เซนต์ สมมติทั้งสองกองทุนทำผลตอบแทนได้ 10% เท่ากัน ราคา nav กองทุนแรกจะเป็น 22 บาท กองทุนที่สองจะเป็น 5.5 บาท ได้กำไรเท่ากันอยู่ดี (ถ้ามองดีๆ สมมติกองทุนนี้ตั้งมาพร้อมกัน แสดงว่าเริ่มจาก 10 บาททั้งคู่และนโยบายลงทุนแบบเดียวกัน ดังนั้นกองทุนแรกนั้นเก่งมาก เพราะราคาหน่วยขึ้นมาจาก 10 เป็น 20 บาท ในขณะที่กองทุนที่สองทำไมเหลือแค่ 5 บาท? ซึ่งแสดงว่ามีการบริหารขาดทุน) เพราะฉะนั้นประเด็นราคา NAV ต่อหน่วยถูกแพงไม่สำคัญเลย อย่าหลงไปกับการเห็นว่าราคาต่อหน่วยถูกกว่าเลยซื้อ เพราะจะได้หน่วยมากๆ ไม่เกี่ยวกันเลยครับ เป็นความเข้าใจผิดลำดับต้นๆของนักลงทุนมือใหม่เลยทีเดียว (สามารถอ่าน บทความนี้ เพิ่มเติมได้)
กองทุนสองประเภทที่ผมเห็นว่าทุกคนควรรู้จักและลงทุนเป็นตัวหลักในพอร์ตลงทุน คือ
กองทุนหุ้น กับ กองทุนตราสารหนี้
“กองทุนรวมตราสารหนี้”—Fixed Income fund
ก็คือ กองทุนที่จะเอาเงินไปลงทุนใน ตราสารหนี้ ลงทุนในรูปแบบการให้กู้ยืม ทำให้เรามี สถานะเป็นเจ้าหนี้ ในการลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนในเงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน ฯลฯ การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้จะได้ผลตอบแทนจากราคาที่ขึ้นลง (gain) กับ ดอกเบี้ย (Interest income) ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นหนักๆ มีในกรณีที่ลูกหนี้เชิดเงินหรือล้มละลาย (บางอย่างนั้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล แทบจะไม่มีความเสี่ยงจากการถูกเบี้ยวหนี้เลย) ทำให้กองทุนประเภทนี้ทำผลตอบแทนเรื่อยๆไม่หวือหวา ค่อยขึ้นๆ ถ้าถือเกินหนึ่งปีขึ้นไปผลตอบแทนเป็นบวกเกือบทั้งหมด (แต่ไม่ใช่ไม่มีความเสี่ยงนะครับ ถ้ากองทุนดันไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ผิดนัดหรือไม่จ่ายเงินต้น กองทุนก็จะขาดทุน ราคาหน่วยก็จะลดลงฮวบฮาบ แต่ปกติกองทุนพวกนี้จะถือตราสารจำนวนมาก อาจจะถึง 50-100 ตัว จึงกระจายความเสี่ยงระดับหนึ่ง และกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลล้วน หรือพันธบัตรรัฐบาลกับตราสารที่รัฐบาลค้ำประกัน เช่น ธปท. รัฐวิสาหกิจบางแห่ง หรือเงินฝากที่รัฐค้ำประกัน พวกนี้ก็จะแทบมีความเสี่ยงต่ำสุดๆไปเลย) ในระยะยาวกองทุนตราสารหนี้ควรจะมีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3-5% ต่อปี ในกองทุนรวมบ้านเรานั้นเงินส่วนใหญ่ก็กองอยู่ในกองทุนตราสารหนี้ซะเป็นส่วน ใหญ่ ข้อดีเรื่องโอกาสสูญเสียเงินต้นน้อยกลับกลายเป็นข้อเสียในระยะยาว คือว่า การลงทุนในตราสารหนี้นั้นยากมากที่จะสร้างผลตอบแทนให้สูงๆ โอกาสโดนเงินเฟ้อกินเกิดได้ง่าย มูลค่าเงินโตไม่ทันราคาของ ในความคิดของผม สำหรับคนที่มีเงินออมและอายุยังน้อย การลงทุนในตราสารหนี้ไม่ควรมากจนเกินไปเพราะจะเสียโอกาสที่เงินจะเติบโตในอนาคตอย่างมาก เหมือนที่ Peter Lynch เคยพูดว่า “คนลงทุนในตราสารหนี้อย่างเดียวไม่รู้หรอกว่าเขาพลาดอะไรไปบ้าง” เพราะถ้าเกินสิบปีขึ้นไปเงินจะโตน้อยกว่าหุ้นหลายเท่าตัวทีเดียว
แต่มีกองทุนตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรและเงินฝาก มักจะรักษาอายุตราสารไม่เกินหนึ่งปี ช่วงเวลาไม่เกิน 3-6 เดือนตัว ตราสารจะหมดอายุแล้วก็เริ่มซื้อตราสารหนี้ตัวใหม่มาแทน ทำให้ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยน้อย ตัวกองทุนมีสภาพคล่องสูง ถ้าขายกองทุนวันนี้ ได้รับเงินพรุ่งนี้ (T+1) สำหรับนักลงทุนแล้วมันมีไว้สำหรับพักเงินให้มีผลตอบแทนที่รับได้ระหว่างรอการลงทุนรอบต่อไป กองทุนตัวนี้มีชื่อว่า “กองทุนตลาดเงิน” หรือ Money market fund (MMF) ซึ่งทุกบลจ.มีกองทุนรวมตัวนี้ขายทั้งหมดครับ ผลตอบแทนจะดีกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แถมถ้าต้องการเงินก็สามารถขายกองทุนทิ้ง เงินก็จะเข้าบัญชีวันรุ่งขึ้น สำหรับผู้เริ่มต้นซื้อกองทุน ผมแนะนำให้มีกองทุน MMF ติดไว้ครับ มันดีมาก ดีจริงๆ โดยส่วนตัวเงินทั้งหมดของผมที่รอลงทุนก็นอนในเจ้านี่ล่ะ เวลาจะลงทุนก็ขายทิ้งรับเงิน ข้อดีอีกอย่างคือถ้าผมมีกองทุนเจ้าเดียวกัน เช่น กองทุน MMF กับกองทุนหุ้น ผมสามารถสลับกองทุน MMF ไปซื้อกองทุนหุ้นในเครือบลจ.เดียวกันได้ในวันนั้นเลย สะดวกมาก ทั้งนี้อาจจะเลือกพักเงินใน “กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น” หรือ Short-term Bond Fund ก็ได้
กองทุนอีกประเภทนึงที่ยังไงทุกคนก็ไม่ควรพลาด คือ
“กองทุนหุ้น”—Equity Fund
ในระยะยาวหุ้นเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ทำให้เงินของเราเติบโตได้มากที่สุดครับ คาดหวังผลตอบแทนระยะยาวได้ในระดับ 9-10% ต่อปีได้เลย แต่ระยะเวลาจะต้องนานพอที่ทำให้หุ้นผ่านวัฎจักรขึ้นลงหนึ่งรอบแล้วสะท้อนผลตอบแทนออกมาตามกิจการของบริษัทที่เติบโตขึ้น พูดง่ายๆคือ ต้องลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะเวลายาวๆ 10-15 ปีขึ้นไป (ในระยะเวลาน้อยกว่าห้าจนถึงสิบปี ไม่มีใครตอบได้ครับว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง ซื้อตอนนี้แล้วขายอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะขาดทุนไหม โดยปกติมีโอกาสขาดทุนสูง แต่ถ้า 10 ปีขึ้นไปแทบจะมั่นใจได้ว่ายังไงต้องได้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจหรือผลตอบแทนควรเป็นบวก ไม่ขาดทุนครับ) ทุกบลจ.มีกองทุนหุ้นให้เราเลือกลงทุนหลากหลายตามไลฟ์สไตล์เลยครับ ชอบเจ้าไหน รักใคร แต่อย่างหนึ่งนั้น เวลาพวกเราทุกคนจะลงทุนในกองทุนไหน ควรจะศึกษานโยบายลงทุน วิธีการคัดเลือกหุ้น ค่าใช้จ่าย ฝีมือบริหารให้ดีก่อน ทุกบาททุกสตางค์ควรจะอยู่ในกองทุนรวมที่คุ้มค่า
ทั้งนี้กองทุนหุ้นจะลงทุนในหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศก็ได้ แต่ส่วนมากกองทุนที่ไปลงุทนในหุ้นต่างประเทศจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า และมีโอกาสกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เช่น ตอนเราลงทุน กองทุนได้โอนเงินเราออกไปที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ ขากลับมาอัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็น 35 บาท เท่ากับตอนกำไรกลับมาเราแลกเงินบาทได้มากขึ้น แบบนี้ก็จะกำไรเพิ่มจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงครับ แต่ถ้าเหลือ 25 บาทต่อดอลลาร์ เราแลกกลับมาได้เงินน้อยกว่าเก่า แบบนี้เราขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในหลายๆกรณีเราอาจได้กำไรจากหุ้นหรืออัตราแลกเปลี่ยนแต่ขาดทุนตัวที่เหลือแทน
กองทุนรวมหุ้นนั้น มักจะมีนโยบายเกี่ยวกับผลตอบแทนสองแบบครับ
- ไม่มีการจ่ายปันผล เงินกำไรที่ทำได้จะเก็บไปลงทุนต่อ ทำให้ NAV หรือราคาหน่วยลงทุนมักจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าอยากได้เงินมาใช้เราต้องขายกองทุนออกมา กับ
- จ่ายปันผล คือถ้ากองทุนมีกำไร ราคา NAV ขึ้น ก็จะหักออกมาจ่ายเป็นเงินปันผล ซึ่งตรงนี้เสียภาษี 10% (หรือเราจะเลือกเอาไปคำนวณรวมเงินเสียภาษีปลายปีก็ได้) กองทุนที่จ่ายปันผลจะเหมาะสำหรับคนที่อยากได้เงินสดมาใช้ระหว่างปีครับ ถ้าใครไม่ต้องการ ลงทุนกองทุนที่ไม่จ่ายปันผลดีกว่ามากๆ เงินเราจะเติบโตทบต้นไปตลอด ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ในระยะยาวผลตอบแทนจะสูงกว่าแบบปันผลกว่ามาก
(อ่านบทความเกี่ยวกับกองทุนจ่ายปันผลเชิงลึกได้ ที่นี่)
ส่วนใครจะแบ่งเงินลงทุนสัดส่วนกองทุนหุ้นกี่เท่าไหร่ กองทุนตราสารหนี้กี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้แล้วแต่จุดมุ่งหมายแต่ละคน ถ้าเราอยากให้เงินลงทุนของเราโตมากๆ แล้วมีระยะเวลาลงทุนยาวนานมาก ลงทุนเพื่อเกษียณ การลงทุนหุ้นเกิน 80% ของสินทรัพย์จะเห็นความแตกต่างมากๆ ชนิดที่เพื่อนร่วมรุ่นโตมาด้วยกันจะงงว่าเราไปรวยมาจากไหนเลยทีเดียว โดยส่วนตัวผมนั้นก็มีเงินลงทุนนับทั้งหุ้น กองทุนหุ้น เกิน 80% ของเงินลงทุนเหมือนกัน ย้ำอีกทีด้วยว่า กองทุนรวมหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีต้องลงทุนระยะยาวยาวเท่านั้นนะครับ ถ้าจะลงทุนสั้นๆ อันนี้ผลตอบแทนจะผันผวนมาก ลงทุนกองทุนหุ้นต้องใจเย็นๆ อดทนถือครองระยะยาวให้ได้ครับ
ขอบคุณมากเลยครับ สำหรับ blog ที่ให้ความรู้ดีๆผมได้ความรู้เยอะเลยครับ เป็นประโยชน์มากๆเลยครับ ผมขอเดินตามรอยคุณ bear investor ครับ
ถูกใจถูกใจ
ขอบคุณครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับผม : )
ถูกใจถูกใจ
บทความอ่านง่ายมากค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ 🙂
ถูกใจถูกใจ
ขอบคุณครับผม : ) หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ
ถูกใจถูกใจ