Money Market Fund (MMF)
ปกติแล้ว เพื่อนๆพักเงินเอาไว้ที่ไหนครับ? ในบัญชีออมทรัพย์หรือในเอทีเอ็มหรือเปล่า วันนี้ผมจะพาไปรู้จักกองทุนรวมตลาดเงิน (mmf) ครับ กองทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่เขาเอาไว้พักเงินกัน อย่างผมปัจจุบันนี้ก็แทบจะไม่ค่อยมีเงินอยู่ในเงินฝากออมทรัพย์เลย เพราะอยู่ใน MMF ซะหมด มาดูกันว่ามันจะเก๋ไก๋สไลเดอร์อย่างไรบ้าง
MMF หรือ กองทุนตลาดเงิน ก็คือกองทุนรวมที่เอาเงินนักลงทุนไปลงในตราสารหนี้ระยะสั้น ๆ ส่วนมากอายุตราสารหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นแหล่งลงทุนของมันจะค่อนข้างกว้างครับ เช่น เงินฝากประจำ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน พันธบัตรรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย หุ้นกู้ของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน และสภาพคล่องตราสารสูง มีการซื้อขายกันบ่อยและง่ายจึงแปลงเป็นเงินสดได้ค่อนข้างเร็ว ตราสารหนี้บางตัวอาจอายุเกิน 1 ปี แต่เฉลี่ยแล้วทั้งพอร์ตลงทุนมักจะถัวกันไปมาไม่เกิน 1 ปี ถ้าเป็นกองทุนตลาดเงินแท้ๆ มักจะดำรงอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตไม่เกิน 3 เดือนทำให้ duration* ของกองทุนพวกนี้ไม่มาก —คือตราสารหนี้ที่ถือจะหมดอายุไวมาก และจะได้เงินต้นคืนมาพร้อมดอกเบี้ยแล้วก็เอาไปลงทุนใหม่ ทำให้ความผันผวนของดอกเบี้ยไม่ค่อยส่งผลกระทบกับกองทุนตลาดเงินสักเท่าไหร่ เพราะแป๊บ ๆ ก็ต้องซื้อใหม่แล้ว และเนื่องจากลงทุนในตราสารหนี้ (ซึ่งส่วนมากรัฐบาลเป็นผู้ออกด้วย) ทำให้กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงแทบจะต่ำสุดในบรรดากองทุนรวมทั้งหมด
ข้อเสีย
– ถ้าอยากได้เงินต้องขายกองทุนและจะได้เงินในวันทำการถัดไป ถ้าเราขายวันจันทร์ก่อนเวลาที่กำหนด (ส่วนมากคือ 15.30) เราจะได้รับเงินในวันรุ่งขึ้นก่อนเที่ยง ขายวันศุกร์จะได้เงินวันจันทร์ แต่ออมทรัพย์ปกติเรากดตู้เอทีเอ็มแล้วได้เงินเลย ทำให้เวลาขายกองทุนต้องวางแผนมากขึ้นนิดหน่อย
– กองทุนรวมไม่มีรับประกันเงินต้น ต่างจากธนาคารที่มีรับประกันเงินฝาก (แต่ความเสี่ยงของ MMF นี่มีน้อยมาก ถือว่าต่ำสุด ๆ แล้วในบรรดากองทุนรวมทั้งหมด)
ข้อดี
– ทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างน่าพอใจกับการเอาเงินไปพักไว้ ถ้าเงินอยู่ในกองทุนรวมตลาดเงินจะมีผลตอบแทนโดยปกติดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป
–สามารถสลับย้ายไปกองทุนอื่นในเครือได้วันนั้นเลย คือ ในสายตาของกองทุนรวม มันมีสภาพคล่องสูง สมมติวันนี้หุ้นตก เราสามารถสลับกองตลาดเงินเป็นกองทุนหุ้นได้ในวันนั้นทันที เสมือนมีเงินสดติดบัญชี ทำให้ไม่พลาดโอกาสในการลงทุน
– ผลตอบแทนนั้นเราจะได้มาเลยเมื่อขาย ต่างกับดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่มักจะจ่ายตอนปลายเดือนมิถุนายนกับธันวาคม ให้เห็นภาพคือสมมติเงินฝากกับกองทุนตลาดเงินทำผลตอบแทนได้เท่ากันที่ 3% ต่อปี ถ้าเงินต้น 10,000 บาทเท่ากัน ดอกเบี้ยทั้งปีคือ 300 บาท ครึ่งปีคือ 150 บาท ถ้าลงทุนตั้งแต่ต้นปีเท่ากัน แล้วขายกองทุนหรือถอนเงินตอนเดือนมีนาคม กองทุนรวมจะได้ผลตอบแทนประมาณ 75 บาท แต่เงินฝากจะไม่ได้ 75 บาทต้องรอถึงตอนมิถุนายนเขาจึงจะจ่าย 75 นั้นให้เรานะจ้ะ
– เงินหลายล้านลงทุนในกองทุนรวม การขายไม่เสียภาษีจากกำไรส่วนต่างที่ได้ แต่เงินฝากอย่างออมทรัพย์ ถ้าดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี 15% เช่นเดียวกับเงินฝากประจำ
– บางเจ้านั้นสามารถทำศูนย์บัญชาทางการเงินได้ เช่น กองทุนตลาดเงินของบลจ.กรุงศรี ฯลฯ เพราะสามารถผูกบัญชีได้หลากหลาย เช่น คุณสามารถตัดเงินซื้อกองทุนจากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพแล้วสั่งขายให้เงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยได้ ซึ่งมันจะสะดวกมาก ๆ ครับ สำคัญคนมีหลายบัญชี
ทั้งนี้มีบางกองทุนผสมตราสารหนี้อายุมาก ๆ เพิ่มตราสารที่มีระยะเวลายาวนานขึ้นเข้าไปบ้างเพื่อให้ผลตอบแทนดีขึ้นมา พวกนี้ก็ใช้พักเงินได้เหมือนกันครับแต่ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย จัดเป็น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
ถ้าจะถามว่าให้เลือกแค่สามประเภทกองทุนเพื่อลงทุน นอกจากกองทุนหุ้นแล้ว กองทุนตลาดเงินหรือ MMF ก็เป็นหนึ่งในตัวหลักที่ขาดไม่ได้ หากแต่มีประเด็นสำคัญต้องระลึกไว้ตลอดเวลา คือ
เนื่องจากมันลงทุนในสินทรัพย์ที่ผมอธิบายข้างบนไปซึ่งจะเห็นได้ว่ามันคล้าย ๆ กันมาก กองทุนตลาดเงินแต่ละกองแต่ละบลจ.มักจะลงทุนอะไรคล้าย ๆ กัน ทำให้ผลตอบแทนขั้นต้น (Gross Return) ไม่ต่างกันมากนัก ผลตอบแทนขั้นต้นระยะยาวจริง ๆ ของกองทุนตลาดเงินน่าจะประมาณ 2-3% ต่อปี แต่ตัวที่ทำให้ต่าง คืออะไรเอ่ย คำตอบคือ ค่าธรรมเนียมบริหารและค่าใช้จ่ายรวม !! เป็นปัจจัยที่กระทบต่อผลตอบแทนแทบจะมากที่สุดเลยครับ ฝีมือการคัดเลือกตราสารลงทุนไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้โดยเฉพาะคนที่บริหารกองทุนตลาดเงินอาจจะสร้างความแตกต่างแทบจะไม่ได้เลย พันธบัตรรัฐบาล เงินฝากที่ออกมา มันก็ให้เรตผลตอบแทนเดียวกับตลาดไม่หนีกัน จึงน่าคิดว่าเขาจะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้อย่างไร ต่อให้หลุดมามีคนที่สร้างได้ สมมติเกินมา 0.25% ต่อปี คำถามคือ ถ้ากองทุนตลาดเงินปกติได้ผลตอบแทน 2% คิดค่าใช้จ่าย 0.2% เหลือผลตอบแทน (Net Return) ให้เรา 1.8% แต่ถ้ากองไหนที่สร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ สมมติเพิ่มจากตลาดมา 0.25% ก็จะมีผลตอบแทนขั้นต้น 2.00+0.25 =2.25% แต่ถ้าคิดค่าใช้จ่าย 0.5% ต่อปี ผลตอบแทนสุทธิที่เราได้ก็จะเหลือ 1.75% น้อยกว่ากองทุนที่ไม่มีผลตอบแทนส่วนเพิ่มแต่คิดค่าใช้จ่ายถูกกว่าเสียอีก
ผมตกใจมากกับกองทุนตลาดเงินของบางธนาคารที่คิดค่าใช้จ่ายรวมถึง 0.7-0.8% ต่อปี (เป็นอัตราที่กินนิ่มมาก) นี่กำลังเล่นอะไรกันอยู่ สมมติก็อบปี้การลงทุนมาเด๊ะ ๆ เลยนะครับ กอง A กับ กอง B มีผลตอบแทนเท่ากันที่ 2.5% แต่กอง A คิดค่าธรรมเนียม 0.2% จะให้ผลตอบแทนจริง ๆ กับเรา 2.3% ในขณะที่กอง B ที่คิดค่าธรรมเนียมเรา 0.8% จะเหลือผลตอบแทนจริงๆให้เราที่ 1.7% เราได้ผลตอบแทนแค่ 70% ของที่ควรได้ อีก 30% หายไปกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย—เป็นการจ่ายไปที่ไม่มีเหตุผลมาก ๆ (และกองทุนที่ผมว่านี้มีเงินลงทุนของนักลงทุนหลักหมื่นหลักแสนล้านบาทเชียว) ซึ่งผลตอบแทนตลาดเงินมันไม่มีหนีกันมาก ค่าใช้จ่ายรวมพวกนี้ล่ะที่กร่อนเงินเราไปเรื่อย ๆ
ถามว่าอัตราค่าใช้จ่ายรวมของกองทุนตลาดเงินในบ้านเราที่ต่ำ ๆ ควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ เท่าที่สำรวจตลาดมา ระดับ 0.2-0.3% ต่อปี ไม่เกินนี้ถือว่าถูกสุด ๆ แล้วครับ อันนี้คือแต้มต่อมาก (กองทุนตลาดเงินบ้านเราชอบมีค่าใช้จ่ายรวมโหด ๆ ที่ 0.4-05% ต่อปี และค่ายยอดนิยมบางค่ายคิด 0.6-0.8% ต่อปี นักลงทุนพักเงินแต่บลจ.เพิ่มกำไร) คือลองคิดดี ๆ นะครับ ถ้าปกติกองทุนตลาดเงินได้ผลตอบแทนที่ 2.5% ต่อปี การที่คุณยอมให้เขาหักค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมไป 0.5% นั่นคือคุณได้ผลตอบแทนแค่ 80% จากที่ควรจะได้ ลองคิดภาพกองทุนตลาดเงินส่วนใหญ่นั้นลงทุนในเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล ทำไมเราต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรขนาดนั้นด้วย เวลาเลือกกองทุนตลาดเงิน โปรดเลือกกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ๆ ครับ กองทุนตลาดเงินลงทุนเหมือนกัน ผลตอบแทนห่างกันแบบฟ้ากับดินได้ เพราะ ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม โปรดระวัง!
ผมลองรวบรวมตัวอย่างคร่าว ๆ ของกองทุนตลาดเงินกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดประมาณ 0.3% ต่อปีมาให้ครับ นักลงทุนจะได้ไปศึกษาต่อได้ (Edit** อัพเดตข้อมูล ณ 18 พ.ย. 2560 อ้างอิงจาก Fund Fact Sheet และรายงานประจำปีผสมกัน ณ วันที่รวบรวม)
ค่าใช้จ่ายรวมต่อปีชื่อย่อกองทุน—ชื่อย่อกองทุน
- 0.17%—K-CASH
- 0.20%—TCMFENJOY
- 0.22%—SCBTMFPLUS-I ; ตราสารหนี้ภาครัฐเป็นหลัก
- 0.27%—KFSPLUS
- 0.30%—KT-ST
- 0.31%—B-TREASURY ; ตราสารหนี้ภาครัฐเป็นหลัก
- 0.31%—TMBTM ; ตราสารหนี้ภาครัฐเป็นหลัก
*duration = อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ โดยให้น้ำหนักตามมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินในแต่ละงวด หรือระดับความอ่อนไหวของมูลค่าตราสารหนี้หรือพอร์ตโฟลิโอตราสารหนี้ต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามตลาด นิยาม Duration มักจะเป็นร้อยละของการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้ ต่ออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่เปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1 ดังนั้นพอร์ตกองทุนรวมที่มีดูเรชั่นต่ำ ๆ จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงและไม่ผันผวนมากเท่ากองทุนรวมที่มีค่านี้สูง ๆ ครับ