กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) หรือ “อีทีเอฟ” เป็นกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษสำคัญ คือ สามารถทำการซื้อขายได้ทันที (real-time) ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นที่อีทีเอฟนั้นจดทะเบียนซื้อขายอยู่ ในแง่นี้ ซื้อกองทุนอีทีเอฟจึงเหมือนกับการซื้อหุ้นตัวหนึ่ง เมื่อซื้อแล้วมันก็จะปรากฏในบัญชีหลักทรัพย์หรือพอร์ตลงทุนที่นักลงทุนมีกับบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (broker)
1. ETF คืออะไร?
ETF จะเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรับ (passive) ต้องการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี (index) หรือราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนอีทีเอฟนั้นใช้อ้างอิง พูดอีกอย่างก็คือ จริง ๆ แล้ว ETF ก็คือกองทุนดัชนี (index fund) ประเภทหนึ่ง นั่นล่ะครับ เพียงแต่ว่ามันสามารถซื้อขายได้ทันทีในตลาดหลักทรัพย์ ในแง่นี้จึงต่างกับกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) ที่ปกติ ในประเทศไทย นักลงทุนที่อยากลงทุนกองทุนรวมก็จะไปซื้อกองทุนประเภทนี้ที่ธนาคาร เพราะปกติธนาคารเป็นตัวแทนที่สะดวกที่สุดในสายตาคนทั่วไป สำหรับการซื้อขายกองทุนรวมที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งบลจ.ก็มักจะเป็นผู้ที่บริหารจัดการและเสนอขายกองทุนอีทีฟด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ หลักการทุกอย่างของกองทุนดัชนี จึงต้องถูกนำมาใช้กับกองทุนอีทีเอฟด้วย เพราะฉะนั้น นักลงทุนควรอ่านบทความต่อไปนี้เสียก่อนจะทำให้เข้าใจกองทุนอีทีเอฟได้ดีขึ้น : (1) กองทุนดัชนี คืออะไร (2) ประวัติศาสตร์กองทุนดัชนี (3) กองทุนดัชนีในไทย (4) กองทุนดัชนี กับคำแนะนำของกูรู และ (5) บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับกองทุนดัชนี
เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ของกองทุน ETF และจุดขายหลัก คือ การเป็นกองทุนรวมที่ซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยสะดวก เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการซื้อขายสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงได้แบบ ณ เวลานั้นเลย ด้วยเหตุนี้จึงมีหนึ่งบุคคลที่เข้ามารับทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องให้กับการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟเรียกว่า “Market Maker ” (ผู้ดูแลสภาพคล่อง)
โดยทางบลจ. ผู้ออกกองทุนอีทีเอฟ จะมีการแต่งตั้ง Market Maker เพื่อให้ทำหน้าที่ส่งคำสั่งเสนอซื้อเสนอขาย (bid-offer) หน่วยของกองทุนอีทีเอฟ ในระหว่างที่ตลาดหุ้นมีการซื้อขาย จะได้มีหน่วยของอีทีเอฟปรากฏตลอดเวลาสอดคล้องกับสภาวะตลาดและดัชนีอ้างอิง ให้นักลงทุนที่สนใจสามารถซื้อขายได้ทันที ทั้งนี้นักลงทุนอาจเปรียบเทียบราคากองทุนอีทีเอฟกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณ (iNAV = Indicative Net Asset Value) ที่แสดงควบคู่กันระหว่างเวลาซื้อขายได้
2. iNAV คืออะไร?
iNAV คืออะไร? อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า เป็นมูลค่าของ ETF ที่ใกล้เคียงที่สุดกับมูลค่าของ ETF ที่ควรจะเป็น ลองนึกภาพเวลาซื้อกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) ที่ธนาคาร นักลงทุนมักจะรู้ว่าราคา NAV (ราคาสินทรัพย์สุทธิของกองทุนที่ได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายไปแล้ว) เป็นเท่าไหร่ ก็ตอนหลังจากตลาดหุ้นปิดไปแล้ว (ในกรณีที่ซื้อกองทุนหุ้นไทย)
หากแต่กองทุนอีทีเอฟมีการซื้อขายตลอดเวลาที่ตลาดหุ้นทำการอยู่ ดังนั้น ราคาจึงมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เพราะอย่างกองทุนอีทีเอฟที่เลียนแบบดัชนี SET50 นั้น นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรายตัวน่าจะเห็นภาพว่าดัชนี SET50 มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที ดังนั้น กองทุนอีทีเอฟที่ขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
เพราะฉะนั้น iNAV จึงเป็นการคำนวณราคา NAV ของกองทุน ETF ตลอดเวลา และ Market Maker ก็จะทำการส่งคำสั่งซื้อขายและพยายามทำให้ราคากองทุนอีทีเอฟสอดคล้องใกล้เคียงกับราคา iNAV ครับ
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่ราคาของกองทุนอีทีเอฟกับ iNAV จะเท่ากัน เนื่องจากประเด็นเกี่ยวข้องกับเงินปันผล ช่องว่างระหว่างราคาซื้อขาย (bid-ask spread) ช่องว่างราคาของหุ้นอ้างอิงของกองทุน แล้วก็เสียงรบกวนของตลาดรวมถึงความล่าช้าของข้อมูลในการซื้อขายหลักทรัพย์[1. Richard A. Ferri, All About Index Funds: The Easy Way to Get Started , 2nd ed. (New York: McGraw-Hill, 2007), 62.]
3. เดินทัวร์ ETF ในประเทศไทย
การลงทุนกองทุนอีทีเอฟในประเทศไทย สามารถทำได้โดยการเปิดบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทั้งหลาย เพราะ กองทุนอีทีเอฟส่วนใหญ่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และโดยปกติการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟต้องมีขั้นต่ำการซื้อเป็น board lot คือซื้อครั้งละอย่างน้อย 100 หน่วย (ดูรายชื่อ ค่าสถิติ และคำอธิบายเบื้องต้นได้ตาม links นี้ของตลาดหลักทรัพย์ครับ
อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นครับ กองทุนอีทีเอฟก็เป็นดั่งกองทุนดัชนีชนิดหนึ่ง มันก็เหมือนกองทุนรวมดัชนีทั่วไปที่อาจลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ตามที่นโยบายลงทุนของกองทุนอีทีเอฟนั้นกำหนด ว่าจะลงทุนและเลียนแบบสินทรัพย์อ้างอิงหรือดัชนีอันไหน จึงมีได้ทั้ง ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีตราสารหนี้ ดัชนีตราสารทุนหรือหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลงทุนเลียนแบบดัชนีอ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ ทั้งทองคำ หรือน้ำมัน เป็นต้น
ในประเทศไทยนั้น กองทุนอีทีเอฟมักจะนิยมลงทุนเลียนแบบสินทรัพย์และดัชนีเหล่านี้
เลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เช่น กองทุนที่เลียนแบบดัชนี SET50 อย่าง TDEX หรือ ESET50 หรือกองทุนที่เลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเภทอื่น เช่น กองทุน TH100 และ BSET100 ซึ่งเลียนแบบดัชนี SET100 และ BMSCITH ซึ่งเลียนแบบดัชนี MSCI Thailand ex Foreign Board Index
เลียนแบบดัชนีหุ้นอื่น ๆ เช่น 1DIV เลียนแบบดัชนี SET High Dividend 30 หรือ BMSCG เลียนแบบดัชนี BCAP Mid Small Cap CG Index TR
เลียนแบบตราสารหนี้ เช่น กองทุน ABFTH
เลียนแบบดัชนีอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อย่าง EICT หรือ EFOOD (ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม) ECOMM (ธุรกิจพาณิชย์) EBANK (ธุรกิจธนาคาร)
เลียนแบบหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น CSI300 เลียนแบบดัชนีหุ้น CSI 300 Index ของจีน
เลียนแบบสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิงอื่น เช่น ลงทุนในกองคำ อย่าง TGOLDETF (ธนชาตอีทีเอฟทองคำแท่ง) GLD หรือลงทุนเลียนแบบดัชนีอ้างอิงน้ำมัน อย่าง ENY หรือ ENGY
ตัวอย่างหน้าจอการซื้อขาย ETF ผ่านมือถือ
4. เปรียบเทียบ ETF กับกองทุนรวมทั่วไป
คำถามที่น่าสนใจ คือ ในกรณีที่เราอยากลงทุนกองทุนดัชนี เราควรลงทุนกองทุนรวมทั่วไป (mutual fund) หรือ ลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟอันไหนจะดีกว่ากัน ?
เรามาลองเทียบกันทีละประเด็นดีกว่าครับ
(I ) ด้านสินทรัพย์ที่ลงทุน
ทั้งคู่ก็มีความหลากหลายสำหรับกรณีที่เราอยากจะลงทุนในสินทรัพย์หรือเลียนแบบดัชนีประเภทต่าง ๆ เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบัน กองทุนรวมทั่วไปน่าจะมีตัวเลือกที่มากกว่า แต่สำหรับสินทรัพย์ธรรมดาอย่าง กองทุนดัชนีหุ้น SET50, SET100 ทั้งคู่ล้วนมีให้เลือกลงทุนครับ
(II ) ด้านภาษี
กองทุนรวมได้รับการยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไร (capital gain) เมื่อทำการขายคืนบลจ. และกองทุนอีทีเอฟก็ยกเว้นตรงนี้ผ่านกฎหมายอีกฉบับในลักษณะของการขายหลักทรัพย์อย่างกองทุนอีทีเอฟผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็จะได้ยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไรเช่นเดียวกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และสิ่งที่เหมือนกัน คือ ในกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล สำหรับบุคคลธรรมดา จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งเลือกได้ว่าจะหักทิ้งไปเลย หรือจะนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่น
(III ) ด้านเวลาในการซื้อขาย
กองทุนอีทีเอฟย่อมมีข้อดีในเรื่องของการซื้อขายได้ทันที (real-time) เพราะฉะนั้น เช่นในกรณีของกองทุนหุ้น นักลงทุนสามารถดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์พร้อมทั้งตัดสินใจซื้อขายบนดัชนีอ้างอิง ณ เวลานั้น ๆ สมมติเราเห็นดัชนี SET Index อยู่ที่ 1500 จุด เราเห็นว่าตัวเลขนี้น่าสนใจ เราก็สามารถทำการซื้อขายได้เลย
ในขณะที่กองทุนรวมทั่วไป นักลงทุนจะได้ราคาเดียวกัน คือ ราคา ณ เวลาปิดทำการตลาดหลักทรัพย์ แม้ในเวลาระหว่างวันดัชนี SET Index จะแกว่งที่ 1500-1550 จุด แต่ถ้าเวลาปิดทำการ ตัวเลขดัชนีปิดที่ 1550 จุด นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไปก็จะได้ราคาเดียวกัน คือ ซื้อ ณ ที่ดัชนีอ้างอิง 1550 จุดครับ
นอกจากนี้ เรื่องของเวลาซื้อขาย การซื้อกองทุนอีทีเอฟสามารถซื้อได้ตามเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ คือ ตอนเช้าช่วง 10.00-12.30 ตอนบ่ายช่วง 14.30-16.30 แต่สำหรับกองทุนรวมทั่วไป ปกติแล้วบลจ.จะให้ท่านส่งคำสั่งซื้อขายตามเวลาทำการธนาคารพาณิชย์กรณีซื้อที่สาขา ซึ่งมักจะเป็นช่วง 8.30-15.30 หรืออาจซื้อได้ตลอดเวลาในกรณีซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต หากแต่คำสั่งจะทำการในช่วงเวลาทำการอยู่ดี คือ มักจะปิดรับคำสั่งช่วง 15.30-16.00 ถ้าหมดเวลานี้ คำสั่งจะยกยอดไปซื้อในอีกวัน
(IV ) ด้านความสะดวก
ผมคิดว่ามันก็สะดวกทั้งคู่นะครับ คือ หลังจากที่เราเปิดบัญชีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีหลักทรัพย์กรณีซื้อกองทุนอีทีเอฟ หรือเปิดบัญชีกองทุนรวมทั่วไปที่ตัวแทนขายอย่างธนาคารต่าง ๆ หลังจากนั้นเราก็สามารถซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการเข้า Streaming หรือเข้า mobile/internet banking
มีอันหนึ่งที่ผมว่าต่าง คือ มันจะมีเอกสิทธิ์อะไรบางอย่างแตกต่างกันไป อย่างกรณีซื้อกองทุนรวมผ่านธนาคารบางเจ้า มันจะถูกนับเป็นสินทรัพย์ที่ลูกค้าซื้อผ่านธนาคาร ซึ่งจะนำไปสู่การบริการแบบสิทธิพิเศษ เช่น กรณีของ K-Wisdom (สมมติเรามีกองทุนผสมเงินฝากเกิน 10 ล้านบาท) ถ้า 50 ล้านก็กลายเป็น K-Private Banking ซึ่งธนาคารอื่น ๆ ก็จะมีชื่อแตกต่างกันไป อาทิ SCB First, SCB Private Banking, Krungsri Prime, Krungsri Exclusive ฯลฯ
หากแต่ใช่ว่าการซื้อกองทุนอีทีเอฟผ่านโบรกเกอร์จะไม่มีเอกสิทธิ์อะไรแบบนี้ ต้องไปดูเงื่อนไขบล.ที่ใช้บริการครับ เพราะบางที่ก็มีเอกสิทธิ์สำหรับลูกค้าพอร์ตใหญ่ ๆ เช่นกัน
5. ค่าใช้จ่ายของกองทุน ETF
แต่สำหรับนักลงทุนโดยไปทั่วแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่าย และ ค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าใครยังไม่รู้จักค่าใช้จ่ายของกองทุน ควรอ่านบทความนี้ก่อน > ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม!
โดยค่าใช้จ่ายที่ควรเปรียบเทียบกันระหว่าง กองทุนรวมทั่วไป (mutual) กับ ETF น่าจะแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
(I ) ค่าใช้จ่ายของกองทุนอีทีเอฟ
ในที่นี้ก็ได้แก่ ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุน ไล่ตั้งแต่ ค่าบริหารจัดการ (management fee) ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชี ค่าผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนเองเวลากองทุนซื้อขายหุ้นในพอร์ตของกองทุน ฯลฯ
(II ) ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟ
ตรงนี้จะต่างกัน เพราะกองทุนรวมทั่วไปอาจจะมีพวกค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย (front-back loads) แต่สำหรับกองทุนรวมดัชนี ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (transaction fees) ซึ่งเรียกเก็บกันที่ปกติ 0.10% ทั้งตอนซื้อและตอนขาย
ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟค่าใช้จ่ายในการซื้อและขายขึ้นอยู่กับว่าค่าธรรมเนียมที่คุณจ่ายให้บล.ที่คุณเปิดพอร์ตนั้นเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยกลางสำหรับซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต คือ 0.1578% ซึ่งบางเจ้าก็จะมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำด้วยวันละ 50 บาทโดยประมาณ บางเจ้าก็ไม่มี
(III ) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
มันจะมีค่าใช้จ่ายในรูปแบบอื่น ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เป็นการเรียกเก็บโดยตรง แต่ในบางตำราก็จะถือว่า เป็นสิ่งที่ลดทอนผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะได้รับ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เป็นผลมาจากการเลียนแบบดัชนีอ้างอิงไม่ใกล้เคียง (tracking error) หรือ กรณีกองทุนอีทีเอฟสำหรับค่าใช้จ่ายที่มีมาจากการที่นักลงทุนซื้อขายกองทุนอีทีเอฟในราคาที่ห่างจาก iNAV หรือค่าใช้จ่าย bid-ask spread หรือ การที่กองทุนถือเงินสดระดับหนึ่งจนเกิด “Cash drag ” พวกนี้คำนวณค่อนข้างยากครับ แต่เราต้องไม่ลืมมัน เราคำนวณมันเป๊ะไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงมันไม่มี!!
ที่ผมจะลองสำรวจดู คือ ค่าใช้จ่ายของกองทุนอีทีเอฟประเภทที่เป็นกองทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหุ้นไทยหลักอย่าง SET Index หรือ MSCI ในลักษณะของ broad-based index (กระจายการลงทุนเลียนแบบเกือบทั้งตลาดหุ้น) อย่าง SET50, SET100, MSCI Thailand นะครับ
เมื่อดูตารางข้างบนเราจะพบคู่ท้าชิงที่น่าสนใจ คือ กองทุนเปิด KT-SET50-A กับกองทุน ETF ที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50 อย่าง TDEX ซึ่งทั้งคู่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดต่ำที่สุด โดยค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของ TDEX อยู่ที่ประมาณ 0.57% ต่อปี ส่วน TMB50 อยู่ที่ 0.65% ต่อปี ห่างกันประมาณ 0.08% ซึ่งค่อนข้างเป็นตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญครับ
6. ประเด็นที่ต้องคำนึงระหว่าง ETF กับกองทุนรวมทั่วไป
แล้วเราควรลงทุนใน TDEX ที่เป็นกองทุนอีทีเอฟหรือเปล่า? การจะตอบคำถามนี้ได้ต้องพิจารณาทุกอย่างให้ครบถ้วนก่อน ลองวิเคราะห์ทีละประเด็นนะครับ
(1) ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการลงทุนในกองทุนรวม คือ การเลือกนโยบายกองทุนว่าควรจะจ่ายปันผลหรือไม่ ซึ่งทางผมเองเคยเขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความ “ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับ “กองทุนปันผล” ” ว่าทำไมเราถึงไม่ควรลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล และบังเอิญว่า กองทุนอีทีเอฟเกือบทั้งหมด (รวมถึง TDEX) ก็มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยปกติจะเขียนด้วยว่าจ่ายไม่เกิน 100% ของกำไร
การที่กองทุนจ่ายกำไรออกมาเป็นปันผล ส่วนนี้เราก็จะต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษี หรือหัก ณ ที่จ่ายทิ้งไปเลย 10% ซึ่งตรงนี้ก็จะลดทอนผลตอบแทนจากการลงทุนไปอีก ดังนั้น โดยส่วนตัวผมเองจึงไม่ลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล ส่วนนักลงทุนจะตัดสินใจอย่างไรลองอ่านบทความข้างต้นให้เข้าใจแล้วตัดสินใจดูเอง
(2) เหตุผลของความแตกต่างที่เคยได้อธิบายข้างต้นมาว่า การลงทุนกองทุนอีทีเอฟสามารถซื้อได้ทันที real-time และตัวกองทุนอีทีเอฟอยู่ในพอร์ตบัญชีหลักทรัพย์ของ บล.
ส่วน mutual fund มักจะเป็นบัญชีอยู่กับบลจ.หรือตัวแทนขายกองทุนอย่างธนาคาร ซึ่งก็จะมีสิทธิประโยชน์แตกต่างออกไป และ mutual fund จะซื้อขายกันที่ราคาปิดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่ราคา real-time ของวัน
(3) ท่านต้องรวมค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ไปด้วย การซื้อ mutual fund ที่เป็นกองทุนรวมดัชนีปกติจะไม่มีค่าใช้จ่ายพวก loads แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายขาเข้าและขาออกราว ๆ 0.10% ส่วนกองทุนอีทีเอฟขึ้นอยู่กับว่าโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการคิดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
(4) ข้อที่ต้องพิจารณาและสำคัญก็คือ ความสอดคล้องกับแนวทางการลงทุนแบบประจำ (Regular investment หรือ DCA ) กองทุนรวมดัชนีที่เป็น mutual ส่วนใหญ่มักจะสะดวกในเรื่องนี้ สามารถลงทุนเป็นประจำรายเดือนได้โดยเฉลี่ย 500 – 1000 บาทต่อเดือนโดยการตัดเงินในบัญชี
ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟผมเข้าใจว่า ปัจจุบันก็มีคำสั่งที่ให้หักซื้อรายเดือนได้ แต่อาจจะเจอปัญหาเรื่อง board lot ขั้นต่ำ ทำให้อาจซื้อได้ไม่เต็มจำนวนเงิน ซึ่งต่างจาก mutual fund ที่สามารถหักซื้อได้เต็มจำนวน เพราะมันหารหน่วยให้ละเอียดได้เป็นทศนิยมหลายหลัก เงิน 1,000 บาทก็ซื้อเต็ม 1,000 บาท
(5) มีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นในการซื้อกองทุนอีทีเอฟ เช่น ค่าใช้จ่ายจาก bid-ask spread คือ การที่เราซื้อกองทุนอีทีเอฟในตลาดหลักทรัพย์มันจะมีต้นทุนช่องว่างระหว่างราคา ซึ่งต้นทุนตัวหนึ่ง คือ iNAV กับราคาจริงที่คุณซื้อกองทุนอีทีเอฟมา แม้อาจจะดูเล็กน้อย แต่ก็ต้องไม่ลืมตรงนี้ด้วย
โดยสรุป แม้เราจะพบว่า ETF ในประเทศไทยบางกองมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากองทุนรวมดัชนีทั่วไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ประกอบ หากมองให้รอบด้านก็ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไปจะด้อยกว่า เนื่องด้วยข้อจำกัดบางอย่าง จึงไม่อาจเทียบตัวเลขพวกค่าใช้จ่ายแฝงให้เห็นประจักษ์ จึงขอให้นักลงทุนพิจารณาตัดสินใจบนข้อมูลที่ได้อธิบายไปด้านบนเองว่า นักลงทุนเหมาะสมหรือพิจารณาว่าจะลงทุนในกองทุนรวมหรือในกองทุนอีทีเอฟดี ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนเองครับ
ปล. โดนส่วนตัว ผมเองไม่มีการลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ เพราะคิดว่ากองทุนดัชนีทั่วไปที่เป็น mutual fund เมื่อพิจารณาหลายด้านแล้ว ข้อดีโดยรวมสูงกว่าการถือครองกองทุนอีทีเอฟครับ